ร้านกาแฟที่ไม่ได้นิยามวัฒนธรรมการดื่มกาแฟว่า Slow Life

ร้านที่คนแน่นขนัด พบเห็นได้ในหลายจังหวัด

และบางจังหวัดก็มีถึง 14 สาขา เดินไปทางไหนก็เจอ

หลายคนอาจนึกถึงร้านกาแฟชื่อดังที่มาจากต่างประเทศ แต่หากบอกว่าร้านนี้เป็นร้านของคนไทย และเปิดสาขาแรกที่โคราช ยังไงก็ต้องนึกถึง Class Cafe เมื่ออดีตผู้บริหารสายโทรคมนาคมลาออกมาเปิดร้านกาแฟ ร้านนี้ย่อมไม่ใช่คาเฟ่ธรรมดา และไม่ได้ขายแค่กาแฟ

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด สร้างนิยามธุรกิจใหม่ขึ้นมาเป็น Open Coffee Platform คาเฟ่ที่เป็น Co-working Space สร้างกิจกรรมและพื้นที่แห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ ขยายสาขามาแล้ว 30 สาขา เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากในภาคอีสาน

หากแหล่งพบปะพูดคุยทำกิจกรรมในร้านกาแฟยุคก่อนเรียกว่า สภากาแฟ Class Cafe อาจเรียกได้ว่าเป็นนิยามใหม่ของร้านกาแฟ 4.0 ยุคโมเดิร์น

หลับตาแล้วลืมภาพร้านกาแฟในหัวไปก่อน เพราะเรื่องเล่าต่อไปนี้อาจไม่ใช่ภาพจำร้านกาแฟที่ทุกคนเคยเห็น  

Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

Grand Opening ณ ถิ่นบ้านเกิด

กอล์ฟเห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นตลาดปราบเซียน การแข่งขันสูง ต้องใช้เม็ดเงินในการโฆษณาเยอะ การสร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้นท่ามกลางร้านกาแฟที่มีมากมายอยู่แล้วค่อนข้างยาก จึงเริ่มทำร้านที่ภาคอีสานก่อน

“เราควรเลือกสนามที่เราแข่งได้ โคราช ขอนแก่น อุดรราชธานี บุรีรัมย์ คือเมืองหลวงของคลาส มีประชากรเกือบสิบล้านคน” นี่คือมุมมองของกอล์ฟ คนโคราชผู้ไม่มองข้ามโอกาสทางธุรกิจท่ีบ้านตัวเอง

ช่วงที่เริ่มทำร้านนั้น โคราชยังมีร้านกาแฟน้อย กอล์ฟจึงเริ่มเปิดสาขาแรกที่นั่น และทยอยเปิดเรื่อยมาจนตอนนี้มีทั้งหมด 30 สาขา ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

เดินทางเข้าเมืองใหญ่ 

จากความนิยมอย่างล้นหลามในภาคอีสาน เมื่อคลาสตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองกรุงมาขยายสาขา ทำให้ The Cloud มีโอกาสมานั่งฟังเรื่องราวที่ร้านใจกลางสยามสแควร์สาขาหนึ่งของคลาสในวันนี้

กอล์ฟเล่าว่า การเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดนั้นเป็นคนละบริบท หลายสาขาในต่างจังหวัดคลาสใช้พื้นที่ใหญ่ถึง 1,500 – 2,000 ตารางเมตรสำหรับดึงดูดความสนใจและจัดกิจกรรม

แต่สำหรับกรุงเทพฯ ที่ค่าเช่าแพง พาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจคือเพื่อนคนสำคัญที่จะพาผู้บ่าวจากโคราชเข้าไปใกล้ชิดวิถีชีวิตคนเมืองและเติบโตได้เร็วขึ้น

หนึ่งในธุรกิจที่มีพื้นที่เยอะที่สุดในกรุงเทพฯ ก็คือ ธนาคาร ซึ่งเป็นผู้เล่นใหญ่ของเมืองอยู่แล้ว

Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

การกลายพันธ์ุของ Co-working Space กับธนาคาร

“เราเจอความเป็นตัวตนเรามากขึ้นตอนมาเจอแบงก์” กอล์ฟเล่าเรื่องราวการทำความรู้จักกันของคลาสกับธนาคารซึ่งอยากทำพื้นที่ Co-working Space ให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจร่วมกัน

“ธนาคารที่มีร้านกาแฟ หรือร้านกาแฟที่มีธนาคาร” เป็นคำถามที่ทั้งสองแบรนด์ถกกันตั้งแต่วันที่เริ่ม

ในขณะที่ธนาคารเป็นบริการที่มีความเป็นทางการและน่าเชื่อถือ คลาสเป็นเหมือนแบรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีกติกาอะไรเลย

พนักงานธนาคารมักดูแลลูกค้าตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา อำนวยความสะดวกให้ใช้บริการได้สะดวกรวดเร็วที่สุด การออกแบบในแต่ละสาขามักกำหนดโต๊ะ เก้าอี้ ชัดเจนว่าควรอยู่ตรงไหน และยังมีอากาศค่อนข้างเย็น

เมื่อมารู้จักกัน กอล์ฟรู้ว่าคนที่อยากใช้พื้นที่นั่งทำงาน มีความต้องการต่างออกไปจากคนที่อยากมาใช้บริการทั่วไปของธนาคาร สิ่งสำคัญคือ ต้องต้อนรับคนเหล่านั้นให้รู้สึกเหมือนมาบ้านเพื่อนให้ได้   

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด
Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

คลาสกับ SCB จึงออกแบบเคาน์เตอร์พนักงานไม่ให้มีเส้นสายตาที่สบตาลูกค้ามากเกินไป ดูแลอุณหภูมิห้องให้อบอุ่นเพื่อไม่ให้รบกวนการนั่งทำงาน มีเก้าอี้ลากเคลื่อนย้ายไปมาได้ง่าย หากอยากได้ความช่วยเหลือเมื่อไหร่ ก็เดินมาขอได้ตามอัธยาศัย

กอล์ฟให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเป็นเพื่อนกัน คือการเปิดใจ

“การที่มานั่งบ้านใครสามชั่วโมงแล้วไม่ต้องรู้สึกเกรงใจคือบริบทใหม่ในการทำแบรนด์  ปกติใครจะยอมให้เรามารื้อบ้าน เธอเย็น แต่ฉันร้อน มันเป็นเรื่องใหญ่มาก”

พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ CLASS.SCB ไม่ใช่ธนาคารที่มีร้านกาแฟ หรือร้านกาแฟที่มีธนาคาร แต่เป็นการกลายพันธ์ุของทั้งคู่ เป็นการใช้คลาสในบริบทของร้านกาแฟที่เป็น Co-working Space มาสร้างไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่สำหรับลูกค้าธนาคาร

จับมือกันเติบโต

สำหรับ CLASS.SCB ที่อยากช่วยผู้ประกอบการทางธุรกิจ หากใครมาใช้บริการ แบรนด์ก็พร้อมแนะนำเพื่อนผู้รู้จริงที่ให้คำปรึกษาทางธุรกิจได้

ไม่ว่าจะเป็น Wongnai ที่มีระบบจัดการหน้าร้านหรือ POS (Point of Sale) พร้อมช่วยครบวงจรตั้งแต่การนำร้านออฟไลน์ขึ้นออนไลน์จนอยู่ในแอป Wongnai ได้ ไปรษณีย์ไทยที่ช่วยเรื่องการส่งของ GET ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง และ Google My Business ที่ช่วยในการปักหมุดร้าน

“ธุรกิจยุคใหม่คือเรื่องพวกนี้ ทำเสร็จ ออนไลน์ ส่งของ” กอล์ฟกล่าวเหตุผลที่ CLASS.SCB ต้องมีเพื่อนมากขนาดนี้

กิจกรรมที่ CLASS.SCB จัดให้ก็เน้นการให้ความรู้ด้านธุรกิจ มีการชักชวนร้านในสยามสแควร์มาเรียนรู้การทำการตลาด ให้ความรู้ด้านการบุกตลาดจีน การทำธุรกิจแพลตฟอร์มและอีกมากมาย 

กอล์ฟให้ความเห็นว่า “เราไม่ต้องทำเองทุกอย่าง เราเก่งตรงไหน ก็ทำตรงนั้น ตรงไหนที่ไม่เก่ง ก็ไปหาพาร์ตเนอร์มาช่วย”

ไม่เพียงแค่บริการสำหรับลูกค้าเท่านั้นที่มีเพื่อนเข้ามาช่วย ระบบหลังบ้านของคลาสเอง ก็มีเพื่อนเข้ามาช่วยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบ Workforce ที่เข้ามาช่วยบริหารการทำงานของพนักงานพาร์ตไทม์ที่ตารางทำงานเปลี่ยนทุกวัน Seekster แอปพลิเคชันที่ส่งแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาด 

ลำพังร้านกาแฟร้านเดียวคงไม่มีทางพัฒนาเทคโนโลยีและระบบที่ซับซ้อนเพื่อทำทุกอย่างได้ แต่เมื่อนำแพลตฟอร์มของแต่ละคนมาเชื่อมกัน ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ธุรกิจของแต่ละคนก็เติบโต

กอล์ฟจึงให้นิยาม Class Cafe ว่าเป็น Open Coffee Platform

Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

เพื่อนนักกิจกรรม

ในความให้นิยามตัวเองว่าเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่ดูยิ่งใหญ่นั้น กอล์ฟได้ขยายความว่า

“เราไม่อายที่บอกว่าเราเป็นคาเฟ่ด้วย เพราะเราก็หลงใหลในกาแฟ รายได้หลักของร้านมาจากกาแฟ แต่คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้ามีมากกว่าคาเฟ่ นั่นคือคุณค่าการเป็นคอมมูนิตี้และพื้นที่แห่งโอกาส”

นอกจาก CLASS.SCB แล้ว แต่ละสาขาของคลาสก็มีกลุ่มเป้าหมายและจัดกิจกรรมต่างกัน หากอยากร่วมงานยิ่งใหญ่ คลาสก็เคยจัดงานสัมมนาขนาดใหญ่และงานคอนเสิร์ตที่ Class Arena มาแล้วซึ่งเป็นพื้นที่ของคลาสที่โคราชเพื่อจัดกิจกรรมโดยเฉพาะ

สิ่งที่กอล์ฟภูมิใจไม่ใช่ยอดขาย แต่คือการได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูกค้า

“เรามีความสุขที่พบเจอเรื่องราวใหม่ๆ มีคนเรียนจบปริญญาเอกได้เพราะคลาส มีคนเจอภรรยาห้าปีที่แล้วที่คลาสสาขาแรก คนทำงานฟรีแลนซ์ชอบมานั่งทำงานคลาสแล้วเช็กอินว่ามีงานอยู่นะ”  

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด

กอล์ฟพบว่าการทำร้านมีผลต่อการใช้ชีวิตของคน โดยเฉพาะสาขาต่างจังหวัด

“เวลาออกโปรโมชันเที่ยง คนก็ล้นเที่ยง ออกโปรโมชันเช้า รถก็ติดตอนเช้า เวลารถติดหน้าสาขา คลาสก็ทำงานร่วมกับเมืองเพื่อลดมลภาวะ มีหลายสาขาที่คลาสเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมงเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าหลายกลุ่มที่มาร้านคนละช่วงเวลาในแต่ละวัน”

การที่คลาสขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วมาจากการสังเกตว่าคนใช้ชีวิตแบบไหน และขยับเข้าไปเป็นเพื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนเหล่านั้นได้  

ทำเยอะแต่ยังเป๊ะ 

แม้จะมีเพื่อนเยอะและมีสาขามากแต่กอล์ฟก็ตั้งใจคงมาตรฐานแต่ละสาขาให้เป๊ะ 

60 : 40 คือสูตรลับในการทำร้านของคลาส 60 คือสิ่งที่เป็นมาตรฐาน กาแฟต้องอร่อย พนักงานบริการดี ส่วน 40 คือการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับแต่ละพื้นที่

นอกจากเรื่องกิจกรรมแล้ว เรื่องกาแฟคลาสก็จริงจังไม่แพ้กัน คลาสมี Co-founder และทีมที่จบ Food Science ซึ่งลงลึกและลุ่มหลงในเรื่องกาแฟ ใส่ใจทุกรายละเอียดตั้งแต่น้ำ อุณหภูมิ ความเข้มข้น คุณภาพบาริสต้า
ออกไปเสาะหาเมล็ดกาแฟคุณภาพราคาดีจากคองโก บราซิลและในหลายประเทศ เพื่อให้ได้กาแฟที่ไม่แพงเกินไป คนเข้าถึงได้ทุกวัน รวมทั้งมีโรงคั่วกาแฟของตัวเองถึง 4 แห่ง

แม้บางสาขาคนจะแน่นเป็นพิเศษ แต่กอล์ฟก็เชื่อว่า บาริสต้าของคลาสทุกสาขาควรชงกาแฟให้เสร็จภายใน 53 วินาที เสิร์ฟได้ภายใน 2 นาที และในทุกๆ 10 วินาทีจะต้องมีแก้วที่ 2 ออกมาให้ได้เหมือนกันทั้งหมด

“ถ้าบาริสต้าเสิร์ฟให้เร็วขนาดนี้ไม่ได้ เขาก็จะไม่เก่ง เวลามาสยาม ร้านไหนขายดีมักจะคิวยาว แต่เราไม่ต้องการให้มีคิว มีคิวแล้วรู้สึกบาป” กอล์ฟบอกว่า นี่เป็นมุมมองที่ต่างจากคนอื่นอยู่สักหน่อย แต่การเสิร์ฟได้เร็วทำให้รองรับความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ เช่น  ช่วงจัดโปรโมชันเวลาพักเที่ยงถึงบ่าย 2 ซึ่งเป็นเวลาที่พนักงานออฟฟิศเพิ่งกินข้าวเสร็จ และต้องได้ของกลับเข้าออฟฟิศให้เร็วที่สุด รวมทั้งเวลาที่ลูกค้าสั่งแบบ Drive Through มาเร็ว ไปเร็ว เมื่อมาถึงแล้วต้องได้เลย

เสิร์ฟกาแฟเร็วขนาดนี้นิยามการดื่มกาแฟของกอล์ฟไม่ใช่ Slow Life แน่นอน กอล์ฟเชื่อว่ากาแฟคือ Energy Drink และคลาสเป็นจุดเริ่มต้นของวันที่อยากให้ทุกคนมีพลัง

หากร้านกาแฟร้านอื่นเปิดเพลง Bossa ที่สื่อถึงชีวิตเนิบช้าเรื่อยๆสบายๆ การที่คลาสเปิดเพลง EDM ก็คงทำให้เห็นภาพความเป็นคลาสได้ดี ในบางสาขา เช่น Class Cafe สาขาวัดบูรณ์มี DJ Live เปิดเพลงที่ร้านทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด

Retail is detail, Detail is Retail 

สังเกตได้ว่าสิ่งที่กอล์ฟให้ความสำคัญในการทำ Co-working Space คือการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมด แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างกระดาษทิชชูและหลอดก็ยังไม่ปล่อยผ่าน

หากสังเกตจะพบว่ากระดาษทิชชู่ของร้านคลาสหนาเป็นพิเศษ

“ทิชชู่นี่เป็น Magic Moment อย่างหนึ่งที่ลูกค้ารู้สึกว่าเราใส่ใจ ถ้าไปดูรถของลูกค้าประจำร้านเรา จะมีทิชชูของคลาสเรียงไว้ใช้”

ที่ตั้งใจออกแบบเพราะกอล์ฟบอกว่า แก้วเมื่อกินเสร็จก็ทิ้งอยู่ที่ร้าน แต่ทิชชูเก็บไว้ใช้ต่อได้ ทำให้เป็นเรื่องคุ้มที่จะลงทุน

“อยากให้แบรนด์เราอยู่กับเขาไปตลอดทั้งวัน เป็นเพื่อนตลอดในช่วงชีวิตในวันหนึ่ง การเกิดของแบรนด์มันยากมาก เราเป็นหนึ่งในล้านท่ีสร้างแบรนด์ขึ้นมาจึงต้องคิดว่าทำยังไงให้เขาเห็นเรา ใช้เราบ่อยๆ”

ด้วยเหตุนี้กอล์ฟจึงออกแบบโลโก้ที่ทิชชูให้ใหญ่ เห็นชัด ส่วนแก้วที่คนมักใช้แล้วทิ้งก็มีโลโก้ไว้เพียงแค่เล็กๆ

สำหรับหลอด มีการทดสอบว่าพลาสติกที่ใช้ย่อยสลายได้จริงไหม และเลือกใช้หลอดใสเพราะคนทำแบรนด์กับหลอดเยอะแล้ว “หลอดเป็นสงคราม ถ้าหลอดสีเขียวจำได้เลยว่าของใคร เรามาทีหลัง สีใสเลยแล้วกัน”

นอกจากใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆในสิ่งที่จับต้องได้ให้คนจำแบรนด์ได้แล้ว กอล์ฟยังวิเคราะห์ลงลึกไปถึงประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้า

“อย่าง CLASS.SCB ลูกค้าไม่ได้เริ่มใช้บริการเราที่นี่ เขาเตรียมตัวมาตั้งแต่บ้าน ตั้งแต่นั่ง BTS เปิดแอพ SCB Easy เตรียมมาใช้โปรโมชัน บางคนอาจจะอยากแชร์ให้เพื่อนได้โปรโมชันด้วย เพราะมานั่งคนเดียวแล้วเหงา เรานั่งคิดเรื่องพวกนี้ว่าลูกค้ามาแล้วจะทำอะไรบ้างระหว่างทาง เกิดปฏิสัมพันธ์อะไรต่อ”

กอล์ฟเชื่อว่าพอทำโปรโมชันหลายวันติดต่อกัน ลูกค้ามักไม่ได้มาซื้อแค่ 1 แก้วแล้วจากไป แต่มาใช้บ่อยจนเกิดความเชื่อใจและอยากมาเยี่ยมบ่อยมากขึ้น

Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

ชงกาแฟแบบไม่ใส่อีโก้

อ่านมาถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่า Class Cafe ไม่ใช่ร้านกาแฟธรรมดา

และร้านที่ไม่ธรรมดาย่อมเกิดจากกึ๋นการบริหารที่ไม่ธรรมดาด้วยเช่นกัน

กอล์ฟบอกว่าเคล็ดลับคือ “เริ่มจากโจทย์ที่สนุก แล้วจะอยากเห็นเส้นทางการเติบโตที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นคลาสสนุก ทำให้ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว”

แม้เคยทำตำแหน่งใหญ่ในบริษัทโทรคมนาคมมาก่อน แต่กอล์ฟพบว่าการควบคุมคุณภาพกาแฟนั้นมีความยากกว่าคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งวัดคุณภาพได้เป็นตัวเลขความถี่ แต่สำหรับกาแฟ พอฝนตก รสชาติก็เปลี่ยนทันทีเพราะกาแฟดูดความชื้น ปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใช้น้ำ การกรอง ล้วนมีผลในการควบคุมคุณภาพทั้งหมด 

Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

ในแง่การบริหารก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน การทำงานในบริษัทต้องคุยกันอย่างมีทฤษฎี แต่เมื่อมาทำคลาส กอล์ฟต้องสอนงาน น้องๆ หลายคนที่ไม่เคยทำงานและไม่มีประสบการณ์มาก่อน

“เราต้องเข้าใจธรรมชาติเขา ไม่สอนแบบทฤษฎีจ๋า ไม่ห้ามเขาใช้โทรศัพท์ ติดต่อกับโลกภายนอก เพราะเด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับโซเชียลเน็ตเวิร์ก”

เมื่อถามว่ามีอะไรที่ตอนทำบริษัทใหญ่เอามาใช้ได้ กอล์ฟตอบว่า

“ใช้ได้เยอะ แต่เราคืออดีต คนรุ่นใหม่คืออนาคต ถ้าถามเรื่องโบราณมาถามพี่ เรื่องส่งอีเมลมาถามพี่ แต่ถ้าเรื่องทำ Line Group ต้องไปถามน้องๆ”

กล่าวได้ว่าสเน่ห์การบริหารคนแบบเติบโตเร็วของคลาส คือการวางอีโก้ลง ไม่นำจุดของคำว่าสำเร็จในอดีตมาทำให้หลงลืมจุดเริ่มต้น  

Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟแดนอีสานที่อยากสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้คนทั่วประเทศ

“เราอยากส่งต่อโอกาสที่ตัวเองเคยประสบความสำเร็จจากองค์กรใหญ่ให้คนอื่นมีโอกาสการเติบโตในแบบของตัวเองบ้าง” กอล์ฟบอกว่า นี่เป็นความตั้งใจแรกที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจเริ่มทำร้านกาแฟ Class Cafe จึงเป็นพื้นที่ที่ไม่หยุดสร้างโอกาสในสถานที่และบริบทที่ต่างกัน 

กลับบ้านกันไหม

แม้จะขยายสาขามาแล้วมากมาย แต่กอล์ฟก็บอกว่า สิ่งที่ชี้วัดความสำเร็จไม่ใช่ยอดขาย แต่เป็นการสร้างไลฟ์สไตล์แห่งโอกาสให้ใกล้ชีวิตคน

“คนรุ่นใหม่เป็น Digital Nomad ชอบทำงานที่ไหนก็ได้ พนักงานออฟฟิศไม่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศอีกต่อไป พอ PM2.5 มาจะหนีไปทำงานที่ทะเล หรือ เชียงใหม่ก็ได้”

กอล์ฟชวนคิดว่าหากเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า ‘ไกล’ ไม่ได้หมายถึงระยะทางแต่เป็นเวลาในการเดินทาง ต่างจังหวัดก็อาจไม่ได้ไกลอย่างที่คิด เพราะเดี๋ยวนี้ใช้เวลานั่งรถไฟไม่นานก็เดินทางถึงนอกเมืองได้ง่ายขึ้นแล้ว คนเมืองไม่จำเป็นต้องซื้อคอนโดฯ หรือบ้านในเมือง แต่ออกไปใช้ชีวิตที่ต้องการในต่างจังหวัดได้มากขึ้น

Class Cafe จึงเป็นร้านกาแฟที่ไม่ได้ขยายสาขามั่วๆ แต่สร้างสาขาตามรางรถไฟ โคราช ขอนแก่น อุดร หนองคาย ล้วนเป็นจังหวัดตามแนวรถไฟที่กำลังเกิดขึ้น

“พอคลาสมีอยู่หลายสาขาในกรุงเทพฯ เราหวังให้ลูกค้าเดินทางไปจังหวัดไหนแล้วไม่เหวอ เจอคลาสทุกที่ ลงเครื่องบินมาจังหวัดไหนก็ไปที่คลาสได้ ใช้เรานั่งทำงาน หาลูกค้า หาพาร์ตเนอร์ที่ไหนก็ได้เพื่อพร้อมบุกตลาดใหม่ๆ”

กอล์ฟเห็นว่าธุรกิจส่วนใหญ่มักเริ่มที่เมืองหลวง แต่ความจริงแล้วคนที่เป็นกลไกของเมืองมาจากทุกที่ทุกจังหวัด สิ่งที่กอล์ฟผลักดันจึงมีกิจกรรมมากมายที่ดูไปไกลกว่าคำว่าร้านกาแฟเยอะ ทั้งการทำ Smart City ที่ขอนแก่น หรือ Summit 2020 สัมมนาที่ชวนสปีกเกอร์ชื่อดังในวงการธุรกิจมาที่โคราช 

เนื่องจากนักธุรกิจและผู้บริหารหลายคนเป็นคนอีสานอยู่แล้ว กอล์ฟจึงชวนหลายคนมาด้วยคำชวนง่ายๆ ว่า “อาทิตย์นี้กลับบ้านกันไหม”   

นี่คือแนวคิดของ Class Cafe ที่กอล์ฟบอกว่ายังห่างไกลความสำเร็จ แต่การมีเพื่อนก็ทำให้เดินไปได้เร็วขึ้น

กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด

Lesson Learnt

กอล์ฟเชื่อว่าในยุค Digital Disruption การเปลี่ยนแปลงที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อทำงานเร็ว ยืดหยุ่น และไม่หยุดเรียนรู้จากคนอื่นเสมอ แม้ Class Cafe จะมีตัวตนที่ต่างจากธนาคารมาก ก็ได้เรียนรู้จากธนาคารว่าการตั้งกฎหรือมาตรฐานที่คุมเข้มไว้ในบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน

สำหรับการลาออกมาทำธุรกิจของตัวเองนั้น กอล์ฟคิดว่าไม่ได้เหมาะกับทุกคน “บางคนเป็นนักสู้พร้อมลุย แต่บางคนทำงานคลุกฝุ่น ยกของหนักไม่ได้ ตั้งแต่เราทำมาจำไม่ได้ว่าหยุดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ยิ่งเปิดร้านยี่สิบสี่ชั่วโมง เวลาลูกน้องมีปัญหาก็ต้องพร้อมช่วย”

ธุรกิจร้านกาแฟจึงไม่ได้สบายและง่ายๆ อย่างที่ใครหลายคนคิด การเป็นนักธุรกิจคือต้องพร้อมเหนื่อยและอาจไม่ได้มีวันหยุดมากมายนัก แต่เหตุผลที่กอล์ฟยังสนุกกับการทำ Class Cafe อยู่เรื่อยๆ เพราะความตั้งใจดีที่อยากสร้างพื้นที่แห่งโอกาส หากคนทำธุรกิจมีความตั้งใจดี แม้ไม่รับประกันชีวิตสบาย แต่ก็รับประกันได้ว่าได้สร้างธุรกิจที่มีคุณค่าเพื่อคนอื่นขึ้นมา

Facebook : Class Cafe

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล