The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย
ในป่าทุ่งใหญ่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์
นี่ควรจะเป็นช่วงเวลาแห่งฤดูแล้ง แต่คล้ายกับว่าในแต่ละวันผมอยู่ใน 3 ฤดูกาล
เริ่มตั้งแต่เช้ามืด สภาพอากาศแจ่มใส นกร้องเซ็งแซ่ แสงอาทิตย์ส่องผ่านสายหมอก ชะนีส่งเสียงร้องโต้ตอบ ใบไม้ชุ่มน้ำ
ใกล้ 8 โมงเช้า ดวงอาทิตย์โผล่พ้นสันเขา แสงแดดแรงขึ้น ดอกเสี้ยว ดอกกระโดน ทยอยร่วงหล่นลงพื้น ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ทองหลางออกดอกสีแดง เป็นต้นไม้ที่เชิญชวนนกนานาชนิดบินเข้า-ออก
แสงแดดมีไปจนกระทั่งหลังเวลาเที่ยง อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนอบอ้าว ถึงราวๆ บ่าย 3 โมง กลุ่มเมฆดำเริ่ม ลอยเข้ามาบดบังแสงอาทิตย์ กระแสลมแรงขึ้นถึง 4 โมงเย็น ท้องฟ้าส่งเสียงครืนๆ สลับฟ้าแลบเป็นทาง และสายฝนก็มาถึง เริ่มจากปรอยๆ ถึงตกหนัก ราวหนึ่งชั่วโมงจึงเบาบาง
พลบค่ำฝนขาดเม็ด อากาศเย็นลง จากนั้นอุณหภูมิก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงเช้ามืด
เริ่มวันด้วยฤดูร้อน พบกับฤดูฝนตอนบ่าย และอยู่กับฤดูหนาวตั้งแต่ค่ำไปถึงเช้า
เป็นเวลาที่ควรร้อนอบอ้าว แต่ผมยังต้องผูกเปลใกล้กองไฟ
ในวันที่มี 3 ฤดู คือช่วงเวลาของดอกไม้
ป่าจะถูกแต่งแต้มด้วยสี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีขาว สีเหลือง และสีแดง และเมื่อมีดอกไม้ ย่อมมีแมลงทำหน้าที่ ไม่ผิดนักหากจะพูดว่านี่เป็นฤดูแห่งแมลงด้วย ช่วงเวลานี้เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ผสมเกสรให้มวลดอกไม้ ซึ่งมีมากและเข้ามาอยู่ใกล้ชิดเรามากคือผึ้ง
ตั้งแต่เช้ามืด ท้องฟ้ายังไม่สว่าง เราได้ยินเสียงหึ่งๆ ผึ้งเข้ามารุมตอมทุกสิ่ง เป้ เสื้อผ้าอับๆ รองเท้าเปียกชื้น กองเสบียง รวมทั้งตัวคน ฝูงผึ้งติดตามเราไปทุกแห่ง หลบไปไหนไม่พ้น
นี่เป็นเวลาของพวกมัน
นี่คือสิ่งที่ผม ต้องทำความเข้าใจ

“สรุปคือช้างผิดใช่ไหมครับ”
ชายหนุ่มในชุดเสื้อยืดสีดำ กางเกงลายพรางป่าไม้ เอ่ยถามเมื่อเห็นผมเดินเข้าไปในครัว หน่วยพิทักษ์ป่ามีทีวี ใช้พลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งแสงแดดที่มีเฉพาะช่วงเช้ามีพลังงานไม่มากพอที่จะดูละครหลังข่าว แต่พอเพียงสำหรับดูข่าว
ผมเพิ่งกลับออกมาจากป่า จะพักที่หน่วยสัก 2 วัน รอรถเสบียงก่อนเข้าไปทำงานต่อ
ชายหนุ่มในชุดเสื้อดำชื่อ สมพร เขาเห็นข่าวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกมา ขวางถนน ใช้งวงดึงอ้อยจากรถบรรทุกมากิน
“แบบนี้ช้างผิดหรือครับ” เขาถามย้ำ
นี่เป็นส่วนหนึ่งของข่าว ใจความหลักคือคนกำลังโดนช้างทำลายพืชผล ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าคล้ายเป็นปัญหาที่หนักหนาขึ้นเรื่อยๆ หลายแห่งใช้มาตรการป้องกัน จัดชุดคนป้องกัน มีเทคโนโลยีติดตามช้างเข้ามาช่วย ทำเสียงดังไล่ ขุดคูลึก รวมทั้งสร้างรั้วไฟฟ้า
“รั้วไฟฟ้านั้นแรกๆ ได้ผลครับ” เจ้าหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ป่าซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างกับคนมากอีกแห่งหนึ่งเล่าให้ฟัง
“หลังๆ นี่ช้างรู้วิธี พวกมันเอาขอนไม้มาวางพาดให้เสาล้ม แล้วเดินข้ามง่ายๆ” เขาเล่าสิ่งที่ช้างเรียนรู้และแก้ไขสิ่งกีดขวาง
มีช้างกว่า 2,000 ตัว อยู่ในป่า ในทุกพื้นที่ที่ช้างอยู่ แถวชายป่าที่ติดกับพื้นที่ทำเกษตรจะพบปัญหา กล้วย มันสำปะหลัง อ้อย ทุเรียน และผลไม้ต่างๆ หักล้มระเนระนาด
ความขัดแย้งบางครั้งรุนแรงถึงชีวิต มีคนเสียชีวิตเพราะถูกช้างทำร้าย แต่ก็มีช้างหลายตัวถูกฆ่า
ไม่ใช่ข่าวใหม่ ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นมานาน แต่มากและทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้น
เรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร และเป็นที่คนอยู่อาศัย
ช้างตัวโตแต่ละตัวต้องการอาหารและน้ำในแต่ละวันมาก พวกมันมีเส้นทางเดินสู่แหล่งอาหารตามฤดูกาล ที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รู้ว่าฤดูกาลใดต้องไปที่ไหน เส้นทางเดินถูกตัดขาด พื้นที่อันเคยเป็นแหล่งอาหารเปลี่ยนไป
ไม่เพียงแค่ช้างหรอก กระทิงรวมถึงเสือ ก็พบปัญหาไม่ต่างกัน พื้นที่อาศัยโดนตัดขาด เหลือเพียงหย่อม เหมือนเกาะเล็กเกาะน้อย เหล่าสัตว์ป่าติดอยู่ในนั้น
มีปัญหาอีกมากมายที่เกิดขึ้นกับพวกมัน การผสมแบบเลือดชิด ความเครียดสะสม และอีกสารพัด
มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต เพราะโดนสัตว์ป่าโจมตีมากขึ้น ไม่แปลกนักเมื่อพวกมันพบสถานการณ์เช่นนี้ จากที่เคยเตลิดหนีด้วยความหวาดกลัว จะหันกลับมาเป็นผู้บุกรุก หันกลับมาสู้ เพราะพวกมันมีชีวิต
เป็นเรื่องธรรมดาที่ชีวิตจะหันกลับมาสู้ เมื่อถูกรุกไล่กระทั่งจนมุม

“สรุปคือช้างผิดใช่ไหมครับ” สมพรถามย้ำ
ถึงวันนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะตั้งคำถามว่า ‘ใครผิด’ แล้ว เลยเวลาที่จะพูดว่าใครบุกรุกที่ใคร แต่คือเวลาที่ต้องหาวิธีในการอยู่ร่วมกัน
ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย มีคนมากมายกำลังพยายาม
ความยากอาจไม่ใช่วิธีการ ความยากอย่างยิ่งคือการเปิดใจ มองอย่าง ‘เห็น’ ปัญหาที่เหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญอย่างแท้จริง
สมพรมองหน้าอย่างอยากได้คำตอบ
“คงยังงั้นแหละ” ผมตอบเบาๆ
“ก็พวกมันเป็นแค่ช้าง”
ในหน่วยพิทักษ์ป่า ช่วงนี้ดูเหมือนจะพบผึ้งมากกว่าอยู่ในแคมป์เสียอีก
ผู้ไม่เดือดร้อนและทำท่าไม่สนใจกับผึ้งเลยคือเจ้าอ้วน แมวอาวุโสสีตุ่นๆ ซึ่งกำลังนอนซบอยู่บนตักผม ในฐานะของผู้อยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าอย่างผิดกฎระเบียบ มันอาจไม่อยากสร้างความยุ่งยากอะไร ปล่อยให้ผึ้งรุมตอมไป
ผึ้งอยู่กับเราตั้งแต่เช้ามืดกระทั่งพลบค่ำ เวลาอาหารเย็นจึงไม่ต้องระวังมาก แต่หากเป็นตอนเช้าหรือกลางวัน จะตักข้าวเข้าปากต้องระวัง หรือเอามือปัดๆ ผึ้งให้พ้นๆ ไปก่อน ไม่เช่นนั้นจะเคี้ยวผึ้งไปด้วยแน่
“ที่หน่วยห้วยคือผึ้งมากกว่านี้อีกครับ” โซ หรือที่เราเรียกเขาว่า ช่างโซ เจ้าหน้าที่ประจำเขต เขาทำหน้าที่ช่างเข้ามาช่วยซ่อมแซมหน่วยพิทักษ์ป่า ช่างโซพูดถึงหน่วยที่อยู่ริมลำน้ำ
“กินข้าว ต้องเข้าไปกินในมุ้งเลยครับ” ช่างโซเล่าอย่างเห็นภาพ
เจ้าอ้วน แมวสีตุ่นๆ ขยับตัวลุกขึ้นแต่ไม่ไปไหน คราวนี้มันยืนเอาหัวซบต้นขาผมอยู่อย่างนั้น
“เป็นอย่างเจ้าอ้วนนี่ดีนะ ดูสิ ไม่เห็นมันเดือดร้อนอะไร ผึ้งรุมตอมอย่างนั้น” ช่างโซว่า


นี่เป็นช่วงเวลาของดอกไม้ เป็นช่วงเวลาทำงานของผึ้งและมวลหมู่แมลงต่างๆ เราเข้ามาอยู่ในบ้านของชีวิตเหล่านี้ ผมดึงตัวเจ้าอ้วนเข้ามาอุ้มให้นอนบนตักเกาคางให้ เจ้าอ้วนหลับตาเฉย
ขอบคุณเจ้าอ้วน แมวสีตุ่นๆ ที่สอนโดยการทำให้ดูว่าการอยู่ร่วมกันให้ได้คือสิ่งจำเป็น
เข้ามาอยู่ในป่า มาพร้อมกับที่ว่างในหัวใจ
เอาป่าเข้าไปไว้ในหัวใจ
อยู่ในป่า ช่วงฤดูทำงานของผึ้ง หากถูกผึ้งต่อยบ้าง คงไม่เป็นไร
