ในไทย คาดว่ามีผู้พิการทางสายตาอยู่มากถึง 5 แสนคน

ถ้าคนกว่า 5 แสนคนที่ว่านี้ได้มีโอกาสใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ทำกิจกรรมที่อยากทำโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เราจะได้ประชากรคุณภาพเพิ่มมาร่วมผลักดันประเทศอีกเยอะแยะ

แต่จากคนจำนวน 5 แสนนี้กลับมีอยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่ได้มีโอกาสดังกล่าว

ถ้าเป็นคุณ คุณจะเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้อย่างไร

บริษัท Goldenland เลือกแก้ด้วยโครงการ Classroom Makeover เปลี่ยนห้องสมุดเก่าของโรงเรียนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาให้กลายเป็นห้องเรียน ไม่ใช่แค่ห้องเรียนอย่างที่เคยเห็นกันทั่วๆ ไป แต่เป็นการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ พร้อมหลักสูตรการสอนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ประกอบด้วย 4 วิชา คือสัมผัส แสง เสียง และกลิ่น

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

วิชาสัมผัส ให้เด็กๆ ได้ลองจับ สัมผัสพื้นผิว เรียนรู้รูปทรงต่างๆ ที่เสียบอยู่ตามผนัง เพื่อฝึกฝนให้แยกแยะสัมผัส เวลาจับแล้วบอกได้ว่าเป็นสิ่งใด กลมหรือเหลี่ยม แข็งหรือนุ่ม

วิชาลำแสง สำหรับเด็กๆ ที่มองเห็นเลือนราง จะได้ฝึกใช้สายตาที่เห็นแสงของตัวเอง เดินไปตามลำแสง แยกแสงสีแดง สีเขียว และเดาว่าตอนนี้แสงกำลังจำลองสถานที่อะไรอยู่

วิชาเดซิเบรลล์ ฝึกเด็กๆ ให้รู้จักการแยกแยะเสียง ผ่านการฟังเสียงที่อัดมา แล้วลองบอกทิศทางของเสียง ซ้ายขวาหน้าหลัง และระยะใกล้ไกล เพื่อที่เวลาเดินไปตามถนนพวกเขาจะได้รับรู้สภาพแวดล้อม

และวิชาลมหายใจ ให้เด็กๆ ลองดมกลิ่นแปลกๆ เผื่อในยามที่อันตรายอยู่ตรงหน้าจะใช้จมูกแทนการมองเห็นได้

ห้องเรียนขนาด 19 ตารางเมตรอาจฟังดูเล็กเกินกว่าจะแก้ไขปัญหาระดับชาติได้ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือแนวคิดอันยิ่งใหญ่ และความตั้งใจที่จะสร้างแรงกระเพื่อม โดยหวังว่าผลในระยะยาวคือจะช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีต่อเด็กผู้พิการทางสายตา

ที่มาที่ไปคืออะไร แล้วจะเปลี่ยนอย่างไร เราได้ ธนพล ศิริธนชัย ผู้บริหารบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLDENLAND กับ ป๋อม-กิตติ ไชยพร จากครีเอทีฟ เอเจนซี มานะ ผู้ดูแลโปรเจกต์ มาร่วมกันเล่าให้ฟัง

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

มองเห็นโอกาสที่ขาดไป

“สิ่งที่เราอยากแก้คือความกลัวครับ” ป๋อมบอก

ทัศนคติของคนทั่วไปคือ ไม่เชื่อว่าเด็กตาบอดมีศักยภาพ ไม่คิดว่าพวกเขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ เหมือนแค่เห็นว่าตาบอดก็ยอมแพ้ที่จะเลี้ยงดูเสียแล้ว

“เราพบว่าเด็กพิการทางสายตาน้อยมากที่ถูกส่งไปโรงเรียน เพราะพ่อแม่รู้สึกว่าไม่จำเป็น กลัวเป็นภาระ กลัวอันตรายเปล่าๆ โตไปก็คงไปทำอะไรไม่ได้” ป๋อมเล่า

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

สิ่งที่น่าสนใจคือ คนตาบอดที่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกลับทำอะไรๆ ได้ไม่ต่างจากคนอื่น ตั้งแต่เป็นทนายถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ NASA เรียกได้ว่าความกลัวที่เกิดแก่ผู้ปกครองเด็กตาบอดเป็นความกลัวที่แก้ไขได้ หากมีโรงเรียนที่ดีช่วยรองรับเด็กๆ

แต่โรงเรียนสอนคนตาบอดในไทยกลับมีไม่ถึง 50 แห่ง

ไม่เพียงเท่านั้น โรงเรียนแต่ละแห่งไม่ได้มีบุคลากรเพียงพอหรือมีเครื่องมือที่มีคุณภาพ แถมยังรับนักเรียนได้ไม่เท่าไร การศึกษาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องหายากสุดๆ ในแวดวงคนตาบอด จนกลายเป็นว่ามีคนตาบอดที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ถ้าสร้างการศึกษาที่เหมาะสมและช่วยเปลี่ยนทัศนคติพ่อแม่ผู้ปกครองได้ จะช่วยเปิดโอกาสให้คนอีกมากมาย

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

รวมพลังผู้เชี่ยวชาญ

ถ้าจะมีอะไรที่ Goldenland เก่ง ก็คือการพัฒนาพื้นที่

หากให้ขยายความคือ Goldenland เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แปลว่าต้องรู้จักคนเก่งจำนวนมากที่มาช่วยกันสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้งานได้ เช่นสถาปนิกและนักออกแบบแขนงต่างๆ

ดังนั้น พอเกิดโจทย์ว่าจะสร้างพื้นที่การศึกษาที่จะเปลี่ยนทัศนคติด้านการเรียนการสอนคนตาบอด พวกเขาเลยใช้วิธีการเรียกทีม Avengers มารวมพลังกันสร้างสรรค์

เริ่มจากสถาปนิก ได้ แบงค์-เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนา จากบริษัท ครีเอทีฟครูส์ จำกัด เขาเป็นสถาปนิกที่ทำงานให้ Goldenland อยู่แล้ว เพียงแค่คราวนี้โจทย์เป็นการออกแบบห้องเรียนที่ใช้ทุกส่วน ผนัง พื้น และเพดาน สำหรับการเรียนรู้ได้หมด

แบงค์ทำงานร่วมกับ วริฎฐา ผลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก จากบริษัท แปลนทอยส์ จำกัด บริษัทซึ่งผลิตของเล่นขายทั่วโลก ในงานนี้เธอต้องทำของเล่นด้วยมือเพียงอย่างละชิ้น เพื่อทดลองใช้ในห้องเรียนนี้เป็นห้องแรกก่อน

ต่อมาวิชาลำแสง ได้ อ.อ้อ-ผศ. ดร.วรรณภา พิมพ์วิริยะกุล จากบริษัท วิธ ไลท์ จำกัด ผู้จัดแสงภายในอาคารให้อสังหาริมทรัพย์ของ Goldenland โจทย์ครั้งนี้พิเศษตรงที่แสงจะเป็นมากกว่าการให้ความสว่าง แต่ต้องสื่อสารข้อมูลด้วย

ส่วนเรื่องวิชาคลื่นเสียงเป็น อู่-ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ จากบริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ ปกติแล้วอู่มีหน้าที่มิกซ์เสียงให้ภาพยนตร์ ในงานนี้เขาต้องหาวิธีอัดเสียงในชีวิตประจำวันมาเก็บไว้ในหูฟัง ให้น้องๆ ได้ทดลองฟังเสียงของโลกข้างนอกดู

ในขณะที่วิชาลมหายใจ ดูแลโดย ก้อย-ชลิดา คุณาลัย นักออกแบบกลิ่นที่ปกติทำงานเชิงพาณิชย์ให้ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่างๆ เช่นผงซักฟอกและผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น งานนี้เธอต้องเปลี่ยนมาออกแบบกลิ่นเหม็น เช่น กลิ่นนมบูด กลิ่นควันไฟ เพื่อเตรียมน้องให้พร้อมต่ออันตรายทุกรูปแบบ

ส่วนคนสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้คือ สา-มณิสรา ปาลวัฒน์ นักวิชาการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่คอยให้คำปรึกษาตลอดการทำงาน

ทั้ง 6 คนต่างมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพียงแค่ไม่เคยได้มีโอกาสทำเพื่อคนอื่นเช่นนี้

โปรเจกต์ที่ทั้งยากและใหญ่จึงสำเร็จได้เพราะทุกคนพร้อมใจทุ่มเท

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

ออกแบบแบบฝึกหัด

เมื่อได้ทีมมาแล้ว ป๋อมก็แจกเกณฑ์การออกแบบให้ทุกคน

เกณฑ์ที่ว่าคือเช็กลิสต์ซึ่งป๋อมพบระหว่างค้นคว้าหาข้อมูล อันที่จริงแล้วทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทยมีมาตรฐานการพัฒนาศักยภาพของผู้พิการทางสายตาอยู่แล้ว ในรูปแบบของเช็กลิสต์สำหรับประเมินเด็กๆ ในร้อยกว่าด้าน เช่น กล้ามเนื้อมัดเล็กใช้งานได้ดีไหม เข้าใจความหมายของใหญ่ เล็ก หนา บาง ไหม รู้หรือไม่ว่าอะไรคือเหม็น อะไรคือหอม เอานิ้วแหย่รู คีบของได้ไหม เป็นต้น

แม้จะมีมาตรฐานเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ป๋อมพบว่าในไทยยังไม่มีแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เด็กเติบโตไปถึงมาตรฐานเหล่านั้นเลย

นั่นคือสิ่งที่นักออกแบบทั้งหลายจะต้องสร้างขึ้นมา

พวกเขานั่งอ่านเช็กลิสต์ร่วมกัน ให้เห็นภาพเดียวกัน แล้วต่างคนต่างก็ไปออกแบบส่วนที่ตนรับผิดชอบมา โดยระหว่างทางก็มีการปรับแก้และดูเสียงตอบรับจากเด็กๆ กับอาจารย์ กว่างานจะเป็นรูปเป็นร่างก็ใช้เวลาร่วม 1 ปี นับว่าเกินความหนักหน่วงระดับปกติที่เอเจนซีโฆษณาต้องเผชิญไปมาก

การคิดคำนวณอย่างละเอียดนำมาซึ่งผลงานที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย นำไปปรับใช้ง่าย เกิดประโยชน์ได้จริง

จนได้ห้องเรียนแสนพิเศษออกมาอย่างที่เห็น

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

เผยแพร่องค์ความรู้

“เราไม่ได้ทำอะไรใหม่” ป๋อมบอก ทำให้เราเลิกคิ้วสงสัย

เขาอธิบายคลายความสงสัยของเราว่า มาตรฐานการศึกษานั้นก็มีอยู่แล้ว ส่วนการนำมาปรับใช้ก็มีหลายรูปแบบทั่วโลก เพียงแค่แบบฝึกหัดที่มีอยู่นั้นมักจะราคาแพง ในโปรเจกต์นี้พวกเขาจึงตั้งใจว่าจะใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้คนเกิดความรู้สึกว่าต้องรวยเท่านั้นถึงจะเป็นคนตาบอดที่มีประสิทธิภาพได้

เพราะในงานนี้สิ่งที่สำคัญมากกว่าผลงานที่ออกมา คือองค์ความรู้ที่นำไปใช้ต่อได้

“โปรเจกต์นี้เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ดูแลเด็กตาบอดว่าเขาพัฒนาได้ ให้เขาพามาโรงเรียน หรืออย่างน้อยเอาองค์ความรู้นี้ไปสอนลูกที่บ้าน ให้เขาไปพัฒนา พลิกแพลงต่อด้วยตัวเอง เช่น เอากระป๋องแป้งที่ไม่ใช้แล้วมาใส่เกลือ ใส่พริกไทย ให้ลองเขย่าฟังเสียงแทน” ป๋อมอธิบาย

นี่คือสาเหตุที่พวกเขากำลังทำหนังสือรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงาน เตรียมเผยแพร่บนโลกออนไลน์เร็วๆ นี้

เผื่อว่าใครจะสร้างห้องเรียนนี้ขึ้นมาเองบ้าง

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

แล้วค่อยกลับมาหาแบรนด์

ทำมาทั้งหมดนี้ แล้ว Goldenland ได้อะไร

ธนพลอธิบายถึงสาเหตุที่พวกเขาเลือกทุ่มทุนกับโครงการแบบนี้ ว่า “ผมเชื่อว่าการจะทำให้คนจำแบรนด์เราได้มันเป็นเรื่องของกระบวนการ ที่จะทำแค่ปีสองปีมันไม่ได้ มันต้องทำไปเรื่อยๆ แล้วให้มันเกิดประโยชน์งอกเงยต่อในรูปแบบอื่นๆ แล้วสุดท้ายคนจะค่อยกลับมาคิดถึงว่าเราเป็นตัวเริ่มต้น อย่างนี้มากกว่าคนถึงจะจำเราได้”

ป๋อมเสริมจากมุมมองของเอเจนซีว่า “งานแบบนี้ดีตรงที่เราได้ใช้ศักยภาพขององค์กรโดยตรง ถ้าเราไปทำกับข้าว เลี้ยงอาหาร ก็คงไม่ใช่ แต่นี่เรานำสิ่งที่องค์กรมีอยู่แล้วมาใช้ ผลงานที่ออกมามันเลยไปได้สุดมาก โปรเจกต์นี้ถ้าไม่ใช่ Goldenland ก็คงทำให้สำเร็จไม่ได้ ผมว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเพื่อสังคมขององค์กร”

ธนพลถามกลับว่า แล้วฉันล่ะเห็นอะไร

ฉันคิดว่าการได้แสดงความสามารถว่านอกจากงานเชิงพาณิชย์ที่ทำอยู่ประจำ องค์กรยังมีพันธมิตรที่เต็มไปด้วยศักยภาพ และพร้อมจะทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมเมื่อโอกาสเหมาะสม

แค่นี้ก็มากเพียงพอให้เราอยากใช้บริการแบรนด์นี้แล้ว

หากใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบห้องเรียนให้น้องๆ โทรไปติดต่อขอรับคู่มือฟรีได้ที่ 02-764-6244 เลย

Classroom Makeover, ผู้พิการทางสายตา

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographers

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ

Avatar

พิชาญ สุจริตสาธิต

ช่างภาพอิสระ ชอบทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ ชอบปลูกต้นไม้ ชอบทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะโดยไม่จำกัดอุปกรณ์ เพราะเชื่อว่าความรู้ทุกอย่างจะส่งเสริมกัน และทำให้เราเป็นคนที่มองโลกได้ละเอียดขึ้น