เมื่อฝนตกลงมาหนักๆ คนเมืองอย่างเราก็รู้ว่าคงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วม แค่โผล่หน้าออกไปนอกบ้านหรือออฟฟิศก็อาจพบน้ำท่วมถนน หรือเจิ่งนองเต็มทางเท้าให้ลุ้นเวลาเดินว่าจะเหยียบกับระเบิดมั้ย ยิ่งในยุคที่มีประเด็นอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเรื่องน้ำของเมืองยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือจริงจัง 

วันนี้เราจึงอยากชวนคุณมาดูงานออกแบบที่เสนอวิธีแก้ปัญหาน่าสนใจ นั่นคือการลงมือแก้ที่โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของเมือง ผ่านแผ่นกระเบื้องบนทางเท้าที่เราเดินเหยียบกันอยู่ทุกวัน

Climate Tile คือชื่อของงานออกแบบที่ช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมเมือง แถมยังมีฟังก์ชันเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมไว้ในงานเดียว

Climate Tile แผ่นปูทางเท้าระบายน้ำได้ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

กระเบื้องแผ่นเล็กที่ช่วยจัดการน้ำ

Climate Tile เป็นนวัตกรรมจาก Tredje Natur (Third Nature) สตูดิโอสถาปนิกจากเดนมาร์ก พวกเขามองว่า ในเมืองที่มีคนอยู่หนาแน่นขึ้นทุกวัน และต้องปรับตัวรับความท้าทายใหม่ๆ เราต้องหันมององค์ประกอบแต่ละอย่างของเมืองด้วยสายตาต่างจากเดิม   

สถาปนิกทีมนี้โฟกัสไปที่ ‘ทางเท้า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของเมือง 

Climate Tile แผ่นปูทางเท้าระบายน้ำได้ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

Tredje Natur ลงมือออกแบบกระเบื้องปูทางเท้าที่ช่วยรับมือความท้าทายข้อใหญ่ นั่นคือปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นำไปสู่สถานการณ์น้ำท่วมเมือง

แทนผิวคอนกรีตเรียบๆ แบบปกติ Climate Tile มีรูพรุนที่ช่วยระบายน้ำฝนจากหลังคาอาคารและบนผิวของทางเท้าเอง ให้ไหลลงสู่ระบบจัดการน้ำด้านล่างกระเบื้อง ในแง่หนึ่ง กระเบื้องแผ่นนี้ช่วยระบายน้ำจากผิวทางเท้าไม่ให้เจิ่งนอง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ชาวสถาปนิกยังมองหาวิธีใหม่ๆ ในการจัดการให้น้ำเหล่านี้เกิดประโยชน์

Climate Tile แผ่นปูทางเท้าระบายน้ำได้ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว
Climate Tile แผ่นปูทางเท้าระบายน้ำได้ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

แทนที่จะปล่อยให้น้ำทั้งหมดไหลลงท่อระบายน้ำ พวกเขาออกแบบท่อใต้กระเบื้องให้ผันน้ำบางส่วนไปสู่พื้นที่ปลูกต้นไม้ใกล้ทางเท้า ต้นไม้จะดูดซับน้ำไป ขณะที่น้ำส่วนเกินก็จะซึมลงพื้นดินใต้ต้นไม้

 กระบวนการนี้ช่วยนำวงจรหมุนเวียนตามธรรมชาติของน้ำกลับสู่เมือง ขณะเดียวกัน เมื่อต้นไม้เติบโต พื้นที่สีเขียวก็จะเพิ่มขึ้น ช่วยให้เมืองรื่นรมย์และทำให้สภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ (Microclimate) ดีขึ้นด้วย

“Climate Tile คือทางแก้ปัญหาที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำฝนท่วมขัง และสร้างธรรมชาติในเมืองขึ้นในถนนสีเทาของเรา” Jeppe Ecklon ผู้จัดการโครงการของ Tredje Natur กล่าวไว้

Climate Tile แผ่นปูทางเท้าระบายน้ำได้ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

กระเบื้องแผ่นเล็กที่ปูทางเท้าได้ทุกเมือง

  หลังทุ่มเทพัฒนากันมาหลายปี Climate Tile ก็ได้มีการทดลองติดตั้งจริงที่ทางเท้าความยาว 50 เมตรหน้าคาเฟ่ Heimdalsgade 22 ในเมืองโคเปนเฮเกน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน Markedsmodningsfonden (The Market Development Fund) ที่ร่วมมือทำงานกับเทศบาลเมืองโคเปนเฮเกน 

Jeppe Eklon บอกไว้ว่า เหตุผลที่เลือกบริเวณนี้ซึ่งอยู่ใกล้ออฟฟิศพวกเขาพอดี ก็เพราะว่าถนนแถบนั้นไม่น่าดึงดูดใจ ขณะที่คาเฟ่เองก็สนใจใช้ทางเท้าเป็นห้องรับแขกกลางแจ้งของร้าน โดยการทดลองปูทางเท้านี้เป็นการตรวจสอบว่าเจ้ากระเบื้องชนิดนี้ทำงานได้ดีแค่ไหนในฤดูกาลและปัจจัยต่างๆ   

ทางเท้าระยะ 50 เมตรอาจดูสั้น แต่หากผลลัพธ์ออกมาดีและพัฒนาต่อจนได้รูปแบบที่น่าพอใจ Climate Tile อาจไปอยู่บนทางเท้ากว่า 700 กิโลเมตรทั่วโคเปนเฮเกน และแน่นอน ทางเท้าในเมืองอื่นทั่วโลกที่เผชิญปัญหาเมื่อฝนตกหนัก โดยเจ้ากระเบื้องแผ่นนี้ได้รับการออกแบบให้ติดตั้งง่ายด้วยขั้นตอนไม่ต่างจากการเปลี่ยนหรือซ่อมท่อน้ำ ทำให้ไม่เป็นภาระกับงานส่วนซ่อมถนน ทั้งยังมีฟังก์ชันที่ช่วยให้ปรับเปลี่ยนการไหลของน้ำเพื่อตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย เช่น ในหน้าหนาวที่มีการโรยเกลือบนทางเท้าเพื่อละลายหิมะ เราสามารถเปลี่ยนทิศทางให้น้ำเค็มๆ จากหิมะไหลลงท่อระบายน้ำแทนไหลไปรดต้นไม้

Climate Tile แผ่นปูทางเท้าระบายน้ำได้ ลดปัญหาน้ำท่วมเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

แทนที่จะมุ่งออกแบบเพียงสิ่งใหม่ Climate Tile ชวนเราตั้งคำถามน่าสนใจว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าเราออกแบบสิ่งเดิมที่มีให้ตอบโจทย์ท้าทายของสังคมปัจจุบัน และจะเป็นอย่างไร ถ้าเราทำให้ทางแก้ปัญหานั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไกลกว่าจุดที่เรายืน

“เราเชื่อว่าถนนคือเส้นเลือดของสังคมที่ผู้คนพบปะกัน และทางเท้าคือโครงสร้างพื้นฐานที่เราเห็นคุณค่ามันน้อยเกินไป รวมถึงเป็นโครงสร้างที่มีศักยภาพมากสำหรับชุมชนในอนาคตของเมืองที่โตขึ้นเรื่อยๆ” Flemming Rafn Thomsen หุ้นส่วนของ Tredje Natur กล่าว

ข้อมูลอ้างอิง 

www.tredjenatur.dk

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S