พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งนี้เป็น 1 ใน 5 พิพิธภัณฑ์ในเครือของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บนชั้น 2 อาคารชีววิทยา 1 ซึ่งประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา (ห้องนิทรรศการหลักพิพิธภัณฑ์เต่าและตะพาบ พิพิธภัณฑ์แมลง พิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และพิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ .. 2530 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และฉลองการครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความจริงตัวพิพิธภัณฑ์อยู่มานานกว่านั้นนัก เราสามารถสังเกตได้จากของจัดแสดงเก่าแก่บางชิ้นในคอลเลกชัน อาทิ ตู้จากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ใบนี้เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

ตู้จากพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

คาดกันว่าตู้ไม้ทรงคลาสสิกนี้ได้รับตกทอดมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงริเริ่มการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมถึงข้าวของแปลกๆ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอาไว้ให้ราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศได้เข้าชม (บางคนถือว่านี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘พิพิธภัณฑ์’ ในเมืองไทยเลยทีเดียว) ด้วยความที่ทรงสนพระราชหฤทัยในการสะสมและจัดแสดงเช่นนี้ ทำให้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของต่างๆ อยู่เสมอ อย่างแอนทิโลปจากแอฟริกาใต้ หรือตัวสลอธจากทวีปอเมริกา ที่เห็นได้ในตู้นี้เป็นต้น

ถึงแม้ข้อมูลที่มีจารึกไว้ในตู้จะมีจำกัดเพียงน้อยนิด แต่ที่มาอันไกลโพ้นของสัตว์เหล่านี้ (ที่ย่อมถูกมองว่าแปลกพิสดารในอดีต) สามารถสะท้อนให้เห็นความสนใจในสิ่งมีชีวิตและโลกต่างถิ่นในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

โครงกระดูกสุนัข

คุณกฤษฎา คทาวุธพูนพันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปพิพิธภัณฑ์คณะวิทยาศาสตร์ได้บอกเล่ากับเราว่า คอลเลกชันของที่นี่มีจุดประสงค์หลักๆ เพื่อการเรียนการสอนของนิสิตในคณะวิทยาศาสตร์ โดยแทบทุกวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจะต้องพามาเรียนที่นี่

แถมบางวิชาก็ยังมีโจทย์ให้ไป ‘หา’ สรรพสัตว์มาเพิ่มใส่ในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย!

บริเวณชั้นลอยจะมีมุมผลงานนักศึกษาจาก ‘โครงการติดตั้งโครงกระดูก’ ที่นิสิตจะต้องเรียนรู้โครงสร้างของสัตว์แต่ละประเภทโดยการต่อโครงกระดูกเหล่านั้นขึ้นมาเอง แล้วจำแนกชื่อเรียกกระดูกส่วนต่างๆ ให้ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งความยากง่ายของสัตว์แต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป เช่น หากจับสลากได้งู (สัตว์เลื้อยคลาน) ความยากจะอยู่ที่การเลาะและต่อประกอบกระดูกงูซึ่งเล็กและถี่มาก (แน่นอนว่าห้ามทำกระดูกหาย!) ส่วนสุนัขตัวนี้ นิสิตในกลุ่มงานได้ขอบริจาคมาจากนิสิตปริญญาเอกท่านหนึ่งตอนที่สุนัขตาย เนื่องจากเป็นสุนัขขนาดใหญ่ ความยากจึงอยู่ที่การเลาะเนื้อหนังออกจนเหลือแต่กระดูก ทราบมาว่านิสิตกลุ่มนี้ใช้เวลาถึง 3 เดือนกว่าจะทำงานชิ้นนี้สำเร็จ

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

เหี้ยสตัฟฟ์

ตู้จัดแสดงเหี้ย 4 สายพันธุ์นี้เกิดจากงานวิจัยของนิสิตปริญญาเอกท่านหนึ่ง ซึ่งเหี้ยทั่วโลกทั้งหมดมีอยู่ 5 สายพันธุ์ โดยประเทศไทยพบได้ถึง 4 สายพันธุ์ นับว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ไล่ตั้งแต่ขนาดเล็กไปใหญ่ ได้แก่ ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง ตะกวด และเหี้ย ส่วนตัวที่ไม่พบในประเทศไทยคือมังกรโคโมโด ซึ่งพบได้ที่อินโดนีเซีย ที่จริงการแบ่งแยกชนิดตามขนาดก็อาจไม่แม่นยำนัก เช่นหากพบลูกเหี้ยก็อาจเข้าใจไปว่าเป็นตะกวดได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าให้สังเกตลายที่ผิวหนัง ตะกวดจะมีลายสีเหลืองเป็นจุดๆ กระจายตัวเหมือนเมฆ ในขณะที่เหี้ยจะมีลายกลมๆ เหมือนลายดอก  ต้องยอมรับว่าตู้จัดแสดงนี้ช่วยให้เราสามารถพิจารณาความเหมือนและต่างของแต่ละสายพันธุ์ได้ในระยะประชิด เพราะในชีวิตจริงแค่เห็นไกลๆ เราก็คงชิงวิ่งหนีพวกเขาเสียแล้ว

ป.ล. เหี้ย แต่เดิมไม่ได้เป็นคำหยาบแต่อย่างใด บางทฤษฎีก็อธิบายว่าเพราะเหี้ยมีนิสัยที่น่ารังเกียจ มักมาขโมยไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไปกิน ผู้คนจึงนำไปเรียกเป็นคำด่าในเวลาต่อมา

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

โครงกระดูกศาสตราจารย์หลวงศรีสมรรถวิชากิจ

นอกจากกระดูกของสัตว์แล้ว ที่นี่ก็ยังมีกระดูกมนุษย์จัดแสดงด้วย! เนื่องจากว่าคอลเลกชันของที่นี่นอกจากจะมาจากตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยแล้ว หลายๆ ชิ้นก็ได้มาจากการบริจาค จากหลากหลายช่องทาง อาทิ โครงกระดูกมนุษย์ที่อยู่บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของ ศาสตราจารย์หลวงศรีสมรรถวิชากิจ (สิริ หัพนานนท์) โดยท่านผู้นี้ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เคยเป็นอาจารย์สอนภาควิชาพฤษศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์แห่งนี้นี่เอง ซึ่งทางสตาฟฟ์ของพิพิธภัณฑ์บอกเราว่า ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสอนนิสิตไปตลอดแม้กระทั้งหลังท่านเสียชีวิตไปแล้ว จึงได้บริจาคโครงกระดูกร่างกายตนเองให้กับพิพิธภัณฑ์ฯ ด้านหลังโครงกระดูกของอาจารย์สลักบทกลอนจากกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ อันสะท้อนถึงเจตนารมณ์นั้นได้เป็นอย่างดี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

ผีเสื้อในวรรณคดี

จะกล่าวถึงกลอนแล้วไม่พูดถึงของจัดแสดงอีกชิ้นหนึ่งคงไม่ได้ นั่นก็คือ ‘ตู้ผีเสื้อในวรรณคดี’ ที่ทำให้เราเห็นว่า แม้ที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ขาดซึ่งความสุนทรีย์ โดยในตู้นี้มีการจัดเรียงผีเสื้อนานับชนิดอย่างวิจิตรตามชื่อพันธุ์ต่างๆ ที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง เงาะป่า ทั้งยังจัดแสดงบนแผ่นอะคริลิกใส ทำให้สามารถมองเห็นผีเสื้อได้จากทั้งด้านหน้าและด้านหลังอีกด้วย

นอกจากนี้ แฟนวรรณคดีไทยยังสามารถหาชมปลาชนิดต่างๆ ที่จัดแสดงตามกาพย์เห่เรือ และแมลงที่จัดตามสัตวาภิธานได้ที่พิพิธภัณฑ์นี้อีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

ปลาบู่มหิดล

เจ้าตู้จัดแสดงปลาชนิดนี้ตั้งเรียงอยู่ตรงขวามือจากทางเข้า ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็อาจจะรอดพ้นสายตาของท่านผู้ชมไปได้ ซึ่งก็จะเป็นความน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเจ้าปลาบู่นี้ไม่ใช่ปลาบู่ธรรมดาเสียทีไหน เขาเป็นถึง ‘ปลาบู่มหิดล’ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Mahidolia mystacina) เป็นปลาบู่ที่หาพบได้เพียงที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เท่านั้น ค้นพบครั้งแรกเมื่อ .. 2475 โดย ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ ในฐานะที่ได้ทรงอุปถัมภ์และพระราชทานทุนสำหรับส่งนักเรียนไปศึกษาต่อด้านการประมงในต่างประเทศ และทรงได้รับถวายสมัญญานามว่า ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย’

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา

เต่าสึนามิ

เต่าตนุขนาดใหญ่ตัวนี้โดนพัดมาตายที่ป่าเสม็ดตอนเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 ทหารเรือเป็นผู้ไปพบเข้าและพยายามนำไปปล่อยลงทะเล แต่เต่าตัวนี้ขาดใจตายก่อน ด้วยความที่เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่มาก ทหารเรือจึงฉีดฟอร์มาลีนไว้ให้ แล้วติดต่อมายังภาควิชาชีววิทยา เพื่อให้เก็บเป็นตัวอย่างใช้ในการศึกษาต่อไป แต่พอนำกลับมาที่คณะแล้วปรากฏว่าส่งกลิ่นเหม็นมาก อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเต่าจึงนำกลับบ้านไปฉีดฟอร์มาลีนต่อให้อิ่มตัว ทราบมาว่าคืนนั้นอาจารย์เห็นชาวต่างชาติเดินไปเดินมาอยู่เต็มบ้าน คาดว่าอาจจะเป็นผู้ประสบภัยพิบัติที่นั่งรถตามมาด้วยกับเต่าตัวนี้… (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่)

7 สิ่งพิศวงนี้ถือว่าเป็นเพียงน้ำจิ้มของความมหัศจรรย์ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งนี้ที่รอให้ทั้งนิสิตและคนที่สนใจทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้เข้าไปศึกษากัน บอกเลยว่าบรรยากาศของที่นี่ดูๆ ไปแล้วก็ชวนให้นึกถึง Cabinet of Curiosities ในสมัยเรเนซองส์ของยุโรป 

กล่าวคือห้องเก็บและจัดแสดงนานาสิ่งของอันชวนพิศวงเน้นสร้างจินตนาการ และหาดูได้ยากแล้วในเมืองไทยสมัยนี้ อย่างไรก็ดี ถ้าใครชอบความสมัยใหม่ ที่นี่เขาก็กำลังพัฒนาแอพชื่อ SciMuseumCU ซึ่งสามารถช่วยให้ข้อมูลสิ่งของจัดแสดงขณะเดินชมได้ผ่านการสแกน QR code ที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ แล้วจะมีข้อมูลขึ้นมาให้อ่าน ซึ่งต่อไปแอพพลิเคชันนี้จะพัฒนาฟังก์ชันให้มี Route เดินชม หรือเป็นเกมทำนองล่าขุมทรัพย์อีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตึกชีววิทยา 1 ห้อง 230 ชั้นภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0 2218 5266
เว็บไซต์ museum.stkc.go.th/cu/
เวลาทำการ วันจันทร์ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 . ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์
ไม่เสียค่าเข้าชม

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล