“เอานี่ไปเคี้ยวแล้วจะรู้สึกดีขึ้น”
ถุงผ้าขนาดประมาณฝ่ามืออัดแน่นไปด้วยใบไม้สีเขียวสดถูกยื่นมาให้ เรารีบรับมาแล้วหยิบใบไม้ใส่ปากเคี้ยวแบบไม่ลังเล เพราะอาการปวดหัว ตาลาย ที่เกิดขึ้นกะทันหันทำเอาเราเดินเซแบบไม่รู้ตัว

“ฉีกกินแต่ใบแบบนี้ เคี้ยวให้พอแตกแล้วเอาลิ้นดันเก็บไว้ที่ข้างแก้ม ไม่ต้องคายนะ” 

คนพูดสาธิตวิธีฉีกใบไม้เอาเส้นแกนกลางทิ้งแล้วใส่ปากเคี้ยวให้ดู เสร็จแล้วก็อมยิ้มแก้มตุ่ยเพราะคงจะอมเอาไว้เยอะเหมือนกัน เราหยิบมาฉีกเคี้ยวตามอีกสามสี่ใบ กลิ่นหอมฉุนที่เตะจมูกยังไม่รุนแรงเท่ารสเฝื่อนฝาดปนขมที่กระจายไปทั่วปาก ไม่นานทั้งลิ้น ทั้งคอ และริมฝีปาก ก็เริ่มชา อีกพักใหญ่อาการปวดแถวขมับของเราก็ค่อยๆ เบาบางลง ตาก็เริ่มจับโฟกัสได้ดีขึ้นจนแทบเป็นปกติ ความรู้สึกร้อนอบอ้าวจนเหงื่อท่วมตัวก่อนหน้านี้กลายเป็นความเย็นแบบโล่งสบาย

“อมไว้ให้ชุ่มน้ำลาย จืดเมื่อไหร่ค่อยคายทิ้ง”

เรากลั้นใจอมต่อนานขึ้นอีกหน่อยตามคำแนะนำแต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้เพราะรู้สึก (ไปเอง) ว่าลิ้นและปากบวมขึ้นเรื่อยๆ ท่าทางเก้ๆ กังๆ ตอนพยายามคายใบไม้ที่รวมกันเป็นก้อนข้างกระพุ้งแก้มทั้งที่ปากยังชาของเรา เรียกเสียงหัวเราะจากกิสโกและอเล็กซ์ เพื่อนร่วมทางชาวเปรูได้เป็นอย่างดี

“ถ้ายอมกินเพิ่มอีกสักหน่อย รับรองว่าลุกขึ้นวิ่งปร๋อแน่นอน” 

ใบโคคา

ใบไม้ที่เรารับมาเคี้ยวในวันนั้นคือใบของต้นโคคา ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของหลายประเทศในแถบเทือกเขาแอนดีส (The Andes) ของทวีปอเมริกาใต้ สาเหตุที่พืชชนิดนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษก็เพราะโคคาเป็นต้นกำเนิดของโคเคน (Cocaine) สารเสพติดผิดกฎหมายร้ายแรงที่รู้จักกันดี ความจริงที่ว่าเราไม่สามารถเคี้ยวใบโคคาอย่างถูกกฎหมายได้ในประเทศอื่นๆ เกือบทั้งโลก ทำให้การได้มาลองเคี้ยวโคคาอย่างสบายใจในประเทศแถบนี้เป็นเรื่องที่ดึงดูดใจใครหลายคนอยู่ไม่น้อย 

เราได้ลิ้มรสของโคคาครั้งแรกตอนอยู่ที่ประเทศโคลอมเบีย ในวันที่เรากำลังนั่งเขียนงานด้วยความง่วงอยู่ที่โต๊ะกลางสนามหน้าบ้านเช่าในเมืองเมเดยิน (Medellin) ยูนีซ-คุณป้าแม่บ้านซึ่งเป็นนางฟ้าของคนทั้งตึกคงเห็นเรานั่งฟุบกับโต๊ะแล้วนึกเวทนา เลยไปต้มชาร้อนมาวางไว้ให้หนึ่งกระติก และบอกเราว่านี่คือ “ชาโคคายาวิเศษ ดื่มแล้วหัวจะแล่นฉิว”

เราฟังคำโฆษณาของป้ายูนีซแล้วก็ดื่มชากระติกนั้นด้วยความคิดที่ว่ามันน่าจะเป็นชื่อของชาดำประเภทหนึ่งที่รสเข้มกว่าชาทั่วไป กว่าจะรู้ว่ามันคือชาจากใบโคคาที่เอาไปสกัดทำโคเคน เราก็จิบชาโคคาติดต่อกันทุกวันจนเกือบเป็นเดือนแล้ว ป้ายูนีซยืนยันว่าดื่มชาโคคาแล้วไม่ ‘ติด’ เหมือนเสพโคเคน เราเชื่อป้าแต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้เพราะเราเห็นป้าพกกระติกชาโคคามาจิบทุกวันระหว่างทำงาน

กาแฟ, ใบโคคา

พอย้ายมาอยู่ที่ประเทศเอกวาดอร์ ก็พบว่าร้านกาแฟแทบทุกร้านที่เดินเข้าไป มักจะมีชาโคคาเป็นหนึ่งในตัวเลือกของเมนูเครื่องดื่ม บางครั้งไปเจอร้านอาหารหรือโรงแรมที่เป็นกิจการครอบครัวเล็กๆ กลางป่ากลางเขา อย่างตอนที่ไปทะเลสาบ Quilotoa โรงแรมที่เราพักมีชาโคคาใส่กาตั้งอยู่บนเตาฟืนกลางห้องนั่งเล่น เอาไว้ให้ทั้งเจ้าของบ้านทั้งแขกนั่งล้อมวงคุยไปจิบชาแก้หนาวกันไป

Quilotoa
Quilotoa แอ่งทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟในเอกวาดอร์ ตั้งอยู่ที่ความสูง 3,914 ม.

จนกระทั่งเราข้ามชายแดนมาประเทศเปรู ก็ได้เจอกับโคคาหลายรูปแบบ ทั้งลูกอมโคคา คุกกี้โคคา น้ำปั่นผสมใบโคคาบด เครปที่ทำจากแป้งโคคาไปจนถึงสบู่ แชมพู โลชั่น น้ำมันบำรุงผิว ฯลฯ สิ่งที่ดูดเงินจากกระเป๋าเราไปได้มากที่สุดน่าจะเป็นลูกอม เพราะไม่ว่าจะไปจอดมอเตอร์ไซค์แวะที่ไหน ก็จะมีเด็กๆ มารุมล้อมให้ช่วยซื้อลูกอมโคคา แน่นอนว่าเห็นหน้ามอมแมมแล้วชวนให้ใจอ่อนจนได้ลูกอมมาล้นทั้งกระเป๋าเสื้อและกระเป๋ากางเกง เรียกว่ามีมากพอที่จะกินไปได้ตลอดหลายเดือนที่เราอยู่ในเปรู  

ลูกอม, โคคา

โคคาน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากที่สุดในประเทศเปรู ไม่ว่าจะเป็นเกสต์เฮาส์ โรงแรมน้อยใหญ่ขนาดไหนก็จะมีใบโคคากับน้ำร้อนเตรียมไว้บริการนักท่องเที่ยวเสมอ เพราะเมืองท่องเที่ยวในเปรูหลายเมืองมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในโลก เช่น เมืองกุสโกสูง 3,399 เมตร เมืองปูโนสูง 3,827 เมตร (จุดสูงสุดของดอยอินทนนท์อยู่ที่ 2,565 เมตร)

Abra la Raya, เปรู
Abra la Raya คือถนนที่ตัดผ่านเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรู ตั้งอยู่ระหว่างกุสโกและปุนโนที่ความสูง 4,350 ม.

 ชาวพื้นเมืองเชื่อว่าใบโคคาใช้ป้องกันและรักษาอาการป่วยจากการขึ้นที่สูงฉันพลัน (High Altitude Sickness) หรือที่เรียกกันภาษาท้องถิ่นว่า ‘Sorojchi’ ได้ ถ้าจะว่ากันตามหลักการแล้ว เมื่อเราอยู่ในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกินกว่า 2,400 เมตรขึ้นไป อากาศจะมีปริมาณออกซิเจนน้อยมากจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดอาการปวดหัว เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่คล่อง ฯลฯ

ถ้าแพ้ในระดับรุนแรงมากอาจถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิต ใครจะมีอาการไหน รุนแรงเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลและขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมด้วย ส่วนเรื่องใบโคคาช่วยป้องกันหรือรักษาอาการป่วยได้จริงหรือไม่นั้น เราเองก็ยืนยันไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันอาจจะดีขึ้นจากการนั่งพักโดยไม่ต้องเคี้ยวใบโคคาเลยก็ได้ 

ใบโคคา
ยาป้องกันอาการป่วยจากการขึ้นที่สูงฉับพลัน เราได้ยาแผงนี้มาจากเพื่อนใหม่ชาวญี่ปุ่นที่เจอกันโดยบังเอิญในที่พักเล็กๆ แห่งหนึ่งในเปรู
ใบโคคา

จิบชาแกล้มตำนานต้นโคคา

ถึงการเคี้ยวใบโคคาสดในวันนั้นจะไม่ทำให้เราลุกขึ้นวิ่งปร๋ออย่างที่เพื่อนว่า แต่ทริปการเดินชมเส้นทางธรรมชาติอีก 2 ชั่วโมงที่เหลือก็จบลงแบบที่ทุกคนปลอดภัยดี แถมหลังจากกินมื้อเย็นกันเสร็จแล้วเรายังได้ฟังตำนานของต้นโคคาแกล้มชาร้อนจากกิสโกกับอเล็กซ์ด้วย ซึ่งแต่ละบ้านแต่ละเผ่าก็ดูเหมือนจะมีเรื่องเล่าในแบบฉบับของตัวเอง เช่น 

เผ่าอัยมารา (Aymara) เล่าว่าเทพแห่งวายุบันดาลให้ไฟลุกท่วมผืนดินเกษตรทั้งหมดด้วยความโกรธเกรี้ยว (โกรธเรื่องอะไร เราหลุดปากถาม-เพื่อนหยุดเล่าแล้วยกมือสองข้างขึ้นเสมอไหล่และส่งสีหน้า “ใครจะไปรู้” มาให้) และพืชชนิดเดียวที่เหลือรอดจากเปลวเพลิงก็คือต้นโคคา ด้วยความอดอยากชาวบ้านจึงเก็บใบโคคามาเคี้ยวและต้มกิน จึงได้ค้นพบว่ากินแล้วทำให้มีเรี่ยวแรง และยังช่วยให้ทนหิวและทนหนาวได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่นั้นชาวบ้านก็นิยมเคี้ยวและดื่มชาโคคากันเรื่อยมา

อีกเรื่องเล่าถึงหญิงสาวคนหนึ่งชื่อคูคาหรือโคคา (Kuka ในภาษาท้องถิ่น Coca ในภาษาอังกฤษ) ผู้มีความงดงามเกินกว่าใครในอาณาจักรอินคา เธอใช้เสน่ห์ของตัวแสวงหาผลประโยชน์จากชายมากหน้าหลายตา จนกระทั่งเรื่องราวและพฤติกรรมของเธอไปเข้าถึงหูกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินคา โคคาจึงถูกจับตัวมาบูชายัญและถูกลงโทษด้วยการโดนแยกร่างเป็นสองซีกและโดนไฟเผาจนมอดไหม้

เมื่อเวลาผ่านไปหลุมศพของเธอก็มีต้นไม้ต้นหนึ่งงอกขึ้นมา ชาวบ้านพบว่าใบสีเขียวของมันมีพลังวิเศษ กินแล้วจะทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง มีแรงทำงานได้ยาวนานโดยไม่หิวโหยและไม่กระหายน้ำ เจ็บปวดตรงไหนเมื่อนำไปกินไปพอกก็หายเป็นปลิดทิ้ง ชาวบ้านจึงเรียกพืชชนิดนี้ว่าคูคาหรือโคคาเพื่อเป็นการระลึกถึงหญิงสาวผู้งดงามคนนั้น 

หรือจะเป็นตำนานของเทพเจ้าอินคา ที่ถ้าเอามาทำเป็นภาพยนตร์สมัยนี้ก็คงจะถูกฉายแบบจำกัดทั้งโรงและรอบ เพราะมีความ ‘อินดี้’ อย่างเหลือเชื่อ ตำนานเล่าว่าเจ้าแม่คูคาหรือโคคา ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งความสุข และ (น่าจะเป็น) เพราะเธอมีความสุขมากมายที่อยากแบ่งปันให้ทุกคน เธอจึงคบหาผู้ชายหลายคนพร้อมๆ กัน วันหนึ่งก็เกิดการยื้อแย่งขึ้นจนตัวเธอขาดเป็นสองท่อน เมื่อเธอตายก็มีต้นโคคางอกออกมาจากลำตัวของเธอ 

เราทำตาโตเมื่อฟังมาถึงตรงนี้ 

กิสโกรีบค้านเสียงหลงว่า เวอร์ชันที่ปู่เล่าให้ฟังไม่ได้เป็นแบบนี้ ต้นไม้งอกขึ้นมาจากหลุมศพ ไม่ได้งอกออกมาจากตัว ‘มามาคูคา’ (Mama Kuka, Mother Coca หรือเจ้าแม่โคคา) พอห้ามเพื่อน 2 คนไม่ให้ตีกันได้แล้ว เราก็ช่วยสรุปให้ว่าอย่างน้อยทั้งสองเรื่องก็มีตอนจบคล้ายกันตรงที่ชาวบ้านลองเอาใบโคคามาเคี้ยวและได้ค้นพบสรรพคุณวิเศษของพืชชนิดนี้ 

เป็นอันว่าศึกการเล่าตำนานโคคาก็สงบลงได้ด้วยดี 

ชาวอินคา, ใบโคคา

ใบโคคากับชาวอินคา

ชาวอินคาเชื่อว่าใบโคคาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นของขวัญที่ได้รับจากเทพเจ้าสูงสุด การประกอบพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าจึงมีใบโคคาเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญ ในยุคโบราณใบโคคามีมูลค่ามากกว่าทองและถูกสงวนไว้ใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น แต่เมื่ออาณาจักรอินคาเริ่มถูกคุกคามโดยชาวสเปนในยุคหลัง การใช้ใบโคคาก็เริ่มแพร่หลายในกลุ่มชาวบ้านคนธรรมดามากขึ้น เพราะความขาดแคลนของผลผลิตทางการเกษตร และความอดอยากที่ทำให้ต้องแจกจ่ายใบโคคาเพื่อบรรเทาความหิวโหยและเหนื่อยล้า

แม้แต่ตอนที่สเปนมีอำนาจเหนืออาณาจักรอินคาอย่างเต็มที่ ก็ยังมองเห็นประโยชน์ของใบโคคาที่จะทำให้ชาวอินคามีเรี่ยวแรงทำงานได้ จึงสนับสนุนให้ชาวอินคาใช้ใบโคคาแต่ขณะเดียวกันก็พยายามกำจัดความเชื่อที่เชื่อมโยงใบโคคากับเทพเจ้าและศาสนาพื้นเมืองไปพร้อมๆ กัน

“จากที่เคยเป็นของชั้นสูง ตอนนี้โคคาสื่อถึงชนชั้นแรงงาน เพราะมีแต่ชาวบ้าน ชาวสวน คนทำงานก่อสร้าง คนที่ต้องใช้แรงงานที่ยังเคี้ยวโคคาในชีวิตประจำวันกันอยู่ อ๋อ แล้วก็มีพวกนักท่องเที่ยวแบบเธอด้วย” 

กิสโกคนช่างพูดพยักพเยิดหน้ามาทางเรา 

ชาวอินคา, ใบโคคา
ชาวอินคา, ใบโคคา
บนรถไฟไปมาชูปิกชู มีทั้งชาโคคาให้ดื่มและมีขนมคบเคี้ยวที่ทำมาจากใบโคคาขายด้วย

เคี้ยวโคคาจะเท่ากับเสพโคเคนไหม 

กิสโกเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมีการค้นพบมัมมี่เด็กชาวอินคา 3 คน อายุประมาณ 500 ปี บนยอดเขาสูงในเทือกเขาแอนดีสฝั่งประเทศอาร์เจนตินา มัมมี่ทั้งสามอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก หนึ่งในนั้นคล้ายกับหลับและเสียชีวิตไปเฉยๆ เมื่อนำเส้นผมไปตรวจก็พบร่องรอยของสารโคเคนจำนวนมากในร่างกาย และพบใบโคคาที่ถูกเคี้ยวและอมเก็บไว้ข้างกระพุ้งแก้มของเด็กด้วย

จากตำแหน่งที่พบเด็กและหลักฐานแวดล้อมต่างๆ ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่าเด็กทั้งสามคนน่าจะถูกเลือกให้เป็นเหยื่อบูชายัญ หลังจากนั้นก็อาจจะถูกบังคับหรือปรนเปรอด้วยเหล้าและโคคาในปริมาณมากกว่าปกติเป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปีก่อนจะเข้าพิธี เพื่อให้เกิดอาการเคลิ้มไปกับฤทธิ์ยาจนไม่รู้สึกหวาดกลัวและไม่ต้องรู้สึกทรมานก่อนตาย

ฟังมาถึงตรงนี้ เราก็อดคิดไม่ได้ว่าตัวเองวนเวียนอยู่ในอเมริกาใต้เกือบจะครบปีแล้ว ดื่มชาโคคามาก็ไม่น้อย ไหนที่จะเพิ่งเคี้ยวไปสดๆ ร้อนๆ อีก ขนาดน้องอยู่มา 500 ปียังโดนตรวจพบได้ ถ้าเราเกิดจะบินกลับไทยหรือเดินทางไปประเทศอื่นๆ หลังจากนี้แล้วโดนสุ่มตรวจสารเสพติดขึ้นมาก็ไม่น่าจะรอดเหมือนกัน เราเล่าให้กิสโกกับอเล็กซ์ฟังเรื่องที่ป้ายูนีซเอาชามาให้เราลองครั้งแรกแล้วยังยืนยันอีกว่ากินแล้วไม่ติด กิสโกได้ยินแล้วก็หัวเราะเสียงดังชอบใจและซ้ำเติมเราว่า

“ป้าก็พูดถูก ว่ากินชาแล้วไม่ติดเหมือนโคเคน แต่ไม่ได้บอกว่ากินแล้วจะตรวจไม่เจอนี่นา”


  • ใบโคคามีส่วนประกอบของโคเคน เป็นสารกระตุ้น มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร การนอนหลับ ฯลฯ ผู้ที่ได้รับโคเคนเข้าสู่ร่างกายจึงอารมณ์ดี ผ่อนคลาย รู้สึกกระฉับกระเฉงและมีเรี่ยวแรงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ
  • ใบโคคาสดมีโคเคน 0.5 – 1.5 เปอร์เซ็นต์
  • โคเคน 1 กก. ต้องใช้ใบโคคาประมาณ 370 กก.
  • ชาโคคาสำเร็จมีโคเคนซองละ 4.9 – 5 มก.  
  • หากตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือเส้นผม ของผู้ดื่มชาโคคา มีความเป็นไปได้สูงว่าจะพบร่องรอยของโคเคนเช่นเดียวกับผู้เสพโคเคน 
  • *ใบโคคาถูกกฎหมายเฉพาะในประเทศโคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย และบางส่วนของอาร์เจนตินาเท่านั้น
  • ถ้าใครอยากเห็นน้องมัมมี่อินคาที่ยังสมบูรณ์จนน่าขนลุกทั้งสาม หาอ่านเพิ่มเติมและชมภาพได้จากที่นี่ค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง : Coca by Wikipedia

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก