“คุณๆ มาอยู่บ้านเดียวกันไหม”

นี่ไม่ใช่ประโยคเชิญชวนในฐานะครอบครัวหรือคู่รักแต่อย่างใด เมื่อราว 10 ปีก่อน บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ผู้พัฒนาและออกแบบโครงการ ‘บ้านเดียวกัน’ ใช้แนวคิดนี้ชวนคนแปลกหน้ามาออกแบบบ้านกับเพื่อนบ้านในอนาคต ร่วมกับสถาปนิกตั้งแต่เป็นผืนดินเปล่า จนวันนี้อยู่อาศัยร่วมรั้วเดียวกัน มีที่จอดรถ สวนหน้าบ้าน และระเบียงไม้หลังบ้านที่เชื่อมต่อถึงกันแบบแทบไม่มีอะไรกั้น 

เมื่อมองจากภายนอก เหมือนเป็นบ้านหลังใหญ่บ้านเดียวกัน

อาจฟังดูแปลก ในยุคสมัยที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญแก่ความเป็นปัจเจกนิยม ผู้คนแสวงหาหมู่บ้านจัดสรรสำเร็จรูปหรือคอนโดฯ พร้อมอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกชีวิตที่เร่งรีบ ไม่ค่อยมีเวลาทำความรู้จักทักทายเพื่อนบ้านห้องข้างเคียง ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีความจำเป็นต้องคุยกัน

แต่ทางอาศรมศิลป์เชื่อว่า ยังมีคนที่ปรารถนาการอยู่ร่วมกันกับใครสักคนที่แตกต่าง และหากออกแบบบ้านเรือนที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้ ย่อมเกิดผลดีต่อทั้งจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

พวกเขาจึงทวนกระแส นำคอนเซปต์ Co-housing มาออกแบบสร้างบ้านเดียวกัน 1 และ 2 ให้แต่ละบ้านมีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวมที่ผ่านการออกแบบและตกลงแบ่งปันดูแลร่วมกัน

10 กว่าปีผ่านไป ยาวนานเพียงพอต่อการพิสูจน์แนวคิด เรานัดหมาย 3 ตัวแทนหมู่บ้านที่ร่วมสร้างบ้านเดียวกันในวันนั้น มาพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังและชีวิตที่เปลี่ยนไปจากบ้านลักษณะนี้

คนแรก ภาณุมาศ ชเยนทร์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ผู้ดูแลโครงการผู้มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และสมาชิกของบ้านเดียวกัน 1

สอง อาชวิน ดุงศรีแก้ว อดีตสถาปนิกของบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด และสมาชิกของบ้านเดียวกัน 1 ผู้ออกแบบบ้านเดียวกัน 2

และ อาจารย์สุรพล ธรรมร่มดี อดีตอาจารย์ประจำสถาบันอาศรมศิลป์ สมาชิกผู้อยู่อาศัยบ้านเดียวกัน 2 ที่ร่วมออกแบบตั้งแต่วันเริ่มโครงการ

ภาณุมาศ ชเยนทร์ กรรมการบริหาร สถาบันอาศรมศิลป์, อาชวิน ดุงศรีแก้ว อดีตสถาปนิกสถาบันอาศรมศิลป์, อาจารย์สุรพล ธรรมร่มดี แห่งสถาบันอาศรมศิลป์
อาชวิน ดุงศรีแก้ว อาจารย์สุรพล ธรรมร่มดี และ ภาณุมาศ ชเยนทร์

แม้ทั้งสามคนเล่าความท้าทายในระหว่างทาง ทั้งระยะเวลาที่ยาวนานกว่าการสร้างบ้านจัดสรรทั่วไป และบทสนทนากับเพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยได้พบตามการซื้อบ้านที่ไหน ถึงอย่างนั้น ทุกคนเห็นพ้องกันว่า สำหรับใครที่ชื่นชอบ วิถีแบบนี้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้แน่

ศึกษาดูแล้ว ความหมายคำว่าบ้านของคุณอาจเปลี่ยนไป เผลอๆ จะอยากชวนใครสักคนมาอยู่ร่วมบ้านเดียวกันเสียเลย

บ้านคือความไม่อ้างว้าง

แนวคิดแบบ Co-housing ที่จริงมีมานานแล้ว เริ่มเห็นชัดในประเทศเดนมาร์กช่วง ค.ศ. 1970 เมื่อมีสถาปนิกและครอบครัวเล็งเห็นว่า การอยู่อาศัยสมัยใหม่ทำให้ผู้คนห่างเหินกัน พอชราแล้วไร้เพื่อนฝูงให้พบเจอ จึงสร้างโครงการ Sættedammen ที่มีบ้าน 27 หลังอยู่ใกล้กัน

ข้อดีคือ บริหารทรัพยากรร่วมกันได้ มีอะไรก็แบ่งปันกันใช้ ไม่ต้องซื้อใหม่หมด และมีพื้นที่ส่วนกลางให้แต่ละครอบครัวมาร่วมกิจกรรมพร้อมหน้า ดูแลเกื้อกูลกัน ต่อมาแนวคิดนี้จึงได้รับการเผยแพร่ไปที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

“เราเคยไปดูงานกันที่ญี่ปุ่น พบว่าคนเข้าคิวรออยู่แบบนี้เลยนะ สังคมเขามีความเครียดสูง ต่างคนต่างมา ไม่รู้จักกัน แต่ตามหาบางอย่างเหมือนกัน” อาชวินเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าในไทยก็น่าทำ และหากทำได้คงมีคนต้องการเหมือนกัน

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน
เฉลียงริมคลองด้านหลังบ้านที่ทอดยาวและเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ ส่วนนี้จะช่วยสร้างปฎิสัมพันธ์ของคนในรั้วบ้านเดียวกัน

สังคมไทยสมัยก่อนอยู่กันแบบครอบครัวขนาดใหญ่ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน เราแยกย้ายกันแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในเมือง เกิดเป็นความอ้างว้างหรือหยุดนึกถึงสังคมรอบตัวไปบ้าง อาจด้วยภาระความจำเป็นที่หนักอึ้ง หรือไม่ได้ใส่ใจ

ในขณะเดียวกัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์เริ่มพัฒนาบ้านที่เป็นแพตเทิร์น เพื่อรองรับครอบครัวเดี่ยวที่มีมากขึ้น และลดต้นทุนการสร้างในเชิงธุรกิจ

แต่อาชวินและภาณุมาศเชื่อว่ามนุษย์ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ และ Co-housing น่าจะตอบโจทย์ พวกเขาจึงเริ่มอยู่อาศัยภายใต้แนวคิดนี้ด้วยตัวเอง ที่บ้านเดียวกัน 1 บริเวณโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งออกแบบคล้ายหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป แต่ชวนเพื่อนๆ ผู้ปกครองของนักเรียนที่สนใจ มาผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนร่วมกัน และทำพื้นที่บางยูนิตในหมู่บ้านให้อยู่ใกล้ชิดกัน

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน ช่วงปลาย พ.ศ. 2554 นี้ พวกเขาคิดสร้างบ้านเดียวกันขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ศูนย์ เพื่อให้บ้านลักษณะนี้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ประจวบเหมาะกับการเจอที่ดินรูปสามเหลี่ยมขนาด 355 ตารางวา หน้าโรงเรียนรุ่งอรุณ ทางอาศรมศิลป์จึงซื้อที่ดินมาโดยยังไม่มีแบบบ้านใดๆ ในใจ 

เพราะโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อไป พวกเขารอชวนเชิญผู้อยู่อาศัยมาร่วมออกแบบตั้งแต่ต้น

บ้านคือพื้นที่เกื้อกูลแลกเปลี่ยน (กับเพื่อนบ้านบ้าง)

“สิ่งที่ต่างจากบ้านจัดสรรปกติคือทุกคนเริ่มคิดด้วยกัน” นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เล่าสิ่งที่ทำให้บ้านนี้ไม่เหมือนใคร

“มันไม่ได้เริ่มจากว่าคุณอยากได้บ้านแบบไหน แต่เราชวนคนที่สนใจให้มาทั้งครอบครัว เอาอาหารที่ตัวเองชอบมานั่งกินข้าวด้วยกันกับคนอื่นก่อน คุยกันว่าชีวิตเป็นยังไง อยากอยู่ร่วมกันไหม แค่นี้เลย แล้วค่อยเตรียมมาว่าอยากอยู่บ้านแบบไหน จัดแบบนี้หลายๆ ครั้ง” สถาปนิกเสริม 

กระบวนการนี้ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ท้าทายสุด เพราะต้องหาสมาชิกที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน พร้อมอยู่ในรั้วเดียวกัน บางคนเข้ามาในกระบวนการแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ไม่ถูกใจเพื่อนบ้าน ก็เดินจากไปทันที

และถึงมีครอบครัวที่ตกลงปลงใจแล้ว แต่กว่าจะคุยให้เห็นพ้องกันทุกฝ่ายว่าจะใช้พื้นที่ร่วมกันแบบใด ต้องอาศัยเวลานานเป็นปี

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

“หนึ่งในเรื่องที่เราคุยกันนานคือสุนัข” อาจารย์สุรพลเล่าบ้าง

“เพราะมีคนที่เลี้ยงสุนัขเช่นผม กับคนที่ไม่ชอบมาอยู่ในรั้วเดียวกัน วันที่กินข้าวร่วมกันผมก็ต้องจูงสุนัขมาให้ทุกคนรู้จัก และสื่อสารว่าถ้าต้องอยู่กับเขา เราอยู่กันได้ไหม” ผู้ผ่านกระบวนการจริงยกตัวอย่างเหตุการณ์ประกอบ 

บทสนทนาเหล่านี้แม้ใช้เวลา แต่ข้อดีอีกอย่าง คือทำให้เกิดการวางกติกา เรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยร่วมกัน

“เราคุยกันต่อว่าใครเจออุจจาระสุนัข เรียกให้เพื่อนบ้านที่เลี้ยงสุนัขคนไหนมาดูแลได้เลย ไม่เกี่ยงกัน แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเรารู้ว่ามีคนไม่ชอบสุนัข เราจะไม่ปล่อยให้มันเดินเพ่นพ่าน บ้านไหนเลี้ยงตัวใหญ่ก็ทำกรงกั้นไว้” 

สุรพลอธิบายต่ออีกว่ายังมีหลายเรื่องที่พวกเขาคำนึงถึงคนอื่น และช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องรีรอบอกกล่าว เช่น ช่วยเก็บผ้าให้อีกบ้านเมื่อฝนตก ล้างรถเพื่อนบ้านที่ต้องการ ช่วยดูแลลูกแทน

เพราะจากกระบวนการนั้น ทุกคนตระหนักดีว่าจะเพิกเฉย แบ่งรั้วบ้านฉันบ้านเธอเหมือนทั่วไปไม่ได้อีกแล้ว

และเมื่อมีเหตุการณ์ชวนขัดแย้ง เช่น สุนัขกัดกัน แต่ละฝ่ายจะเห็นปฏิกิริยาเพื่อนบ้าน ซึ่งมักจบด้วยการขอโทษ ให้อภัย และปรับเปลี่ยนบางอย่างใหม่ 

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน
จุดเด่นของโครงการอีกอย่าง คือการใช้พื้นที่หน้าบ้านร่วมกัน กลายเป็นพื้นสีเขียวส่วนรวมขนาดใหญ่

“คนที่อยู่แบบ Co-housing เขาคงไม่ได้คิดแค่ว่าจะได้อะไรจากชุมชนนี้ แต่ต้องพร้อมแชร์อะไรให้เพื่อนด้วย” อาชวินสรุปคุณสมบัติข้อสำคัญของสมาชิกในหมู่บ้านเล็กๆ รั้วเดียวกันแห่งนี้

ในระหว่างการตามหาสมาชิก ภาณุมาศใช้ประสบการณ์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเมินราคา ขนาดบ้าน และแบ่งโฉนดให้เหมาะสม จนลงตัวที่บ้านแบบทาวน์เฮาส์ 2 – 3 ชั้น ติดกัน 5 หลัง หนึ่งชั้นมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 50 ตารางเมตร และบ้านเดี่ยวอีก 1 หลัง ระหว่างบ้านสองแบบนี้ มีพื้นที่ให้มานั่งเล่นหรือทานอาหารร่วมกัน

หลังชักชวน หารือระหว่างมื้ออาหารอย่างยาวนาน พวกเขาเจอสมาชิกที่ใจตรงกันครบถ้วน ซึ่งส่วนใหญ่มีลูกอยู่โรงเรียนรุ่งอรุณ และเป็นครอบครัวที่มีทิศทางชีวิตชัดเจน ในขณะเดียวกันก็พร้อมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับบ้านข้างซ้าย ข้างขวา

บ้านคือกายภาพ ผู้คนคือหัวใจ

เมื่อรับฟังความต้องการของแต่ละคนครบถ้วน สถาปนิกแปรสิ่งเหล่านั้นเป็นการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสม ก่อนทำเป็นแบบจำลองกลับไปนำเสนอ โดยมีโจทย์ที่ต้องใส่ใจเพิ่มเป็นพิเศษคือ พื้นที่ภายนอกบ้าน

“ตอนแรกเราแบ่งพื้นที่สามเหลี่ยมให้เป็นรูปบูมเมอแรงสำหรับแต่ละบ้าน ทุกบ้านมีที่จอดรถส่วนตัว หลายคนชอบเลย แต่พอลองเอามาคุยกับ พี่แบน (ธีรพล นิยม ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์) เขาเสนอให้ทำเป็นที่จอดรถรวม” อาชวินเล่าถึงโจทย์ที่ฟังเหมือนง่ายแต่อธิบายยาก เพราะการออกแบบเช่นนี้ แม้ทำให้ทุกคนมีสนามข้างหน้ากว้างเหมือนอยู่บ้าน 100 ตารางวา และมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ร่วมกันมากขึ้น แต่ก็ขัดกับความเคยชินของผู้อยู่อาศัยที่ถนัดเข้าซองจอดรถในบ้านตัวเอง และกลายเป็นประเด็นที่ถกกันอยู่นาน (อีกแล้ว) แต่จบลงได้ เมื่อทุกคนเห็นแปลนตัวอย่าง ซึ่งทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าคิดว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน
ที่จอดรถรวม ทำให้มีพื้นที่สีเขียวส่วนกลางที่เปิดทะลุถึงกันเพิ่มขึ้น

โฉนดบ้านแต่ละหลังจึงกลายเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมที่น้อยลงกว่าแบบแรก แต่มีพื้นที่สีเขียวขจีร่มรื่นใจเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อเปิดประตูรั้วที่ติดถนน จะมีที่จอดรถรวมหน้าบ้าน เป็นภาระจำยอมที่ถือร่วมกันทุกบ้านกับทางบริษัท หากใครจะยกเลิกการใช้งาน ก็ต้องยกเลิกร่วมกัน 

เสริมด้วยพื้นที่ส่วนรวมอีก 2 จุด คือ สวนหน้าบ้านที่มีซุ้มประตูทางเข้าหลักทางเดียว ทุกคนต้องผ่านก่อนแยกย้ายเข้าบ้านตัวเอง และหลังบ้าน เป็นระเบียงไม้ติดริมคลองที่เชื่อมยาวต่อทุกบ้าน

เหล่านี้คือพื้นที่ให้บังเอิญเจอและทักทายกัน โดยแต่ละบ้านจะปลูกต้นไม้เป็นกำแพงเสริมรอบๆ แบ่งความเป็นส่วนตัวชัดเจน และอาศัยการเคารพกันและกัน

“พวกนี้ทำให้เรารู้ด้วยตัวเองว่าถ้าเราไม่อยากให้เขาทำอะไรกับเรา เราจะไม่ไปทำกับเพื่อนบ้าน เป็นทักษะการอยู่ร่วมกันที่จะติดตัวไปในที่ทำงานและสังคมอื่นๆ ด้วย” อาจารย์สุรพลเสริมอีกหนึ่งข้อดีที่เล็งเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่หมู่บ้านนี้มอบพื้นที่ให้มากเป็นพิเศษ

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน
ทางเข้าบ้าน พร้อมสวนที่ปกคลุมด้วยแมกไม้อย่างร่มรื่น
บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

นอกจากนี้ ในการออกแบบ อาชวินยังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของแต่ละบ้านด้วย เช่น ถ้าบ้านนี้เปิดหน้าต่างตรงนี้ จะส่งผลรบกวนอีกหลังหนึ่งหรือไม่ ควรตากผ้าตรงไหนเพื่อไม่ให้ประเจิดประเจ้อ

“สิ่งสำคัญ โครงการนี้ออกแบบการอยู่อาศัยร่วมกันมากกว่า คือออกแบบพื้นที่ทั้งส่วนตัวและส่วนกลางให้อยู่ร่วมกันได้สบาย ส่วนความน่าอยู่สวยงาม ตามกรอบทางกายภาพเป็นที่เราต้องทำอยู่แล้วในทุกงาน” สถาปนิกออธิบายแนวคิดหลังในการออกแบบอย่างเห็นภาพ

ในที่สุด บ้านเดียวกัน 2 ก็สร้างเสร็จจริง ใน พ.ศ. 2556 

ผลลัพธ์ที่ได้เป็นบ้านปูนหลังงาม ติดไม้แท้บนเปลือกอาคาร เรียงแบบการตีไม้บ้านไทยโบราณ โดยสลับเอาการตีโครงด้านในมาไว้ด้านนอก เกิดเป็นภาษาสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ซ่อนกิมมิกที่ทำให้บ้านดูร่วมสมัยเสมอ แม้ผ่านเวลายาวนานกว่า 10 ปี รวมถึงเลือกใช้สีสันกลมกลืนกับบ้านของชุมชนบริเวณใกล้เคียง แต่ละหลังอยู่ยักเยื้องกันเล็กน้อย ภายในและภายนอกตรงตามความต้องการของส่วนตัวและส่วนรวม 

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

บ้านคือความเป็นไปได้

“วิธีนี้ยากกว่าปกติแน่นอน ถ้าตอนนั้นเอาผังไปขายตามปกติ เชื่อว่าขายไม่ออก มันไม่ได้เหมือนบ้านจัดสรรที่คิดมาให้เสร็จสรรพ” อาชวินชี้ โมเดลแบบนี้อาจไม่เกิดขึ้น หากขาดผู้พัฒนาโครงการที่มองเห็นศักยภาพเชิงธุรกิจแบบอาศรมศิลป์

“ถ้าเราพัฒนาพื้นที่ให้ดีในราคาที่เหมาะสม คนที่มองเห็นข้อดีของคอนเซปต์น่าจะอยากอยู่ อย่างบ้านเดียวกัน 2 เรามีกำไร เพราะไม่ต้องเสียงบการตลาดมาก อยู่หน้าโรงเรียนรุ่งอรุณที่มีคนเกี่ยวข้องหลายร้อย

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

“เราเชื่อว่ามันมีจุดขาย และหลายคนอยากอยู่แบบนี้ แต่ยังไม่มีโอกาส เราตัดสินใจว่าลองทำให้เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างก่อน” แม้การพัฒนาโครงการจะใช้เวลานานในการพูดคุยและขาย ไม่ได้กำไรมากเท่าโครงการบ้านจัดสรรทั่วไป แต่ภาณุมาศ เชื่อว่าบ้านแบบ Co-housing นี้มีคุณค่าสำหรับใครบางคน

สาเหตุที่ต้องคำนึงถึงกำไรด้วย เพราะแม้สถาบันอาศรมศิลป์เป็นองค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร (Not for Profit Organization) แต่กำไรทั้งหมดจะมอบให้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้นอกจากมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานแล้ว การใช้จ่ายแต่ละครั้งจึงต้องคำนึงให้ถี่ถ้วน โดยบ้านเดียวกัน 2 ผ่านขั้นตอนการคิดนั้นอย่างละเอียด

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน
บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

พอ 10 ปีผ่านไป โครงการประเภท Co-housing ยังน่าสนใจสำหรับพวกเขาอยู่หรือเปล่า เราสงสัย

“น่าเริ่มลองทำดูอีกครั้ง เพราะสื่อสารเข้าถึงคนง่ายกว่าสมัยก่อนที่โซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลาย ถ้าเราสื่อสารตอนนี้ คนอาจรู้สึกว่าอยู่แบบนี้ก็ได้ และอยากกลับมาอยู่ร่วมกัน” ภาณุมาศตอบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

“ยังมีความท้าทายอยู่เยอะเหมือนกัน” อาจารย์สุรพลเสริมในฐานะผู้อยู่อาศัย “แต่เรามีบทเรียนจากบ้านเดียวกัน 2 ว่าสิ่งที่เป็นจุดขาย หนึ่งคือ บ้านมีพื้นที่สาธารณะ ร่มรื่น สะดวกในการช่วยเหลือกัน สองคือ กระบวนการมีส่วนร่วม ทำความรู้จักกัน ของเดิมใช้เวลานาน แต่ทำให้กระชับขึ้นได้ สุดท้ายมีเพื่อนบ้านที่ดี คิดว่าเป็นโมเดลที่มีตลาดและน่าสนใจมาก” 

คนบ้านเดียวกัน

เราเดินรอบบ้านเดียวกัน 2 อยู่สักพัก สมาชิกแต่ละบ้านและน้องหมา เดินออกมาทักทายอย่างเป็นกันเอง รวมถึง วรรณ ธรรมร่มดี ลูกชายของอาจารย์สุรพล ผู้อยู่ร่วมกระบวนการออกแบบบ้านเดียวกันนี้ในวัยเด็ก และปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว

“การอยู่บ้านแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องรอให้ใครทำอะไร อะไรที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ ไม่เสียเวลามาก ทำไปเลย มีขอบเขต แต่แบ่งปันกัน” วรรณเล่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ และเชื่อว่าคนรุ่นใหม่สามารถอยู่ร่วมกับคนรุ่นก่อนในบ้านแบบนี้

“อยู่ที่ทัศนคติ แต่คนรุ่นใหม่อาจต้องมีจิ๊กซอว์เพิ่มขึ้นหนึ่งตัว คนรุ่นเก่าสนิทกันเพราะโตมาด้วยสิ่งที่สนใจร่วมกัน ถ้าเรามีกิจกรรมหรือไลฟ์สไตล์ที่ใกล้กัน คงช่วยให้เราอยู่ด้วยกันง่ายขึ้น”

บ้านเดียวกัน โครงการ Co-housing ของอาศรมศิลป์ที่ชวนคนอยู่มาออกแบบชีวิตในรั้วเดียวกัน

“ผลดีอีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ เด็กในบ้านที่เจอคนสามช่วงวัย คือวัยพ่อแม่และวัยปู่ย่าตายาย เขาจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่สืบทอดจากคนรุ่นก่อน คุยกับผู้ใหญ่เป็น เกิดการยึดโยงกัน และมีความเข้มแข็งในชุมชน” ภาณุมาศเสริมว่าทั้งสองฝ่ายจากต่างวัยจะได้เรียนรู้กันและกันมากขึ้นด้วย

“สิบปีที่ผ่านมามันให้ความรู้สึกของการเป็นบ้านเดียวกันจริงๆ แม้ไม่ใช่พี่น้องแท้ๆ แต่เราผ่านกระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้น” อาชวินเล่าพลางนึกย้อนความหลัง

เมื่ออยู่กันไปสักพัก แน่นอนว่าต้องมีคนแยกย้ายตามความจำเป็น เช่นอาชวินที่เตรียมกลับไปอยู่บ้านเกิดที่อุดรธานี และขายบ้านในบ้านเดียวกัน 1 ให้คนอื่นต่อ โมเดลของบ้านจึงคิดเพื่อการนี้ที่ไม่ยึดติดว่าผู้อยู่ต้องเป็นคนคนนี้เท่านั้น แต่จะเป็นใครก็ได้ที่เชื่อเหมือนกัน

หากมีว่าที่สมาชิกสนใจเข้ามาอยู่ร่วมกัน สิ่งที่พวกเขาจะทำอย่างแรกๆ คือการพามาทานอาหาร

เพื่อช่วยตัดสินใจว่า

เราพร้อมอยู่ร่วมบ้านเดียวกันแล้วหรือยัง

ภาณุมาศ ชเยนทร์ กรรมการบริหาร สถาบันอาศรมศิลป์, อาชวิน ดุงศรีแก้ว อดีตสถาปนิกสถาบันอาศรมศิลป์, อาจารย์สุรพล ธรรมร่มดี แห่งสถาบันอาศรมศิลป์

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน