27 พฤศจิกายน 2021
25 K

ตั้งแต่เชียงใหม่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการเป็นศูนย์รวมร้านคาเฟ่สวย ๆ เป็นแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟดี ๆ เป็นที่รับอากาศหนาวพร้อมชมวิวดอยสวยงาม มีวิถีและวัฒนธรรมเฉพาะตัว และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้บรรยากาศของเมืองเชียงใหม่พิเศษขึ้นมา ตัวเมืองเชียงใหม่ในแต่ละปีจึงมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่านนิมมานฯ เมื่อ 10 ปีที่แล้วก็ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ แม้แต่ย่านช้างม่อย ย่านที่กำลังบูมสุด ๆ ในตอนนี้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็เป็นย่านค้าขายเก่าแก่ที่กำลังซบเซาอยู่เลย ต่อไปเชียงใหม่จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอีก จะมีย่านไหนได้รับความนิยมขึ้นมา นั่นก็ล้วนเป็นเรื่องของอนาคตที่เราไม่อาจคาดเดาได้ 

ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป บางครั้งมันก็ทำให้หลายสิ่งดีขึ้น 

แต่ต้องยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ทำให้หลายอย่างที่เคยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ถูกเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม จะคงอยู่ก็เพียงในภาพถ่ายหรือความทรงจำของผู้ที่เคยพานพบเท่านั้น

Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่

สถานที่ที่เราชวนทำความรู้จักต่อไปนี่ คือที่พักเล็ก ๆ ชื่อ ‘Cochet de Nimman’ ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว บริเวณเชิงดอยสุเทพ ใกล้กับย่านนิมมานฯ และย่านมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น ที่พักแห่งนี้กลับคงบรรยากาศดั้งเดิมของเชียงใหม่เมื่อ 50 – 60 ปีที่แล้วเอาไว้ได้

Cochet de Nimman ทำได้อย่างไร มีเหตุผลอะไรที่อยากจะเก็บบรรยากาศพื้นที่เชิงดอยสุเทพ เมื่อ 50 ปีที่แล้วไว้ บรรยากาศในอดีตของพื้นที่นี้เป็นเช่นไร และมีอะไรบ้างที่หายไปจากความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาตลอด 50 ปี

Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย อาจารย์และอดีตคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสามสถาปนิกไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกเอกของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นเจ้าของที่พัก Cochet de Nimman พร้อมพาคุณเข้าไปเดินชมบรรยากาศในอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้วของเชียงใหม่ และความคิดเบื้องหลังที่พักแห่งนี้ของเขา

“ผมเป็นคนเชียงใหม่ เกิดที่นี่ โตที่นี่ ไปเรียนต่อมหาลัยและทำงานที่กรุงเทพฯ พื้นที่ตรงนี้เมื่อห้าสิบถึงหกสิบปีก่อน มันคือป่าเชิงดอย เป็นป่าจริง ๆ ยังไม่มีมหาลัยเชียงใหม่มาตั้ง และคำว่า ‘ห้วยแก้ว’ ที่เป็นชื่อถนน ก็ตั้งมาจากชื่อของลำห้วยแก้วที่เคยไหลผ่านตรงนี้ สมัยเด็กเวลาผมจะเข้ามาในพื้นที่ตรงนี้ต้องข้ามสะพานเล็ก ๆ ปัจจุบันถูกถมเป็นถนนเส้นห้วยแก้วไปแล้ว นี่คือลักษณะของพื้นที่นี้ในอดีต” อาจารย์บัณฑิตเริ่มต้นเล่าย้อนความหลังของพื้นที่

“ถ้ามองจากตอนนี้ จะนึกภาพไม่ออกเลยว่าบริเวณนี้เคยเป็นป่ามาก่อน ครั้งหนึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่เคยประกาศให้คนเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกิน บริเวณตั้งแต่ย่านนิมมานฯ ทั้งหมดไล่มาจนถึงบริเวณ มช. ได้ฟรี ๆ แต่มีเงื่อนไข ว่าพอได้ไปแล้วต้องทำประโยชน์กับพื้นที่ ตอนนั้นคนยังไม่กล้ามาเลย เพราะมันเป็นป่า ดูอันตราย มช. ก็ยังไม่มี คนส่วนใหญ่ที่มาจอง ถ้าไม่ใช่คนมีฐานะที่จับจองไว้เพื่อทำโครงการจัดสรรแบ่งขาย ก็จะเป็นคนที่ต้องการพื้นทำสวนทำไร่

Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่
Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่

“ตอนนั้นครอบครัวผมเปิดร้านค้า และมีบ้านอยู่บริเวณตลาดกาดหลวงในปัจจุบัน แม่ของผมได้ยินประกาศการจับจองที่ แต่ก็ไม่กล้าไป เพราะต้องดูแลร้านในตัวเมือง ไม่รู้จะเอาเวลาไหนมาจัดการที่ตรงนั้น พอเวลาผ่านมา ตรงนั้นเริ่มเจริญมากขึ้น มีมหาลัยเชียงใหม่มาตั้ง มีร้านโบ๊ต (ร้านอาหารและเบเกอรี่) มีผู้คนอยู่อาศัย แม่เลยตัดสินใจซื้อกับเจ้าของที่ที่ได้ที่มาตอนยุคจับจอง ต่อมาเขาก็ทยอยแบ่งขายให้กับคนที่สนใจ เราเรียกที่ดินตรงที่แม่ซื้อว่า สวน เป็นสวนของแม่ เป็นที่ดินที่แม่ซื้อไว้ก่อน ระหว่างที่รอทุนทรัพย์ของครอบครัวพร้อมสำหรับสร้างบ้านบนที่ดินนั้น

“สมัยเด็กผมมีพาหนะคู่กายคือจักรยาน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมและเพื่อนจะปั่นจักรยานจากตลาดมาที่สวนของแม่ กว่าจะปั่นจากตลาดมาถึงสวนใช้เวลานานเป็นชั่วโมง พอถึงสวนก็หมดแรงพอดี ทุกครั้งผมกับเพื่อนจะดับกระหายด้วยการดื่มน้ำจากลำห้วยแก้วที่ใสสะอาดและเย็นชื่นใจ จากนั้นเดินข้ามลำห้วยแก้วด้วยสะพานไม้เล็ก ๆ ที่แม่ทำไว้ เข้าไปในสวนหาผลไม้ที่เจ้าของที่คนก่อนปลูกไว้กิน มีมะม่วง ชมพู่ ขนุน ส้มโอ มะนาว ลำไย เมื่อกินจนอิ่มท้องก็กลับไปกระโจนเล่นน้ำในลำห้วยแก้ว พอใกล้ค่ำก็ปั่นกลับบ้านที่ตลาด นี่คือความทรงจำแรก ๆ ที่ผมมีต่อพื้นที่ตรงนี้”

Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่
Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่

หากเทียบภาพความทรงจำที่อาจารย์บัณฑิตเล่าให้เราฟัง กับพื้นที่บริเวณนั้นในปัจจุบัน แนวป่าที่เคยเต็มไปด้วยผลไม้นานาพันธุ์ กลายเป็นแนวอาคารพาณิชย์ไปแล้ว ลำห้วยแก้วที่เคยไหลผ่านจากดอยสุเทพลงมาจนถึงคูเมือง ให้ผู้คนแถวนั้นได้รับไอเย็นจากผืนน้ำและความสงบจากเสียงลำน้ำไหล ปัจจุบันถูกถมกลายเป็นถนนคอนกรีต 4 เลน เต็มไปด้วยเสียงของเครื่องยนตร์ของรถราที่วิ่งกันสวนไปมาจำนวนมาก ห้วยแก้วที่เคยเป็นลำน้ำก็เหลือเพียงแค่ชื่อของถนน 

ภาพในอดีตที่อาจารย์บัณฑิตเล่าให้ฟัง ก็เป็นได้ภาพที่อยู่แค่ในความทรงจำเท่านั้น…

“ทุกวันนี้ ถนนห้วยแก้วมีรถราจอดยาวรอสัญยาณไฟ ไม่มีสายลม ไม่มีร่มไม้ มีแต่แสงแดดที่ร้อนระอุ น้ำใจจากดอยถูกจำกัดอยู่ในท่อคอนกรีต เหมือนผู้คนอาศัยอยู่ในกำแพงบ้านและหน้าต่างกระจก เช่นเดียวกับผู้ขับรถยนต์อยู่ในถังโลหะปรับอากาศติดฟิล์ม สายลมร้อนและแสงแดดวนเวียนอยู่ภายนอก แม้ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงดำรงอยู่ได้ แต่แยกส่วนและไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ” ส่วนหนึ่งจากหนังสือ เจียงใหม่เมืองฮา ที่เล่าเรื่องราวจากความทรงจำของอาจารย์บัณฑิต 

หลังจากครอบครัวของอาจารย์บัณฑิตสะสมทรัพย์ได้เพียงพอ พวกเขาก็ได้สร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินที่เคยเป็นสวนของแม่ และอยู่เรื่อยมาถึงปัจจุบัน จนวันหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณด้านหลังของบ้านอาจารย์บัณฑิตก็ประกาศขายที่ถูก ๆ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของที่ตั้งใจจะสร้างโครงการคอนโดฯ สูง แต่ข้อบังคับของกฎหมายผังเมืองไม่อนุญาตให้มีอาคารสูงสร้างบริเวณนี้ จนบดบังทัศนียภาพของดอยสุเทพ สุดท้ายผู้เป็นเจ้าของตัดสินใจขายที่ในราคาถูก

“เราเห็นที่ดินอยู่ใกล้กับบ้านเรา ก็เลยซื้อเก็บไว้ แต่ยังไม่รู้จะทำอะไร มันเลยยังเป็นป่าเหมือนเดิม” 

Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่
Cochet de Nimman ที่พักในสวนเล็ก ๆ ท่ามกลางป่าผืนสุดท้ายของย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่

ที่ดินตรงนี้ถูกเก็บไว้แบบเดิมหลายปี กระทั่ง 7 ปีที่แล้ว อาจารย์บัณฑิตต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับมาบ้านที่เชียงใหม่บ่อยครั้งเพื่อมาดูแลแม่ ระหว่างที่กลับมาเขาไม่รู้จะทำอะไร เลยฆ่าเวลาด้วยการเข้ามาเดินเล่นในที่ดินที่ยังเป็นป่านี้อีกครั้ง ณ เวลานั้นบริเวณ โดยรอบแปรเปลี่ยนไปเป็นอาคารต่าง ๆ จนไม่เหลือเค้าของความเป็นป่าแล้ว

“ช่วงกลับมาเชียงใหม่ เวลาว่างผมจะเข้ามาเดินที่นี่ เลยพบว่าที่ตรงนี้มีบรรยากาศแบบป่าเชิงดอยสุเทพสมัยก่อน ที่ผมเคยปั่นจักรยานมาเล่นกับเพื่อน แม้ที่รอบข้างจะเปลี่ยนไป แต่ตรงนี้ยังเป็นป่ารก ๆ มีต้นไม้ใหญ่ มีหญ้า ผมเห็นว่าตรงนี้อยู่ติดกับบ้านของครอบครัวที่ก็เริ่มมีอายุกันแล้ว และปกติผมจะมีพรรคพวกขึ้นมาเที่ยวที่เชียงใหม่กันเยอะ เลยตัดสินใจทำที่พักตรงนี้ เพื่อให้มีคนมาเข้ามา จะได้ช่วยทำให้พื้นที่ตรงนี้ไม่อันตราย ครอบครัวผมก็ไม่เหงา 

“แต่ที่สำคัญ เขาได้มาพักและสัมผัสกับความเป็นป่า ซึ่งบางคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เคยได้สัมผัส”

เมื่อได้ไอเดียอยากจะทำที่พักกลางป่า อาจารย์บัณฑิตจึงตั้งใจว่า จะไม่ตัดต้นไม้ในพื้นที่เลยสักต้น

สถาปนิกคนนี้เลือกสร้างที่พักง่าย ๆ ให้แทรกตัวอยู่ระหว่างต้นไม้ในพื้นที่

“ผมไม่ได้ต้องการให้อะไรมันดูพิเศษ เอาแบบธรรมดาที่สุด เพราะสิ่งที่พิเศษคือป่าเหล่านี้ ผมนึกไปถึงตอนสอนหนังสือ มีนักศึกษาลาวมาเรียนกับผม ช่วงนั้นมีเหตุการอุทกภัยเกิดขึ้นที่ประเทศลาว ผมกับนักศึกษาชาวลาวเลยคิดกันว่า จะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ลาวได้ เราตัดสินใจทำบ้านเพื่อผู้ประสบภัย ทำยังไงก็ได้ให้สร้างได้เร็ว อยู่ได้จริง ไม่ต้องใช้เงินเยอะ และใครก็ทำได้ เพื่อให้เกิดผลเร็วที่สุด ซึ่งตอนนั้นเราใช้เวลาสร้างเพียงเจ็ดวัน ด้วยเงินเก้าหมื่นบาท ซึ่งผมมองว่ามันง่าย เลยหยิบมาใช้สร้างที่พักในที่ดินแห่งนี้ด้วย”

อาจารย์บัณฑิตใช้เมทัลชีทมาทำหลังคา ผนังทำด้วยไฟเบอร์ซีเมนต์ แบบเดียวกับตอนที่ทำบ้านพักผู้ประสบภัย แต่เพิ่มงบประมาณในส่วนประตูอะลูมิเนียมเก็บเสียง และผ้าม่านป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย

ที่พักสุดแสนธรรมดาย่านนิมมานฯ แต่รักษาป่าเชิงดอยในอดีต ไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น และให้คุณใกล้ชิดธรรมชาติเป็นพิเศษ

“กลายเป็นว่าหน้าต่าง ผ้าม่าน ที่นอน และแอร์ รวมกัน แพงกว่าตัวอาคารเสียอีก” อาจารย์หัวเราะอารมณ์ดี

ด้วยความที่ตัวบ้านถูกออกแบบมาให้ใครก็สร้างขึ้นได้ อาจารย์บัณฑิตจึงไม่ได้จ้างผู้รับเหมา แต่ใช้คนสวนที่บ้านค่อย ๆ ช่วยกันสร้างขึ้นมาทีละหลัง จนกระทั่งคนสวนของเขาตั้งใจสร้างบ้านของตนเอง ก็ขออนุญาตอาจารย์นำแบบบ้านนี้ไปใช้สร้างด้วย เพราะเห็นว่ามีราคาประหยัดและใช้งานได้จริง 

เมื่อ Cochet de Nimman สร้างตัวอาคารเสร็จ ในส่วนของพื้นที่สวนต่าง ๆ อาจารย์เลือกใช้วิธีย้ายต้นไม้ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่เข้ามาตกแต่ง แทนการซื้อหรือปลูกใหม่

“เมื่อวานเพิ่งมีคนมาพักแล้วติขึ้นมาว่า ที่นี่ไม่มีดอกไม้สีสันสวย ๆ เลย แน่นอนว่ามีไม่ได้ เพราะที่นี่เป็นป่าที่ต้นไม้สูงปกคลุม ดอกไม้ไม่โดนแดด และผมไม่ต้องการให้ที่นี่เป็นทุ่งดอกไม้แบบสวิตเซอร์แลนด์ ต้นไม้ที่เห็นทั้งหมดคือต้นไม้ที่เติบโตมาในพื้นที่นี้ ไม่ได้ซื้อเพิ่ม แค่โยกย้ายนิดหน่อย และปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ อาจไม่สวยเหมือนที่คุณเคยเห็นจากสื่อหรือที่ไหน แต่นี่คือความสวยในแบบของมัน นี่คือป่าตามธรรมชาติของพื้นที่เชิงดอยที่หาได้ยากเต็มที”

พื้นที่ตรงนี้ถูกล้อมรอบด้วยความเจริญ เดินไปนิดเดียวก็ถึงย่านนิมมานฯ และห้างสรรพสินค้า 

ที่พักสุดแสนธรรมดาย่านนิมมานฯ แต่รักษาป่าเชิงดอยในอดีต ไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น และให้คุณใกล้ชิดธรรมชาติเป็นพิเศษ
ที่พักสุดแสนธรรมดาย่านนิมมานฯ แต่รักษาป่าเชิงดอยในอดีต ไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น และให้คุณใกล้ชิดธรรมชาติเป็นพิเศษ

Cochet de Nimman ในพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นเหมือนผืนป่าเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยป่าคอนกรีต หากเข้ามาด้านในนี้ นอกจากอุณหภูมิที่เย็นลงกว่าที่อื่น หากหลับตาเงี่ยหูฟังให้ดี คุณจะได้ยินเสียงเพลงของธรรมชาติที่มีวาทยกรอย่างสายลมคอยพัดผ่านให้กิ่งไม้ ใบไม้ เสียดสีกันส่งเป็นเสียงประสาน กับเสียงเล็กเจื้อยแจ้วของนกนานาพันธุ์

“ที่นี่อาจจะเซลฟี่ไม่สวย แต่สิ่งที่จะอยู่กับเขาขณะมาพัก คือ ภาพบรรยากาศป่าแบบดั้งเดิม ต้นไม้ที่นี่เติบโตเอง ยืนต้นมานาน บรรยากาศแบบที่นี่ แม้ว่าผมจะเป็นสถาปนิก ผมก็ออกแบบเขาไม่ได้หรอกครับ ถ้าเป็นตึกคุณยังสร้างได้ จะเอาแบบไหนบอกมาเลย แต่ธรรมชาติแบบนี้… ต้องพระเจ้าทำเท่านั้น” เขาพูดด้วยแววตาจริงจัง

เหตุผลของเขาในการตั้งชื่อที่พักว่า Cochet de Nimman นอกจากสถานที่ตั้งอยู่ใกล้ย่านนิมมานฯ แล้ว หากลองค้นหาความหมายของคำว่า Cochet ก็พบว่ามันแปลว่า ไก่ตัวผู้ ในภาษาฝรั่งเศสด้วย

ที่พักสุดแสนธรรมดาย่านนิมมานฯ แต่รักษาป่าเชิงดอยในอดีต ไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น และให้คุณใกล้ชิดธรรมชาติเป็นพิเศษ
ที่พักสุดแสนธรรมดาย่านนิมมานฯ แต่รักษาป่าเชิงดอยในอดีต ไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น และให้คุณใกล้ชิดธรรมชาติเป็นพิเศษ

“เดิมทีตอนที่นี่ยังไม่มีใครมาอยู่ มีไก่ตัวผู้ตัวหนึ่ง ไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่มันก็เลือกที่จะใช้ที่ตรงนี้เป็นบ้าน พอเรามาอยู่มันก็ไม่หนีไปไหน คนสวนเห็นอยู่ตัวเดียวก็เลยสงสาร เอาไก่ตัวเมียมาปล่อยเพิ่ม เลยออกลูกออกหลานเต็มไปหมด ถ้าคุณเดินสักพักจะเจอครอบครัวของมันเดินเล่นอยู่ตามสวน กลายเป็นว่าไก่ตัวนั้นคือเจ้าของที่แท้จริง เราก็ควรจะเคารพมัน ไม่ไปรบกวนในสิ่งที่มันอยู่มาก่อน” อาจารย์บัณฑิตเล่าที่ไปที่มาของ ‘ไก่หนุ่ม’

“เราเติบโตมาจาก Eco แต่ถูกหล่อหลอมจนมีความคิดเป็น Economic ไปหมด ทุกวันนี้เราชอบมองสิ่งต่าง ๆ โดยวัดจากมูลค่า หนอนมีมูลค่าน้อยกว่าคน ปลวกไม่มีประโยชน์ ทำลายบ้านที่มีมูลค่ามากกว่า แต่ในธรรมชาติไม่มีการให้มูลค่า ทุกสิ่งมีหน้าที่มีบทบาทของมัน แล้วช่วยส่งเสริมกันให้ดำเนินต่อไปได้ ถ้าไม่มีปลวก เราก็ต้องเผาเศษใบไม้จนเกิดปัญหาควัน พอธรรมชาติเริ่มน้อย คนเริ่มออกห่าง ไม่มีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติ ความสัมพันธ์พวกนี้ก็เลยหายไป

“ผมไม่ได้มองว่าที่พักของผมพิเศษนะ ที่นี่คือที่อยู่ที่โคตรจะธรรมดา ไม่มีอาหารเช้าให้ด้วย ข้างในที่พักก็ไม่ได้ตกแต่งสวยหรู เพราะนี่คือวิถีชีวิตในอดีตที่คนทั่วไปเคยสัมผัสความธรรมดามาก่อน แต่ตอนนี้เมืองพัฒนาจนธรรมชาติเดิมมันผิดธรรมดาไปแล้ว ผมหวังว่าที่ตรงนี้จะทำให้คุณกลับมาสู่ความธรรมดาอย่างที่เคยเป็น 

“คุณได้มาฟังเสียงไก่ขัน เสียงนกร้อง ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ นี่แหละความพิเศษของที่นี่”

จะมีที่พักสักกี่แห่งที่ให้คุณกลับจากการท่องราตรี แล้วตื่นเช้าขึ้นมาท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ

Cochet de Nimman คือสถานที่แห่งนั้น สถานที่ที่อยากให้การสัมผัสธรรมชาติกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ที่พักสุดแสนธรรมดาย่านนิมมานฯ แต่รักษาป่าเชิงดอยในอดีต ไม่ตัดต้นไม้เลยสักต้น และให้คุณใกล้ชิดธรรมชาติเป็นพิเศษ

Cochet de Nimman

ที่อยู่ : 137/2 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

โทรศัพท์ : 09 3576 6888

Facebook : Cochet de Nimman

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ