จากสิ่งที่ ‘มองผ่าน’ สู่สิ่งที่ ‘มองเห็น’

อดีตฝังแน่นในแผ่นไม้ลายฉลุ เสน่ห์เมืองเก่าถูกบรรจุระหว่างรอยร้าวของกำแพงอิฐ ความทรงจำได้รับการจารึกบนตึกรามบ้านช่องอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี บน ‘ถนนยมจินดา’ ถนนสายแรกของเมืองระยองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ยาวขนานคู่แม่น้ำชื่อเดียวกับจังหวัด

ความเก่าแก่แต่ไม่เก่าเก็บได้รับการปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งผ่านความร่วมมือของหลายฝ่ายตั้งแต่ชาวบ้านในพื้นที่ กลุ่มและองค์กรในชุมชน รวมถึงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มิตรรักนักพัฒนาที่ชวน The Cloud มาเดินชมย่านสวยรวยเสน่ห์ในคราวนี้ พร้อมทีมงานจากโรงเรียนสังเคราะห์แสง (School of Photographic Arts) มิตรรักนักถ่ายภาพที่จัดกิจกรรมชวนเจ้าของย่านทุกช่วงวัยมาถ่ายภาพสะท้อนหลากหลายมุมมองผ่านนิทรรศการ ‘Portrait of YOMJINDA’ ที่จัดขึ้น ณ ตึกกี่พ้งและตึกเถ้าแก่เทียน ตั้งแต่วันที่ 9 – 11 กันยายน พ.ศ. 2565

ขอเล่าก่อนว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในการทดลองสร้างเส้นทางเพื่อดูความเป็นไปได้ในการขยายขอบข่ายการท่องเที่ยวที่ CEA เทศบาลนครระยอง และชาวย่านร่วมกันจัดขึ้นภายใต้ชื่องาน ‘Co-Create YOMJINDA – สรรค์สร้างย่านเมืองเก่าสร้างสรรค์ยมจินดา’ จึงมีระยะเวลาจัดงานเพียง 3 วัน

แต่หากใครยังชั่งใจ ไม่รู้ว่าวันหยุดหน้าควรตีตั๋วไปไหน เราขอฝากตัวเป็นไกด์นำเที่ยวเลี้ยวชมประวัติศาสตร์ผ่านนานาภาพถ่ายและกิจกรรมที่เพิ่งผ่านมา พาทุกท่านเดินทางสู่ถนนเมืองเก่าที่ไม่ว่าจะมีงานหรือไม่ 

‘ยมจินดาก็ยินดีต้อนรับเสมอ’

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

ร้านหลานเอก

The Future of Yomjinda’s Café

เริ่มต้นกันบนถนนชุมพลที่อยู่ถัดจากถนนยมจินดาเพียงไม่กี่เมตร แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของย่านเดียวกัน

สถานที่จัดนิทรรศการภาพถ่ายโซนที่หนึ่งคือ ร้านหลานเอก คาเฟ่คนรุ่นใหม่ในตึกเก่าอายุ 109 ปี เรียกกันว่า ‘ตึกกี่พ้ง’ สร้างโดย นายกี่พ้ง แซ่ตัน ชาวจีนไหหลำที่อพยพมาทำงานค้าพริกไทยและเสื้อผ้าตามตำบลต่าง ๆ ในเมืองระยองจนร่ำรวย 

เขาได้ว่าจ้างช่างจากภูเก็ตมาสร้างอาคารหลังนี้ในสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน จำนวน 12 ห้อง ถือเป็นอาคารพาณิชย์หลังแรกของเมือง สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2456 ภายหลังตกทอดมาถึงครอบครัว นายเอก พะเนียงทอง เมื่อได้รับการปรับปรุงเป็นคาเฟ่ภายใต้ความดูแลของผู้ร่วมก่อตั้งรุ่นใหม่อย่าง ซัน-กษิดิ์เดช พะเนียงทอง คำว่า ‘หลานเอก’ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อร้าน

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

“เจ้าของเห็นความสำคัญของตึกนี้มาตั้งแต่แรก เลยอยากทำอะไรให้เกิดประโยชน์และเชื่อมกับชุมชน ที่ตรงนี้ถูกปล่อยร้างไว้นาน แต่เจ้าของเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไร ยกเว้นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพให้แข็งแรง 

เราต้องรอคิวช่างซ่อมโบสถ์เป็นปี เพื่อมาซ่อมกระเบื้องหลังคาโบราณโดยเฉพาะ ช่างทั่วไปทำไม่เป็น

ตอนนี้ตึกแบ่งเจ้าของเป็น 3 ช่วง แต่ 2 ช่วงแรกนับจากอาคารอีกมุมมีการเปลี่ยนพื้น ทาสีใหม่ แต่ฝั่งของเราชูความเดิม ๆ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ระยองก็มีอยู่แล้ว เราเลยทำเป็นคาเฟ่ให้คนทั่วไปเข้าถึงง่ายขึ้น ไม่อยากให้คนเดินผ่านมาแล้วก็ผ่านไป”

ซันอธิบายให้ฟังพร้อมกับที่พนักงานนำเมนูเด็ดของร้านมาเสิร์ฟ 

2 เมนูที่เรามีโอกาสได้ชิมคือ Old Town Matcha มัทฉะผสมน้ำแอปเปิ้ล หอมกลิ่นเครื่องเทศ เมนูนี้ออกแบบมาเพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ของย่านในฐานะศูนย์การค้าเก่าที่มีสมุนไพรเป็นหนึ่งในสินค้าขายดี

เมนูที่สองคือ RILA เสกขึ้นจากอิตาเลียนโซดาผสมกลิ่นอายความเป็นไทยจากสมุนไพรที่ใส่ลงในอาหารพื้นเมือง ทั้งตะไคร้ มะกรูด และมะนาว โดยเมนูพิเศษนี้คิดค้นขึ้นเพื่อนำรายได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายไปมอบให้กับ สถาบันเพื่อการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จังหวัดระยอง (RILA) เพื่อพัฒนาระยองต่อไป

“เมนูจะเปลี่ยนตามองค์กรที่สนับสนุน ด้วยความตั้งใจว่าอยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างแท้จริง

“เราคิดไว้ตั้งแต่แรกว่า ชั้นบนจะทำเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหรือนิทรรศการหมุนเวียน โดยโจทย์ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชนหรือระยองเท่านั้น สังเกตว่าจะไม่ค่อยมีที่ให้นั่งเท่าไหร่ จะให้นั่งด้านล่างมากกว่า”

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย
Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

แม้อายุของร้านหลานเอกจะยังไม่มากนัก แต่ความตั้งใจของพวกเขาล้นเหลือและวางแผนกันมานานหลายปี

ซันกล่าวว่า เขาไม่อยากให้ใครมายมจินดาแล้วพบแต่เพียงความร้อน แต่อยากให้นักท่องเที่ยวได้มายลมนต์เสน่ห์ที่เขาและพี่ชายเคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก เมื่อจิตที่แน่วแน่ยืนยันว่าถนนสายเก่ายังหายใจและไปต่อได้ เหล่าหลานเอกจึงขอเป็นผู้ประกอบการตัวเล็กที่จะจุดประกายให้คนอื่นเห็นว่า ‘ถนนเส้นนี้มีทางรอด’

“CEA ร่วมกับเทศบาล กลุ่มคนในพื้นที่ร้านหลานเอก และคนรุ่นใหม่ ยมจินเดย์ มีแผนอยากเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมือง เพราะเวลาใครมาระยองก็ไปทะเล ทำให้มองเลยกลุ่มในเมืองไป 

“เราสำรวจดูว่าจะพาไปไหนได้บ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง จึงเกิดเป็นเส้นทางทดลองนี้ขึ้นมา โดยให้ยมจินดาเป็นเหมือนสปริงบอร์ด พานักท่องเที่ยวไปต่อยังที่อื่นได้ทั้งทางบกและทางน้ำ” มนฑินี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมถึงที่มาของกิจกรรมและเหตุผลที่เราทุกคนมาเยือนระยองในครั้งนี้

หากในอนาคตเส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นจริง นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพายเรือหรือล่องเรือจากแม่น้ำระยอง ย่านยมจินดาไปถึงสะพานขาว เข้าสู่ป่าชายเลน และพื้นที่พระเจดีย์กลางน้ำ

นิทรรศการภาพถ่ายโดยชาวย่าน 3 ช่วงวัย

If Yomjinda Cloud Say

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

ลายฉลุโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของตึกกี่พ้งยังมีให้เงยหน้าชมเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน เพียงแต่บางซี่ผุบ้างหักบ้างตามกาลเวลา

เราเดินสำรวจจากชั้น 1 ขึ้นมายังชั้น 2 จนพบนิทรรศการ Portraits of YOMJINDA ไฮไลต์ของงานครั้งนี้ โดยมี แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช, เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน, โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ และ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ 4 ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสังเคราะห์แสง ผู้เชื่อว่าภาพถ่ายมีพลังในการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างไร้ขอบเขต เป็นผู้พาเราชมนิทรรศการ

“สังเคราะห์แสงมีภาษิตว่า A hub where photography grows and matters. เราดูว่าภาพทำอะไรได้บ้าง ก่อนจะค้นพบว่ามันนำพาเราไปค้นพบอะไรมากขึ้น

“เรื่องราวของยมจินดาเป็นสิ่งที่คนมองแต่ไม่เห็น แม้กระทั่งคนในชุมชนที่เดินผ่านทุกวัน แต่รูปถ่ายจะทำให้คนเห็นในสิ่งที่เขามองผ่าน เราเลยชวนคนในชุมชนมาถ่ายภาพกัน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย คนอาวุโสที่มีเรื่องราวอยากถ่ายทอดมากมาย คนทั่วไปที่อยากขับเคลื่อนบางอย่าง และเด็กที่เป็นอนาคตของย่าน ทั้งหมดร้อยเรียงออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการครั้งนี้

“แต่สุดท้ายคนที่เราอยากให้เห็นที่สุดคือคนในย่าน เพราะนี่คือที่ที่เขาอยู่” อาจารย์แบงค์เล่า

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

งาน ‘Portraits of’ ของกลุ่มสังเคราะห์แสงและ CEA เคยเกิดมาก่อนแล้วที่ย่านเจริญกรุงและสงขลา แต่ละสถานที่ให้ผลลัพธ์แตกต่างกันเช่นเดียวกับครั้งนี้

เราถูกดึงดูดด้วยรูปสีสดใส ซื่อตรง และแปลกตา นั่นคือผลงานภาพฟิล์มของเด็กชาวย่านที่ผ่านการเวิร์กชอปกับทีมทั้งหมด 17 คน โดยโจทย์ของพวกเขาคือ ‘What’s the FUTURE saying?’ พรุ่งนี้ที่อยากเห็น มีคำสำคัญให้ คือ บ้านเก่า ศาลเจ้า ความสุข สีสัน และยมจินดา

โซนที่อยู่ถัดไปคือภาพแบบ Narrative และ Inspirative โดยกลุ่มคนทั่วไปที่มีทั้งผู้ใหญ่และวัยชราปะปนกันภายใต้โจทย์ ‘What’s the PRESENT saying?’ วันนี้คนในพื้นที่รู้สึกอย่างไร สุขหรือเศร้า เหงาหรือกำลังฝัน ทั้งหมดถ่ายทอดออกมาผ่านภาพที่คำพูดนับล้านไม่อาจบรรยายได้หมด

เราขอยกตัวอย่างเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของยมจินดาและกิจกรรมที่เกิดขึ้นสักเล็กน้อย

01 บ้านและอาคารเก่า

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

รวมภาพหน้าต่างบ้าน ถ่ายโดยชาวย่านยมจินดาวัย 60 ปี

ไม่ว่าจะผลงานของเด็กน้อยหรือผู้ใหญ่ต่างก็เต็มไปด้วยสีน้ำตาลของเนื้อไม้อันคุ้นเคย เนื่องจากอาคารในย่านผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งไทย จีน และตะวันตก

สภาพบ้านเรือนดั้งเดิมยังมีให้พบตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ของชาวบ้านทั่วไป หรือกิจการเก่าแก่ที่ยังเปิดให้เข้าชมหรือให้บริการทั้ง บ้านสัตย์อุดม ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งแรกของย่าน สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2464 

บ้านสะพานไม้ ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงบ้านสะพานไม้ 

บ้านบุญศิริ บ้านหลังแรกในย่าน

และ บ้านมาลีวณิชย์ ร้านขายหมอนทำมือเจ้าเก่า ซึ่งคุณลุงเจ้าของบ้านเล่าว่า กระเบื้องหน้าบ้านของเขานำเข้าจากอิตาลีมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว

ระหว่างเดินชมเมือง เราเห็นทั้งบอร์ดแปลกตา สติกเกอร์สีสดใส และป้ายรูปแบบไม่คุ้นเคย กระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ นั่นคือกิจกรรมซาวเสียงที่ CEA เยาวชนรุ่นใหม่ในย่าน และองค์กรพันธมิตรร่วมกันจัดขึ้น 

ยกตัวอย่าง ‘ปฏิทิน 12 เดือน’ ที่ตัวแทนกลุ่มยมจินเดย์อธิบายว่า เป็นการขอความคิดเห็นจากคนในท้องที่ว่า พวกเขาอยากให้จัดกิจกรรมอะไรในแต่ละเดือน ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ และที่สำคัญคือได้สร้างกิจกรรมของคนในยมจินดาเพื่อคนยมจินดาอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับบอร์ดความเห็นเรื่อง ‘Street Furniture & Street Elements’ ที่ อาจารย์หนอน-ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พาเราสำรวจ

“เรามีแบบฝาท่อและกระถางให้เลือกโหวตว่าแต่ละคนชอบแบบไหน สามารถเขียนข้อดี-ข้อเสียเขียนลงบนสติกเกอร์ ผ่านไป 3 วันเราก็จะพอได้แนวทางเพื่อบอกต่อไปยังเทศบาลหรือจังหวัด

“สิ่งที่อยู่ด้านหน้าตลาดเทศบาลนครระยองคือม็อกอัพที่เราทำขึ้น เพื่อให้นึกออกว่า ในอนาคตจะมีบอร์ดความรู้แบบไหนมาตั้ง เขาชอบแบบทันสมัยมีหน้าจอหรือชอบแบบทั่วไป นอกจากนี้ที่หน้าศาลเจ้าแม่ทับทิมก็มีเฟอร์นิเจอร์ที่ลองออกแบบ เพื่อให้ร่มเงาและเป็นพื้นที่พักผ่อนให้ทดลองใช้บริการ”

02 ศาลเจ้าแม่ทับทิม

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน คือพาเลตสีศาลเจ้าที่ปรากฏอยู่บนภาพฟิล์มหลายใบ เพราะศาลเจ้าแม่ทับทิมคือแหล่งรวมใจที่ขาดไปไม่ได้

“กิจกรรมนี้เป็นมุกที่เราจัดเส้นทางทดลองให้คนไปเยี่ยมชมจุดต่าง ๆ เลยเริ่มจากการเสี่ยงเซียมซีที่ศาลเจ้า สิ่งที่ได้ออกมาคือสถานที่ที่ให้ไป เช่น บ้านสะพานไม้ ตะหลาดโรงสี ฝาท่อ แต่ต้องอ่านเอาจากคำทำนาย”

อาจารย์หนอนอธิบายกิจกรรมพร้อมด้วยทีมงานของ CEA ที่ลองอ่านใบเซียมซีให้ฟังเป็นตัวอย่าง

ศาลเจ้าแม่ทับทิมหรือตุ้ยบุ้ยเต๋งเหนี่ยง ปัจจุบันมีอายุครบ 144 ปี นับแต่ พ.ศ. 2421

“จากเกาะไหหลำ เจ้าพ่อกวนอูขึ้นฝั่งที่เกาะสมุย แต่เจ้าแม่ทับทิมไม่ยอมขึ้น จนลมมรสุมพัดขึ้นอ่าวไทยมา จริง ๆ ท่านจะขึ้นที่สัตหีบหรือประแสก็ได้ แต่กลับมาทางแหลมเจริญเข้ามาในแม่น้ำระยองที่ท่าประดู่แห่งนี้

“ย่านนี้คนจีนค้าขายกันในอดีต พอทราบเรื่องก็ลองมาโยนไม้เสี่ยงทานดู การโยนของจีนไหหลำจะยากกว่าจีนทั่วไป ต้องให้ได้ 3 แบบไม่เหมือนกัน ถึงจะแปลว่าใช่ โยนเซ็ตเดียวท่านขึ้นเลย” 

ยรรยง วรโศภิษฐ์ ประธานมูลนิธิกุศลร่วมใจ ศาลเจ้าแม่ทับทิมระยอง และ สุทธิพร ภู่ธนะพิบูล เลขาฯ มูลนิธิศาลเจ้าแม่ทับทิม เล่าประวัติให้ฟังด้วยความสนุก

Portrait of YOMJINDA เที่ยว 'ยมจินดา' ถนนสายแรกของระยองผ่านนิทรรศการภาพถ่าย 3 ช่วงวัย

พวกเขาบอกว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมแหล่งอื่นอาจย้ายศาลตามบริบทเมืองที่เปลี่ยนไป แต่เจ้าแม่ทับทิมที่นี่ยังคงอยู่ที่เดิม พร้อมสภาพบ้านเมืองที่ไม่ต่างไปมากนัก

สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากอดีตคือการพัฒนาศาลให้แข็งแรงทนทานต่อกาลเวลา พร้อมจิตรกรรมฝาผนังที่ฝั่งหนึ่งบอกเล่าการกำเนิดเจ้าแม่ทับทิมของจังหวัด ส่วนอีกด้านเป็นประวัติเจ้าแม่ทับทิมที่ประเทศจีน

ยรรยงเสริมว่า เสาไม้เก่าของศาลเจ้าบางส่วนที่ผุกร่อนถูกนำมาทำเป็นเหรียญเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งจะทำพิธีลุยไฟในวันที่ 3 และวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ทำพิธีแห่เจ้ารอบเมือง ก่อนแจกให้สาธารณชนนำไปบูชา

03 กิจการใหม่ในบ้านเก่า

เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร

อีกหนึ่งสิ่งที่ปรากฏล้อไปกับบ้านไม้สุดคลาสสิก คือตัวอักษรทันสมัยบนป้ายร้านค้า คาเฟ่ และโรงแรมสมัยใหม่ที่เกิดในเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็น Old House At Yomjinda ร้านเชย Hippie type หรือ Converstation ที่มักจัดกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่มาร่วมตัวกัน เปิดพื้นที่ให้ใช้ และเล่นบอร์ดเกมคลายเครียด

ส่วนเราได้ลองสกรีนเสื้อด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก โดยมีลวดลายที่เกี่ยวข้องกับเมืองให้เลือกกลับไปเป็นของที่ระลึก

ตึกเถ้าแก่เทียน

Portraits of YOMJINDA

เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร
เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร

“โซนที่ 2 ทั้งหมดคือเรื่องราวที่เก็บจากเสียงของคนเก่าแก่ในพื้นที่ อยู่มาตั้งแต่เด็ก

“เราค้นพบว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ไม่สามารถถ่ายทอดผ่านภาพได้คือเรื่องเล่า เพราะมันมีชีวิตอยู่ในนั้น งานในตึกนี้เราจัดเป็นสเตชันแบ่งออกเป็นย่าน มีลำโพงซ่อนอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นเสียงของคนที่เราไปคุยด้วย ให้คนดูและฟังไปพร้อมกัน

“อย่างที่ตึกกี่พ้ง ร้านหลานเอก จะเห็นว่าเราเล่าเรื่องปัจจุบันและอนาคต เห็นอย่างไรถ่ายอย่างนั้น แต่เราอยากเอาอดีตกลับมาด้วยเพื่อความสมบูรณ์ 

“ภาพเก่าของยมจินดามีจำกัดและหายากมาก (กกกกก) มีแค่ไม่กี่ชุดและหลายชุดถูกทำเป็นหนังสือแล้ว กว่าจะได้มาต้องเอามาจากคนทำหนังสือก็คือ เรื่องเล่าเมืองระยอง ของ อาจารย์เอนก นาวิกมูล” อาจารย์เอ็กซ์นำทัวร์ภายในตึกเถ้าแก่เทียน อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญที่ไม่มาไม่ได้

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2460 ขุนพาณิชย์ ชลาสินธุ์ หรือ เถ้าแก่เทียน พ่อค้าคหบดีชาวจีนไหหลำสร้างตึกหลังที่ 2 ของระยองขึ้นโดยผสมผสานศิลปะจีนและตะวันตกเข้าด้วยกัน ใช้เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของจังหวัดใน พ.ศ. 2500 

จุดเด่นของอาคารคือ ปูนปั้นพรรณพฤกษาที่บริเวณหน้าจั่วและเหล็กดัดหน้าต่างรูปตราธนาคารนครหลวงไทย ปัจจุบันตึกเถ้าแก่เทียนหรือวิกเถ้าแก่เทียน เปิดเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรมต่าง ๆ 

เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร

เราเดินชมภาพสีที่จัดแสดงสลับกับภาพขาวดำหาดูยากท่ามกลางผนังปูนที่ลอกออกเห็นอิฐแดงซ่อนอยู่ภายใน และเฟอร์นิเจอร์โบราณที่ใช้จริงในอดีต กลางห้องคือเครื่องเก็บเงินสีทองอร่าม ข้างกันคือลูกกรงสีแดงสำหรับเข้าห้องนิรภัยธนาคาร อดีตทุกอย่างจัดสรรอย่างดีในอาคารกว้าง 3 คูหาสมกับคอนเซ็ปต์ What’s the PAST saying?

“เสน่ห์ของการถ่ายรูปคือ พอเราทำงานกับคนที่ไม่รู้จักในพื้นที่ ถ่ายแค่ภาพเดียว สนิทกันเลย (หัวเราะ) อย่างรูปนี้เป็นความบังเอิญ เราได้รู้จักกับผู้อาวุโสทั้ง 3 ท่านตอนลงพื้นที่ มีพูดถึงสะพานเก่าแก่ของจังหวัด แล้วบังเอิญหลังจากนั้นได้เจอภาพเก่าในมุมเดียวกันพอดี” 

อาจารย์เอ็กซ์เล่าถึงชายสูงวัย 3 คนที่ยืนเรียงกันบริเวณหน้าสะพานไม้โบราณ ซึ่งภายหลังได้รับการสร้างใหม่ในชื่อ สะพานสามิภักดิ์ แต่ชาวบ้านก็ยังคุ้นชินกับการเรียกว่าสะพานไม้หรือสะพานราษฎร์บำรุงมากกว่า

พลังของรูปถ่ายทำงานตลอดระยะเวลาเพียงน้อยนิดที่ทีมสังเคราะห์แสงทำการบ้านและทำความรู้จักถนนเส้นนี้ เช่นเดียวกับรูปถ่ายของหญิงสูงวัยคนหนึ่งซึ่งเธอไม่เคยเปิดบ้านให้ใครเข้าชมมาก่อน

“ทุกคนคือคนในพื้นที่ แต่เราคือคนแปลกหน้า อันนี้โชคดีมากที่เขาเปิดบ้านให้พอดี ส่วนคนนี้คือครูหมู เป็นลูกหลานท่านเจ้าเมืองที่มีข้อมูลของย่านนี้เยอะที่สุดแล้ว” 

เขาเปรยประวัติคร่าว ๆ ให้ฟัง ก่อนที่เย็นวันนั้นเราจะมีโอกาสสนทนากับครูหมูตัวจริงแบบกะทันหัน เพราะเธอควบหน้าที่แม่ครัวหัวป่าก์ ทอดไข่เจียวโบราณพร้อมทำเมนูแนะนำอย่างผัดวุ้นเส้นโบราณ แกงระยอง (แกงแขนงสับปะรด) พล่าสามเกลอ และกะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ให้เราทานพอดี

01 บ้านเจ้าเมืองต้นตระกูลยมจินดา – ครัวครูหมู

เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร

ถนนเส้นนี้มีความยาวกว่า 700 เมตร สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2443 ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ตระกูลยมจินดาที่สมาชิกของตระกูลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถึง 3 ท่าน 

นอกจากนี้ถนนใกล้กันอย่าง ถนนศรีสมุทรโภค ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ พระศรีสมุทรโภคไชยโชคชิตสงคราม (อิ่ม ยมจินดา) อดีตผู้ว่าราชการเมืองระยอง 

ถนนราชภักดี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงราชภักดีศรีสงคราม (อรุณ ยมจินดา) อดีตนายอำเภอเมืองระยอง

และ ถนนภักดีบริรักษ์ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงภักดีบริรักษ์ (อำ ยมจินดา)

ปัจจุบันบ้านเจ้าเมืองยังคงตั้งอยู่ที่เดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ หน้าบ้านที่ในอดีตหันเข้าหาทางสัญจรหลักคือแม่น้ำระยอง ได้กลายเป็นส่วนหลังบ้าน ขณะที่หลังบ้านเดิมกลายเป็นประตูต้นรับแขกเหรื่อ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเรือนเจ้านายและมาทานอาหารที่ ครัวคุณหมู ร้านของ ครูหมู-วลัยพร ใจหนักแน่น ในฐานะหลานสาวของตระกูลและลูกสาวของ นางวันสุข ยมจินดา ธิดาของ พระศรีสมุทรโภคไชยโชคชิตสงคราม (อิ่ม ยมจินดา) ผู้สร้างบ้านหลังนี้ใน พ.ศ. 2475

“คุณทวดเป็นเจ้าเมืองคนแรก ลูกชายก็คือคุณตาของครู เป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านมาจากแพจากเรือที่ใช้สัญจรกันในอดีต

“ยมจินดาเคยเป็นศูนย์การค้าย่อย มีร้านเสื้อผ้า ร้านขายยา โชห่วย ร้านเครื่องสังฆภัณฑ์ ใครก็ต้องมา แต่พอศูนย์การค้าจริงเกิดขึ้น คนก็อพยพกันไปหมด ทางนี้เงียบเหงา เพิ่งฟื้นฟูขึ้นสัก 20 ปีก่อน ร้านอาหารนี้ก็ประมาณ 18 ปี ตอนนี้กลายเป็นถนนเมืองเก่า ถนนคนเดิน เป็นถนนทรงเสน่ห์ที่ใครก็รู้จัก

“การมีคนเข้ามาทำให้ครึกครื้นไม่เปลี่ยวเหงา เศรษฐกิจดี แต่ชาวบ้านบางคนก็ไม่อยากให้ทำหลายวัน เพราะยังเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนตัวเราเป็นกลาง คนรุ่นใหม่เขาชอบที่จะพัฒนา ความคิดของเขาดี แต่สิ่งสำคัญคือการพูดคุยกัน เรามีอะไรก็บอกเพื่อช่วยพัฒนาให้ดี” ครูหมูเสริม

02 แม่น้ำระยอง

รูปถ่ายริมน้ำมีให้เห็นละลานตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปขาวดำของสะพานราษฎร์บำรุง เหตุการณ์น้ำท่วมเมือง เด็กน้อยที่ทั้งกระโดดลงว่ายน้ำ นั่งยิ้มให้กล้องอยู่ริมท่า รวมถึงกอดรัดและเล่นสนุกกับโลมา! ภาพสุดท้ายนั้นถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. 2510 ในคืนวันที่คนและสัตว์อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด

หากเป็นอย่างที่ทาง CEA วางแผนเส้นทางเอาไว้ ในอนาคตการท่องเที่ยวทางน้ำของยมจินดาอาจต่อยอดไปได้ไกลถึงศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ โดยมีท่าเรือสร้างขึ้นที่ท่าประดู่ ท่าเรือสำเภาเก่าแก่ที่มีเรื่องเล่าจากคนเฒ่าคนแก่ว่า 

เจ้าเมืองระยองเคยได้รับพระราชทานอาวุธจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยกทัพผ่านมาในพื้นที่ ซึ่งเรื่องราวของวีรชนคนระยองได้รับการจารึกไว้ที่ อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจังหวัดระยอง อย่างครบถ้วนในรูปแบบสื่อใหม่ ทั้งภาพยนตร์ 2D และ 4D รวมถึงแอนิเมชัน ถือเป็นแลนด์มาร์กใหม่ (นอกย่าน) ที่สนุกจนอยากแนะนำให้ไปลอง

03 ท่าประดู่

เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร

“งานของเราพยายามอ้างอิงจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเรียกว่า Future of Thapradu Exhibition หลังจากรถมา เรือก็ถูกลดความสำคัญลง แต่จริง ๆ มันยังสำคัญในแง่การดับเพลิง สูบน้ำ สิ่งที่จะทำได้คือเปลี่ยนเป็นพื้นที่พักผ่อน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เราก็คิดว่าจะเปลี่ยนยังไงให้เป็นพื้นที่ริมน้ำสบาย ๆ

“เราทำนิทรรศการง่าย ๆ ขึ้นมาให้ชาวบ้านเห็นว่า อนาคตของท่าประดูเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น มีสะพานเชื่อมสองฝั่ง มีสวนสาธารณะ เราขอความเห็นผ่านสติกเกอร์เหมือนเดิม มีกระจกใสให้เด็ก ๆ วาดภาพ”

อาจารย์หนอนเล่าต่อว่า คุณแม่เจ้าของเรือนไทยริมน้ำก็สงสัยถึงสิ่งที่ CEA และคนรุ่นใหม่กำลังทำ แต่ความเข้าใจเกิดขึ้นจากการพูดคุยและอธิบาย ในอนาคตท่าประดู่จะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับเสียงของทุกคน

“สังเกตว่าในแต่ละจุดจะมีเรื่องราวของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ระหว่างทางคือกระบวนการที่ทำให้ผู้ใหญ่ในพื้นที่และคนรุ่นใหม่ได้พบกัน การทำงานร่วมกันจะง่ายขึ้น” เขาทิ้งท้าย

ภาพถ่ายทุกใบในวันนั้นกลับกลายเป็นอดีตในวันนี้ แต่นิทรรศการ Portraits of YOMJINDA คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาและต่อยอดการท่องเที่ยวเมืองระยองจากโพ้นทะเล กลับสู่ต้นทางที่ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมารวมตัวกันเมื่อหลายร้อยปีก่อน

หลังพระอาทิตย์ตก เราเดินย้อนผ่านตึกเถ้าแก่เทียนอีกครั้ง สีสันในห้องจัดงาน 3 คูหาเป็นประกายดึงดูดผู้คนท่ามกลางราตรีที่มีเพียงแสงจันทร์

ภาพถ่ายขาวดำทำงานในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์และกล่องเก็บความทรงจำให้คนแปลกหน้าได้ทำความรู้จัก ให้ชาวบ้านได้หวนคิดถึงวันวานที่ผ่านมา ทั้งเพื่อนบ้านที่เคยเห็นหน้า แม่น้ำที่เคยลงกระโดด ตึกเก่าที่เคยวิ่งเล่น

สิ่งเหล่านั้นยังคงอยู่ และอาจคืนกลับมาด้วยความร่วมมือของทุกคนในชุมชน ไม่เว้นแม้แต่ท่านที่กำลังอ่านบทความอยู่ตอนนี้

หากใครยังไม่รู้ว่าทริปหน้าอยากจะไปพักผ่อนที่ไหน ลองเผื่อเวลาสักวันมาเที่ยวริมแม่น้ำระยอง เปลี่ยนยมจินดาให้เป็น ‘ยมจินเดย์’ ของคุณ

เมืองเก่าเล่าใหม่ผ่านภาพหายากและภาพถ่ายโดยชาว 'ยมจินดา' คืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ อาคาร และผู้คน บนถนนระยะ 700 เมตร

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ชาคริสต์ เจือจ้อย

ช่างภาพอิสระและนักปั่นจักรยานฟิกเกียร์ ชอบสั่งกระเพราหมูสับเผ็ดน้อยหวานๆ