จะดีแค่ไหน หากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอที่มีสถิติว่าสร้าง Carbon Footprint มากที่สุด สามารถผลิตเสื้อผ้าที่ทุกกระบวนการไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อหมดอายุขัย เสื้อผ้าเหล่านี้จะหวนกลับคืนธรรมชาติ

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี

นวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว โดย ขจรศักต์ นาคปาน นักออกแบบสิ่งทอผู้คิดค้นไอเดียการเปลี่ยนดินเป็นผ้า (วิทยานิพนธ์ระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) มาพร้อมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ The Cloud ชวนทั้งสองคนมานั่งจับเข่าคุยท่ามกลางดินที่ถูกปั้นให้เป็นดาวในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ถึงจุดเริ่มต้น แนวคิด จนไปถึงความฝันสูงสุดในวงการแฟชั่น

01

หัวใจของสรรพสิ่ง 

“ทุกอย่างล้วนเป็นอิสระของธรรมชาติ” 

ประโยคเปิดบทสนทนาของขจรศักต์ อธิบายถึงความแตกต่างของผืนผ้าที่มีลวดลายแตกต่างกัน ผิวสัมผัสต่างกันตามระยะเวลาของการหมักดิน บางผืนให้ความรู้สึกเหมือนกำลังหยิบจับแจ็กเก็ตหนังชั้นดี หรือบางผืนให้ความรู้สึกเบาบางเหมือนเสื้อคลุมกันฝน ทุกผิวสัมผัสที่กล่าวมาข้างต้นล้วนออกแบบจากธรรมชาติ จนเรียกได้ว่าผ้าแต่ละชิ้นเสื้อแต่ละผืนมีชิ้นเดียวบนโลก

ก่อนเป็นนวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนจากการสังเคราะห์ดิน เพื่อสร้างเครื่องนุ่งห่มแห่งอนาคต ขจรศักต์ได้ศึกษาค้นคว้าทบทวนกว่า 2 ขวบปี จนคิดค้นนวัตรกรรมเหล่านี้ได้

  ด้วยการเริ่มต้นตั้งคำถามของดีไซเนอร์หนุ่มถึง ‘สีเสื้อผ้า’ ที่ส่งผลต่อผิวของมนุษย์ จนพบว่า ‘ดิน’ มีเซลล์เม็ดสีเมลานินใกล้เคียงกับสีผิวของมนุษย์ จนจำแนกได้ถึง 6 เฉดสีที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของแต่ละชนชาติและทุกสีผิว ว่าทุกคนล้วนมีความงามในแบบของตัวเอง ดินจึงกลายเป็นหัวใจหลักในการสร้างสรรค์สิ่งทอ ซึ่งสนับสนุนการสร้างความมั่นใจในความงามทุกรูปแบบ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี
เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี
02

ดลบันดาลจิตใจ 

ที่ ATTA Gallery เราเดินทางมาเยือนนิทรรศการ ดิน.ดล.คน ที่ดินถูกปั้นจนกลายเป็นดาวเด่นของงานครั้งนี้

ขจรศักต์อธิบายถึงชื่อนิทรรศการว่า ดิน ความหมายตรงตัวคือทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นพระเอกในโปรเจกต์นี้ ส่วนคำว่า ดล มาจากคำว่าบันดลบันดาลจิตใจ และคำสุดท้าย คน เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติมากที่สุด เมื่อนำทั้ง 3 คำมารวมกัน จึงกลายเป็นการบันดลบันดาลจิตใจให้มนุษย์เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

“สถานการณ์ตอนนี้เราเจอทั้งโรค COVID-19 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ เราควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับวัสดุที่ไม่ให้โทษกับโลกมากที่สุด” ขจรศักต์อธิบายแนวคิดเพิ่มเติม

ด้วยเล็งเห็นผลกระทบของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า Fast Fashion ที่ผลิตมาเป็นจำนวนมาก ราคาถูก แต่กลับถูกทิ้งอย่างรวดเร็ว สสารที่ดูดาษดื่นและแสนจะธรรมดาจึงถูกเคี่ยวปั้นเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้า โดยใช้ระยะเวลาการสร้างเพียง 14 – 21 วัน แต่มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 2 ปี และหากเบื่อเมื่อไหร่ ก็นำเสื้อผ้าเหล่านั้นคืนสู่วัฏจักรธรรมชาติได้

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี
เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี
03

ปั้นดินเป็นผ้า

14 วัน

นี่คือเวลาในการผลิต ‘ผ้า’ ที่มาจากดิน ระยะเวลาขึ้นอยู่กับภาชนะใส่ดินและขนาดของผ้าที่ต้องการ โดยกระบวนการผลิตเริ่มต้นจากดิน ไม่ว่าจะเป็นดินจากภูมิภาคไหน จังหวัดไหน ก็เปลี่ยนเป็นผ้าได้ทั้งสิ้น ขจรศักต์และสุภาวีพูดถึงกระบวนการผลิตที่ทุกขั้นตอนเป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่านี่คือ เสื้อผ้าที่ธรรมชาติสรรสร้างและออกแบบมาอย่างสมบูรณ์

วิธีการสังเคราะห์ดินให้กลายเป็นเครื่องนุ่งห่ม แรกเริ่มให้นำดินใส่ในผ้ากรองแล้วต้มน้ำ เติมความหวานให้น้ำร้อนด้วยน้ำตาลจากธรรมชาติ จากนั้นนำดินและน้ำที่เติมความหวานมาแช่รวมกันประมาณ 40 – 60 นาที

เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้นำผ้ากรองบรรจุดินมาละลายตะกอนออก และใส่ส่วนผสมของสารเพาะเลี้ยงแบคทีเรียลงไป เช่น กรดอะซิติกและยีสต์ขนมปัง หลังจากนั้นคนทุกอย่างให้เข้ากัน ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 14 – 21 วัน แล้วแต่ขนาดของภาชนะ เมื่อครบกำหนดนำดินที่กลายเป็นผ้าไปตากแดด

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี

“ยิ่งหมักนาน ยิ่งหนา” ขจรศักดต์กระซิบบอกกระบวนการผลิตที่ปล่อยให้ธรรมชาติและเวลาเป็นผู้ออกแบบ นอกจากนี้ ลวดลายที่ปรากฏในผืนผ้าที่แตกต่างกันออกไป ก็เป็นการรังสรรค์จากธรรมชาติอีกเช่นกัน

หลังการหมักก็จะเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาด โดยการนำน้ำบริสุทธิ์มาใส่ภาชนะแล้วผสมน้ำยาทำความสะอาด นำวัสดุสังเคราะห์จากดินมาทำความสะอาดด้วยมือเปล่า เพื่อขจัดตะกอนของดิน และนำมาล้างด้วยน้ำเปล่าบริสุทธิ์อีกครั้ง

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี

“ตอนตากก็ต้องอยู่กับธรรมชาติเท่านั้น หากไม่อยู่กับธรรมชาติก็จะเกิดผลทันที” ขจรศักต์อธิบายกระบวนการตาก หากนำเครื่องนุ่งห่มที่ผ่านการสังเคราะห์จากดินไปวางตากไว้บนพื้นไม้ จะได้ผ้าพื้นผิวเรียบ แต่หากนำผ้าสังเคราะห์จากดินไปวางตากบนเหล็กหรือโลหะ ผ้าก็จะมีรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป ถือว่าเอฟเฟกต์แต่ละครั้งเป็นการสร้างลวดลายให้กับเนื้อผ้า

เสื้อผ้าที่มาจากดินเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติความแข็งแรง ทั้งการประเมินจากสายตา รวมไปถึงการสัมผัส และยังเข้ารับการประเมินด้วยระบบมาตรฐานการทดสอบที่เรียกว่า JIS (Japanese Industrial Standards) จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อทดสอบคุณสมบัติของเนื้อผ้า

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี
เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี

 ผลการทดสอบปรากฏว่า เนื้อผ้าที่มาจากดินมีความคงทน ผิวสัมผัสแข็งแรง และสีที่ได้จากดินเมื่อผ่านการซักทำความสะอาดแล้วสีไม่ตกหรือซีดจาง มีความทนทานต่อเหงื่อและคราบไคล โดยมีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีการเติมแต่งสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น และย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์

  “เสื้อผ้าที่จัดแสดงตอนนี้ก็มีอายุสองปีครึ่งแล้ว” ขจรศักต์อธิบายถึงอายุการใช้งานของเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  เสื้อผ้าที่มาจากดินแต่ละชิ้นทำความสะอาดโดยใช้ผงซักฟอกได้เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป ส่วนอายุการใช้งานของเสื้อผ้านั้น ธรรมชาติก็จะเป็นผู้ตอบคำถามนี้อีกเช่นเดิม

  “อย่างที่เราเห็น พอผ่านระยะเวลามาวัสดุก็จะเริ่มกรอบคล้ายกระดาษมากขึ้น นี่คือเสียงที่ธรรมชาติบอกเราแล้วว่า ถึงเวลาที่เราต้องคืนมันกลับสู่ธรรมชาติ” ส่วนวิธีการทิ้งหรือกำจัดเสื้อผ้าที่มาจากดิน ทั้งสองให้ความเห็นว่า สามารถนำเสื้อผ้าเหล่านี้ฝังดินหรือเผา เพราะถือว่าคืนดินสู่ผืนดิน

04

ปั้นดินให้เป็นดาว

“อยากกระจายความรู้สู่ภูมิภาค เพื่อสร้างเสน่ห์ในแต่ละวัฒนธรรม” ขจรศักต์พูดด้วยรอยยิ้ม เมื่อเราถามถึงเป้าหมายสูงสุดในโปรเจกต์นี้ พวกเขาต้องการนำนวัตกรรมการสังเคราะห์ดินให้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เข้าสู่ภูมิภาคเพื่อสร้างจุดขาย เพิ่มรายให้กับประชาชนในแต่ละภูมิภาค พร้อมกับตั้งความหวังว่า จะเป็นไปได้ไหม หากเรานำดินมาสร้างเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะภูมิภาค และนี่คือเสน่ห์ของการออกแบบจากธรรมชาติ เพราะดินแต่ละที่จะมีสีแตกต่างกันออกไป แต่คุณภาพยังเหมือนเดิม

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี

 การรักสิ่งแวดล้อมโดยการสนับสนุน Sustainable Fashion หรือแฟชั่นแบบยั่งยืนยังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยราคา แต่โปรเจกต์ ดิน.ดล.คน หวังให้คนเข้าถึงแฟชั่นยั่งยืนได้มากขึ้น และรักสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการรักตัวเอง รวมไปถึงแก้ปัญหาการเงินด้วย

 “ดินกระสอบละยี่สิบบาท น้ำตาลที่ใช้ในการผลิตแต่ละครั้งไม่เกินสองร้อยบาท” นี่คือต้นทุนในการสังเคราะห์เสื้อผ้าที่มาจากดินในแต่ละครั้ง โดยทั้งสองมีเป้าหมายอยากให้ผู้คนเล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม 

สิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นได้พร้อมกับการรักตัวเอง ทั้งเฉดสีเสื้อผ้าที่สะท้อนความงามในแบบตัวเอง การรักธรรมชาติโดยไม่ทำร้ายเงินในกระเป๋า และเสื้อผ้าเหล่านั้นก็สามารถหวนคืนบ้านเกิดโดยการย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์

“ทุกคนควรหันมาพึงตระหนักว่าธรรมชาติคือทุกสิ่งรอบตัวเรา และเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็คือธรรมชาติ” การสร้างหรือผลิตเสื้อผ้าในแต่ละครั้งสร้างมลพิษและทำลายธรรมชาติอย่างมาก ทั้งสองคนหวังว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอในอนาคตจะหันกลับมาให้คุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องนุ่งห่มที่เล็งเห็นกระบวนการผลิตทั้งหมด วัฏจักรของแฟชั่นควรคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม   เพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้กระทั่งคนสร้างสรรค์แฟชั่น ก็ต้องกลับคืนสู่ดิน

เปลี่ยนดินเป็นเสื้อผ้า นวัตกรรม Sustainable Fashion จากดีไซเนอร์ไทยที่ใส่ซ้ำได้ 2 ปี

Writer

Avatar

พาฝัน หน่อแก้ว

เด็กวารสารศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตไปกับการเดินทางตามจังหวะเสียงเพลงโฟล์คซองและ R&B จุดอ่อนแพ้ทางของเซลล์ทุกชนิด

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ