ผมขอแนะนำชายผู้นี้ว่า

จุลพร นันทพานิช เป็นสถาปนิกและเป็นอาจารย์

งานของเขาไม่เหมือนใคร และยากจะลอกเลียนแบบ

เขามีความรู้ความเข้าใจในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบลงลึกถึงราก เขาชอบงานไม้ เครื่องมือช่าง และเชื่อเรื่องการทำงานไม้ด้วยมือแบบดั้งเดิม

งานออกแบบของเขาคือพื้นที่แสดงทักษะและภูมิปัญญาช่างแบบโบราณ

เขามีวิธีบูรณะบ้านเก่าที่น่าสนใจ ร่องรอยการแปรรูปที่ปรากฏอยู่ในเนื้อไม้ สำหรับคนอื่นคือความไม่เรียบร้อย แต่สำหรับเขา มันคือบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่เล่าอะไรได้มากมาย และไม่สมควรถูกขัดให้เรียบ

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

จุดเด่นที่สุดของเขาก็คือ การออกแบบระบบนิเวศ อย่าหวังจะได้เห็นสวนประดิษฐ์และต้นไม้ขวัญใจนักจัดสวนในงานของเขา เพราะถ้ามีพื้นที่สีเขียวภายในงาน เขาจะสร้างสวนป่า สร้างระบบนิเวศทั้งระบบด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่น

เขาคือคนที่ปลูกป่า 200 ไร่ ที่เชียงใหม่ (สวนเย็น) ให้ ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับโฆษณาชื่อดังของโลก เขาใช้เวลา 7 ปี เปลี่ยนหมู่บ้านจัดสรรร้างให้กลายเป็นป่าที่มีสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กอย่างเสือปลามาออกลูก และมีสัตว์มากมายเข้ามาอาศัย

เขาทำบ้านและปลูกป่าในพื้นที่ 6 ไร่ (สวนทำ) ย่านอ่อนนุชให้ต่ออีกครั้ง เขาปลูกต้นไม้ท้องถิ่นทั้งหมด เป็นต้นไม้พันธุ์หายากที่ต้องเสาะหามาจากนักเพาะต้นไม้มือทองของประเทศ เขาปลูกต้นไม้จากต้นกล้า และไม่เห็นด้วยกับการใช้ไม้ล้อม

เขาใช้เวลา 4 ปี ต้นตะเคียนทองในสวนทำก็ทิ้งเมล็ด และเกิดเป็นต้นใหม่ด้วยตัวเอง เวลาเดียวกันนี้พื้นที่ผืนนี้ก็กลายเป็นป่าครึ้มที่สูงท่วมหัว มีนกและสัตว์มากมายเข้ามาอาศัยอยู่

ตอนนี้เขากำลังปลูกป่าอีกผืนให้ต่อ และอีกหลายผืนให้อีกหลายคน

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

อาจารย์จุลพรแนะนำตัวเองว่า

“ผมเป็นลูกแม่ค้าขายผลไม้อยู่ในตลาดที่ฝั่งธนฯ ได้นั่งเรือสินค้าจากฝั่งธนฯ ไปสมุยตลอด ก๋งผมเป็นคนสมุยทำสวน 200 ไร่อยู่บนเขา ยุคนั้นทั้งเกาะมีรถยนต์ 5 คัน ไม่มีไฟฟ้า ยังเห็นโลมา ไปอยู่กับก๋งบนเขาก็เห็นเก้ง เห็นหมูป่า สนใจธรรมชาติและได้ทักษะการอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่ตอนนั้น

“ตาผมเป็นคนจีนกวางตุ้ง เป็นช่างไม้ที่เก่ง เห็นเขาทำตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง แต่ไม่ได้ช่วยทำ ก็เกิดการเรียนรู้ พอโตมาก็ไม่ยากที่จะทำ ผมเข้าใจเลยว่าแค่เห็นไม่ต้องลงมือทำก็เกิดการเรียนรู้แล้ว เลยเอามาใช้ในการสอน

“ผมชอบเอาไม้ขีดมาเรียงมาต่อเป็นโครงสร้าง พี่คนหนึ่งเห็นแล้วก็บอกว่าต้องเรียนสถาปัตย์ ผมรู้ตัวตั้งแต่ ม.3 ก็เลยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ แล้วก็เข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ”

“ตอนเรียนสถาปัตย์ผมอยากออกแบบกระท่อม ไร่นา แต่ไม่มีงานแบบนี้ให้ทำ ผมอยากมีป่าในงานออกแบบ ผมไม่สนเรื่องห้างสรรพสินค้า 200,000 ตารางเมตร ไม่มีจินตนาการเรื่องพวกนี้เลย ผมเรียนไม่ดีเลย เรียกว่าล้มเหลวด้านการเรียน

อาจารย์เฉลิม สุจริต (อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) เมตตาเอาผมไปอยู่กลุ่มแก เลยได้คุยกับแกเยอะ สิ่งที่อาจารย์สอนส่งผลกับชีวิตผมถึงทุกวันนี้ แกเห็นผมชอบออกค่าย ก็ชวนคุยว่า เวลาไปค่ายทำไมต้องเอาวัสดุจากข้างนอกไป ทำไมไม่ไปหามีดพร้าแถวนั้น เอาวัสดุแถวนั้นมาทำ แต่ละที่ต้องสร้างไม่เหมือนกันนะ เครื่องไม้เครื่องมือต้องไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่คุณต้องเอาไปคือทักษะในการออกแบบ อาจารย์พูดกรอกหูมาตั้งแต่ปี 3

“เรียนจบมา ผมไปคุมงานทำบ้านจัดสรรแถวพุทธมณฑล ทำโมเดลอีกปีครึ่ง ระหว่างนั้นผมไปสอนเด็กในโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน มีเด็กหลายชนเผ่า ท่าทีของพวกเขาแตกต่างกัน ผมเลยเริ่มสนใจมานุษยวิทยา ผมพูดลีซอได้ตั้งแต่ตอนนั้น

“ผมได้แฟนเป็นคนเชียงใหม่ ผมไม่อยากกลับกรุงเทพฯ แล้ว ผมไปคุมงานก่อสร้างที่ลำพูน เป็นที่ดินจัดสรรติดป่าอยู่ 4 ปี บริษัทเจ๊งเลยไปเป็นเกษตรกรปลูกกระเทียม เลี้ยงวัว อยู่ที่ลำพูน เป็นไกด์ทัวร์ป่า ทำทุกอย่าง เพราะไม่อยากเข้ากรุงเทพฯ ทำอยู่ปีหนึ่งก็ป่วยเป็นมาลาเรีย เชื้อฟัลซิพารัมขึ้นสมอง ไม่มีแรงอยู่อีกปี

“ยังไม่ทันจะหายดี พี่สาธิต กาลวันตวานิช (นักออกแบบและเจ้าของบริษัท Propaganda) ก็มาชวนไปทำบ้านแม่น้ำ (ชื่อบ้านซึ่งสาธิตกำลังจะสร้างที่ลำพูน) มีคนแนะนำกันมา ตอนนั้นแกเพิ่งสั่งให้รถขนดินมาถมที่ ผมบอกว่าอย่าถมที่นะครับ ถ้าถมแล้วเพื่อนบ้านจะลำบาก คนสองฝั่งจะใช้ที่ของบ้านพี่เดินลัดไปหากันไม่ได้ เขาจะอยู่กันยังไง เป็นคำที่อาจารย์เฉลิมสอนมาเลย

“รถออกจากบ่อดินมาแล้วนะ พี่สาธิตรีบโทรสั่งห้าม และบอกให้ผมทำแบบบ้านมา

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

การออกจากไร่กระเทียมมารับงานสถาปนิกเต็มตัวครั้งแรก ตีโจทย์บ้านหลังนี้ยังไง

พี่สาธิตชอบเรือนไทยลื้อแบบดั้งเดิม แต่ผมอยากประยุกต์ให้มันคลี่คลาย ร่วมสมัย อะไรคือสาระสำคัญก็เก็บไว้ วัสดุธรรมชาติต้องดำรงไว้ เทคนิควิทยาการแบบท้องถิ่นต้องดำรงไว้ แต่ต้องตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่ ข้างในมีอุปกรณ์ไฟฟ้า กันรั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังดำรงอรรถรสของความเป็นบ้านท้องถิ่นไว้ได้

อะไรคือหัวใจของบ้านไทยที่อาจารย์เอามาเป็นแกนกลางในการออกแบบ

ผมไม่สนใจฟอร์มนะ ผมใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก เข้ามาแล้วได้อารมณ์อย่างไร เข้ามาแล้วซาบซึ้งกับความงาม บอกไม่ถูก น้ำตาซึมเพราะเห็นแสงส่องมาเป็นลำในมุมมืด งานผมเป็นแบบนี้ รู้ว่าระนาบเป็นแบบนี้ ไม้แบบนี้ แสงชโลมมาจะรู้สึกอย่างไร ฟอร์มมาทีหลัง

บ้านไทยแสงสลัวๆ ดีกว่าบ้านยุคใหม่ที่ขาวสว่างยังไง

ถ้าอยู่ที่สว่างร่างกายเราจะทำงานหนัก เพราะผิวเราตื่นตัวกับแสงที่สว่างมาก เราจะเหนื่อย หนังเราไม่หนาเหมือนคนในเขตอบอุ่น เขาเลยไม่เป็นอะไรกับการอยู่ในที่สว่าง แสงสลัวช่วยให้เราผ่อนคลาย ตาก็ไม่ต้องโพลงตลอด ความสลัวเป็นคาแรกเตอร์ของบ้านเอเชีย แต่ไม่ใช่มืดตึ๊ดตื๋อนะ ถ้าสลัวไม่ดี ปู่ย่าตายายเราไปอยู่ที่สว่างกันหมดแล้ว เขาลองผิดลองถูกกันมาพันกว่าปี

อาจารย์จะให้ความสำคัญกับแสงในบ้านมาก

มันเป็นต้นทุนที่ธรรมชาติให้มา ก็ควรจะใช้ให้ถึงที่สุด ลำแสงที่ลอดเข้ามาในบ้านช่วยกล่อมเกลาจิตใจนะ ผมอยากให้สิ่งแบบนี้ดำรงอยู่ แล้วเราก็ออกแบบได้ ถ้าเราเข้าใจ Solar Chart ก็จะรู้ว่าดวงอาทิตย์โคจรอย่างไร เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือช่วย รู้เลยว่าแสงที่เข้ามา 9 โมงจะเป็นลำแบบนี้ ถ้าคุณยืนล้างถ้วยตรงนี้จะเห็นนกกางเขนมาร้องเพลงเพราะมีไข่มดแดงอยู่บนต้นมะม่วง วันนี้นกเขาร้อง วันนั้นนกกวักร้อง เมื่อพระอาทิตย์อยู่ตรงนี้ จะมีแสงเข้ามาเป็นลำ คุณเห็นแล้วจะหยุดภารกิจมานั่งดูมัน งานผมเป็นแบบนี้ มนุษย์ควรจะเป็นแบบนี้ มันคือเรื่องรื่นรมย์ใกล้ตัว เป็นเรื่องความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องฟอร์ม ผมใช้ฟอร์มในงานน้อยมาก ฟอร์มของสถาปัตย์ดู 5 ปีก็เบื่อแล้ว ผมอยากให้เราอยู่กับมันจากข้างใน ทำข้างในบ้านให้ดี เพื่อมองออกไปข้างนอกแล้วมีความสุข กรอบของบ้านจะเป็นตัวควบคุมให้เราเห็นนู่นเห็นนี่ในสิ่งที่ผมอยากให้เขาเห็น

ในสายตาของคนทั่วไป บ้านหลังนี้ถือว่าสวยไหม

คนที่ชอบแบบสว่างๆ คงไม่ชอบ แต่คนที่ชอบบ้านแบบท้องถิ่นจะชอบมาก ไม่ได้พูดว่าสวยด้วย แต่พูดว่าน่าอยู่ ร่มรื่น มีระยะ มีมิติหลายๆ อย่างซึ่งทั้งหมดทั้งมวลทำให้เราผาสุก ทุกวันนี้เราบอกว่าบ้านต้องสวย แต่บ้านสวยอยู่ไม่ผาสุกนะ เมื่อก่อนไม่มีคำว่าบ้านสวยนะ มีแต่บ้านน่าอยู่จัง คำว่าสวยมาหลังยุคสงครามโลก ที่บ้านต้องสวย ต้องเชิดหน้าชูตา

ถ้ามีคนบ่นว่าบ้านไทยนอนไม่สบาย

ก็ฝึกเอา ถ้าคุณนอนสบาย เหงื่อไม่ออก ยูริกคุณก็สูงนะ คุณเปิดแอร์ 20 องศา แต่ร่างกายคุณ 37.5 องศา คุณก็ต้องเหนื่อยดึงมันกลับมา 37.5 องศา ต้องใช้พลังงาน เส้นหน้าคุณก็ขึ้นเร็ว แก่เร็ว เอาไหมล่ะ เราฝึกให้ระบายความร้อนในร่างกายได้ ทำให้รูขุมขนกว้างขึ้น มนุษย์เป็นของเหลว ปรับตัวได้อยู่แล้ว เพียงแต่คุณปฏิเสธการปรับตัวเท่านั้นเอง ถ้าคุณคิดว่ามันไม่ได้มันก็คือไม่ได้ ก็จบที่ความคิดคุณ

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

อาจารย์เป็นสถาปนิกที่มีเงินอย่างเดียวจ้างไม่ได้ ใครจะจ้างออกแบบบ้านต้องไปเดินป่าด้วยกันก่อน ทำไม

ต้องรีเซ็ตความคิดให้ไปด้วยกันให้ได้ คุณต้องมาร่วมกระบวนการ ทุกคนก็แฮปปี้หมดนะ เราต้องเห็นภาพตรงกัน เข้าใจตรงกัน ฝึกตัวเขาด้วย เพราะผมจะออกแบบบ้านที่ทำให้เขาอยู่แล้วผาสุุก งานออกแบบของผมจะเอื้อให้เขาออกกำลังกายเยอะๆ บังคับไม่ให้อยู่เฉยๆ ต้องขยับไปดูโน่นไปทำนี่ บ้านผมอยู่แล้วสุขภาพดี พี่จะเป็นอาเสี่ยอยู่ในห้องแอร์ไม่ได้ พี่ต้องเดินนะ

เป็นอาเสี่ยอยู่ในห้องแอร์ไม่ดีตรงไหน

เดี๋ยวตายเร็ว ต้องกินดีอยู่ดี ต้องออกกำลังกายบ้าง ได้ยืดเหยียด ได้อากาศดี มีภาวะผจญภัยให้ตื่นเต้นนิดหน่อย

บ้านไม้ที่อาจารย์ทำไม่เรียบเนี้ยบอย่างบ้านไม้แพงๆ ที่เราคุ้นเคย อาจารย์โน้มน้าวให้ลูกค้าเห็นความงามของบ้านแบบนี้ยังไง

ส่วนใหญ่เขาทำเพราะลึกๆ เขาชอบแบบนี้อยู่แล้ว พอมาเจอผม สิ่งที่อยู่ภายในตัวเขาก็โผล่ออกมา ต่อให้เป็นมหาเศรษฐีเขาก็ชอบ มันเป็นสัจจะของวัสดุ ถ้าจะพูดกับคนไทยก็ประมาณว่า พี่ไปดูงานที่ญี่ปุ่นสิ ย่านคันไซนี่ใช้ขวานถากทั้งนั้น ไปดูงานพระตำหนักคัตสึระที่เกียวโตสิ พอมียี่ห้อขึ้นหน่อยก็คล้ายตามเลย อ้างญี่ปุ่น อ้างสวีเดนไป งานเรียบๆ ที่ใช้เครื่องมือไฟฟ้าทำง่าย แต่งานพวกนี้ไม่เก๋าทำไม่ได้นะ

ทำไมคนสวีเดนหรือญี่ปุ่นทำเราถึงบอกว่าเจ๋ง แต่คนไทยทำบอกว่าเชย

ก็รังเกียจตัวเองไง อะไรที่เป็นไทยกระจอกงอกง่อย เมืองไทยไม่ดี ไม่อยากอยู่ ผมเข้าใจว่าเขารังเกียจตัวเอง ดังนั้นต้องดึงเขามาสอนว่า อย่ารังเกียจตัวเองนะ ผมเจอลูกค้าแล้วบอกว่า คุณเป็นลูกคนจีน แต้จิ๋วหรือไหหลำ เขาอึกๆ อักๆ คุณไม่ต้องอึกอักเลย หน้าคุณคอเคเชียนขนาดนี้ อย่าไปรังเกียจความเป็นตัวเอง

ทำไมคนเห็นสัจจะของวัสดุแล้วถึงชอบ

ธรรมชาติของมนุษย์ชอบสิ่งนี้ที่สุด เมื่อแหวกเปลือกทุกอย่างออกไป มนุษย์ทุกคนชอบอะไรที่เป็นสัจจะ แต่ประสบการณ์ในบางช่วงเวลาทำให้เขาไม่ชอบ มันเป็นธรรมชาติที่อยู่ในยีนของมนุษย์เลย ทุกคนไม่เนี้ยบ มนุษย์ทุกคนรุ่งริ่ง ถ้าคุณเป็นทหารคุณจะรุ่งริ่งไม่ได้ ต้องมีระเบียบ แต่แหวกเข้าไปในส่วนลึก มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เพราะอยู่กับความรุ่งริ่งแล้วไม่เครียด เหมือนเราเห็นเส้นที่เป็นฟรีฟอร์มแล้วผ่อนคลายมากกว่าเห็นเส้นคมๆ นี่คือ Visual Impact เราเห็นพื้นผิวที่มีมิติแล้วผ่อนคลายกว่าเห็นพื้นผิวสีขาวล้วน นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ตาเห็นอย่างเดียว ระบบต่อมไร้ท่อในร่างกายก็ได้รับสารจากตาไปด้วย ถ้าคุณเห็นแต่สิ่งเนี้ยบๆ อยู่กับสิ่งเนี้ยบๆ ตลอด ระบบพวกนี้ก็จะรวน คุณก็จะเหนื่อย

ทำไมอาจารย์ไม่ใช้เลื่อยไฟฟ้าทำงานไม้

เลื่อยไฟฟ้าจะได้เส้นสายที่คมเกินไป เดี๋ยวเครียด เลื่อยไฟฟ้าให้เด็กๆ ทำ ผู้ใหญ่อย่างเราทำของยาก แทงขวานเอา

คนยุคนี้ยังทำงานไม้ด้วยขวานกันได้ใช่ไหม

ใช่ ผมเปิดคลาสสอนใช้ขวาน นักเรียนชอบกันหมดเลย ชั่วโมงแรกสอนใส่ด้ามขวาน ลับขวาน เป็นวิชาที่คนนอกอยากมา Sit-in มาก สอนงานไม้ด้วยการใช้ขวานถาก ใครก็ได้ ผมสอนได้หมด คณะไม่เชื่อว่าผมจะสอนเด็กผู้หญิงให้ทำงานไม้แบบขวานถากได้ สมมติฐานที่ว่า เด็กผู้หญิงลูกคนมีตังค์จากกรุงเทพฯ จะใช้ขวานทำงานไม้ไม่ได้ ถูกทำลายไปแล้ว เพราะเขาทำได้ ทำได้ดีด้วย

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

ออกแบบบ้านแค่หลังเดียว ทำไมถึงมาเป็นอาจารย์ได้

วันดีคืนดีมีอาจารย์คณะสถาปัตย์ มช. มาเห็นบ้านแม่น้ำแล้วชอบมาก ตอนนั้นที่คณะไม่มีคนสอนวิชาสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เลยชวนผมไปสอน ผมก็เอาความรู้ทั้งหมดที่มี จากตำรา จากครูบาอาจารย์ จากประสบการณ์ มาประมวลเข้าด้วยกัน อายุตอนนั้น 32 ก็ถือว่าค่อนข้างสุกงอมแล้ว

ชีวิตการเป็นอาจารย์ราบรื่นดีไหม

ตอนแรกผมคิดว่าคงไม่รอด ใครจะมาฟังเรา ผมมีแต่เสื้อเชิ้ตเก่ามาก ผมไม่ลงทุนซื้อเชิ้ตใหม่นะ เพราะมั่นใจว่าได้สอนเทอมเดียวแน่ๆ ที่ผ่านมาเด็กเจอแต่อาจารย์ที่ไม่ได้ทำงาน พอผมสอนจริงๆ เล่าผ่านประสบการณ์ แล้วเด็กเข้าใจ เขาโหวตผมให้ได้ท็อปมาตลอดนะ ได้อาจารย์ดีเด่นตลอด ลูกศิษย์ที่ได้รางวัลระดับประเทศก็อยู่กลุ่มผมหมดเลย สอนอยู่ 3 ปี ผมก็จับทางได้ รู้ว่าเด็กต้องการอะไร เขาตื่นตาตื่นใจกับความรู้แบบไหน เราจะสอนเขาอย่างไร

เด็กต้องการอะไร

ต้องการประสบการณ์จริงๆ ของคนสอน เขาไม่ได้ต้องการคนจบปริญญาตรี โท เอก แต่เขาต้องการคนที่สื่อสารวิชาชีพ เวลาเขาถามก็ตอบได้อย่างซาบซึ้งกินใจ คุยกับเขาแล้วพาเขาไปต่อได้

อาจารย์สอนหนังสือด้วยวิธีที่แปลกไหม

ก็แปลกกว่าปกติ แต่ทุกคนยอมรับ ผมชอบพาเด็กไปเห็นสถานการณ์จริง สอนในสตูดิโอก็ได้อารมณ์หนึ่ง แต่สอนในป่าได้อีกอารมณ์ซึ่งซาบซึ้งกินใจกว่า คุณจะเล่าเรื่องพระจันทร์ในสตูดิโอเหรอ คุณรู้ไหมว่าบ้านผมตอน 2 ทุ่ม หน้าต่างบานนี้จะมีพระจันทร์เต็มดวงอยู่กลางหน้าต่างเลย ลูกผมเห็นสิ่งนี้ตั้งแต่เล็ก เขาโตมากับภาพนี้ คุณออกแบบให้เป็นแบบนี้ได้ไหม ถ้าจะเล่าเรื่องนี้ก็ต้องเล่าบนภูเขา กลางลานของหมู่บ้านเกาะในพงสาลี ในบ้านไทยลื้อโบราณ นี่คือห้องเรียนแบบเอเชีย มันคือสิ่งที่อาจารย์เฉลิมสอน มันคือความรู้ข้างใน ถ้าคุณมองเห็นเป็นความรู้เมื่อไหร่ คุณจะมีคลังความรู้มโหฬาร ผมเคยเห็นแล้ว ก็อยากให้เด็กเห็นด้วย อยากเที่ยวด้วยแหละ ผมเห็นเด็กพวกนี้เป็นลูกเป็นหลาน ผมไม่พาไปก็ไม่มีใครพาไป ไปหมู่บ้านชายแดนลาวจีน ตำรวจบ้านก็เมาสะพายปืนอาก้ากวาดไปกวาดมา ผมบอกไม่ต้องห่วง ผมดูเป็นว่าปืนมันขึ้นเซฟอยู่หรือพร้อมยิง

พาเด็กไปดูอะไร

ไม่ได้ให้ดูอย่างเดียว ให้นอนเลย เด็กกลุ่มผมไม่ได้นอนเกสต์เฮาส์นะ คณะให้งบมา 5,000 บาท กลุ่มอื่นไปขอพ่อแม่อีกหมื่นห้าแล้วไปฮ่องกง ไปบาหลี แต่กลุ่มผม 5,000 ไม่มีการขอเพิ่ม เหลือด้วย ไปแม่น้ำโขง พงสาลี สิบสองปันนา ไปหมู่บ้านเล็กๆ ชายแดนลาวจีน ลืมเรื่องนอนโรงแรมไปได้เลย ต้องนอนบ้านชาวบ้าน ผมไม่ขอให้ด้วยนะ คุณต้องขอเอง ก็นั่งรถประจำทางเดินทางไปเรื่อยๆ ทุกเรื่องที่เจอมันหมด เด็กยังจำได้ถึงทุกวันนี้ ผมบอกเขาว่า ผมไม่มีปัญญาพาไปฮ่องกง อีกหน่อยคุณมีตังค์คุณก็ไปเองได้ แต่ที่ผมพาคุณไป ไม่มีใครพาคุณไปได้ เพราะมันลำบากเกินจะไป และคนนำต้องมีทักษะต้องประเมินสถานการณ์ตลอด

เด็กงงไหมว่าพามาดูอะไร

ไม่งง ผมอธิบาย ทุกคนตื่นตาตื่นใจหมด เด็กปีหนึ่งปีสองเขาก็รู้เรื่องแล้ว ผมเล่าได้ตั้งแต่ถมดิน ตีนเสา ยันหลังคา อยู่ที่คนสอนว่าจะให้เขาเห็นอย่างไร พอเราอธิบายเขาก็เห็นค่า ระหว่างทางไปก็ไม่ง่ายนะ กลุ่มเรามีแต่วันไปกับวันกลับ ตรงกลางผมเขียนมั่วๆ ส่งคณะไปก่อน คุณต้องไปแก้ปัญหานะ คุณต้องขึ้นรถแบบไหน คนขับเมาไหม ถ้าตกเขาก็ตกจริงๆ นะ เป็นทริปที่กลับมาแล้วเขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีครั้งหนึ่งเรือชนหินโสโครกจนเรือแตกที่แม่น้ำอูแถวเมืองขวาตอนทุ่มหนึ่ง ดีที่น้ำตื้น กลับมาทุกวันนี้เขาก็รักใคร่กัน

เขาจะเอาประสบการณ์พวกนี้ไปใช้ในการออกแบบยังไง

เขาได้เห็นแลนด์สเคป เห็นวิถีชีวิต เห็นคน เห็นหมู่บ้านจริงๆ ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว เขาเอาสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ในการสร้างโจทย์ ทำบ้าน ทำตลาด ทำชุมชน รีสอร์ต ธรรมชาติ เป็นการสร้างโจทย์ที่มีเนื้อหาเชิงลึก ทำให้มีต้นทุนที่มากกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์

อาจารย์สอนยังไงเด็กๆ ถึงได้รางวัลด้านการออกแบบเยอะ

แนะประเด็นที่ลึกซึ้งกว่า น้องคนหนึ่งทำเรื่องทุ่งกุลาร้องไห้ ผมบอกว่าถ้าคุณไม่เดินผ่านทุ่งผมไม่สอนนะ คนนี้เป็นคุณหนูลูกคนจีน เขามุ่งมั่นว่าต้องเดินข้ามทุ่งให้ได้ เดินอยู่ 4 วัน วันแรกเดินแล้วถอย วันที่ 2 ก็ถอย วันที่ 3 เดินถึงกลางทุ่งแล้วไม่ไหวเริ่มหลง วันที่ 4 ก็เดินข้ามจนได้ 20 กิโลเมตร เขาโทรมาบอกผมว่า เขาเข้าใจแล้วว่าทำไมผมถึงเคี่ยวเข็ญให้เขาเดินข้าม เพราะตอนกลับมาเห็นพระอาทิตย์ตกชโลมทุ่งกุลาร้องไห้มันทำให้เขาเข้าใจ

อาจารย์ทำงานบูรณะบ้านเก่าได้ยังไง

พอมีทักษะเรื่องบ้านไม้ ก็มีคนชวนไปดูบ้านบอร์เนียว (โรงแรม 137 Pillars House) แล้วให้ความเห็นว่าจะบูรณะอย่างไร ผมก็ขี่จักรยานไป เอาขวานไปด้วย ขอเอาขวานไปถาก เขาถามว่าเราจะบูรณะอย่างไร ผมเลยเล่าว่า บ้านหลังนี้มีร่องรอยการแปรรูปไม้ด้วยเครื่องมือ 5 แบบ เลื่อยตั้ง เลื่อยอก เลื่อยก๋ง เลื่อยลันดา เลื่อยฉลุ รอยแต่ละอันอยู่ตรงนี้ๆ ร่องรอยพวกนี้ผมจะบูรณะด้วยครับพี่ เก็บรอยไว้ พี่เห็นไหมอันนี้เป็นรอยเลื่อยตั้ง ทุกคนเขาจะขัดทิ้งหมด ผมขอขึ้นไปดูโครงสร้างหลังคา ข้างบนสมบูรณ์ 95 เปอร์เซ็นต์เลย ลงมาก็เล่าให้เจ้าของฟัง ผมรู้ว่าเขาใช้ผมแน่นอน เพราะผมเล่าอะไรที่ลึกกว่าคนทั่วไป ลึกกว่าคนที่ไม่เคยถากไม้จะเห็น ถ้าเราถากไม้ก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

การรู้ว่ารอยนี้มาจากเลื่อยตั้งหรือเลื่อยอกสำคัญยังไง

มันคือร่องรอยที่บอกถึงการแปรรูปไม้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เราควรต้องเก็บบริบทจากเครื่องมือที่ใช้แปรรูปไว้ เผื่อลูกหลานอีกร้อยปีมาเจอจะได้รู้ ไม่ใช่เอากระดาษทรายไปขัดทิ้งจะได้เนียนๆ สวยๆ เขาขัดทิ้งเพราะเขาดูไม่เป็น ผมก็เล่าว่าบานประตูเนี่ยไหหลำทำ อันนี้คนเมืองทำ อันนี้ซื้อมาจากมะละแหม่ง ฝรั่งแบกใส่หลังช้างมาที่แม่น้ำปิงตรงระแหงแล้วล่องเรือขึ้นมา ก็เอามาประมวลแล้วเล่าทีเดียว เลยได้ทำงานนี้

การบูรณะบ้านเก่าใช้เงินมากกว่าทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ต้องพูดยังไงเจ้าของถึงอยากเก็บไว้

นี่ไม่ใช่บ้าน แต่เป็นวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น อดีตอธิบดีกรมป่าไม้เคยมาตรงนี้ เจ้ากรมแผนที่ทหารก็น่าจะเคยมา ก็เล่าเชื่อมโยงไปมา มันก็มีค่าขึ้น

เริ่มสนใจต้นไม้ท้องถิ่นตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนผมไปคุมงานก่อสร้างที่ลำพูนแล้วต้องฟื้นฟูต้นไม้ งานนั้นเขาสั่งกระถินเทพามา ผมรู้ว่าไม่ควรใช้กระถินเทพา ไม่ควรใช้ไม้ต่างถิ่น เพราะรอบพื้นที่นั้นเป็นป่าเต็งรัง แต่ผมเป็นแค่คนคุมงาน ไม่มีอำนาจ ผมเลยเรียกชาวบ้านมาสอน คุณลุงก็พาไปเดินป่า แล้วผมค่อยมาอ่านหนังสืออนุกรมวิธานพืชทีหลัง ผมกลับไปนึกถึงเรื่องพันธุ์พืชท้องถิ่นที่อาจารย์เฉลิมเคยสอน แล้วลองเอามาใช้งานแรกที่บ้านพี่สาธิต ชวนเขาไปเดินป่าแล้วปลูกต้นไม้ท้องถิ่นกัน

ถ้าลูกค้าอยากปลูกต้นไม้ฟอร์มสวยๆ ที่เรารู้จักกัน อาจารย์ชวนเขาเปลี่ยนมาปลูกไม้ท้องถิ่นยังไง

พาไปเดินป่าด้วยกัน ไปดูพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ประดู่ก็สวย ยางนาก็สวย แล้วไม่ต้องล้อม ใช้ไม้เพาะเมล็ด ผมไม่ยอมให้ใช้ไม้ล้อมนะ 3 ปีผ่านไปเจ้าของที่โทรมาขอบคุณผมเพราะไม้พวกนี้สวยกว่าไม้ล้อม

อาจารย์ไม่สนับสนุนการใช้ไม้ล้อม

ไม้ล้อมต้นใหญ่ๆ ดูแล้วไม่สะพรั่ง ไม้ที่เพาะจากต้นกล้ามีระบบรากที่แข็งแรง ถูก ฟอร์มสวย แต่งให้เข้ากับงานสถาปัตย์ของเราได้ดั่งใจกว่า บางกรณีใช้ไม้เพาะเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว อายุสัก 3 ปี ซึ่งเพาะมาในแปลงได้ ไม้พวกนี้เราไม่ต้องไปรบกวนมาจากธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด

ถ้าเขายืนยันจะใช้ไม้ล้อม

แพงนะ

มีเงิน

มันจะล้มนะ ต้องค้ำ

ค้ำได้

มันขโมยมาจากในป่าเลยนะครับพี่ ป่านี่เขาแช่งอยู่นะ จัญไรเข้าบ้านพี่นะ พอได้ยินคำว่าจัญไรก็อึ้งไปตามๆ กัน คนมีตังค์กลัวจัญไร ได้ยินคำนี้แล้วค่าน้ำตาลขึ้นเลย (หัวเราะ) มันเป็นกุศโลบายที่เราไม่อยากให้เขาทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เราไปเดินป่าก็เห็นคนล้อมต้นไม้ในป่าประจำ เราไม่อยากให้ต้นไม้ในป่ามีปลายทางแบบนี้

แล้วคนที่ไม่อยากรอ อยากเห็นมันโตเลย

แป๊บเดียวก็โต เราใช้กลไกทางธรรมชาติช่วยได้ ใช้จุลินทรีย์ใส่ลงไปในดินบ้าง ไรโซเบียม ไมคอร์ไรซา รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ดูแลแบบพืชสวน พวกนี้ยิ่งโตยิ่งสะพรั่ง 3 ปีก็โตแล้ว ที่คณะสถาปัตย์ มช. นักศึกษาที่จบรุ่นแรกเขาอยากปลูกต้นไม้ที่คณะ ผมเลยเอาต้นกล้ายางนาที่เพาะไว้ไปให้เขาปลูก 18 ปีผ่านไป มันสูง 20 กว่าเมตรแล้ว สูงกว่าตึกคณะอีก เราลงมือทำเองได้ไม่ต้องพึ่งรัฐ 18 ปีแป๊บเดียว หมุนไปหมุนมาก็ 5 ปีแล้ว ทุกคนทำได้ มีที่เท่าไหร่ก็ทำได้ หน้าที่ทำงานผมมีอยู่ 24 ตารางเมตร ผมก็ปลูกต้นไม้พันธุ์ท้องถิ่นประมาณ 12 ชนิด มีต้นสาทร ตาเสือใหญ่ ขะจาว เป็นระบบนิเวศเล็กๆ

ถ้าเขาอยากปลูกต้นปาล์ม

เรามีความคิดว่าเวลาทำโรงแรม ทำบ้านจัดสรร ฝรั่งจะชอบต้นปาล์ม มีตุ๊กตา มีน้ำพุ มันเป็นความคิดแบบโบราณมาก เขาเลยตัดของดีๆ ทิ้งแล้วไปทำแบบนั้น แต่ผมไม่สนใจ น้องผมจะทำบ้านจัดสรร ทุกคนเห็นว่าต้องตัดต้นยางนาทิ้ง ผมบอกไม่ได้ เดี๋ยวผมวางผังให้ แล้วต้นยางนี้จะไม่เป็นปัญหากับหมู่บ้านเลย เท่านั้นยังไม่พอ ยังปลูกเพิ่มอีก 800 กว่าต้น ทำให้พื้นดินแห่งนี้ช่วยดูดซับน้ำไว้ เรามีบ่อน้ำจืดที่มีน้ำใช้ตลอด ถ้าทำบ้านจัดสรรแบบที่เราคุ้นๆ มีป้อมยาม มีอะไรแบบโรมันๆ มันไม่ได้แบบนี้นะ เราอย่าไปชินกับภาพพวกนั้น เราต้องฝึกเคารพตัวเองก่อน จะได้ไปต่อข้างหน้า ด้วยปัญญาที่ปู่ย่าตายายบอก

อาจารย์ขึ้นชื่อเรื่องการสั่งโค่นต้นปาล์ม สน พญาสัตบรรณ มันไม่ดีตรงไหน

โค่นล้างบางเลย เราไม่ได้ทำแลนด์สเคปแบบโรงแรมไหหลำ เราจะทำสวนธรรมชาติ โรงแรมไหหลำพวกนี้อาโกวทำเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ถ้าเราไม่ได้ทำโรงแรมไหหลำ เราจะเก็บไว้ทำไมล่ะ

พูดยังไงให้เขาเปลี่ยนจากต้นไม้แพงๆ มาเป็นต้นไม้ท้องถิ่นชื่อแปลกๆ

เราต้องบอกว่าต้นไม้ท้องถิ่นดียังไง ตอนนี้โลกให้ค่ากับ Native Plant นะ ถ้าพี่ไปขายโรงแรมที่เบอร์ลินแล้วพูดว่าโรงแรมพี่ปลูก Native Plant ฝรั่งจะมากันเต็มเลย เพราะสังคมเขาให้ค่ากับเรื่องนิเวศเชิงลึก เราไปเข้าใจเองว่าฝรั่งอาจจะชอบสวนอย่างที่เราคุ้นๆ กัน แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ชอบนะ ปลูกแบบนั้นไป 10 ปีก็ต้องโค่น เพราะโลกเปลี่ยน รสนิยมของคนในโลกเขาไม่มาปาล์มขวดกับคุณแล้ว มีโปรเจกต์หนึ่งที่ปราจีนบุรี มีต้นปาล์มขวดอยู่ในพื้นที่ ผมบอกให้เขาเอาออก ทุกคนก็เห็นด้วย ให้พ่อค้าต้นไม้มาตีราคา ต้นใหญ่เลย ปลูกมา 20 ปี พ่อค้าให้ต้นละ 150 บาท เพราะมันไม่มีความนิยมแล้ว ค่าแรงล้อมต้นไม้ออกมันก็สูง

เวลาออกแบบพื้นที่สักผืน อาจารย์ออกแบบในมิติไหนบ้าง

ออกแบบการใช้ที่ดินว่าจะใช้ที่แปลงนี้อย่างไร เพื่ออะไร วางแผนจัดการน้ำผิวดิน แล้วผมก็จะวางแผนจัดการพื้นที่ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ตอนหลังตีความพื้นที่สีเขียวลึกขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่เขียวแล้วดูรื่นรมย์ แต่พื้นที่สีเขียวของผมกินได้หมด เป็นอาหารที่ดีด้วย เป็นอาหารแมคโครไบโอติกส์ด้วย

ถ้าเจ้าของบ้านบอกว่าปลูกไปก็กินไม่เป็น

ฝึกเอา เดี๋ยวผมทำให้กิน อร่อย เดี๋ยวติด พวกนี้เป็นอาหารที่ดี ผมทำให้อร่อยได้ ไข่มดแดงเอามาทำไข่เจียวก็อร่อย ต้มกับผักหวานป่า แกงหน่อไม้ ยอดผักยอดไม้เอามายำบีบมะนาวที่เขาเรียกอาหารฟิวชัน มาจากสวนคุณทั้งหมดนั่นแหละ

อาจารย์ยังเรียกอาชีพตัวเองว่าเป็นสถาปนิกอยู่ไหม

ผมมีใบอนุญาตชั้นสูงของสถาปนิก ส่วนภูมิสถาปัตย์เขาไม่นับผมเป็นภูมิสถาปนิกเพราะผมไม่มีใบอนุญาต แต่ผมเคยเรียนนะ งานที่ผมทำมันก็เป็นเรื่องภูมิสถาปัตย์แหละ แต่ผมคิดว่าผมเป็นคนออกแบบโลกแวดล้อมมากกว่า คือโลกทั้งหมดที่แวดล้อมชีวิตคน ทั้งที่อยู่อาศัย ทั้งสภาพแวดล้อม

โลกแวดล้อมที่ดีต้องเป็นยังไง

กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งมาก ใช้พลังงานน้อยๆ ใช้ทรัพยากรน้อยๆ อยู่แล้วผาสุก

ความผาสุกมีหลายแบบไหม หรือมีแบบเดียว

ความผาสุกยั่งยืนมีแบบเดียว สุข สงบ ไม่วุ่นวาย ถ้าผาสุกแบบมีตังค์แล้วกินอาหารดีๆ เดี๋ยวก็ป่วย ถ้าผาสุกแบบมีเมียเด็กสวยๆ ไม่กี่ปีเมียก็แก่ แต่ผาสุกยั่งยืนคืออยู่กับธรรมชาติ สงบ

กลมกลืนกับธรรมชาติต้องเป็นยังไง

ไม่ได้กลมกลืนแค่การออกแบบ แต่การจัดการต้องกลมกลืนด้วย บางโรงแรมที่ได้รางวัลด้านการออกแบบที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เขาจ้างคนไปพ่นยาฆ่าสิ่งมีชีวิตที่ผิวดินใต้ถุนทุก 14 วัน แมลงสัตว์เลื้อยคลานตายหมด เพราะถ้างูเลื้อยเข้าไปเดี๋ยวแขกข้างบนตกใจ ต้องฆ่า งูเข้าบ้านไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด สถิติคนเจ็บเพราะประสบอุบัติเหตุหลังร้านเหล้าปิดเยอะกว่าโดนงูฉกอย่างเทียบกันไม่ได้ เราควรอยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง พอไปทำร้ายชีวิตอื่น สุดท้ายชีวิตตัวเองก็ร้อนรุ่ม

การมีงูในโรงแรมดียังไง

ก็เป็นธรรมชาติของมัน เราต้องหาทางจัดการให้อยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ใช่ฆ่าทิ้งให้หมด วิธีฆ่าไม่ได้ใช้สมองเลย ด้วยระบบนิเวศเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ มีงานหนึ่งที่สมุย ผมออกแบบให้มีเสานกสูง 4 เมตร เป็นบ้านนกแสก สร้างเป็นรังหันหน้าแนวเหนือใต้ เดี๋ยวนกแสกเข้าแน่ๆ กลางคืนนกแสกจะมาเกาะตรงนี้ งูเลื้อยมานกแสกก็คาบไปกินเลย หนูวิ่งนกแสกก็กินเลย นกแสก 1 ตัว กินหนูได้ 4 ตัวต่อคืน นกแสกเป็นสัตว์ที่ให้คุณ เราก็เอาเขามาอยู่กับเราได้นี่ เราจัดการออกแบบพื้นที่ให้คนกับงูไม่ต้องมาเจอกันได้ กรณีที่แย่ที่สุดคือ สั่งเซรุ่มมาเผื่อไว้

เราออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติมากๆ ได้ไหม

มีน้องคนหนึ่งมีที่ดินอยู่ 7 ไร่ที่มหาสารคาม จะสร้างเป็นหอพัก เดือนหนึ่งเก็บค่าเช่าได้สักสามแสนบาท วันดีคืนดีก็คิดว่าไม่สร้างหอพักเต็มพื้นที่แล้ว ถ้าคนในบ้านเมืองมีที่ดินหนึ่งไร่ก็เทปูนหนึ่งไร่ มีสองไร่ก็เทปูนสองไร่ ระบบระบายน้ำของเมืองจะมีปัญหา ของแบบนี้ไม่ต้องรอกฎหมายมาบังคับให้เราทำ ทำเองได้เลย น้องคนนี้เลยเปลี่ยนมาทำป่ากลางเมืองแทน ปลูกป่าแบบที่ราบอีสาน จัดสรรพื้นที่แล้วมีที่โล่งๆ อยู่ 3 แปลงในป่า น้องเขาเชื่อว่าถ้าปล่อยเช่าจะได้รายได้เท่าสร้างหอพักเต็มพื้นที่

ถ้าบ้านเราไม่ได้มีที่ขนาดนั้น

หน้าบ้านมีที่ 16 ตารางเมตรก็ทำได้ ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเลย ไม่ต้องดูแลมาก ให้ความรู้สึกเป็นท้องถิ่นด้วย ประเทศเราอยู่ในเขตศูนย์สูตร มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ต้นกระโดน กระบก ใบสวยมาก มีความสง่างาม แล้วที่สำคัญทุกอย่างกินได้ ตะคร้อก็อร่อย เดือดร้อนก็ตัดขาย เขียงไม้ตะคร้ออันละ 500 บาทนะ เพราะไม้ ตะคร้อแข็ง ดูดมีดมากกว่า ชิ้นส่วนของไม้ตะคร้อเป็นสมุนไพร ผสมกับอาหารไปก็ได้ประโยชน์ ต้นพะยอมก็มีดอกหอม ดอกเอาไปชงชาได้ แก่นพะยอมเอาไปขายพวกแม่กลองใช้เคี่ยวน้ำตาล ต้นพะยูงนี่รัฐไม่ปลูกแล้ว เราปลูกเลย มะค่าโมง มะขาม ก็ปลูกไป

ทำไมการปลูกสวนป่าที่มีระบบนิเวศถึงดีกว่าสวนสวยๆ ที่เราคุ้นกัน

สวนประดิษฐ์บางสถานการณ์ก็ดี แต่ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ บางสถานการณ์เป็นป่าอาจจะดีกว่า บางทีสนามก็จำเป็น บางทีลานก็จำเป็น เราทำสวนแบบเดียวแล้วละทิ้ง Culture Landscape ไปเลยไม่ได้ ประเทศเรามีความหลากหลายทางความรู้มาก เพียงแต่เราไม่มีแววตาเห็นถึงความหลากหลายนั้น เรามองไปข้างนอกแล้วทิ้งทุกอย่างไปเลย โชคดีการแพทย์แผนไทยเขาคุ้มครองได้ อาหารไทยเขาคุ้มครองได้ ภูมิปัญญาในการจัดการแวดล้อมก็ควรจะคุ้มครองไว้ด้วย

แล้วทำไมเราถึงไม่เห็นค่าของสิ่งนี้

เพราะเราบ้าฝรั่ง เชื่อว่าฝรั่งเหนือกว่าทุกเรื่อง ซึ่งไม่จริง มนุษย์เทียบกันไม่ได้ ความรู้ในโลกมีแบบเดียวไม่ได้ เนเธอร์แลนด์ก็เนเธอร์แลนด์ อังกฤษก็อังกฤษ ไทยก็ไทย ถ้าวันหนึ่งความรู้ใดมีปัญหา ความรู้อื่นจะได้ช่วยเขาได้ ฉะนั้น ทุกคนต้องพัฒนาความรู้ของตัวเองขึ้นมา ต้องดำรงตัวเองไว้ แต่ก็ไม่ใช่อหังการจนไม่ดูความเปลี่ยนแปลงของโลก

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก
จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

ลานดินดีกว่าลานคอนกรีตยังไง

พื้นที่ที่เป็นลานปูนร้อยเปอร์เซ็นระบบระบายน้ำจะมีปัญหา ปล่อยความร้อนให้เพื่อนด้วย อย่างน้อยระบบนิเวศที่อยู่ใกล้เราหน่อยสัก 30 เปอร์เซ็นต์ควรปล่อยให้เป็นลานดิน ลานดินทำให้สัตว์เลื้อยคลานเลื้อยไม่ได้ คนที่ปูหญ้าติดบ้านใหม่ ปลวกก็ขึ้นบ้านเลย ต้องเอาสารเคมีโหดๆ ไปฆ่าปลวก ตายพร้อมกันทั้งปลวกทั้งเจ้าของบ้าน แต่ลานดินมันร้อน ปลวกมันเดินไม่ได้ งูเลื้อยไม่ได้ ปลวกจะเดินบนผิวดินไก่ก็จิก แล้วจะไปใช้ยาฆ่าปลวกทำไมล่ะ เราจะไม่ฆ่าอะไรทั้งนั้น

ทันทีที่แดดส่องไปที่ลานดิน ความร้อนจากลานดินจะลอยตัวขึ้นสูง ความเย็นจากป่ารอบๆ จะมาแทนที่ ทันทีที่มีแดด ที่แปลงนี้ก็จะมีลม เป็นระบบปรับอากาศโดยการจัดการภูมิทัศน์รอบๆ คนโบราณเขาคิดเรื่องนี้ไว้นานแล้ว

ภูมิสถาปนิกควรคิดให้ไกลกว่าออกแบบสวนสีเขียว

พื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่มีต้นไม้ใหญ่ มีหญ้านวลน้อย มันต้องมีมิติมากกว่านั้น มันต้องเป็นอาหาร เป็นยา เป็นร่มเงา เป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์ซึ่งเกื้อกูลชีวิตคน เวลาเราจะทำอะไร จัดการอะไร เรามักจะไม่คิดถึงชีวิตอื่นว่าเขาก็มีสิทธิ์ดำรงอยู่บนโลกนี้เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจเขา มีการจัดการให้เขามาอยู่ร่วมกัน นกทั้งหลายจะช่วยควบคุมแมลง ควบคุมสัตว์ไม่พึงประสงค์ให้เรา ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจภูมิประเทศ ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ไม่ต้องฆ่างู ฆ่าแมลง ฆ่าปลวก

อาจารย์ขายไอเดียประหลาดเหล่านี้ยังไงให้ผ่าน

มันก็ไม่ประหลาดนะ สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ต่างหากที่ประหลาด ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องดี เป็นกุศล เป็นความปรารถนาที่ดี ทำที่อยู่ให้สรรพสัตว์ ได้บุญยิ่งกว่าสร้างโบสถ์อีก ผมก็ได้แต่บอกว่า อย่าทำแบบเดิมๆ เลย อย่าไปฆ่านู่นฆ่านี่เลย เชื่อเถอะครับท่าน

สถาปนิกหลายคนอิจฉาโจทย์ที่อาจารย์ได้รับ มีคำแนะนำไหมว่าทำยังไงเขาถึงจะได้โจทย์แบบนี้บ้าง

คุณอาจจะยังทำงานหนักไม่พอ ยังใช้ชีวิตไม่หนักพอหรือเปล่า ผมเดินจากเหนือมาถึงเมืองกาญจน์ ผมมีชีวิตที่ตรากตรำ ผมออกภาคสนาม ไปเก็บความรู้ ถ้าคุณหน้าใสๆ คนจะเชื่อคุณหรือเปล่า คุณพูดเรื่องงูจงอางเพราะคุณดูคลิปมาเล่า แต่ผมเล่าเรื่องงูจงอาง คนฟังได้ยินเสียงเลยว่าตัวมันเสียดสีกับดินยังไง ตอนที่มันพุ่งมาฉกเราเป็นยังไง เพราะเราเจอมาจริงๆ แล้วเขาจะเชื่อใคร สิ่งที่คุณไปเสิร์ชมามันไม่ใช่ความรู้ มันเป็นข้อมูล คุณแค่เอาข้อมูลนั้นมาเล่าต่ออีกที คนฟังเขาก็มีข้อมูล แต่สิ่งที่ผมบอกมีข้อมูล มีประสบการณ์ด้วย มีนิเวศด้วย ถ่ายทอดแบบลึกซึ้ง จริงใจ

บางงานอาจารย์ก็ได้รับโจทย์ง่ายๆ ธรรมดาๆ แต่ทำไมอาจารย์ถึงพางานไปได้ไกลมาก

มันต้องใช้พลังภายใน ต้องมีแรงปรารถนาภายใน ถ้าคุณมีชีวิตที่ไม่มีแรงปรารถนา อายุไม่ถึง 40 ตาก็ปิดไปครึ่งหนึ่งแล้ว พลังชีวิตตก สิ่งที่ผมทำทำให้ได้พลังชีวิต แล้วพลังชีวิตนั้นเราก็เอามาใช้กับงาน

คนอื่นทำงานแล้วพลังชีวิตลด ทำไมอาจารย์ทำงานแล้วพลังชีวิตถึงเพิ่ม

เรามองงานต่างกันหรือเปล่า ทุกงานของผมทำให้เกิดที่อยู่ของสรรพชีวิต ปีหนึ่งผมปลูกต้นไม้เป็นแสนต้น มันจะกลายเป็นที่อยู่ของสัตว์อีกนับล้าน ทำแล้วก็ไม่เหนื่อย เราต้องไม่จบแค่ข้อจำกัด

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

อาจารย์มองว่างานคืออะไร

เป็นวัตรปฏิบัติของชีวิตที่ทำให้เรางอกงาม งอกเงย ทำให้ชีวิตมีพลัง ทุกการงานทำให้เกิดบารมีสั่งสม แต่ต้องเป็นภารกิจเหนือชีวิตนะ ทำงานก็ต้องเอาตายนะ ไม่ใช่ทำแบบหาค่าเทอมลูกไปวันๆ แบบนั้นคุณจะหมดแรง คนเห็นแล้วก็บอกว่า คิดแค่นี้เองเหรอ แล้วมันจะได้พลังชีวิตไหม

อาจารย์เคยทำงานแมสๆ ง่ายๆ โดยไม่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมองค์รวมบ้างไหม

ไม่ โจทย์พื้นๆ ผมก็สร้างความยากให้มันเองเสมอ คือนำพาความยากมาใส่ตัว เรื่องการงานนะไม่ใช่เรื่องชีวิต

ถ้าลูกค้าบอกของ่ายๆ ได้ไหม ไม่มีเงิน

ไม่ได้ใช้เงินครับพี่ ใช้สมอง ผมจะพูดจนเขาเห็นด้วยว่า เออจริง ใช้เงินเพิ่มอีกนิดหนึ่งแล้วได้ของที่ดีขึ้น ผมชอบพูดบ่อยๆ ว่า มันจะไปยากอะไรวะ พี่ต่อบอกว่า ให้งบผมปลูกป่าดูแลจนโตไร่ละหมื่นบาทใช้ 3 ปี ผมบอกว่าเดี๋ยวผมจะไม่ใช้เครื่องยนต์ในไร่ด้วยนะ ไม่ใช้เครื่องตัดหญ้า ใช้มือถางเอา

การดูแลพื้นที่ 200 ไร่ ด้วยเครื่องตัดหญ้าไม่ดีตรงไหน

คุณทำสวนเกษตรอินทรีย์แล้วใช้เครื่องตัดหญ้าสะพาย หนึ่ง ไอน้ำมันก็ตกลงไปสะสมในดิน คุณมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไง สอง แพง สาม คนใช้สุขภาพไม่ดี ผมทดลองถางมือ 200 ไร่ได้แล้วนะ ไม่ใช้เครื่องตัดหญ้า แต่สร้างการวิวัฒน์ของร่มเงาให้มันบังหญ้า พร้าตัดหญ้าในประเทศไทยมีประมาณ 50 ชนิด สารพัดแบบเลย ออกแบบมาตามภูมิประเทศ เป็นพร้าที่ดีมาก ถ้าคุณไม่ใช้มันหายไปหมดเลยนะ

เคยถามตัวเองไหมว่า ทำไมถึงต้องคิดแบบนี้ทำแบบนี้ให้ตัวเองเหนื่อยขึ้น

มันดีขึ้นไง ไม่เสียชาติเกิด เราเกิดมาก็ต้องทำให้ดีที่สุดสิ

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้เปลี่ยนหมู่บ้านร้างให้เป็นป่าจนมีเสือมาคลอดลูก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ