พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน โทรศัพท์หาผมเมื่อวันก่อนว่า เขาเพิ่งไปกินขนมเค้กที่ร้าน Windows Café & Restaurant ซึ่งตั้งอยู่ในโรงแรมสไตล์โคโลเนียลเปิดใหม่ที่เชียงใหม่ชื่อ Sela

แน่นอน พี่ก้องไม่ได้โทรมาแค่จะบอกว่า เค้กร้านนี้อร่อย ผมควรไปชิม ใจความจากปลายสายระบุถึงเรื่องราวของคนทำเค้กที่เจ้าตัวเพิ่งไปกินมา

“เชฟชื่อคริส เป็นคนอังกฤษ เคยทำขนมเสิร์ฟเชื้อพระวงศ์ที่นั่น ตอนนี้เขาย้ายมาเปิดร้านอยู่เชียงใหม่…”

เหล่านี้คือข้อมูลบางส่วนที่ผมได้รับ พร้อมเบอร์ติดต่อที่พี่ก้องได้มาจากเจ้าของ Windows Café & Restaurant 

“ลองไปคุยดู น่าสนใจดีครับ” แกว่าอย่างนั้น

นั่นแหละครับ

หลังการนัดหมายเสร็จสิ้น เชฟคริสส่งโลเคชันมาทางไลน์ ร้านของเขาอยู่ไม่ห่างจากโรงแรม Sela เท่าไหร่นัก ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ทางถนนเลียบคลองชลประทาน เลยสี่แยกสะเมิงไปสักพัก จนพ้นปั๊มน้ำมัน ปตท. ก็กลับรถข้ามคลอง จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอย ก็จะเห็นดอยสุเทพเป็นฉากหลัง

ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง หลังการทักทาย ผมตั้งใจจะถามว่า ทำไมคนทำอาหารเก่ง ๆ นิยมมาปลูกบ้านหรือเปิดร้านในย่านหรืออำเภอนี้กันนัก อาจเป็นเรื่องบังเอิญ หรือมีใครเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ถาม

ลักษณะของร้านเป็นบ้านชั้นเดียวล้อมรอบด้วยสวน โต๊ะอาหารถูกจัดเรียงไว้บนสนามหญ้า ส่วนพื้นที่ในอาคารเป็นห้องครัว ไม่สิ ต้องเรียกว่าเป็นโถงทำครัว เพราะมีขนาดใหญ่เท่าบ้านทั้งหลัง เคาน์เตอร์ทำอาหารพร้อมอ่างล้างจาน 6 จุด เตาแก๊สและเตาอบอย่างละ 4 เตา ตู้เย็นขนาดเล็กอีก 6 ตู้ และไซส์จัมโบ้อีก 1 ตู้ นี่คือภาพที่ผมเห็นโดยคร่าว ไม่ใช่ทั้งหมด

“เรียกว่าเป็นการชดเชยชีวิตที่ผ่านมาก็ได้ ผมเคยทำงานแค่ในห้องครัวเล็ก ๆ บนเรือ” เจ้าของสถานที่ผายมือเพื่อกะระยะขนาดห้องครัวในอดีต “พอจะทำห้องครัวเป็นของตัวเองบ้าง เลยขอกว้างขวางหน่อย อยากให้มันเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นน่ะ”

ถึงจุดนั้น ผมก็ได้ทราบข้อมูลใหม่ คู่สนทนาไม่ใช่แค่เชฟเบเกอรี่ แต่เป็นเชฟที่ทำอาหารครอบจักรวาล ซึ่งประจำการอยู่บนเรือยอชต์ เขาทำอาชีพนี้ต่อเนื่องมากว่า 20 ปี จนเกษียณ

เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่
เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่

สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า Limeleaf Kitchen นอกจากเป็นร้านอาหารเปิดใหม่ที่เสิร์ฟบาร์บีคิว สลัด และเบเกอรี่ รวมถึงเมนูพิเศษ ๆ ตามวาระ เชฟคริสยังตั้งใจให้ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารด้วย หากแตกต่างจากที่อื่นตรงที่มีคอร์สพิเศษสำหรับผู้ที่ประสงค์อยากเป็นเชฟบนเรือแบบเขา

ส่วน คริสโตเฟอร์ ริชาร์ด โจนส์ (Christopher Richard Jones) คือชื่อจริงของเขา หนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษที่เคยเป็นเชฟประจำเรือยอชต์ชั้นนำอย่าง Enigma, Perini Navi และอื่น ๆ พาผู้คนล่องมหาสมุทรมาแล้วทั่วโลก ลูกค้าที่เคยฝากท้องไว้กับเขามีตั้งแต่มหาเศรษฐี เซเลบริตี้ ศิลปิน และนักแสดงฮอลลีวูด รวมถึงครอบครัวของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและโซฟี เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์

เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่

คริสใช้ชีวิตในวัยเลข 3 ถึงเลข 5 นำหน้า ทำอาหารบนเรือ 8 เดือนต่อปี และใช้ช่วงหยุดพักผ่อนอีก 4 เดือนที่เหลือในอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน กระทั่งช่วงปีท้าย ๆ ที่เขาเลือกใช้ชีวิตช่วงหยุดยาวประจำปีที่ประเทศไทย ท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจใช้ชีวิตในวัยหลัง 55 ปี ปักหลักที่เชียงใหม่ 12 เดือนต่อปี ด้วยการเปิดร้านพ่วงโรงเรียนสอนทำอาหาร ซึ่งก็คือสถานที่ที่เรานัดหมายกันในวันนี้

“แปลว่าลูกค้าร้านคุณจะได้กินอาหารแบบเดียวกับที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเคยกินน่ะสิ” ผมแซว

“ผมไม่คิดว่านั่นเป็นจุดขายนะ” เขาตอบ “และอันที่จริง นอกจากที่เคยสอนลูก ๆ พวกเขาทำขนม ผมก็จำไม่ได้แล้วว่าทำอาหารอะไรเสิร์ฟพวกเขา”

มรดกจากเกลียวคลื่น

“ก่อนคุยกัน ขอผมอวดห้องนี้หน่อย”

มุมด้านในสุด ซ้ายมือของโถงทำอาหาร คริสเปิดประตูนำผมสู่อีกพื้นที่ เขาเรียกมันด้วยอารมณ์ขันว่า ‘ห้องแห่งความลับ’

ห้องมีขนาดไม่ถึง 5 ตารางเมตร แอร์เย็นฉ่ำ อันที่จริงก็ไม่ต่างอะไรจากห้องเย็นที่ใช้เก็บวัตถุดิบประกอบอาหารในร้านอาหารทั่วไป กระนั้นเมื่อพินิจชั้นวางที่เต็มไปด้วยโหลบรรจุของเหลวและทัพเพอร์แวร์บรรจุวัตถุดิบ ซึ่งเจ้าของห้องแปะสติกเกอร์ชื่อกำกับและแยกไว้อย่างเป็นระเบียบ บ๊วยหมักในโถวอดก้า น้ำส้มสายชูที่หมักจากพลัม น้ำผึ้งป่าสำหรับหมักไวน์ พริกฆาลาเปญโญดอง เบียร์ที่ทำจากขิง ถั่วตองกา กัวร์กัมจากอินเดีย ไปจนถึงหัวเชื้อราโคจิ เป็นอาทิ ผมเลยถามย้ำ ไหนคุณบอกจะขายบาร์บีคิวเป็นหลัก

“ทั้งหมดนี้เป็นมรดกที่ผมได้จากการทำงานบนเรือ” ชายผู้ยืนอยู่กลางห้องกล่าว

“มรดก” ผมทวนคำ “หมายถึงคุณเก็บทั้งหมดนี้มาจากห้องครัวบนเรืองั้นหรือ”

“ไม่ใช่แบบนั้น” เขาหัวเราะ “ห้องครัวบนเรือบางลำเล็กกว่าห้องนี้เท่าหนึ่งได้ ไม่มีทางเก็บวัตถุดิบพวกนี้ได้หมด ที่ผมหมายถึงคือการที่คุณเป็นเชฟคนเดียวบนเรือที่เดินทางอยู่ตลอดเวลา คุณจำเป็นต้องทำอาหารตามความต้องการของลูกค้าให้ได้หลากหลายที่สุด ซึ่งหมายถึงตั้งแต่ซูชิไปจนถึงเคบับเลยน่ะ

“ไอ้ความหลากหลายตรงนี้แหละที่ทำให้ผมรักการเรียนรู้ รวมถึงชอบสะสมวัตถุดิบจากเมืองต่าง ๆ ที่เรือไปเทียบท่า เพื่อทดลองพัฒนาเมนูด้วยตัวเอง พอย้ายมาปักหลักที่นี่ นิสัยนี้มันก็ติดตัวผมมาด้วย ผมเลยมองว่านี่เป็นมรดก” คริสอธิบาย

หลังจบวิทยาลัยด้านการทำอาหารที่อังกฤษ คริสทำงานแรกในแผนก Food & Beverage ของโรงแรมในฝรั่งเศส ก่อนมาเป็นเชฟส่วนตัวให้ธนาคารหรูแห่งหนึ่งที่ลอนดอน จากนั้นเรียนต่อการจัดการโรงแรมที่ไบร์ทตัน และจบออกมาได้งานกับบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงแรม The Ritz London ซึ่งบริษัทนั้นก็เป็นเจ้าของเรือยอชต์ที่จอดเทียบท่าอยู่ในบาร์เซโลนาด้วย และเขาเดินทางไปกับเรือครั้งแรกที่นั่น

เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่
เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่

“มันไม่ใช่งานที่สนุกหรอก แค่นั่งอยู่เฉย ๆ เจอคลื่นแรง ๆ คุณก็อาจเมาแล้ว แต่ผมต้องเตรียมอาหารไปด้วยในห้องครัวที่เล็กและแคบ สิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่ได้ครบเหมือนทุกวันนี้ ที่สำคัญคือคุณต้องอยู่บนเรือราว 8 เดือนต่อปี พอเรือเทียบท่าส่งลูกค้าขึ้นฝั่ง อีกวันลูกค้ารายใหม่ก็มา เราก็ต้องออกเรือกันต่อ ทริปหนึ่งอาจใช้เวลาอยู่กลางทะเล 12 วัน แต่ถ้าขึ้นไปถึงนอร์เวย์หรือเกาะแอนติกาก็ใช้เวลาเกือบเดือน

“ตอนเริ่มงานใหม่ ๆ ผมก็คิดว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยรายได้ก็ดี ทำงานเก็บเงินไปสักพักแล้วค่อยว่ากัน… รู้ตัวอีกทีก็อยู่มา 20 ปีแล้ว” เขาหัวเราะ

“แล้วอะไรทำให้คุณทำงานนี้ได้นานขนาดนั้น เพราะได้เที่ยวหรือ” ผมถามต่อ

“ก็ไม่เชิง เอาจริง ๆ ถ้าคุณไปเทียบท่าอยู่เมืองเดิมเกิน 4 ครั้ง คุณจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องของการท่องเที่ยวอีกต่อไป” เขาตอบ “แต่อย่างที่ผมบอก มันคือการได้เรียนรู้ พอเรือเทียบท่าที่ไหน ผมก็มักจะไปตระเวนกินอาหาร แวะร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือทำอาหารท้องถิ่นกลับมา และที่สำคัญคือการได้ไปจ่ายตลาดหาซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร ในบางเมืองผมอาจแวะไปดูฟุตบอล หรือดู Formula 1 บ้าง แต่กิจวัตรหลัก ๆ ของผมคือชิมอาหาร ซื้อหนังสือ และจ่ายตลาด”

“คุณเรียนรู้การทำอาหารทั้งหมดจากบนเรือหรือ”

“ก็ไม่เชิงอีก ปฏิเสธไม่ได้ว่างานบนเรือเป็นจุดเปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด หลายครั้งผมก็เรียนรู้จากช่วงหยุดยาวประจำปี อย่างไปศึกษาเรื่องอาหารโมเลกุลจาก El Bulli ที่บาร์เซโลนา หรือเดินทางมาเรียนอาหารไทยที่เมืองไทย ผมมองว่าถ้าเรารักที่จะเรียนรู้ อยู่ไหนมันก็เรียนรู้ได้หมด แค่ผมโชคดีที่ได้เดินทางไปกับเรือ” เขาตอบ

เว้นวรรคอีกสักพัก คล้ายเขารู้สึกว่ายังอธิบายได้ไม่เคลียร์นัก

“ยกตัวอย่างแบบนี้ คุณรู้จักหัวเชื้อราโคจิไหม คนญี่ปุ่นใช้มันหมักกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อทำเครื่องปรุงมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว แต่สิ่งนี้กลับใหม่สำหรับคนตะวันตกอย่างผม โคจิทำให้ผมหมักเนื้อ Dry-aged ได้ในเวลา 2 วัน จากเดิมที่ใช้เวลา 45 วัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน องค์ความรู้เหล่านี้มันอยู่กับวิถีผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ หลากหลายไปหมด อากาศที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย วัตถุดิบแบบเดียวกันก็ให้รสชาติไม่เหมือนกัน ไหนจะตำรับอาหารของชนเผ่าในภูมิภาคต่าง ๆ อีก อะไรคือความสนุกของการได้ทำอาหารไปพร้อมกับเดินทางด้วยเรือ คือการมีโอกาสเข้าถึงเรื่องพวกนี้นั่นแหละครับ” คริสขยายความ

เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่
เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่

เพลย์กราวนด์คิทเช่น

ประตูห้องแห่งความลับถูกปิด (ผมตั้งข้อสังเกตกับเขาว่ามันควรเรียกว่า Laboratory เสียมากกว่า ซึ่งคริสเห็นด้วย) เจ้าของสถานที่นำเรากลับมาสู่โถงทำอาหารกลางบ้าน พื้นที่ที่เขาเรียกมันว่า Playground

อีกหนึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่า แพสชันอันล้นเหลือในการเป็นเชฟของคริส หาใช่เพียงการได้เรียนรู้ แต่ยังรวมถึงการได้ ‘ทำอาหาร’

คริสเล่าว่าเขาปลูกบ้านหลังนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว วางแผนว่าจะใช้เป็นชั้นเรียนสอนทำอาหาร โดยเน้นที่คอร์สการประกอบอาหารบนเรือ ที่ต้องรับมือกับข้อจำกัดด้วยเทคนิคอันหลากหลาย ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ตลอดอาชีพที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เขาต้องทำอาหารบนเรือเพียงลำพัง เลยตั้งใจให้ครัวแห่งนี้เป็นสถานที่ต้อนรับเชฟจากที่ต่าง ๆ มาเปิดคอร์สสอนทำอาหารเฉพาะทางแก่ผู้ที่สนใจ หรืออย่างเรียบง่ายที่สุด คือการมีเพื่อนเชฟสักคนมาร่วมทำอาหารกับเขาบ้าง

“เลยมองว่านี่เป็นเพลย์กราวนด์น่ะ” เขาสรุป

“การเป็นเชฟบนเรือมันเหงาขนาดนั้นเลยหรือ” ผมยังไม่ยอมลงจากเรือ

“ถ้าในแง่ของการทำอาหารคนเดียวก็ใช่ มีบางครั้งถ้าได้ประจำบนเรือที่มีขนาดใหญ่หน่อย ผมก็จะมีผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ผมจะทำงานในเรือเล็กมากกว่า แต่ให้พูดจริง ๆ ก็ไม่เหงาขนาดนั้นหรอก”

เหมือนเพิ่งนึกขึ้นได้ เขาเล่าว่าความสนุกอีกอย่างที่ทำให้เขาทำงานบนเรือได้ต่อเนื่องจนลืมความคิดจะลาออกตอนหนุ่ม ๆ คือการได้ทำอาหารร่วมกับลูกค้า

เชฟคริส เชฟเรือยอชต์ผู้เคยสอนครอบครัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทำอาหาร กับร้านที่เชียงใหม่

“ลูกค้าเรือส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่กลุ่มเพื่อนก็เป็นครอบครัว ความที่ผมเป็นเชฟคนเดียวบนนั้น เราจึงเหมือนเป็นสมาชิกกับครอบครัวเขากลาย ๆ บางครั้งลูกค้าก็มาทำอาหารร่วมกับผม หรือไม่ก็ให้ผมสอนทำอาหาร ครั้งหนึ่งเรือที่ผมประจำการได้ต้อนรับครอบครัวของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ผมก็มีโอกาสสอนลูก ๆ ของพวกเขาทำเค้กและสโคน” คริสเล่า

ทั้งนี้ ด้วยฝีมือทำอาหารของคริสที่ติดปากติดใจครอบครัวจากราชวงศ์อังกฤษครอบครัวนี้ หลังเรือเทียบท่า พวกเขาจึงชวนคริสให้ติดตามไปเป็นเชฟส่วนตัวในการเดินทางพักผ่อน (บนบก) อีกหลายครั้ง ผมขอให้เชฟเล่าถึงช่วงเวลาดังกล่าว แต่เขาประสงค์จะเก็บรายละเอียดส่วนตัวนี้ไว้ เผยเพียงว่าพวกเขาเป็นครอบครัวติดดินและน่ารัก นั่นเป็นอีกช่วงเวลาที่เขามีความสุขกับการทำงาน

“แน่นอน เราต้องเจอลูกค้าหลากหลายประเภท แบบที่ปาร์ตี้เมากันทั้งวันทั้งคืน หรือพวกมหาเศรษฐีที่เครซี่มาก ๆ ขนาดสั่งให้เฮลิคอปเตอร์ไปซื้อคาเวียร์ก็มี แต่ส่วนใหญ่ที่เจอจะอัธยาศัยดี และเราเชื่อมโยงกันได้ด้วยอาหาร” เขาตอบ เงียบสักพัก และเล่าต่อ

“อย่างที่บอก ชีวิตบนเรือยอชต์ในฐานะลูกเรือมันไม่สะดวกสบายเท่าไหร่หรอก แต่พอได้ทำอาหารให้คนกิน แล้วพวกเขาชอบมัน เท่านี้เลย ชดเชยได้แล้ว”

“คุณเคยมีความคิดจะไปทำงานบนเรือใหญ่ ๆ ที่น่าจะสบายกว่าอย่างเรือสำราญบ้างไหม” ผมถามอีก

“ไม่เลย” เขาปฏิเสธทันควัน

“ผมมองว่าปฏิสัมพันธ์แบบนี้มันไม่อาจเกิดขึ้นได้บนเรือสำราญ เพราะคุณต้องทำอาหารให้คนจำนวน 3,000 – 4,000 คนกิน มันเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย และหลายครั้งอาหารที่เสิร์ฟบนนั้น ก็เป็นอาหารสำเร็จรูปที่เราต้องนำมาอบไมโครเวฟเสิร์ฟ จึงมีเส้นบาง ๆ ระหว่างการทำอาหารกับการเสิร์ฟอาหาร ซึ่งผมชอบทำอาหาร เรือยอชต์ยึดโยงกับผมแบบนี้”

“แต่งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกราใช่ไหม” ผมคล้ายว่าจะรู้ทัน จึงถามแทรก

“แน่นอนที่สุด”

เชฟคริสโตเฟอร์ อดีตเชฟเรือยอชต์ที่เดินทางรอบโลก ลงหลักทำร้าน Limeleaf Kitchen และโรงเรียนสอนทำอาหารที่เชียงใหม่
เชฟคริสโตเฟอร์ อดีตเชฟเรือยอชต์ที่เดินทางรอบโลก ลงหลักทำร้าน Limeleaf Kitchen และโรงเรียนสอนทำอาหารที่เชียงใหม่

เทียบท่าที่เชียงใหม่

ครั้งแรกที่คริสเห็นชายฝั่งประเทศไทย คือช่วงที่เขาเป็นเชฟบนเรือที่ล่องจากสิงคโปร์ไปยังเกาะลังกาวีในมาเลเซีย

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน เขาเดินทางมาร่วมงานกับบริษัทล่องเรือยอชต์ ซึ่งประจำการที่ท่าเรือในภูเก็ต “แต่นั่นก็เป็นเวลาสั้น ๆ และผมก็แทบไม่ได้ไปไหนเลย” เขาบอก

อย่างเป็นทางการคือครั้งที่ 3 นั่นคือราวสิบกว่าปีที่แล้ว ชายหนุ่มในยามนั้นใช้วันหยุดประจำปี 4 เดือน เดินทางมาท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทย และเรียนทำอาหารที่เชียงใหม่ การเดินทางในครั้งนั้นส่งผลสำคัญต่อชีวิตของเขามาจนทุกวันนี้

“ไม่รู้สิ อาจเป็นเพราะรสชาติอาหาร หรือไม่ก็ป่าและภูเขา คุณนึกออกไหม ผมอยู่บนเรือมาเกือบทั้งชีวิต มองไปทางไหนก็เจอแต่ทะเล พอมาเชียงใหม่ครั้งแรก มันต่างไปอย่างสิ้นเชิง พอปีต่อมาก็กลับมาที่นี่อีก แล้วจากนั้นก็หาเวลามาเรื่อย ๆ และคิดว่าเราน่าจะมีบ้านเล็ก ๆ บนดอยสักหลังนะ” เขาว่า

เชฟคริสโตเฟอร์ อดีตเชฟเรือยอชต์ที่เดินทางรอบโลก ลงหลักทำร้าน Limeleaf Kitchen และโรงเรียนสอนทำอาหารที่เชียงใหม่

นั่นทำให้เขาได้พบกับ หน่อย-ณัฐนิชา อิ่มอาคม ชาวกาญจนบุรีที่มาลงหลักปักฐานทำโฮมสเตย์แนวอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่ก่อนแล้ว ชื่อ Limeleaf Eco-Lodge บนดอยไม่ไกลจากน้ำพุร้อนแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หน่อยแนะนำให้คริสปลูกกระท่อมไม่ไกลจากที่พักของเธอ เพื่อให้เป็นที่พักหลักในช่วงที่เขาหยุดจากงานเรือ

นับแต่นั้น จากเดิมที่เขามีบ้านหลังแรกที่อยู่บนเรือยอชต์ และบ้านหลังที่ 2 คืออพาร์ตเมนต์ในเกาะมายอร์กา คริสได้ยกเลิกสัญญาเช่าที่พักที่สเปนหลังนั้น และเปลี่ยนมาใช้เวลาในช่วงวันหยุดบนดอยที่เชียงราย เขาเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับหน่อยอยู่หลายปี ทั้งสองเข้าพิธีวิวาห์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และคริสตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำมากว่า 20 ปี เมื่อราว 2 ปีก่อน ท้ายที่สุด เขาย้ายมาปักหลักที่เชียงใหม่แบบ For Good เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

“อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนน่ะหรือ” คริสทวนคำถาม “เมื่อคุณประสบอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือไม่อยากนอนเตียง 2 ชั้นบนเรือ เพื่อฟังเสียงกรนจากลูกเรือคนอื่นอีกแล้วน่ะสิ” เขาหัวเราะ

“ผมอายุมากแล้ว ก็คิดว่าได้เวลาลงจากเรือจริง ๆ และมีครอบครัวเสียที” ชายวัยย่าง 57 ปีตอบ

เดาได้ไม่ยาก หลังเกษียณจากงานประจำ สิ่งที่คริสยังคงทำต่อไปคืออาหาร

และอย่างไม่ต้องสงสัย Limeleaf Kitchen คือชีวิตเขาหลังจากนี้

เชฟคริสโตเฟอร์ อดีตเชฟเรือยอชต์ที่เดินทางรอบโลก ลงหลักทำร้าน Limeleaf Kitchen และโรงเรียนสอนทำอาหารที่เชียงใหม่

“อย่างที่บอกว่าตอนแรกจะทำโรงเรียนสอนทำอาหารด้วย ตั้งใจจะเปิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่โควิดก็ดันมาเสียก่อน เลยเลื่อนเปิดมาจนถึงตอนนี้ อาจจะยังไม่เปิดสอนเต็มตัว แต่จะเปิดร้านทำบาร์บีคิว สลัดบาร์ และเบเกอรี่ มีจัดบุฟเฟต์บ้างบางวัน แล้วค่อย ๆ พัฒนาเมนูอื่น ๆ ไป” เจ้าของร้านเล่า

นอกจากจะได้ชิมอาหารของอดีตเชฟบนเรือที่ทำเมนูได้หลากหลายแล้ว อีกสิ่งที่คริสภูมิใจนำเสนอคือ ผัก ผลไม้ และวัตถุดิบออร์แกนิกอีกหลากหลาย ซึ่งถูกนำมาบรรจุอยู่ในเมนคอร์สและขนมเค้กของร้าน เขาและหน่อยลงมือปลูกไว้ในสวนหลังบ้านบนดอยที่แม่ขะจาน รวมถึงวัตถุดิบท้องถิ่นที่เขามักเล่นแร่แปรธาตุ เพื่อให้ได้มาซึ่งตำรับหรือรสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ

“ผมชอบเชียงใหม่เพราะเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของอาหารและวัตถุดิบประกอบอาหารในทุกระดับ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการมีเครือข่ายคนทำอาหาร ซึ่งรวมกันอย่างเข้มแข็ง เพราะตอนผมมาที่นี่ใหม่ ๆ ผมไม่รู้จักใครเลย แล้วมาวันหนึ่งผมเห็นร้าน Windows Café & Restaurant มาเปิดแถว ๆ บ้าน ก็เลยลองนำเค้กไปเสนอขาย คุณพิ้งค์ เจ้าของร้าน พอเขาซื้อ เขาก็แนะนำให้ผมรู้จักคนอื่น ๆ หรือที่ผมรู้จัก เชฟแนนลีลวัฒน์ มั่นคงติพันธ์ (เจ้าของ Cuisine de Garden – ผู้เขียน) เขาก็พาผมไปรู้จักเชฟคนอื่น ๆ ทำให้ผมมีคอนเนกชันต่อไปเรื่อย ๆ

“ผมรู้สึกว่าเครือข่ายนี้เหมือนกลุ่มเพื่อน ที่มักเอาแหล่งวัตถุดิบหรือข้อมูลมาแบ่งปันกัน แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เชฟมักจะผูกขาด Supplier ของตัวเอง ซึ่งผลดีของการมีเครือข่ายนี้ยังมาตกที่เกษตรกร จะได้ขายผลผลิตที่มีคุณภาพของเขาได้มากขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำอาหารที่นี่เป็นเรื่องสนุก เพราะมีเพื่อนที่พร้อมจะร่วมสนุกกับคุณอยู่ตลอดเวลา” เขายิ้ม

เป็นอีกครั้งที่เขาใช้คำว่า ‘สนุก’ เป็นคุณศัพท์ประกอบการทำอาหาร

“ว่าแต่พอมาปักหลักกับที่แบบนี้แล้ว คุณยังคิดถึงงานบนเรืออยู่ไหม” ผมสงสัย

เงียบไปสักพัก

“ไม่นะ” เขาตอบ ก่อนนำสายตาไปยังเคาน์เตอร์ครัวที่เรียงต่อกัน 3 แถว “แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่ยังไม่ชินกับครัวที่ใหญ่ขนาดนี้…

“แล้วก็พื้นห้อง ที่มันไม่โคลงเคลงอีกต่อไปแล้วน่ะ” เขาจบประโยคด้วยรอยยิ้ม

เชฟคริสโตเฟอร์ อดีตเชฟเรือยอชต์ที่เดินทางรอบโลก ลงหลักทำร้าน Limeleaf Kitchen และโรงเรียนสอนทำอาหารที่เชียงใหม่

Limeleaf Kitchen 

ที่ตั้ง : 25/6 หมู่ 10 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง เชียงใหม่ (แผนที่

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 16.00 น.

โทรศัพท์ : 09 7012 1948

Facebook : Limeleaf Kitchen

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ