ยามบ่ายวันธรรมดาที่อากาศอบอ้าว เราเรียกแท็กซี่ไปยังกิจการล่าสุดของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย 

 เมื่อรถแล่นผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวรู เราก็นึกได้ว่ารถยนต์เข้าไปยังจุดหมายที่อยู่บนถนนแคบมากกว่านี้ไม่ได้ แท็กซี่จึงจอดส่งเราลงที่ปากซอยเจริญกรุง 20 

เราออกเดินต่อ ผ่านบ้านแล้วบ้านเล่า ผ่านเซียงกงมากมายจนถึงซอยวานิช 2 เมื่อเดินเลี้ยวเข้าไปในซอยเล็กๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปอีก ตรงข้ามกับศาลเจ้าโจวซือกง เราก็ได้พบเจอกับ ‘Citizen Tea Canteen of nowhere’ ร้านน้ำชาสีส้มดำจี๊ดจ๊าดขนาด 1 คูหา ท่ามกลางสีสันและบรรยากาศร้านที่อบอวลด้วยกลิ่นอายความเป็นจีน เจ-เจษฎา มะโนน้อม ทีมาสเตอร์ของร้านยิ้มแย้มทักทายอยู่ที่บาร์พร้อมเครื่องไซฟ่อน ซึ่งด้านหลังรายล้อมไปด้วยแก้วน้ำสกรีนแบบวินเทจและเครื่องพวงรอเสิร์ฟลูกค้า 

Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์แสนสนุกแห่งตลาดน้อย
Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์แสนสนุกแห่งตลาดน้อย
Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์แสนสนุกแห่งตลาดน้อย

ชั้นสอง ทางซ้ายมือมีราวแขวนเสื้อผ้าและวางสินค้างานฝีมือสีสันสดใสเรียงรายอยู่เต็มไปหมด บรรยากาศหลักๆ ในร้านดูคล้ายกับสภากาแฟที่เราเคยพบเห็นในหนังหรือละครไทยสมัยก่อน พื้นสีเขียวล้อไปกับสีสันศาลเจ้าข้างๆ แม้ดูฉูดฉาด แต่ลงตัวกับย่านตลาดน้อยอย่างบอกไม่ถูก

Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์แสนสนุกแห่งตลาดน้อย

ดีไซเนอร์เจ้าของร้านเล่าว่า ความตั้งใจแรกของเขาคืออยากทำร้านออกมาในลักษณะเรียบๆ ไม่ได้มีอะไรมากมายเหมือนกับคาเฟ่ใหม่ๆ แต่ด้วยเลือดนักออกแบบและนักเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในหัว สุดท้ายร้านจึงออกมาค่อนข้าง ‘เอาเรื่อง’ เห็นได้ชัดจากแผ่นไม้ที่เต็มไปด้วยลวดลายจากงานพิมพ์ซิลค์สกรีนทั้งรูปเสือ ดอกกุหลาบ และอักษรจีน อยู่ทั่วผนังของร้าน ซึ่งทั้งหมดถูกวาดโดยเหล่าพนักงาน 56th Studio

“ที่ทำออกมาก็คงจะเรียกว่าสไตล์แม็กซิมอล เพราะส่วนตัวก็ไม่ใช่คนน้อยอยู่แล้ว” โอพูดทีเล่นทีจริงสร้างเสียงหัวเราะ ก่อนบทสนทนาถึงร้านน้ำชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์จะเริ่มต้นขึ้น

“ผมตั้งชื่อร้านนี้ว่า ‘Citizen’ ทั้งตัวเเบรนด์เเละร้านนี้ เพราะอยากจะมอบพื้นที่ให้ผู้คน ให้เกษตรกร”

โชว์รูมกึ่งร้านน้ำชา

ศรัณย์เป็นเจ้าของแบรนด์หัตถกรรมสุดป๊อบอย่าง Citizen of Nowhere แบรนด์ที่มอบพื้นที่ให้กับผู้คนในการสร้างสรรค์งานฝีมือในแบบที่ตัวเองถนัด แล้วนำสิ่งที่ได้มาเติมแต่งให้สินค้ามีชีวิตชีวาและดูสนุกมากกว่าเดิม หลังจากที่เขาเรียนจบด้าน Storytelling จากสวีเดน แล้วกลับบ้านมาทำแบรนด์ของตัวเองกว่า 3 ปี ประสบการณ์การทำงานมากมายทำให้เขารู้ว่า ไม่ใช่แค่ความสวยและความเก๋เท่านั้นที่ทำให้งานขายได้ แต่ยังมีเรื่องการสร้างคุณค่าให้กับงานชิ้นนั้นๆ ด้วย

“ผมค้นพบว่า วิธีขายงานหัตถกรรมที่ดีที่สุด คือการให้คนเขามีประสบการณ์กับสินค้า ถ้างานหัตถกรรมขายแค่ในออนไลน์ มันไม่ฟิน เพราะคนไม่สัมผัสมันโดยตรง ถ้าไม่มี Personal Touch ก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่ แล้วผมอยากให้คนได้เข้ามารู้ว่า กว่าคุณป้าคุณลุงที่ทำงานคราฟต์จะได้ผ้ามาเเต่ละนิ้ว เเต่ละผืน มันยากนะ ต้นทุนของเขาคือทักษะและเวลา เลยอยากทําโชว์รูมจัดแสดงสินค้างานคราฟต์ขึ้นมาเพื่อสื่อสาร เราอยากจะ Empower เกษตรกร ลุงๆ ป้าๆ ที่ถักทอของเหล่านี้ขึ้นมา”

ด้วยความที่โอสนใจในวัฒนธรรม Underdog มาโดยตลอด การสร้างร้านชาควบคู่กับโชว์รูมจัดแสดงสินค้าจึงถูกตั้งต้นด้วยวัฒนธรรม ‘โกปี๊’ ที่วัยรุ่นตั้งแต่ Gen Z ลงมาอาจจะไม่คุ้นเคยกันแล้ว แต่เขาอยากนำสิ่งนี้มาตีความใหม่ ถอดรื้อแต่ละองค์ประกอบมาจัดเรียงใหม่ ปรับโฉมให้มีสีสันมากขึ้น

“ร้านกาเเฟกับร้านชานมเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด เป็นไปได้ไหมว่าเราจะเอาประสบการณ์เครื่องพวง การชงแบบคนๆ กลับมาใหม่ เลยผนวกสองอย่างเข้าด้วยกันก็คือ ส่วนที่เป็นสินค้าเเละส่วนที่เป็นเซอร์วิส แล้วเราก็ตั้งเเบรนด์ใหม่ขึ้นมาเลย อะไรที่คนบอกว่า เห่ย เชย หมดยุคไปแล้ว เราอยากจะพิสูจน์ให้เห็นว่า เฮ้ย มันมีพื้นที่ของมันนะ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้”

จากสองสิ่งนี้เอง โอจึงตามหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับวิธีการนี้ และเขาก็ได้มาเจอกับตึกเก่าใกล้ศาลเจ้าโจวซือกงของโอ๊ะ เขาเสนอแนะสิ่งที่อยากทำให้เจ้าของพื้นที่ฟัง จนสุดท้ายทั้งสองคนก็กลายมาเป็นหุ้นส่วนร้านด้วยกัน

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

ชุมชนเก่าและใหม่

“ตอนนี้ผมไม่ชินกับการเดินสยามเเล้ว หนึ่งคือเเก่ สองคือผมตั้งคำถามว่า ทําไมทุกอย่างมันดูไม่ค่อยสมจริง ดูประดิษฐ์ไปหมด”

โอชวนเราตั้งข้อสังเกตว่า คนกรุงเทพฯ อึดอัดกับการไม่มีถนนคนเดินที่แท้จริง พื้นที่ส่วนมากที่เราพอจะไปเดินเตร็ดเตร่ ผ่อนคลายในวันหยุด ล้วนเป็นห้างสรรพสินค้าติดแอร์ พื้นที่เหล่านั้นก็ไม่ได้แสดงถึงย่านและผู้คนที่อาศัยอยู่ตรงนั้น แต่ตลาดน้อยคือพื้นที่ตรงกลาง มีความสมดุลระหว่างความสวยงามของตึกรามบ้านช่อง ผนวกเข้ากับการได้รู้จักและทำความเข้าใจชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคม

“ถึงดั้งเดิมผมจะเป็นชาวนนทบุเรี่ยน แต่ทุกวันนี้บ้านผมอยู่แถวพระโขนงครับ พระโขนงเป็นสุขุมวิทชั้นในอันสุดท้าย คือเวลาพูดแล้วยังภูมิใจอยู่ว่าเป็นคนสุขุมวิทชั้นใน เพราะว่าเลยไปเป็นอ่อนนุชคือ Brooklyn เเล้ว แต่ถ้าเราอยู่ในพระโขนงเรายังอยู่ใน Manhattan (หัวเราะ) 

“เวลาที่เราเดินแถวขอบๆ ของ Manhattan เราจะเห็นตลาดต่างๆ ซ่อนตัวอยู่เยอะ เช่น โรงสกรีน โรงเย็บชุดหางเครื่อง ยิ่งเดินยิ่งสนุก ซึ่งตลาดน้อยให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน เป็นปราการด่านสุดท้ายระหว่างความในเเละความนอกเมือง เป็นเส้นสุดท้ายระหว่างความเก่ากับใหม่ เดินไปซื้อเก๊กฮวยกับอาม่าได้ ไปอีกหนึ่งก้าว ซื้อโถส้วมจากร้านที่เปิดมาร้อยปีเเล้วมาว่าทิ้งไว้ในร้านเก๋ๆ ได้” 

 ความประทับใจนี้เอง พื้นที่ตลาดน้อยจึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่โอรู้สึกใจเต้น

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

ถนนเจริญกรุงเป็นถนนเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองกรุงมากว่า 150 ปี เป็นพื้นที่ที่อัดแน่นไปด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรมทั้งพุทธ-คริสต์-อิสลาม ความหลากหลายของการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนนี้จึงกลายเป็นสีสันของย่านไปโดยปริยาย และแม้ว่าจะผ่านมานาน ถนนเส้นนี้ยังคงเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะ ‘ตลาดน้อย’ ที่คนรุ่นใหม่หลายคนสนใจเข้ามาปรุงแต่งความสดใหม่ให้ย่านมีชีวิตชีวามากกว่าเดิม

“ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากเรื่องของการพัฒนาชุมชน พอชุมชนจัดกิจกรรมขึ้น มีคนนอกเข้ามาปุ๊บ แล้วเขาเห็นศักยภาพของพื้นที่ คนก็เลยค่อยๆ เข้ามาทีละนิด เริ่มเกิดสินค้าและร้านรวงเยอะขึ้นเป็นดอกเห็ด อย่างเราจากที่เคยเป็นเกสต์เฮาส์แค่ที่เดียว ตอนนี้ก็มีอะไรหลายอย่างเต็มไปหมด” เจ้าถิ่นตลาดน้อยอย่างโอ๊ะเสริมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ด้วยลักษณะตรอกซอกซอยของตลาดน้อย ชวนให้คนออกเดินค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

ประสบการณ์ของร้านน้ำชาแตกต่างจากคาเฟ่อื่นๆ ที่มีกาแฟเป็นตัวชูโรง เป็นจุดเด่นของ Tea Canteen พร้อมทั้งสร้างความหลากหลายให้กับย่านพหุวัฒนธรรม

“คือผมไม่ได้มองว่าการเกิดขึ้นของร้านจะมาแทนที่ร้านอื่นๆ ในพื้นที่ เพราะเราต้องอยู่กันเป็นคอมมูนิตี้คราฟต์ มันเก๋อยู่คนเดียวไม่ได้ ผมว่าคราฟต์มันต้องมีคอมมูนิตี้ของมัน แล้วคอมมูนิตี้ก็ต้องแข็งแรงมากด้วย” 

บริเวณซอยวานิช 2 ที่เป็นที่ตั้งของร้าน ยังมีร้านรวงต่างๆ ใกล้เคียงอีกมาก โดยเฉพาะร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นบ้านไทง้วนเองกี่ ฮงเซียงกง บ้านริมน้ำ Mother Roaster และ Patina เรียกได้ว่า ถ้าได้มาแวะที่ตลาดน้อย จะต้องได้เที่ยวทั่วย่าน ถ้ามาเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนที่รักเครื่องดื่มคนละสายก็ไม่ต้องทะเลาะกันว่าจะเข้าร้านไหน เพราะที่นี่พวกเขาแวะฮอปปิ้งชิมได้ทั้งชาและกาแฟตลอดวัน

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

 Craft is Politics 

ก่อนมาทำร้านชากึ่งโชว์รูมในวันนี้ มีช่วงเวลาหนึ่งที่โอป่วยหนัก มีอาการตับอ่อนอักเสบ เนื่องจากการทำงานอย่างหนักหน่วงและการสังสรรค์ที่เต็มที่ไม่แพ้กัน ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ร่างกายจึงทรุดโทรมลง ถึงขั้นคุณหมอเดินมาบอกเขาว่าจะอยู่ได้อีกแค่ 3 เดือน ซ้ำร้ายจากที่เคยได้รับโอกาสมากมาย เขาก็โดนยกเลิกงานพร้อมๆ กันอยู่หลายงาน

“ไอ้ความฮอตเหล่านี้จะอยู่กับเราได้อีกเท่าไหร่ ดูดิ ผมป่วยแค่เเป๊บเดียว เขาก็ไม่รอเเล้ว Fame and Fortune อยู่กับเราไม่นานจริงๆ ตอนนั้นผมก็เลยรู้สึกว่า คุณค่าของเรามันมีอะไรมากกว่างานพวกนี้”

โอถือโอกาสนี้เหมารถตู้ออกเดินทางไปทั่วไทย เพื่อตามหาวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานจากชาวบ้านหลากหลายพื้นที่ 1 ปีกับการนั่งรถตู้ไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยนี้เอง โอได้ค้นพบว่าเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานคราฟต์ให้คนเห็นคุณค่า และกลายเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีพผู้ผลิตงานได้จริงๆ

“ผมเคยคุยกับป้าจุ๊ที่ทอเสื่อที่จันทบุรี ป้าแกเล่าให้ฟังว่า เด็กในจันทบุรีหลับตาทอเสื่อยังได้เลย เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอเขา พวกเขาเห็นปู่ย่าทํามาตั้งแต่เล็กๆ เเต่ทุกวันนี้ไม่ได้ทําเเล้ว ส่วนใหญ่ไปเข้าคิวสมัครทํางานในร้านสะดวกซื้อมากกว่า เพราะเขาจะได้เงินสามร้อยบาทต่อวันเเน่นอน เเต่ถ้าเขาเลือกทอเสื่อ เขาไม่รู้เลยว่ามันจะถูกซื้อตอนไหน”

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

นักออกแบบคนนี้จึงอยากชวนทุกคนมองไปถึงการกระจายรายได้ให้ไปถึงคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น การนำสินค้างานคราฟต์มาขาย จึงเป็นการทำให้ผู้ผลิตงานมองเห็นจุดหมาย ว่าพวกเขาจะได้รับอะไรกลับไปบ้าง โดยเฉพาะรายได้ที่พวกเขาจะสามารถนำไปเลี้ยงปากท้องตนเองและคนในครอบครัว

“รู้สึกว่าถ้าวันนี้ยังมีคนที่ยังไม่รู้ว่า ข้าวมื้อหน้ามันจะมาจากไหน ในขณะที่ในสังคมเดียวกัน ก็มีคนรวยล้นฟ้าที่มีข้าวให้เลือกกิน เรากำลังอยู่ในโลกแบบไหนกันแน่ เราเลยคิดว่า มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะทำให้วิถีชีวิตของตัวเองดีขึ้น รวมถึงของคนอื่นด้วย ไม่ได้พูดให้สวยนะ แต่คิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้าผมทําอย่างอื่นรวยกว่า เเต่ Legacy เป็นเรื่องสําคัญ คนเคยป่วยใกล้ตายก็ต้องคิดเเล้วเเหละ เพราะไม่รู้ว่าตอนไหนจะตาย” โอเล่าเบื้องหลังการทำร้านนี้อย่างจริงจัง

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

“ความเชื่อส่วนตัวคือ Craft is Politics วิถีชีวิตของคนขึ้นอยู่กับการเมืองอยู่เสมอ ถ้าการเมืองดี วิถีชีวิตเขาก็ดี พอวิถีชีวิตเขาดี เขาก็ผลิตงานที่ดีเเละตอบโจทย์ตลาดต่อไปได้”

คุณค่าของงานคราฟต์สำหรับโอในตอนนี้ คือการเลี้ยงชีพกลุ่มคนที่ผลิตงานได้ การขายแบบฝากขายที่ห้างสรรพสินค้า คือการขายที่อยู่ปลายน้ำไปแล้ว นอกจากมีราคาค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ผู้ผลิตงานบางคนไม่รู้ว่าทำงานแต่ละชิ้นเสร็จแล้วจะเอาไปขายที่ไหน ขายอย่างไร ศูนย์ส่งเสริมอาชีพหลายแห่งในแต่ละจังหวัดก็ไม่มีคลังสินค้า จึงยากที่จะเกิดภาพการซื้อ-ขายสินค้าขึ้น แต่สิ่งที่เขาทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย คือการไปถึงเเหล่งที่มา ออกแบบสินค้า และขายมันด้วยตัวของเขาเอง

“นี่คือต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่ง Citizen of Nowhere พยายามจะเชื่อมโยงกันทั้งหมด เราสนใจการสร้างอิมแพคต่อคน ทําไมคุณลุงคุณป้าต้องปลูกพริกไทยให้เสร็จก่อนถึงเดินมาที่กี่ทอใต้ถุนบ้าน ถ้าคุยไปเรื่อยๆ เราจะค้นพบว่ามันไม่มี Demand ไง ความต้องการของตลาดไปไม่ถึงเขา ทั้งที่งานคราฟต์น่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนในหมู่บ้านได้ ให้เขาวางแผนได้ว่าเรามาปลูกกระจูดกัน เเล้วเดี๋ยวออเดอร์ฝรั่งเศสส่งเดือนสามนะ อะไรอย่างนี้” 

บอมบ์งานคราฟต์

“ผมเคยคิดมาก่อนว่า หน้าที่ของผมคือการออกแบบของที่เก๋ที่สุดในโลก แล้วก็บังคับให้คนอื่นทำตาม ให้เหมือนแบบที่ผมคิดไว้ให้มากที่สุด เพราะเราเข้าใจตลาด เราเป็นดีไซเนอร์ เราเก๋ คุณเห็นมาน้อยกว่าผม แต่สิ่งที่ผมได้ค้นพบหลังจากนั้นคือ งานคราฟต์เป็นงานที่ต้องทำงานกับวัสดุ ทำกับคนที่คุยกับวัสดุเป็น คุยกับไม้ไผ่หรือหม่อนไหม ซึ่งเขาจะคุยกับพวกมันในแบบเราไม่มีทางที่จะคุยได้ เลยทำให้ผมรู้ว่าผมไม่ควรไปเปลี่ยนอะไรพวกเขา”

วิธีการสร้างสรรค์งานที่โอมักเลือกใช้ จึงเป็นวิธีการที่คล้ายกับกราฟฟิตี้กำแพง คือการให้ผู้ผลิตงานคราฟต์ที่ไม่รู้จะต่อยอดสินค้าอย่างไรส่งผลิตภัณฑ์ให้ แล้วเขาจะรับช่วงต่อโดยการ ‘บอมบ์’ งานนั้นใหม่ให้ถูกใจตลาด 

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

นอกจากนี้ ยังมีงานสนุกกวนๆ เช่น เสื้อลายเสือที่แขวนอยู่กับราวฝั่งตรงข้าม เขาเล่าว่าผ้าที่นำมาทำเสื้อตัวนี้ ตอนแรกไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เพราะเป็นผ้าปลายไม้ที่ลูกเล่นเยอะ วิบวับสะดุดตา แต่เมื่อได้ลองสัมผัสดูแล้วเนื้อผ้ากลับนุ่ม ตรงข้ามกับสิ่งที่จินตนาการไว้ สุดท้ายหวยเลยไปออกที่เสื้อทรงฮาวายสบายๆ แต่ดึงดูดสายตา จนอาจทำให้คนเดินสวนนึกว่าตัวเองเพิ่งเจอ พุ่มพวง ดวงจันทร์

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

“เราต้องทำยังไงให้โชว์รูมไม่เหงา ให้คนได้เข้ามาใช้เวลา สมมติว่าเขาเดินดูเสื้อเนี่ย ห้านาทีเขาก็ดูเสร็จแล้ว แต่ถ้าเกิดเขานั่งกินชา สายตาเขาอาจจะมองเสื้อสวยขึ้น หรือเก้าอี้ที่เขานั่งไม่สบายก็จะสบายขึ้น (หัวเราะ) เราอยากให้เขาใช้เวลาเต็มที่” 

การออกแบบชาของที่นี่ก็ใช้ไอเดีย ‘บอมบ์’ งานเหมือนกัน คือคัดเลือกชาที่ดีจากทั่วประเทศ มาใส่กลิ่นกับเท็กเจอร์ใหม่ในชา เพื่อเสิร์ฟรสชาติที่แตกต่างและสนุกถึง 13 กลิ่น (กลิ่น 14 คือทุเรียนอู่หลง ทีมงานลงความเห็นว่าอาจรุนแรงเกินไปหน่อย) 

ของที่น่าช้อปในร้านนี้มีอะไรบ้าง โอยกตัวอย่างมาดังนี้

5 สินค้าแนะนำจาก Citizen Tea Canteen of nowhere

01 ชาร้อน

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

สิ่งที่จะไม่แนะนำไม่ได้เลยคือ ‘ชา’ นั่นเอง (หรือใครอยากกินกาแฟก็มีโอเลี้ยงให้ได้ลิ้มลองในสไตล์โกปี๊)

ใบชาเป็นสิ่งที่ทางร้านใส่ใจไม่แพ้งานหัตถกรรม ทางร้านพยายามใช้ชาไทยทั้งหมด ยกเว้นชาซีลอน โดยได้ทีมผู้เชี่ยวชาญชามาช่วยค้นคว้าและคัดเลือกใบชากัน เริ่มจากดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ และไปจบที่เชียงราย ไปดูงานที่ไร่ของคุณชิง และ ‘ชาเฟ่’ ของไร่สุวิฬห์ ซึ่งบังเอิญว่า ติง-วัชรากร ชูชาติ ทีมาสเตอร์ของร้านทำงานร่วมกับไร่นี้อยู่พอดี จึงเกิดเป็นการเบลนด์ความพิถีพิถันและความสนุกเข้าด้วยกัน

ลิ้มลองชาร้อนเมนู Signature Blend อย่าง Duck Noodle ชาเบลนด์ที่ได้แรงบันดาลใจจากร้านเพื่อนบ้าน ‘ก๋วยเตี๋ยวเป็ดกรมเจ้าท่า’ ตัวชาซ่อนกลิ่นอายของพะโล้ ทั้งโป๊ยกั๊ก อบเชย และชะเอม เอาไว้ ซึ่งเมนูนี้เป็นเมนูลิมิเต็ดที่จะมีวางขายจนกระทั่งหมด แล้วจะมีชาใหม่มาวางขายแทนชาเบลนด์หมายเลขที่ 13 และยังมี Signature Blend ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งบัวลอยน้ำขิงและขนมปังกล้วย

ใครไม่สะดวกดื่มที่ร้าน จะซื้อใส่ห่อกลับไปชงที่บ้านหรือซื้อไปฝากก็ได้ รับประกันว่าหีบห่อสวยงาม

02 ชานม

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

ถัดจากชาร้อน ทางร้านอยากชวนมาทานชานมที่ต่างไปจากที่คุ้นเคยกัน มีรสเฝื่อนปนมากกว่าปกติ ไม่หวานแสบคอ เคล็ดลับคือใช้นมข้นสูตรพิเศษ ซึ่งโอ๊ะปรึกษาเพื่อนที่ทำโรงงานนมข้น และนำวัตถุดิบมาใช้ปรุงชานมให้กลมกล่อมแตกต่าง

ถ้ามากับเพื่อนฝูง แนะนำให้ลองชานม 4 สูตร เสิร์ฟในเครื่องพวงสีขาวพร้อมที่จับไม้แสนเก๋ ทั้ง 4 แก้วล้วนมีสี รสชาติ และความฟูของชาที่แตกต่างกันไป เริ่มจากชานมหมายเลข 1 เป็นชาที่คล้ายกับชานมทั่วไป ทานที่ง่ายสุดเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ ถัดมา หมายเลข 2 โอบอกว่าเมื่อได้ชิมแล้วจะให้ความรู้สึกเหมือนเจมส์ บอนด์ ในรูปแบบของชาไทย รสชาติค่อนข้างนุ่มลึก ถัดมาหมายเลย 3 เป็นชานมที่สีเข้มข้นที่สุดในบรรดาชาทั้งหมด มีรสวานิลลานำ และมีกลิ่นหอมกรุ่นค้างอยู่ตอนท้าย และชานมหมายเลข 4 มีรสหวานพร้อมกับความหอมของกล้วยออกมาที่ After Taste

03 เบาะรองนั่ง

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

เพราะโออยากให้ที่นี่เป็นโชว์รูมสำหรับจัดแสดงงานคราฟต์ สินค้าที่อยากแนะนำต่อไปจึงเป็นเบาะรองนั่งในตู้กระจก การเลือกดูสินค้าตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลากันนาน เบาะแต่ละชิ้นไม่เหมือนกันเลยสักแบบ เพราะนำวัตถุดิบจากชุมชนนี้บ้าง ชุมชนนั้นบ้าง มาประกอบกัน ชิ้นไหนหมดแล้วก็คือหมดเลย ลายที่ดึงดูดเราเป็นพิเศษน่าจะเป็นลายแมลงวันหัวเขียวสีจัดจ้าน

“ทำออนไลน์ยากมาก เพราะจะถ่ายรูปยังไง มันต้องถ่ายทุกอัน ไม่งั้นลูกค้าก็จะ อ้าว ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า เลยเป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องเปิดร้านชา เพราะว่าอยากให้คนมาเลือกสินค้าด้วยตัวเอง”

04 เสื้อผ้า OK Collection 

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

เสื้อผ้าและกระเป๋าภายในร้านมีให้เลือกซื้อตามสไตล์ของแต่ละคน ทั้งเสื้อผ้าลินินคอลเลกชัน ‘O.K.’ เสื้อฮาวายและกระเป๋ากระจูดที่ได้มาจากวัตถุดิบเสื่อกก ซึ่งมีให้เลือกทั้งกกจันทบุรีและกกอีสาน 

“อย่างคอลเลกชันนี้ เราเขียนไว้ว่า OK หมดเลย เพราะว่าเรารู้สึกว่าตอนนี้โลกมันไม่ค่อยโอเค ก็เลยตั้งชื่อว่า OK Collection เป็นตัวโอตัวเคอยู่บนอกซ้ายขวา ส่วนแรงบันดาลใจมาจากตามผนังวัดครับ เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลโจวซือกง ผมทำเพื่อที่จะบอกว่า ‘Hang be there, everything will be okay’ ก็คือทุกอย่างมันจะ OK”

05 เครื่องพวงและแก้วชา

จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย
จิบชากลิ่นเป็ดพะโล้ สนทนาในร้านชากึ่งโชว์รูมงานคราฟต์ย่านตลาดน้อย ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย

ด้วยแพ็คเกจจิ้งที่ดีไซน์มาสำหรับโลกใบใหม่ สินค้าทุกอย่าง Take Away ได้ ไอเทมสุดท้ายก็คือแก้วพิมพ์ลายกราฟิกที่เตะตาตั้งแต่เดินเข้าร้านมา เสิร์ฟอยู่ในเครื่องพวง 4 ช่องแบบร้านก๋วยเตี๋ยว 

“แก้วเนี่ย เราปรึกษาทีมว่าอยากปัดฝุ่นพวกเครื่องพวง สมัยก่อนมีแบบเหล็กๆ แล้วแก้วก็มีเบอร์โทร องค์ประกอบเหล่านั้นถูกมองว่าเชยไปแล้ว เราแค่เปลี่ยนรูปแบบใหม่ แต่ยังอยากได้เซนส์เหมือนเวลาไปร้าน ป.กุ้งเผา แล้วมีโลโก้กับเบอร์โทร ป.กุ้งเผา สิ่งเหล่านั้นก็พยายามคงไว้” 

ความใส่ใจในสินค้าแต่ละชิ้นของร้านรวมไปถึงการห่อด้วยหนังสือพิมพ์จีนที่อยู่ในละแวกนั้น เสริมกลิ่นอายความเป็นย่านถนนเจริญกรุง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ทางร้านอยากจะมอบประสบการณ์การกินชาและการชมสินค้างานคราฟต์ให้ไปไกลได้มากกว่าเดิม

Citizen Tea Canteen of nowhere

ที่ตั้ง : 764 ซอยวานิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ 10100 (แผนที่)

เปิดบริการ : ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 10.00 – 18.00 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 19.00 น.

Facebook : Citizen Tea Canteen of nowhere

Instagram : @citizenofnowhere_craft

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ