จะศาลเจ้า สมาคม ภัตตาคาร ห้างร้าน หรือบ้านช่องห้องหอ อะไรจะเป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ว่าสถานที่เหล่านี้ถือครองโดยคนเชื้อสายจีน

ก่อนจะชอนชายสายตาไปยังศาลเจ้าที่ขนาดเล็กในตัวอาคาร หรือตามหาสิ่งละเล็กละน้อยอย่างกระดาษแดง ผ้ายันต์ และที่ปักธูปข้างประตูทางเข้า มีอีกหนึ่งจุดสังเกตซึ่งดึงดูดสายตาได้ง่ายกว่า มักสั่นไหวล้อแรงลมใต้ชายคา บางใบแขวนไว้แค่เป็นสัญลักษณ์ บางใบสามารถทอแสงนวลตายามราตรี

ภาษาจีนกลางเรียกมันว่า เติงหลง (燈籠) หากเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋วที่ลูกหลานชาวจีนเมืองไทยส่วนใหญ่พูดกันคือ ‘เต็งลั้ง’ สิ่งนี้ก็คือโคมไฟจีนที่คนทุกชาติมักประหวัดใจเมื่อนึกถึงความเป็นจีน

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

มีธรรมเนียมว่าต้องประดับโคมหน้าบ้านเป็นคู่เสมอ จะแค่ 1 คู่ 2 คู่ 3 คู่ หรือกี่คู่ก็ขึ้นอยู่กับหน้ากว้างของชายคาที่ห้อยโคมเหล่านี้ แต่ท่ามกลางตึกแถวที่ปลูกชิดติดกันเป็นทิวแถวของซอยเจริญกรุง 26 ใกล้ชุมชนจีนเก่าแก่อย่างตลาดน้อย ยังมีบ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนผู้หนึ่งที่ไม่ได้แขวนเต็งลั้งแค่ 2 หรือ 4 ใบอย่างบ้านเพื่อนร่วมชาติพันธุ์หลังอื่น ๆ กันสาดหน้าบ้านหลังนี้ไม่สามารถรองรับโคมที่ควรจะเรียกว่า ‘หมู่’ มากกว่า ‘คู่’ ทำให้เต็งลั้งพวกนี้ต้องถูกโยกย้ายไปห้อยโหนตามเพดานหรือชั้นวางข้างใน

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

นี่คือที่ทำงานของร้านชุงแซ สถานที่ซึ่ง เซ้ง-ชอเซ้ง แซ่ตั้ง อาศัยเป็นที่วาดเขียนลายโคมไฟจีนเลี้ยงชีพตนนานนับค่อนชีวิต

เต็งลั้งสารพัดแบบที่พบได้ในศาลเจ้า โรงเจ และบ้านอยู่อาศัยของชาวจีนทั่วเมืองไทยอาจมีที่มาจากห้องแถวแคบ ๆ แห่งนี้ เมื่อเราบุกไปถึงหน้าร้าน ช่างทำโคมมือฉมังเพียงแต่แหงนศีรษะที่ปกคลุมด้วยเส้นผมสีขาวเหลือบเงินขึ้นมอง สองมือยังสาละวนอยู่กับกองโครงไม้ไผ่ไม่มีหยุด

“โครงพวกนี้มาจากต่างจังหวัด อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เขาสานไม้ไผ่ส่งมาให้” เขาเริ่มต้นบทสนทนาอย่างเข้มขรึม เมื่อเราแสดงท่าทีสนใจ “เป็นชาวบ้านทำอยู่ในตลาด ไม่ได้มีร้าน เขาจักสานของหลาย ๆ อย่าง ตะกร้าอะไรก็มีหมด ถ้าเป็นโคมถึงส่งมาให้เรา”

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

โคมจีนมีหลายประเภท แต่ละท้องถิ่นก็มีรูปแบบและวิธีการประดิษฐ์โคมของถิ่นตัวเอง โคมประเภทที่เซ้งรับทำเรียกว่า ‘อิ่วจั๋วเต็งลั้ง (油纸灯笼)’ แปลตรงตัวได้ว่า โคมกระดาษทาน้ำมัน เป็นโคมไฟเฉพาะถิ่นของแถบแต้จิ๋ว ดินแดนที่บรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนหลายคนรวมถึงนายช่างเซ้งจากมา

เมื่อครั้งที่บิดาของชอเซ้งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแผ่นดินใหญ่ สิ่งที่อาเตี่ยได้นำติดตัวมานอกเหนือจากเสื่อผืนและหมอนใบ คือทักษะการวาดเขียนเต็งลั้งแบบชาวจีนแต้จิ๋วขนานแท้ เซ้งผู้เป็นลูกชายได้ซึมซับวิชาจากอาเตี่ยตั้งแต่ยังเด็ก หัดวาดหัดเขียนตั้งแต่จบการศึกษาภาคบังคับ จนได้รับช่วงต่อกิจการร้านชุงแซของพ่อเมื่อตนเองเติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

“ทำมาประมาณ 40 ปีแล้ว พ่อทำอยู่ ก็มาช่วยทำ เลยทำต่อเนื่องมา” นายช่างเต็งลั้งรุ่นที่สองเล่าถึงวัยเด็กของตนเองสั้น ๆ “ไม่ได้เรียนศิลปะ จบแค่ ป.4 แล้วก็ออกมาช่วยพ่อ ฝึกกับพ่ออย่างเดียว

“บางคนฝึกแค่ 5 ปี 10 ปี ก็ไม่มีโอกาสที่จะมาทำแบบนี้หรอก มันใช้ความชำนาญทุกอย่าง ก็ต้องเรียนตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ว่าหัดแล้วจะทำได้ทันทีเลย”

เมื่อได้รับโครงไม้ไผ่สานเป็นรูปโคมจากพนัสนิคมมาแล้ว หน้าที่ของเซ้งคือปะกระดาษทาน้ำมันหุ้มเนื้อโคมให้ทั่ว เสร็จจากนั้นจึงทำงานที่ต้องใช้ความประณีตสูง คือแต่งลวดลายตามที่ได้รับมอบหมาย

ลูกค้ารายใหญ่ของเซ้งคือร้านขายโคมข้างวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ซึ่งจะนำไปจัดจำหน่ายต่อให้กับศาลเจ้าหรือบ้านคนที่ต้องการใช้

“ร้านข้างวัดเล่งเน่ยยี่เขาสั่งมาเราก็ทำไป ทำส่งให้ร้าน เขารับจากเราไปขายอีกที จะเป็นโคมแบบไหน เขียนอะไร ก็แล้วแต่ที่เขาสั่ง”

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

ในยุคที่โลกยังไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้า โคมไฟคือเพื่อนแท้ของมนุษย์ซึ่งคอยทำหน้าที่ขับไล่ความมืดมนแห่งรัตติกาลออกไป เมื่อมีการประดับโคมแพร่หลาย ชาวจีนจึงออกแบบคิดค้นรูปแบบโคมให้มีความแตกต่างหลากหลายเพื่อรองรับกับสถานที่และการใช้งาน

แบบอักษรและลวดลายบนเต็งลั้งสามารถบอกถึงสถานะของตึกที่พวกมันแขวนอยู่ ถ้าเป็นศาลเจ้าก็จะนิยมเขียนชื่อเทพเจ้าในศาล ถ้าเป็นบ้านคนก็จะเขียนอักษรประจำแซ่หรือชื่อสกุลเพื่อสะท้อนตัวตนของตระกูลผู้พำนักในบ้านนั้น เช่นเดียวกับในชุมชนและสถานที่อื่น ๆ

ไม่ว่าจะเป็นเต็งลั้งชนิดไหน ใช้กับอะไร ทุกชนิดก็ล้วนเคยผ่านมือของเซ้งมาหมด

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

“ในร้านนี้มีเป็นสิบขนาด ขายเป็นคู่” มือที่วาดโคมมานับหมื่นแสนใบ ผายขึ้นให้เรามองดูผลงานที่ทำเสร็จแล้วบนเพดาน “ถ้าเป็นใบใหญ่สุดก็ราคา 3,000 บาทต่อคู่ นับเป็นคู่ทั้งนั้น”

บนเพดานอันระดาตาไปด้วยโคมกระดาษนานารูปแบบ มีทั้งทรงกลม ทรงเหลี่ยม ทรงคล้ายถัง วิธีจำแนกชนิดของพวกมันดูได้ไม่ยาก กล่าวคือถ้าเป็นโคมในงานมงคลมักจะเขียนอักษรสีแดง เขียนคำอวยพร มีลวดลายสีสัน แต่ถ้าเป็นโคมงานอวมงคลหรืองานศพ มักจะเป็นโคมเขียนอักษรสีน้ำเงินเรียบ ๆ ให้ความรู้สึกหม่นซึมสมกับการใช้งาน

“อย่างใหญ่นี่ต้องใช้กับศาลเจ้า ไม่ใช้ในบ้านคน” นายช่างเซ้งพูดเมื่อสายตาของเราสบประสานอยู่ที่โคมใบใหญ่สุดในร้าน วาดรูปมังกรล่อแก้วพร้อมลายเมฆอันงดงาม

ชายสูงวัยลุกขึ้นยืน ช่วงคอที่งองุ้มไปตามอายุเลข 7 นำหน้าค้อมลงอีกเล็กน้อยเพื่อตรวจตราผลงานที่ทำโดยภรรยาและผู้ช่วยคนสำคัญของเขา ระหว่างสามีกำลังพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับเรา เธอก็มัวยุ่งกับการสกรีนลายอักษรจีนสามแถวแนวตั้งซึ่งแขวนติดอยู่บนราวตั้งแต่ปากทางเข้ายันท้ายร้าน

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

แบบอักษรเหล่านี้ใช้พิมพ์บนโคมลูกหลาน ภาษาจีนเรียก ‘ฮกเต็ง (福燈)’ ดังอักษรตัวใหญ่ที่เขียนบนโคม ด้านข้างเป็นคำอวยพร 2 ท่อน ประกอบด้วย พันลูกหมื่นหลาน (โชยจื้อบ่วงซุง-千子萬孫) และ ชีวิตยืนยาวฐานะร่ำรวย (เฉี่ยงเหมี่ยปู้กุ่ย-長命富貴) โดยทั่วไปจะใช้พาดบนโลงศพเท่ากับจำนวนลูกผู้ตาย เมื่อเสร็จสิ้นพิธีศพทุกขั้นตอน ก็จะแจกจ่ายให้ลูกแต่ละคนรับไปเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง

ชอเซ้ง แซ่ตั้ง ทายาทร้าน ‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อย

“พวกนี้เป็นโคมลูกหลาน เขียนเหมือนกันหมด ใช้ทีเดียวเยอะ พวกนี้ไม่ต้องเขียนเลย สกรีนเอาง่ายกว่า” ชอเซ้งเอ่ยพร้อมกับสาธิตวิธีการรีดให้ดูสด ๆ กับตา “ใช้ไม้รีดสีมันเข้าไปในกระดาษ ก็เหมือนที่เขาสกรีนลงเสื้อแหละ ทำแบบเดียวกัน”

งานสกรีนพอช่วยแบ่งเบาภาระในร้านชุงแซที่วันนี้มีแค่สองสามีภรรยาช่วยกันทำไปได้บ้าง แต่ก็ช่วยได้แค่โคมลูกหลานในงานศพเพียงอย่างเดียว เพราะงานโดยมากของนายช่างเซ้งยังจำเป็นต้องหยิบพู่กัน จุ่มสีอะคริลิก วาดด้วยสองมือที่คล่องแคล่วสวนทางกับวัยคู่นี้อยู่ดี

“ส่วนใหญ่ที่เขียนจะเป็นคำอวยพร เป็นชื่อเจ้า หรือไม่ก็เขียน ‘หะเจ่งเผ่งอัง-合衆平安’ ที่แปลว่า ‘ทุกผู้ทุกคนสงบสุข’ ข้างหนึ่ง”

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

โคมลักษณะนี้จะเป็นโคมที่ใช้ไหว้เจ้า ถวายศาลเจ้า หรือใช้เนื่องในงานขอบคุณเทพเจ้าปลายปี ซึ่งเทพเจ้าจีนมีมากมาย เช่นเดียวกับชุมชนที่มีชื่อแตกต่างกัน งานสกรีนย่อมไม่สามารถทำได้ หลังติดกระดาษเคลือบน้ำมันเสร็จแล้ว ชอเซ้งต้องวาดเขียนทุกอย่างบนโคมเกลี้ยง ๆ ด้วยมือตัวเอง

“พวกของศาลเจ้านี่ยังไงเขาก็ต้องใช้ ปีนึงเปลี่ยนครั้งนึง แล้วเขาก็ต้องใช้ทุกปี เราเลยมีงานตลอด บางทีเขาให้เราเขียน บางทีเขาเอาไปเขียนเอง ต้องให้เขาสั่งมาเราถึงเขียน

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

“ชื่อเทพเจ้าที่เขียนก็เยอะแยะเลย เช่น ปึงเถ่ากง (เทพเจ้าผู้คุ้มครองชุมชน) หรือ ทีตี่แป่บ้อ (เจ้าพ่อเจ้าแม่ฟ้าดิน)” คนสร้างงานพลิกให้ดูชื่อเทพเจ้าที่จะนำไปแขวนหน้าศาลฟ้าดินที่ใดสักแห่ง

ส่วนลวดลายตกแต่งอย่างลายดอกไม้บนยอด บนฐาน หรือด้านข้างตัวอักษรก็แล้วแต่กรณีไป บางใบเป็นสติกเกอร์ที่ถูกพรินต์ออกมาแปะโดยเฉพาะ บางลายก็ต้องให้ถึงมือนายช่างใหญ่เขียนภาพเอง

“อย่างลายมังกรใบใหญ่นี่ต้องวาด วาดกับมือ”

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

ชมใบใหญ่สุดที่หนึ่งคนโอบไม่ไหวไปแล้ว ก็มาถึงตาของใบเล็กสุดซึ่งถือได้ด้วยมือเดียว

“อย่างนี้คู่เล็กสุด เขาเรียก ‘เต็งหลั่งเกี้ย’ แปลว่าลูกของเต็งลั้ง ปกติใช้แขวนกับตี่จู่เอี๊ย”

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

ความที่ชาวจีนนิยมถือฤกษ์ปลายปีต่อต้นปีในการประดับโคมใบใหม่ บางรายการถูกสั่งจองข้ามปี งานของชุงแซจึงมีมากในช่วงก่อนตรุษจีน หลายวันต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ได้สินค้าทันเวลา ต้องรอจนกว่าจะผ่านพ้นวันขึ้นปีใหม่จีนไปได้สักเดือนหนึ่ง ชอเซ้งถึงเริ่มมีเวลาพักผ่อนให้กับตัวเอง

“มันไม่ว่างอ่า” เลยกลายเป็นคำพูดติดปากของช่างเขียนโคมวัยชราที่เราได้ยินตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์ จวบจนเรามายืนชมผลงานของเขาถึงในร้าน

ความไม่ว่างของนายช่างชอเซ้ง แซ่ตั้ง เป็นที่ประจักษ์ได้จากลูกค้าที่ทยอยแวะเวียนมารับโคมที่สั่งเขาทำทุกวี่ทุกวัน หนึ่งในนั้นคือตัวแทนจากศาลเจ้าแห่งหนึ่งแถวฝั่งธนฯ ที่ดั้นด้นมาถึงที่นี่

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

“หน้าร้านเขารับมา เราก็รับจ้างทำ จังหวัดไหนให้ไปส่งก็มี มีตัวแทนที่มารับ”

ใช่เพียงประสบการณ์กว่า 40 ปีที่เป็นเครื่องการันตีฝีมือการเขียนลายโคมอันเลอเลิศของเซ้ง อีกสาเหตุหนึ่งที่โคมยี่ห้อชุงแซขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอย่างนี้ก็เพราะร้านอื่นทยอยล้มหายตายจาก

“นอกจากร้านนี้ก็มีร้านที่ข้างวัดพลับพลาชัย นอกนั้นก็คือเลิกทำไปเยอะแล้ว เมื่อก่อนเจ้าหลัก ๆ จะอยู่รวมกันที่ตรอกโรงโคม ข้างตลาดเก่าเยาวราช ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว ที่เลิกทำกันไปเพราะเขาหมดไฟ อายุเยอะ เสียไปแล้ว ไม่เหลือคนมาทำต่อแล้ว”

แล้ววันหนึ่งชุงแซก็คงเป็นเช่นเดียวกับร้านเพื่อนร่วมวงการ ด้วยเหตุที่ชอเซ้งไร้ลูกขาดหลานจะมาสืบสานวิชาเขียนโคมกระดาษที่เขาได้รับตกทอดจากอาเตี่ย

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

“หลังจากนี้ก็คงไม่มีคนสืบทอดหรอก ลูกไม่มี หลานก็ทำงานของเขาดีอยู่แล้ว โคมงานศพก็ใช้น้อยลง เพราะเดี๋ยวนี้คนสมัยใหม่เขาเผา ทำพิธีแบบไทยไปเลย ก็จะไม่ได้ใช้โคม อีกหน่อยก็จะไม่มีแล้วล่ะ”

เมื่อถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ ‘อาแปะเซ้ง’ ยังทนนั่งหลังขดหลังแข็งตกแต่งโคมอยู่จนถึงวันนี้ เขาตอบทันทีว่า “ความสุข”

“ทำงานนี้ก็ประทังชีวิตได้ จะเอาอะไรมากมาย” ช่างทำเต็งลั้งคนสุดท้ายในตลาดน้อยพูด และดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เขายิ้มออกมาตลอดการสนทนาพาทีกับเรา “ทำงานเราก็ต้องมีความสุขสิ ทำงานแล้วจะมีความทุกข์ได้ยังไง คนไม่มีงานโน่นสิถึงจะไม่มีความสุข”

แม้ว่าวันหนึ่งข้างหน้า ชื่อของ ‘ชุงแซ’ จะถูกกลบกลืนไปด้วยกงล้อแห่งกาลเวลา แต่ตราบเท่าที่ชอเซ้งยังมีลมหายใจและกำลังวังชาพร้อม ห้องแถวคับแคบแห่งนี้ก็จะพร้อมจะมอบสีสันสดสวยคู่แสงไฟในดวงโคมด้วยความสุขที่เขาได้รับจากการทำงานมานานปี

‘ชุงแซ’ ผู้ผลิตโคมกระดาษศาลเจ้ารายสุดท้ายในย่านตลาดน้อยกับการเขียนลายโคมแบบแต้จิ๋วจากเตี่ยมานานถึง 4 ทศวรรษ และยังไม่มีใครสานต่อ

สำหรับใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศร้านทำโคมเต็งลั้ง เย็นวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ร้านชุงแซจะเปิดให้เยี่ยมชมเป็นกรณีพิเศษเพื่อต้อนรับทริป Walk with The Cloud : A Lanterning Talad Noi’

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ