16 กันยายน 2019
10 K

ขยะพลาสติกปัญหาที่ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องเผชิญ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คือปัญหาระดับโลก

ในบ้านเรา บ้างก็ว่ายังเป็นปัญหาไกลตัว บ้างก็เริ่มตื่นตัว เพราะมองว่าเป็นปัญหาใกล้ตัว และบ้างก็เริ่มขยับตัวเพื่อแก้ปัญหา

เริ่มแรกที่พลาสติกถูกคิดค้นขึ้น มันคือฮีโร่ที่ทำให้โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ด้วยรูปแบบการผลิตที่ร่นย่อระยะเวลา ความคงทนและสุขอนามัยที่ควบคุมได้ พลาสติกช่วยให้มนุษย์ก้าวไปสู่วิทยาการและเทคโนโลยีอีกขั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่พลาสติกกลายเป็นวัสดุที่คนหันมาเลือกใช้และแพร่กระจายไปทั่วโลก

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเราใช้พลาสติกจำนวนมหาศาล และพวกมันจะยังคงอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกหลายร้อยปี กว่าจะย่อยสลายจนหมด

คำถามจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับขยะพลาสติกที่ใช้เวลานานหลายร้อยปีในการย่อยสลายได้อย่างไร

แนวคิดในการรีไซเคิลพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้น ให้อยู่ในระบบการใช้ของผู้บริโภคมากกว่าแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป จึงเป็นที่มาของการประกาศวิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste ของโคคา-โคล่า

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

หนึ่งในเป้าหมายของวิสัยทัศน์นี้คือ ตามเก็บบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่าให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 เพื่อนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อไป

เป้าหมายนี้อาจฟังดูใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในประเทศไทย โคคา-โคล่าใช้ขวดแก้วชนิดคืนขวดอยู่แล้วจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด

ความท้าทายคือจะขยายการเก็บขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ที่ปกติไม่ต้องคืนได้อย่างไร โครงการ ‘โค้กขอคืน’ จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยการร่วมมือกับ GEPP ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการจัดการข้อมูลขยะและวัสดุรีไซเคิล ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้แยกขยะและผู้อยากขายวัสดุรีไซเคิลให้ซาเล้งไปรับซื้อถึงที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ แหม่ม-มยุรี อรุณวรานนท์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร GEPP และ เอ็ด-นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ถึงความท้าทาย กลยุทธ์ที่จะทำให้การเก็บบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่าบรรลุเป้าหมายในอนาคต

“หัวใจของโมเดลในโครงการโค้กขอคืน คือการทำให้ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของเราได้ส่วนแบ่งที่ยุติธรรม (Fair Share) ซึ่งเราหวังว่ามันจะนำไปสู่การจัดการขยะที่ยั่งยืนต่อไปได้” 

GEPP ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการจัดการข้อมูลขยะและวัสดุรีไซเคิลที่ขอให้ทุกคนแยกขยะ

แหม่มเริ่มเล่าให้ฟังว่า GEPP ก่อตั้งเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนเริ่มแยกขยะ เพราะสงสัยว่าทำไมต้องนำขยะไปที่หลุมฝังกลบเยอะๆ หรือต้องนำไปเผา เธอเลยลองศึกษาเพิ่มเติม ทำให้เจอตัวเลขที่ยืนยันว่าประเทศไทยเรามีทางออกอยู่แค่สองทางในการกำจัดขยะคือ เน้นการฝังกลบและเผาทิ้ง 

“จากนั้น เราไปศึกษากับทางเทศบาลนครกรุงเทพ ว่ามีอะไรที่ทำได้บ้างเพื่อลดปริมาณการทิ้งขยะ เลยได้รับคำตอบมาว่า หากเราแยกขยะ จะเหลือขยะจำนวนน้อยมากที่ต้องนำไปฝังกลบ นั่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากมีส่วนร่วมผลักดันให้คนไทยแยกขยะเพื่อลดการฝังกลบและเผาขยะ” แหม่มบอกด้วยสีหน้าจริงจัง

ผลเสียของการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบและการเผา

ทำไมแหม่มจึงอยากลดการฝังกลบและเผาขยะล่ะ มันไม่ดียังไง? 

แหม่มอธิบายต่อว่า “เวลาเราไม่แยกขยะ แล้วในถุงมีเศษอาหาร พลาสติก กระดาษปะปนกัน เมื่อนำลงไปในหลุมฝังกลบ สิ่งแรกที่กระทบเลยคือ อากาศ คนที่อยู่บริเวณโดยรอบนอกจากจะได้กลิ่นเหม็นแล้ว ยังพบสิ่งที่เรามองไม่เห็นคือก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของสารอินทรีย์”

หลุมฝังกลบของไทยอยู่ในที่โล่งแจ้ง เมื่อฝนตกจะเกิดแบคทีเรีย เชื้อโรค สิ่งเหล่านี้จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ และเจ้าตัวพลาสติกที่บอกว่าไม่ย่อยสลาย ก่อนจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์มันถูกเคลือบสารหลายอย่าง ไม่ได้มีเพียงเนื้อพลาสติก ดังนั้น เมื่อฝนชะล้าง จะมีส่วนสารเคมีไหลลงแหล่งน้ำอีก นั่นคือสิ่งที่บอกว่าทำไมจึงไม่ควรใช้หลุมฝังกลบในการกำจัดขยะเป็นหลัก เพราะมันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ส่วนในเรื่องการเผา โรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) จะนําขยะมูลฝอยชุมชนมาผ่านกระบวนการบําบัดทางกายภาพ เพื่อให้ได้วัสดุที่มีค่าเช่นเชื้อเพลิง ซึ่งในประเทศไทยยังมีไม่มาก ที่เราเผากันเยอะๆ คือ Open Burning (การเผาในที่โล่ง) อย่างเวลาเผาอ้อยก็จะเผาขยะไปด้วย แน่นอนว่าเวลาเผาจะเกิดควัน เกิดก๊าซคาร์บอน และอื่นๆ ในอากาศ ทำให้อากาศปนเปื้อน” 

เราหยักหน้าเห็นด้วย อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อต้นปีทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และอีกหลายๆ จังหวัดคงทำให้หลายคนเข้าใจความร้ายแรงของอันตรายจากการเผา

คำถามยอดฮิต ทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่แยกขยะ

เมื่อรู้แล้วว่าการแยกขยะ จะช่วยลดการฝังกลบและเผาขยะ ซึ่งเป็นวิธีจัดการขยะที่นำมาซึ่งผลเสียมากมาย แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่แยกขยะล่ะ?

แหม่มบอกว่า “เหตุผลแรกคือไม่รู้ว่าแยกอย่างไร ตอนที่เราทำเราเชื่อว่าทุกคนอยากแยก พอลงไปถามจึงรู้ว่าปกติเขาแยกแต่พวกขวดพลาสติกกับลังกระดาษ เต็มที่ก็กระป๋องอะลูมิเนียม พอเราทำไปเรื่อยๆ เราพบว่ายังมีชิ้นส่วนอื่นอีกเยอะมากที่ยังแยกได้ อย่างพวก Packaging  ทั้งนี้ก็เพราะขาดความรู้นั่นเอง

“อีกเหตุผลหนึ่งที่คนไม่แยกขยะ เพราะคนเก็บของเก่ามาไม่ตรงเวลาบ้าง หรือมาแล้วรับแค่บางอย่าง ทำให้คนที่แยกเสียความตั้งใจ เลยเลิกแยก ทิ้งรวมไปเถอะ สุดท้ายแล้วเขาคงเอาไปแยกกันเอง กลายเป็นว่าหลายคนยกเลิกความคิดที่จะแยกขยะ ทิ้งทุกอย่างปนกันเหมือนเดิม

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

“เราสร้าง GEPP ขึ้นมาเพราะเราอยากแตกต่างจากที่อื่น ส่วนใหญ่เขาจะให้ความรู้ เป็นการสื่อสารทางเดียว เราเลยอยากลองทำให้เป็นแบบ Two-way การใช้งานแพลตฟอร์มแบบนี้คือ หนึ่ง ต้องมีคนเรียก สอง ต้องมีคนตอบ ลองเริ่มทำแบบนี้ก่อน อย่างน้อยให้มีคนสื่อสารกลับไปว่าจะมีคนมาเก็บขยะให้นะ หากไม่รู้ว่าจะแยกยังไงก็ถามเข้ามา จะมีคนคอยตอบเช่นกัน”

แหม่มบอกพร้อมรอยยิ้มว่า ทุกวันนี้จำนวนคนใช้บริการที่เรียกให้ไปเก็บขยะหรือเข้ามาสอบถามในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่มีถึงหนึ่งพันสี่ร้อยคน ตัวเลขนี้อาจฟังดูไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่ก็นับว่าน่ายินดีที่คนหันมาใส่ใจเรื่องขยะกันมากขึ้น และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าตัวเลขคนใช้บริการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 ขวดแก้วชนิดคืนขวด การเก็บกลับมาของโคคา-โคล่าที่มีมาหลายสิบปีแล้ว

โครงการที่คล้ายกับสิ่งที่ GEPP กำลังทำอยู่ คือโครงการขวดแก้วคืนขวดของโคคา-โคล่าที่มีมานานแล้ว

กระบวนการคือ บรรจุ นำมาขาย เก็บคืน นำกลับไปทำความสะอาดเพื่อบรรจุใหม่อีกครั้ง แต่เพราะสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป คนเริ่มหันมาพกพาขวดมากขึ้น ไม่ใช่ดื่มที่ร้านแล้วคืน หรือซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน ทำให้ Packaging ผันแปรไป ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้วแบบไม่ต้องคืนขวด หรือกล่องเครื่องดื่ม จึงเป็นเรื่องความหลากหลายที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในไลฟ์สไตล์สมัยใหม่

เอ็ด-นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด

เอ็ดอธิบายว่า “ถ้าย้อนไปเมื่อตอนบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ออกมา ทุกคนคงคิดเหมือนกันว่าเป็นการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ทีนี้เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการที่แปรเปลี่ยนไป ธุรกิจก็ต้องปรับตัวตาม

“ในส่วนของมุมมอง คิดว่าโค้กคงไม่ได้ต่างจากบริษัทเครื่องดื่มอื่นหรือสินค้าที่จำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์ เพราะเราขายเครื่องดื่ม เราส่งเครื่องดื่มสู่ลูกค้าโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ได้ เพราะฉะนั้น บรรจุภัณฑ์มีหน้าที่สำคัญในการเป็นตัวกลางที่จะส่งเครื่องดื่มที่สะอาด สะดวก และปลอดภัย และต้องเป็นราคาที่ผู้บริโภคจับจ่ายได้ด้วย นี่คือหน้าที่พื้นฐานของบรรจุภัณฑ์” 

‘โค้กขอคืน’ โมเดลเก็บบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ของโคคา-โคล่าและ GEPP

จากวิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste ของโคคา-โคล่า หนึ่งในเป้าหมายของวิสัยทัศน์นี้คือ ตามเก็บบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่าให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 เพื่อนำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อไป

แม้ว่าโครงการขวดแก้วคืนขวดจะประสบความสำเร็จอยู่แล้วในประเทศไทย แต่กรณีของบรรจุภัณฑ์ขนิดอื่น ซึ่งปกติลูกค้าสามารถถือออกจากจุดจำหน่ายได้ จะทำอย่างไรจึงจะสามารถตามเก็บกลับคืนมาได้ 

ทำไมโคคา-โคลาจึงสร้างความท้าทายด้วยเป้าหมายใหญ่ขนาดนี้?

เอ็ดอธิบายว่ามองย้อนกลับไปที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เมื่อผู้บริโภคดื่มน้ำแล้วทิ้งไป มันก็ไม่ใช่ปัญหาของเขาแล้ว เพราะทุกคนคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำจัดขยะว่าเขาจะจัดการมันอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม ปัญหานี้เกิดขึ้นทุกที่บนโลกแหละ แต่ว่าแต่ละประเทศก็รับมือแตกต่างกัน บางประเทศอาจจะจัดการปัญหาได้ดีกว่าบางประเทศ เพราะศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน 

“กลับมาที่บ้านเรา ในห้าถึงสิบปีที่ผ่านมา ชุดความคิดแบบเดิมที่ว่าไม่ใช่ปัญหาของเรา ทุกคนน่าจะเริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะยังมีขยะตกค้าง แม้ซาเล้งรับซื้อของเก่าจะมีมานาน แต่ทั้งกรุงเทพฯ และตามแหล่งท่องเที่ยวก็ยังคงมีภูเขาขยะสูง จนลามไปตามธรรมชาติ และก่อปัญหามากมายให้แก่สัตว์ต่างๆ มันจึงเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าความคิดแบบเก่าๆ ไม่ถูกต้อง การหวังพึ่งพาระบบการจัดการขยะอย่างเดียวอาจจะไม่เวิร์กสำหรับประเทศไทย”

เอ็ดบอกว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย เพราะโคคา-โคล่านั้นมีทั่วโลก และต้องยอมรับว่าบรรจุภัณฑ์ก็มีเยอะจริง โคคา-โคล่าจึงต้องกลับมาเปลี่ยนมุมมอง และทำเรื่องนี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น และทำให้เกิดวิสัยทัศน์ World Without Waste ซึ่งเป็นแคมเปญโคคา-โคล่าทั่วโลกที่ประกาศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

“เราทำเรื่องนี้มานานแล้ว แต่สิ่งที่เราทำไปมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงปัญหาในภาพรวม เพราะว่าสมัยก่อนบริษัทที่สนใจทำก็อาจไปร่วมมือกับโรงเรียนหรือชุมชนเพื่อสร้างระบบอะไรขึ้นมา แต่ผลของโครงการพวกนี้ค่อนข้างจำกัด หากชุมชนเข้มแข็ง โครงการจะดำเนินต่อได้ ส่วนที่ไม่เข้มแข็ง โครงการก็อาจจะหายไป

“พอมาถึงทุกวันนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่ามันยังไม่เพียงพอ เมืองนอกประกาศวิสัยทัศน์ World Without Waste ออกมา จริงๆ มันมีเป้าหมายหลายอัน แต่อันหนึ่งที่ท้าทายมากๆ เลยก็คือ เราต้องไปตามเก็บบรรจุภัณฑ์ของเราคืนให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก่อน ค.ศ. 2030 เรามีเวลาทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ประมาณสิบปี” 

เอ็ดพูดด้วยแววตามุ่งมั่นว่า “แน่นอนว่าด้วยวิธีการเก่าๆ เราไม่มีทางทำได้เลย เราเลยต้องหาวิธีการใหม่ๆ ที่มันเวิร์ก แต่เอาเข้าจริงไม่มีใครรู้หรอกว่าวิธีไหนเวิร์ก แต่เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหาวิธีใหม่ๆ หาข้อมูล ศึกษา ว่าวิธีการอะไรที่น่าจะมีโอกาสพาเราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ จึงเป็นที่มาที่เรามาเจอ GEPP” 

ทำไมโคคา-โคล่าและ GEPP ต้องมาร่วมมือกัน

เอ็ดอธิบายต่อ “ก่อนเราเริ่มโครงการอะไรสักอย่างเราต้องมีข้อมูลและความจริงนำทางก่อน มากกว่าแค่การตั้งใจดี เราจึงศึกษาค้นคว้าอยู่หลายชิ้น และเจอปัญหาเดียวกับที่น้องแหม่มพูดคือ พอผู้คนใช้ของเสร็จแล้ว มีส่วนน้อยมากที่แยก และเมื่อแยกแล้วจะมีเหล่าซาเล้งหรือพนักงานเก็บขยะของ กทม. มารับ 

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

“คนส่วนใหญ่คิดว่าหลังจากรับไปแล้วเขาไม่แยก ที่จริงเขาแยกนะ แล้วเขาก็เอาไปขายให้ร้านที่รับซื้อ ของที่เขาขายมันก็ผ่านเป็นทอดๆ จนถึงโรงรีไซเคิล แต่มีอีกจำนวนมากเลยที่คนทิ้งโดยไม่แยก เมื่อไม่แยกมันก็ปะปนกับสิ่งต่างๆ ที่แย่ที่สุดคือเศษอาหาร เพราะนั่นทำให้ของที่ควรถูกรีไซเคิลนำไปรีไซเคิลไม่ได้ พอขายไม่ได้มันก็ถูกส่งกลับไปที่กองขยะ 

“ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าอยากจะแก้ปัญหาในภาพรวม เราส่งเสริมแค่การรีไซเคิลไม่ได้ เราต้องส่งเสริมให้คนแยกขยะด้วย ของที่ควรรีไซเคิลควรจะกลับเข้ามาอยู่ในวงจรรีไซเคิล และยังมีเรื่องของการใช้กฎหมายบังคับไม่ให้คนทิ้งผิดที่ ซึ่งนั่นเกินความสามารถของเราแล้ว เป็นหน้าที่ของภาครัฐ เราจึงกลับมามองสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่แหม่มอยากจะทำพอดี” 

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ของ ‘โค้กขอคืน’

เอ็ดพูดพร้อมรอยยิ้มว่า “เราเอาสิ่งที่เราอยากจะทำมาแชร์ จนพบว่าเราน่าจะไปด้วยกันได้ดี เรามองเห็นมุมดีๆ หลายอย่าง เราอยากให้สิ่งที่แหม่มอยากทำเป็นจริง เพราะหากสิ่งที่แหม่มอยากทำประสบความสำเร็จ มันจะช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างได้ มีเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งคือ พอเจอแหม่มก็ไปเดินตามรถขยะกับแหม่มมา (หัวเราะ) 

“อย่างแรกที่เห็นคือ GEPP ช่วยแก้ Pain Point ของร้านอาหารได้ ซึ่งร้านอาหารจำนวนมากเป็นลูกค้าของโค้กอยู่แล้ว บางทีเขาไม่แยกเพราะเขาไม่สะดวก แต่สิ่งที่ GEPP ทำคือเข้าไปออกแบบพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัดให้จัดระบบการแยกขยะได้

“สอง เป็นสิ่งที่ชอบมากๆ คือ GEPP ไม่ได้เก็บมาฟรีๆ เขาไปรับซื้อมาในราคาตลาดนั่นแหละ แต่เงินพวกนี้จะเข้าทิปกลางของร้าน ดังนั้น เงินเหล่านี้จะไปสู่พนักงานทุกคนในร้าน ซึ่งเรารู้สึกว่าดีนะ เขาได้รับอะไรตอบแทนกับสิ่งที่เขาทำ ทางโค้กเองมีข้อมูลร้านเยอะ เราก็แชร์ข้อมูลนี้ให้กับแหม่มได้ เพราะเรารู้ว่าร้านไหนใช้เยอะ ร้านไหนใช้น้อย 

แหม่ม-มยุรี อรุณวานนท์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร GEPP

“เรามองว่าหลังจากเขาเก็บ ก็เอาไปขายให้คนรับซื้อแบบเดิม ซึ่งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้มีหลายชั้นอยู่แล้ว จะมีคนเก็บตัวเล็กๆ ในพื้นที่แคบๆ ที่เขาอยู่ และในละแวกนั้นมันก็จะมีร้านรับซื้อ ร้านรับซื้อเล็กก็รับซื้อส่งให้ร้านรับซื้อใหญ่ ร้านรับซื้อใหญ่ก็ส่งให้ร้านที่ใหญ่ขึ้น ธุรกิจนี้ต้องใช้พื้นที่และต้องมีทุนระดับหนึ่งเพื่อจัดเก็บของพวกนี้ เช่นมีรถบรรทุกหรือที่ใหญ่กว่านั้น ส่วนผู้รวบรวมก็จะต้องมีเครื่องจักรบีบอัดขยะให้เป็นก้อนๆ เพื่อส่งต่อให้โรงรีไซเคิล”

เอ็ดอธิบายว่า ในอุตสาหกรรมนี้ ถ้านับจากต้นทางสู่โรงรีไซเคิล มีกระบวนการอยู่ 3 – 4 ขั้นตอนกว่าจะไปถึง ก่อนจะมาร่วมมือกัน ระบบของ GEPP ก็ต้องผ่านโครงสร้างนี้เช่นกัน ในขณะที่โคคา-โคล่าเองก็ซื้อแพ็กเกจจิ้งจากบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งรีไซเคิลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม ถ้าโคคา-โคล่าช่วยเชื่อมต่อ GEPP กับโรงงานเหล่านี้ได้โดยตรง บรรจุภัณฑ์ที่เก็บมาก็ไม่ต้องไปผ่านคนกลาง 3 – 4 ทอด

“ที่เราค้นคว้ามา ในกระป๋องอะลูมิเนียมผลิตใหม่มีสัดส่วนอะลูมิเนียมเก่าใช้แล้วอยู่ประมาณเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ขวดแก้วก็เช่นกัน มีขวดแก้วเก่าอยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ขวดพลาสติกนั้นยังทำไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายห้ามอยู่ แต่บริษัทที่เราติดต่อด้วยเขารับพลาสติกเก่ามาผลิตขวดพลาสติกใหม่ และส่งออกไปยังประเทศที่เขารองรับให้ใช้อยู่

“เพราะฉะนั้น การให้แหม่มได้ดีลกับผู้ผลิตที่จัดการเรื่องรีไซเคิลอยู่แล้วโดยตรง คนเก็บที่ทำงานกับแหม่มก็น่าจะได้กำไรมากขึ้นส่วนหนึ่ง เราอยากให้ทุกคนที่เข้ามาทำงานตรงนี้ได้กำไร เพราะถ้าไม่มีกำไร เขาก็คงไม่อยากทำ ส่วนกำไรที่มากขึ้น เราขอปันส่วนหนึ่งมาลงทุนส่งเสริมเรื่องการแยกขยะ มาช่วยให้คนเก็บขยะมีอุปกรณ์ป้องกันมากขึ้น

“สุดท้ายแล้ว กิจกรรมพวกนี้จะเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจของเขาเอง ซึ่งโชคดีที่เราเจอบริษัทที่เขาเข้าใจ เขาเลยเข้ามาร่วมทำงานกับเรา” เอ็ดเสริมทิ้งท้าย

Connect The Dots

แหม่มเล่าว่า “Pain Point ถัดมาของ GEPP คือ ถ้าวิ่งเก็บตามบ้าน ขยะที่ได้มันน้อยก็ไม่คุ้ม เราก็หาวิธีแก้ปัญหาส่วนนี้อยู่ แต่เรามองการณ์ไปไกลกว่านั้น คือที่ไหนมีขยะเยอะอีก นอกจากกองขยะ (หัวเราะ) 

แหม่ม-มยุรี อรุณวานนท์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร GEPP

“เราจึงมองไปที่ศูนย์การค้า ซึ่งคนไทยโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ไปแฮงเอาต์ที่นั่นอยู่แล้ว ทั้งกินข้าว ดูหนัง เดินเล่น ช้อปปิ้ง เวลาว่างส่วนใหญ่ของคนไทยอยู่ที่ห้าง และห้างเองก็มีขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ไม่น้อยเลย ดังนั้น การวิ่งไปที่ห้างช่วยการันตีแล้วว่าต้องมีขยะที่ใช้ได้จำนวนหนึ่ง น่าจะคุ้มทุนต่อการเข้าไปเก็บ”

ห้างในกรุงเทพฯ มีเยอะมาก ทุกแห่งหน ในเฟสแรกของ ‘โครงการโค้กขอคืน’ ทาง โคคา-โคล่า และ GEPP จึงไปร่วมมือกับ ‘โครงการ Journey to Zero’ ของเซ็นทรัล กรุ๊ป เพื่อฝึกอบรมพนักงาน ปรับปรุงระบบการแยกขยะ จัดเก็บขยะจากร้านอาหารและพื้นที่ในศูนย์การค้า และหลังจากนี้ทางโค้กขอคืนจะร่วมมือกับพันธมิตรเจ้าอื่นๆ เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายต่อไป

เอ็ดเสริมว่า “ถ้าเราสร้างเครือข่ายการจัดเก็บผ่านเซ็นทรัลได้ จะกลายเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ได้หมด ยิ่งกว่านั้น จากเซ็นทรัล A ไป เซ็นทรัล B เราเริ่มเพิ่มจุดรับเพิ่มเติมเข้าไปอีก เช่นโรงเรียน ก ซึ่งอยู่ระหว่างทางของเซ็นทรัล A กับ B ดังนั้น จึงไม่ได้เสียอะไรเพิ่มเติมเลย แถมได้ขยะเพิ่มอีก น่าจะยิ่งคุ้มมากขึ้น หลังจากนั้น นอกจากโรงเรียน อาจจะมีปั๊มน้ำมัน อาคารสำนักงาน เพิ่มเข้ามา” 

แหม่มอธิบายต่อ เราคิดว่าจุดที่เรามีตรงกันคือ เราตามหาแหล่งที่มีขยะเยอะ จุดถัดมาคือ ตอนเราเปิดบริษัทเราต้องการผลักดันเรื่องการแยกขยะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดที่ถมขยะ แต่พอมาฟังโมเดลของทางนี้จึงจุดประกายอย่างหนึ่งว่า GEPP จะพัฒนาตัวเองได้ เมื่อเรารู้ว่าขยะจะไปไหนต่อ

“ทุกคนใน GEPP มาจากผู้บริโภคกันหมดเลย มันก็ดีเหมือนกันถ้าเราได้รู้ว่าขยะมันไปอยู่ในที่ที่ควรจะไป พาร์ตเนอร์ที่โค้กรู้จักก็เป็นโรงรีไซเคิลที่มีมาตรฐาน มีการจัดการในระบบปิด สิ่งนี้ความรู้ที่เราได้รับจากโค้ก และเมื่อเราได้ร่วมงานกับเซ็นทรัล เราก็เข้าใจระบบของการเก็บขยะภายในห้าง ทำให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นในเชิงสัมปทานขยะ และแนวความคิดการจัดการขยะของห้างว่ามีปัญหาอะไรบ้าง”

ความร่วมมือระหว่างพาร์ตเนอร์ 2 ไซส์

แหม่มบอกยิ้มๆ ว่า “GEPP เป็นแพลตฟอร์มที่ยังเล็กมาก ที่ผ่านมาเราเลยคิดแต่ภาพเล็กๆ แล้วทดลองทำเลย พอล้มเหลวเราก็เปลี่ยน นี่คือสไตล์การทำงานของเรา แต่พอเราเจอพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ อย่างพี่เอ็ดและโค้ก แต่ละโปรเจกต์ใหญ่ๆ ทั้งนั้น เราก็ เฮ้ยพี่ ใจเย็น (หัวเราะ) ก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน กับทางเซ็นทรัลได้นำร่องไปแล้วในช่วงเดือนกรกฎาคม เพิ่งทดลองได้เดือนหนึ่ง ก็ยังมีสิ่งที่ต้องค่อยๆ พัฒนากันไปอีก

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

“โดยรวมทำให้เราได้เรียนรู้การพัฒนาการจัดเก็บของเรา เพราะว่ามันใหญ่ ก่อนหน้านี้เราเก็บเต็มหนึ่งคันรถ ครึ่งตันก็โอเคแล้ว พอเราไปถึงห้าง ตู้ม! มันเยอะมาก ไปวันแรกเก็บไม่หมด เพราะเราไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ไปแล้วเก็บไม่หมดมาก่อน จึงต้องกลับมาเรียนรู้และหาวิธีแก้ปัญหาใหม่” 

ในฐานะผู้บริโภคตัวเล็กๆ คนธรรมดาอย่างพวกเราช่วยอะไรได้บ้าง

เอ็ดเล่าต่อถึงแผนถัดไปของ ‘โค้กขอคืน’ ซึ่งจะเน้นที่ผู้บริโภคโดยตรง 

“เราอยากจะขยายผลให้ได้เร็วที่สุด ที่เราใช้แพลตฟอร์มของ GEPP ก็เพราะว่าเขามีพื้นเรื่องการจัดเก็บขยะโดยตรงจากผู้บริโภคอยู่แล้ว ตอนนี้ระบบกับทางเซ็นทรัลเพิ่งเริ่มต้น จึงยังมีเรื่องต้องปรับต้องจูนอีก 

“และบางอย่างเวลาอยู่บนพาวเวอร์พอยต์เรามองไม่เห็น (หัวเราะ) พอมาลงพื้นที่จริงๆ จะพบปัญหาที่เรามองข้ามไป เราเลยคิดว่าจากนี้อย่างน้อยถึงสิ้นปี เราอยากโฟกัสจุดเริ่มต้นตรงนี้ก่อน เราอยากสร้างเสาหลักของเครือข่ายนี้ก่อน พอเราได้เครือข่ายที่เข้มแข็งแล้ว ถัดไปเราก็อาจจะลงไปที่ผู้บริโภค”

“ในขณะที่เราทำตรงนี้ เรายังมีอีกหลายงานที่เริ่มคุยกับพาร์ตเนอร์คนอื่นถึงเรื่องอนาคตบ้างแล้วว่าเราจะขยายยังไง เผื่อเป็นทางเลือกในกรณีที่ทางนี้ไม่เวิร์ก ถ้าเรามีโอกาสหรือความพร้อมจะเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้เมื่อไหร่ เราคงรีบทำ เพราะเราก็อยากทำเหมือนกัน แต่ระหว่างนี้ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคจะทำอะไรไม่ได้

“อย่างแรกคือ ถ้าลดได้ด้วยการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์มันก็ดีอยู่แล้วแหละ แต่วิถีชีวิตคนต่างกัน ถ้าลดไม่ได้ อย่างน้อยช่วยแยกหรือทำให้สะอาดที่สุด จากนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บขยะก็ดี ซาเล้งก็ดี เขาจะเอาของพวกนี้ไปเข้าระบบรีไซเคิลได้ หรือถ้าจะเอาไปขายร้านด้วยตัวเองได้ยิ่งดีใหญ่เลย หลังจากนี้ก็จะมีโครงการส่งเสริมคนแยกขยะให้เยอะขึ้น เราอยากให้คนเริ่ม และเรามองว่ามันมีหนทางที่ไม่ยากมากนัก ขอแค่แยกและทำให้สะอาดมันก็จะกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้”

ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

เอ็ดและแหม่มอธิบายว่าในเรื่องขยะ เราต้องร่วมมือด้วยกันหมด ไม่มีใครทำเรื่องนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว ขยะคือเรื่องของสังคม ถ้าเรามองสังคมเสมือนบริษัท บริษัทจะต้องเอาทุกๆ ส่วนมาทำงานร่วมกัน 

พอเป็นขยะ ภาครัฐ เอกชน หรือผู้บริโภค ต้องช่วยกันหมด จึงจะช่วยผลักดันได้ แน่นอนว่าแต่ละภาคส่วนมีจุดมุ่งหมายต่างกัน คำถามที่เอ็ดและแหม่มตั้งไว้คือ จะเชื่อมโยงจุดมุ่งหมายที่ต่างกันของแต่ละภาคส่วนอย่างไรให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน 

เอ็ดเล่าว่า “ในประเทศไทย Awareness (การตระหนักรู้) และ Sense of Urgency (การตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง) ดีขึ้นมากแล้ว ทุกคนเริ่มรู้สึกว่าจะปล่อยให้เป็นเหมือนอย่างที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันทำ 

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

“แค่ปีนี้กับปีที่แล้วก็เห็นความแตกต่างค่อนข้างเยอะ แต่ก่อนใครทำก็ทำไป แต่ว่ามันไม่ได้แล้ว ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน ประสานมือกัน ทุกคนรู้หมดว่าขยะเป็นสิ่งไม่ดี แต่ปัญหาขยะเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อขยะอยู่ในมือของเรา พอเราโยนมันทิ้งไปก็ไม่ใช่ปัญหาของเราอีกต่อไป ผลกระทบยังดูเป็นเรื่องไกลตัวอยู่

“บางทีทุกคนรู้ถึงปัญหา อยากจะช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง เราต้องพยายามเข้าใจหรือหาวิธีการที่จะทำให้การแยกขยะตอบโจทย์ทุกคน เราเชื่อว่าวันหนึ่งถ้าเราเจอหนทางนั้น ทุกคนจะเริ่มเปลี่ยนแปลง แล้วสังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” 

  แหม่มบอกว่า “ตอนนี้ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น มีความอยากรู้มากขึ้น ว่าขยะเหล่านี้จะมีผลอะไรถ้าหากเราจัดการผิด เราดีใจที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ที่คนลงมือทำเพราะรู้ว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่ทำเพราะได้เงิน”

  เอ็ดเสริม “เราเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แต่เราอยากเห็นการเอาข้อมูลมาคุยกันว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์แบบไหน ไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ทุกอย่าง แต่ละอย่างมีผลกระทบของมัน

“การเลิกใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเปลี่ยนชนิดวัสดุที่ใช้ เราต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างเรื่องเปลี่ยนจากพลาสติกมาใช้แก้ว การขนส่งก็อาจต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะแก้วหนักกว่า ถ้าเปลี่ยนมาใช้อะลูมิเนียมเราอาจจะต้องถลุงแร่เพิ่ม ฯลฯ อยากให้มองกลมๆ ให้สมดุล เพราะไม่มีอะไรที่ดีหรือไม่ดีไปหมดทุกอย่าง เข้าใจว่าทุกคนอยากลดพลาสติก แต่เราต้องดูผลกระทบอื่นและหาทางจัดการกับผลกระทบพวกนี้ด้วย 

“และแน่นอน นี่เป็นปัญหาที่เราทุกคนในสังคมต้องร่วมมือ หันหน้ามาจับมือกันอย่างจริงจัง เมื่อทุกคนตั้งใจดีและพร้อมเปิดใจรับฟังกัน ความเข้าใจจะนำไปสู่แรงบันดาลใจที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปยังคนอีกมากมายในสังคม และกลายเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้โลกใบนี้ดีกว่าเดิม” เอ็ดและแหม่มกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

โค้กขอคืน โครงการคัดแยกและจัดเก็บขวดของโค้กและ GEPP เพื่อนำกลับมารีไซเคิลให้ได้ 100%

Writer

Avatar

ปิยธิดา กังวานกิจวาณิช

สาว (ไม่) น้อยที่หลงรักในภาษา หลงใหลในละครเวที ว่างเป็นหลับ ขยับเป็นกิน ดิ่งก็ติ่งเอาเดี๋ยวก็ฟื้นมาดำเนินชีวิตต่อไป เย่!

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล