The Cloud x MILO

เราต่างรู้จัก ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ในฐานะของผู้หญิงเก่งที่มีหน้าที่การงานและบทบาทอันหลากหลาย 

เมื่อไล่เรียงหน้าที่การงานในปัจจุบัน เธอเป็นทั้งนางแบบ นักแสดง พิธีกร นักเคลื่อนไหวที่ทำงานด้านสิทธิสตรี นักธุรกิจ และล่าสุดคือการเป็นนักเขียนหนังสือเด็กที่พูดถึงสิทธิในร่างกายของตัวเอง ที่สอนให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องร่างกาย เคารพตัวเอง และยอมรับในตัวตนของผู้อื่น ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

เธอทำงานทุกอย่างที่ว่ามาควบคู่กับงานอันยิ่งใหญ่ คือการเป็นคุณแม่ของลูกสาวและลูกชายวัยน่ารัก ซึ่งเธอบอกว่า งานนี้มีความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอ

ด้วยความเชื่อในพลังแห่งความรัก ความเอาใจใส่ และการเลี้ยงดูลูกที่ให้อิสระในการตัดสินใจ และมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญ แม้งานเลี้ยงลูกจะเป็นงานยากและโหดหินแค่ไหน เราก็รับรู้ได้ถึงความสนุกและความสุขที่สุดในชีวิตของ ‘ซูเปอร์มัม’ คนนี้

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

หน้าที่คุณแม่คือที่หนึ่ง

“ตอนนี้ซินดี้มีงานในวงการบันเทิงคือถ่ายละครอยู่สองเรื่อง แล้วก็กำลังรอผลงานภาพยนตร์ต่างประเทศของเน็ตฟลิกซ์อินเตอร์ที่ถ่ายทำไปแล้วออกอากาศ ส่วนงานพิธีกรทุกอย่างหยุดชะงัก เลยผันตัวมาสอนออนไลน์คอร์สการเป็นนางแบบ งานด้านสิทธิสตรีในแคมเปญ Don’t tell me how to dress ก็ยังทำอย่างต่อเนื่องและกำลังจะมีนิทรรศการแบบดิจิทัลให้ชมกัน และล่าสุดซินดี้เพิ่งเขียนหนังสือเด็กที่เป็นการ์ตูนพูดถึงสิทธิในร่างกายของตัวเอง เพื่อให้เด็กเข้าใจการเคารพตัวเองและผู้อื่น

“ส่วนหน้าที่หลักที่สำคัญที่สุด และมาอันดับหนึ่งเสมอ คือบทบาทความเป็นคุณแม่ลูกสองนี่เอง” ซินดี้ สิรินยา ยิ้มกว้างเมื่อตอบคำถามแรกเกี่ยวกับหน้าที่การงานปัจจุบันของเธอจบลง

ได้ฟังดังนี้ ใครก็คงยกให้เธอเป็นซูเปอร์มัมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้จะมีภารกิจการงานรอบด้าน แต่เธอสามารถบริหารเวลาเพื่อทำหน้าที่คุณแม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

“ซินดี้เป็นคนที่ค่อนข้างเป๊ะในการบริหารเวลาอยู่แล้ว” เธอว่า หลังจากได้ยินคำชื่นชม “โชคดีที่พี่ไบรอน (ไบรอน บิชอพ) ก็ทำงานด้วยกัน เราทั้งคู่ช่วยกันดูแลลูกได้ แต่ละเดือนมีการวางแผนล่วงหน้าว่า ซินดี้ติดงานตรงนี้ คุณพ่อช่วยมาเติมเต็มได้ไหม เราทำงานกันเป็นทีม”

เลี้ยงลูกด้วยเหตุผล

ที่ผ่านมาเราได้เห็นภาพครอบครัวอันอบอุ่นของเธอเสมอ และที่เห็นเด่นชัดคือลูกๆ ทั้งสองของเธอ นั่นคือ น้องเลล่า (เลล่า คาเมน บิชอพ) ลูกสาวคนโตวัย11 ปี และ น้องเอเดน (เอเดน วิลเลี่ยม บิชอพ) ลูกชายคนเล็กวัย 8 ปีต่างมีความน่ารักสดใส มีพัฒนาการเติบโตตามวัยอย่างสมบูรณ์ เมื่ออยู่ในวัยนี้ ลูกๆ เริ่มทำกิจกรรมร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างสนุกสนาน 

“ครอบครัวเราเน้นกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข ตอนนี้ลูกๆ ก็เข้าสู่วัยที่ทำกิจกรรมด้วยกันได้ เวลาไปเที่ยวก็เล่นกีฬาด้วยกัน เริ่มขับโกคาร์ท เซิร์ฟฟิ่ง ทุกคนเอนจอยกันได้”

เมื่อถามว่าสไตล์การเลี้ยงลูกของเธอเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้คือ การเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล

“ครอบครัวเราเชื่อมั่นในการพูดคุยและรับฟังกันด้วยเหตุผล” เธอเริ่มอธิบาย “ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องที่เราห้าม แต่ไม่ได้ห้ามเพราะแม่บอกว่าต้องเป็นแบบนั้น มันไม่เข้าหู เป็นเราก็ไม่ฟัง ถ้าเป็นการห้ามต้องมีหลักการหรือเหตุผลว่า ทำไมแม่ถึงห้าม ถ้าหนูทำไปแล้วจะเป็นอย่างนี้นะ แล้วหนูจะทำอยู่หรือเปล่า บางทีก็ต้องมีการลองผิดลองถูกบ้าง ถ้าไม่ฟังก็ทำไป เจ็บตัวแล้วค่อยมาคุยกัน”

เธอบอกว่า การเลี้ยงลูกแบบเธอนั้นไม่มีสูตรตายตัว และไม่อาจกำหนดทุกอย่างเป็นหลักการที่แน่นอนได้

“บางกรณีก็ต้องมียืดหยุ่นบ้าง เช่น บางอย่างเราคิดว่าอาจจะยังไม่ใช่เวลา แต่ถ้าหนูอยากลองทำจริงๆ ก็อธิบายมาว่าทำไม หรือหนูคิดว่าพร้อมยังไง ถ้าเราฟังแล้วโอเคมีเหตุผล ก็ลองทำดู”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

ปูพื้นฐานชีวิตด้วยการให้อิสระในการตัดสินใจ

ซินดี้เล่าว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ลูกทั้งสองได้ลองทำ ล้วนมาจากความชอบและการตัดสินใจเลือกของลูกๆ เอง

“ซินดี้เลี้ยงลูกโดยให้ความสำคัญอยู่สามสิ่งหลักเหมือนกับที่เราดูแลตัวเอง นั่นคือ Mind-Body-Soul ชีวิตเขาต้องเติมเต็มทั้งการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง การออกกำลังกาย และการทำสิ่งที่มีความสุข ดังนั้นถ้าลูกอยากทำหรือเล่นอะไรก็ให้เขาได้เลือกตามความชอบของเขาเอง

“เลล่าชอบเต้น เขาก็เรียนเต้นบัลเลต์มาตั้งแต่สามขวบ และเต้นมาตลอดควบคู่ไปกับการว่ายน้ำ เลล่าเป็นคนที่ไม่ชอบกีฬาที่ต้องไปปะทะกับคนอื่น เขาก็จะไม่ค่อยชอบทีมสปอร์ต แต่ล่าสุดเพิ่งจะมาขอเล่นฟุตบอล เราก็โอเค หนูเลือกมาเพราะอยากลอง ก็ให้เขาได้ลองทำดู” คุณแม่ยิ้มปลื้มใจ แม้จะแอบกระซิบว่าอยากให้ลูกสาวเล่นบาสเก็ตบอลก็ตาม

“ส่วนเอเดนเป็นสายลุย ชอบเทควันโดและปากัวร์ (Parkour) เราเห็นว่าเขาชอบและทำได้ ก็ส่งเสริมเต็มที่ ตอนนี้ปากัวร์ก็กำลังจะเรียนคลาสต่อยอดสูงขึ้นไปเป็นแบบที่วิ่งและตีลังกาลงมา เราส่งเสริมให้เรียนตั้งแต่พื้นฐานเพื่อให้มีทักษะ เพราะความปลอดภัยต้องมาก่อน”

แต่ก็มีบางครั้งที่ลูกขอลองทำสิ่งที่เขาสนใจ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ เธอก็ไม่ได้บังคับให้ทำต่อไป เพียงแต่สอนให้มีความรับผิดชอบในการเลือกของตัวเอง

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

“ถึงเราสนับสนุนให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่เด็กจะมีความชอบที่หลากหลาย บางอย่างที่เขาเลือกอาจไม่ใช่สิ่งที่เขามีความสุขที่จะทำตลอดไป เราก็มาคุยกันได้

“มีช่วงหนึ่งลูกมาขอเรียนไวโอลิน คุณแม่ก็ลงทุนซื้อทุกอย่างให้ แต่พอเรียนไปสักพักเขารู้สึกว่าไม่ใช่ เราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยเขาก็ได้ลอง ดีกว่าไม่สนใจอะไรเลย แต่ก็ขอให้เขาเรียนคอร์สนั้นให้จบก่อน เพราะเขาต้องเห็นคุณค่าของเงินด้วย ไม่ใช่ไม่เอาแล้วก็เลิกเลย เขาต้องอดทนจนถึงที่สุด แล้วพักก่อนก็ได้ เดี๋ยวเราค่อยกลับมากันใหม่ว่าหนูยังชอบไหม”

ในความคิดของเธอนั้น การสนับสนุนให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกสิ่งต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการได้มีโอกาสตัดสินใจจะส่งผลต่อการเติบโตไปตามวัยของพวกเขา

“ซินดี้ให้ความสำคัญในการให้เกียรติเขา ความเป็นตัวตนของเขา ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้วสั่งให้เขาทำตามอย่างเดียว เพราะเท่ากับจะไปสร้าง Mindset ว่าเรามีอำนาจเหนือกว่า สักวันที่เขาอยากตัดสินใจเลือกอะไร เขาจะไม่มี Tools หรือไม่มีการซ้อมในการตัดสินใจมาก่อน”

“และเมื่อเราให้ลูกได้ลองตัดสินใจ เขาก็จะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เขาจะเข้าใจกระบวนการคิดของการเลือกอะไรบางอย่าง ว่าต้องมีพื้นฐานอะไรเพื่อจะเลือกสิ่งนั้น และเมื่อเลือกแล้วเขาต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาเลือกด้วย โตมาเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักเลือก”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

จุดกึ่งกลางของความสบายใจ

แน่นอนว่า หลายครั้งที่ความต้องการของลูกๆ อาจไม่ตรงกับสิ่งที่เธอคิดนัก ในฐานะคุณแม่เธอก็ต้องหาจุดตรงกลางที่ทุกคนต่างสบายใจ

“เด็กๆ ชอบกินของหวาน ซึ่งบ้านเราค่อนข้างเคร่งมาก เพราะคุณพ่อไม่กินน้ำตาลมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซินดี้ก็พลอยไม่กินตามไปด้วย ในบ้านจึงไม่ค่อยมีขนมหวานหรือน้ำอัดลม ของหวานที่บ้านจะเป็นผลไม้อบแห้งหรือผลไม้สดมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ห้ามลูกว่าไม่ให้กินอย่างอื่นเลยนะ ตอนนี้ก็มีอาหารและเครื่องดื่มสำหรับคนที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งลดปริมาณน้ำตาลลงแต่รสชาติยังดีอยู่ เด็กๆ ก็จะได้ทานของอร่อย แล้วก็ยังได้รับคุณค่าสารอาหารที่มีประโยชน์ด้วย”

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางเรื่อง คุณแม่ก็จำเป็นต้องกำหนดขอบเขตมาให้ แล้วให้ลูกๆ ตัดสินใจเลือกได้ในขอบเขตนั้น

“ยกตัวอย่างเรื่องอาหารการกิน ก่อนหน้านี้เด็กๆ ชอบกินบรอกโคลีแต่ช่วงนี้กลับไม่กินเลย ก็ไม่ใช่ว่าแม่จะหงุดหงิดอารมณ์เสีย ต้องบังคับให้เขากินให้ได้ เรามองว่าผักใบเขียวก็มีอีกตั้งเยอะ เลยบอกเขาว่า แม่ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมอยู่ๆ หนูก็ไม่ชอบบรอกโคลี แต่ก็มีผักใบเขียวอีกห้าอย่างนะ ลองดูว่ามีอันไหนที่หนูกินแทนได้ ลูกก็เลือกมา เราก็ให้กินผักที่อยากกินแทนได้ ไม่ใช่ว่าบังคับให้กินบรอกโคลีอย่างเดียวเท่านั้น

“ซินดี้คิดว่า บางเรื่องผู้ปกครองก็ควรยืดหยุ่นบ้าง อย่างน้อยเลือกหมวดมาให้ แล้วก็ให้เขาเลือกได้ในหมวดนั้น” เธอว่า

“แต่การเลี้ยงลูกแบบนี้ก็ใช้พลังเยอะกว่าการบังคับนะ” เธอแอบกระซิบให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะ

เปิดใจและยอมรับ

เด็กยุคใหม่เติบโตมากับเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์ คุณแม่อาจเป็นกังวลเรื่องไลฟ์สไตล์ที่ผู้ใหญ่อาจจะตามไม่ทัน เธอเองก็พบกับความท้าทายนี้เช่นกัน เพราะช่วงที่ผ่านมา ลูกๆ มีขอเล่นแอปพลิเคชันต่างๆ ในมือถือบ้าง ในตอนแรก เธอไม่เข้าใจว่าทำไมบางแอปฯ ถึงต้องเล่นแบบนั้น แต่พอลองเปิดใจ ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก ก็พบข้อดีที่ไม่เคยรู้มาก่อน 

“เราได้รู้ว่าการเล่นอะไรเหล่านี้ ก็มีมุมที่สร้างสรรค์อยู่นะ แล้วก็คุยกับลูกว่ามันมีดีหลายอย่าง แต่ก็มีสิ่งที่หม่ามี้ไม่โอเคเหมือนกัน เราก็จะคอยแนะนำเขาไป ทุกวันนี้เวลาเขาเล่นก็จะมาถามก่อนทุกครั้งว่า แบบนี้โอเคมั้ย ทำได้มั้ย เราก็จะช่วยดูว่าอะไรที่เกินวัยเยอะไป ก็บอกเขาว่า อันนี้ไม่นะลูก เขาก็จะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร 

“สิ่งที่ซินดี้ห่วงคือ อย่างเลล่าหรือเด็กผู้หญิงเขาอาจยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำคืออะไร แต่คนอื่นที่มองมาไม่ได้คิดแบบนั้น เราค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องนี้ แอคเคาต์ของเลล่าก็ตั้งเป็นส่วนตัว ต้องรู้เลยว่าเพื่อนคนไหนเข้ามาเป็นเฟรนด์”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

เธอเล่าว่า ช่วงเวลาที่ COVID-19 ระบาด การเล่นโซเชียลมีเดียด้วยกันได้กลายเป็นส่วนหนี่งของกิจกรรมครอบครัวที่สร้างความสุขความสนุกสนาน ซึ่งถ้าทำอะไรแล้วได้หัวเราะด้วยกัน แล้วคนอื่นได้มีรอยยิ้มออกมาบ้างในช่วงเครียดๆ นั้นก็เป็นเรื่องที่ดี

“นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างด้วยว่า ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่ตัดสินเลยว่าไม่ดีนะ เพราะถ้าเราศึกษาดีๆ ก็อาจหาทางควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่เราอนุมัติได้ หรือมีกฎกติกาที่เป็นการตัดสินใจร่วมกัน ที่สำคัญคือ พ่อแม่ยังเป็นเพื่อนของลูกด้วย ดีกว่ามาสั่งๆๆ เดี๋ยวนี้เด็กหัวไว เขามีแหล่งข้อมูลของเขา ถ้าเราไม่ต่อสู้กับแหล่งข้อมูลนี้ แต่เรารับฟังเสมอว่า หนูไปเจออะไร หนูอยากทำอะไรยังไง มาคุยกัน มันน่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีกว่า”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

สังเกต ใส่ใจ และเข้าใจ

จากที่ได้ฟังการเลี้ยงลูกมาพอสมควรจนเริ่มเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกช่างเป็นงานที่ละเอียดอ่อน เราจึงถามเธอขึ้นว่า การเลี้ยงลูกในยุคนี้มีความซับซ้อนมากมายแค่ไหน

“ซินดี้คิดว่าคุณแม่ทุกสมัยมีความซับซ้อน เพราะโลกมันเปลี่ยนไป แต่เราเองก็มีเครื่องมือมีความรู้ที่รับมือได้ ซินดี้มองว่าถ้าเราลองมองโลกจากมุมมองของลูก สังเกต และใส่ใจเขาอีกนิดก็จะเข้าใจ และหาวิธีพูดคุยกับเขาได้”

พร้อมกันนี้เธอก็เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงปิดเทอม ที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกจนต้องมาจับเข่าคุยกัน

“ช่วงปิดเทอม เอเดนเล่นเกมเยอะ จากเดิมที่เรามีกติกาว่าวันจันทร์ถึงศุกร์ไม่ให้เล่นเลย เพราะไม่มีเวลา เรียนแล้วก็กลับบ้านมาก็หมดเวลาแล้ว แต่พอปิดเทอมให้เขาเล่นเยอะ เรารู้สึกว่าเขาเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว เริ่มอารมณ์เสีย ซินดี้ก็คุยกับเขาเลยว่า หม่ามี้เริ่มรู้สึกว่า หนูไม่ได้เป็นเอเดนที่น่ารักของหม่ามี้แล้วนะ หนูรู้สึกไหม เขาคิดสักพักแล้วก็บอกว่า ใช่ เราก็คุยต่อว่า หม่ามี้พยายามคิดเหมือนกันนะว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็คิดได้อย่างเดียวว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนคือ หนูเล่นเกม เราควรทำยังไงดี เขาก็เงียบ เราก็เสนอขึ้นว่า งั้นเราลิมิตหน่อยไหม แล้วดูว่ามันช่วยให้ดีขึ้นสักนิดไหม

“เราใช้วิธีการคุยทำความเข้าใจกัน แทนที่จะบอกว่า ไม่ให้เล่นนะ ก็เปลี่ยนมาเป็นอธิบายว่า หนูเปลี่ยนไปจริงๆ นะ เราลองมาลดตรงนี้ดูไหม ว่ามันช่วยไหม” เธอเล่าแล้วกระซิบอีกครั้งว่า “แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า มันต้องใช้พลังเยอะ”

เติมพลังให้ตัวเอง

แม้คนจะมองว่าเป็นซูเปอร์มัม แต่เธอยอมรับเต็มปากเต็มคำว่า เธอมีช่วงเวลาเหนื่อยล้าเช่นเดียวกับคุณแม่ทุกคน สิ่งสำคัญคือต้องเติมพลังให้กับตัวเอง

“เราก็ต้องกลับมาบาลานซ์ตัวเอง ซึ่งเราก็ใช้หลัก Mind-Body-Soul ที่ใช้กับลูก มาดูใช้ดูแลตัวเองบ้าง” เธอหัวเราะ

“สิ่งหนึ่งที่ซินดี้อยากบอกคุณแม่ทุกคนคือ เราควรคำนึงถึงช่วงเวลาที่เราต้องเติมพลังให้ตัวเองด้วย ต้องมีช่วงเวลาที่ปลีกตัวออกมาบ้าง มีช่วงเวลาหนึ่งที่ห่างจากลูกเพื่อจะได้กลับมาเป็นตัวของตัวเอง เพราะเรายังมีตัวตนของเรา ลูกเองก็จะได้เห็นว่าแม่ยังมีตัวตนที่ชัดเจนนะ มีงานอดิเรก หรือไปทำโน่นทำนี่ ยังมีเพื่อนมีสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีมากสำหรับเด็กผู้หญิงสมัยนี้ ที่เขาจะได้เห็นว่าคุณแม่ทำได้”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

ความภูมิใจยิ่งกว่ารางวัลใดๆ

เมื่อพูดถึงความภาคภูมิใจในตัวลูก คุณแม่หลายคนอาจนึกถึงสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ผลการเรียนหรือรางวัลต่างๆ แต่สำหรับคุณแม่ที่ทุ่มเทกับการปลูกฝังความรักความเอาใจใส่เช่นเธอแล้ว ความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกแสดงออกมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเธอเลี้ยงลูกมาได้ถูกทางแล้ว

“ก่อนหน้านี้เพื่อนของเลล่าถูกล้อที่โรงเรียน ลูกมาเล่าให้ซินดี้ฟัง ก็เลยถามลูกไปว่า หนูคิดว่าเขารู้สึกยังไง ลูกก็บอกว่าเขาเห็นใจเพื่อน พออีกวันไปโรงเรียนคุณแม่ของเพื่อนเลล่าก็มาเล่าว่า เลล่าเข้าไปกอดน้องคนนี้ที่กำลังโดนเพื่อนล้ออยู่ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ลูกเราแสดงจุดยืนที่จะปกป้องเพื่อนของเขา เรื่องแบบนี้เรารู้สึกภูมิใจยิ่งกว่าลูกได้รับรางวัลใดๆ อีกนะ เพราะนี่แสดงให้เห็นว่าลูกเราเป็นเด็กที่อ่อนโยน และเป็นคนจิตใจดีอย่างที่เราหวังไว้เสมอ

“สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นโมเมนต์ที่ซินดี้ภูมิใจว่า เราเลี้ยงเขาได้ถูกทางแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็เข้าใจว่า ทุกการตัดสินใจของเขามีผลต่อตัวเขาเองและคนรอบข้างด้วย” เธอยิ้มอย่างภูมิใจ

น่าจะเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ทุกคนที่ต่างมีความคาดหวังในตัวลูกๆ เสมอ ซินดี้เองก็ยอมรับว่าเธอก็มีความคาดหวังเหล่านั้นในใจเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วเหตุการณ์ในปัจจุบันทำให้ย้อนกลับมาคิดใหม่ ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญของชีวิตคืออะไร

“ซินดี้คิดว่าไม่สำคัญว่าลูกจะต้องเรียนด้านไหนเป็นพิเศษ เราให้เขาตัดสินใจ และคิดว่าเขาน่าจะตัดสินใจได้ดี อีกอย่างคือ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย ตั้งแต่มี COVID-19 ระบาดทำให้เรารู้สึกว่า ที่คิดว่าลูกต้องเรียนเก่ง หรืออยากให้เขาเรียนมหาวิทยาลัยนี้ มันสำคัญจริงไหม เพราะชีวิตไม่มีอะไรสามารถควบคุมได้เลย”

“สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการที่เรามีกันและกันในครอบครัวมากกว่า พอคิดอย่างนี้เราก็ยิ่งปล่อยใจสบายๆ มากขึ้นไปอีก เอาเข้าจริงคือ ต่อไปเมื่อลูกเรียนจบแล้วก็ไม่รู้โลกจะไปทางไหน เพราะโลกเปลี่ยนปีต่อปี ขอแค่ให้เขาใช้ชีวิตมีความสุข ไม่ลำบากใคร เติมเต็มตัวเองได้ แม่ก็โอเคแล้ว” เธอจบประโยคพร้อมโบกมือให้กับลูกชายที่แอบมายืนดูคุณแม่ทำงานอยู่หน้าห้องกระจกใส

ความสุขล้นใจ เกินคำบรรยาย

“ก่อนมีลูก เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าลูกเราจะเป็นยังไง และเราจะเป็นแม่แบบไหน” เธอเอ่ยขึ้นเมื่อเราชวนคุยถึงความรู้สึกและความคาดหวังก่อนจะได้รับหน้าที่เป็นซูเปอร์มัมของลูกๆ

“ด้วยความที่ซินดี้เป็นคนเต็มที่กับทุกอย่างมาแต่ไหนแต่ไร พอจะมีลูกก็ต้องการรู้ข้อมูลทั้งหมด ต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน หาหนังสือเกี่ยวกับตั้งครรภ์มาอ่านเยอะมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำตามหนังสือเป๊ะๆ นะ เราเพียงรู้สึกว่า ยิ่งมีข้อมูลเยอะ เราก็จะยิ่งรับมือได้ เพราะความเป็นแม่คือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรา”

เมื่อถึงวันที่ได้เป็นคุณแม่จริงๆ ความสุขที่ได้รับเกินกว่าคำบรรยายใดๆ

“มีความสุขมาก” เธอลากเสียงยาว “การเป็นแม่ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ลูกสอนอะไรเราเยอะมากและเป็นเงาสะท้อนที่ดีมาก ลูกเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำให้ดีที่สุด เราก็สนุกและมีความสุขกับการเป็นแม่ในทุกวัน” เธอยิ้มกว้างอีกครั้ง

เวลานี้ เธอมีทั้งสนุกและมีความสุขกับการเห็นพัฒนาการของลูกทั้งสอง แต่ก็ยอมรับว่ามีหลายเรื่องก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อลูกใกล้เข้าสู่วัยรุ่นเข้าทุกที

“ปีนี้รู้สึกเลยว่า เลล่าโตขึ้นไวมาก เขาเริ่มมีสังคม มีกลุ่มเพื่อน ซึ่งเราก็เตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่นของเขา ซึ่งก็พอจะรู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งก็ต้องปรับการดูแลกันไป ส่วนเอเดนเมื่อวานที่เขาเข้ามากอดเรา ซินดี้ก็รู้สึกในใจว่า จะได้กอดเขาแบบนี้อีกกี่ปีนะ พอโตเป็นหนุ่มเขาก็จะไม่เอาเราแล้ว” คุณแม่เล่าอย่างยิ้มๆ แต่แอบมีน้ำตาซึม

ก่อนจบบทสนทนาวันนั้น เธอบอกเล่าถึงบทบาทความเป็นแม่อีกครั้ง ซึ่งดูเหมือนเป็นกลั่นกรองความรู้สึกทั้งหมดออกมาจากใจ

“ถึงจะเป็นงานที่โหดหินที่สุด แต่ก็เป็นงานที่เติมเต็มชีวิตที่สุดเช่นกัน และแม้จะเหนื่อย แต่ก็ไม่มีอะไรมาทดแทนความรู้สึกของความเป็นแม่ได้จริงๆ ” คุณแม่คนเก่งทิ้งท้ายด้วยดวงตาส่องประกายถึงความสุข

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซูเปอร์มัมและนักเขียนหนังสือเด็ก กับสูตรการเลี้ยงให้ลูกเป็นผู้เลือก

การเลี้ยงลูกของซินดี้-สิรินยา บิชอฟ เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ว่า แม้การเลี้ยงลูกจะไม่มีสูตรตายตัวและไม่อาจกำหนดทุกอย่างเป็นหลักการที่แน่นอน การให้อิสระในการตัดสินใจโดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้แนะนำเพื่อหา ‘จุดสมดุล’ บนพื้นฐานมาจากความรักและความเข้าใจ จะทำให้เด็กๆ เติบโตอย่างสมวัยและมีความสุข

ตัวอย่างการเลือกในชีวิตประจำวันง่ายๆ แต่สำคัญ เช่น อาหารและโภชนาการ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นผู้แนะนำตัวเลือกที่มีประโยชน์และมอบความอร่อยถูกใจลูกได้ อย่างไมโล 2 สูตรทางเลือกเพื่อสุขภาพ สูตรน้ำตาลน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และสูตรไม่มีน้ำตาลทราย ที่คงความหวานอร่อยแบบธรรมชาติของมอลต์และนม รสชาติอร่อยถูกใจลูก แถมยังถูกใจพ่อแม่ด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ให้พลังงานเท่ากับสูตรปกติและแคลเซียมสูงกว่าไมโลสูตรปกติ 2 เท่า

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล