ก่อนที่เราจะมีชื่นใจมาเป็นผู้ร่วมคณะทัวร์กุ๊กกิ๊ก การเดินทางของเรามีเป้าหมายไม่มาก คือได้ไปเดินในร้านเล็กร้านน้อยที่ขายของแบบคัดเลือกมาถูกจริตกัน ไปนั่งร้านกาแฟ ไปกินขนม ดมกลิ่นกาแฟหอมๆ ไปพิพิธภัณฑ์ ไปแกลเลอรี่ แล้วก็เดินเข้าซอยนั้นออกซอยนี้ เพื่อหลงเป็นอาชีพ

เมื่อมีชื่นใจมาเป็นลูกคณะ หัวหน้าคณะอย่างแม่ก็ยังไม่ทิ้งโปรแกรมเดิมๆ เพียงแต่เพิ่มเติมอะไรที่เกี่ยวกับเด็กเข้ามาบ้าง มีสวนสัตว์บางครั้ง มีสวนน้ำบางที มีแกลเลอรี่สำหรับเด็ก มีพิพิธภัณฑ์นักทดลอง และอะไรต่ออะไรที่อยู่ในความรักความชอบความสนใจของลูกคณะในช่วงเวลานั้นๆ

อย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพาลูกเข้าพิพิธภัณฑ์ นอกจากแม่และพ่อได้ดูงานของศิลปินต่างๆ แล้ว (อย่าเพิ่งคาดหวังว่าเด็กเล็กๆ จะซึมซับแนวคิดของศิลปินท่านนั้นๆ ได้ มันเกินกำลังไปนิดค่ะ) สิ่งที่เราได้มากกว่าการดำรงกิจกรรมเดิมๆ ที่เราชอบ คือชื่นใจได้เรียนรู้มารยาทต่างๆ ในการอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่น เวลาที่เราอยู่ในนี้ เราจำเป็นจะต้องลดระดับเสียงลง เราจำเป็นต้องใส่ใจคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เราจำเป็นต้องระงับมืออันแสนไวของลูกไม่ให้ไปจับตัวผลงานเลอค่า หรือพยายามจะแทะนั่นแทะนี่เวลาเห็นอะไรแปลกใหม่

Naoshima Island

Naoshima Island

Naoshima Island

ความยากที่สุดของการเข้าพิพิธภัณฑ์กับชื่นใจ คือช่วงวัยเกือบๆ 2 ขวบนี่ล่ะค่ะ ชื่นใจกำลังสนุกกับสองขาที่รู้แล้วว่าสามารถเดิน เดินไวๆ และออกวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง อะไรที่ผ่านเข้ามาในสายตาแล้วอยากจะไปดู ไปสัมผัส ไปจ้องใกล้ๆ ก็แค่ออกแรงเดินไป แต่ทำให้พ่อและแม่ปวดหัวไม่น้อย ตอนที่เด็กกว่านี้ เราอาจสยบด้วยการเอาเข้าเปลอุ้ม แล้วเดินไปด้วยกัน ออกเสียงดังอ้อแอ้ก็หาอะไรให้ดู ให้จับ ดึงความสนใจด้วยผลงานแต่ละชิ้นตรงหน้า

เมื่อผ่านวัยแห่งความยากในการควบคุมมาได้ ช่วงอายุ 2 ขวบกว่า เราว่าเป็นวัยที่ลูกสนุกและเริ่มได้ซึมซับรูปทรง ลวดลาย สีสัน ผ่านผลงานศิลปะต่างๆ ได้ดีขึ้น เวลาบอกเล่าหรืออธิบายอะไรให้ฟังเกี่ยวกับชิ้นงาน ก็ดูแววตาเปิดรับมากขึ้น และเริ่มเข้าใจแล้วว่าเมื่อเราอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ เราจำเป็นต้องลดระดับเสียงลงนะ เราเอื้อมมือไปจับไม่ได้นะ อีกอย่างที่ชื่นใจค้นพบในพิพิธภัณฑ์คือสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อสารกับเรา มันช่วยสร้างความเข้าใจอันดีสำหรับเขาในการรู้จักมารยาทสังคมได้ดีขึ้นมากค่ะ อย่างป้ายงดใช้เสียง ป้ายห้ามถ่ายรูป ป้ายห้ามจับ ฯลฯ ชื่นใจเชื่อถือคำสั่งของป้ายเหล่านี้มาก ปฏิบัติตามอย่างดี ไม่มีวอกแวก หรือหลังๆ เวลาไปที่ไหนถ้าเกิดเสียงดัง ก็จะเปรียบเทียบให้ชื่นใจฟังว่าต้องเงียบเหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ไง

เมื่อพูดถึงพิพิธภัณฑ์ หนึ่งในทริปแห่งความทรงจำของเราตลอดกาล คือการไป Naoshima Island เกาะขนาดเล็กแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เกาะแห่งนี้เป็นสวรรค์ของงานศิลปะ ของศิลปิน และของคนที่ชื่นชอบในศิลปะหลายๆ แขนง เป็นเกาะที่มีชื่อเสียงในทางศิลปะอย่างมาก ทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก และชาวญี่ปุ่นเอง

Naoshima Island

Naoshima Island

การเดินทางไปที่เกาะนี้สมบุกสมบันมาก ต้องนั่งเครื่องบิน ต่อรถไฟ ลงเรือ ต่อรถบัส นั่นล่ะกว่าจะถึง แต่เมื่อไปถึงแล้วทุกอย่างช่างคุ้มค่า การต้อนรับเราด้วยฟักทองลูกใหญ่สีแดงจุดดำ ทำให้ความเหนื่อยเกือบหายเป็นปลิดทิ้ง อีกทั้งมุมที่มองจากห้องพักของเราในโรงแรม Benesse House ที่เห็นงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ สีสันสดใส วางตั้งอยู่ในสวนโล่งกว้างเหมือนเป็นสนามเด็กเล่น และมีทะเลสงบเงียบทอดตัวยาวให้เราได้นั่งมอง เป็นความผ่อนคลายที่แฝงความสนุกสนานตื่นเต้นไว้ในใจ

ก่อนที่จะมา เราคิดกันไว้ว่าถ้าไปถึงแล้วห้องแสดงงานไหนที่ชื่นใจดูท่าจะเข้าไม่ไหว เพราะต้องใช้ความสงบเงียบมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างซีเรียส เราจะผลัดกันเข้าไปดู พอเอาเข้าจริงบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์รวมถึงคนดูแลจะคอยบอกเราถึงกฎกติกามารยาทในการเข้าชม ก็ทำให้จากที่เคยคิดว่าชื่นใจจะเข้าไม่ไหวแน่ๆ เลยได้ดูเกือบทุกงาน

Naoshima Island

Naoshima Island

พิพิธภัณฑ์ที่ชอบที่สุดของเกาะนี้คือที่ Chichu Art Museum แค่ได้เดินอยู่ในนี้แล้วดูสถาปัตยกรรมก็สนุกแล้ว ในนี้มีงานของศิลปินหลายคน แต่ละงานจัดแสดงด้วยพื้นที่แบบเต็มที่ ช่วยขับให้แต่ละงานส่งพลังให้ตื่นตะลึงดี อย่างงานของโมเนต์ Walter De Maria ที่นี่เป็นที่นึงที่เราเคยคิดว่าชื่นอาจจะเงียบไม่ไหว แต่เธอทำได้

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีโบรชัวร์ให้เราใช้สื่อสารกับเด็กเกี่ยวกับงานศิลปะแต่ละชิ้นอีกด้วย ซึ่งเหมาะกับการใช้ระหว่างรอเข้าชมแต่ละงาน แสดงว่าที่นี่ต้อนรับเด็ก แต่เด็กคนนั้นก็ต้องเคารพกติกาในการเข้าชมงานด้วย

Naoshima Island Naoshima Island

นอกจากที่ Naoshima Island แล้ว ยังมีเกาะศิลปะน้อยใหญ่อีกหลายเกาะในบริเวณใกล้ๆ กัน อีกเกาะที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงคือ Teshima ที่นี่มีงานศิลปะหลายชิ้น หลายงาน แต่ส่วนใหญ่จะเปิดแค่วันเสาร์-อาทิตย์ ที่เกาะนี้เราได้มาแค่งานไฮไลต์ของเกาะ คือที่ Teshima Art Museum ซึ่งคุ้มค่ามากสำหรับเราแล้วค่ะ

Teshima Art Museum ถูกออกแบบไว้ราวกับปาฏิหาริย์ คือท่ามกลางทุ่งนาขั้นบันได ท้องฟ้าผืนกว้าง และคุณลุงผู้กำลังเก็บเกี่ยวพืชผล มีนกที่เลี้ยงไว้คอยบินวนเพื่อจับหนู มองไปไกลลิบๆ จะเห็นหลังคาโค้งๆ ของมิวเซียมโผล่พ้นหญ้าขึ้นมา นั่นเป็นเพียงแค่ภายนอก พอเข้าไปภายในยิ่งสวยงาม

Naoshima Island

ตอนแรกเราคิดว่าที่นี่ชื่นใจคงเข้าไม่ได้แน่ๆ ตอนขามาชื่นใจหลับมา มาถึงหน้ามิวเซียมก็ยังไม่ตื่น ตอนนั้นเลยตกลงว่าเราจะผลัดกันเข้าไป คนนึงเฝ้าชื่นใจไว้ เราเป็นคนเข้าไปก่อน ทันทีที่เข้าไปก็คิดว่าชื่นใจควรเข้ามาให้ได้ ยังไงก็ต้องลองดู หมดผลัดเดินออกไปชื่นใจตื่นพอดี เลยลองถามชื่นใจว่าลองเข้าไปไหม ข้างในน่าทึ่งมากนะ ถ้าเข้าไปน่าจะชอบ

ชื่นใจงัวเงียๆ แต่ก็บอกว่าจะเข้าไป เลยตกลงกันก่อนว่าข้างในน่ะต้องเงียบสุดๆ นะ มีคำถามอะไรอยากถามให้เก็บไว้ออกมาถามข้างนอก ต้องเดินด้วย ห้ามวิ่ง จับมือแม่ไว้ตลอดจะดีมาก เธอก็เออออๆ ก็เลยจูงมือพากันเข้าไปด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เราคิดในใจว่าอย่างมากก็รีบพาออกถ้าเห็นท่าจะเกิดความเสียหายหรือรบกวน

แน่นอนว่าพอเข้าไปเด็กหญิงวัยสองขวบกว่าก็ต้องทดสอบคำพูดของเรากันหน่อยว่าจริงจังแค่ไหน หรือแค่เล่นๆ ด้วยการเปล่งเสียง ทันทีที่ชื่นอ้าปาก เราก็ส่งสัญญาณ ชู่วววว ว่าห้ามใช้เสียง เราใช้การพูดกระซิบกันแบบเบาที่สุด นางคงปรู๊ฟละว่าแม่เอาจริงเลยไม่พูดเสียงปกติอีก และไม่วิ่ง เพราะในนั้นมีงานศิลปะที่น่าสนใจกว่า คือหยดน้ำที่ถูกออกแบบโดย Rei Naito (เร นาอิโตะ) เป็นหยดน้ำที่ชวนน่าสนใจกับทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เราต่างมีวิธีที่จะเข้าถึงงานชิ้นนี้ในวิธีและประสบการณ์ที่ต่างกัน แต่นั่นเพราะมีความอยากทดลองอยู่ในตัวพวกเราทุกคน

Naoshima Island

นอกจากหยดน้ำที่เป็นงานศิลปะเชิงทดลองแล้ว ตัวอาคารที่ถูกออกแบบโดย Ryue Nishizawa (เรียว นิชิซาว่า) ก็ชวนตื่นตะลึงไม่แพ้กัน (ในนี้ห้ามพกกล้องและห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด) การเล่นกับรูปทรงโค้ง สีขาว และเจาะช่องเพื่อให้อากาศไหลผ่าน ทำให้เกิดมิติที่แปลกในพื้นที่แห่งนี้

เราอยู่ในนี้กันนานพอควร แต่เมื่อดูเวลาแล้วก็ต้องบ๊ายบายกันก่อน เดี๋ยวจะไม่ทันรถโดยสารรอบต่อไป ในคาเฟ่ของ Teshima Art Museum ก็ออกแบบให้สอดคล้องกัน นัยว่าเมื่อออกจากบรรยากาศของพื้นที่พิพิธภัณฑ์ตรงนั้น ก็ยังเชื่อมต่อความรู้สึกกันได้ ในช่วงเวลาที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในคาเฟ่มีขายขนม อาหาร และน้ำ มีโดนัทที่ทำจากข้าว และชุดอาหารก็อร่อยมากค่ะ

จากพื้นที่จำกัด จากความสงบเงียบในพิพิธภัณฑ์ จากสายตาของชื่นใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จากผนังที่ติดประดับไปด้วยชิ้นงานในแต่ละพิพิธภัณฑ์ เมื่อออกจากกฎเกณฑ์ที่ต้องเรียนรู้ของสังคมแล้ว เราจะหาที่นั่งพักในสวนหรือในพื้นที่โล่งๆ ให้ชื่นใจได้วิ่งอย่างอิสระ เมื่อเด็กเรียนรู้ว่าพื้นที่ไหนทำอะไรได้แค่ไหน เขาจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะทำตัวกลมกลืนไปกับกฎระเบียบที่ตัวเขาได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ผ่านสถานที่ และผ่านผู้คนรอบๆ ตัว เมื่อนั้นเสียงห้ามและความกังวลของเราจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

Naoshima Island

Writer & Photographer

Avatar

พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล

เริ่มต้นงานแรกหลังเรียนจบและงานเดียวจนถึงปัจจุบันคืองานในวงการสิ่งพิมพ์ รักงานบรรณาธิการและงานเขียน ตอนนี้มีอาชีพเป็นคุณแม่และภรรยาที่ทำงานที่รักไปด้วย อ่อนไหวง่ายและภูมิต้านทานต่ำเมื่อเจอกับเรื่องราวกระจุกกระจิก และคอยหาเวลาว่างเพื่อเก็บมาเป็นซีรีส์กุ๊กกิ๊ก ไกด์ อยู่เสมอ