ตอนนี้อุณหภูมิของลอนดอนสูงไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส ถึงฟ้าจะมืดเร็วแต่ทั่วเมืองก็ยังสว่างไสว เพราะสองข้างทางประดับด้วยของตกแต่งรับคริสต์มาส เหมาะแก่การเดินเตร็ดเตร่ในเมืองอย่างยิ่ง

จังหวะอากาศกำลังดีของลอนดอนมีมาให้เห็นไม่มาก ฉันมักจะชอบใช้มันให้คุ้มด้วยการปล่อยให้ตัวเองหลงทางไปตามท้องถนน ลัดเลี้ยวเข้าตรอกซอกซอย ดูว่ามีอะไรใหม่ๆ น่าตื่นเต้นผุดขึ้นมาในเมืองบ้าง 

แม้ค่าครองชีพและค่าที่อยู่อาศัยของเมืองนี้แพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ทุกตารางเมตรคือเงินคือทอง พื้นที่ถูกใช้อย่างแน่นขนัด บนถนนมีรถไม่ขาด ผู้คนเดินเบียดไหล่กัน แต่เมืองก็ยังหาทางเพิ่มพื้นที่สาธารณะรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ เพราะเขาให้ความสำคัญแก่ความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมือง

ตัวอย่างล่าสุดอยู่ที่คิงส์ครอส สถานีรถไฟที่ซ่อนชานชาลาที่ 9 ¾ สำหรับเดินทางไปฮอกวอตส์เอาไว้ คิงส์ครอสเป็นชุมทางใหญ่ที่ส่งคนอังกฤษเดินทางทั่วประเทศมาเป็นเวลาเกือบ 200 ปีแล้ว และตอนนี้ย่านคิงส์ครอสกำลังเปลี่ยนหน้าตาไป

แค่เดินทะลุสถานีไปสัก 500 เมตรก็จะถึงคลองขนาดเล็ก ที่เมื่อข้ามไปแล้วจะพบพื้นที่โฉมใหม่ลอนดอน อาคารยุคอุตสาหกรรมที่ดูทันสมัยด้วยหลังคาทรงเฟี้ยว ภายในตัวอาคารมีร้านแนวๆ เรียงรายทั้งซ้ายขวา สลับกับร้านอาหารและม้านั่ง

Coal Drops Yard โกดังเก็บถ่านหินเก่า

นี่คือ Coal Drops Yard โกดังเก็บถ่านหินเก่าที่ผันตัวมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ประจำย่าน

ที่นี่มันมีดีอะไร ให้เราเล่าให้ฟัง แล้วคุณจะอยากจองตั๋วตามเรามาทันทีแน่นอน

อาคารอิฐบันทึกประวัติศาสตร์

ตึกที่ตั้ง Cold Drops Yard มีอายุเก่าแก่พอๆ กับตัวสถานีรถไฟคิงส์ครอสเลย

อาคารแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Great Northern Railway, King’s Cross Goods Station สร้างในช่วง ค.ศ. 1850 – 1860 ในขณะที่สถานีรถไฟหลักมีไว้พาคนเดินทางไปทางเหนือของสหราชอาณาจักร ที่นี่ก็มีไว้รับส่งข้าวของต่างๆ จากทางเหนือ เช่น อิฐ ผ้า ปลา ผัก ผลไม้ และสินค้าอีกหลากชนิดที่เคยต้องส่งทางเรือ ซึ่งใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าจะมาถึงลอนดอน รางรถไฟช่วยย่นระยะเวลาให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง

Coal Drops Yard โกดังเก็บถ่านหินเก่า,

ในยุคนั้นถ่านหินเป็นหนึ่งในสินค้าหลักเพราะมีไว้สร้างความอบอุ่นให้คนทั้งเมือง รวมถึงเป็นเชื้อเพลิงให้โรงงานต่างๆ ด้วย นับว่ามีค่ามากในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเช่นอังกฤษ โกดังเก็บถ่านหินที่ผู้คนไปซื้อถ่านโดยตรงได้เลยจึงเป็นของสำคัญมาก

อาคารที่เรียกกันว่า Coal Drops Yard ประกอบด้วยตึกยาว 2 หลัง มีช่องให้รถไฟวิ่งเข้ามาทิ้งถ่านหินลงในห้องชั้นล่าง อาคารทั้งสองเป็นโกดังเก็บถ่านหินอยู่พักหนึ่ง จนถึง ค.ศ 1875 มีการสร้างโกดังใหม่อีกฝั่งของคลองรีเจนท์ ซึ่งออกแบบให้ขนย้ายถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า อาคารกลุ่มนี้จึงผันตัวไปเป็นโกดังเก็บสินค้าหลากประเภทตลอดช่วงร้อยกว่าปี

ใน ค.ศ. 1985 ตัวตึกเกิดความเสียหายอย่างหนักจากเหตุไฟไหม้และถูกทิ้งร้างจนถึง ค.ศ. 1991 คนรุ่นใหม่ของลอนดอนพาเสียงดนตรีแบบ Acid House และชีวิตกลางคืนอันสุดเหวี่ยงมาแต่งแต้มให้ที่นี่มีสีสันอีกครั้ง ด้วยการเปิด Bagley’s, The Key และ The Cross กลุ่มไนต์คลับที่โด่งดังที่สุดของลอนดอนในยุคนั้น หากดูดีๆ บนผนัง จะยังเห็นรอยทาสีตกแต่งคลับเหลืออยู่ด้วย

Coal Drops Yard โกดังเก็บถ่านหินเก่า

นอกจากนั้นยังมีการใช้งานอื่นๆ เช่น เป็นที่ตั้งของธุรกิจเล็กๆ เป็นสตูดิโออัดเพลง เป็นโกดังเก็บของของ London Symphony Orchestra และ English National Opera หรือแม้แต่เป็นสนามโกคาร์ทอยู่ช่วงหนึ่ง รวมถึงเป็นที่ถ่ายทำหนังอังกฤษย้อนยุคหลายเรื่อง

และทุกคนที่ใช้งานอาคารซึ่งทรุดโทรมลงไปทุกขณะ ต่างก็รู้ดีว่าในไม่ช้าจะต้องเกิดการปรับปรุงครั้งใหญ่

การเปลี่ยนแปลงระดับย่าน

เมื่อถอยออกมาดูภาพรวมจะพบว่า เจ้าโกดังถ่านหินนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโปรเจกต์พัฒนาเมืองครั้งใหญ่

โปรเจกต์พลิกโฉมย่านคิงส์ครอสเริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 2001 เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์สีเทาทึมของย่านที่ทรุดโทรมให้ดูสะอาด สว่าง และเป็นมิตรมากขึ้น รวมถึงเพิ่มพื้นที่ให้คนลอนดอนมีโอกาสใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเก็บกลิ่นอายประวัติศาสตร์เอาไว้ด้วย

งานนี้ได้ Argent บริษัทพัฒนาพื้นที่ของอังกฤษเข้ามาเป็นผู้ดูแล โดยผู้บริหารของบริษัทยืนยันความใส่ใจในชุมชนดั้งเดิมด้วยการเล่าว่า ตนปั่นจักรยานไปรอบย่านด้วยตัวเอง พูดคุยกับคนหลายพันคน และมีประชุมเล็กใหญ่รวมกันหลายร้อยครั้ง ก่อนจะลงมือเริ่มวางแผนพัฒนา

Coal Drops Yard โกดังเก็บถ่านหินเก่า

แผนการพัฒนาเริ่มต้นเมื่อ Granary Building โกดังเก็บสินค้าเก่าด้านตะวันออกของ Coal Drops Yard กลายมาเป็นฐานที่ตั้งใหม่ของ University of the Arts London (UAL) มหาวิทยาลัยสอนศิลปะหลากแขนงที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อมีโรงเรียนที่สร้างบุคลากรสร้างสรรค์จำนวนมากมาตั้งอยู่ ความเป็นไปได้มากมายจึงเกิดขึ้น

ส่วนอีกด้านหนึ่งของ Coal Drops Yard เคยเป็น Gasholders หรือถังแก๊ส 4 ถังสำหรับเก็บแก๊สที่เกิดจากอุตสาหกรรมในย่าน เช่นการผลิตถ่านหิน ในปัจจุบันโครงการเข้าปรับปรุงถังหนึ่งให้กลายเป็นสวน และอีก 3 ถังเป็นแฟลตสำหรับอยู่อาศัย นี่เป็นเพียงหนึ่งในที่อยู่อาศัยจำนวนกว่า 2,000 แห่งที่สร้างขึ้นใหม่ในย่านนี้ โดยตั้งใจให้ครึ่งหนึ่งมีราคาไม่แพงเกินไป คนทั่วไปเข้าถึงได้

Google HQ สาขาลอนดอน

ข้างๆ กันนั้นเป็น Pancras Square ที่มีตึกสำนักงานจำนวนมาก และตึกล่าสุดที่กำลังจะเสร็จเร็วๆ นี้คือ Google HQ สาขาลอนดอน ข้อดีของการมีทั้งมหาวิทยาลัยและสำนักงานแบบนี้ คือจะทำให้ย่านมีทั้งนักศึกษาและพนักงานบริษัทอยู่ตลอด ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีเหงา

นอกจากนี้ ในโปรเจกต์ยังมี Pancras Leisure Centre สถานที่ออกกำลังกายซึ่งมีสระว่ายน้ำสาธารณะให้เข้าไปใช้ได้ในราคาไม่ถึงร้อยบาทต่อครั้ง มีลานน้ำพุกว้างให้เด็กๆ มาวิ่งเล่นในฤดูร้อน มีแกลเลอรี่ โรงหนัง โรงละคร และท้ายที่สุดคือมี Coal Drops Yard พื้นที่สำหรับนัดเจอ กินข้าว ช้อปปิ้ง เดินเล่น และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มีจัดตลอดทั้งปี

Pancras Leisure Centre

โปรเจกต์พัฒนาเมืองที่ครบวงจรแบบนี้ เมื่อใช้งานจริงแล้ว พื้นที่ถึงจะดูมีชีวิต

ดีไซน์ที่ใหม่แต่ก็เก่า

เรื่องการปรับปรุงตัวโกดังถ่านหินนั้น บริษัท Argent เลือกจ้าง Heatherwick Studio มาเป็นสถาปนิกออกแบบ

ตัวอย่างผลงานของ Heatherwick Studio ก็อย่างเช่น The Vessel สถาปัตยกรรมแลนมาร์กใหม่ล่าสุดที่นิวยอร์ก Garden Bridge สวนสะพานกลางลอนดอน ที่แม้สุดท้ายจะไม่ได้สร้างแต่ก็เป็นการออกแบบที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก รวมถึงรถเมล์แดง 2 ชั้นรุ่นใหม่ล่าสุดของลอนดอน ที่ชาวเมืองใช้เดินทางไปไหนมาไหนทุกวัน ก็เป็นผลงานของสตูดิโอนี้เช่นกัน

Coal Drops Yard จากโกดังถ่านหินโบราณ สู่หน้าที่พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ใจกลางลอนดอน

ในคราวนี้ โจทย์ที่สถาปนิกได้รับมอบหมายคือให้ออกแบบสะพาน

เนื่องจากอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน มีฝั่งตะวันออกและตะวันตก และมีออฟฟิศสำหรับจัดการเข้าออกของถ่านหิน (Coal Offices) ตรงท้ายอาคารทั้งสอง ภาพที่ออกมาคือเห็นเป็นตึกที่ต่างคนต่างอยู่ จนในทีมออกแบบเรียกกันเล่นๆ ว่าเป็นตึกคิทแคท เพราะเหมือนขนมคิทแคท 2 แท่งที่วางแยกกัน หากทิ้งไว้เฉยๆ พื้นที่ตรงกลางระหว่างแต่ละอาคารจะไม่มีความหมาย ผู้ออกแบบจึงต้องหาบางสิ่งมาเติมเพื่อเชื่อมอาคารเข้าด้วยกัน

Coal Drops Yard จากโกดังถ่านหินโบราณ สู่หน้าที่พื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ใจกลางลอนดอน

แต่ทีนี้ ถ้าทำเป็นแค่สะพานสวยๆ เฉยๆ ก็คงไม่สนุก ทีมจึงเลือกเชื่อมอาคารด้วยการปรับปรุงหลังคาแทน ทำให้เกิดทรงสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร ปราดตามองนิดเดียวก็รู้เลยว่าคือที่นี่ และในขณะเดียวกันก็เน้นให้พื้นที่เปิดกว้างดูสำคัญพอๆ กับตัวอาคาร และเจ๋งที่สุดคือมันสร้างพื้นที่ระหว่างหลังคา ทำให้กลายเป็นอีกชั้นหนึ่งขึ้นมา

ส่วนการเก็บรักษาอาคารเดิมนั้น เน้นการเปลือยอิฐและเหล็กที่เป็นโครงสร้างให้เห็น เพื่ออวดสไตล์สถาปัตยกรรมยุคอุตสาหกรรม แม้จะต้องถมพื้นและปรับผนังหลายส่วนเพื่อให้อาคารใช้ง่ายขึ้น แต่รูปลักษณ์ความเป็นอาคารเก่าก็ยังคงไว้อย่างชัดเจน

ภาพที่ออกมาจึงเป็นอาคารที่ทั้งใหม่และเก่าไปพร้อมกัน

พื้นที่ที่ทำให้พลังไหลเวียน

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน Coal Drops Yard เปิดใช้งานมาครบขวบปี มีคนมานั่งกินอาหาร ทำงาน ดื่มกาแฟ นัดเจอกัน ไม่รู้ล่ะว่ามาเขาทำอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือมีคนเดินเข้าออกไม่ขาดสาย แม้จะเป็นช่วงเที่ยงของวันทำงานก็ตาม

เมื่อเดินแวะเข้าออกร้านรวงในอาคาร จะพบว่ามีร้านหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดกะทัดรัดครึ่งห้อง ไปจนถึงขนาดใหญ่ 3 ห้อง การเช่าที่นี่มีทั้งสัญญาระยะยาวและสั้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่จบการออกแบบจากมหาวิทยาลัยข้างๆ เข้ามาเปิดร้านได้

สินค้าที่ขายในร้านส่วนใหญ่ มีตั้งแต่เสื้อผ้า ของใช้เด็ก กางเกงยีนส์ ชุดว่ายน้ำ เครื่องครัว ทุกร้านของน่ารักและพิเศษ ดูไม่เหมือนร้านตามท้องถนนทั่วไป มีหลายร้านที่ขายสินค้าซึ่งผลิตอย่างถูกหลักจริยธรรม ดีต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนชั้นบนสุดที่เป็นช่องว่างระหว่างหลังคา ล่าสุดซัมซุงเข้ามาเปิดห้องสำหรับให้ทดลองสินค้าใหม่ที่ทางแบรนด์ปล่อยออกมา

ที่นี่จัดกิจกรรมต่างๆ ให้เข้าร่วมตลอดในช่วงเย็นเกือบทุกวัน ช่วงคริสต์มาสแบบนี้ก็จะมีเวิร์กช็อปห่อของขวัญ ทำเครื่องหนัง ทำเทียน และอีกมากมาย

เพราะมีผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกไหลเวียนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ลอนดอนจึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว ทั้งในแง่สินค้าและความคิดสร้างสรรค์ แต่สถานะนี้จะมีอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องได้พื้นที่สำหรับคอยสนับสนุนให้คนมาปะทะเจอะเจอกัน พลังของการแลกเปลี่ยนจึงจะเกิดขึ้น

สถานที่แบบ Coal Drops Yard เป็นเครื่องช่วยย้ำข้อเท็จจริงนี้ให้ชัดเจน


ข้อมูลจาก

www.coaldropsyard.com/history-of-coal-drops-yard/

hydeparknow.uk/2018/10/28/coal-drops-yard-a-critique/

www.designcurial.com/news/coal-drops-yard-by-heatherwick-studio-6860525

www.kingscross.co.uk/

www.coaldropsyard.com/history-of-coal-drops-yard/

www.theguardian.com/artanddesign/2014/oct/12/regeneration-kings-cross-can-other-developers-repeat-trick

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ปรารถนา สำราญสุข

อดีตเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนา สนใจเรื่อง ผู้คน วัฒนธรรม ชนพื้นเมือง การพัฒนาชนบทและพื้นที่ชายแดน ปัจจุบันเรียนมานุษยวิทยา เพื่อกลับไปเป็นนักพัฒนาที่เข้าใจผู้คนมากกว่าเดิม