The Cloud x GC Symposium

การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหมุดหมายสำคัญของทุกภาคส่วนที่จะพาโลกใบนี้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลัง เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เพราะโลกธุรกิจจะขับเคลื่อนไปในแนวทางดังกล่าว การจับมือเพื่อรวมพลังกับพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่าของตนเอง คือคำตอบที่เป็นไปได้และเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการทำเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังด้วย

นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดงานด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่ ‘Circular Living Symposium 2022 : Together To Net Zero’ เมื่อวันที่ 25 – 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนบนความตระหนักรู้ของสังคมที่แพร่หลายมากขึ้น แล้วมาเป็นความร่วมมือที่สำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจทุกระดับเพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำไปข้างหน้าด้วยกัน

Circular Living Symposium 2022 อีเวนต์ความยั่งยืนแห่งปีของ GC จากภาค

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กรของ GC เล่าให้ The Cloud ฟังว่า ตอนนี้สังคมค่อนข้างรู้จักและเข้าใจสิ่งที่ GC ทำพอสมควรแล้ว ความคาดหวังนับจากนี้คือการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในทุกระดับ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างขึ้น เพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ทำได้จริงและไม่ไกลเกินเอื้อมของทุกคน

GC กับเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

“เป้าหมายของเรา คือเราจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 20 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050  ซึ่งต้องบอกว่าเยอะมากสำหรับอุตสาหกรรมอย่างเรา ถ้าเทียบกับคนที่ทำเคมีภัณฑ์ด้วยกันถือว่าท้าทายพอสมควร ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราวางแผนเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า เราจะพาองค์กรไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร มีการเตรียมงาน งบประมาณ และโครงการในแผนเอาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว”

ไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ GC ในฐานะผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ระดับโลก จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 GC มีขนาดสินทรัพย์มากเกือบ 8 แสนล้านบาท และรายได้กว่า 3.75 แสนล้านบาท เม็ดพลาสติกและสินค้าอื่น ๆ ของ GC คือจุดตั้งต้นสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมายที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา การประกาศเป้าหมายสู่สังคมคาร์บอนต่ำในธุรกิจนี้จึงถือว่าน่าจับตามาก

Circular Living Symposium 2022 อีเวนต์ความยั่งยืนแห่งปีของ GC จากภาค

“ธุรกิจของเราในปี 2050 จะเปลี่ยนไป เราลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยคาดว่าจะมีการใช้งบประมาณรวมจนถึงปี 2050 ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) เพื่อไปเก็บไว้ (Carbon Storage) และงบประมาณอีกส่วนหนึ่ง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 – 7 แสนล้านบาท จะใช้เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ เข้าสูงธุรกิจคาร์บอนต่ำในอีกอีก 20 กว่าปีข้างหน้า

“ตอนนี้เราเป็นธุรกิจปิโตรเคมี ทำตั้งแต่ธุรกิจเม็ดพลาสติกไปจนถึงเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแกดเจ็ต (Gadget) หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พอเรามาทำเรื่องธุรกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น ยกตัวอย่างที่เราไปลงทุนต่างประเทศเมื่อปีที่แล้วกับ บริษัท ออลเน็กซ์ (Allnex) ผู้นำระดับโลกด้านสารเคลือบผิว (Coating Resins) ซึ่งธุรกิจโค้ทติ้งนี้จะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลงเยอะ ด้วยเป็นสินค้าที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุนิดเดียว แต่สามารถใช้เคลือบรถยนต์ อากาศยาน หรือกังหันลม ยืดอายุการใช้งานของพวกนี้ได้หลายเท่าตัว ถ้าคำนวณจากอายุการใช้งานก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ รายได้เราอาจจะเท่าเดิม แต่ของที่ผลิตจะปล่อยคาร์บอนน้อยลง เราก็จะปรับธุรกิจของเราไปสู่สัดส่วนธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนแบบนี้มากขึ้น จนถึงวันหนึ่งเราจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่เป็นต้นทางมากแล้ว จะไปลงทุนในธุรกิจที่เป็นปลายทางมากขึ้น”

เริ่มต้นจากภายในสู่การเปลี่ยนแปลงของภายนอก

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดีคือการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น ดร.ชญาน์ เล่าว่า องค์กรขนาดใหญ่ของเขาก็ต้องการสร้างวิถีทางธุรกิจใหม่ที่ยั่งยืน ดังนั้น การกำหนดต้นทุนของการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำบนพื้นฐานที่จับต้องได้ของกระบวนการทางการเงิน

Circular Living Symposium 2022 อีเวนต์ความยั่งยืนแห่งปีของ GC จากภาค

“อย่างแรกคือเราปรับวิธีคิดของทุกคนในองค์กร ไม่ใช่แค่การสั่งการจากผู้บริหารลงมา แต่ต้องไปบูรณาการกับหน้างานที่เกี่ยวกับธุรกิจของ GC ด้วย แต่ละคนมีโอกาสลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เหมือนกัน บางคนทำได้ง่าย บางคนทำได้ยาก ของบริษัทเรา เราใช้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร หรือ Internal Carbon Pricing ซึ่งเป็นการกำหนดมูลค่าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในหน่วยของมูลค่าทางการเงินต่อหน่วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกลไกแรกเรียกว่า Shadow Price เป็นการให้มูลค่าก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ และตัดสินใจในการลงทุนในอนาคต โดยโครงการที่ลดก๊าซเรือนกระจก จะได้รับการสนับสนุนด้วยการลดต้นทุนการดำเนินการจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ส่วนโครงการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ก็จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“และอีกหนึ่งกลไกหนึ่งคือ Carbon Fee เป็นการจำลองการจ่ายภาษีก๊าซเรือนกระจกในองค์กร โดยเบื้องต้นเราจะทำในรูปแบบของ Shadow Accounting ซึ่งธุรกิจไหนที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ ๆ ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มเหมือนจ่ายภาษีแต่เป็นภายในของเราเอง เราจะเอาเงินมาไว้เป็นกองทุนกลาง ใครมีโครงการดี ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานหรือลดคาร์บอน หรือจะลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ก็ดึงจากกองทุนตรงกลางนี้ไปช่วยได้ คนที่ปล่อยเยอะก็ต้องปรับตัวเองให้ปล่อยน้อยลง คนที่อยากทำธุรกิจใหม่ ๆ ก็จะมีเงินทุนจากส่วนนี้มากขึ้น การทำแบบนี้จะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านธุรกิจของเราจนเป็นไปตามแผนในท้ายที่สุด”

เทคโนโลยีคือคำตอบ

นอกจากกระบวนการทางทางเงินแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้ GC บรรลุเป้าหมายใหญ่นี้ได้ คือการใช้เทคโนโลยีพิเศษซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) รวมทั้งพลังงานทดแทนคือคำตอบที่องค์กรแห่งนี้มองเอาไว้

“ตอนทำแผน เราพิจารณาต้นทุนของแต่ละเทคโนโลยีมาเทียบกันหมด ด้วยบริบทของเมืองไทย ผมคิดว่าการดักจับคาร์บอนตอนนี้ยังมีต้นทุนที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่นการกักเก็บคาร์บอนให้ได้ 1 ตัน อาจต้องใช้เงินถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าไปปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า ต้นทุนก็อาจใกล้เคียงกัน ใช้เงินพอกัน แต่ข้อเสียคือ เราไม่มีพื้นที่ที่จะปลูกเยอะนัก ซึ่งเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนนี้มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ คืออย่างเมืองไทย การปลูกต้นไม้ให้เยอะที่สุดเป็นเรื่องดีที่ต้องทำ แต่ยังไงก็ไม่พอครับ เราควรต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้บริหาร GC กับภารกิจ Net Zero และแนวคิดเปลี่ยนบ่อก๊าซกลางทะเลให้เป็นหลุมเก็บคาร์บอน

“ที่บอกว่าเหมาะกับบริบทของเมืองไทย เพราะว่าอุตสาหกรรมหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเรากระจุกตัวอยู่แถวภาคตะวันออก มีทั้งโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี ถ้าเราร่วมมือกันจะทำได้ง่ายกว่าประเทศอื่น เหตุผลที่สองคือ เรามีหลุมตรงอ่าวไทยที่ใช้สำหรับขุดก๊าซธรรมชาติ เป็นกระเปาะเล็ก ๆ ไม่ได้เหมือนหลุมใหญ่ในตะวันออกกลางแบบนั้น เวลาเราขุดก็จะมีหลุมที่ว่างเยอะมาก เพราะขนาดเล็ก ไม่นานก็หมด พวกนี้เปลี่ยนไปเป็นที่กักเก็บคาร์บอนได้ แล้วท่อส่งผ่านท่อก๊าซที่เรามีในการบีบอัดคาร์บอนกลับไปที่หลุม ผมมองว่าเมืองไทยได้เปรียบตรงนี้ และศักยภาพของอ่าวไทยก็น่าจะกักได้พอสมควร”

การใช้พลังงานทดแทนถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ บทโจทย์ที่ท้าทายด้านความมั่นคงด้านพลังงาน วันนี้พลังงานจากไฮโดรเจนอาจยังเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากยังใช้ไม่แพร่หลายและต้นทุนสูง แต่ GC ก็ยังเห็นศักยภาพของมันและรอจังหวะที่ดีในการลงทุนต่อไป

“ตอนนี้ราคาในการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจนยังแพงอยู่ แต่มันดีกับวันข้างหน้า การผลิตพลังงานไฮโดรเจน คือการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดมาผ่านกระบวนการแยกน้ำ ออกมาเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ซึ่งถ้าใช้ไฟฟ้าปกติจากโรงไฟฟ้า เอามาผ่านกระบวนการแยกน้ำอย่างที่ว่ามันก็ไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้น ควรใช้พลังงานสะอาดจากแหล่งอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ อย่างไรก็ตาม หากต้องการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจน ราคาของเทคโนโลยีต้องถูกลงก่อน เพราะต้นทุนเรื่องนี้ยังสูงกว่าการดักจับคาร์บอน GC เลยเน้นไปทางนี้เยอะหน่อย แต่ถ้าในอนาคตพลังงานไฮโดรเจนถูกกว่า เราก็จะเปลี่ยนไปให้น้ำหนักมากขึ้น ก็ต้องดูความเป็นไปได้ด้วย”

จากภาพใหญ่ที่ทาง GC ปูทางเอาไว้สู่เป้าหมายที่สำคัญ The Cloud ก็ชวน ดร.ชญาน์ คุยต่อเรื่องความคาดหวังและผลตอบรับจากงาน Circular Living Symposium 2022 : Together To Net Zero กันต่อ

Symposium แห่งความร่วมมือที่ยั่งยืน

“เราอยากทำงานของเราให้จับต้องได้สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรม คนทั่วไปก็เข้ามาดูได้ว่ามันมีตัวอย่างให้เห็น อย่างนี้ก็ทำได้นี่นา ทุกคนสามารถร่วมกันทำได้เหมือน ๆ กัน มันคือพื้นที่แบ่งปันที่ให้ทั้งคนรุ่นใหม่ อินฟลูเอนเซอร์ นักวิชาการ มาแลกเปลี่ยนไอเดียของแต่ละคน แล้วออกมาเป็นโซลูชันที่คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ จุดต่างที่สำคัญของงานคือความมีส่วนร่วมและมีไอเดีย แต่ละคนจะมาชวนกันดูและชวนกันคิดว่าจะทำตรงไหนได้บ้าง จบงานนี้แล้วอยากให้คนได้กลับไปคิดต่อครับ”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้บริหาร GC กับภารกิจ Net Zero และแนวคิดเปลี่ยนบ่อก๊าซกลางทะเลให้เป็นหลุมเก็บคาร์บอน

ผู้บริหารของ GC เล่าว่า การจัดงาน 2 ครั้งแรกนั้นผลตอบรับค่อนข้างดี คนที่มาร่วมงานมีความเข้าใจมากขึ้น และเกิดแพลตฟอร์มความร่วมมือที่ทำขึ้นหลังการจัดงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับการจัดงานในปีนี้ GC เชื่อว่าสังคมเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนพอสมควรแล้ว จากนี้คือการเปิดพื้นที่ให้แต่ละภาคส่วนมาร่วมมือกัน เพื่อขยายผลสู่การเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

อีกความท้าทายที่สำคัญ คือการพัฒนาสินค้าจากกระบวนการ Upcycling ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะและวัสดุเหลือใช้ ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการสร้างความเข้าใจทั้งระดับประชาชนและภาคธุรกิจในการสนับสนุนเรื่องนี้

“เราเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในวันนี้กับโรงงานรีไซเคิลของเรา กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิลเป็นทางเลือกให้เอาวัสดุไปทำต่อได้หลายอย่างมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เช่น ลูกค้าอยากเอาวัสดุไปทำสินค้าบางประเภท แต่ติดขัดเรื่องกฎเกณฑ์ของหน่วยงานที่กำกับดูแล เราก็ต้องไปช่วยผลักดันกับลูกค้า เพราะหลายเทคโนโลยีที่ทำมีการรับรองจากทั้งหน่วยงานสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปอยู่แล้ว แต่ยังไม่ผ่านมาตรฐานในบ้านเราเพราะเรื่องนี้ยังใหม่ คิดว่าอีกไม่นานน่าจะได้เห็นมากขึ้น ถ้าผลักดันสำเร็จ เราก็จะใช้วัสดุในประเทศได้มากขึ้น ลดการนำเข้าลง

“เรื่องการบริหารจัดการขยะ เราจะเลือกทำแต่พลาสติกไม่ได้ เราทำกับทุกอย่าง ทั้งอะลูมิเนียม แก้ว หรือขยะเปียก ต้องทำให้ครบ เรามีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญมาที่งานของเราเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ด้วยนะ คือผมว่าทุกคนต้องมานั่งคุยกันอย่าง GC เก่งเรื่องพลาสติก แต่ที่อื่นอาจเก่งเรื่องการทำกระป๋อง เขาก็มาถามเรา เราก็แลกเปลี่ยนกับเขา ก็จะสร้างระบบที่ครอบคลุมได้มากขึ้น ทั้งขยะจากครัวเรือนหรืออุตสาหกรรม คนทั่วไปก็เอาระบบไปใช้งานได้โดยที่ไม่ยุ่งยากมากนัก”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้บริหาร GC กับภารกิจ Net Zero และแนวคิดเปลี่ยนบ่อก๊าซกลางทะเลให้เป็นหลุมเก็บคาร์บอน

กระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ไม่รู้จบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาสินค้าในกระบวนการทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ดร.ชญาน์ มองว่าวัสดุรีไซเคิลที่มีสิ่งปนเปื้อนน้อย แม้แทบจะเหมือนกับวัสดุใหม่แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องอาศัยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ต่างออกไปตามความเหมาะสม ข้อจำกัดที่สำคัญคือกระบวนการแยกขยะและสารปนเปื้อนที่ต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้สินค้าสิ่งทอ Upcycling เป็นที่รู้จักพอสมควรแล้ว GC จึงมุ่งต่อยอดไปสู่สินค้าประเภทอื่นอย่างวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเริ่มมาสักพักและเติบโตค่อนข้างดีต่อไป

“นอกจากนี้เรายังมีเส้นใยรีไวฟ์ (Revife) ซึ่งทำมาจากขวด PET โดยปกติวัสดุพวกนี้พอเอามารีไซเคิลหลายครั้ง อาจนึกภาพเส้นก๋วยเตี๋ยวนะครับ พอเอาไปรีไซเคิลจะตัดสั้นลง ๆ เอามาทำใหม่คุณสมบัติจะลดลงด้วย เทคโนโลยีรีไวฟ์คือการเอาวัสดุที่ถูกตัดเอาไปต่อกันใหม่ คุณสมบัติก็ยังดีเหมือนเดิมไม่ต่างจากของใหม่ กลายเป็นอีโคไฟเบอร์ที่คุณภาพอาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ นำไปออกแบบเป็นสินค้าที่หลากหลาย ใครที่สวมเสื้อของ GC เมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว รุ่นนั้นต้องผสมใส่ฝ้ายเข้าไป ตอนนี้ไม่ต้อง จะเห็นว่าเป็นโพลีเอสเตอร์ปกติเลยเพราะมันเป็นเส้นใยยาวแล้ว”

มูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นได้เสมอ สำหรับทุกธุรกิจที่ยังเชื่อและเห็นคุณค่าของกระบวนการเหล่านี้

ความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่า

ผลตอบรับของงานประชุมครั้งใหญ่นี้เป็นไปด้วยดี พร้อมกับความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีอย่าง GC ต้องการชวนคนในสังคมมามีส่วนร่วมกันมากขึ้น ซึ่ง ดร.ชญาน์ หวังว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญที่ทุกคนจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่ GC ตั้งใจ

“Symposium นี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งแรกส่วนใหญ่คนที่เชิญเป็นคู่ค้า ลูกค้าของเรา มีผู้ที่กำหนดนโยบายมาร่วมงานด้วย ตอนแรกเราให้ความรู้ ทำให้ทุกคนตระหนักว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องสำคัญ ตอนแรกคนยังเข้าใจเรื่องนี้ไม่เยอะมาก พอต่อมาภาครัฐผลักดัน BCG Model ก็สะท้อนว่าเขาเข้าใจและเห็นประโยชน์ของเรื่องนี้

“ปีที่ 2 เราเชิญคนจากต่างประเทศและองค์กรระดับโลกมาแชร์ประสบการณ์มากขึ้น เหมือนมาแลกเปลี่ยนไอเดียและเล่ากระบวนการธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับครั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เราเชิญมาไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่ค้าและลูกค้า เราจัด 2 วันเพราะอยากให้ประชาชนเข้ามาเห็นด้วย คนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้อย่างอาหารหรือธุรกิจอื่นก็มาร่วมงานได้ เราอยากขยายผลข้ามไปอุตสาหกรรมอื่นให้มากขึ้น ทำให้เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย อยากขยายผลไปมากกว่านี้ และเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจมากขึ้นไปอีก รวมถึงเกิดความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย”

สิ่งที่ผู้บริหาร GC ภูมิใจ คือการจัดงานที่ผ่านมาเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาไม่น้อยจากสิ่งที่พูดคุยในงาน ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กก้าวต่อไปได้ด้วยโซลูชันของตัวเองบนวิธีคิดด้านความยั่งยืน เชื่อว่าจะมีเสียงสะท้อนที่ดังมากขึ้นสำหรับ Symposium ในครั้งถัดไปของ GC ที่แน่วแน่ในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นให้ได้

“ธุรกิจเคมีภัณฑ์คงยังเป็นสิ่งที่เราทำนะ ถึงจะเป็นปี 2050 ก็ตาม แต่เราจะเป็นธุรกิจที่ไปถึงผู้บริโภคและองค์กรมากขึ้น นั่นคือไปถึงอุตสาหกรรมปลายทางเยอะขึ้น ธุรกิจต้นทางที่เป็นโรงกลั่นและอื่น ๆ ก็อาจจะลดลงโดยสัดส่วน เราจะเป็นเหมือนบริษัทวัตถุดิบที่เข้าใกล้คนทั่วไปมากขึ้นกว่านี้”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้บริหาร GC กับภารกิจ Net Zero และแนวคิดเปลี่ยนบ่อก๊าซกลางทะเลให้เป็นหลุมเก็บคาร์บอน

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ