ศาสนาคริสต์ในสายตาของคนเอเชียนั้น เกือบจะเรียกได้ว่าถูกนิยามให้เป็นศาสนาของ ‘ฝรั่ง’ ตะวันตกผิวขาว เพราะมิชชันนารีส่วนใหญ่ในช่วงอยุธยา-รัตนโกสินทร์ เป็นชาวยุโรปและอเมริกัน บรรดาบาทหลวงหนวดเครารุงรังจมูกโด่งในชุดเสื้อหล่อสีดำยาวจึงกลายเป็นภาพจำของคริสต์ศาสนาไป ในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ที่มีตัวร้ายเป็นสังฆราชบาทหลวงและมีบทบาทสำคัญอยู่กว่าครึ่งเรื่อง ก็สะท้อนภาพทัศนคติของคนสยามในยุคของท่านที่มีต่อคริสต์ศาสนาได้เป็นอย่างดี

กระนั้นก็ดี สุนทรภู่ไม่เคยใช้คำว่าศาสนาคริสต์หรือศาสนาพุทธในวรรณกรรมของท่านเลยสักครั้ง แต่ใช้คำว่า ‘เข้ารีตไทย’ ‘ศาสนาข้างฝรั่ง’ อยู่เสมอ จนเหมือนว่าความเชื่อทางศาสนาเข้าไปผูกพันปนเปอยู่กับเชื้อชาติหรือความเป็นพลเมืองของรัฐอย่างแยกออกจากกันได้ยาก การเปลี่ยนศาสนาจึงเกือบจะร่ำๆ เหมือนการเปลี่ยนเชื้อชาติ หรือกลายเป็นพลเมืองของอีกรัฐ กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐขึ้นมา และไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจนักของผู้ปกครองชาวเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ไทยก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คือไม่มีพระศาสดามาอุบัติ ดังนั้นจึงต้องนำเข้าศาสนาต่างๆ จากอินเดียบ้าง ซาอุดิอาระเบียบ้าง ปาเลสไตน์บ้าง และค่อยๆ แลกรับปรับเปลี่ยนจนมีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิม เราทราบดีว่าศาสนาพุทธกับพราหมณ์นั้นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนหน้าศาสนาอื่นๆ ตามด้วยอิสลาม และศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกช่วงราว 400 ปีก่อน ในยุคแห่งการค้นพบที่สเปนและโปรตุเกสพยายามเป็นเจ้าทะเล 

แต่ก่อนหน้านั้น เอเชียตะวันออกไกลรู้จักศาสนาคริสต์บ้างหรือเปล่า คำถามนี้ยังคงมีคำตอบที่ค่อนข้างคลุมเครือ แต่บันทึกต่างๆ และร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างบ่งชี้ว่า ชาวเอเชียตะวันออกยุคพันปีก่อนคุ้นเคยกับศาสนาคริสต์ (หรือศาสนาโบราณที่เกี่ยวพันกับศาสนาคริสต์บ้างแล้ว) ในอีกรูปแบบหนึ่งที่คนปัจจุบันไม่คุ้นเคย คือกลุ่ม ‘ศาสนจักรตะวันออก’ มีกำเนิดจากการแตกแยกทางความเชื่อในศตวรรษที่ 5 สภาสังคายนาในตุรกีผลักดันให้พวกเขาแยกตัวออกจากคริสตจักรตะวันตกแล้วไปตั้งมั่นในเอเชีย 

แม้ว่าจะไม่ได้จัดตั้งคณะนักบวชมิชชันนารีอย่างเป็นทางการ แต่ความเป็นพ่อค้าของชาวอาหรับ ยิว และเปอร์เซีย ก็เดินทางไปทั่วโลก บนทางสายไหมข้ามทะเลทรายไปจนญี่ปุ่น และทางทะเลก็นำศาสนาใหม่นี้ไปถึงเกาะสุมาตรา ในเวลาเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว เอเชียจึงเคยเป็นบ้านของคริสต์ศาสนาแบบตะวันออกที่ผสมกลมกลืนไปกับชุมชนศาสนาอื่นๆ โดยปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนคงไม่เอานิยายขายฝันอย่างข่าวลือสมัยใหม่เรื่อง ‘พระเยซูเสด็จไปเรียนที่อินเดีย’ มาอ้างอิง เพราะดูจะเลื่อนลอยเกินไป แม้หลายคนจะชอบอกชอบใจกันมากก็ตาม

ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
พระลักษมี (หรือพระศรีตามจารึกอักษรขโรษฐี) พบที่เมืองปอมเปอี ศิลปะอินเดียโบราณ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 5 – 6 
ภาพ : wikipedia.org/wiki/

อินเดียไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับชาวตะวันตก

อินเดียไม่ใช่แขกแปลกหน้าสำหรับโลกตะวันตก หรือแม้แต่ดินแดนอิสราเอลอันเป็นต้นกำเนิดของศาสนายิวและคริสต์ โบราณวัตถุแบบอินเดียจำนวนหนึ่งถูกค้นพบในเมืองปอมเปอีของพวกโรมัน และโบราณวัตถุโรมันมีเยอะกว่านั้นอีกในดินแดนอินเดีย และแพร่ออกไปไกลจนถึงทางภาคใต้ของไทย ดังที่พบเครื่องประดับและเหรียญขนาดเล็กในศิลปะกรีกและโรมันในเมืองท่าต่างๆ แถบพังงาและกระบี่ 

ในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมก็ยังกล่าวถึงชื่ออินเดียถึง 2 ครั้งในหนังสือ เอสเธอร์ (เอสเธอร์ 1 : 1) และในหนังสือ มัคคาบี ก็กล่าวถึงยูดาส มัคคาบี ผู้นำชาวยิวที่สู้รบกับกองทัพช้างของกษัตริย์อันติโอคัสชาวกรีก ที่พระองค์ทรงซื้อช้างมาจากอินเดียพร้อมควาญ ( 1 มัคคาบี 6) มัคคาบีได้ฆ่าช้างศึกจากอินเดียนั้น และเขาก็โดนช้างล้มทับตายจนกลายเป็นวีรบุรุษ

นอกจากนี้ บรรดาปิตาจารย์ชาวคริสต์ในยุคต้น เช่น เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย นักบุญเยโรม ซีริลแห่งเยรูซาเล็ม ต่างรู้จักพระพุทธเจ้าและรับรู้ว่ามีศาสนาพุทธแล้วในอินเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่าโลกเอเชียไมเนอร์และชมพูทวีปเชื่อมต่อด้วยกันด้วยการค้า และรู้จักกันแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยพระเยซูจะประสูติเสียอีก (ดังนั้น การที่กล่าวว่าพระเยซูไปอินเดียแล้วนำคำสอนแบบชมพูทวีปมาสอนชาวยิวในนามของตัวเอง จึงเป็นเรื่องนิยายในยุคปัจจุบัน เพราะชาวยิวรู้อยู่แล้วว่าอะไรคือคำสอนแบบอินเดีย) 

และในยุคพระเยซูเอง ชาวยิวผู้คร่ำหวอดด้านการค้าก็ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อตั้งสถานีการค้า พวกเขามีศาลาธรรมและชุมชนเป็นของตัวเอง ดังนั้นเมื่อบรรดาอัครสาวกของพระคริสต์เดินทางออกไปแพร่ธรรมในดินแดนต่างๆ จุดมุ่งหมายแรกของเขาก็คือชุมชนยิว – พี่น้องร่วมชาติของเขานั่นเอง ซึ่งในอินเดียเองก็มีตำนานกล่าวถึงเรื่องนักบุญโทมัส อัครสาวกผู้ที่ไม่อยากไปอินเดีย แต่พระเจ้าทรงส่งเขาไปที่นั่นเพื่อประกาศคำสอนของพระเยซู และท่านก็ได้ทำงานแพร่ธรรมจนได้ผลจนตั้งโบสถ์ถึง 7 แห่งในอินเดียใต้ 

ท่านสิ้นใจโดยการเป็นมรณสักขีในอินเดียนี้เอง จนทุกวันนี้อินเดียเป็นประเทศเดียวที่อ้างว่ามีหลุมศพของอัครสาวกแท้ๆ และเป็นคริสตจักรเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะสืบทอดจากอัครสาวกเช่นเดียวกับชาวคาทอลิกที่สืบทอดจารีตจากนักบุญเปโตร (แม้ว่าทุกวันนี้ เรื่องราวของนักบุญโทมัสไปอินเดียอาจจะไม่มีหลักฐานและถูกตั้งคำถามว่าอาจจะเป็นโทมัสคนอื่นๆ ในรุ่นหลัง ที่ชื่อคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่จารีตประเพณีเกี่ยวกับนักบุญโทมัสในอินเดียก็ไม่ได้เสื่อมความสำคัญลง)

ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
พระแท่นเหนือหลุมฝังศพของนักบุญโทมัสในอินเดีย
ภาพ : commons.wikimedia.org
ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
โบสถ์นักบุญโทมัส อัครสาวก สร้างเหนือหลุมฝังศพของท่านในเมืองเชนไน ประเทศอินเดีย โดยชาวโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์แห่งแรกในพุทธศตวรรษที่ 21 และชาวอังกฤษมาสร้างต่ออีกครั้งในสไตล์นีโอโกธิกใน ค.ศ. 1894
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในอินเดียก็คือ เป็นประเทศที่สนใจทางด้านจิตวิญญาณสูง และค่อนข้างมีขันติธรรมทางด้านศาสนา โดยเฉพาะศาสนาฮินดูที่เคยชินกับความแตกต่างของนิกายและเทพเจ้าจำนวนมาก พวกเขาจึงเปิดกว้างให้กับลัทธิศาสนาอื่นๆ ที่มาจากต่างชาติด้วย และด้วยเหตุที่อินเดียเป็นศูนย์กลางการค้าที่ชุมนุมของบรรดาพ่อค้า ทำให้ศาสนาต่างๆ จากทั่วโลกมาประชุมกันที่อินเดีย รวมทั้งผู้นำหรือนักบวชบางกลุ่มที่ถูกขับไล่จากดินแดนของตนก็เดินทางมาพำนักยังอินเดีย โดยมีกลุ่มพ่อค้าเป็นผู้อุปถัมภ์ 

เราจึงพบว่านิกายแปลกๆ โบราณๆ อายุนับพันปี ยังคงหลงเหลืออยู่ในชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นเนสตอเรียน (Nestorianism) คริสต์ศาสนานิกายที่เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าครึ่งมนุษย์ที่ถูกขับออกจากสภาสังคายนาที่เมืองเอเฟซัสในพุทธศตวรรษที่ 10 พวกเขาจึงออกไปอยู่ในแถบเปอร์เซียและกระจายไปในเอเชีย หรือศาสนาคริสต์นิกายอาร์เมเนียนออร์โธดอกซ์ 

ศาสนามานิเค (Manicheaism) ศาสนาโบราณจากเปอร์เซียที่เชื่อเรื่องทวินิยม (Dualism) ที่พระเจ้าฝ่ายดีและพระเจ้าฝ่ายชั่วต่อสู้กัน ศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่บูชาไฟจากอิหร่าน ศาสนายิว และนิกายต่างๆ จำนวนมาก บรรดาพ่อค้าใช้อินเดียเป็นสถานีการค้า และเมื่อพวกเขาเดินทางต่อไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกไกล ก็นำศาสนาของตัวเองเข้าไปยังดินแดนเหล่านั้นด้วย

ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
โบสถ์เซนต์แมรี่ ที่ติรุวิตัมมโกฏ (Thiruvithamcode) รัฐทมิฬนาฑู อินเดียใต้
ชาวอินเดียเชื่อว่าเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ก่อตั้งโดยนักบุญโทมัส 
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/

ร่องรอยคริสต์ศาสนาโบราณในเอเชียตะวันออกไกล

ก่อนการมาถึงของคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกของชาวยุโรปเมื่อราว 500 ปีก่อน เป็นเวลานับพันปีที่คริสต์ศาสนานิกายเก่าแก่หลายนิกายถูกนำไปแนะนำให้ชาวเอเชียตะวันออกไกลรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน (ร่วมสมัยทวาราวดีของไทย ราวๆ 1,400 ปีก่อน) คริสต์ศาสนานิกายเนสตอเรียน (Nestorianism) จากเปอร์เซียเผยแผ่เข้าไปถึงเมืองซีอานแล้ว และอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนเพิ่มจำนวนมากในสมัยราชวงศ์หยวน 

ซึ่งเผ่ามองโกลให้อิสระแก่ประชาชนในการนับถือศาสนามาก บุตรชายคนหนึ่งของเจงกิสข่านก็แต่งงานกับสตรีคริสเตียนนิกายนี้ จนทำให้ศาสนานี้ค่อนข้างมีสถานะที่สูงในแดนมองโกล มีการค้นพบศิลาจารึก ไม้กางเขน และภาพวาดเกี่ยวเนื่องในศาสนาคริสต์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เส้นทางสายไหม เนสตอเรียนเผยแผ่คำสอนของตนต่อไปจนถึงดินแดนชิลลา (Silla) ประเทศเกาหลีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 14 และอาจเข้าไปถึงญี่ปุ่นด้วย 

ในขณะเดียวกัน ศาสนามานิเค (Manicheaism) อันลี้ลับสร้างสาวกทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง โรมัน แอฟริกาเหนือ ไปจนถึงญี่ปุ่น ปรับตัวและให้อิทธิพลความคิดเกี่ยวกับกับศาสนาพื้นเมือง (ดังที่กลายเป็นลัทธิเม้งก่าในหนังกำลังภายในของจีนนั่นเอง) นับว่าเป็นศาสนาโบราณที่แพร่หลายได้เร็วยิ่งกว่าศาสนาคริสต์หรือศาสนาอิสลามในยุคของเราเสียอีก

ขณะเดียวกัน ก็ผสมปนเปคำสอนของพระคริสต์เข้าไป และนับเอาพระเยซูเข้าไว้เป็นศาสดาคนหนึ่งของตนด้วย ซึ่งร่องรอยเช่นนี้ยังเห็นได้ในงานศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หยวน มานิเคก้าวกระโดดไปถึงประเทศญี่ปุ่น ดังมีหลักฐานในหนังสือพงศาวดาร นิฮนโชกิ ของญี่ปุ่น กล่าวถึงทูตญี่ปุ่นที่เดินทางกลับมาพร้อมกับชาวเปอร์เซียที่นับถือ ‘นิกายแสงสว่าง’ ซึ่งเป็นอีกนามของศาสนามานิเค

ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
กางเขนแบบนิกายเนสตอเรียน พบในช่วงราชวงศ์หยวน- มองโกล ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในประเทศจีน
ภาพ : asianartnewspaper.com
ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี

รูปกางเขนแบบเนสตอเรียนในราชวงศ์หยวนของจีน พุทธศตวรรษที่ 18 
ภาพ : wikimedia.org
ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
แผนที่การเดินทางของคริสต์ศาสนาแบบตะวันออก จากอียิปต์จนถึงจีน (เกาหลีและญี่ปุ่น) ซึ่งเผยแผ่ไปพร้อมการค้าทางทะเลและเส้นทางสายไหม
ภาพ : rationalityofaith
ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
แผ่นป้ายจารึกของนิกายเนสตอเรียนในราชวงศ์หยวนของจีน แสดงการผสมผสานศิลปะแบบเอเชียกลางและจีนเข้าด้วยกัน
ภาพ : www.scientific.net
ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
แผ่นป้ายจารึกของนิกายเนสตอเรียนในช่วงราชวงศ์ถัง 
ภาพ : www.kaikodo.com

กางเขนแห่งศรีลังกา

ศรีลังกาเป็นเกาะที่น่าทึ่งว่าอาจมีชุมชนชาวคริสต์เกิดขึ้นที่นี่ตั้งแต่ในพุทธศตวรรษที่ 8 โดยมักจะอ้างกันบ่อยๆ ว่า มีนักบวชผู้หนึ่งที่เทโอฟิลัส เดินทางไปยังราชสำนักของจักรพรรดิคอนแสตนตินในโรมันตะวันออก และต่อมาเขาก็ได้อภิเษกเป็นสังฆราชใน พ.ศ. 899 แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน จนกระทั่งพบหินสลักรูปไม้กางเขนชิ้นนี้ใน พ.ศ. 2445

กางเขนรูปทรงประหลาดนี้สลักไว้บนก้อนหินในเมืองอนุราธปุระ เมืองหลวงเก่าแก่ของศรีลังกาที่มีอายุนับพันปี กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่าชาวคริสต์กลุ่มใดกันแน่ที่เป็นเจ้าของกางเขนชิ้นนี้ แต่แรกเชื่อกันว่าคงเป็นกางเขนของโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวคาทอลิกที่เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองมากในศรีลังกา โดยเฉพาะในสมัยแคนดี้ (ร่วมสมัยอยุธยา) 

แต่แล้วก็เกิดคำถามกันต่อไปว่า แล้วชาวโปรตุเกสจะมาทำอะไรที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งเมืองถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลาหลายร้อยปี เพราะชาวศรีลังกาย้ายเมืองหลวงบ่อยครั้ง ทั้งอายุจากหลุมขุดค้นก็เป็นอายุร่วมสมัยอนุราธปุระจริงๆ อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกยังไม่ไหลเข้ามา ที่สำคัญก็คือลักษณะมันไม่เหมือนกางเขนแบบคาทอลิกเลย

อย่างไรก็ตาม ในบันทึกของนักพรตชื่อ Cosmas Indicopleustes (แปลว่า คอสมอสผู้ไปอินเดียมา) เขาเป็นนักพรตอียิปต์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ท่านได้กล่าวว่า

“ศรีลังกา (Sielediba) หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า Taprobanê (น่าจะมาจากคำว่า ตัมพปัณณิ ชื่อเก่าของศรีลังกา) นั้น มีชุมชนชาวเปอร์เซียคริสเตียนอยู่ พวกเขาตั้งถิ่นฐานที่นั่นและมีนักบวชจากเปอร์เซียเดินทางไปอภิบาล รวมทั้งมีสังฆานุกร ( Deacon-นักบวชผู้ช่วยพิธีกรรม) ด้วย แต่ว่ากษัตริย์และชาวพื้นเมืองต่างเป็นชนต่างศาสนา” 

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าชาวเปอร์เซียที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายเนสตอเรียน มาอาศัยอยู่ในเกาะศรีลังกาช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 (ร่วมสมัยทวารวดีของไทย) รูปแบบกางเขนเองก็เป็นกางเขนคล้ายกางเขนแบบเซนต์โทมัส ในอินเดียใต้ ซึ่งอยู่ในนิกายเดียวกัน โดยประดับลายกนกรูปใบไม้ที่ฐาน ทำให้กางเขนกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ต้นไม้แห่งชีวิต’ และฐาน 3 ฐานรองรับกางเขน อันหมายถึงลำดับชั้นของสวรรค์ จำนวนชั้นของเรือโนอาห์ และการขึ้นไปพบพระเจ้าบนเขาซีนายในยุคโมเสส

ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
กางเขนแห่งศรีลังกา มีความคล้ายคลึงกับกางเขนของนิกายเนสตอเรียนในอินเดีย
ภาพ : momac.lk
ก่อนการมาถึงของมิชชันนารี เอเชียเคยเป็นบ้านของศาสนาคริสต์โบราณมากว่าพันปี
กางเขนแบบเนสตอเรียนหรือกางเขนแบบจารีตนักบุญโทมัสในศิลปะอินเดียใต้ มีการใช้ซุ้มมกรโตรณะมาประดับ และปรากฏนกพิราบอันเป็นสัญลักษณ์ของพระจิต เป็นกางเขนของกลุ่ม Nasranis (คำเรียกคริสเตียนโบราณในอินเดีย มาจากคำว่า ชาวนาซาเร็ต อันเป็นสมญานามของพระเยซู) กำหนดอายุได้ในพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 (ร่วมสมัยทวาราวดีในประเทศไทย)
ภาพ : www.nasrani.net

คริสต์ศาสนาโบราณในสยามสมัยอยุธยาตอนกลาง

ในอินเดียนั้น หลักฐานต่างๆ บ่งบอกชัดเจนว่ามีคริสต์ศาสนานิกายอาร์เมเนียนอาศัยอยู่ พวกเขาเป็นพ่อค้าที่เก่งกาจและเดินทางไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมสร้างโบสถ์อยู่ในชุมชนการค้า ในปัจจุบันเราจึงเห็นโบสถ์อาร์เมเนียนในเมียนมา สิงคโปร์ ปีนัง หลงเหลืออยู่ และแม้แต่ในสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงศรีอยุธยาที่มีความเป็นเมืองท่าที่เหมาะแก่การค้าขาย ก็มีชุมชนชาวอาร์เมเนียนอาศัยอยู่ด้วย

กรุงศรีอยุธยาเคยมีพ่อค้าชาวอาร์เมเนียนอาศัยอยู่จนสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 พวกเขาเดินทางจากอินเดียทางมหาสมุทรอินเดีย ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีเข้าไปจนถึงเมืองโสน หรือกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง บันทึกของ Ludovico di Varthema นักเดินทางชาวอิตาลีผู้เข้ามาในเมืองตะนาวศรีในพม่าเมื่อ พ.ศ. 2048 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงชาวคริสต์จากกรุงศรีอยุธยา ผู้เข้ามาก่อนชาวคาทอลิกว่า

“(ในตะนาวศรี) เราได้พบพ่อค้าคริสเตียนบางคน พวกเขาบอกว่า มาจากเมืองโสน (Sarnau เป็นชื่อเก่าของกรุงศรีอยุธยา-หนองโสน) เพื่อที่จะซื้อผ้าไหม ไม้ว่านหางจระเข้ และชะมดเชียง ชาวคริสเตียนเหล่านั้นกล่าวว่า ในประเทศของเขามีขุนนางชาวคริสเตียนอยู่มาก แต่พวกเขาเป็นไพร่ในสังกัดของท่านข่านคาไท (Cathai) จากลักษณะการแต่งตัว พวกเขาใส่เสื้อเซเบ็ก (Xebec) หรือเสื้อในที่อัดเป็นกลีบๆ และแขนเสื้อเย็บด้วยผ้าฝ้าย สวมหมวกทำด้วยใบตาลซึ่งครึ่งหนึ่งทำจากผ้าสีแดง 

“ผู้ชายคนหนึ่งมีผิวขาวเท่าๆ กับพวกเราแจ้งว่าเขาเป็นคริสเตียน และเชื่อในพระตรีเอกภาพ รวมถึงอัครสาวกทั้งสิบสอง เชื่อในพระวรสารทั้ง 4 และรับศีลล้างบาปด้วยน้ำ แต่พวกเขาอยู่คนละนิกายกับเรา เพราะนับถือนิกายอาร์เมเนียน พวกเขายังเชื่อเรื่องการบังเกิดเป็นมนุษย์และพระทรมานของพระคริสต์ และได้เข้าร่วมพิธีถือศีลอด (lent) ของพวกเราในปีนั้น พวกเขาไม่ได้สวมรองเท้า แต่สวมกางเกงขี่ม้าทำจากผ้าไหม และตกแต่งด้วยอัญมณี ศีรษะของพวกเขาก็ประดับด้วยอัญมณีด้วย พวกเขานั่งโต๊ะเวลากินข้าว และกินเนื้อทุกชนิด”

วาเทมาให้ความสนใจกับพวกเขามาก ถึงขนาดซักไซ้ไล่เรียงข้อความเชื่อของชาวคริสต์เหล่านี้ ว่าแตกต่างกับชาวคาทอลิกมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการ ‘พระตรีเอกภาพ’ และปัญหาเรื่องพระเทวภาพของพระเยซู ซึ่งในสมัยนั้นมีลัทธิที่เชื่อว่าพระเยซูเป็นมนุษย์หรือครึ่งพระเจ้าหลงเหลืออยู่ค่อนข้างมาก การสอบทานระหว่างกันจึงยังจำเป็นเพื่อที่การแสดงหรือสงวนท่าทีระหว่างกัน และนี่เป็นหลักฐานว่าขุนนางชาวคริสเตียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ก่อนที่หลักฐานเกี่ยวกับนักบวชคาทอลิกคณะโดมินิกันที่เก่าแก่ที่จะสุดจะเข้ามาในช่วงสมเด็จพระจักรพรรดิ หรือราวๆ พ.ศ. 2100

ทิ้งท้าย

ศาสนาคริสต์นิกายเก่าแก่และศาสนาโบราณที่สัมพันธ์กับคริสเตียนเหล่านี้ จัดเป็น ‘ศาสนจักรตะวันออก’ แพร่กระจายอยู่ในเอเชียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นเวลากว่าพันปีที่เอเชียเป็นบ้านของ ‘คริสต์แบบเอเชีย’ เหล่านี้ พ่อค้าอาหรับ เปอร์เซีย กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์นั้นเป็นนักเดินทางที่น่าทึ่ง เรื่องราวของพวกเขาถูกบันทึกชื่อไว้ในพงศาวดารของดินแดนต่างๆ และเมื่อตั้งหลักแหล่งก็สร้างโบสถ์ประกอบพิธีกรรมของตนอยู่ในชุมชน 

แม้ว่าหลักธรรมคำสอนของพระคริสต์จะไม่ได้ถูกเผยแผ่ในลักษณะเดียวกับบรรดามิชชันนารีที่เป็นนักบวชและมีหน้าที่แพร่ธรรมโดยตรง แต่การตั้งถิ่นฐานและการแต่งงานกับคนพื้นเมืองก็ทำให้ศาสนาคริสต์เป็นที่รู้จัก 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นพ่อค้าที่ไม่มีความรู้ทางวิชาการมากนัก บางครั้งคำสอนต่างๆ ก็เข้าไปปะปนกับศาสนาอื่นๆ ด้วย เช่น ในจีนช่วงราชวงศ์ถัง พระเยซูคริสต์ถูกนับถือในฐานะศาสดาคนหนึ่งของศาสนามานีเค หรือคัมภีร์บางเล่มที่ปรากฏในวัดของญี่ปุ่น ก็มีความเป็นไปได้ว่ามีอิทธิพลคำสอนของนักบุญมัทธิวปะปนอยู่ 

เป็นเวลาพันปีที่ศาสนาเหล่านี้ดำรงอยู่ในเอเชียก่อนที่ชาวยุโรปจะนำศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกแบบตะวันตกเข้ามาเผยแผ่ ชุมชนคริสต์โบราณบางแห่งเช่นในอินเดียใต้ บางครั้งก็ถูกพวกโปรตุเกสกดดันให้กลับไปรวมกลุ่มกับคาทอลิกและยึดจารีตที่ใช้ภาษาละติน บางกลุ่มก็ไปรวมกับออร์โธดอกซ์แบบซีเรีย หรือบางกลุ่มหายสาบสูญ หรือผสมกลมกลืนกับศาสนาอื่นๆ ไปเช่นกลุ่มในประเทศจีน 

ส่วนในประเทศไทยนั้น เรื่องราวของพ่อค้าชาวอาร์เมเนียนที่นับถือศาสนาคริสต์ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางและหายไปหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหากมีการสืบค้นทางโบราณคดีมากกว่านี้ในอนาคตเราอาจจะเจอร่องรอยของพวกเขามากขึ้นก็เป็นได้


ข้อมูลอ้างอิง 

 Ludovico di Varthema, The travel of Ludovico di Varthema (London : Hakluyt society) 1863. 212-213.

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช