ตอนที่ 1

เมื่อเรามีลูก เราจะมีเรดาร์ในการตรวจค้นสิ่งที่เหมาะกับเด็ก เป็นมิตรกับครอบครัว มากเป็นพิเศษ

และอีกหนึ่งเมืองที่เรดาร์ของเราไปตรวจจับมาได้ คือฟุกุโอกะ หนึ่งในจังหวัดของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่นค่ะ

ฟุกุโอกะเป็นเมืองที่เรียกว่ามีครบทุกสิ่งให้เลือกสรร ทั้งของกิน วัฒนธรรม กาแฟ ธรรมชาติ ศิลปะ สถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะรถไฟค่ะ

สถานีฮากาตะ นับเป็นสถานีใหญ่ใจกลางฟุกุโอกะ เป็นต้นทางของรถไฟท่องเที่ยวหลายสาย หนึ่งในรถไฟสายที่เรดาร์ของแม่ตรวจจับมาแล้วว่าโดนใจทั้งครอบครัวชัวร์ คือรถไฟสายบ๊อกๆ Aso Boy! นั่นเอง

ตุ๊กตา พนิดา

ชื่นใจนั้นคุ้นเคยผ่านตากับ Aso Boy! มานานตั้งแต่ยังพูดไม่เป็นคำ เพราะหนังสือ ทางรถไฟสายดาวตก ของลุงก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน) ที่วางอยู่หัวเตียงนอนของแม่ เวลาเห็นแม่อ่านก็ชอบมาขอมีส่วนร่วม แถมยังชอบเปิดหน้านั้นหน้านี้ดูรูปสวยๆ ในเล่มอีกด้วย (ในนั้นยังมีรถไฟอีกหลายขบวนที่จะทยอยพากันจูงมือมาในตอนถัดไปค่ะ)

Aso Boy! คือหนึ่งในรถไฟท่องเที่ยวของภูมิภาคคิวชู ที่เกิดจากการออกแบบของ คุณเอจิ มิโตะโอกะ (Eiji Mitooka) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่พัฒนาการรถไฟของภูมิภาคนี้ให้กลับมาคึกคักและดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ Aso Boy! ที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อชักจูงเหล่าครอบครัวที่มีสมาชิกตัวจิ๋วๆ

ชื่่นใจ

รถไฟขบวนนี้ออกเดินทางจากสถานี Miyaji-Kumamoto และใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทันที่เราไปถึงชานชาลา Aso Boy! ก็จอดเทียบท่าอยู่แล้ว ชื่นใจในวันนั้นยังอายุแค่ขวบกว่าๆ อาการดี๊ด๊ายังไม่ค่อยออก เอาแต่เดินวนรอบรถไฟดูหมาที่ด้านนอก เราค่อยๆ ถามเธอ ‘นี่ไงรถไฟหมา จำได้ไหมๆ’ จนเข้าไปในรถไฟนั่นล่ะ ความตื่นเต้นจึงมาเต็ม

ชื่นใจ

ขึ้นไปบนรถไฟแล้วก็เดินสำรวจรถไฟด้วยกัน เบาะที่นั่งและพนักพิงทำไว้ 2 ขนาด คือสำหรับผู้ใหญ่และเด็กนั่งคู่กัน ที่ฝั่งเบาะเด็ก ก็มีที่รองวางเท้าเสริมไว้ให้ด้วย แต่ละเสาหรือราวจับจะหุ้มไว้ด้วยนวมกันกระแทก เผื่อว่ารถไฟวิ่งโคลงเคลง เด็กๆ ที่ระดับความสูงพอดีชนเข้า ก็จะไม่เจ็บตัวจนเลือดตกยางออก

คาเฟ่ คาเฟ่ พ่อลูก ชื่นใจ

ในนี้เขาแบ่งที่นั่งเป็นโซนๆ มีโซนที่นั่งปกติที่เบาะหุ้มด้วยผ้าสีสดใส มีโซนคาเฟ่ให้เลือกซื้อเบียร์เด็ก คือน้ำไซเดอร์ที่ให้เด็กๆ แอ๊บเอาว่าเป็นเบียร์ อารมณ์แบบพวกคุณพ่อพอนั่งพักได้ที่ก็จะจิบเบียร์พอสบายใจ, โซนสนามเด็กเล่นที่แม้แต่เราไม่ใช่เด็กยังกรี๊ด ว่าจะออกแบบมารู้ใจและเอาใจเด็กๆ กันขนาดไหน มีบ่อบอลไม้ที่เป็นเป้าหมายหลักของชื่นใจเลย เพราะในหนังสือมีรูปบ่อบอลไม้นี้ ชื่นใจก็จะเปิดพินิจดูเป็นประจำ มีมุมหนังสือ มุมศิลปะให้เด็กๆ วาดรูปเล่นได้ ส่วนด้านหน้าขบวนเป็นโซนชมวิว ที่เราจะได้เห็นธรรมชาติไปตลอดทาง

รถไฟการ์ตูน รถไฟ

นอกจากนั้น ในขบวนรถไฟเจ้าหมา Kuro ที่หน้าตาและท่าทางขี้เล่นนี้ ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่แสนจะน่ารัก อย่างผ้าม่านลายหมาน้อยในอิริยาบถต่างๆ มีตราปั๊มที่ระลึกถึง Aso Boy ให้เราประทับไว้ในสมุดส่วนตัว มีเปลเด็กเล็กๆ สำหรับเบบี้ที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะฝากยืนฝากนอนได้สักแป๊บ เผื่ออยากไปเดินถ่ายรูปเล่น

ชื่นใจ ชื่นใจ บ่อบอล มุมหนังสือ

ในรถไฟชื่นใจยืนพื้นอยู่ที่บ่อบอล เล่นเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง คอยมองเด็กคนอื่นๆ รอบตัวบ้างว่าเขาเล่นกันยังไง มีเด็กหลากหลายอายุและความสนใจ บางคนมีพี่ๆ พนักงานคนสวยคอยสอนพับกระดาษ บางคนหลบมุมไปนั่งเปิดหนังสือดูที่เก้าอี้ตัวน้อย บางคนนั่งกินข้าวกล่องมองวิวไปกับคุณยาย

ช่วงเวลาจาก Miyaji-Kumamoto รถไฟขบวนนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เมื่อถึงสถานีปลายทาง ชื่นใจอาวรณ์และต้องทำใจอยู่นานกว่าจะบ๊ายบายเจ้า Kuro กันได้ เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนออกจากชานชาลา สิ่งที่เราอยากให้มันเหลืออยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของชื่นใจ คือความประทับใจในวันนี้ เพราะเมื่อถึงวันข้างหน้า มันคงจะกลายเป็นความทรงจำที่มีค่าระหว่างเรา

หนังสือ

ตรัย ภูมิรัตน พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล ชื่นใจ

Writer & Photographer

Avatar

พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล

เริ่มต้นงานแรกหลังเรียนจบและงานเดียวจนถึงปัจจุบันคืองานในวงการสิ่งพิมพ์ รักงานบรรณาธิการและงานเขียน ตอนนี้มีอาชีพเป็นคุณแม่และภรรยาที่ทำงานที่รักไปด้วย อ่อนไหวง่ายและภูมิต้านทานต่ำเมื่อเจอกับเรื่องราวกระจุกกระจิก และคอยหาเวลาว่างเพื่อเก็บมาเป็นซีรีส์กุ๊กกิ๊ก ไกด์ อยู่เสมอ