“มันเป็นเรื่องน่าทึ่งที่เรารู้เยอะมากเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ดีของกอริลล่าภูเขา เรารู้เยอะมากเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ดีของเสือไซบีเรีย แต่เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเมืองที่ดี ที่อยู่อาศัยที่ดีของ Homo sapiens.”
นายกเทศมนตรีเมือง Babita ประเทศโคลัมเบีย
กล่าวประโยคนี้เปิดหนังสารคดีเรื่อง Human Scale
ภายในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โรคระบาดที่ตามกันมาติดๆ อย่าง SARS, H1N1 และ COVID-19 เมืองใหญ่ทั่วโลกได้กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออย่างเลี่ยงไม่ได้ น่าแปลกที่เมืองซึ่งพบการแพร่กระจายอย่างหนักเหล่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ชวนให้คิดว่า มนุษย์เราพัฒนาเมืองหรือที่อยู่อาศัยของเราถูกทางแล้วจริงหรือ และหากยังไม่ถูก เมืองที่ถูกคืออะไร
เมื่อนึกถึงการสูญเสียชีวิตผู้คนรายวัน การแสดงความเห็นใจ และส่งกำลังใจให้คุณหมอ พยาบาลที่ที่เสี่ยงชีวิตอยู่แนวหน้า ภาพของพยาบาลสุภาพสตรีแห่งดวงประทีปชาวอิตาลี ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nithingal) ก็ผุดขึ้นมา

ท่ามกลางสงครามไครเมียที่เหล่าทหารบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก พยาบาลสาวคนนี้ได้ตั้งคำถามถึงการตายของทหาร ซึ่งตายจากบาดแผลและการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากกว่าตายในสมรภูมิถึง 10 เท่า เพราะสภาพแวดล้อมที่แออัดในสถานพยาบาล ความหนาแน่นของเตียงผู้ป่วย และท่อน้ำทิ้งที่เหม็นเน่าของโรงพยาบาล
ในสถานการณ์ท่ามกลางความเป็นความตาย พยาบาลคนนี้ไม่ได้นิ่งเฉย แต่จัดการทำความสะอาด แยกเตียงผู้ป่วยในระยะที่เหมาะสม ทำความสะอาดสถานที่ ให้ลมและแสงแดดเข้าได้ทั่วถึง เรียกช่างมาแก้ระบบท่อระบายน้ำ อาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่ในสภาวะโกลาหลเช่นนั้น การแก้ปัญหาที่ถูกจุดอาจเป็นเรื่องยากที่สุด หลังจากนั้นมา ไนติงเกลได้เก็บสถิติและพบว่าจำนวนทหารผู้เสียชีวิตลดน้อยลง

ภาพ : Wikimedia Commons | Public Domain
เธอวาดแผนผังข้อมูลและผังโรงพยาบาลราวกับสถาปนิก นำเสนอคณะกรรมการด้านสุขภาพของกองทัพด้วยตัวเลขการตายที่ลดลง และความเป็นเหตุเป็นผลของการแก้ปัญหา ผู้บังคับบัญชาน้อมรับแนวคิดการส่งเสริมสภาพที่อาศัยที่ถูกสุขอนามัย และเปลี่ยนทัศนะการออกแบบด้านสุขอนามัย จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนในสถานพยาบาลทั้งหลายถึงปัจจุบัน


ช่องว่างระหว่างเตียง ระยะห่างระหว่างห้องพักผู้ป่วยที่รับลมและแสงแดดอย่างทั่วถึงที่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดทำเพื่อลดการตายจากการติดเชื้อในช่วงสงคราม คงไม่ต่างจากที่ว่างของเมืองที่ดี หากที่ว่างระหว่างเตียงที่พอเหมาะและความหนาแน่นที่ดีจะสร้างสุขภาวะที่ดี ลดการตาย และการติดเชื้อได้ ความหนาแน่นและที่ว่างในระดับเมืองก็จะนำมาซึ่งเมืองสุขภาวะดีได้ไม่ต่างกัน

จากภาพลองเดากันสิว่า ผังกลุ่มอาคารแบบไหนจะเอื้อต่อสุขลักษณะของผู้อยู่อาศัยมากกว่า
คำตอบนี้คงเดาไม่ยาก เมื่อมีโรคระบาดและโรคติดเชื้อเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำในมิติที่ซ้อนทับในเมือง ใครเล่าจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากกว่า
ที่ว่างในเมืองจึงเกี่ยวโยงกับสุขภาพองค์รวมของคนเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน และโรคระบาดก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของเมืองที่มีอยู่แล้วให้ชัดเจนขึ้น
โรคระบาด หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปารีสเป็นปารีสในปัจจุบัน

ภาพ : Alamy
ในศตวรรษที่ 18 ปารีสมีจำนวนผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โรคระบาดอย่างอหิวาตกโรคและไทฟอยด์ได้คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน เมื่อเมืองหลวงแออัดหนาแน่น ผู้คนเพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดด เมืองยังไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีพอ ท่อระบายน้ำที่สกปรกขาดประสิทธิภาพ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงแต่งตั้ง บารอน ออสสมาน (Baron Haussmann) นายอำเภอแห่งแซนให้เป็นผู้พลิกโฉมเมืองปารีส ด้วยการปรับผังเมืองครั้งใหญ่ที่ใช้เวลากว่า 17 ปี
การพลิกโฉมปารีสในครั้งนั้น จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และบารอนตัดสินใจขยายขอบเขตเมือง สร้างระบบส่งน้ำสะอาดจากแม่น้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสะอาดเข้าเมือง ปรับเปลี่ยนระบบระบายน้ำ ตัดถนนผ่าสลัม ทำลายตึกกว่า 12,000 อาคาร เพื่อสร้างพื้นที่โล่งสำหรับสถานที่สำคัญต่างๆ ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันอย่าง Palais Garnier, The Opéra National de Paris และ Les Halles Marketplace และเชื่อมพื้นที่เหล่านี้ด้วยถนนขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยต้นไม้และเฟอร์นิเจอร์ถนนที่เราเรียกว่า อเวนิว
อานิสงส์ครั้งนั้นทำให้เกิดร้านค้าร้านกาแฟที่เราเห็นในปัจจุบัน ตามมุมถนนต่างๆ ที่สำคัญคือ ผุดสวนสาธารณะและ Parc พื้นที่โล่งสาธารณะกว่า 27 แห่ง จนปารีสกลายเป็นเมืองแห่ง Parc หรือสวนสาธารณะ
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงโปรดปรานและเปรียบเปรยว่า อังกฤษมี Hyde Park แต่ปารีสต้องมีมากกว่านั้น บารอนจึงตอบสนองภาพฝันท่านจักรพรรดิ์ เกิดเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 4 มุมเมือง

ทิศตะวันตกของเมืองมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ Bois de Boulogne ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่า Central Park ที่มหานครนิวยอร์ก กว่า 2.5 เท่า
เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด (Frederick Law Olmsted) บิดาผู้ก่อตั้งศาสตร์แห่งสวนสาธารณะ ภูมิสภาปัตยกรรมชาวอเมริกัน ผู้ออกแบบ Central Park ได้เขียนบันทึกความประทับใจต่อ Bois de Boulogne ว่าเป็นแหล่งแรงบันดาลใจที่เขาไปเยือนถึง 8 ครั้ง
ทิศตะวันออกของเมืองมีสวนสาธารณะ Bois de Vincennes ทิศใต้มีสวนสาธารณะ Montsouris และสวนสาธารณะ des Buttes-Chaumont ในทิศเหนือ (ค.ศ. 1867)
สวนสาธารณะ des Buttes-Chaumont ซึ่งผู้เขียนก็หลงใหล งดงามด้วยโขดหินขนาดใหญ่ซึ่งเคยเป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ แหล่งน้ำเสีย กลับสภาพเป็นสวนสวรรค์ให้ชาวปารีส ด้านบนมีวิหาร Temple de la Sibylle ที่ได้แรงบันดาลใจจาก วิหาร Temple of Vesta ในเมือง Tivoli ประเทศอิตาลี

นอกจากนี้ แผนพัฒนาเมืองยังสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กละแวกชุมชน ที่ย่อส่วนสวนขนาดใหญ่เหล่านั้นอีกกว่า 20 แห่ง เพื่อให้ 8 ชุมชนในปารีสเดินถึงสวนได้ภายใน 10 นาที แน่นอนว่ามันประสบความสำเร็จมาก การเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ว่ายุคสมัยใดก็ได้ใจประชาชน มากจนทำให้ปารีสเป็นเมืองน่าอยู่และเต็มไปด้วยสวนสาธารณะอย่างทุกวันนี้
บารอนกลายเป็นฮีโร่และนักปฎิวิติเมืองในประวัติศาสตร์โลก เขาเปลี่ยนภาพเมืองยุคกลาง Medival ของปารีสให้กลายเป็นเมืองใหม่ที่ยังคงโครงให้เราเห็นในปัจจุบัน สำหรับคนนอก เขาดูเหมือนนักปฎิวัติที่ทุกเมืองต้องการ แต่สำหรับคนปารีส บารอนเป็นทั้งที่รักและที่ชัง เขาถูกเสียดสี เหน็บแนม เพราะเมืองเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก คนในเมืองบางส่วนยังไม่พร้อมจะเปลี่ยน บ้านของบางคนก็ถูกลบหายไป เป็นการลบภาพจำของเมืองเดิม บนถนนบางสายบารอนถึงกับกำหนดความสูงตึก สี วัสดุ และรูปแบบของอาคารให้เหมือนกัน จนคนบางคนเปรยว่าจำบ้านตัวเองไม่ได้
แต่ถ้าถามคนปารีสยุคนี้ ส่วนใหญ่คงนึกขอบคุณมากกว่าเกลียดชังบารอน
การเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคนั้น โรคระบาดเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมให้ปารีสเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับที่ว่าง สวนสาธารณะ ระบบถนน ระบบน้ำที่ดี ซึ่งยังประโยชน์กับเมืองมาจนถึงวันนี้
ถ้ามองยุคปัจจุบัน COVID-19 ทำให้เห็นว่าเรามีหลายเรื่องที่จะต้องเปลี่ยน แต่เราจะเปลี่ยนไหม เราจะเรียนรู้และนำวิกฤตนี้มาสร้างโอกาส หรือต้องรอ COVID เวอร์ชันอื่นๆ ถึงจะเรียกร้องเมืองที่สร้างสุขภาวะที่ดี ไม่ว่าจะในยามปกติ หรือในยามวิกฤต
เมืองหนาแน่น แหล่งแพร่กระจายการติดเชื้อชั้นเยี่ยม

ประชากรโลกมีแนวโน้มจะอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากปารีสยุคศตวรรษที่ 18 แต่จะมีกี่เมืองที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติได้เช่นนั้น โรคระบาดระยะหลังก็เปลี่ยนไป มีรูปแบบที่ระบาดจากสัตว์สู่คน ติดต่ออย่างรวดเร็ว และรวดเร็วยิ่งขึ้นในเมืองที่มีประชากรที่หนาแน่น และเมืองที่หนาแน่นก็กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด
สนามบินแพร่เชื้อจากประเทศสู่ประเทศ การคมนาคมภายในประเทศแพร่กระจายไปยังเมืองรองและเมืองภูมิภาคอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการเมืองและกายภาพเมืองกลายเป็นต้นตอของปัญหา และส่งผลต่อการแพร่ระบาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บวกกับเชื้อ COVID-19 มีชีวิตอยู่ได้บนผิวสัมผัสของ รถยนต์ รถไฟฟ้า และของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ รอบตัว การใช้ชีวิตในเมืองจึงเต็มไปด้วยความหวาดระแวงยิ่งขึ้น

เมืองห่างๆ ดีและปลอดภัยจริงหรือ
การเกิดโรคระบาดครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการอาศัยอย่างแออัด ขาดสุขอนามัย โรคติดเชื้อแปลกๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อาจเกิดจากการที่เมืองมนุษย์รุกล้ำพื้นที่เมืองของสิ่งมีชิวิตอื่น ไม่ว่าบนบก ในน้ำ หรือ ในอากาศ
“เมื่ออุตุสมุฏฐาน (การพิจารณาถึงฤดูกาลเป็นเหตุให้เกิดโรค) เปลี่ยน อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร ในเชิงของไวรัสมันก็ต้องปรับตัวเอาตัวรอด มีการเปลี่ยนผิดเพี้ยนของพันธุกรรม ทำให้เกิด Genetic Drift หรือการกลายพันธุ์ของไวรัสหลายๆ ชนิด อันนี้เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่มากระทบต่อมนุษยชาติเท่านั้นเอง ธรรมชาติถึงจุดอิ่มตัวที่เขาต้องปรับตัวแล้ว และการปรับตัวของเขาก็จะกระทบกับมนุษยชาติอย่างมโหฬาร”
นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมอปอง) อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญา กล่าวไว้
ในร่างกายของเรามีไวรัสและแบคทีเรียจำนวนนับไม่ถ้วน มากกว่าเซลล์ร่างกายของเรา ที่ผ่านวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับบรรพบุรุษมนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้จับมือกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่จะรับ ต่อต้าน กำจัด สิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา
งานวิจัยจำนวนมากบอกเราว่า ป่ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการทำงานและสร้างความแข็งแรงให้เพื่อนตัวจิ๋วพวกนี้ จนผู้คนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่ามีอัตราการตายน้อยกว่าคนห่างไกลถึง 12 เปอร์เซ็นต์1 งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกือบพันชิ้นยืนยันตรงกันว่า ธรรมชาติช่วยลดอาการอักเสบเพิ่มจำนวน Natural Killer Cells2 หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวทั่วไป
การไปเที่ยวป่าช่วยเพิ่มสารต้านมะเร็งในเซลล์ยาวๆ แม้หลังจากกลับมาแล้ว 1 สัปดาห์3 จน Yale School of Forestry & Environmental Studies ถึงกับบอกว่า “ไม่ใช่แค่มีก็ดี แต่ป่าเป็นสิ่งจำเป็น”
หรือเมืองไม่ต้องการเพียงสวนสาธารณะ แต่ต้องการป่า
เกิดอะไรขึ้นกับป่าในตอนนี้
เมื่อการกระจายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต ความเจริญทางการเกษตรและปศุสัตว์บุกรุกที่ป่า ทำให้เราต้องทำลายป่าและสัตว์ป่า พื้นที่ป่าลดลง มนุษย์กับป่าอยู่ไกลกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงของเรา ในมุมของนิเวศวิทยา เมืองแบบกระจัดกระจาย (Urban Sprawl) กิจกรรมเหล่านี้สร้างปัญหาเชิงลึกกับสิ่งแวดล้อม การบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติ การทำลายล้างธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง สร้างสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องปรับตัว
นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงโรคระบาดเหล่านี้กับสภาวะเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและอากาศที่ผิดเพี้ยนโดยตรง สัตว์ขนาดเล็กหลากชนิดต้องทำตัวให้แกร่งขึ้นในสภาวะที่เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นอย่างสุดขั้ว นำมาสู่โรคติดเชื้อที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และการพัฒนาเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน
COVID ทำให้เห็นว่าเราต้องการเมืองที่เดินได้ และพื้นที่สาธารณะมากกว่าเดิม
ในช่วงภาวะโรคระบาดที่การใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะดูเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า เมืองที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เดินไม่ได้ เดินลำบาก ทำให้ชีวิตยากยิ่งขึ้นอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น แท้จริงแล้วเราไม่ได้ต้องการเพียงที่ว่าง แต่ต้องการที่ว่างคุณภาพดี สร้างประสบการณ์ในเมืองที่รื่นรมย์ การเดินที่ดีที่ มีแนวเงาร่มไม้ มีเสียงนกร้อง มีกระรอก กระแต กบเขียด มีดอกไม้เรียกผีเสื้อ ผึ้ง แมลงปอ สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือทางเท้าที่น่าเดิน
เราต้องการกายภาพเมืองเพื่อสุขภาพ เมืองรักชีวิต เมืองที่สร้างพลังชีวิตของสรรพสิ่ง ตามแนวคิดแบบ Biophilic Design และ Biophilic City (Bio = ชีวิต Phliic = ความรัก)
‘Biophilic City’ ต่างจาก Green City ตรงความขั้นกว่าของพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่แค่เห็นเป็นสีเขียวหรือเปลี่ยนที่ว่างให้เขียวในเชิงปริมาณ แต่เน้นที่เชิงคุณภาพและรูปแบบซึ่งรักชีวิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช่แค่ชีวิตมนุษย์ในมิติของระบบนิเวศวิทยา แต่มีมิติเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัยทุกคนในเมือง และการเชื่อมโยงเมืองกับสถาปัตยกรรมให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายของธรรมชาติอย่างแท้จริง
แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขั้นของสิงคโปร์แสดงว่า ระยะเวลา 20 ปี จนถึง ค.ศ. 2007 ประเทศเกาะขนาดกะทัดรัดแห่งนี้เพิ่มจำนวนประชากรถึง 2 ล้านคน แต่พื้นที่สีเขียวก็เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 36 เป็นร้อยละ 47 และพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางนิเวศวิทยาย่อมเอื้อต่อสรรพชีวิตอื่น จนปรากฏภาพฝูงนากขึ้นมาเล่นน้ำที่ชายฝั่ง แมลงปอตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ นกหายากหลากหลายชนิด หรือแม้แต่นกเงือก ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าไม้ก็ลงมากินลูกยอหน้าบ้านกลางเมือง
นี่คือสัญญาณความสำเร็จจากความพยายามของผู้นำประเทศอย่าง ลีกวนยู ตั้งแต่ ค.ศ.1963 การพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ต่อเนื่องกว่า 50 ปี การสร้างเมืองควบคู่พื้นที่สีเขียว กลายเป็นจาก Garden City ไปสู่ City in the Garden บนการเดินทางของเมืองสิงคโปร์ เพื่อเชื่อมโยงธรรมชาติ
Resilience City เมืองสุขภาพดี คือเมืองที่ปรับตัว ที่ยืดหยุ่น
คนที่ร่างกายปรับตัวได้จะสู้กับโรคร้ายได้ดี ไม่ต่างอะไรกับเมือง
เมืองที่มีสุขภาพดีก็ย่อมต้องยืดหยุ่น ปรับตัวกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงและเยียวยาตนเองได้เร็ว การเยียวยาตนเองเป็นกลไกการสร้างสมดุลธรรมชาติ Biophilic City ย่อมมีความเป็นเมืองยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตนเองได้ เมื่อโครงข่ายธรรมชาติสอดแทรกไปกับเมือง ตามที่ว่าง คลอง หรือโครงธรรมชาติที่เคยเป็น เมืองนั้นน่าจะมีภูมิคุ้มกัน มีความสามารถในการพลิกฟื้นตัวจากภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมืองอื่นๆ
ข้อดีของ COVID-19 ที่เราพอเห็น คือการปิดโลกของมนุษย์ และปล่อยที่ว่าง-เวลา ให้ธรรมชาติดำเนิน ฟื้นฟูตนเอง จากหลายข่าวที่ว่าสัตว์ป่า หมู่ปลา ฝูงเต่าเริ่มออกมาดูโลกบ้างเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว มลพิษถูกปล่อยออกน้อยลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อันนี้เห็นชัดว่า ธรรมชาติมีหนทางที่จะกลับมา
พื้นเพคนบางกอกอย่างเราๆ มีความยืดหยุ่นสูงมาก เพราะเรามีโครงข่ายธรรมชาติที่คอยปกป้องเรา ป่าชายเลน หนองน้ำ ต้นไม้ ลำคลอง เราเป็นเมืองที่เคยน้ำท่วมๆ แห้งๆ เป็นนิจ ท่วมจนดินงอกมาเป็นเมือง บ้านเรือนไทยภาคกลางยกพื้นหนีน้ำ ผูกเรือใต้ถุนพร้อมเดินทางเมื่อน้ำมา คนที่โตมากับเมืองที่ยืดหยุ่นก็จะมีความสะเทินน้ำสะเทินบกสูง จนคนเปรยว่าชาวเราคือชาวกึ่งบกกึ่งน้ำ
แต่เมื่อวันหนึ่งที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองกลัวน้ำ ความยืดหยุ่นเราก็น้อยลง เมืองคอนกรีตที่สุขภาพมวลรวมเราก็ย่ำแย่ลง เมืองที่ดีที่ยืดหยุ่น มีที่ว่าง พื้นที่สีเขียวธรรมชาติที่เยียวยากาย ใจ ก็น่าจะดีกว่าเมืองที่เป็นอยู่




(ข้อมูลจากหนังสือ What is Biophilic Design?, Oliver Health Design, พฤศจิกายน 2018)
ภาพ : Khoo Teck Phut Hospital
โดยเฉพาะการเยียวยาจิตใจผู้คนในเมืองให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ จากการเริ่มต้นด้วยโรคระบาดและโรงพยาบาลของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล การจัดเตียงในระยะห่างที่เพียงพอ เต็มไปด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องถึง อาจเป็นเรื่องที่ตื่นตาตื่นใจ ในการการสร้างสุขภาวะทางกายในยุคนั้น แต่ในสมัยนี้ที่ว่างที่พอเหมาะดูจะไม่เพียงพอกับการสร้างสุขภาวะองค์รวมที่ดี
แต่ที่ว่างที่เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการสร้างสุขภาวะที่ดี นั้นมีมิติทางการรับรู้และทางใจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ขาด ภาพที่เห็นนี้หลายคนคงคิดไม่ออกว่าคือภาพ โรงพยาบาล โกเต็ก พวดท์ (Khoo Teck Puat Hospital) ในประเทศสิงคโปร์ ที่ไม่ได้แค่พูดเรื่องสุขภาพคน แต่สุขภาพชีวิตอื่นๆ ที่มากกว่าคนในโรงพยาบาลด้วย คุณภาพชีวิตที่หนักหน่วงของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อาจดูเคร่งเครียดน้อยลงในบรรยากาศเช่นนี้
Edible City เมืองกินได้ กักตุนอาหาร พื้นที่ผลิตอาหาร ความยั่งยืนของเมือง
บางคนว่า ชีวิตตัวเองยังเอาไม่รอด จะให้มีแก่ใจคิดถึงคนอื่นอย่างไรในเวลาแบบนี้ ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ แล้วมนุษย์อย่างเราๆ ต้องการอะไรในการเอาตัวรอด หลายคนกักตุนข้าวสาร อาหารแห้ง มาม่า ปลากระป๋อง ในวิกฤตการณ์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ต่างไป เรายังไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ ต้องกักตุนอีกมากแค่ไหน คงน่าเศร้าพิลึกที่เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อกินสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันคือ ‘อาหารที่ดี’ ที่เราสมควรได้รับจริงหรือ
โชคดีที่การขนส่งสินค้าทางการเกษตรยังไม่ถูกสั่งหยุด และเกษตรกรยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เมื่อไหร่ที่การเดินทางระหว่างเมืองทำไม่ได้ เราจะพบว่าความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นงอกงามจากผืนดิน ความสามารถในการปลูกพืชผักในเมืองคือโอกาสของการมีอาหารและความอยู่รอดที่แท้จริง เกษตรในเมืองน่าจะเป็นอีกงานใหญ่ที่เราต้องทำการบ้าน และทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังมากขึ้น
โรคระบาดเปลี่ยนโลก
COVID-19 เผยชีวิตและมิติของเมืองอย่างที่เราอยากให้เป็น ให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ความอยากแต่เป็นความจำเป็น หวังว่าโรคระบาดครั้งนี้จะไม่ได้นำมาเพียงความเจ็บป่วย แต่จะทำให้เราได้เรียนรู้และไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ยุคก่อน COVID-19
บทเรียนที่แสนแพงนี้น่าจะทำให้เราลุกขึ้นมาเปลี่ยน รักสุขภาพตัวเอง รักสุขภาพของสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ขอให้ความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดครั้งนี้สร้างบทเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งยิ่งใหญ่ การใช้ชีวิต การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และเมืองรูปแบบใหม่บนโลกใบเดิมที่เอื้อต่อสรรพชีวิตอื่นๆ อย่างจริงจัง คงมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อีกมากมายที่รอพวกเราอยู่ในอนาคตอันใกล้ ทั้งดีและร้าย หลากหลายทิศทาง มีมาให้เลือกสรร
มั่นใจได้เลยว่า วิกฤตที่เราจะช่วยกันผ่านไปให้ได้นี้ จะสร้างโอกาสให้มนุษยชาติได้เรียนรู้และพัฒนา ‘เมืองที่ดี’ สำหรับมนุษย์และสัตว์โลกอย่างแท้จริง เราอาจจะยังไม่มีคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดในวันนี้ แต่อย่างน้อย เราก็ได้ฟังคำใบ้จากโลกแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง
1 Environmental Health Perspectives of 2016
2 Li Q et al. 2008. A forest bathing trip increases human natural killer activity and expression of anti-cancer proteins in female subjects. J Biol Regul Homeost Agents 22(1):45-55. 3 Li Q. 2010. Effect of forest bathing trips on human immune function. Environ Health Prev Med 15(1): 9–17.