เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศโดยทั่วกันแล้วว่าประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว โดยที่หลายคนยังงงๆ ว่าฤดูหนาวผ่านมาตอนไหน

สำหรับประเทศในเขตร้อนชื้นที่ไม่ว่าจะอยู่ฤดูไหนก็รู้สึกเป็นฤดูร้อน ทุกๆ ครั้งเวลาก่อนออกจากบ้านเรามักจะมองแดดปนรู้สึกพ่ายแพ้และปลอบตัวเองเสมอๆ ว่า อย่างน้อยผ้าที่ตากไว้ก็คงจะแห้งไวขึ้น

ทำให้วันไหนที่เราเห็นว่าแดดดี เวลาออกไปนอกบ้านในวันนั้น เราก็มักจะพบชุดเสื้อผ้าหลากหลายสีสันที่แขวนตากริมข้างทางเต็มไปหมด ไม่ว่าจะชุดทำงาน ชุดอยู่บ้าน ชุดนอน ยันชุดชั้นใน ที่พร้อมเพียงกันแขวนโชว์อย่างไม่เคอะเขิน 

ราวตากผ้า ราวตากผ้า

แม้กระทั่งระเบียงของที่พักอาศัยในแนวตั้งหรือพวกคอนโดต่างๆ เราก็มักจะเห็นเสื้อผ้าที่ถูกตากแขวนไว้มากมายจนเต็มพื้นที่ระเบียงตามช่องหน้าต่างทั่วไปทั้งอาคาร จนหน้าตาของคอนโดที่ถูกออกแบบให้ดูเรียบหรู กลายเป็นแปลกตาไปจากภาพขายของโครงการ

ราวตากผ้า

ภาพ Pantip.com

ราวตากผ้า

ภาพ Prakard.com

ก็แหงล่ะ ในเมื่ออากาศชวนเหงื่อออกได้ง่ายแบบนี้ การซักเสื้อผ้าชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก็เป็นกิจกรรมหลักๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันกับบ้านทุกหลังในประเทศ ซักผ้าเช่นไรก็ต้องตากผ้าเช่นนั้น ทุกอย่างก็ดูเป็นเรื่องปกติดี ไม่มีอะไรใช่ไหมครับ

แต่ถ้าเราลองย้อนกลับไปที่ย่อหน้าที่ 3 อีกทีแล้วลองตั้งข้อสังเกตดู เราก็จะพบคำถามที่ว่า เหตุใดเราถึงสามารถเห็นพื้นที่ตากผ้าของคนอื่นได้ง่ายดายนัก ในขณะที่คนผ่านบ้านเราเอง เขาก็สามารถเห็นผ้าที่เราตากได้เช่นกัน 

ซึ่งหลังจากที่ผมเห็นพื้นที่แบบนี้ซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง ก็พบว่าลักษณะการตากผ้าที่โชว์หมดเปลือกอย่างไม่เกรงคนมาเห็นที่หน้าบ้าน จนคล้ายเป็นดิสเพลย์ของร้านขายเสื้อผ้าที่ไม่ได้ขายจริงๆ จะมองเผินๆ เป็น Pop-up Store ก็เป็นได้แบบนี้ ค่อนข้างสะท้อนถึงรูปแบบลักษณะของวิธีแก้ปัญหาการใช้สอยเชิงพื้นที่ในเมืองเขตร้อนได้อย่างดี หรือเป็น Urban Vernacular ประเภทหนึ่งได้เช่นกัน อีกทั้งนี่ยังแสดงออกถึงเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะของเจ้าของพื้นที่ได้ด้วย นับเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สร้างจากการตากผ้า จนผมตั้งชื่อพื้นที่แบบนี้ไว้ว่า ‘ตากศิลป์’ 

ราวตากผ้า ราวตากผ้า ราวตากผ้า

เหตุหนึ่งของการเกิดรูปแบบตากผ้าหน้าบ้านแบบนี้ คำตอบง่ายๆ ก็เพราะว่าพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านหรือคอนโดนั้นมีไม่เพียงพอสำหรับการตากผ้า รวมทั้งพื้นที่จะโดนแดดได้อย่างเหมาะสม 

แล้วถ้าถามว่าทำไมส่วนมากบ้านเราถึงไม่มีพื้นที่ตากผ้าล่ะ ให้เราลองเดินสำรวจแล้ววาดผังอาคารเดิมในบ้านมาคร่าวๆ แล้วลองมานั่งไล่จิ้มห้องดูว่าแต่ละฟังก์ชันมันคืออะไรบ้าง เราจะพบว่านอกจากห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอนแล้ว บ้านส่วนใหญ่มักไม่ได้ถูกวางแผนให้มีพื้นที่ตากเสื้อผ้าอยู่แต่แรก อย่างมากจะมีเพียงแค่ห้องซักล้าง ไม่ได้มีการกำหนดห้องตากผ้าไว้ชัดเจน จะเหลือพื้นที่ไว้ตากผ้าก็เพียงแค่ที่ระเบียงบ้านและดาดฟ้าให้โดนแดด ยิ่งโดยเฉพาะบ้านที่เป็นตึกแถวหรือชุมชนขนาดเล็กทั่วไป พื้นที่ในการตากผ้าในบ้านยิ่งไม่ต้องพูดถึง

เหตุที่ไม่ได้เผื่อพื้นที่ไว้ให้ตากผ้า ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเกิดจากการที่เราไม่ได้มองเห็นความสำคัญของพื้นที่ตากผ้าให้เรียบร้อยตั้งแต่แรก เพราะเพียงคิดว่าแค่มีห้องน้ำหรือห้องนอนก็พอแล้ว

และก็ต้องยอมรับด้วยว่าแม้กระทั่งเหล่าสถาปนิกผู้ออกแบบอย่างผมเอง ก็ยังแอบหลงๆ ลืมๆ พื้นที่ตากผ้าระหว่างการออกแบบอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน เพราะเรามักติดภาพบ้านสวยๆ จากในหนังสือแมกกาซีนหรือ Pinterest ซึ่งแน่นอนว่าภาพจากสื่อเหล่านี้ไม่ได้โชว์มุมตากผ้าให้เราได้เห็นแน่นอน อีกทั้งภาพตัวอย่างเหล่านี้มักมาจากฝั่งตะวันตกที่ไม่มีวัฒนธรรมตากผ้าและแดดดีเหมือนบ้านเรา นั่นทำให้ส่วนใหญ่ในตะวันตกนิยมใช้เครื่องอบผ้าแทนการตากผ้า

ซึ่งในเมื่อในบ้านไม่มีพื้นที่ตากแล้ว เราก็เอาผ้าออกมาตากที่หน้าบ้านซะเลย 

และนี่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่การตากผ้าได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นตำแหน่งที่สามารถรับแสงแดดได้อย่างเต็มที่แล้ว การตากผ้านั้นเป็นกิจกรรมที่ใช้พื้นที่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ทำให้หน้าบ้านที่ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรต้องใช้สอยตลอดเวลานั้นเกิดประโยชน์ กลายเป็นการสร้างพื้นที่ที่ไม่ตายตัวที่เรียกในเชิงสถาปัตยกรรมว่า ‘Adaptive Reuse’ บริเวณหน้าบ้านซะอย่างนั้น ซึ่งแม้กระทั่งบ้านที่มีดาดฟ้าไว้ตากผ้าอยู่แล้ว เราก็ยังเห็นเขานิยมเลือกที่จะตากผ้าที่หน้าบ้านเช่นกัน เนื่องด้วยระยะการเดินสะดวกกว่า

และเมื่อเรามีโจทย์ที่ต้องสร้างพื้นที่การตากผ้าขึ้นมาแล้ว สำหรับหน้าบ้านบางหลังก็อาจจะง่ายดายมากๆ เพียงแค่ซื้อราวโครงเหล็กแขวนผ้ามาตั้งเฉยๆ  

แต่สำหรับในกรณีของบางพื้นที่นั้นค่อนข้างจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงหน่อย เพราะว่าในบางพื้นที่ไม่ได้มีพื้นที่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถใช้โครงเหล็กแบบมาตรฐานได้ จึงทำให้เกิดวิธีการดีไซน์อุปกรณ์บางอย่างสำหรับการตากผ้าเฉพาะพื้นที่ขึ้นมา 

ราวตากผ้า ราวตากผ้า

เช่นนำท่อนไม้ไผ่หรือท่อพีวีซียาวๆ มาผูกที่ปลายสองฝั่งแล้วแขวนไว้กับกำแพงหน้าบ้านให้เป็นราวตากผ้า หรือการสร้างสรรค์ด้วยการแขวนเสื้อผ้าไว้กับโครงเหล็กของผ้าใบกันสาดหน้าบ้าน และแม้กระทั่งการแขวนผ้าไว้ตามรั้วหล็กดัดหรือราวเหล็กหน้าบ้าน เพียงสร้างสรรค์แค่นี้เราก็จะได้พื้นที่ในการตากผ้าได้สมใจ

ถ้าเรามองการออกแบบพื้นที่ตากผ้าแต่ละรูปแบบ เราก็จะเห็นถึงวิธีการคิดในการจัดพื้นที่ด้วยชุดความคิด ‘เกี่ยวแขวน’ ที่ผมเคยเขียนถึงไว้ก่อนหน้าในคอลัมน์นี้ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ชุดความคิดออกแบบนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและสามารถปรับลงได้กับทุกพื้นที่ได้ ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน อีกทั้งยังสามารถสร้าง Maximum ความจุในการแขวนเสื้อผ้าที่อาจคาดไม่ถึงได้อีกด้วย 

ราวตากผ้า ราวตากผ้า ราวตากผ้า

ซึ่งนอกจาก ‘ตากศิลป์’ จะช่วยแก้ปัญหาในเชิงพื้นที่แล้ว พื้นที่แบบนี้ยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์และลักษณะของเจ้าของพื้นที่ตากผ้าได้อย่างที่ผมเกริ่นไว้ช่วงแรกด้วยนะ

ไม่ว่าเขาประกอบอาชีพอะไร มีจำนวนคนในครอบครัวกี่คน มีเด็กกี่คน เป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง เราก็จะสามารถรับรู้ได้ทันทีผ่านการสังเกตเสื้อผ้าที่ถูกแขวนเอาไว้ เช่น ถ้ามีเสื้อเชิ้ตเรียบร้อยพร้อมเสื้อสูทแขวนอยู่ เราก็จะรู้ว่าคนบ้านหลังนี้อาจจะทำงานเป็นนายธนาคารก็ได้นะ หรือถ้ามีเสื้อเด็กแขวนไว้ก็แสดงว่าบ้านนี้มีเด็กอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งรสนิยมความชอบสี เราสามารถสังเกตได้จากความถี่ของสีที่ซ้ำอยู่ในการตากผ้าตรงนั้นได้เช่นกัน

ซึ่งถ้าให้ผมมวิเคราะห์ลงลึกไปกว่านี้ ผมคิดว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะแจ้งตำรวจให้มาจับในข้อหาโรคจิต! (ผมยังปกติดีอยู่ครับ)

แต่นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับมุมสถาปัตยกรรมมากๆ ว่าเพียงแค่พื้นที่ตากผ้าเล็กๆ นี้ก็สามารถแสดงออกถึงลักษณะผู้อยู่อาศัยได้เฉยเลย ซึ่งรูปของพื้นที่ในเชิงการตากผ้าแบบที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการสถาปัตย์นัก 

ไม่ได้มีเพียงประเทศเราประเทศเดียวที่มีการตากผ้านอกบ้านแบบนี้ แต่หลายๆ ในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะเห็นการใช้พื้นที่การตากผ้าคล้ายๆ กัน เช่น ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ‘สิงคโปร์’ ก็มีวิธีตากผ้าที่กระเด็นออกมาจากอาคารเหมือนกัน

โดยใช้วิธีตากเสื้อผ้าด้วยการนำเสื้อผ้ามาเสียบกับแท่งไม้ไผ่หรือท่อพีวีซี แล้วแทงยื่นออกจากระเบียงไปในอากาศ และยึดไว้กับช่วงระเบียง ซึ่งรูปแบบการตากผ้าแบบนี้จะพบมากในโครงการการเคหะของรัฐ ที่เรียกว่า HDB (Housing & Development Board) ของประเทศสิงคโปร์

ราวตากผ้า

ภาพ flickr.com

คาดว่าการตากผ้าแบบนี้มีมาตั้งแต่ราวปี 1900 เนื่องด้วยการใช้พื้นที่ที่จำกัดเลยต้องพยายามเพิ่มพื้นที่ตากผ้าเข้าไปในอากาศซึ่งมันก็ค่อนข้างเวิร์กมาก และก็มีการลองผิดลองถูกในการใช้งานของคนทั่วไปเรื่อยมา จนการตากผ้าแบบนี้ได้เคยกลายเป็นวาระแห่งชาติในปี 1995 และนั่นทำให้มีการพัฒนาจากไม้ไผ่มาเป็นรูปแบบวัสดุเหล็กอย่างในปัจจุบัน ซึ่งมันเวิร์กมากๆ จนหลายคนในประเทศยอมเรียกวิธีการตากผ้าแบบนี้ว่า เป็นนวัตกรรมของการอยู่อาศัยกันเลยทีเดียว

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา เราจะพบว่าจริงๆ แล้วพื้นที่การตากผ้าในบ้านเราก็มีเป็นนวัตกรรมไม่แพ้สิงคโปร์เลย ถ้าเราตั้งใจมองลงไปในไอเดียของเหตุการเกิดขึ้นของพื้นที่ที่มีความเฉพาะแบบนี้ แล้วลองนำมาคิดต่อยอดพัฒนาให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งไม่ลืมคำนึงในดีเทลกิมมิกแบบไทยๆ เล็กๆ น้อยๆ 

ผมเชื่อว่าพื้นที่ ‘ตากศิลป์’ นั้นสามารถนำมาต่อยอดพลิกแพลงให้กลายเป็นพื้นที่ไทยๆ ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งมีความยั่งยืนเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของคนเมืองในอนาคตได้ และอาจมีชื่อการออกแบบเต็มๆ ว่า ‘ตากศิลป์ มหาชน’ ก็เป็นได้นะครับ

ขอให้มีความสุขกับการได้เก็บผ้าในวันที่มีแดดดี และได้ชื่นชมกับกลิ่นแดดที่ติดอยู่บนเสื้อนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

ราวตากผ้า

บรรณานุกรม

www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_199951

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น