23 พฤศจิกายน 2020
5 K

ย้อนกลับไปสมัยที่เราเรียนปริญญาตรีที่ภาควิชาชีววิทยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเพื่อนเราประมาณ 4 – 5 คนลงเรียนวิชาไมโครเทคนิค (Microtechnique) ตอนนั้นรู้แค่ว่าวิชานี้สอนทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับย้อมสีเนื้อเยื่อ เห็นเพื่อนเตรียมตัวอย่างกันถึงดึกดื่น และเราเรียกห้องนั้น (เรียกเอาเอง) ว่าห้องแม่มด เพราะสารเคมีเยอะมาก จนเรียนจบปริญญาตรีก็ยังไม่ได้เรียน ได้แต่แอบไปดูรุ่นพี่ทำตัวอย่างศึกษาในห้องแล็บแม่มด 

หนึ่งในวิธีการเก็บรักษาสิ่งมีชีวิตที่เราชอบมากๆ คือการดองใส เพราะตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจะมีลักษณะใส มองเห็นถึงกระดูกที่ถูกย้อมสีข้างในได้ แม้เวลาผ่านไปจนเรียนปริญญาโทที่ภาควิชาเดิม เราได้มีโอกาสลงเรียนวิชาไมโครเทคนิค แต่น่าเสียดายที่ได้เรียนแบบหลักสูตรเร่งรัด ทำให้จนแล้วจนรอดไม่ได้ลองทำวิธีดองใส

พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา
พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา

จนกระทั่งไม่นานมานี้ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมของจุฬาฯ ร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยา ได้จัดแสดงนิทรรศการกายวิจิตร โดยจัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้ข่าวเราจึงตัดสินใจไปเดินดูนิทรรศการเพื่อคลายเครียด และถึงจะเป็นนิทรรศการขนาดเล็ก แต่เราใช้เวลาการพินิจพิเคราะห์วัตถุจัดแสดงอยู่นานทีเดียว 

พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา

ทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังเช่น ปลา จิ้งเหลน หนู และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หมึกสาย กุ้ง ฯลฯ แต่ละชิ้นมีความสวยงามในแบบของมันเอง เช่น เจ้าม้าน้ำในขวดจิ๋ว ที่เนื่องจากกระดูกของมันเป็นเกราะอยู่ภายนอกแทนเกล็ด เมื่อถูกย้อมเราก็ยังเห็นพวกมันในทรงตามเดิมที่คุ้นตา เพิ่มเติมคือสีที่เปลี่ยนไปแดงอมชมพูสดน่าชม ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น งูลายสอบ้าน ที่เมื่อถูกดองใสแล้วเผยให้เห็นโครงกระดูกที่เรียงร้อยกันในวงขดของมัน ไม่น่าเชื่อว่าสัตว์เลื้อยคลานที่ดูไหลลื่นไปได้ทุกที่จะมีโครงสร้างที่ละเอียดและซับซ้อนขนาดนี้ อีกทั้งปลากระเบนหัวแหลมที่เมื่อถูกย้อมแล้วดูประหลาดแปลกตา จนชวนให้นึกถึงสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว

พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา

ดูๆ ไปสักพัก เราไปสะดุดตาป้ายขนาดใหญ่บนผนัง เล่าเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ดองใสที่เราเคยคุ้น จนเราไปจ๊ะเอ๋กับชื่อของเพื่อนเก่าคนหนึ่งในป้าย ว่าแล้วเราเลยถือโอกาสทักแชทเฟซบุ๊กไปหาเขาว่า

“เฮ้ย แกมาดูนิทรรศการสัตว์ดองใสยัง มีชื่อแกด้วย”

เพื่อนเก่าคนที่ว่าคือ ไม้-วรสิศ อหิงสโก เป็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันสมัยปริญญาตรี และเขาเคยลงเรียนวิชาไมโครเทคนิคมาก่อน หลังจากที่ไม่ได้เจอกันนานร่วมหลายปี นอกจากการสอบถามสารทุกข์สุขดิบแล้ว ไม้เลยได้เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับขั้นตอนการสรรสร้างวัตถุจัดแสดงสุด ‘วิจิตร’ ที่อยู่ในนิทรรศการ รวมถึงเบื้องหลังความหมายของหลากสีสันที่เราเห็นกันให้ฟังด้วย 

ไม้บอกว่า การเตรียมตัวอย่างสัตว์เพื่อดองใสนั้น ตัวอย่างศึกษาจะถูกผ่าเอาอวัยวะภายในออก ดองด้วยแอลกอฮอล์หรือฟอร์มาลิน จากนั้นตัวอย่างจะถูกนำไปแช่ด้วยสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) ผสมกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) เพื่อทำให้เนื้อของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการศึกษานั้นใส แล้วจึงย้อมสีตัวอย่างด้วย Alcian Blue เป็นสารเคมีสีฟ้า และตามด้วยย้อมสี Alizarin Red S ที่เป็นสารเคมีสีแดง

'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา, พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากย้อมสีเรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างจะถูกย้ายลงโถแก้ว และเติมกลีเซอรีนเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ ในกลีเซอรีนจะผสมสารไทมอล (Thymol) เพื่อป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียทำลายตัวอย่าง

ไม้อธิบายว่า สารเคมีทั้งสองชนิดนั้นจะติดสีที่อวัยวะแตกต่างกัน โดย Alcian Blue มักติดสีบริเวณข้อต่อหรือกระดูกอ่อน ขณะที่ Alizarin Red S จะติดสีที่กระดูกแข็งเป็นหลัก การติดสีที่แตกต่างกันทำให้ศึกษาลักษณะของกระดูกได้

อันนี้เห็นชัดในวัตถุจัดแสดงอย่างตัวอ่อนของไก่ที่ติดสี Alcian Blue เกือบทั้งตัว เนื่องจากโครงร่างส่วนใหญ่ยังเป็นกระดูกอ่อน หรือในการจัดแสดงกบนา 3 ตัว จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของสีฟ้าและแดงนั้นลดหลั่นกันไป แสดงถึงกล้ามเนื้อและกระดูกที่พัฒนาในระยะการเจริญเติบโตต่างๆ ของพวกมัน

'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา, พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แล้วมันใช้เวลาทำนานไหม” เพราะเท่าที่เราฟัง กระบวนการแต่ละขั้นตอนน่าจะต้องรอเวลาพอสมควร

“ถ้าตัวเล็กๆ ก็ไม่ แต่ถ้าใหญ่ขึ้นมาหน่อย อย่างบางชิ้นที่จัดแสดงนี่ก็น่าจะนานถึงหลักเดือน”

นอกจากนี้ ไม้ยังบอกว่า การดองใสนั้นมีขั้นตอนหรือข้อควรระวังที่แตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละชนิด รวมถึงระยะเวลาในการแช่สารเคมีแต่ละอย่างก็แตกต่างกันตามขนาดตัวของสิ่งมีชีวิตที่ทำการดองใส 

ข้อผิดพลาดที่เจอได้ระหว่างการทำ คือแช่สารละลายที่ทำให้เนื้อใสนานเกินไป ทำให้เนื้อขาด หรือมีฟองปรากฏขึ้นที่อวัยวะบางส่วนของสัตว์ ทำให้ต้องมานั่งกำจัดในภายหลังเพราะเดี๋ยวตัวอย่างไม่สวย อีกทั้งการย้อมติดสีที่มากเกินไป (Overstaining) ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบเจอได้เช่นกัน

“งั้นถ้าย้อมพลาดนี่ทำยังไง”

“ก็เสีย ใช้ไม่ได้ มันล้างสีแดงออกไม่ได้” มิน่าสมัยนู้นเพื่อนถึงเดินเข้าเดินออกห้องนั้นบ่อย สงสัยคงเข้าไปดูตัวอย่างนั่นแหละ

'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา, พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แน่นอนว่าในความคิดของใครหลายคน อาจรู้สึกว่ากรรมวิธีดองใสนั้นดูเป็นวิธีโบราณและใช้เวลานานในการทำ (ต่างจากการถ่าย X-ray หรือ CT Scan) แต่วิธีการนี้ยังคงมีประโยชน์ในการศึกษาสิ่งมีชีวิตในหลายๆ แง่มุม

เราสามารถศึกษาโครงสร้างกระดูกในรูปแบบสามมิติ โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับชิ้นส่วนของร่างกายที่บอบบาง เราสามารถนำข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างดองใสไปใช้ในการจัดจำแนกสัตว์ทางอนุกรมวิธาน หรือศึกษารูปแบบการเจริญของตัวอ่อนสัตว์ เพราะเมื่อดูจากตัวอย่างดองใส อาจจะเห็นรูปแบบการเชื่อมของกระดูก ทำให้สรุปโครงสร้างทางกายวิภาคว่าเป็นกระดูกประเภทเดียวกันหรือไม่ 

นอกจากนี้ ยังศึกษาชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) เพื่อดูกลไกการเคลื่อนไหวของโครงร่างแข็งภายในของสิ่งมีชีวิต ไปจนถึงการศึกษาเรื่องใหญ่ๆ อย่างการอธิบายเรื่องวิวัฒนาการก็ได้ เพราะบางทีถ้ามีวิวัฒนาการร่วมกันหรือใกล้เคียงกัน อาจมีรูปแบบการเจริญที่คล้ายกันก็ย่อมทำได้

“ทำเสร็จแล้วมันก็ดีใจนะ สวยดี”

“ที่อื่นเขามีสอนทำแบบนี้มั้ยนะ”

“ที่อื่นไม่รู้ แต่ที่จุฬาฯ ภาควิชาชีวะมีสอนในหลักสูตรนะ” ไม้เล่าอย่างภูมิใจ

'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา, พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา, พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจอย่างมากจากนิทรรศการนี้ คือเรารู้สึกว่าขั้นตอนกระบวนการดองนี้ไม่ได้เป็นแค่ศาสตร์ แต่เป็นศิลป์ด้วย

แน่นอนว่าตัวนักวิทยาศาสตร์เองมีทักษะและความเชี่ยวชาญ ต้องระมัดระวังและใช้เวลาเฝ้าดูว่าสีที่ย้อมติดตัวอย่างนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ แต่ในขั้นตอนสุดท้ายนั้น นักวิทยาศาสตร์ทำให้เราเห็นความงดงามที่มีผู้สร้างเป็น ‘ธรรมชาติ’ รังสรรค์ให้สัตว์แต่ละชนิดมีความสลับซับซ้อน มีแพตเทิร์น รูปทรง ความสมมาตร ความเหมือนในความต่าง ฯลฯ เป็นรายละเอียดยิบย่อยที่กอปรขึ้นด้วยวิวัฒนาการนับล้านปี

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นิทรรศการนี้ นอกจากจะดึงดูดนักวิจัยสายวิทย์อย่างเราๆ แล้ว ยังดึงดูดผู้คนทั่วไปด้วยความสวยงามน่าหลงใหลของตัวมันเองด้วยเช่นกัน ประเด็นนี้โยงได้ดีกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน) ที่อยากชี้ชวนให้คนเห็นความสวยงามในความหลากหลายของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวใหญ่ พืช ไปจนถึงแมลงตัวจิ๋ว เพื่อให้เราแต่ละคนช่วยกันรักษาความสวยงามนี้ไว้คนละไม้คนละมือ 

อาจจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่างการจัดการขยะ ไปจนถึงการรณรงค์นโยบายเพื่อปกป้องระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล ให้เรายังอยู่ร่วมกับความอัศจรรย์ทางชีววิทยาเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

'กายวิจิตร' เมื่อศิลปะแห่งสีสันและศาสตร์การดองใสเผยให้เห็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต, ชีววิทยา, พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร