“ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้คุยกับพี่อ้อย พี่ฉอด”

“ฟังมาตลอดเลยค่ะ ไม่คิดว่าวันนี้จะต้องโทรเข้ามาคุย”

เชื่อหรือไม่ว่า กว่า 16 ปีที่ทำรายการเล็ก ๆ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ทาง Greenwave สองดีเจคู่หูจาก Club Friday ได้ยินประโยคแบบนี้มานับไม่ถ้วนแล้ว เพราะปัญหาความรักนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน แถมหลายครั้งก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว

 แม้จะยืนยันชัดเจนว่า ไม่ใช่กูรู และไม่ว่าใคร ๆ ก็ตอบปัญหาเรื่องความรักได้เหมือนกัน แต่สำหรับหลายคนแล้ว เธอทั้งสองเปรียบเสมือนที่พึ่งพิง คอยรับฟัง ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะ แถมบ่อยครั้งยังรับบทโหดคอยเขย่าตัวให้ได้สติว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นกำลังทำร้ายคนอื่นอยู่หรือเปล่า

เนื่องจากบางครั้งที่เรื่องดูเหมือนง่าย ๆ แต่พอเกิดขึ้นกับตัวเองก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

นี่เองคงเป็นเหตุผลว่า เหตุใด Club Friday จึงครองใจผู้ฟังทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มีคนต่อสายมาพูดคุยหน้าไมค์ไม่หยุด แถมยังเกิดการต่อยอดแตกแขนงเป็นหนังสือ เพลง คอนเสิร์ต ซีรีส์ และรายการโทรทัศน์อีกต่างหาก

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ​ อยุธยา และ พี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราวและเบื้องหลังของ Club Friday แล้วคุณจะเข้าใจว่า ทำไมเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อย่างปัญหาความรัก ถึงแก้ยังไงก็ไม่เคยหมดสักที

16 ปี Club Friday และพี่อ้อย พี่ฉอด กับเรื่องรักที่เราต่างเป็นพระเอกนางเอก

01
รักเขาเท่าเพลงไหน

รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของรายการนี้ มาจากการอยากทวงศักดิ์ศรีดีเจคืนของพี่ฉอด ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บริหารของ Atime Media ผู้ผลิตรายการวิทยุเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย

เพราะเมื่อ พ.ศ. 2548 ผู้คนในแวดวงวิทยุหลายคนเริ่มเชื่อว่า รายการที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องเปิดเพลงอย่างเดียว โดยไม่มีเสียงดีเจหรือโฆษณามากวนใจ ในฐานะที่ทำงานขายเสียงมาทั้งชีวิต พี่ฉอดรู้สึกทนไม่ได้ จึงอยากท้าทายความคิดนี้ ด้วยการทำรายการพูดอย่างเดียวไม่ต้องเปิดเพลงเลย ลงผังของสถานีวิทยุต่าง ๆ ในเครือเอไทม์

รายการแรกที่ถือเป็นตัวจุดพลุคือ แฉแต่เช้า ออกอากาศทุกเช้าวันจันทร์-ศุกร์ ทาง EFM โดยได้ มดดำ-คชาภา ตันเจริญ และ กฤษณ์​ ศรีภูมิเศรษฐ์ มาดำเนินรายการ นำเสนอข่าวสารกอสซิปในวงการบันเทิง ซึ่งหลังออกอากาศได้ไม่นาน ปรากฏว่า ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย

พอมาถึง Greenwave ซึ่งเน้นเพลงแบบ Easy Listening มีกลุ่มผู้ฟังอีกสไตล์หนึ่ง หากจะทำรายการรูปแบบเดียวกับ แฉแต่เช้า ก็คงไม่เหมาะเท่าใด เผอิญเพลงที่เปิดส่วนใหญ่เป็นเพลงรัก ทีมงานจึงคิดว่าน่าจะหยิบมาต่อยอดได้

“พี่ฉอดบอกว่า รายการใหม่ก็น่าจะมาจากคนฟังนั่นแหละ เพราะเวลาฟังเพลงหลายคนก็อิน แล้วโทรมาขอเพลงกัน ซึ่งดีเจเราก็มีความอยากรู้เรื่องชาวบ้านทุกคน ‘ทำไมถึงขอเพลงนี้ล่ะคะ’ ‘พี่คะ..หนูแอบรักเขาเหมือนเพลงนี้เลย’ ‘แล้วหนูแอบรักนานหรือยังคะ’ คือเราคุยเรื่องความรักกัน พอคิดว่าจะทำรายการทอล์กที่ Greenwave ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมาต่อยอดได้” พี่อ้อยอธิบาย

ครั้งนั้นทีมงานอยากให้พี่ฉอดเป็นผู้ดำเนินรายการเอง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบุคลิกที่มีความเป็นผู้ใหญ่ ทว่าหากให้พี่ฉอดจัดรายการคนเดียวก็คงดูแปลก ๆ จึงชักชวนพี่อ้อยมาร่วมด้วยอีกคน เพราะนอกจากทั้งคู่จะคุ้นเคยกันมานานแล้ว ยังมีจุดที่คล้ายคลึงกันอีกอย่างคือ ชอบฟัง ชอบวิเคราะห์ และชอบดูคน ซึ่งน่าจะตอบโจทย์กับรายการที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยอย่างเต็มที่

ส่วนเรื่องเวลาที่เป็นคืนวันศุกร์ เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน ซึ่งพอเลิกงาน หลายคนอาจใช้เวลานี้สังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามสถานที่ต่าง ๆ แต่กับบางคนอาจเลือกกลับบ้าน เพื่อพักผ่อนหรือเปิดรายการวิทยุฟังตอนกลางคืน ทีมงานจึงอยากให้รายการนี้เป็นเสมือนเพื่อนพูดคุยยามเหงาที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ Club Friday ซึ่งมีสโลแกนว่า No more lonely (Friday) Night โดยตอนแรกเริ่มดีเดย์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ในชื่อตอน ‘รักเขา…เท่าเพลงไหน’ ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่พี่อ้อยเขียนพอดี

“ตอนนั้นเราค่อนข้างเป็นห่วงเหมือนกันว่า ถ้าไม่มีคนโทรเข้ามาเลยจะทำยังไงดีนะ เราจะนั่งคุยเรื่องอะไรกันดี แล้วเรื่องของเราจะพอไหม โดยเฉพาะเรื่องความรักไม่ค่อยจะมี แต่ปรากฏว่าตั้งแต่วันแรก มีคนโทรเข้ามาเยอะเลย เข้ามาเล่าเรื่องของตัวเองเต็มไปหมด ทำให้เราสามารถเดินทางต่อมาได้เรื่อย ๆ” พี่ฉอดเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

16 ปี Club Friday และพี่อ้อย พี่ฉอด กับเรื่องรักที่เราต่างเป็นพระเอกนางเอก

02
เราต่างเป็นพระเอกนางเอกในเรื่องของตัวเอง

เรื่องราวใน Club Friday มีสารพัดเหตุการณ์ ทั้งความสุข ความเศร้า ความเหงา

หากถามว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผู้คนยอมเล่าเรื่องส่วนตัวให้พี่อ้อย พี่ฉอด ฟัง บางทีอาจคงเพราะสังคมไทยขาดแคลนพื้นที่ในการรับฟัง เนื่องจากส่วนใหญ่มีแต่คนพูด มีแต่คนวิจารณ์ รายการนี้จึงเข้ามาตอบโจทย์ช่องว่างนี้พอดี  

“พวกเราไม่ได้เก่งกว่าใคร พี่เชื่อว่าคนทุกคนตอบคำถามเรื่องความรักได้หมด ถ้าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง นึกเหรอว่าคนที่โทรศัพท์เข้ามาไม่รู้ หากมีคนเจอเรื่องเดียวกัน ปรึกษาเธอ เธอก็ตอบเหมือนพี่อ้อย พี่ฉอด นี่แหละ แต่บางครั้งเขาก็อยากมีใครสักคนที่คอยรับฟัง ‘เฮ้ยพี่…มันไม่ไร้สาระใช่ไหมที่หนูตัดสินใจแบบนี้’ มันคือการเล่าสู่กันฟัง” พี่อ้อยกล่าว

“ทุกคนชอบบอกว่า เราเป็นกูรู เป็นที่ปรึกษา แต่คุณสมบัติของเราจริง ๆ คือเราฟังเก่ง ฟังแล้วเราก็ถาม เราอยากรู้ และเรามีความเห็นอกเห็นใจกัน อีกอย่างหนึ่งคือ อาชีพดีเจมีระยะห่างกำลังพอเหมาะ สังเกตไหม เรามักไม่ค่อยอยากเล่าเรื่องแบบนี้ให้กับคนในบ้านหรือคนที่รู้จักฟัง เพราะบางทีอาจเกิดการต่อโยงยุ่งยากไปหมด แต่จะไปเล่าให้คนที่ไม่รู้จักเลยก็ไกลไป คงไม่อินกับเรื่องของเรา ขณะที่เขารู้จักพี่อ้อยพี่ฉอดพอประมาณ แล้วไม่ได้รู้สึกว่าเราจะเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปทำให้เขาเดือดร้อน” พี่ฉอดตอบเสริม

ด้วยเหตุนี้ พี่อ้อย พี่ฉอด จึงพยายามเปิดพื้นที่ให้ปลายสายทุกคนเล่าเรื่องของตัวเองได้เต็มที่ ไม่ว่าคุณจะใช้ชื่อจริงหรือชื่อสมมติ จะเล่าเรื่องแค่เสี้ยวเดียวหรือทั้งหมด หรือเหตุการณ์นั้นจะคาบเกี่ยวเส้นศีลธรรมไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าความสบายใจของคนที่โทรศัพท์เข้ามานั้นสำคัญที่สุด ขณะที่ผู้ดำเนินรายการทั้งสองจะวางบทบาทเป็นผู้สังเกตการณ์ คอยซักถาม คอยเสนอแนะมุมมองของตัวเองเป็นระยะ 

“บางครั้งการตั้งคำถาม แล้วเขาได้ตอบไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนเขาได้รีเช็กตัวเองเหมือนกันนะ เช่นบางคนเล่ามาตั้งนาน พี่ก็ถามว่า ‘เดี๋ยว น้องขา ตกลงผู้ชายคนนี้น่ารักตรงไหน ทำไมหนูถึงรักเขามากขนาดนี้’ น้องเงียบไปเลย คิดนานมาก นั่งไง เขาไม่ได้น่ารักเลย ไม่มีอะไรควรค่าแก่การที่เราพยายามสักนิด แต่ที่เล่ามาทั้งหมดคือ น้องพยายามสุดชีวิตมาก เพื่อยื้อแย่งเอาคนที่ไม่มีค่าเลย คือพอเขาได้ทบทวน เขาก็จะได้คำตอบของตัวเองตามมา” พี่ฉอดยกตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ Club Friday มอบให้ผู้ฟังจึงไม่ใช่เคล็ดลับการแก้ปัญหาชีวิต แต่เป็นวิธีคิดที่สองดีเจนำเสนอเพื่อเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้แต่ละคนหลุดพ้นจากความทุกข์ และกลับมาหยัดยืนอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง

“เวลาทำรายการวิทยุ เราจะไม่เอาตัวเองเข้าไปขนาดนั้น แต่เราจะคิดเสมอว่าคุยยังไง ให้เวลาวางสายไปแล้ว เขายังรู้สึกดี รู้สึกว่าตัวเองมีค่า เพราะพี่เชื่อว่าปัญหาความรักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แก้ไม่ได้หรอก อย่างถามว่า ทำยังไงดี สามีมีคนอื่น จะบอกว่าทำตามนี้ 10 ข้อ รับรองสามีกลับมาแน่นอน ก็ไม่ใช่ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ หาวิธีคิดให้มีชีวิตรอดตอนที่อีกฝ่ายไปกอดคนอื่นแล้ว น้องอาจบอกว่า ทุกครั้งเขาเลือกหนูนะ แต่บางทีอาจมีสักครั้งที่เขาไม่เลือกหนู เพราะฉะนั้นพี่ไม่ได้แก้ปัญหาว่า ทำยังไงให้แฟนเขาไม่นอกใจ แต่เราจะทำให้คนคนนี้รอดให้ได้

“อย่างปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ก็เหมือนกัน บางคนอาจบอกว่า ‘เฮ้ย! ทำไมน้องไม่ไปลองคุยกับคุณแม่เขาดู’ แต่ความจริงแล้ว เขาต่างหากที่รู้ว่าคุยได้หรือคุยไม่ได้ สิ่งที่เราให้ได้คือ การบอกว่า ‘น้องไม่ว่ายังไง คนกลางหนักสุดเลยนะ เราเองสะบัดมือก็เป็นคนอื่นแล้ว ถ้าน้องจะสู้ ไม่ได้สู้เพื่อใคร สู้เพื่อสามีเรา ลองคิดดู เป็นเขา เขาก็เหนื่อยนะ นั่นก็แม่ นี่ก็เมีย’ ถามว่ามันจะมีความถูกผิดอันใด ไม่รู้หรอก แต่สิ่งนี้เป็นวิธีคิดทั้งหมด” พี่อ้อยอธิบาย

ตลอด 16 ปี พี่อ้อย พี่ฉอด มีโอกาสรับฟังเรื่องราวมากมาย หลายครั้งก็วนเวียนอยู่ในเรื่องเดิม ๆ เช่น รักสามเส้า ไปรักคนที่ไม่ควรรัก รักเพื่อนสนิท ไม่อยากให้ครอบครัวรู้ว่าตัวเองรักเพศเดียวกัน แต่ถึงจะซ้ำไปซ้ำมาเพียงใด ทั้งคู่ก็ไม่เคยเบื่อหน่ายที่จะตอบคำถาม เพราะท่ามกลางความเหมือนก็ยังมีความต่างซุกซ่อนอยู่ในรายละเอียด

16 ปี Club Friday และพี่อ้อย พี่ฉอด กับเรื่องรักที่เราต่างเป็นพระเอกนางเอก

“ความรักเป็นจุดอ่อนของคนทุกวัย ต่อให้คุณจะอายุเท่าไหร่ วุฒิภาวะเป็นอย่างไร หรือจบดอกเตอร์มาจากไหน บางทีคำถามที่เข้ามาอาจเป็นแค่ ‘หนูควรจะโทรหาเขาไหม’ เพราะพอเป็นเรื่องความรัก จะมีคนบางคนที่เราแพ้ แล้วเราไปไม่เป็นสักเรื่อง ที่สำคัญ ความรักไม่มีสูตร ต้องเรียนรู้ทุกวัน ถ้าบังเอิญเป็นสูตรเดียวกันหมด ก็คงง่าย เหมือนทำไข่เจียว ต้องทำแบบนี้ถึงอร่อย แต่ความรักไม่ใช่ ต่อให้ใช้สูตร ผลที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน อย่างบางคนบอกว่า อย่าทะเลาะกันข้ามคืน ปรากฏว่า ปลุกขึ้นมาเคลียร์กันอยู่นั่นแหละ สุดท้ายเลิกกันคืนนั้นเลย” พี่อ้อยอธิบาย

เพราะโลกของความรักนั้นอยู่เหนือเหตุผล ไม่มีกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีตายตัว 

หลายครั้งเราอาจรู้สึกแปลกใจเวลาที่ได้ยินประโยคแบบ ‘มันไม่ผิดใช่ไหมคะที่หนูอยากได้พลังบวก แต่คนนั้นเขามีภรรยาแล้ว’ หรือเรื่องราวของแม่ที่ไปมีความสัมพันธ์กับสามีของลูกสาว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเข้าใจเองว่า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้เสมอ

 “เชื่อไหม บางคนต่อให้ไปแย่งสามีคนอื่นอยู่ เขาก็ยังมีเหตุผลในการไปแย่งเลย ‘ก็เขาบอกหนูว่า ไม่มีความสุขเวลาที่อยู่กับแฟนแล้ว’ อ้าว…ถ้าเขาไม่มีความสุข แล้วทำไมไม่เลิกกันละ ‘เขาบอกว่าเลิกไม่ได้ เพราะต้องรับผิดชอบลูก’ คือสิ่งที่เรากำลังคุยกัน มันได้ก้าวข้ามผ่านจรรยาบรรณบางอย่างของสังคมไปแล้ว แต่พี่เชื่ออย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครหรอกที่ตื่นเช้ามาแล้วอยากเป็นตัวร้าย ทุกคนคิดว่าตัวเองคือพระเอกนางเอกทั้งนั้น แต่การกระทำใด ๆ ต่อให้มันมีความผิดร้ายแรงยังไง เขาก็จะมีเหตุผลบอกว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องตลอด” ดีเจพี่ฉอดกล่าวย้ำ

เพราะฉะนั้น บ่อยครั้งที่ระหว่างพูดคุย พี่อ้อย พี่ฉอด อาจต้องดึงสติของคู่สนทนา ด้วยการยกเหตุผล ยกเหตุการณ์ประกอบ เปรียบเทียบให้เห็นว่า หากเราเจอสถานการณ์แบบเดียวกันบ้างจะรู้สึกอย่างไร

ดังที่พี่อ้อยอธิบายว่า “หลายครั้งที่คำถามที่เข้ามาก็ไม่มีอะไรหยาบคายเลย อย่างน้องที่พูดเรื่องพลังบวก แต่ถามกลับว่า หากวันหนึ่งน้องมีแฟนเป็นตัวเป็นตน แล้วมีผู้หญิงมาขอพลังบวกจากแฟนน้องบ้าง น้องโอเคหรือเปล่า หรือคนที่บอกว่า ผู้ชายคนนั้นต้องอยู่กับภรรยาเพราะลูก ถามว่าหนูจะรอจนลูกเขาโตเลยเหรอ ถึงจะใช้ชีวิตอย่างถูกต้องได้ มันเหมือนการนั่งอยู่ข้าง ๆ แต่เราไม่เข้าข้าง

“ขณะเดียวกันเราก็ต้องแฟร์กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้โทรเข้ามาด้วย หลายครั้งที่ผู้หญิงโทรเข้ามาบอกว่า ผู้ชายเป็นฝ่ายกระทำนั่นนี่ แต่บางมุมพี่ก็ยังแอบรู้สึกว่า อยู่กับน้องนี่มันยากหรือเปล่า เขาถึงอยากหาอะไรที่สบายตัวกว่า ในเมื่อน้องพูดเองว่า หนูเป็นคนแบบนี้มาตั้งแต่ต้น แล้วอีกฝ่ายต้องทนหนูให้ได้ อันนี้ศูนย์กลางจักรวาลนะ พี่ว่าผิด คนเราต้องรู้ตัวให้ไว ขออภัยให้ทัน มารู้ตอนเขาไปแล้ว มันไม่ได้นะ”

อย่างไรก็ตาม แม้ พี่อ้อย พี่ฉอด จะพูดคุยและเสนอแนะมุมคิดต่าง ๆ มากมายเท่าใด แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่ยึดถือเสมอคือ จะไม่แทรกแซงการตัดสินใจของเจ้าตัวเด็ดขาด เพราะสุดท้ายชีวิตของใคร คนนั้นก็ต้องเป็นผู้เลือกเอง

นี่เองคือ หัวใจสำคัญที่ทำให้ Club Friday และ พี่อ้อย พี่ฉอด กลายเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึงเวลามีปัญหาเรื่องความรักมาจนถึงปัจจุบัน

16 ปี Club Friday และพี่อ้อย พี่ฉอด กับเรื่องรักที่เราต่างเป็นพระเอกนางเอก

03
ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร

หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่อง กวน มึน โฮ เมื่อ พ.ศ. 2553 คงจดจำช็อตเด็ด เมื่อนางเอกพูดว่า เวลามีปัญหาความรัก ลองปรึกษา พี่อ้อย พี่ฉอด สิ บางทีอาจช่วยได้นะ

“มีคนถามว่า พี่อ้อย พี่ฉอด จ่ายเงินค่าโฆษณาไปเท่าไหร่เพื่อไทอินหนัง ความจริงแล้วไม่รู้เรื่องเลย น้องที่เขียนบทคงเป็นคนที่ฟังแล้วก็เลยต่อยอดมา” พี่อ้อยเท้าความอย่างอารมณ์ดี

ว่ากันว่าเพราะหนัง 120 ล้านเรื่องนี้เองที่ทำให้คำว่า ‘พี่อ้อย พี่ฉอด’ กลายเป็นคำฮอตฮิตที่ใช้กันแพร่หลาย และถูกจดจำแทนคำเรียกเดิม ๆ อย่าง ดีเจพี่ฉอดกับดีเจนภาพร นับแต่บัดนั้น

ทั้งคู่ไม่เคยคิดเลยว่า Club Friday จะโด่งดังและยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับการต่อยอดไปสู่หนังสือ คอนเสิร์ต หรือซีรีส์ ล้วนเกิดขึ้นโดยแทบไม่เคยวางแผนมาก่อน

“บางคนชอบวิเคราะห์ว่า พี่ฉอดมีแผนการตลาดอันแยบยล ทำรายการวิทยุเสร็จก็นั่นนี่เต็มไปหมด แต่จริงแล้วมีคนแอบฟังเยอะ แอบฟังแล้วก็ไปเขียนเพลง เขียนบทหนัง บทละครบ้าง บางทีเรารู้เลยว่าประโยคแบบนี้อยู่ในรายการ ซึ่งตอนหลังเราก็มานั่งคิดกันว่า เมื่อรายการออกอากาศไป มันก็จบไป แต่ถ้าเราเอามาเขียนเป็นหนังสือ สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่ ตอนที่เขาฟังจากวิทยุอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ตอนที่ตัวเองอกหัก ประโยคแบบนี้อาจช่วยชีวิตได้” พี่อ้อยอธิบาย

หนังสือเล่มแรกของรายการคือ เรื่องเล่าจากรายการ ซึ่งนำเรื่องราวจากสายที่โทรศัพท์เข้ามาและอีเมลต่าง ๆ รวมแล้ว 18 เรื่องราว มัดรวมไว้ในเล่มเดียวกัน พร้อมนำชื่อวันเทศกาลต่าง ๆ มาเป็นหัวข้อ เช่น เรื่องเล่าจากวาเลนไทน์ หรือบางทีก็เป็นชื่อเพลงรักดัง ๆ อย่าง คนที่ไม่เข้าตา ของ Calories Blah Blah หรือ ผิดไหมที่รักเธอ ของ แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร เพราะเรื่องราวจาก Club Friday มากมายก็ได้แรงบันดาลใจจากเพลงเหล่านี้นั่นเอง

ผลปรากฏว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม จนเกิดหนังสือตามมาอีกหลายเล่ม อาทิ มีคนเศร้ากว่าเราตั้งเยอะ, รักดีดี ที่สร้างได้ใน 6 วัน, ขอเพลงให้ตัวเองหน่อย และ รักที่ไม่ได้ออกอากาศ

แต่เล่มหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ Club Friday บอกเท่าไหร่ไม่จำ ด้วยคำซ้ำๆ ที่ย้ำมา 10 ปี ซึ่งรวบรวมคำพูดของ พี่อ้อย พี่ฉอด ตลอดทศวรรษ ทั้ง ‘ขาดเราเขาอยู่สบาย ขาดเขาเราต้องไม่ตายเหมือนกัน’ ‘โสดก็ต้องโสดอย่างมีความสุข เดี๋ยวก็มีคนมาขอแบ่งความสุขใกล้ ๆ เอง’ ‘ความรักไม่มีคำว่า โง่-ไม่โง่ มีแต่คำว่า ยอม-ไม่ยอม’ ฯลฯ

“ถ้าจะวิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้ Club Friday มีคนรู้จักเยอะ อาจเป็นเพราะพวกเราเป็นคนชอบภาษาไทยมาก ก็เลยมีคำคมออกมาเยอะ แล้วก็มีคนเอาไปแชร์ ซึ่งในยุคโซเชียลคนชอบเสพอะไรสั้น ๆ ก็เลยอาจตอบโจทย์ไปโดยปริยาย” พี่อ้อยลองวิเคราะห์

เมื่อหนังสือประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ใน พ.ศ. 2555 พี่ฉอดจึงชักชวน เอิ้น-พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ นักแต่งเพลงมืออาชีพและจิตแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ มาสร้างสรรค์ผลงานเพลงจำนวน 10 เพลง โดยนำเรื่องราวจากรายการมาต่อยอดเป็นบทเพลงในแง่มุมต่าง ๆ

อย่าง เพลง เจ็บแต่จบ เล่าถึงสถานการณ์ความรักที่ต้องเลือกระหว่างยอมปล่อยให้ความรักสิ้นสุดลง หรือยอมให้ความรักนั้นดำเนินต่อไป แต่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างไม่มีวันสิ้นสุด หรือเพลง คนไม่น่าสงสาร ซึ่งนำเสนอเรื่องความเศร้าที่เกิดจากความพยายามแสดงความเข้มแข็งต่อหน้าคนที่ตัวเองรัก ทั้งที่ภายในใจอ่อนแอและอ่อนไหวมาก

ด้วยความไพเราะของบทเพลง บวกกับมีการนำเรื่องราวบางส่วนของปลายสายที่เล่ามาต่อยอดเป็นมิวสิกวิดีโอ พร้อมเชิญดาราคนดังมาร่วมแสดง รวมถึงนำคลิปเสียงของเจ้าของเรื่องราวมาประกอบด้วย ส่งผลให้เกิดกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ มียอดผู้ชมในเว็บไซต์  YouTube หลายล้านครั้ง และนำไปสู่การจัด Club Friday ครั้งที่ 15 Based on A True Story ที่ Royal Paragon Hall ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ยืนยันได้จากการที่บัตรนับหมื่นใบจำหน่ายหมดเกลี้ยงในระยะเวลาอันรวดเร็ว

สนทนากับ ‘พี่อ้อย-พี่ฉอด’ แห่ง Club Friday ถึงเรื่องราวรักที่ไม่มีวันจบ เพราะเราต่างเป็นพระเอกนางเอกในเรื่องของตัวเอง

หากแต่อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก เกิดขึ้นในปลายปีเดียวกัน ด้วยยุคนั้นกระแสทีวีดาวเทียมกำลังบูมในเมืองไทย ยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อหลายแห่งเริ่มหันมารุกตลาดนี้ ครั้งนั้น GMM GRAMMY ได้มอบหมายให้ Atime Media รับผิดชอบสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งในเครือ นั่นคือ Green Channel ทางพี่ฉอดจึงคิดว่า ควรนำเรื่องราวต่าง ๆ จากรายการมาดัดแปลงทำเป็นละครสั้น ๆ ออกอากาศทุกคืนวันเสาร์ เวลา 3 ทุ่ม

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ Club Friday The Series 1 จำนวน 11 เรื่อง โดยเรื่องแรกที่นำร่อง คือ คนที่ถูกลืม ซึ่งเป็นประสบการณ์จริงของคุณยะ ชายผู้ถูกภรรยาลืมตลอดเวลา

“ตอนนั้นเราไปเจอเคสของคนที่สูญเสียความทรงจำ คือน้องผู้หญิงคนหนึ่งมีก้อนเนื้อไปทับเส้นประสาทในสมอง ส่งผลให้เขาลืมเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต หนึ่งในนั้นคือ ความรัก แล้วแฟนเขาก็โทรเข้ามาบอกว่า ต้องไปรับแฟน ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดทุกวัน แล้วผู้หญิงก็จะถามอยู่เรื่อยว่า ใครอ่ะ มาทำไม แล้วเขาก็ต้องแนะนำตัวเองแบบนี้ทุกวัน คือเหมือนในหนังมาก แต่นี่คือชีวิตของคนจริง ๆ อีกอย่างหนึ่งคือ สมัยนั้นเรื่องราวที่เป็น Based on True Stories ในบ้านเรายังไม่ค่อยมี พอเรื่องนี้ออกไปเลยถูกพูดถึงเยอะมาก” พี่ฉอดย้อนความให้ฟัง

เรื่องราวส่วนใหญ่ใน Club Friday The Series นั้นมาจากการหยิบเอาแก่นของเรื่องราวต่าง ๆ 3 – 4 เรื่องมาผสมรวมกัน จากนั้นจึงแต่งเติมรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปให้ละครมีสีสันขึ้น ทั้งนี้ ก่อนจะเลือกเรื่องใดมาทำนั้น ทีมงานจะขออนุญาตทุกครั้ง และหลาย ๆ ครั้งอาจปรับชื่อหรืออาชีพของตัวละคร เพื่อความปลอดภัยของเจ้าของเรื่อง

อย่างเรื่องหนึ่งที่พี่ฉอดยกขึ้นมาเล่าให้ฟังคือ เรื่องราวของคุณแอร์ ซึ่งเล่าถึงคุณแม่ที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสามีของเธอ โดยต่อมาเรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างใน Club Friday The Series 4 หรือ รักแท้จะแพ้ความต้องการ

“ตอนนั้นที่น้องโทรมาเล่าก็มีการตั้งประเด็นกันเยอะเหมือนกันว่า จริงเหรอ แต่ตอนหลังไม่มีใครสงสัยแล้ว เพราะมีเรื่องมหัศจรรย์พันลึกกว่าเรื่องนี้อีกเยอะ ซึ่งตอนที่เรานำมาทำเป็นซีรีส์ เป็นละคร เราก็ต้องทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราก็เดาเก่งเหมือนกัน เพราะตอนนั้นน้องเล่าแค่ว่าเปิดไปเจอในห้องแล้วมีปัญหากับคุณแม่ จากนั้นก็ออกจากบ้านคืนนั้นเลย ซึ่งพอเราทำเป็นซีรีส์ เราใส่ฉากอย่างแม่ตบลูกเข้าไป แต่ตอนหลังคุณแม่เขาโทรมาที่ Greenwave เพราะอยากขอโทษลูก เขาบอกว่าวันนั้นทำเยอะกว่านั้นอีก คุณแม่ตบลูกจนตกบันไดลงไปเลย”​

Club Friday The Series ถือเป็นละครที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีการสร้างต่อเนื่องมาแล้ว แถมยังมีการขยายต่อไปสร้างเป็น Club Friday Celeb’s Storys ซึ่งนำเสนอเค้าโครงความรักที่เกิดขึ้นจริงของคนในวงการบันเทิง โดยหากนับถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีการสร้างซีรีส์ชุดนี้มาแล้วถึง 13 ซีซั่น

“สิ่งสำคัญของการทำ Club Friday The Series คือในที่สุดแล้วเขาจะได้อะไรจากเรื่องนี้ สำหรับพี่ ความแซ่บเป็นแค่หน้าหนัง เหมือนบางทีดูคลิปโปรโมตแล้วรู้สึกแรงจัง แต่พอดูข้างในก็แรงสุดแค่นั้น เพราะสิ่งที่เราทำมันคือเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งชีวิตของคนเราก็ไม่จำเป็นต้องแซบตลอด” พี่ฉอดอธิบาย

“เวลาเลือกเรื่อง เราประชุมกันเยอะมาก คนนั้นเสนอเรื่องนี้ คนนี้เสนอเรื่องนั้น จากนั้นเราก็มาคุยกันว่า ทำไมถึงอยากทำ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเราก็ทำหมด เพียงแต่อาจตกแต่งให้อยู่ในกรอบหน่อย เช่นล่าสุด เราเล่นเรื่องเทศกาล เพราะเห็นว่าหลายคนมักอกหักช่วงเทศกาล วาเลนไทน์บ้าง ปีใหม่บ้าง วันเกิดบ้าง เราจึงหยิบประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอเป็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในช่วงวันเทศกาล” พี่อ้อยช่วยเสริม

จากผลงานอันหลากหลายนี่เองได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ของ Club Friday ในฐานะพื้นที่สื่อกลางเรื่องความรัก และความสัมพันธ์ที่ทุกคนนำมาใช้เป็นบทเรียนชีวิตได้ไม่รู้จบ

สนทนากับ ‘พี่อ้อย-พี่ฉอด’ แห่ง Club Friday ถึงเรื่องราวรักที่ไม่มีวันจบ เพราะเราต่างเป็นพระเอกนางเอกในเรื่องของตัวเอง

04
เพราะความสัมพันธ์ของคนเรามันช่างซับซ้อน

ถึงจะออกอากาศมายาวนาน แต่ชุมชน Club Friday กลับยิ่งขยายใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ

เชื่อหรือไม่ว่า แฟนคลับของ พี่อ้อย พี่ฉอด ไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหญ่ แม้แต่นักเรียนมัธยมหลายคนก็ยังติดตาม

“ตอนไปโรงเรียน เหมือนเราดังมากเลยนะ” พี่ฉอดบอก

“แต่เขาแยกไม่ออกหรอกว่าคนไหนคือพี่อ้อย คนไหนคือพี่ฉอด เขาก็เรียกรวม ๆ ไปเลย” พี่อ้อยว่าตาม

“ยกมือถามกันใหญ่ หมดเวลาแล้วยังมาเกาะเวที ร้องไห้กันน้ำตาไหลไม่หยุดอยู่เลย” พี่ฉอดพูดต่อ

อย่างที่บอกเสมอว่า ความรักเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ ทุกคนมีโอกาสเผชิญกับปัญหาได้ อย่างหลายคนไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่า วันหนึ่งจะต้องมาคุยกับ พี่อ้อย พี่ฉอด แต่พอเจอปัญหาจริง ๆ คนแรก ๆ ที่นึกถึงก็คือ ดีเจสองคนนี้นั่นเอง

“คนอยากคุยกับเราเยอะมาก ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนอยากเล่าชีวิตให้ฟัง อย่างเช่นพี่ขึ้นเครื่องบินไปอเมริกา ปรากฏว่าไม่ได้นอนทั้งคืน แอร์โฮสเตสมานั่งเกาะเก้าอี้แล้วร้องไห้ หรือไปกินข้าวที่เชียงใหม่ จู่ ๆ ก็มีชายหนุ่มยกเก้าอี้มานั่งด้วย แล้วเล่าเรื่องความรักของตัวเอง พอคุยสะใจแล้วก็ยกเก้าอี้กลับ นั่งกินข้าวของเขาต่อ” พี่ฉอดยกตัวอย่าง

กระทั่งเมื่อพี่ฉอดมาเปิดบริษัท CHANGE2561 จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาขยายต่อเป็นรายการออนไลน์ ชื่อว่า พี่อ้อยพี่ฉอด ตัวต่อตัว ก่อนที่ต่อมาจะย้ายมาออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์ AMARIN TV HD โดยจุดเด่นของรายการนี้คือ ทุกคนที่มาเล่าจะนั่งหันหลัง

“คลับวิทยุอาจจะเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่ง ต่างคนต่างไกลมองไม่เห็นกัน แต่ตัวต่อตัวเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเราสามารถให้กำลังใจด้วยการมองหน้ากัน ถ้าไม่ติดเรื่องโควิด นี่คือเรากอดกันทุกคนเลยนะ ถือเป็นการให้กำลังใจ ส่วนการนั่งหันหลัง เพราะมันให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้าเป็นคนสนิทต่อให้นั่งหันหลังก็จำได้ แต่บางคนที่มาเล่าเขาอยากสบายใจ ไม่ต้องเห็นหน้า ไม่ต้องเอ่ยว่าเป็นใคร แต่ขอคุย” พี่อ้อยเล่าคอนเซ็ปต์รายการ

สำหรับทั้งคู่แล้ว ทุกวันนี้แม้ปัญหาความรักจะเหมือนเดิม แต่รูปแบบของความสัมพันธ์กลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่ผันแปรไป

“ความรักมันเคลื่อนตัวไปตามสังคม อย่างเมื่อก่อนกว่าจะพูดได้ว่า เป็นชายรักชายนั้นอึกอักอยู่ตั้งนาน แต่วันนี้เราคุยได้อย่างสบายใจ แล้วพี่ก็ไม่เคยสนใจด้วยว่า น้องเป็นเพศอะไร ทุกเพศมีสิทธิที่จะมีความรัก เจ็บได้ ร้องไห้เป็นทุกคน หรือเมื่อก่อนเราอาจเขินอายกับการแย่งแฟนคนอื่น แต่วันนี้อาจเป็นเรื่องธรรมดา ‘เขามีแฟน หนูก็มีแฟน แล้วเราก็มารักกัน เราไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายใครสักหน่อย’ หรือล่าสุด เราพบว่าคนเล่นแอปฯ หาคู่เยอะมาก ๆ  รักกันโดยไม่เจอหน้ากัน มีเต็มไปหมดเลย แล้วเขาก็เชื่อด้วยนะว่ามีแฟนได้ โดยไม่ต้องเจอหน้ากัน” พี่ฉอดอธิบาย

“อย่างวาเลนไทน์ปีหนึ่ง เรารู้สึกว่ามีคนอกหักเต็มไปหมดเลย เราก็อยากได้สายคนที่มีความสุขบ้าง ก็มีน้องคนหนึ่งโทรเข้ามา น้ำเสียงสดใส บอกว่ามีแฟนมา 2 ปีแล้ว แล้วรักของเราบริสุทธิ์มาก ไม่เคยผูกมัดกันเลย เราก็เลยถามว่ายังไงนะคะ อ๋อ…ยังไม่เคยพบกันเลย คุยกันผ่านโซเชียล คือมองมุมหนึ่ง แอปฯ หาคู่ทำให้คนที่อยู่กันไกล ๆ ได้มีโอกาสมาเจอกัน โลกเหวี่ยงเข้ามาง่ายขึ้นก็จริง แต่ขณะเดียวกัน วิจารณญาณเราก็ต้องแข็งแรงขึ้นเหมือนกันด้วย เพราะสำหรับบางคนคุณอาจจะกำลังหาคู่ชีวิตอยู่ แต่ขณะที่อีกฝ่ายอาจคิดแค่ว่าอยากหาคู่นอนก็ได้” พี่อ้อยช่วยเสริมต่อ

เพื่อตามโลกให้ทัน พี่อ้อย พี่ฉอด จึงต้องพยายามอัปเดตความรู้หรือสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ โชคดีมากที่ทุกวันนี้มีผู้คนจำนวนมากส่งข้อความมาปรึกษาผ่านเพจพี่อ้อยพี่ฉอด ตัวต่อตัว ไม่ขาดสาย ซึ่งช่วยเปิดโลกกว้างให้ทั้งคู่อย่างมหาศาล และมีส่วนสำคัญทำให้ พี่อ้อย พี่ฉอด ไม่เคยอิ่มตัวจากการทำรายการ และยังรู้สึกท้าทายกับภารกิจนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

หากจะว่าไปแล้ว 16 ปีของ Club Friday ถือเป็นเวลาที่ยาวนานมาก สำหรับ พี่อ้อย พี่ฉอด แล้ว พวกเธอไม่เคยวางอนาคตให้รายการนี้ สิ่งเดียวที่คิดเสมอคือ อยากขอบคุณทุกบทเรียน ทุกความไว้วางใจที่มีให้กันเสมอมา และภูมิใจทุกครั้งที่ได้ยินว่า คำพูดสั้น ๆ ที่พวกเธอมอบให้นั้นช่วยพลิกชีวิตของใครหลายคน บางคนเกือบฆ่าตัวตาย บางคนอับจนกับปัญหาไม่รู้จะเดินหน้าอย่างไร แต่เพราะ Club Friday ทำให้พวกเขามีพลังและพร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง 

และนี่คือความสุขที่แท้จริงในฐานะนักจัดรายการธรรมดา ๆ 2 คนที่ตั้งใจส่งต่อสิ่งดี ๆ ไปยังผู้ฟังทุกคนตลอดไป

สนทนากับ ‘พี่อ้อย-พี่ฉอด’ แห่ง Club Friday ถึงเรื่องราวรักที่ไม่มีวันจบ เพราะเราต่างเป็นพระเอกนางเอกในเรื่องของตัวเอง

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล