20 กุมภาพันธ์ 2019
15 K

ที่ใดมีแสงที่นั้นย่อมมีเงา

ที่ใดมีเงาที่นั้นย่อมเจอความสว่าง

ผมตั้งใจไปญี่ปุ่นครั้งนี้เพื่อไปดูงานดีไซน์สถาปัตยกรรม ซึ่งญี่ปุ่นเองมีเอกลักษณ์เฉพาะทางและหลากหลายมาก เรามักจะพบเห็นงานดีไซน์เก๋ๆ ได้ตามเมืองต่างๆ แต่หากพูดถึงสถาปัตยกรรมในญี่ปุ่นที่ถูกดีไซน์โดยสถาปนิกญี่ปุ่นและเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลกด้วยแล้ว แน่นอนว่าเราต้องนึกถึง Church of Light ของ Tadao Ando

Ibaraki Kasugaoka Church (茨木春日丘教会) หรือ Church of Light คือหนึ่งในชิ้นงานมาสเตอร์พีซของ Tadao Ando ตั้งอยู่ในเมือง Ibaraki ไม่ไกลจากโอซาก้าไปมากนัก เป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ โบสถ์ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เงียบสงบ ถูกสร้างเมื่อ ค.ศ. 1989 เพื่อทดแทนโบสถ์ไม้เดิมที่เก่าแก่ทรุดโทรมลงไป ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงเป็นการท้าทายการออกแบบของอันโดะเป็นอย่างมาก

ในแต่ละเดือนทางตัวโบสถ์จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแค่ 4 – 5 วันเท่านั้น เพราะโบสถ์ต้องใช้งานจริงในพิธีทางศาสนาอยู่ ต้องเช็กและจองวันเวลาเข้าชมก่อนทางเว็บ ibaraki-kasugaoka-church.jp

ผมเดินทางเริ่มจาก Osaka Station นั่งรถไฟสาย JR Kyoto Line มาลงที่สถานี Ibaraki เดินข้ามสะพานลอยไปที่ชานชาลาหมายเลข 2 แล้วต่อรถบัส Kintetsu Bus สาย 1 หรือ สาย 2 มาลงที่ป้าย Kasugaokakouen จากนั้นเดินตามถนนขึ้นไปจะมีป้ายบอกทางติดเสาไฟฟ้าที่บอกให้เลี้ยวซ้ายและเดินตรงไปอีกหน่อยก็จะเจอโบสถ์ตั้งอยู่ที่หัวมุมสี่แยก

Church of Light

ลานเด็กเล่นข้างป้ายรถบัสสถานี Kasugaokakouen

Church of Light

ป้ายบอกทางไปโบสถ์ที่เสาไฟฟ้า

Church of Light

โบสถ์ตั้งอยู่หัวมุมกลางสี่แยก

Church of Light

ทางเดินเข้าโบสถ์

รูปทรงของโบสถ์เป็นทรงเรขาคณิตเรียบง่าย เพราะอันโดะเลือกใช้ผนังคอนกรีตเสริมใยเหล็กแค่ 6 แผ่นมาวางต่อกันเพื่อให้เกิดสเปซการใช้งาน และใช้แสงมาทำให้เกิดอัตลักษณ์พิเศษขึ้นมา โดยมีแผ่นคอนกรีต 1 แผ่นนำมาตัดกล่องเฉียง 15 องศา ทำหน้าที่เป็นทางเข้าโบสถ์

Church of Light Church of Light

ผนังเฉียง 15 องศา ทำหน้าที่เป็นทางเข้าโบสถ์

เมื่อเราเดินเข้าตัวโบสถ์ทางเข้าจะมืดเพราะมีผนังบังแสง แสงที่ผ่านจะเห็นเป็นลำแสงพอให้เรามองเห็นทางเท่านั้น พอเดินเลี้ยวผ่านเข้ามาเสียงนักท่องเที่ยวจากตอนแรกที่ดังก็เงียบลงทันที ภาพที่เห็นคือโบสถ์ที่ดูมืดสลัวๆ แต่ทางด้านหน้าแสงสาดส่องเป็นรูปไม้กางเขน บรรยากาศดูเรียบง่ายและสงบ โดยที่ไม่ต้องมีใครพูดหรือมีป้ายบอกใดๆ ใครที่เข้ามาในนี้ต่างเงียบสงบกันหมด

Church of Light

Church of Light Church of Light Church of Light Church of Light

บรรยากาศโถงภายในโบสถ์

Space ทำให้คนสัมผัสรู้สึกได้ว่าสถานที่นี้ควรทำตัวอย่างไร

บางคนไปโบสถ์เพราะต้องการพบเจอพระเจ้า

บางคนไปโบสถ์เพราะต้องการความสงบ

บางคนไปโบสถ์เพราะต้องการสวดภาวนา

บางคนไปโบสถ์เพราะขาดที่ยึดเหนี่ยว

บางคนไปโบสถ์เพราะมีความทุกข์ต้องการพบเจอความสุข

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด Space ที่ออกแบบมาดีก็ทำให้เราสัมผัสโมเมนต์เช่นนั้นได้ แม้จะพูดออกมาไม่ได้ก็ตาม

บรรยากาศที่ดูสลัวและมีแสงสาดส่องเป็นรูปไม้กางเขน ทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ไม้กางเขนที่สาดส่องหากเปรียบก็คงเป็นแสงสว่างที่ปลายทางที่คอยนำทางชีวิตให้เราไปต่อได้

Church of Light

โต๊ะนั่งบริเวณลานพิธี

Church of Light

เปียโนตั้งอยู่ด้านหลังไว้ใช้เล่นในวันที่มีพิธีการ

Church of Light

สเปซระหว่างตัวโบสถ์

Church of Light

บันได้ด้านข้างโบสถ์

ชีวิตเราไม่ว่าใครจะต้องพบเจอความทุกข์ระหว่างทาง แต่หากเรามีที่ยึดเหนี่ยวที่ปลายทางนั้นแล้ว เราก็จะพบเจอทางออกให้ผ่านพ้นไปได้

ผมนั่งซึมซับบรรยากาศภายในโบสถ์ลมพัดอ่อนๆเย็นสบาย เผลอแป๊บเดียวเวลาผ่านไปเกือบชั่วโมง แสงที่สาดส่องเป็นรูปไม้กางเขนเริ่มหายไป ความมืดเริ่มเข้ามาเยือน ไม่มีใครมีความสุขอยู่ตลอด ความสุขผ่านมาแล้วก็ผ่านไปความทุกข์เข้ามาแทนที่ กลับกันความทุกข์ก็ไม่อยู่กับเราคงทนถาวรเช่นกันมันก็มีวันหายไป

พริบตานั้นไฟในโบสถ์ก็ถูกเปิดนำทางให้เราเดินออก…

Church of Light

ห้องทำพิธีอีกห้องด้านข้างของโบสถ์หลักเป็นห้องเล็กๆ

Church of Light

สวนด้านหลังของโบสถ์

Church of Light Church of Light Church of Light Church of Light

บริเวณด้านนอกตัวโบสถ์

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

วุฒิชัย เชาว์เมธีวุฒิ

ครีเอทีฟ ชอบถ่ายรูป อ่านหนังสือ และเริ่มขีดเขียน ติดตามผลงาน IG : toiwoody FB : Toi Chao