เสียงนกเค้ากู่บอกเวลา 5 นาฬิกา 30 นาที 

เป็นเวลาตื่นนอนของ อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกผู้มองว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ 

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

บ้านของอาจารย์อยู่ที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน บนแปลงที่ดินใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมืองและเขตอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล พื้นที่ป่าใหญ่ส่งผลให้บริเวณข้างเคียงอุดมสมบูรณ์ด้วยอากาศแบบที่สูดได้เต็มปอด

ถัดจากนั้นไม่ถึง 5 นาทีคือกาดบ้านทาดอยแก้ว ตลาดขายอาหารป่าที่คนท้องถิ่นเก็บได้ตามฤดูกาล บ้างก็เหลือกินจากในครัวเรือน

เขาว่า “ชอบยังไง ก็ไปอยู่อย่างนั้น” 

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

บ้านของเขาจึงออกแบบให้ตอบรับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ท่ามกลางสวนป่าทำมือที่ใช้เวลาดูแล 40 ชั่วโมงต่อเดือนจนมีพืชมากกว่า 250 ชนิด หาเทคนิคที่ทำให้คนอยู่ร่วมกับสัตว์ในธรรมชาติได้ สร้างทุกอย่างจากวัสดุท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วในท้องที่ และคุณไม่มีทางได้เห็นไม้ขัดมันเรียบกริบที่นี่ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบคือร่องรอยแห่งเรื่องราว ส่วนเรื่องราวคือมนต์เสน่ห์

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

อาจารย์จุลพรเชื่อเรื่องบ้านผาสุก จึงออกแบบบ้านทุกหลังโดยใช้ ‘ความน่าอยู่’ นำ และ ‘ความสวย’ เป็นรอง

“แล้วคนชมว่าบ้านอาจารย์สวยเยอะไหมคะ”

บ้านอาจารย์มีสองชั้น ชั้นล่างทำจากดินผสมฟางและแกลบ ส่วนชั้นบนเป็นไม้ มองเผินๆ กลมกลืนกับบ้านหลังอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน แต่หากดูดีๆ จะเห็นรายละเอียดการออกแบบที่ผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วน

“ส่วนใหญ่เขาไม่ชมว่าสวย เขาจะว่าว่าน่าอยู่ดี นี่อาจารย์พยายามจัดแล้ว แต่จัดได้ระดับหนึ่ง 

“รกๆ หน่อยนะ ไม่ต้องเกรงใจ”

01

20 กว่าปีมาแล้ว อาจารย์จุลพรย้ายมาลำพูนเพื่อคุมงานก่อสร้างแถวชานเมือง แล้วก็ตกหลุมรักลำพูนง่ายๆ เพราะเป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่ อุดมไปด้วยธรรมชาติ น่าอยู่ ผู้คนมีมิตรไมตรีดี และประชากรไม่หนาแน่น 

เขาเล่าย้อนไปถึงบ้านหลังแรกในชีวิต

บ้านหลังแรกอยู่ย่านวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร เดิมทีชื่อวัดท้ายตลาด ก่อนจะย้ายไปอยู่เกาะสมุยซึ่งเป็นถิ่นฐานของปู่ บ้านหลังที่ 2 ของเขาเป็นบ้านในตลาด ด้านหลังเป็นทะเล สมัยนั้นบนเกาะมีรถยนต์แค่ 5 คัน ไม่มีไฟฟ้า สงบแบบที่ในวัยเด็ก อาจารย์เคยเห็นโลมากระโดดจากหลังบ้านมาแล้ว

บ้านหลังที่ 3 ของเขากลับมาที่กรุงเทพฯ เป็นคูหาในชุมชนเจริญพาศน์ที่อบอุ่นด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย แขก และจีน มีความเกื้อกูลกันสูง คำว่าบ้านของเขามีลักษณะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามถิ่นฐานและรูปแบบของชีวิต ณ ชั่วขณะนั้น

แต่เขามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าอายุ 30 แล้วยังไม่มีบ้านของตัวเอง จะไม่มีบ้านไปจนแก่

02

บ้านหลังแรกของตัวเองอยู่ที่ลำพูน เป็นบ้านปูนขนาด 100 ตารางเมตร คุ้มแดด คุ้มฝน ก่อนจะขยับขยายย้ายมาที่นี่ ซึ่งเป็นบ้านหลังที่ 2

ความไม่ประทับใจแรกของที่ดินแปลงนี้คือ แล้ง แต่เป็นเงื่อนไขทางพฤติกรรมทำให้ต้องย้ายมาเพราะอยู่หลังโรงเรียนที่ภรรยาเป็นครูสอน อาจารย์เริ่มจากเปลี่ยนดินโดยขุดความลึกออกราวๆ 1 ฟุต แล้วค่อยๆ ทดลองปลูกสวนป่าของตัวเองในเวลาต่อมา

“เราต้องทำให้เกิดการตรึงน้ำจากธรรมชาติไว้ก่อน อย่างเช่นต้นมะม่วง ปกติมะม่วงติดดอก เราต้องรดน้ำ แต่นี่ผมไม่ต้องรดน้ำเลย ห่อแล้วรอกินอย่างเดียว เพราะเขาได้น้ำจากต้นตะเคียน เขาอยู่กับไม้ป่าที่อุ้มน้ำให้เขา แล้วก็ต้องปรับปรุงคุณภาพดินด้วยพืชตระกูลถั่ว หมั่นเอาเศษพืชถม จึงเริ่มทยอยเพาะปลูก ดูการเจริญเติบโต ดูปัญหาของมัน เพาะปลูกแล้วคุณต้องแต่งกิ่งให้เขาสดชื่น ต้นไม้ก็ต้องการความช่วยเหลือ นี่ไม่ใช่ป่า นี่มันสวน เราต้องจัดการบ้าง”

เริ่มจากต้นลั่นทม ต้นประดู่ป่า ไม้แดง และต้นไม้ที่ทนแดดทนฝนอื่นๆ 

เขาเล่าว่า ดินในพื้นที่ขนาด 6 ไร่ไม่เหมือนกันทั้งหมด ต้นไม้ที่เลือกปลูกในแต่ละจุดก็ไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งเป็นสวนป่า ตรงกลางเป็นนา อีกด้านหนึ่งก็เป็นสวนป่า แต่เป็นป่าริมห้วย 

จากที่ดินแห้งแล้งเมื่อ 15 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นบ้านสวนป่าที่มีพืชพรรณกว่า 250 ชนิด

“พริกเอย กระเจี๊ยบเอย ถั่วเอย มะม่วงเอย”

ผลผลิตที่ทานในครอบครัวไม่หมดจะถูกแจกจ่ายไปยังคนรู้จัก 

03

การทำสวนสำหรับอาจารย์จุลพรคือศิลปะ ทุกเช้าตอนตี 5 ครึ่ง เขาจะตื่นมาถางพืช เบ็ดเสร็จแล้วเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อเดือนในการดูแลสวนป่าในบ้าน เขาอธิบายแบบนี้

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

ถ้าเราใช้เครื่องตัดหญ้าถางลูกใต้ใบ มันจะหายวับไปกับตา แต่หากอยากรักษาลูกใต้ใบไว้ต้องค่อยๆ เล็มออกอย่างประณีต คนทำสวนสมัยนี้พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไป ต้องใช้เคมี ต้องใช้เครื่องยนต์ เครื่องตัดหญ้าบ้านอาจารย์พังเมื่อ 3 ปีก่อน เลยตัดสินใจไม่ซื้อใหม่และลองทำด้วยมืออย่างเดียว

“ทำเองทุกอย่าง ผ่าฟืน ผ่าไม้ ทำสวน ทำงานใบไม้ ขุดดิน ความอดทนทำให้เราสำนึกคุณค่า ผมปลูกต้นไม้ต้นเล็ก ผมรอได้ รอให้มันโต ผมอยากได้ตะเคียนใหญ่ ไปซื้อแบบนี้ก็แปดพัน แต่ถ้าซื้อมามันต้องค้ำไว้ตลอดชีวิต ผมได้เปรียบคนอื่นเพราะนี่คือพื้นที่ทดลอง เรานอนในห้องทดลองตลอดเวลา ก็เลยเห็นรายละเอียด จะจัดการยังไงไม่ให้มีแมลง ไม่ให้มีสัตว์เลื้อยคลานมารบกวน จะทำยังไงให้ต้นไม้โตเร็ว จะทำยังไงให้ต้นไม้อุ้มน้ำได้ คิดปุ๊บก็ขยับทำได้เลย เพราะเรานอนที่นี่ ถ้าเรานอนในเมืองคิดแบบนี้กว่าจะได้ทำเมื่อไหร่ล่ะ แต่เราได้ทำเลย ได้เห็นผลสัมฤทธิ์เลย

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

“ผมชอบงานใช้แรงงาน แต่งต้นไม้ก็ใช้แรงงาน มีลูกศิษย์ไปซื้อที่ไร่หนึ่ง โอนที่เสร็จ ซื้อเครื่องตัดหญ้าอีกหมื่นหนึ่ง ที่คุณไร่เดียวเอง คุณไม่ต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรอก ไม่ต้องจ้างคนด้วย งานพวกนี้ทำสนุกจะตาย แข็งแรงด้วย คุณไปฟิตเนส แต่งานสวนไปจ้างเขาทำ”

เขาหัวเราะพลางเล่าเรื่องลูกศิษย์ที่แวะมาเยี่ยมเมื่อเช้า ว่าดูรูปแล้วแยกไม่ออกว่าคนไหนอาจารย์คนไหนลูกศิษย์

04

บ้านของอาจารย์จุลพรมีสองชั้น ชั้นหนึ่งใช้วัสดุเป็นดินผสมฟางและแกลบ ชั้นสองเป็นไม้ พื้นที่ใช้สอยแบ่งออกหลวมๆ ด้านล่างมีห้องอเนกประสงค์ ห้องทำงาน ห้องครัว และห้องนอนอยู่ด้านบน

ส่วนอีกหลังเป็นบ้านชั้นเดียวของลูกสาว

สร้างเอง บางคราวก็มีลูกศิษย์และช่างไม้มาช่วย

เหตุผลที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นดิน เป็นฟาง เป็นไม้ เพราะหากวันหนึ่งเขาไม่ได้ใช้บ้านหลังนี้ หรือลูกย้ายออกไปก็จะไม่เกิดขยะ เหมือนโซฟาหรือที่นอนสปริงที่เรามักเห็นคนนำไปทิ้งริมถนน

ย้อนไปตอนอาจารย์เริ่มสร้างบ้านหลังนี้มีโจทย์ 2 ข้อใหญ่ๆ

หนึ่ง ต้องประหยัด 

สอง เป็นที่ทดลองการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง
บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

“ทุกวันนี้มนุษย์อยู่บ้านแบบติดอะลูมิเนียม มีมุ้งลวด ติดแอร์ แบบริ้นไม่ไต่ไรไม่ตอม อยู่คอนโดฯ ยิ่งหนัก อยู่สบาย แต่ทำให้เราอ่อนแอเพราะร่างกายไม่ได้เจอกับสิ่งเร้าภายนอก แต่มันเป็นเงื่อนไขของแต่ละคนนะ สำหรับผม ผมอยากให้ลูกอยู่แบบนี้ ถ้าเจอปัญหาก็จัดการเอา บ้านเราไม่มีแอร์ ถ้าร้อนแล้วติดแอร์ ทุกคนจะเย็น แต่ผมยืนกรานว่าไม่ติด ถ้าแมลงเยอะก็ถางให้รอบบ้านโล่ง พัดลมช่วยได้นิดหน่อย แต่ก่อนไม่มีมุ้งลวดเลย ตอนนี้ติดที่ห้องนอนแล้วเพราะหน้าฝนแมลงเยอะ ทันทีที่เรามีการปรับตัว ความแข็งแกร่งของร่างกายจะค่อยๆ สถาปนาขึ้นตามลำดับ 

“ถ้าไม่ชอบตุ๊กแกก็มีเทคนิคให้เอาน้ำมันยางมาผสมพริกป่นแล้วทาเข้าไป กระเจิง แสบท้อง อยู่ไม่ได้ เป็นวิธีที่ทำได้ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ แล้วก็ไม่ได้เสียทรัพย์เยอะ หรือถ้ากลัวสัตว์พวกงู ผมก็ทำลานดินไว้ไม่ให้มันเข้ามาใกล้เกิน เขาไม่ชอบลานดิน เลื้อยไม่สะดวก ซ่อนไม่ได้ เจ็บท้อง ถ้าไม่ชอบก็จะไม่มาไม่ต้องจ๊ะเอ๋กัน เขาก็จะดำรงอยู่ได้และผมก็ไม่กวนเขา เพื่อนให้เซรุ่มมาติดไว้ ยังไม่เคยใช้เลย อย่างหมาที่บ้านจับงูเก่งมาก กลัวงูหมดสวน เสียระบบนิเวศ เลยต้องขังไว้บ้าง”

เขาชี้ไปที่ ฮอนด้า ฮาน่า และน้ำฝาง สุนัขนักล่าพันธุ์แจ็กรัสเซลสามพ่อแม่ลูก

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

“ทุกครั้งที่ไปบรรยายก็พยายามบอกอยู่เสมอว่าต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ อย่าไปบอกบริวารให้ไล่ตีหมด ต้องไม่ตีเลย ทุกคนกำลังมีภาพว่าเดินๆ อยู่เจองูเห่า เห่าโฮ่งๆ เหมือนหมาบางแก้ว ไม่ใช่แบบนั้น งูก็กลัวคน”

ทั้งพืชและสัตว์คือระบบนิเวศที่อาจารย์พยายามรักษาไว้ในบัาน ทุกหน้าร้อนจึงมีนกกางเขนดงแวะเวียนมาหา มาร้องเพลงให้ฟัง มาวางไข่ ปีหนึ่งมาอยู่ 2 เดือน ส่วนตอนกลางคืนมีนกแสก เพิ่งรู้ว่าใต้หลังคาบ้านที่อาจารย์เจาะช่องไว้ก็เพื่อให้นกแสกเข้าไปจัดการหนูบนฝ้าเพดาน ส่วนตุ๊กแกไม่ต้องพูดถึง อยู่บ้านนี้ไม่กล้าร้องเสียงดัง กลัวนกแสก อยู่ได้เดี๋ยวเดียวก็ไปเสียแล้ว

05

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

ข้างบ้านด้านหนึ่งมีอุปกรณ์ทำสวนของอาจารย์วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ อีกสองด้านวางโอ่งราชบุรีไว้เก็บน้ำ แปลนบ้านถูกออกแบบมาอย่างเรียบง่าย เขาดูตามทิศตะวันและทางลม ทดลองอยู่แล้วไม่สบายก็ปรับใหม่ 

อาจารย์วางห้องครัวไว้ทางทิศตะวันตกจะได้โดนแดดเยอะๆ เพราะความร้อนช่วยเรื่องความสะอาด ฝาผนังห้องครัวตีไม้ระแนงตามตั้งช่วยในการระบายอากาศ และเวลาทำครัวหรือล้างจานก็จะได้มองออกไปเห็นนกด้านนอก 

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

“เรื่องแสงของสถาปัตยกรรมในเอเชีย คนที่อยู่เส้นศูนย์สูตรต้องมีความสลัว ถ้าคุณอยู่ในที่แสงจ้าๆ คุณหลับไม่ได้ มันรบกวนกระบวนการที่ทำให้เราผ่อนคลาย ความสลัวสัมพันธ์กับต่อมไร้ท่อ ถ้าต่อมไร้ท่อทำงานได้ดี ร่างกายก็ผ่อนคลาย ถ้าทำงานผิดปกติก็ตึง ตึงเสร็จโรคอายุรกรรมก็จะติดตามมา ความสลัวจะบังคับให้เราพัก”

“แต่หนูจะขี้เกียจ”

“อันนี้ไม่เกี่ยวกับบ้าน ถ้ากลัวขี้เกียจ เสร็จภารกิจทุกอย่างแล้วค่อยเข้าไปให้ถูกเวลา นาฬิกาชีวิตต้องพัก ถ้าห้าทุ่มยังตื่นตัวอยู่นี่ไม่ดีแล้ว”

หัวนอนของอาจารย์อยู่ทางตะวันตกที่หลายคนบอกว่าฮวงจุ้ยไม่ดี แต่สำหรับเขา ทิศตะวันตกทำให้หลับดีกว่าทิศอื่น ตอนเช้าก็มีแสงอาทิตย์กระทบตาให้ตื่นพร้อมเสียงนกเค้ากู่ตอนตี 5 ครึ่งตรงเวลาทุกวัน

06

‘พฤติกรรมเป็นอย่างไร’ เป็นสิ่งแรกที่อาจารย์จุลพรถามเจ้าของบ้านที่ให้เขาออกแบบบ้านให้ 

บ้านผาสุกในความหมายของเขาคือบ้านที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต ร่มเย็น น่าอยู่อาศัย 

“ทุกคนไปติดกับคำว่าสวยไม่สวย สมัยก่อนไม่มีใครชมใครว่าบ้านสวย มีแต่ชมว่าบ้านน่าอยู่”

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง
บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

บ้านน่าอยู่สำหรับอาจารย์ต้องใช้วัสดุธรรมชาติ จัดการแสงให้เหมาะสม มีความสลัว ร่มรื่น มีสรรพชีวิตมาอยู่ด้วย ไม่รกรุงรังจนเกินไป และบ้านหลังนี้ตอบถูกทุกข้อ ความน่าอยู่ดูได้จากผลกระทบทางตาเห็น บ้านที่ไม่มีเส้นเรขาคณิตแข็งๆ ไม่มีวัสดุสังเคราะห์กระด้างหรือเหลี่ยมมุมคมๆ คุ้มแดด คุ้มฝน โปร่ง โล่ง มีปฏิสัมพันธ์กับลมและแสงอาทิตย์

“แบบนี้มันตรงกับวิถีชีวิตผม ผมเป็นชาวสวน นี่คือบ้านชาวสวน ไม่ใช่ชาวกาแฟที่ต้องเนี้ยบๆ หรือชาวสปาเกตตี้ชาวพิซซ่า อาหารก็พื้นบ้าน กินแบบนี้ แล้วในป่ามีเห็ดอีกสารพัดชนิด ยอดไม้ ที่เพาะปลูกเองก็กินไม่หวาดไม่ไหว อาหารที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เราดำรงอยู่เป็นเรื่องสำคัญ มันทำให้ร่างกายดี สติปัญญาดี บ้านต้องน่าอยู่ อยู่แล้วสบายก่อน สวยไม่เป็นไรค่อยว่ากัน

“คนจะติดว่าบ้านน่าอยู่คือต้องเป็นแบบที่คุณเห็นบ่อยๆ ตามสมัย สถาปนิกก็ชอบ ถ่ายรูปออกมาสวย แต่คนอยู่เก๊กซิม อยู่แล้วก็ไม่น่าอยู่เพราะค่าไฟเดือนละสามหมื่น สุดท้ายคุณชอบยังไง ก็ไปอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่แล้วมันโอเคค่าใช้จ่ายเหมาะสม คุณอยู่ต่อไป แต่ถ้าอยู่แล้วไม่โอเค ค่าใช้จ่ายไม่เหมาะสม สุขภาพไม่ดีขึ้น สมรรถภาพตัวเองกับโลกภายนอกมันด้อยลง ก็ต้องตั้งคำถาม ที่บอกอยากไปอยู่กับธรรมชาติ ต้องเข้าใจว่าการอยู่กับธรรมชาติก็ต้องละลายไปกับธรรมชาตินะ ไม่ใช่แบกแอร์ไปด้วย ลูกค้าบางคนขอติดแอร์ ผมบอกที่ให้ติดเครื่องทำน้ำอุ่นก็ยอมคุณเยอะแล้วนะ มันคือการอย่าอยู่อย่างอยากนั่นแหละ”

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพาณิช ซึ่งออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

07

ที่แม่ทาไม่มีร้านสเต๊ก ไม่มีร้านกาแฟสวยๆ ไม่มีโรงเรียนนานาชาติ 

อาจารย์จุลพรทานข้าวที่บ้าน ยกเว้นวันที่ออกไปทำงาน ชอบอาหารถิ่นที่หาได้จากธรรมชาติ ไม่ก็มาจากสวน แวะดื่มกาแฟที่ร้านในปั๊มละแวกนั้น ส่วนลูกสาวก็เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ลำพูนไม่มีห้างใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้จึงซื้อจากคนเฒ่าคนแก่ที่ทำงานฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจชุมชนขยับตัว ที่นี่เลยน่าอยู่กำลังดี ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป

“เสื้อมาจากสันป่าตอง กางเกงมาจากแพร่ ส่วนผ้านี่ของน่าน”

เขาเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้เศรษฐกิจมั่นคง อะไรที่คนในถิ่นทำได้ก็ใช้ของคนในถิ่น อะไรที่ทำไม่ได้ก็ซื้อจากข้างนอก แต่พยายามใช้ให้คุ้มค่า

“นี่คือนิยามของคำว่าสบาย ผมเคยไปอยู่คอนโดฯ อยู่ได้สองชั่วโมงอึดอัดฉิบหาย อยู่ไม่ได้ มันบอกไม่ถูก ความสบายของเราคือได้อยู่กับธรรมชาติ เคยทำงานให้ลูกค้าคนหนึ่ง เขารวยอันดับต้นๆ ของประเทศ เขามารู้ว่าผมไปนอนโรงแรมแถวสะพานควาย ซึ่งที่ไปนอนเพราะใกล้จตุจักร ผมจะไปดูต้นไม้ แกก็ให้ลูกน้องมาพาผมย้ายไปนอนโรงแรมที่หรูกว่า สุดท้ายผมนอนไม่หลับ เลยบอกคุณไปหลอกเถ้าแก่คุณว่าผมไปนอนมาแล้ว แล้วไม่ต้องมายุ่งกับผม ผมอยู่ของผมอย่างนี้สบายดี เงื่อนไขบางอย่างที่คนอื่นมองว่าสบาย แต่สำหรับผมอันนั้นน่ะลำบาก

“ลูกผมก็ชอบที่นี่ เขาเกิดที่นี่ มันร่มเย็น สงบ เขาผาสุกมาก พอเข้าไปในเมืองก็ไม่ชอบ ชอบอ่านหนังสือ ที่นี่เป็นเหมือนสวรรค์ของเขา”

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

08

ลำพูนเป็นเมืองไม่เร็ว บางคนอาจมองว่าช้าด้วยซ้ำ ในมุมมองสถาปนิกที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์กับงานที่ทำ เขาว่าเมืองแบบนี้ช่วยเรื่องจินตนาการได้ดีกว่า เพราะไม่ถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น 

“มันเป็นองค์ประกอบที่ไม่ได้ถูกจัดสรรจัดการจนเกินไป ยังมีช่องว่างให้เราเติมจินตนาการตัวเอง ได้ออกไปเจอเพื่อนบ้านที่มีชีวิตแบบชาวบ้าน อย่างสถานที่บางที่สวยเก๋มากจนเข้าไปแล้วไม่เกิดการจินตนาการต่อ ไปครั้งที่สามก็รู้สึกเก๋นะ แต่ไม่มีอะไรเพิ่มเติม สภาพแวดล้อมใดๆ ที่มีช่องว่างให้เราคิดต่อได้ มันจะเอื้อให้เราอยากไปอีก ทุกครั้งที่ไป ช่องว่างนั้นก็ค่อยๆ โตขึ้นหรือค่อยๆ ผันแปรไปตามลำดับ”

ธรรมชาติช่วยเขาตรงนั้น เป็นเสน่ห์ของวิถีชีวิตที่ไม่ได้เนี้ยบกริบจนดูเหนือจริง ชีวิตคนก็เป็นแบบนี้ เต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง
บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

09

การใช้ชีวิตของอาจารย์จุลพรเรียบง่ายเหมือนบ้านที่อยู่ ตื่นนอนตอนตี 5 ครึ่งมาถางสวน ถางสวนเสร็จก็เตรียมฟืนก่อไฟหุงข้าว พาลูกไปโรงเรียนแล้วกลับมาดูสวนอีกครั้ง วันไหนไม่ต้องไปทำงานก็จะดูสวนต่อ พักทานข้าวเที่ยง นอนสักงีบหนึ่ง แล้วออกไปถางสวนอีก บางทีก็สลับกับลูกสาวเดินตรวจตราต้นไม้ต้นพืชรอบตัวบ้าน 

แต่อย่าเผลอไปบอกว่าชีวิตเขา Slow เชียว

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

“ชีวิตชนบทมันไม่ได้ช้าเหมือนหลายๆ คนเข้าใจนะ หลายคนบอกชีวิตชนบทเป็น Slow Life ผมไม่เห็นมีใคร Slow เลยสักคน ตีห้าเขาก็ตื่นกันหมดแล้ว

“เขาชอบถามว่า อาจารย์ Slow Life ไหม ถ้า Slow ลูกก็ไม่มีข้าวกินไปโรงเรียน ช้าไม่ได้ กับข้าวก็ต้องทำ ไฟก็ต้องก่อ สวนก็ต้องถาง ตอนเช้าพอแปดโมงผมทำอะไรไปเยอะมาก กูช้าตรงไหน กูไม่เคยได้ช้าเลย” เขาหัวเราะ

ฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล มาพร้อมกับครูน้อง ภรรยาของอาจารย์ที่แวะกลับจากโรงเรียนช่วงพักเที่ยง ทั้งคู่เข้าครัวเตรียมมื้อกลางวันสำหรับหกคน เมนูมีไข่เจียว หมูผัดกระเทียม น้ำพริกสองอย่าง ใบกระเจี๊ยบสดจากในสวน และแตงโมเป็นของหวานตบท้าย 

บรรยากาศฟ้าครึ้มและต้นไม้เขียวชอุ่ม ทำให้ลำพูนในเดือน 10 ร่มเย็นและชุ่มฉ่ำ

ถึงหน้าแล้งก็ไม่แห้งแล้งอย่างที่คิดเพราะต้นไม้เยอะ อาจจะร้อนหน่อยแต่ไม่ลำบาก แถมอาจารย์ยังได้หยุดงานทำสวนหนึ่งเดือนเต็มๆ ช่วงเมษายนให้ร่างกายได้ลาพักร้อนประจำปี

ต้นไม้ก็อยู่ของมันได้ ระบบนิเวศในสวนป่าที่ออกแบบให้ตรงกับธรรมชาติจะอยู่ด้วยตัวเองได้ เหมือนที่อาจารย์จุลพรบอกไว้ไม่มีผิด 

“พอเราเข้าใจธรรมชาติ เราจะไม่เหนื่อย”

บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง
บ้านสวนป่าลำพูนของ อ.จุลพร นันทพานิช ที่ออกแบบโดยมีธรรมชาติเป็นผู้ว่าจ้าง

รับฟังพอดแคสต์รายการ ‘ปลูก’ ที่เชิญ อาจารย์จุลพร นันทพานิช มาพูดคุยถึงวิธีการทำบ้านให้น่าอยู่และกลายเป็นบ้านที่ผาสุกได้ที่นี่

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล