กรงกรรม, จุฬามณี

1

“อีเรณู อีกะหรี่!”

หลังจากที่ผมเดินออกมาจากสถานีรถไฟชุมแสง ผมได้ยินเสียงดังลั่นนั้นมาจากในตลาด แดดสายร้อนจัด ผู้คนคลาคล่ำกันไปมาในตรอกที่มีร้านค้าหาบเร่มากมาย ต่างก็หันไปทางต้นเสียงนั้น บางคนก็ยังยืนคุยซุบซิบนินทา ผมได้ยินแม่ค้าคนหนึ่งบอกว่า “แม่ผัวอาละวาดลูกสะใภ้อีกแล้ว” ผมจึงคาดเดาว่าแม่ผัวที่ว่านั้นไม่ใช่ใครที่ไหนคงจะเป็น ‘แม่ย้อยหรืออีย้อย’ ของใครหลายคน ส่วนลูกสะใภ้จะต้องเป็น ‘เรณู’ หรือมักมีคำที่แม่ผัวชอบเรียกห้อยท้ายว่า ‘อีกะหรี่’ นั่นเอง

ใช่แน่ ผมมาถึงอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ก็เพราะว่าอยากมาพบ ‘เรณู’ ตัวละครสำคัญคนหนึ่งไม่แพ้ ‘แม่ย้อย” ที่โลดแล่นอยู่ในนวนิยายเรื่อง กรงกรรม ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุดของนักเขียนนามปากกา ‘จุฬามณี’ ที่ปั้นแต่งให้ตัวละครทั้งหลายต่างมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ในตลาดตามตำบลและอำเภอต่างๆ ในนครสวรรค์ หลายชีวิตยังคงเดินทางโดยรถไฟ ยังนั่งเรือเพื่อไปยังตำบลอื่น ผมเดินผ่านความเคลื่อนไหวของชีวิตคนเหล่านี้เพื่อไปตามหาเรณู ผมอยากรู้ว่าชีวิตของเธอนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เมื่อผมเดินไปจนถึงจุดที่ชาวบ้านกำลังมุงอยู่ ก็ถึงหัวมุมถนนอันเป็นที่ตั้งของร้านขายของชำ ที่หน้าร้านมีผู้หญิงวัยกลางคนยืนเท้าเอวอยู่ ผมเผ้าที่รวบรัดไว้รุ่ยร่ายออกมา ไม่ผิดแน่ นั่นคงเป็น ‘แม่ย้อย’ ซึ่งกำลังส่งเสียงดังลั่น ด่าผู้หญิงที่ตรงหน้า ผู้หญิงคนนั้นใส่เสื้อลายดอกสีสด ทาปากแดง ยืนทำหน้าเหมือนไม่รับรู้คำด่านั้น เสมือนว่าเป็นเพียงการพูดคุยกันอย่างปกติธรรมดา เธอคงเป็น ‘เรณู’ คนที่ผมอยากทำความรู้จัก

เรณูเดินสะบัดหน้า คางเชิด และยิ้มเยาะ ให้กับคำด่าเหล่านั้น โดยไม่สนใจสายตาของชาวบ้านที่ยืนมองกันอยู่สองข้างทาง และไม่แยแสเสียงที่แม่ย้อยตะโกนด่าไล่หลังมา

เธอก้าวเดินยาวๆ เข้าไปอีกซอยหนึ่ง ผมจึงรีบตามเธอไป

เมื่อเดินไปสักพักก็ถึงตรอกหนึ่ง เป็นห้องแถวไม้ขนาบสองข้าง มีทางเดินตรงกลาง แดดเวลาสายลอดผ่านลงมาบนถนน และจับลงบนตัวของเรณู จนทำให้เธอดูโดดเด่นขึ้นราวกับนักแสดงบนละครเวที

เธอคงผิดสังเกตว่ามีคนเดินตามเธอมา จึงหันขวับมาเห็นผมเข้า

ผมยิ้ม พยายามทำสีหน้าให้เห็นว่าผมมาดี

เธอหยุดเดิน เมื่อผมเข้าไปใกล้ เธอถามว่า “ตามฉันมาทำไมจ๊ะ”

ผมตอบเธอไปว่า ผมมาจากกรุงเทพฯ ต้องการทำความรู้จักกับเธอให้มากยิ่งขึ้น ผมยังบอกเธออีกว่าเธอโด่งดังมาก มีคนรู้จักเธอไปทั่วประเทศแล้ว ชีวิตของเธอถูกจับตามองและพูดถึงอย่างกว้างขวางไม่แพ้คนในตลาดชุมแสง

เมื่อเธอได้ยินก็อมยิ้ม แต่ในรอยยิ้มนั้นก็ยังแฝงไปด้วยความสงสัย ก่อนจะบอกว่า “ไปถามคุณจุฬามณี โน่นไป๊ ฉันมันก็แค่ตัวละครคนหนึ่งของเขา”

ผมบอกว่า ผมต้องการพบคุณจุฬามณีด้วยเหมือนกัน แต่ผมต้องการให้คุณเรณูไปกับผมด้วย จึงถามเธอว่า “คุณพอจะพาผมไปหาเขาได้มั้ย”

“ฉันพาไปก็ได้จ้ะ แต่ขอให้หยุดเรียกฉันว่าคุณสักที ฟังแล้วจั๊กจี้ เรียกว่าเรณูเฉยๆ ก็พอ หรือจะเรียกว่า อีเรณูเหมือนชาวบ้านฉันก็ไม่ว่า”

หลังจากที่เธอตกลงพาผมไปหาจุฬามณี เธอก็พาเดินไปยังตรอกอีกฝั่งหนึ่งของตลาดชุมแสง โผล่ออกมาเจอทางเดินเลียบเลาะแม่น้ำน่าน ผ่านศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง เมื่อเลยพ้นเขตตลาดมาแล้ว ก็เห็นบ้านหลังหนึ่งตั้งอยู่ในร่มเงาต้นไม้ใหญ่ แสงแดดแผดกล้าลงมาจนทำให้เห็นสีเขียวและเงาเข้มชัดเจน

“นั่นแหละ บ้านพักคุณจุฬามณี” เธอชี้ไปยังทิศทางนั้น

กรงกรรม, จุฬามณี

2

เมื่อเดินไปถึงบ้านพักของจุฬามณี เธอก็ตะโกนเรียกคนที่เราอยากสนทนาด้วย จนได้ยินเสียงตอบกลับว่าให้เข้าไปได้

บ้านหลังนั้นเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง คนที่ยืนอยู่นั้น คือผู้ชายรูปร่างสูงโปร่ง สวมแว่นสายตา มีผ้าพันคอผืนเล็กพันไว้ เขาเอ่ยทักทายให้เราขึ้นไปบนบ้าน

“ไปไงมาไง อีณู แล้วพาใครมาด้วย” เขาเอ่ยถาม

“เขามาจากกรุงเทพฯ จ้ะ จะมาสัมภาษณ์พี่เฟื่อง”

‘พี่เฟื่อง’ ที่เธอเอ่ย คือชื่อเล่นแบบเป็นกันเองของ ‘จุฬามณี’

ผมยกมือไหว้ตามมารยาท และแนะนำตัวในทันที เขายิ้มรับอย่างเป็นมิตร พร้อมเอ่ยถึงกิจกรรมที่เขาได้ทำในวันก่อนๆ ว่ายังไม่ได้หยุดพักหรือได้นอนเต็มอิ่มเท่าไหร่ เนื่องจากนวนิยายที่ถูกนำไปสร้างละครล้วนโด่งดังเรียกเรตติ้งทุกเรื่อง จนทำให้คนไปมาหาสู่มากมาย “ปกติแล้วพี่อาศัยอยู่ปากน้ำโพ” เขาบอก

เรณูพูดแทรกว่า “เขาอยากรู้จักณู แต่ณูบอกให้เขามาถามพี่เฟื่อง เพราะพี่เฟื่องเป็นคนสร้างณูขึ้นมา”

ผมจึงอธิบายเพิ่มว่า “ผมคิดว่านอกจากนามปากกาจุฬามณีจะสร้างเรณูขึ้นมาแล้ว เรณูและตัวละครอื่นๆ ก็ย้อนกลับมาสร้างให้นามปากกาจุฬามณีมีชีวิตด้วยเหมือนกันนะครับ ผมจึงคิดว่า อยากจะให้ทั้งเรณูและจุฬามณีสนทนากันสักหน่อย”

ทั้งเรณูและจุฬามณีต่างยิ้มให้กัน เรณูชิงถามขึ้นว่า “ฉันก็อยากรู้นะพี่เฟื่องว่าพี่มองว่าฉันเป็นคนยังไง แล้วพี่มองโสเภณียังไงกันแน่”

จุฬามณีนึกย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจนั้น “พี่เคยอ่านเรื่อง แม้เลือกเกิดได้ ของศุภลักษณ์ เขาก็เป็นคนนครสวรรค์ เรื่องเกิดในนครสวรรค์ ทำให้เห็นว่าโสเภณีหรือกะหรี่ในสมัยนั้นจำใจขายตัวหรือโดนหลอก แต่ในนวนิยายของเรา เหตุการณ์เกิดที่ตาคลี ผู้หญิงเข้ามาทำอาชีพนี้โดยสมัครใจ อย่างเรณู ถ้าเป็นสาวบริสุทธิ์ก็คงไม่เข้าไปทำอาชีพนี้ แต่เพราะมันมีปัญหามาก่อนหน้านั้นแล้ว คือโดนขืนใจจากพี่เขยจนมีลูก แล้วเหตุการณ์มันก็นำพาให้เคลื่อนเข้าไปสู่อาชีพนั้นด้วยตัวมันเอง

“ถ้าในปัจจุบันก็ไม่แตกต่างเท่าไหร่ เหมือนสาวไซด์ไลน์ ที่ถูกบังคับมาก็มี ตกเขียวมาก็มี แต่คนที่กระโจนเข้าไปสู่วังวนแบบนี้ก็เกิดจากสิ่งล่อตาล่อใจ อยากรวย อยากมีอยากได้เร็วขึ้น มันไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นกิเลสของคนอย่างหนึ่งเหมือนคนทั่วไป มันเป็นอาชีพของคน”

“แต่คนอ่านเขาก็รับไม่ได้ คนในตลาดยังมองฉันเหยียดๆ” เรณูเสริม

“เราจะไม่ไปสะท้อนในการเหยียด” จุฬามณีอธิบาย “แล้วการที่เราให้ตัวละครทำอาชีพนี้ หลีกไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อตัวละครอยู่แล้ว คนรอบข้างจะต้องมองอาชีพโสเภณีเป็นแบบนี้ โดยเฉพาะในยุคนั้น ทุกวันนี้อาชีพนี้คนพร้อมจะกระโจนเข้าไป แต่ชั้นเชิงในการขายมากกว่าเรณู เรื่องของเด็กนั่งดริงก์ นางแบบ นักศึกษา บางทีเพื่อนยังไม่รู้เลยว่าขายตัว วิธีการมันจะแยบคายขึ้น แต่ก็คือขายตัวเหมือนกัน ใช้เรือนร่างเพื่อแลกเงินเหมือนกัน และด้วยความที่ในยุคนี้ สังคมมันหลากหลายขึ้น เป็นพหุสังคมมากขึ้น เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มันกว้าง

“แต่ถ้าในนวนิยายพอเรณูแต่งตัวหรูมีเงินใช้อู้ฟู่ จะมองออกทันทีว่าไม่มีทุนรอนมาจากไหนแน่ เมื่อก่อนทองบาทละ 400 เงินเดือนไม่เกินนี้ แต่มีเงินซื้อของเกินกว่าเงินเดือน คนก็มองแล้วว่าผิดปกติ ไม่ได้ทำอะไรหรอกนอกจากขายตัวแน่นอน เพราะคนทำกันมากมายในเวลานั้น

“หลายคนจะถามว่า ตกลงเรณูขายตัวจริงๆ หรือเปล่า” จุฬามณีอธิบายต่อ “เพราะเขารับไม่ได้ที่นางเอกจะเป็นแบบนั้น มันผิดขนบ ขอให้คนแต่งหลอกเราเถอะ หลอกเราได้มั้ย คนอ่านจะไม่คุ้นกับนางเอกแบบนี้ ทุกคนยังคาดหวังจะให้นางเอกโลกสวย แต่งานของจุฬามณีมันไม่ใช่”

เมื่อเรณูได้ยินคำตอบ จึงถามต่ออีกว่า “แล้วทำไมพี่ถึงสร้างให้ฉันเป็นคนแรงๆ นัก แล้วก็ต้องมีปัญหากับแม่ผัวทุกวัน”

“ในเรื่อง กรงกรรม นี่มีเค้าโครงเรื่องจริง คนที่เป็นแม่ย้อยนี่มีลูกชายเยอะ แต่ว่าได้สะใภ้จน แม่ผัวก็เลยไม่ชอบ ด่าเลยว่ากะหรี่ ทีนี้ยิ่งด่าก็ยิ่งทำ ยิ่งทาปากแดง แต่งตัวยั่วยวนกวนอารมณ์ เราฟังมาก็รู้สึกสนุก มาคิดถึงคนบางคนด่าว่ายังไงก็ไม่เจ็บ ทำเหมือนสนุกสนาน จากเรื่องจริงมีแค่นี้ เราก็คิดว่าน่าจะมาทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาดีกว่า ก็เอามาเขียน พอเรื่องเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2510 มีฉากเป็นตาคลี เราก็มาให้รายละเอียดกับตัวละครเรณู มองว่าตัวละครนี้อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากสร้างอนาคตใหม่ มีความรักแท้ ไม่อยากกลับไปเป็นกะหรี่อีก”

“คนมองว่าฉันเป็นโสเภณี ฉันไม่รู้สึกอะไรหรอกจ้ะ แต่ฉันอยากรู้เหลือเกินว่าตกลงแล้วพี่ใช้เขารักที่ฉันเป็นฉันจริงๆ หรือเพราะเสน่ห์คุณไสยที่ฉันทำใส่กันแน่” เรณูถามถึง ‘พี่ใช้’ หรือ ‘อาใช้’ คนรักของเธอซึ่งเป็นลูกชายคนโตของแม่ย้อย จนกลายเป็นปัญหาระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้

จุฬามณีอธิบายประเด็นเรื่องความรักและการทำเสน่ห์คุณไสยไว้อย่างน่าสนใจว่า “ตั้งแต่นวนิยาย ชิงชัง ละครเรื่องนั้นมีเพลงประกอบชื่อ ‘ผิดเพราะรัก’ ชัดเจนเลยนะ การที่ไอ้ยอดทำคุณไสยใส่นางเอก เพราะมันรักมาก คนเรานี่ทำคุณไสยใส่ใครเกิดเพราะรัก ดีที่มันไม่ฆ่าทิ้ง ดีกว่ามันแค้นว่าเมื่อกูไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ได้ ตายห่าเถอะ แต่มันคิดว่าเมื่อกูรักมึง กูจะครอบครองมึง จะผิดจะถูกกูไม่สน

“การขืนใจมี 2 แบบ ขืนใจโดยใช้กำลัง มันมองเห็น กับการใช้สิ่งที่มองไม่เห็นขืนใจ ไม่มีใครมองเห็น การใช้คุณไสยคือการขืนใจด้วยสิ่งที่มองไม่เห็น ดังนั้น สิ่งที่อีเรณูทำคือทำไปเพราะรักเหมือนกัน ถ้าไม่รักมันไม่ทำหรอก”

เรณูนั่งยิ้มจนปากที่ทาสีแดงเหยียดกว้าง

“มันมีฉากหนึ่งที่เกิดการคาใจว่าเรณูถอนของจากอาใช้แล้วหรือยัง ตอนถอนของอาใช้ก็อ้วก เหมือนของออกจากตัวแล้ว แล้วตอนนั้นอาใช้มีคนรักใหม่ชื่ออรพรรณีแล้ว เมื่อพากันกลับมาชุมแสงก็รู้ว่าตัวเองผิดต่อเรณู ฉากนั้นแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันรักเรณู คนอ่านนวนิยายตั้งแต่ต้นจะเห็นความรักของสองคนที่คนอ่านไม่อาจไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องของเพศรสระหว่างคนสองคน เราไม่รู้หรอกว่าเรณูนมเต่งตึงแค่ไหน ถ้าเราจะบรรยายอย่างอีโรติก

“แล้วเวลาอยู่กับเรณูอาใช้จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นผู้ชายมากขึ้น เพราะเรณูเป็นไก่แก่ มีทั้งประสบการณ์และมีความรัก การปรนเปรอย่อมเต็มที่ การทำเสน่ห์ใส่ของเรณูเป็นแค่การครอบครอง แต่จริงๆ แล้ว อาใช้รักเรณูตั้งแต่แรก เพียงแต่ว่ามันโดนเพื่อนล้อว่าไปติดไก่แก่แม่ปลาช่อน มันก็เลยจะตีตัวออกห่าง แต่ลึกๆ แล้วรักเรณูไปแล้ว ตอนให้หมอถอนเสน่ห์จึงไม่ต้องทำอะไรมาก แล้วการที่คนโดนเสน่ห์ยังมีใจอยู่ ระหว่างโดนของก็ไม่ใช่ว่าจะเสียสติสัมปชัญญะทั้งหมด พอของหลุดไปแล้วความรู้สึกดีๆ ความผูกพันก็ยังอยู่”

เรณูนั่งยิ้มอยู่ด้วยความกระหยิ่มใจ หลังจากได้คำตอบที่ถูกใจตนเอง

กรงกรรม, จุฬามณี

กรงกรรม, จุฬามณี

3

ผมเห็นว่าเรณูที่ชื่นใจในคำตอบนั้นคงไม่ถามต่อแน่ จึงถามขึ้นว่า “เมื่อสักครู่พี่เฟื่องพูดถึงนวนิยาย ชิงชัง เล่มนั้นเป็นเรื่องแรกในชีวิตนักเขียนของพี่หรือเปล่าครับ”

แจกันดอกหญ้า เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่พี่เขียน แต่ไม่เคยส่งไปตีพิมพ์ที่ไหน แต่เมื่อส่งเสนอตีพิมพ์ สำนักพิมพ์ขอเปลี่ยนเป็น ทุ่งเสน่หา ปี 2550 ด้วยนามปากกาอื่น เพราะว่าหลังจากตีพิมพ์ ชิงชัง ไปแล้วทำให้ ชิงชัง กลายเป็นบรรทัดฐานของนามปากกาจุฬามณี หากจะตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ต้องให้ได้มาตรฐานนี้เท่านั้น ส่วนนามปากกาอื่นอาจเป็นคนละแนวหรือมาตรฐานยังไม่เท่าที่สำนักพิมพ์ต้องการจึงเกิดเป็นนามปากกาอื่นตามมา คือ ‘เฟื่องนคร’ กับ ‘ชอนตะวัน’”

“แสดงว่าพี่ฝึกฝนการเขียนมามากมายใช่มั้ยครับ ผมอยากให้พี่เล่าถึงเส้นทางการมาเป็นนักเขียนของพี่สักหน่อย” ผมถามต่อ

“หลังจากเรียนจบสื่อสารมวลชนที่ ม.รามคำแหง ก็มาบวชที่วัดคีรีวงศ์ จังหวัดนครสวรรค์ มีฝันอยากเป็นนักเขียน” จุฬามณีเงยหน้ามองไปที่ทิวไม้ และเริ่มเล่าด้วยสายตามีแววประกาย “แต่อ่านนวนิยายรักก็ไม่อิน เพราะพอเข้าวัดเริ่มสนใจเกี่ยวกับศาสนาและวรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนา เมื่อบวชได้ 1 ปีไปอยู่วัดสวนสวรรค์ ปริวาศกรรม อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ไปเจอชั้นหนังสือมีนวนิยาย สี่แผ่นดิน เก่ากรอบ เราภาวนาว่าอย่าให้มีหน้าหาย ก็อ่านไปเรื่อยๆ วันนั้นอายุแค่ 22 แต่รู้สึกเหมือนอายุ 80 เมื่อปิดนวนิยาย นี่มันคือสัจธรรมของชีวิตเรา มันไม่ได้จบลงที่ยืนกอดกันริมทะเล แต่งงานแล้วจบ

“เราจะทำงานยังไงให้ได้เหมือน สี่แผ่นดิน เราเข้าใจกลวธีการนำเสนอ เข้าใจธีมของนวนิยาย นวนิยายจะต้องมีสาระ ไม่ใช่มีแค่หวานอย่างเดียว มันต้องมีหลากรส ในขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจความเป็นคน แล้วคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ชาย แต่แต่งเรื่องให้ตัวละครเอกเป็นผู้หญิง นั่นคือความท้าทาย เขาเป็นผู้ชาย แต่เข้าถึงอารมณ์ของผู้หญิงอย่างไร อย่างตอนรักแรกของแม่พลอย คือชด พี่ชายของแม่ช้อยที่มาเป็นทหารที่นครสวรรค์ หักอกแม่พลอย แล้วบรรยายได้ถึงผู้หญิงคนหนึ่งอกหักได้ยังไง”

“ถึงว่านวนิยายของพี่มีคติทางพุทธศาสนามาก” ผมกล่าวเสริม

“เราก็บวชถึง 4 – 5 ปี” จุฬามณีกล่าวต่อ “นวนิยายส่วนใหญ่ที่เราอ่านต่อมาก็จะเกี่ยวข้องกับศาสนา มีกลิ่นของศาสนา เราก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะเราเขียนขณะเป็นพระ เราได้เห็นความไม่แน่นอน เพื่อนขี่มอเตอร์ไซค์จะมาหาเราแล้วรถคว่ำข้างทาง นี่มันคือความจริงของชีวิต เราเริ่มเห็นงานศพ เราคุ้นกับความตาย เราเริ่มเขียนเรื่อง ตะเกียงกลางพายุ ขณะที่เรากำลังนั่งฉันข้าวกับเพื่อนพระ แล้วเราก็มาคิดว่า ถ้าพระรูปหนึ่งกำลังเข้าถึงรสพระธรรม แต่มีความจำเป็นต้องสึก เขาจะทำอย่างไร เขาหวังว่าวันหนึ่งจะกลับมาบวชอีก หลวงพี่ท่านหนึ่งมาบวช แต่ชีวิตผ่านมาโชกโชนมาก คึกคะนองมาก ใช้ชีวิตที่หลงผิดทางโลกมามาก แต่คิดว่า เอ๊ะ ทำไมท่านถึงมาบวช ทั้งที่ทางโลกมันหอมหวานกว่า”

“แล้วเรื่อง ชิงชัง นี่เกิดขึ้นได้ยังไงครับ” ผมจึงถามต่อถึงที่มาของนวนิยายเรื่องแรกที่แจ้งเกิด

“ได้มาจากญาติ หลังจากอ่านเรื่อง สี่แผ่นดิน แล้วก็อ่าน อาญารัก และ แผลเก่า หลังจากเราไปสอบนักธรรมตรี เราก็แปลกใจว่า แผลเก่า เรื่องบางๆ แค่นี้เองเหรอ เรามาอ่านเห็นว่าเรื่องบ้านนอก เรื่องวัวควาย ก็เขียนได้ด้วยเหรอ แต่เราเอะใจว่าฉากในเรื่องมันจริงมั้ย เราเริ่มคิดถึงการใช้ฉากจริง สถานที่จริง

“วันหนึ่งเราบวชได้พรรษาที่ 2 อาเราจะไม่อยู่บ้าน เลยมาเรียกให้เราไปอยู่เป็นเพื่อนย่าตอนกลางวัน เราฉันเพลเสร็จก็เดินไป เราอยู่กับย่าตอนอยู่เรียน ปวส. แค่ 3 ปี เราเลยไม่เคยคุยกับย่ามากนัก แต่วันหนึ่งโตแล้วก็อยากสนิทกับย่า ไม่อยากให้มีความห่างระหว่างหลานกับย่า จึงหาเรื่องคุยกัน เราก็ถามเรื่องสามีคนแรกของย่าว่าเป็นยังไง แล้วทำไมถึงเลิกกัน แกก็บอกว่า แกโดนทำเสน่ห์ใส่ เราตื่นเต้นเลยนะ เราสงสัยมากเลย

“ย่าบอกว่า ผู้ชายคนนั้นเกเรมาก ย่าก็ไม่ชอบ แต่ผู้ชายเขารัก เขาจะเอาชนะ ก็เลยทำเสน่ห์ใส่ ก็เลยไปกับเขา ไปอยู่กัน 2 ปี ได้ลูกมาคนหนึ่ง แต่ย่าบอกว่าบางวันก็รู้ตัว บางวันก็ไม่รู้ตัว สงสัยว่าทำไมต้องมาอยู่กับมันวะ พื้นใจย่าเกลียดเขา ไม่ได้รักเขา ไม่อยากกินข้าวด้วย แต่หาข้าวให้กินตามหน้าที่ของเมีย แต่ย่าจะไม่นั่งกินข้าวด้วย

“เราฟังแล้วรู้สึกไม่สงสารย่าเลยนะ สงสารผู้ชายคนนั้น เราโคตรเจ็บปวดแทนเขาเลยนะ สะเทือนใจแรงมากเลย คือตัวเองได้แต่ตัวเขามา แต่ไม่ได้ใจเลย นี่คือที่มาของคำว่า ชิงชัง คือจะเกลียดก็ไม่เกลียด แต่มันก็รักได้ไม่สุดหัวใจ”

สายตาของเรณูเป็นประกายราวกับว่าคำตอบของจุฬามณีทำให้เธอคิดอะไรบางอย่าง

“แต่ในเรื่องก็ไม่ได้มีแค่ประเด็นความรัก ยังมีปมปัญหาเรื่องญาติพี่น้องกันอีก” ผมสงสัย

“ปมประเด็นเรื่องพี่น้องทะเลาะกันวุ่นวาย มาจากพื้นฐานของครอบครัวย่า” จุฬามณีตอบ “บ้านย่ามักจะมีปัญหากันกับญาติเสมอ เราได้ยินได้ฟังมาแต่เด็ก เราได้ธีมที่ว่า ทรัพย์สมบัติกับเรื่องผู้ชายทำให้พี่น้องเกลียดกัน เรากลับมาที่วัด เราเปิดคอมพิวเตอร์เขียนเรื่อง ชิงชัง บรรยายเดี๋ยวนั้นเลย มันผุดขึ้นมา เชื่อไหมว่า 7 วันได้ประมาณวันละบท เรื่องมันแรงมาก สนุกมากๆ รวดเร็วมาก เขียนไปได้ 17 บทก็ตัน เราก็หยุด ทิ้งเอาไว้ไปทำศาสนกิจอย่างอื่น แล้วพอกลับมาอ่านใหม่ มันสนุกก็เขียนต่อได้เลยนะ จน 30 บท

“เรารู้ว่าเรื่องมันแรงมาก และเรารู้ว่าจะทำให้แรงจนถึงที่สุดยังไง ชิงชัง จึงใช้เวลา 3 ปีกว่า แต่ไม่ได้เขียนรวดเดียวจบ คืออย่างเรื่องอื่นจะเขียนม้วนเดียวจบ ด้วยความที่ตัวละครเยอะมาก เพราะตอนนั้นเรายังใหม่มาก เราไม่รู้ว่าจะคุมตัวละครมากมายให้มีน้ำหนักหรือให้มีความแรงยังไง มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายของเรา”

“ขึ้นชื่อว่าผลงานเรื่องแรกๆ นักเขียนใหม่มักจะไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง พี่เฟื่องประสบปัญหานี้มั้ยครับ” ผมถาม

“เราไม่ได้เป็นนักเขียนมาแต่เกิด เพราะฉะนั้น มันจะมาจากการอ่านงานมาสเตอร์พีซ งานชั้นครู งานนวนิยายที่มีศาสนามาจากงานของทมยันตี กลิ่นของเรียลิสติก (สมจริง) มาจากโบตั๋น เรารู้สึกว่าได้อิทธิพลจากงานของโบตั๋นมาก เพราะมันจริงมาก มันเป็นคนมาก” จุฬามณีลงท้ายด้วยเสียงสูง

“เราเขียนทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2548 เขียนคาไว้จน 3 ปีกว่า จนกระดาษเหลืองกรอบ จนไฟล์หายไป แต่ปรากฏว่ามีเหตุให้เราสึก เราต้องออกมาเลี้ยงชีพ ออกมาดูแลพ่อที่ป่วย จนมีประกาศรางวัลทมยันตี อะวอร์ด แต่เราไม่สนใจ ด้วยความที่เราเริ่มต้นเขียนเอง เราไม่รู้ว่ามีคนคอมเมนต์ หรือมีครูคอยบอก คอยสอน แล้วเราอายเวลาเราส่งไปให้คนอื่นอ่าน แม้แต่เพื่อนก็ยังไม่ให้อ่าน

“แต่พอมาเห็นรายการเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว เราเห็นรายการมันนำเสนอคนมีฝัน เราก็มีฝันนี่หว่า เราจึงตัดสินใจส่งวินาทีเกือบสุดท้าย ก็เอาต้นฉบับที่เหลืองกรอบนั้นมาพิมพ์ใหม่ จ้างให้เพื่อนพิมพ์ แล้วบอกเพื่อนด้วยว่า ถ้าเราได้รางวัลมาแบ่งกันนะ ก็พิมพ์ ถ่ายสำเนา 416 หน้า 3 ชุด เราไม่เคยอ่านทวนเลยนะ พิมพ์ผิดพิมพ์ถูก ส่งไปรษณีย์ไปวันสุดท้าย

“ปรากฏว่าส่งทัน มีเรื่อง ชิงชัง ตอนเขาประกาศในเว็บไซต์ ซึ่งมีคนส่ง 153 เรื่อง แล้วจะคัดเหลือ 20 เรื่องสุดท้ายซึ่งได้ตีพิมพ์ทุกเรื่องเป็นนักเขียนแจ้งเกิดหน้าใหม่ เพราะกติกาเขาบอกว่าจะต้องส่งต้นฉบับที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน ทุกคนใหม่หมด พอเริ่มประกาศว่ามี ชิงชัง เข้ารอบ เราตัวลอยเลยนะ เราเป็นนักเขียนแล้วเหรอ เรามานั่งคิดว่าเรื่องนี้อยู่กับเรามา 4 ปีเลยนะ จนเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่เราแจ้งเกิด และทำให้คนอ่านรู้จักนามปากกาจุฬามณี”

“เขียนเรื่องแรกก็ดังเป็นพลุแตกเลยนะพี่ แถมยังได้ทำเป็นละครอีกต่างหาก” เรณูพูด

“พี่ตั้งใจจะเขียนให้เป็นละครทีวีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันมีส่วนผสมจากหลายเล่ม เราอ่าน อาญารัก มีการเล่าหลายรุ่น มีการสลับลูกในสายเลือด ความน้ำเน่ามันมี เราอ่าน แผลเก่า ความเป็นเอ็งข้า ความเป็นชนบทมันก็มี เราอ่าน สี่แผ่นดิน ตัวละครเป็นสาว มีลูกโตเป็นหนุ่ม จนยันแก่ กลายเป็นคนเชื่อไปแล้วว่าเรื่องในนวนิยายเป็นเรื่องจริง แล้วชื่อตัวละครในเรื่องก็ใช้ว่าผู้ใหญ่แก้วกับแม่ทองคำ คือเป็นทวดเราจริงๆ

“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็นมารยาทที่ไม่ควรเอาชื่อจริงมาใช้ เรายังใหม่ เราก็เอามาใช้เลย พอละครออกมาคนก็ถาม โดยเฉพาะคนที่ท่าน้ำอ้อย พวกญาติพี่น้องฝั่งสายย่าก็เริ่มเพ่งเล็ง บางคนก็มองเป็นเรื่องขำขันกัน ทั้งที่เขาก็รู้แหละว่ามันเป็นเรื่องแต่ง เอาเค้าเรื่องจริงมานิดเดียวเอง”

ผมตั้งข้อสังเกตว่า “การที่คนเชื่อ เพราะมันสมจริง แล้วความสมจริงนี่มาจากการใช้ฉากจริงๆ และระบุช่วงเวลาเอาไว้ชัดเจนด้วยหรือเปล่า โดยเฉพาะนวนิยายเรื่องต่อมาที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ สุดแค้นแสนรัก และ กรงกรรม

“เมื่อเราทำงานอิงกับเวลาจริง เรากล้าระบุ พ.ศ. 2510 หรือ พ.ศ. 2515 คนอ่านจะเกิดคาดหวังแล้วว่าเราจะพาเขาเข้าไปในอดีต เราเห็นละครทีวีหลายเรื่องปรับนวนิยายแนวพีเรียด (ย้อนยุค) หลายเรื่องให้เป็นปัจจุบัน เราคิดว่าเราไม่เอาแบบนั้น เราจะเขียนให้ทุกอย่างต้องเกิดในอดีตเท่านั้น คุณไม่มีสิทธิ์ปรับให้เป็นปัจจุบัน เพราะมันเป็นเสน่ห์ จะให้นางเอกขี่ควาย ปันน้ำเข้านา จะมาให้เปลี่ยนไม่ได้ ตอนเราเขียน ชิงชัง อายุ 20 กว่า แต่เมื่อมาเขียน สุดแค้นแสนรัก ตอนนั้นเราเกือบ 30 ต้น เพราะฉะนั้น วิธีคิดเราเติบโตขึ้น เราอ่านหนังสือมากขึ้น รู้จักเพื่อนนักเขียนมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทำให้วิธีการทำงานเรามองไปที่เรื่องของการตลาดด้วย ในขณะเดียวกันเราทำงานนวนิยายเราก็จะไม่สนใจว่าคนอ่านจะรู้สึกยังไง”

กรงกรรม, จุฬามณี กรงกรรม, จุฬามณี

4

ดูเหมือนว่าจุฬามณีอดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องการใช้ฉากนครสวรรค์ในนวนิยายทุกเรื่อง เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของเขาว่า “เราปักหลักแล้วว่าจุดศูนย์กลางจะต้องอยู่ที่นครสวรรค์ แม้ว่าตัวละครจะเติบโตไปอย่างไร เส้นเรื่องจะต้องวิ่งกลับมาที่นครสวรรค์ เรื่องจะไม่พัฒนาไปสู่กรุงเทพฯ ต้องดึงเขากลับมาแก้ปัญหาของพ่อแม่ เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่าเรากำลังจะนำเสนอบ้านเกิดของเรา

“ในเรื่อง สุดแค้นแสนรัก แม้ว่าตัวละครเอกอย่างยงยุทธจะไปเรียนต่อที่เชียงใหม่ แต่เราก็จะไม่ตามติดชีวิตเขาไป จะมาเน้นตอนที่กลับมาทำงานแล้วที่นครสวรรค์ หรือแม้แต่ตัวละครรุ่นหลานยายแย้มไปเป็นดารา แต่รุ่นพ่อแม่ก็ยังอยู่นครสวรรค์ หรือเป็นอาจารย์ เป็นหมอก็อยู่ที่นครสวรรค์ แต่ว่าวิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้เป็นลูกชาวนาแล้ว

“พี่อาจจะใช้ศัพท์แสงทางวิชาการไม่เป็น มีการเอานวนิยายพี่ไปวิจัย ยังมีนักสังคมวิทยาเอาเรื่องนี้ไปจับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แต่เราไม่เคยคิดถึงตรงนั้น เราคิดแค่ว่ามันจะต้องสมจริง แต่เราก็ขอเขาอ่านนะ เวลามีคนมาขอไปทำงานวิจัย เราอยากรู้ว่าเขาสอนอะไร เอาทฤษฎีอะไรมาอ่าน เราก็ได้เห็นการอธิบายบทบาทสตรีในนวนิยายในแต่ละเรื่องของเรา”

“ดูเหมือนมีการขับเคลื่อนของตัวละครผ่านสถานที่ต่างๆ” ผมกล่าวเสริม

จุฬามณีพยักหน้าว่าเห็นด้วย “พี่มองเรื่องพลวัตของการเดินทาง การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของตัวละครผ่านมิติของกาลเวลา เราก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่เราชอบความเป็นจริงในยุคนั้น

“มันอาจเกิดขึ้นจากเรื่อง คู่กรรม แต่เราก็เข้าไปไม่ถึงยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้อมูลมันก็ลึกไป เราก็เลยชอบอ่านงานอะไรที่พอให้เราสืบค้นได้ อย่างเช่นเรื่อง แผ่นดินของเรา ของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งตัวละครมาจากทุ่งวัวแล่น มีสถานที่จริง และก็มาอยู่ที่ปากน้ำโพด้วย อยากจะรู้ว่าอีน้อยมันปีกหักจากปากน้ำโพยังไง ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันมีเสน่ห์

“นี่ยังตามไปถึงทุ่งวัวแล่นนะ เรานั่งรถไฟจากหัวลำโพงลงไป อยากรู้ว่ามันจะเดินทางต่อไปยังไง ไปตายยังไง ตามไปดูหลังจากอ่านเมื่อตอนเด็กๆ นะ คือหลังจากอ่านมา 20 ปีก็ไม่สายที่จะตามรอย (หัวเราะ) พอมาเขียนนวนิยายเราก็อยากทำให้คนอ่านรู้สึกเช่นเดียวกัน เรามาคิดว่าจะทำยังไงให้คนเวลามาเที่ยวท่าน้ำอ้อยแล้วคิดถึงตัวละคร”

“แต่การเขียนนวนิยายแนวย้อนยุคก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ พี่ค้นคว้าข้อมูลจากไหน” ผมสงสัย

“ช่วงเวลา 2510 เป็นช่วงที่แม่เป็นสาว แม่จะสามารถให้ข้อมูลได้ ถ้าเป็นรุ่นลูกก็จะเป็นรุ่นพี่เรา เราก็จะถามบรรยากาศในช่วงนั้นได้ และจะคอยระวังรายละเอียดต่างๆ เช่น สมัยแม่ใช้นมตราหมีเลี้ยงลูกหรือยัง เพราะเราต้องเขียนตอนย่าแย้มพรากลูกเขามาแล้วไม่มีนมเลี้ยง เราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นนมตรามหมีมีขายหรือยัง แม่บอกมีแล้ว

“อย่างกรณี กรงกรรม เราก็พอรู้เหตุการณ์ในยุคนั้นมาจากนวนิยาย ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ซึ่งเรื่องก็เกิดที่นครสวรรค์ บุญรอดก็มาเป็นลูกจ้างที่ตลาดปากน้ำโพ เรารู้ชีวิตคร่าวๆ เราก็รู้ว่าตาคลีเกิดอะไรขึ้น เราก็เห็นว่า ประวัติศาสตร์สามารถสอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมได้ แต่จะใช้กลวิธียังไง ใน กรงกรรม เราใช้เหตุการณ์ที่ทหารจีไออเมริกันเข้ามายังไง แต่เราจะไม่อธิบายละเอียด ให้คนอ่านต่อยอดไปเอง เราทำแค่ให้คนอ่าน เอ๊ะ ให้สะดุดใจ

“แม้แต่งานวัดเขาจอมคีรี งานแข่งเรือ เมื่อให้ตัวละครไปเจอกัน คนนครสวรรค์จะรู้เอง เราไม่ต้องบรรยายอย่างละเอียด เรารู้ว่าถนนหนทางในปัจจุบันสร้างขึ้นหรือยังในยุคนั้น ลาดยางหรือยัง ยังเป็นถนนอัดแน่นหรือว่ายังมีฝุ่นอยู่ เราเอาให้รู้แค่นั้น เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เรื่องดูสมจริง แต่คนอ่านเขาจะตามพล็อตมากกว่า ถ้าเรามั่นใจในธีมหรือพล็อตของเรา ก็ไม่ต้องไปสนใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มากนะ มันจะอึดอัด ไม่ต้องมานั่งบรรยายจนถึงลายผ้า คือเมื่อบอก พ.ศ. 2510 เดี๋ยวคนอ่านจะรู้เอง ถ้าบอกสมัย ร.5 คนก็จะรู้ทันที่ว่าตัวละครนุ่งผ้าแถบ ไม่ต้องมาอธิบายว่าผ้าแถบทอมาจากที่ไหน เปลืองหน้ากระดาษ”

“นอกจากพล็อตแล้ว ผมว่าการสร้างตัวละครมากมายให้มีชีวิตก็เป็นลักษณะพิเศษในนวนิยายของพี่” ผมพูดจบ ก็หันไปมองเรณูซึ่งมองเห็นเป็นตัวคนจริง มีลมหายใจ และมีเลือดเนื้อ

“การสร้างตัวละครนี่พี่ไม่เคยจดเลยนะ ไม่เคยสร้างแผนผัง หรือเอารูปดารามาแปะฝาหนังเลย พี่เขียนเพราะรู้จักตัวละครอย่างดีแล้ว แต่ก่อนตอนเริ่มเขียนใหม่ๆ สำนักพิมพ์จะบังคับหน้ากระดาษ มีข้อจำกัดว่าตัวละครห้ามซับซ้อน ห้ามดราม่า

“แต่พอเรามีชื่อแล้ว เราไม่เคยถูกบังคับด้วยหน้ากระดาษ เราเขียนได้เต็มที่ อยู่กับตัวละครทุกๆ ตัวจนเหนื่อย เวลาเขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งนี่จะเหนื่อยมากเลย เพราะต้องอยู่กับตัวละครตลอด เหมือนเราวิ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง พอหยุด ก็ไม่อยากคิดอะไรอีกแล้ว ปิดเลย แล้วลืมไปเลย ด้วยความที่เราบวชเรียนมานาน เราจะรู้เลยว่าวันใดจิตว่างมากที่สุด วันนั้นคือเราจะมีความสุขมากที่สุด แต่เมื่ออาชีพเราเดินมาสายนี้เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรุงแต่งตัวละครของเรา นี่บางทีคนอ่านจำตัวละครได้ดีกว่าเราอีก”

จุฬามณีหันไปสบตากับเรณู แล้วพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “คนเราไม่ทางรู้หรอกว่าคนที่เข้ามาหาเรา เราจะรู้จักได้ทุกซอกมุม คนที่ผ่านเข้ามา เราจะก็ไม่รู้ว่าเขาเคยโดนอะไรมาบ้าง ที่เขามายืนยิ้มหน้าชื่นกับเรา แต่เบื้องหลังเขาเคยผ่านชีวิตแสนโหดร้ายอะไรมา

ในกรณีของเรณูก็เหมือนกัน ทุกคนมีความผิดพลาด เมื่อมาอยู่ชุมแสงใหม่ๆ ก็บอกชาวบ้านว่าตัวเองไม่ได้เป็นกะหรี่ เป็นคนงานในครัว เราก็ต้องเชื่อ หรือยอมเชื่อที่เรณูบอก ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าตอแหล คือต้องใช้คำว่าตอแหลเลย เพราะไม่บอกความจริง แล้วคนมารู้ความจริงทีหลัง พอเรามาเขียนก็ฉายภาพให้เห็นเบื้องหลังในอดีตของเรณู ก็รู้ว่านางเป็นกะหรี่จริง แต่เราก็เห็นใจนางไปด้วย เราเกลียดนางไม่ลง มันเลยไม่เข้าขนบความเป็นนางเอก”

เรณูนั่งนิ่ง รอยยิ้มนั้นยังคงอยู่ ทว่าในดวงตากลงโตของเธอมีน้ำตาคลอ

ผมจึงเปลี่ยนประเด็นในการถามต่อไปว่า “ดูเหมือนว่านวนิยายที่จุฬามณีเขียน จะหนีไม่พันเรื่องปัญหาภายในบ้าน”

“ชีวิตคนเราเริ่มต้นที่ครอบครัว ก็จบที่ครอบครัว” จุฬามณียิ้ม “พี่น้องจะเกลียดเคียดแค้นแค่ไหน สุดท้ายก็ตัดไม่ตายขายไม่ขาด ด่ากันให้ตาย เอาหลานมาทิ้งก็ต้องรับเลี้ยง เราสนุกกับคำว่าพี่น้อง ถ้าเราเอาแม่ย้อยเป็นจุดศูนย์กลาง ก็จะมีตัวละครมาล้อมรอบ โดยเฉพาะสะใภ้ เราวางไว้เลยว่าสะใภ้จะต้องเเซ่บ มีทั้งเรณู พิไล เพียงเพ็ญ จันตา อรพรรณี บุญปลูก มาลา รวม 7 คน ไม่ใช่น้อยเลยนะที่จะให้ผู้หญิงทั้งหมดนี้มีที่มาที่ไปไม่ซ้ำกัน เป็นความท้าทายมาก

“เราต้องสังเกตคนรอบตัวให้มาก ทำความรู้จักกับมันให้ดี พอจะบรรยายเราก็เข้าใจทันทีว่าตัวละครผู้หญิงแต่ละตัวจะแสดงออกยังไง มีนิสัยยังไง แม่ย้อยนี่เคยเป็นสะใภ้ครอบครัวจีนมาก่อนก็จะเข้าใจว่าการจัดการกับลูกสะใภ้นั้นลำบากแค่ไหน

“ตัวแม่ย้อยเองก็เคยเจอแม่ผัวด่าลูกชายกระทบตัวเองมาก่อน ตอนแม่ย้อยแต่งงานเข้าบ้านเจ๊กเซ้ง ก็ถูกแม่เจ๊กเซ้งมองว่าไปเอาผู้หญิงไทยมาจะทำให้บรรพบุรุษไม่ได้กระดาษเงินกระดาษทอง เพราะเชื่อว่าผู้หญิงไทยไม่รู้ขนบธรรมเนียมจีน คนจีนเขาเชื่อทำบุญเสียเปล่าไหว้เจ้าดีกว่า ตัวอาม่าก็ยึดมั่นในความเป็นจีนของตัวเองมาก ตัวแม่ย้อยก็ค่อยๆ ซึมซับ และต้องยอมรับว่าเจ๊กเซ้งไม่ใช่ลูกชายคนโต เพราะฉะนั้น จะไม่ได้รับสมบัติเทียบเท่าสะใภ้ใหญ่ แต่ครอบครัวคนจีนก็จะมีการแบ่งทุนให้ลูกๆ ออกไปทำกิจการหรือเอาไปสร้างตัว”

จุฬามณีกล่าวต่อไปว่า “เรารู้อยู่แล้วเรื่องครอบครัวไทย เพราะเราอยู่กับมันมา รู้สึกนึกคิดอย่างไร ส่วนครอบครัวคนจีนเราต้องทำการบ้านมาก ต้องอ่านจากนวนิยายหลายเรื่อง เช่น ก่อนสายหมอกเลือน ของโบตั๋น ลอดลายมังกร ของประภัสสร เสวิกุล อยู่กับก๋ง ของหยก บูรพา คือเราอยากรู้การบรรยายคติของคนจีนไว้อย่างไร นอกจากอ่านแล้วเราก็มีเพื่อนที่เป็นจีนด้วย เขาก็จะเล่าสมัยอากงอาม่า รุ่นพ่อแม่เขามีขนบธรรมเนียมอย่างไร

“ถ้าเปรียบเทียบกัน ครอบครัวคนไทยนี่หวังพึ่งลูกสาวนะ สังเกตจากครอบครัวตัวเองที่เป็นไทย บ้านทางแม่พี่เป็นลาวคั่ง มีผสมจีนบ้าง ก็หวังพึ่งลูกสาวอยู่ แม้จะมีความลำเอียงรักลูกชาย เพราะเชื่อเรื่องการบวชเรียน การสืบทอดสกุล แต่สุดท้ายคือหวังพึ่งลูกสาว มันก็เลยแปลกประหลาด แล้วก็มีการแบ่งสมบัติเช่นเดียวกับบ้านคนจีนเหมือนกัน ก็ถามแม่ว่าทำไมโซ้น (ตา) แบ่งนาให้คนละทุ่ง แบ่งบ้านให้ลูกคนโต แม่บอกว่าไม่ได้ให้ทั้งหมด แต่แบ่งออกไปก่อน แล้วค่อยให้คนอื่นๆ ทีหลัง แต่อาจจะได้ไม่เท่ากัน

“ในความคิดก็คือ ลูกคือแรงงานที่จะต้องลงทุน เพราะฉะนั้น นวนิยายพี่จะไม่ใช่เรื่องการหึงหวงของเมียหลวงกับเมียน้อย หรือคิดแต่จะทำยังไงให้ได้ผัวมานอนด้วยกันคืนนี้ เราไม่ได้ไปโฟกัสตรงนั้น เราไปโฟกัสในเรื่องของเศรษฐกิจ โดยที่ตัวละครพาเราไปด้วย ผ่านการแบ่งสมบัติของลูกชาย แม่ย้อยนี่จะยึดตามการแบ่งสมบัติแบบคนจีนที่จะให้ลูกชายคนโตคืออาใช้ไว้เยอะที่สุด แต่ด้วยความที่ลูกชายไปเอาเรณูมาเป็นเมียก็อยากดัดหลัง ก็ทำเหมือนว่าไม่ให้สมบัติ แต่ท้ายสุดแล้วลูกชายคนโตคือรักแรกของแม่”

เรณูหน้าสลดลงเมื่อได้ยินเหตุผล เธอคงเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงสถานะของแม่ย้อย ความเป็นแม่ และทำให้กลับมามองสถานะความเป็นเมียของตนเอง จึงพูดขึ้นว่า “ฉันคงจะลดๆ การยั่วโมโหแกลงหน่อย แต่ที่ฉันทำไปก็เพราะฉันรักพี่ใช้หรอกนะ คงจริงอย่างพี่เฟื่องว่า เรื่องมันเริ่มที่ครอบครัว ก็ต้องจบลงที่ครอบครัว”

“แต่ว่าเรื่องของครอบครัวกลับกลายเป็นเรื่องของชาวบ้านไปด้วยนี่สิครับ” ผมสงสัย เนื่องจากเมื่อผมมาถึงชุมแสงก็เห็นเหตุการณ์คนมุงดูการทะเลาะวิวาทระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ในตลาด

“พี่โตมากับร้านขายของชำ เห็นเรื่องการนินทาเป็นเรื่องปกติ บวกกับมันเป็นสูตรของละครด้วย เราต้องยืมมือคนอื่น ยืมมือมวลชนมาเป็นตัวเดินเรื่อง เมื่อเล่นกับชุมแสง มีทั้งรถไฟ มีทั้งแม่น้ำน่าน เราต้องไม่ทิ้งตลาด ชุมแสงมีตลาดใหญ่เราก็ต้องไม่ทิ้ง เมื่อเราต้องการจะเล่นกับสถานที่ เพราะฉะนั้น จะเห็นตัวละครนั่งรถไฟบ้าง นั่งเรือบ้าง ไปเดินตลาดบ้าง ค้าขายร้านทอง ร้านเสื้อผ้า วิถีชีวิตมันก็จะมาเอง

“จะเห็นว่าในเรื่อง สุดแค้นแสนรัก ทำไมตัวละครขึ้นกันแต่รถ ก็สถานที่และเวลานั้นมันบังคับให้ทำได้แค่นั้น ยิ่งเรื่อง ทุ่งเสน่หา ตัวละครเดินอย่างเดียวเลยนะ มันไม่มีอย่างอื่นไง พอหน้าฝนก็จะบรรยายว่ารถเข้าไม่ได้ ถนนมันเป็นโคลนเป็นหล่ม เราจึงต้องเข้าใจในภูมิศาสตร์ก่อน ถึงจะรู้ว่าตัวละครทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน พอเรื่องมันมีสถานที่จริง เช่น ท่าน้ำอ้อยมีแม่น้ำผ่าน ก็เล่นกับทางเดินเรือได้แน่ แต่ทางรถไฟไม่มี ตลาดก็ไม่มี ไม่ใหญ่โตมโหฬารอย่างชุมแสง

“พอมีตลาด คนมันก็พร้อมที่จะมามุง แค่ร้านหนึ่งขายขนมมีคนมุงอยู่ เราก็จะไปมุงด้วย อยากรู้ว่าข้าวเหนียวมูนอร่อยมากเลยเหรอ เราก็เห็นว่ามุงๆ กันนี่มันต้องอร่อยไง แล้วจะบอกว่าทุกที่เป็นแบบนี้หมดไม่ว่าจะเป็นบางมูลนาก ตะพานหิน ทับกฤช โกรกพระ ลาดยาว หรือทุกที่ในประเทศที่มีตลาดต้องมีการมุง มีคนจีนอยู่ มีไชน่าทาวน์ของตัวเอง มีศาลเจ้า เพราะทุกอย่างอยู่ในมือคนจีน พอเรื่องนี้มีความเป็นจีนเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเราโยงไปหาตำบลฆะมังก็มีความเป็นไทย เพื่อที่จะทำให้คนไทยรู้สึกเข้าถึงได้ คนส่วนใหญ่หรือคนธรรมก็เข้าใจ”

ใช่ ผมคิดถึงสิ่งสำคัญที่จุฬามณีพูดและนำเสนอผ่านนวนิยายของเขา คือการทำให้คนอ่านเข้าถึงได้ คนส่วนใหญ่และคนธรรมดาเข้าใจ มากไปกว่านั้น คือทำให้คนอ่านรู้สึกร่วม นวนิยายทำหน้าที่ของมันในการให้ความบันเทิง สร้างให้คนเกิดความเข้าใจและเกิดความรู้สึกที่ละเอียดลึกซึ้งผ่านเรื่องเล่าและตัวละคร นี่คือความพิเศษของงานเขียนที่เรียกว่านวนิยาย

กรงกรรม, จุฬามณี กรงกรรม, จุฬามณี

5

“อีเรณู อีเรณูโว้ย!” เราได้ยินเสียงตะโกนมาจากนอกรั้วบ้าน

เรณูลุกขึ้น แล้วเดินไปชะโงกหน้ามองไปยังต้นเสียงนั้น เมื่อรู้แน่แล้วว่าใครมา จึงหันมาทางเรา “แม่ย้อยมาจ้ะพี่”

จุฬามณีลุกขึ้น ผมจึงลุกตาม พวกเราเดินกันไปที่หน้าบ้าน จุฬามณีพูดขึ้นว่า “แม่ย้อยมาตามอีณูรึ”

“เปล่า” แม่ย้อยตะโกนมาด้วยท่ายืนเท้าเอวอยู่กลางแดด แต่ไม่ได้ยืนอยู่คนเดียว รายรอบตัวนั้นคือชาวบ้านในตลาดชุมแสงที่ตามมาด้วยหลายสิบคน “กูเห็นว่าอีณูมันพาคนจากกรุงเทพฯ มาสัมภาษณ์จุฬามณี ก็อยากมาฟังด้วย ให้กูกับชาวบ้านเข้าไปฟังด้วยได้มั้ยล่ะ”

จุฬามณีและเรณูหันมาทางผมเป็นเชิงหารือ ผมก็คิดออกขึ้นมา จึงบอกไปว่า

“เราคุยกันจบแล้วครับป้าย้อย แต่ถ้าป้าอยากรู้ ป้าก็ตามอ่านเรื่องที่เราคุยกันได้ใน The Cloud ครับ เรานินทาป้าย้อยเอาไว้เยอะเหมือนกัน”

จุฬามณี เรณู และผม ต่างก็ยิ้มให้กัน เพราะเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันต้องข้องเกี่ยวกับคนอื่นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับนวนิยายของจุฬามณี แม้จะเป็นเพียงเรื่องแม่ผัว ลูกสะใภ้ หรือครอบครัวหนึ่ง ในหลายอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของสังคมไว้ครบถ้วน

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

หลงใหลโลกวรรณกรรมในหลากหลายมิติ ศึกษามาทางด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น (นามปากกา สมุด ทีทรรศน์) ความเรียง บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิชาการ และบทสัมภาษณ์ นอกจากงานเขียนยังเป็นบรรณาธิการแปลอิสระและนักเดินทาง (ไม่อิสระ) ด้วย