สับปะรดกระป๋อง วันหมดอายุ กับการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต เรื่องราวที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน กลับการกลายเป็นสิ่งผสมกลมกลืนเข้ากันได้อย่างมีเหตุมีผล การก้าวข้ามจุดจบของสิ่งหนึ่ง การตั้งเวลานับถอยหลังเพื่อเริ่มต้นใหม่ เหมือนกับเปิดสับปะรดกระป๋องที่สดใหม่กว่า
“เมื่อไรกันที่ทุกอย่างเริ่มมีวันหมดอายุของมัน ปลากระป๋องหมดอายุ ซอสเนื้อกระป๋องหมดอายุ แม้แต่พลาสติกแรปห่ออาหารก็หมดอายุ ฉันเริ่มจะสงสัยว่ามีอะไรในโลกนี้ที่ไม่เป็นเช่นนั้น”
ประโยคเด็ดจากภาพยนตร์ใน ค.ศ. 1994 ที่ไม่มีวันหมดอายุของผู้กำกับรุ่นเก๋า หว่องกาไว (Wong Kar-wai) และ ผู้กำกับภาพ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle)
Chungking Express ภาพยนตร์ลูกผสมโรแมนติก-ดราม่า บอกเล่าเรื่องราวของชาวเมืองฮ่องกงในช่วงต้นยุค 90 ได้อย่างตรงไปตรงมา การค้นหาตัวตน การเรียนรู้ที่จะรัก และอำลาความทุกข์จากความรัก ในขณะที่ฮ่องกงนั้นกำลังนับถอยหลังในการส่งคืนอำนาจการปกครองจากอังกฤษกลับสู่จีนแผ่นดินใหญ่ใน ค.ศ. 1997
ฮ่องกงเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา อัตลักษณ์ของเมืองถูกทำให้เด่นชัดขึ้นอย่างมากภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ มีการผสมผสนานวัฒนธรรมประเพณี ภาษากวางตุ้งและภาษาอังกฤษ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและร่วมสมัย รถเข็นอาหารข้างทางและเครือข่ายร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ความรวดเร็วในการใช้ชีวิต เมืองใหญ่ที่มีทั้งความวุ่นวายและความเงียบเหงาในเวลาเดียวกัน
ตัวตนและอุปนิสัยของฮ่องกงถูกถ่ายทอดออกมาใน Chungking Express ได้อย่างกลมกล่อม รายละเอียดของการถ่ายทำ การตัดต่อ และฉากในภาพยนตร์ ถ่ายทอดกลิ่นความแออัดคับแคบของสถานที่ ห้วงเวลาและความเร็วของเมือง ตัวละครถูกสื่อสารผ่านการเคลื่อนไหวของมุมกล้อง แม้ตัวคุณจะหยุดนิ่ง แต่สิ่งรอบ ๆ ตัวคุณก็ยังเคลื่อนที่ต่อไป เช่นเดียวกันในขณะที่คุณกำลังเคลื่อนอย่างรวดเร็ว สิ่งต่าง ๆ รอบตัวคุณกลับหยุดนิ่ง และแม้แต่เพลงประกอบของหนังก็สื่อสารถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้ แม้ว่าจะไม่มีบทพูดใด ๆ
องค์ประกอบเหล่านี้หรือเปล่าที่เหล่าแฟน ๆ มักเรียกมันว่า ‘ความหว่อง’ เอกลักษณ์ของภาพยนตร์ของหว่องกาไว ที่อยู่ในองค์ประกอบของภาพ ไม่ได้มีเพียงความสวยงาม แต่แฝงไปด้วยพื้นที่ว่างรอให้ผู้ชมนำเรื่องราวของตัวเองเข้าไปใส่
เนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้มักถูกมองว่าแยกออกจากกันเป็น 2 ตอน เรื่องราวการมูฟออนจากความรักที่จบลงของตำรวจหมายเลข 223 รับบทโดย ทาเกชิ คาเนชิโระ (Takeshi Kaneshiro) ผู้ตั้งเวลาหมดอายุ 30 วันให้กับความรักของเขา หลังจากที่ถูกแฟนบอกเลิกใน April Fools’ Day ทำให้เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องล้อเล่น ในแต่ละวันเขาจะซื้อสับปะรดกระป๋องที่จะหมดอายุในวันที่ 1 พฤษภาคม ประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันครบกำหนด
และเรื่องของตำรวจหมายเลข 663 รับบทโดย Tony Leung (หรือ เหลียงเฉาเหว่ย) เขาถูกแฟนสาวพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่อาศัยอยู่ด้วยกันบอกเลิก ข้าวของเครื่องใช้และสิ่งต่าง ๆ ให้ห้องพักทำให้เขาหวนนึกถึงห้วงเวลาความสุขในอดีต จนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้
โดยตัวละครทั้งสองนั้นมักไปกินอาหารที่ ‘Midnight Express’ ร้านเคบับสแน็กบาร์ยามดึก หลังจากเลิกเวรในวันและช่วงเวลาที่ต่างกัน ทำให้ผู้ชมไม่พบตำรวจทั้งสองคนนี้เข้าฉากร่วมกันเลยในภาพยนตร์
หากมองอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นสัจธรรมของโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นได้ ผู้คนมากมายตามท้องถนนที่ไม่ได้รู้จักกัน ต่างเดินสวนกันไปมาในแต่ละวัน แม้ว่าอาจจะอยู่ใกล้กันที่สุดเพียง 0.01 เซนติเมตร แต่ละคนก็ต่างมีเรื่องราวของตนเองที่กำลังดำเนินไป โดยที่คนอื่น ๆ นั้นไม่ได้รับรู้ถึงมันเลย
เมื่อมองในภาพรวมของตัวละครอื่น ๆ แล้ว เราจะพบว่าสถาปัตยกรรมในหนังได้สร้างจุดนัดพบให้ตัวละคร สถานที่ ตึก และอาคาร ทำหน้าที่นำพาตัวละครจากตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ให้มาพบกัน ในบริบทที่ต่างกันออกไป โดยไม่จำเป็นต้องมีบทพูดใด ๆ
01
ต่ออายุ
Chungking Express เป็นภาพยนตร์ที่เฉลิมฉลองเสน่ห์ของเมืองฮ่องกงทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งด้านดีและด้านมืด
จุงกิง แมนชั่น (Chungking Mansion) เป็นฉากเปิดของภาพยนตร์ และเป็นสถานที่พบกันครั้งแรกของตำรวจ 223 ที่กำลังไล่จับผู้ต้องสงสัยกับผู้หญิงลึกลับที่ใส่วิกผมสีทอง เธอคือเอเยนต์ค้ายาเสพติดที่กำลังวางแผนลักลอบขนส่ง เธอสวมแว่นตาดำและใส่เสื้อกันฝนตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ไม่สนใจว่าวันนี้จะแดดออกหรือฝนตก
Chungking Mansion ตั้งอยู่ในย่านจิมซาจุ่ย (Tsim Sha Tsui) ฝั่งเกาลูน และยังเป็นย่านที่หว่องกาไว เติบโตมาในวัยเด็กอีกด้วย สร้างขึ้น ค.ศ 1961 เป็นอาคารคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่สูง 17 ชั้น เกิดการประกอบเข้าด้วยกันของบล็อกตึกทั้ง 5 (ตึก A ไปถึงตึก E) 2 ชั้นแรกเป็นฐานของตัวอาคารที่เชื่อมตึกทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยทะลุไปมาได้ แต่ละช่วงตึกมีลิฟต์ 2 ตัว ตัวหนึ่งให้บริการชั้นเลขคู่ อีกตัวหนึ่งให้บริการชั้นเลขคี่ และตั้งแต่ชั้น 3 เป็นต้นไป การขึ้นไปยังชั้นบนจะถูกจำกัดอยู่ในแต่ละช่วงตึกนั้น ๆ
ทุกวันนี้ตัวอาคารได้รับการปรับปรุงอยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวแมนชั่นทุกวันนี้ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านค้า เกสต์เฮาส์ โรงแรมราคาถูก ไนต์คลับ และห้องพักส่วนตัวขนาดเล็ก เมื่อมองจากรูปด้านของตัวอาคาร เราพบป้ายชื่อโรงแรมจำนวนมาก บ่งบอกถึงการแบ่งประโยชน์ใช้สอยตามระดับชั้นของอาคาร ซึ่งในหนึ่งช่วงตึกอาจจะมีโรงแรมหรือเกสต์เฮ้าส์มากกว่า 3 – 4 แห่งก็เป็นได้
การประกอบกันของฐานอาคารขนาดใหญ่ ย่อมทำให้พื้นที่ในตัวอาคารมืดและอึมครึม เพราะแสงธรรมชาติส่องเข้าไปไม่ถึงในปีที่หนังเข้าฉายนั้น อาคารแห่งนี้เป็นที่รู้กันของคนท้องที่ถึงความหลากหลายของเชื้อชาติ ผู้อพยพผิดกฎหมาย อาชญากรรม การค้าประเวณี และปัญหายาเสพติด เรียกได้ว่าเป็นย่านที่ถูกมองในแง่ลบ เป็นภาพที่ไม่สวยงามของเมือง
ในอีกด้านหนึ่งผู้อยู่อาศัยต่างมาจากพื้นเพทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ร้านค้าและแผงขายอาหารหลากหลายสัญชาติที่เรียงรายต่อกันไปจากช่วงตึกหนึ่งไปอีกช่วงตึกหนึ่ง เหมือนเขาวงกตที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป ก็นำมาซึ่งเอกลักษณ์ในความหลากหลาย ความเป็นสากลของเมืองฮ่องกง สถาพแวดล้อมทางกายภาพที่วุ่นวาย ผู้คนที่เดินสวนกันแบบไหล่ชนไหล่ เสน่ห์ของชีวิตประจำวันจากช่วงต้นยุค 90 ที่ถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้
แน่นอนว่าการตีแผ่ด้านสีเทาและปัญหาของสภาพสังคมออกมาอย่างไปตรงมา อาจเป็นการจุดชนวนปัญหากับภาครัฐซึ่งอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี แต่ในทางกลับกัน หลังจากที่ Chungking Express ออกฉาย และคว้ารางวัลภาพยนตร์มากมายในเวลาต่อมา มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดหลายร้อยตัวในอาคาร ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะของอาคารร้อยละ 90 ส่งผลให้อาชญากรรมลดลง และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว นักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์ที่เข้ามาพักในตัวอาคาร กล่าวคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ต่ออายุให้กับแมนชั่นแห่งนี้
02
หยุดเวลา
สภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่ที่ไม่หยุดนิ่ง อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กนิดเดียว ชีวิตและงานประจำวันที่ดำเนินต่อไปข้างหน้า ณ ขณะกำลังเสียศูนย์จากความรักครั้งเก่า เวลาหลังเลิกงานเพียงน้อยนิดในห้องพักสี่เหลี่ยมขนาดเล็กของแต่ละวัน ก็ไม่มากพอที่จะใช้มันระบายความในใจ เพื่อค้นหาตัวตนใหม่ของตัวเอง เรื่องราวของตำรวจไร้ชื่อหมายเลข 663 ที่มักพูดระบายความเหงากับข้าวของเครื่องใช้ในงอพาร์ตเมนต์ของเขา สิ่งของเหล่านั้นเป็นสัญญะของความทรงจำ กลิ่นของสบู่ก้อน ผ้าเช็ดตัว ตุ๊กตาตัวเล็กตัวใหญ่ เสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไว้ เขาหยุดเวลาด้วยการคงสภาพเดิมของมันไว้ เพื่อต้อนรับการกลับมาของคนรัก
ฉากอพาร์ตเมนต์ของตำรวจเบอร์ 663 นั้น อยู่ใกล้กับบันไดเลื่อนกลางแจ้งที่ยาวที่สุดในโลก จากห้องพักจะมองผู้คนอยู่บนบันไดเลื่อนได้ เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ตรงบันไดเลื่อนก็มองเห็นห้องพัก ซึ่งเฟย์มักแอบมองไปที่ห้องของตำรวจเมื่อเธอเดินผ่านที่นั้น ระยะห่างทางกายภาพระหว่างห้องพักกับตัวบันไดเลื่อน อาจเปรียบได้กับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ที่มองเห็นกัน แต่ยังมีที่ว่างของกันและกันอยู่
ตัวบันไดสร้างทางเท้ายกระดับทอดยาวผ่านถนนหลายเส้น เชื่อมระหว่างย่าน Central กับพื้นที่ย่าน Mid-level ของเกาะฮ่องกง สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1993 เป็นปีเดียวที่หว่องกาไวกำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกใช้แลนด์มาร์กแห่งนี้ในการถ่ายทำ
ความพิเศษหรือเรียกว่าเป็นเสน่ห์ของเมืองฮ่องกง คือความแตกต่างของระดับพื้น อาจเรียกได้ว่า ‘เมืองที่ไม่มีพื้น’ ด้วยภูมิศาสตร์ของเมืองที่เป็นภูเขา โครงสร้างทางเดินเท้ายกระดับที่เชื่อมต่อกับชั้นต่าง ๆ ของตึกและอาคารที่โยงใยเชื่อมต่อกันไปหมด อย่างบันไดเลื่อนแห่งนี้เป็นต้น โครงสร้างเชื่อมต่อเหล่านี้ได้สร้างนิยามใหม่ให้ระดับพื้นของตึกอาคาร ชั้นที่สูงที่สุดของตัวอาคารจากถนนด้านหนึ่ง อาจกลายเป็นล็อบบี้ชั้นแรกของตัวอาคารที่เราจะต้องกดลิฟต์ลง เพื่อลงไปชั้นล่างของตัวอาคาร
เฟย์ หว่อง (Faye Wong) หญิงสาวพนักงานจากร้านฟาสต์ฟู้ด Midnight Express ร้านประจำที่เขามักแวะไป เธอเป็นผู้ที่ลักลอบเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของตำรวจผู้นี้อย่างช้า ๆ ผ่านการทำความสะอาด ปัดฝุ่น และเปลี่ยนแปลงสิ่งของเครื่องใช้ในห้อง แม้แต่สีของผ้าปูที่นอน รองเท้าแตะ และผ้าทำความสะอาดก็ถูกเปลี่ยน
เป็นไปได้หรือไม่ที่สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดี ถูกสุขลักษณะ และการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเก่า ๆ นั้นช่วยบรรเทาจิตใจคนได้ การออกจากกิจวัตรประจำวันเดิม ๆ ค่อย ๆ รักษาแผลใจ และทำให้บรรยากาศในชีวิตของตำรวจผู้นี้ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ถ้าสับปะรดกระป๋องเปรียบเหมือนกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ แต่ละกระป๋องต่างเหมือนกันไปหมด วันหมดอายุคือการเลิกรา การสิ้นสุดความสัมพันธ์ การทิ้งสับปะรดกระป๋องหมดอายุ ก็อาจเหมือนกับการมูฟออนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ Chungking Express ถ่ายทอดเรื่องราวช่วงเวลาแห่งการก้าวผ่านความทุกข์และความเหงา การตั้งวันหมดอายุเพื่อเริ่มต้นนับถอยหลังไปสู่หนทางใหม่ที่มีความหวัง เปรียบเทียบกับในปัจจุบัน ยุคของการหาคู่ออนไลน์ที่วันหมดอายุของคุณอาจมีเพียงไม่กี่วินาที ก่อนที่คุณจะถูกปัดซ้าย หมดอายุก่อนจะถูกโยนทิ้งไป
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนแคปซูลกาลเวลาที่ถ่ายทอดบริบทของเมือง สภาพสังคม ความวิตกกังวลและความหวังของชาวฮ่องกง ก่อนการคืนอำนาจการปกครอง ความ Nostalgia ของยุคสมัยที่สอดแทรกอยู่ในฉากและบทพูดของภาพยนตร์ เหมือนประโยคที่ตำรวจ 223 ได้กล่าวไว้ว่า
“หากความทรงจำสามารถบรรจุอยู่ในกระป๋องอาหารสำเร็จรูปได้ ฉันหวังว่ามันจะไม่มีวันหมดอายุ ถ้าจะต้องมีวันหมดอายุ ฉันหวังว่ามันจะยาวนานนับ 10,000 ปี” (ตำรวจเบอร์ 223, 1994)
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่มีโอกาสเคยเดินไปฮ่องกง จะยังคงเก็บความทรงจำดี ๆ เหล่านั้นไว้ และในอนาคตเมื่อผู้อ่านมีโอกาสเดินทางไปฮ่องกงอีกครั้ง ก็ขอฝากเปิดกระป๋องเพื่อเช็กกลิ่นอายความเป็นฮ่องกงที่เราต่างจำได้นั้น ว่ายังคงเหมือนเดิมอยู่หรือไม่
Citation and Image References:
Wong, Kar-wai. (Director). (1994). Chungking Express [Film]. Jet Tone Production
Abdel-Ghani, Taher. (2016). Hong Kong through Chungking Express (1994): A City-Film Review. 10.13140/RG.2.2.36145.20320.
Wong Kar Wai and Christopher Doyle Interview on BBC Moving Pictures (Youtube)