เมืองที่ดีของคุณเป็นแบบไหน?

เราเชื่อว่าการพัฒนาเมืองในยุคนี้ จะให้มีแค่ ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก’ คงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เราเชื่อว่าใครๆ ก็ฝันอยากจะมี ‘เมืองที่ดี’ ที่ตอบโจทย์ความต้องการในแบบของตัวเองทั้งนั้น

แต่การจะมี ‘เมืองที่ดี’ ที่ถูกใจทุกคนได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จะให้รอการพัฒนาจากภาครัฐที่เคยทำแบบบนลงล่างโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ไม่ฟังเสียงความต้องการของผู้ใช้งานก็อาจจะไม่เวิร์กอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน หรือจะให้ภาคเอกชนพัฒนาอยู่ฝ่ายเดียวโดยที่รัฐไม่เอาด้วย การพัฒนาก็คงไม่ยั่งยืนและเกิดการขยายผลเท่าที่ควร

รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เราจึงชวน รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ City Lab ซึ่งศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) อยากทดลองออกแบบพื้นที่สนุกๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่สาธารณะ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาพูดคุยถึงอนาคตในการออกแบบพื้นที่สาธารณะในประเทศไทยผ่านการใช้ย่านสีลมเป็นห้องทดลอง

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

ทำไม ‘เมือง’ ต้องมีพื้นที่สาธารณะ?

หากคุณอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวในหมู่บ้านหมู่จัดสรร หรืออยู่ย่านชานเมืองซึ่งที่พักอาศัยยังขยายตัวเป็นแนวนอนและไม่แออัดเท่าไรนัก คุณอาจไม่ได้นึกถึงการมีสวนสาธารณะในละแวกบ้าน เพราะในรั้วบ้านของคุณอาจจะพอมีพื้นที่ว่างให้มีสวนส่วนตัวอยู่แล้ว

แต่ในตอนนี้กรุงเทพฯ และอีกหลายมหานครทั่วโลกไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนที่อาศัยในเมืองเหล่านี้กำลังต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’

“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเรื่องที่พักอาศัย ปัจจุบันกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวประมาณสี่สิบสองเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นมหานครที่มีบ้านเดี่ยวเยอะมาก การมีบ้านเดี่ยวมันเป็นการดึงเอาพื้นที่สวนสาธารณะเข้าไปอยู่ในรั้วบ้านของตัวเองแล้ว คนไทยจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการมีสวนสาธารณะมากเท่าไหร่ เพราะเรายังมีสวนเป็นของตัวเองกันอยู่ 

“แต่ในอนาคตคนไทยกำลังจะต้องการพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพราะรูปแบบที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงไปและเป็นการขยายตัวในแนวตั้งมากขึ้น คนอยู่ในอาคารสูงกันมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจน ทุกคนก็จะอยู่ในกล่องที่พักอาศัยของตัวเอง จะเล็กหรือใหญ่ จะสวยงามหรือไม่ก็ตามฐานะของคุณ 

รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เมื่อทุกคนอยู่ในกล่อง พื้นที่อื่นๆ จะถูกผลักให้ออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เราจึงต้องมีทั้งสวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของคนเมืองในอนาคต”

หลายคนเข้าใจว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ต้องเป็นพื้นที่ของรัฐเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าของพื้นที่จะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้สาธารณะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

“พื้นที่ของรัฐทุกที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ เพราะในหลายสถานที่ แม้ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ แต่รัฐก็อาจจะไม่ได้ระบุให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นๆ ได้ ในขณะที่พื้นที่ของเอกชนก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเสมอไป เพราะในกฎหมายผังเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2495 มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีคำว่า ‘พื้นที่อุปกรณ์’ หมายถึง ที่ดินของเอกชน ซึ่งผังเมืองเฉพาะจัดให้เป็นที่เว้นว่างหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่นด้วย 

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

“เช่น ทางเท้า ทางเดิน ตรอกหลังหรือข้างอาคาร ทางน้ำ ทางหรือท่อระบายน้ำ จึงนับเป็นพื้นที่สาธารณะได้ ซึ่งผมมองว่าพื้นที่เหล่านี้มันมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต ถ้าเรามีการออกแบบพื้นที่เหล่านี้ให้ตอบรับความต้องการของคนได้ ก็จะเกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะได้มากขึ้น” 

ปรับพื้นที่ให้เข้ากับวิถีชีวิตคน

เมื่อถามถึงปัญหาของพื้นที่สาธารณะในเมืองไทย ดร.พนิต บอกว่า ‘สวนสาธารณะ’ คือตัวอย่างหนึ่งในประเทศไทยที่เห็นภาพชัดที่สุด แม้ว่าเราจะมีสวนสาธารณะเกือบ 30 แห่งภายใต้การดูแลของกรุงเทพฯ แต่พื้นที่เหล่านี้กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเท่าที่ควรจะเป็น

สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มีปัญหา ดังนี้ 

รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. ประชาชนเข้าไม่ถึงสวนสาธารณะ เพราะการออกแบบผังเมืองไม่มีการกำหนดสวนสาธาณะในละแวกบ้านเข้าไปด้วย หากเราไม่ใช่คนในละแวกนั้นและต้องการใช้สวนสาธาณะก็ต้องเดินทางหลายต่อเพื่อจะไปให้ถึงสวนที่ใกล้ที่สุด ทำให้การใช้งานสวนที่อยู่แล้วขาดหายไป การมีอยู่ของสวนสาธาณะในละแวกบ้านจะทำให้คนเมืองได้พบปะและมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งต่างจากการออกกำลังกายในฟิตเนส หรือการอยู่ในพื้นที่สีเขียวของคอนโดซึ่งไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ และเป็นการใช้ชีวิตส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวมเพราะความจำเป็นเท่านั้น

2. พื้นที่สาธารณะของคนไทยไม่ได้ปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ต่างจากสวนสาธารณะของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสวนที่ปรับตัวเองเข้ากับพฤติกรรมของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง หากใครมีโอกาสไปเดินสวนสาธารณะญี่ปุ่นคุณจะพบความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะที่สวนสาธารณะโยโยกิ (Yoyogi Park) สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในโตเกียว เป็นสวนสาธารณะที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตคนเมืองจริงๆ ซึ่งในกรุงเทพฯ เราไม่มีสวนแบบนี้เลย 

สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ห้ามนำสุนัขเข้าไป แค่กฎข้อนี้ก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่แล้ว เพราะตอนนี้วิถีชีวิตของคนเมืองคือเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนหรือเป็นลูก แต่คนรุ่นก่อนเลี้ยงสัตว์เป็นสัตว์เลี้ยง แค่คอยให้ข้าวให้น้ำก็พอ ภายในสวนสาธารณะญี่ปุ่นจึงมีโซนที่นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้ และมีคอกกั้นไว้เพื่อไม่ให้สุนัขเล็กและสุนัขใหญ่กัดกัน พื้นที่ดื่มน้ำก็มีความสูงที่แตกต่างกันเพื่อให้ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตำแหน่งที่ตั้งของสวนอยู่ติดกับลานจอดรถขนาดใหญ่เพื่อรองรับกับการใช้งานของคนจำนวนมากและอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ 

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

นอกจากนี้ในสวนมีพื้นที่ที่ใช้เสียงได้ โดยอนุญาตให้นำเครื่องดนตรีเข้ามาเล่นในสวน เพราะการอาศัยอยู่ในคอนโดในเมืองใหญ่ เราใช้เสียงดังในห้องรบกวนเพื่อนบ้านไม่ได้อยู่แล้ว พื้นที่สาธารณะจึงจำเป็นอย่างมากสำหรับคนที่หาสถานที่เล่นดนตรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นสวนที่มีโซนเงียบสำหรับเล่นโยคะและคนที่ชอบอ่านหนังสือ รวมถึงมีพื้นที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬาได้หลากหลาย แบบนี้จึงเรียกว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ถูกปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองแล้ว 

ในขณะที่สวนสาธารณะของไทยยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่ม พื้นที่สาธาณะที่มีคนใช้งานอยู่ในทุกวันนี้เป็นพื้นที่สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่มาออกกำลังกาย แต่เราไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กที่เพิ่งหัดเดิน คนแก่ที่มาเดินเล่นในสวน หรือกลุ่มคนพิการที่ควรจะเข้าถึงสวนสาธารณะได้ด้วยเช่นกัน

ใครสามารถเพิ่มพื้นที่สาธารณะในเมืองได้บ้าง?

ใครๆ ก็มักจะคิดว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวน้อยเมื่อหารค่าเฉลี่ยต่อหัว แต่ในความเป็นจริงเมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศ เรามีทั้งพื้นที่สีเขียวจากสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวอีกมากที่เป็นของรัฐ แต่ไม่ได้เปิดเป็นพื้นที่สาธาณะให้ประชาชนเข้าไปใช้งาน

การจะเพิ่มพื้นที่สาธาณะในเมืองได้ไม่ใช่แค่สร้างสวนสาธารณะแล้วจบไป แต่ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นด้วยการสนับสนุนของภาครัฐและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

“ผมเคยทำโครงการเสนอให้เอาพื้นที่ของรัฐบางส่วนมาทำถนนสาธารณะ โดยที่ไม่ได้จะตัดถนนผ่ากลางพื้นที่เลย แค่ทำถนนเลียบทางตามเขตพื้นที่ไป แต่รัฐก็ไม่ยอมให้พื้นที่ ทั้งที่เรามีพื้นที่ของรัฐจำนวนมากที่สามารถเป็นพื้นที่สาธารณะได้ 

“ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐต้องสละพื้นที่ทั้งหมดให้กับประชาชน ถ้าส่วนไหนเป็นความลับ ส่วนไหนสำคัญ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิด แต่ถ้าพื้นที่ไหนแบ่งได้ก็จะช่วยพัฒนาเมืองได้มาก ปัจจุบันนี้รัฐมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นเขตหวงห้ามเยอะมาก และมีพื้นที่ที่สงวนไว้ให้คนบางกลุ่มเข้าใช้งานเท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธาณะได้ 

“อย่างโครงการทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ถ้าหน่วยงานรัฐในบริเวณนั้นสละพื้นที่มาเป็นพื้นที่สาธารณะ ทำให้คนมีทางเท้าเพิ่มมากขึ้น แค่นี้ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างทางเดินเพิ่มเลย แต่เมื่อไม่มีหน่วยงานใดยอมให้ เราจึงยังไม่มีพื้นที่สาธารณะที่คนเข้าถึงง่ายหรือใช้งานได้จริง”

นอกจากนี้ในทางกฎหมายยังมีสิ่งที่เรียกว่า พื้นที่อุปกรณ์ (Privately Owned Public Space) ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นของเอกชน เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปใช้งานได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ซึ่งส่วนนี้คือสิ่งที่เอื้อประโยชน์กับรัฐได้ หากมีกลไกการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ

“ในต่างประเทศมีข้อแลกเปลี่ยนให้เอกชนอุทิศพื้นที่ของตัวเองให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยที่แลกกับสิทธิ์ในการก่อสร้างตึกตามจำนวนชั้นที่ต้องการ เช่น หากอุทิศพื้นที่ให้กับรัฐเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสามสิบเปอร์เซ็นต์ คุณจะกู้เงินได้เต็มจำนวน และต้องทำสัญญาเพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้งานได้จริง มีเวลาใช้งานกำหนด ดูแลรักษาสวน และออกแบบตามข้อกำหนดของรัฐ โดยที่รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของสวนนี้และไม่ได้เสียงบประมาณในการดูแลเลยสักบาท 

“จากเดิมที่กำหนดให้สร้างอาคารได้แค่ห้าชั้น อาจจะสามารถเพิ่มเป็นสามสิบชั้นได้หากสร้างประโยชน์ให้รัฐ หรือแม้แต่การเพิ่มพื้นที่ทางเท้า รัฐสามารถกำหนดระยะถอยร่นได้เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่างที่เอกชนจะได้รับ 

“ผมเชื่อว่ามันมีหลายวิธีมากที่ทำให้เรามีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่ที่ไทยไม่เคยทำได้แบบนั้น ทั้งๆ ที่เรามีเครื่องมือทางกฎหมายหลายอย่าง เป็นเพราะเรายังไม่เคยมีการบังคับใช้งานกฎหมายให้ครบทุกมาตรา และไม่มีกำหนดกลไกในการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม 

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน
City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

“ที่สำคัญพื้นที่สาธาณะคือสิ่งที่รัฐต้องลงทุน ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรีๆ คุณไม่สามารถไปบังคับให้ประชาชนคืนที่ดินมาเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวหรือเป็นพื้นที่สาธาณะฟรีๆ ได้ เพราะมันไม่ยุติธรรมสำหรับเขา”

โครงการห้องทดลองเมือง

เพราะเชื่อว่า ‘เมืองที่ดี’ คือเมืองที่คนเมืองมีส่วนร่วมในการออกแบบ 

โครงการ City Lab Silom เป็นโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และผู้ประกอบการกลุ่มคนรักสีลม จึงนำพื้นที่หน้าอาคารของเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พื้นที่ทดลองชั่วคราว’ ในการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะสำหรับ ‘คนเมือง’ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบตามหลักการ แต่เป็นการออกแบบตามต้องการของผู้คนจริงๆ โดยการให้ประชาชนในย่านสีลมได้ทดลองใช้งานในพื้นที่จริง และฟังเสียงตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาต่อ

ใครที่มีโอกาสผ่านไปย่านสีลมในวันที่ 11 – 27 ธันวาคม 2562 คงได้เห็นสีลมในโฉมใหม่ มีทั้งสีสัน รูปทรง และฟังก์ชันการใช้งานที่แปลกตาไป โดยจะมีพื้นที่ต้นแบบทั้งหมด 7 พื้นที่ ร่วมออกแบบโดย Cloud-floor, Palette Me, VAWA, คุณณัฐกิตติ์ กังสดาลเสนานนท์ และศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) 

โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน
โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

โดยจะมี 10 พื้นที่ที่มีผลงานตั้งอยู่ ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี อาคารธนิยะ พลาซ่า อาคารญาดา อาคารสีบุญเรือง อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ อาคารลิเบอร์ตี้ สแควร์ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อาคารอาคเนย์ประกันภัย และอาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ 

เมื่อทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญร่วมกันในการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ จึงได้นำแนวคิดพื้นที่เอกชนซึ่งเปิดให้ใช้งานอย่างสาธารณะ (Privately Own Public Space) มาใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือ ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมสาธารณะ สนับสนุนให้คนเมืองมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงหลักด้านสุขภาพที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและสูญเสียชีวิต นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีพื้นที่สีเขียวทั้งในร่มและกลางแจ้งเพื่อให้ประชาชนได้ออกมามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

“ในช่วงแรกที่เราลงไปสำรวจพื้นที่เราพบปัญหาหลายเรื่อง เช่น ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ความปลอดภัยในการใช้ทางเท้าและถนน การจัดการขยะ ป้ายรถเมล์ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน และมีบางพื้นที่บนทางเท้าที่ถูกปล่อยว่างไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน
City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

“เราจึงมีการออกแบบผังแม่บทการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาให้กับย่านสีลมครั้งใหญ่ แต่ปัญหาคือมันต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนจะเอาด้วย ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะล้มเลิกโครงการไปแล้ว 

“แต่สิ่งที่เราเอากลับไปหาเขาอีกครั้งไม่ใช่ผังแม่บท แต่เราเสนอว่าเราจะใช้สีลมเป็นพื้นที่ในการทดลองร่วมกัน เราจะทดลองระยะสั้น ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน และทดลองเฉพาะในจุดสำคัญของสีลม เพื่อดูว่าพื้นที่สาธารณะแบบไหนที่ถูกใจคนในย่านนี้ หลังการทดลองเราจะนำผลการทดลองนำเสนอต่อสาธารณะ ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาดีหรือไม่ดี เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราก็รับไว้หมด 

“ผลที่ได้จะถูกนำไปพัฒนาพื้นที่สีลมและส่งต่อให้กับผู้รับผิดชอบในการดูแลพื้นที่นี้ต่อไป เมื่อต้องมีการของบประมาณเพื่อก่อสร้างหรือพัฒนาอะไรสักอย่าง ก็ใช้ข้อมูลจากการทดลองของ City Lab เป็นตัวซัพพอร์ตได้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกเขาทำกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการพัฒนาก่อนใช้งบประมาณจำนวนมาก”

การจะแก้ปัญหาพื้นที่สาธารณะใดๆ ก็ตาม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่นี้มีปัญหาอะไรบ้าง แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่นี้ด้วย สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือต้องดูก่อนว่าคนในพื้นที่เขามองเห็นปัญหาอะไรบ้าง เพราะการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่คือสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนา คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่ใช้พื้นที่สาธาณะในสีลมจริงๆ หลังการทดลองจบลง คนกลุ่มนี้เองที่มีศักยภาพที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

ก่อนจะออกแบบทีมงาน City Lab ได้สำรวจปัญหาในย่านสีลมก่อน มีตั้งแต่การสังเกต ติดตาม สำรวจ สัมภาษณ์ ทดลอง ฟังเสียงตอบรับ ระดมความคิดเห็น เชิญชวนผู้ใช้งานจริงมาร่วมออกแบบ และอีกสารพัดวิธีที่จะช่วยให้เมืองนี้เป็นเมืองที่ดีขึ้นได้ แล้วค่อยออกแบบเพื่อทดลองแก้ปัญหาไปทีละจุด 

แต่เนื่องจาก City Lab เป็นโครงการทดลองระยะสั้น จึงมีข้อจำกัดในการทำงานหลายอย่าง เช่น การทดลองต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการก่อสร้างถาวรหรือไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะทาสี หรือทำโครงสร้างใดๆ ก็ต้องทำให้เหมาะสมกับการทดลองใช้งานในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น 

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

สีบนทางข้ามที่ค่อยๆ หลุดลอก หรือทางเท้าและทางข้ามที่ไม่เอื้อต่อการใช้รถวีลแชร์ เพราะทางโครงการไม่สามารถก่อสร้างทางราบเพิ่มเติม จึงเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่ดังพอจะทำให้ทุกคนเห็นว่าสีลมยังยังมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังบ้าง

เปลี่ยนเมืองด้วยข้อมูล

“ความตั้งใจของเรา คือเราอยากเปลี่ยนพื้นที่ทางเท้าที่คนเคยรีบเดินหนี รีบเดินผ่านไปเร็วๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่คนมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เพราะก่อนที่ทีมของเราจะมาทำโครงการนี้ในนาม City Lab เราเคยทำโครงการอื่นๆ มาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในสวนสาธารณะ ซึ่งจากประสบการณ์ตรงนั้นทำให้เรารู้ว่าคนเมืองต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น เราเห็นว่าพื้นที่ระหว่างต้นไม้หรือบนทางเท้าบางส่วน เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้เกิดการใช้งาน เราจึงไปดูว่ามีวิธีไหนที่เราจะทำให้คนมาใช้งานได้มากขึ้นบ้าง” 

ดร. พนิตบอกว่า City Lab มีหลักในการออกแบบอยู่ว่า

1. ต้องเป็นการออกแบบที่เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องมีคนคอยอธิบายวิธีใช้งาน จึงใช้การขีดสีตีเส้นลงไปในพื้นที่และสื่อสารให้เข้าใจง่ายที่สุด ที่แม้แต่เด็กเล็กก็เข้าใจได้ เช่น สัญลักษณ์รูปเท้า 2 ข้าง เป็นการกำหนดเส้นทางเดิน หรือการตีช่องให้กระโดดเพื่อออกกำลังกายเหมือนเกมที่เราเคยเล่นกันตอนเด็กๆ

2. ต้องมีความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ซึ่งสิ่งนี้เป็นความท้าทายของทีม City Lab เพราะปัญหาของโครงการระยะสั้น คือไม่สามารถทำสิ่งที่คงทนถาวร เนื่องจากต้องรื้อถอนภายในระยะเวลาที่กำหนด 

3. ต้อง Over Scale เพราะมันสามารถดึงดูดให้คนจำนวนมากเข้ามาสนใจและเข้ามาทำกิจกรรมนี้ได้มากขึ้น

4. ต้องบำรุงรักษาง่าย และไม่จำเป็นต้องดูแลตลอดเวลา

เมื่อโจทย์ปัญหาต่างๆ รวมกับจากแนวคิดในการออกแบบทั้งหมดนี้ ทีม City Lab จึงได้ออกมาเป็น 7 พื้นที่ทดลองเพื่อหาคำตอบให้กับย่านสีลม

เติม Safety ให้สีลม คือการออกแบบทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนและอาคารเอเชียอาคเนย์ร่วมกับ Cloud-floor โดยเน้นแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสีลม เพราะจุดข้ามถนนของสีลมคือทางข้ามช่วงกลางถนนหรือ Mid-Block ที่รถมักจะวิ่งตรงมาด้วยความเร็ว ไม่มีสัญญาณไฟจราจรมากั้น ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าบริเวณที่มีสัญญาณไฟ ทีม City Lab จึงออกแบบด้วยการใส่จิตวิทยาลงไป ใส่เส้นหยักทั้งก่อนและหลังทางข้าม ให้คนขับรถรู้สึกว่าช่องทางมันแคบลงเพื่อที่จะได้ชะลอความเร็ว และใช้สีที่โดดเด่นเพื่อทำให้คนขับเห็นชัดๆ ว่านี่คือทางข้าม จะได้ขับรถด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และคนข้ามถนนก็จะข้ามได้อย่างปลอดภัย

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน
City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

เติม Energy ให้สีลม บริเวณป้ายรถประจำทางหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน คือป้ายรถประจำทางที่เสริมที่นั่งให้สูงขึ้นเพื่อให้เหมาะกับสรีระของผู้ใช้งาน และเพิ่มฟังก์ชันการออกกำลังกายเข้าไปด้วย เพื่อให้ระหว่างรอมีกิจกรรมให้ทำ

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

ออกมา ‘เล่น!’ @สีลม บริเวณหน้าอาคารธนิยะ พลาซ่า โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ และอาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ เป็นทางเท้าเราที่เพิ่มกระดานหมากรุกยักษ์เข้าไป เพราะต้องการให้กิจกรรมนี้มีคนเห็นมากขึ้น ดึงดูดให้คนรอบข้างสนใจและอยากเข้ามาเล่นด้วยกัน และเปลี่ยนพื้นที่ว่างหน้าอาคารให้เป็นพื้นที่ที่คนมาใช้ทำกิจกรรมร่วมกันได้ ในอนาคตวางแผนไว้ว่าจะเปิดให้นักเรียนที่เรียนดนตรีในละแวกนั้นมาเล่นดนตรีได้ เป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ให้มากขึ้น 

City Lab โครงการที่เปลี่ยนสีลมเป็นห้องทดลอง และชวนทุกคนมาร่วมออกแบบ Public Space ด้วยกัน

ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวโครงการและนำชิ้นงานไปติดตั้งในพื้นที่แล้ว ทีมงานก็ได้ติดตามผลลัพธ์จากการทดลองและพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาอย่างที่คาดไว้ 

“จากเดิมพื้นที่หน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนจะมีต้นไม้ขวางและมีคอกกั้นไว้ทุกๆ ยี่สิบเมตร เราพบว่าคนเดินตามทางที่กำหนดไว้ แต่ตรงระหว่างคอกต้นไม้เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งานเลย เราจึงเอาพื้นที่ว่างตรงนั้นมาขีดสีตีเส้นให้คนกระโดด ใส่ต้นไม้ ใส่ที่นั่งลงไป การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งาน ได้ถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น 

“แต่ผลตอบรับที่เราได้กลับมาทำให้เรารู้ว่าคอกต้นไม้ที่เราใส่ลงไปเต็มขอบมันทำให้คนเดินชนได้ง่ายมาก และเป็นอันตรายกับคนใช้ทางเท้า สิ่งที่เราได้จากการทดลองนี้คือเราต้องทำไซส์เล็กลง นี่คือผลลัพธ์ที่เรานำไปพัฒนาต่อได้ เราไม่ได้หวังว่ามันจะประสบความสำเร็จทุกอย่างในทันที แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาคือเราต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน 

“เพราะนี่คือการใช้เมืองเป็นห้องทดลอง แต่ถ้าไม่มีการทดลองเลยสักครั้ง เราอาจจะเสียงบประมาณมหาศาลจากการผลิตเก้าอี้ที่ผิดขนาด”

แม้ว่าโครงการนี้จะไม่ได้จบลงที่การใช้ผังแม่บทในการพัฒนา แต่เราเชื่อว่าข้อมูลที่ City Lab ได้กลับไป จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาเมืองได้

“เราไม่ได้หวงไอเดียเรื่อง City Lab เลย ใครเห็นว่าดีก็เอาไปทำต่อได้ เพราะตอนนี้สิ่งที่เราทำคือการทำต้นแบบ เพื่อให้คนอื่นสามารถเอาไปพัฒนาต่อได้ หรือเอาไปปรับใช้ได้กับพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น อโศกหรือรัชดา

และในฐานะต้นแบบ “สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่สร้างต้นแบบเพิ่ม ไม่ใช่ผลิตต้นแบบเป็นร้อยพันอย่างไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีการพัฒนาต่อ ในอนาคตเราอยากเห็นของจริงที่มันงอกเงยมาจากผลลัพธ์ในการทดลองของเรา” ดร. พนิตกล่าวทิ้งท้าย

รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan