เราชาวพุทธคงจะคุ้นเคยกันดีกับการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ซึ่งต้องใช้เวลาเงียบ ๆ อยู่กับตัวเอง ศาสนาสำหรับฉันจึงดูเป็นอะไรที่สงบ สง่างาม ชวนให้เคลิ้มหลับ โดยเฉพาะเสียงเทศน์ที่ผ่านเข้าหูทีไรก็หลับทุกที แต่เหมือนจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เพลิดเพลินไปกับความสงบนี้ นั่นคือเหล่าผู้สูงวัย ภาพวัดที่เต็มไปด้วยคนวัยกลางคนเลยไปจนวัยปลายคนจึงปรากฏให้เห็นจนชินตา ขยับเข้ามาใกล้ตัวหน่อย เริ่มจากคุณยายที่เอาแอคเคานต์ยูทูบฉันไปเปิดฟังพระเทศน์จนหน้าฟีดของฉันเต็มไปด้วยวิดีโอธรรมะ คุณแม่ที่พันผ้าพันคอสีขาว เดินจงกรมตรงระเบียงห้องนอนทุกคืน จนฉันแอบสงสัยไม่ได้ว่าเพื่อนบ้านจะเข้าใจผิดว่าคุณแม่เป็นวิญญาณลึกลับอะไรหรือเปล่า

และนั่นคือศาสนาที่ฉันรู้จัก… ศาสนาที่เป็นเรื่องของผู้สูงวัย

ตามนิสิตไทยพุทธร่วมปาร์ตี้คริสเตียน วิธีทำให้ศาสนาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแบบออสเตรเลีย

เข้าโบสถ์ที่ออสเตรเลียครั้งแรก 

พอฉันมาเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลียสักพัก ก็ได้เจอกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียซึ่งพักอยู่ในหอเดียวกัน เราบังเอิญเจอกันในยิม คุยกันถูกคอ จนสุดท้ายเราถามเพื่อนว่า วันพรุ่งนี้เป็นวันอาทิตย์ ไปไหนมั้ย อยากจะชวนไปกินข้าวกัน เพื่อนบอกว่าเขาต้องไปโบสถ์ จะไปด้วยกันมั้ยล่ะ และนี่เป็นครั้งแรกที่คนพุทธแท้ ๆ อย่างเราจะได้ไปใกล้ชิดกับศาสนาคริสต์

โบสถ์ที่เราไปกันนั้นอยู่ในมหาวิทยาลัย หน้าตาไม่ใกล้เคียงกับโบสถ์ในความคิดแม้แต่น้อย มันไม่ได้สง่างามเหมือนอย่างโบสถ์ที่เห็นกันในยุโรป เป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมสีขาว ๆ ที่คาดว่าวันธรรมดาคงกลายร่างเป็นห้องเรียนตามปกติ สิ่งเดียวที่พอจะบ่งบอกได้ว่าเป็นโบสถ์คือเสียงร้องเพลงที่ดังมาแต่ไกล เมื่อเข้าไปภายในมีเก้าอี้จัดวางต่อ ๆ กันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

เราเข้าไปนั่งกันมุมหนึ่ง แล้วเขาก็เริ่มร้องเพลง เราเองร้องไม่เป็น แต่อาศัยเนื้อเพลงจากคนข้าง ๆ ร้องตาม ๆ เขาไป มีบางจังหวะที่แถวเราต้องลุกขึ้น บางครั้งก็ต้องนั่งลง ปล่อยให้ฝั่งตรงข้ามลุกขึ้นร้องสลับกัน โดยรวมก็เหมือนมาร่วมวงคอรัสดี ๆ นี่เอง

ช่างน่าเบื่อเหลือเกิน หันไปทางไหนก็มีแต่คนรุ่นเก่า ๆ ทั้งนั้น เพลงก็ร้องไม่ค่อยเป็นอีก เลยยิ่งเบื่อไปใหญ่ เราจึงแอบกระซิบกับเพื่อนว่าขอออกก่อนได้มั้ย แต่เพื่อนบอกว่าเขาอยากอยู่ต่อจนจบ เราเองก็เกรงใจเพราะเป็นคนขอมาด้วยแท้ ๆ เลยตัดสินใจอยู่ต่อจนจบ

เพื่อนบอกกับเราว่าเราแค่ไม่ชินกับการไปโบสถ์เลยรู้สึกเบื่อ ตอนที่เขาอยู่ที่อินโดนีเซียก็ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ฉันเลยแอบคิดไม่ได้ว่า ความสงบ ความช้า และความสง่างาม อาจเป็นส่วนประกอบสำคัญของศาสนา และสิ่งเหล่านี้อาจเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนสูงวัยมากกว่าคนหนุ่มสาว

ศาสนาของคนรุ่นใหม่

ตามนิสิตไทยพุทธร่วมปาร์ตี้คริสเตียน วิธีทำให้ศาสนาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแบบออสเตรเลีย

เนื่องจากอกหักจากประสบการณ์ไปโบสถ์ที่ค่อนข้างน่าเบื่อและมีแต่คนรุ่นเก๋ากึ๊ก เราจึงห่างหายจากการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาใด ๆ ไปพักใหญ่ จนกระทั่งมีเพื่อนชาวสิงคโปร์ชวนไป คราวนี้ไม่ใช่โบสถ์ แต่เป็น Christian Community ชื่อ ‘The Garden’ เลยตกลงไปทันที เพราะเพื่อนบอกว่าทุกคืนวันอังคารมีอาหารฟรี!

เรานัดวันเวลากันอย่างดี สุดท้าย Google Maps ก็พามาหยุดที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง เราแอบลังเลว่านี่คือ Christian Community ที่ตามหาใช่มั้ย เพราะภายนอกเหมือนเป็นบ้านธรรมดาหลังหนึ่ง แต่พอเห็นกระดานดำเล็ก ๆ เขียนว่า ‘Free Dinner’ พร้อมกับลูกศรชี้ไปข้างใน ก็คิดว่าไม่ผิดแล้วล่ะ

พอเดินเข้าไปก็พบกับผู้คนมากมาย ดูแล้วน่าจะเป็นนักเรียนไม่ต่างกับเรา กำลังนั่งกินข้าว คุยเล่นกัน บรรยากาศเหมือนมาบ้านเพื่อน ทุกคนดูสนิทกันเหมือนเป็นครอบครัว เมื่อกินอาหารเสร็จ กิจกรรมของค่ำคืนนั้นก็เริ่มขึ้น เริ่มจากการเล่นเกมซึ่ง เอริค เจ้าหน้าที่ของ The Garden พยายามใช้ไส้กรอกเจาะรูเพื่อดื่มเบียร์แบบที่เคยเห็นใน TikTok มีการดีเบตกันว่าเดินทางไปในอนาคตหรือในอดีตดีกว่ากัน

ตามนิสิตไทยพุทธร่วมปาร์ตี้คริสเตียน วิธีทำให้ศาสนาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแบบออสเตรเลีย

บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานของเหล่านักเรียนที่มาผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนและแสวงหาความผูกพันจากเพื่อนมนุษย์ ก่อนจบค่ำคืนนั้น เอริคอ่านบทความสั้น ๆ จากไบเบิล ซึ่งคล้าย ๆ กับนิทานในพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธ และเราก็ได้พูดคุยถึงบทความกัน ซึ่งในครั้งนั้นเป็นบทความเกี่ยวกับความกลัว เราทุกคนเลยได้มีโอกาสแชร์สิ่งที่กลัวที่สุดในชีวิต จากนั้นเอริคก็ให้ทุกคนเดินออกไปข้างนอก The Garden ไปตามถนนอย่างเงียบ ๆ พร้อมแผ่ความรักให้กับสรรพสิ่งรอบตัว ก่อนที่ค่ำคืนนั้นจะจบลงด้วยขนมอบร้อน ๆ จากเตา

ตามนิสิตไทยพุทธร่วมปาร์ตี้คริสเตียน วิธีทำให้ศาสนาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแบบออสเตรเลีย

จากครั้งแรกที่ฉันเป็นขาจรของ The Garden ก็กลายมาเป็นขาประจำ กิจกรรมแต่ละครั้งของ The Garden ต่างกันออกไป แต่ก็มีความสนุกสนานไม่แพ้กัน บางคืนมีนักจิตวิทยามาช่วยตอบปัญหาชีวิต บางครั้งก็เปิดเวทีให้ทุกคนออกมาแสดงความสามารถ แต่ทุก ๆ ค่ำคืนจะจบลงด้วยการพูดคุยถึงบทความสั้นในไบเบิล และขนมอบร้อน ๆ เป็นการส่งท้าย เอริคเล่าให้ฉันฟังว่า The Garden ต้องการเป็นบ้านให้กับนักเรียนทุกคน เนื่องจากนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ย้ายออกจากครอบครัวตามวัฒนธรรมฝรั่ง ประกอบกับวัฒนธรรมที่มีความเป็นปัจเจก นักเรียนเหล่านั้นจึงอาจโหยหามิตรภาพและความรัก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ The Garden ตั้งใจมอบให้

ตามนิสิตไทยพุทธร่วมปาร์ตี้คริสเตียน วิธีทำให้ศาสนาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแบบออสเตรเลีย

เอริคบอกว่าเด็กบางคนมาถึงที่นี่แรก ๆ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่หลังจากที่เข้าร่วมกิจกรรมมาเรื่อย ๆ มีเพื่อน ๆ ในคอมมูนิตี้คอยสนับสนุน ก็ทำให้เขากล้าแสดงออกมากขึ้น และมีโอกาสนำกิจกรรมด้วยตัวเอง ฉันเล่าให้เอริคฟังถึงโบสถ์แห่งแรกที่ไปมาและวัดหลาย ๆ แห่งในประเทศไทยซึ่งดูเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจแตะต้องได้ เอริคบอกว่าสำหรับศาสนาคริสต์แล้ว เราแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น ‘ฝั่งสูง’ ตามคำอธิบายของเอริค คือโบสถ์ที่มีความเคร่งครัดมาก ๆ ส่วน ‘ฝั่งต่ำ’ คือฝั่งที่ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมาก ซึ่ง The Garden ถึงว่าอยู่ฝั่งที่ต่ำมาก ๆ

ต่ำในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าถูกลดทอนลง แต่เป็นความต่ำที่ทำให้คนจับต้องได้ง่าย ใจความของศาสนายังคงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่พิธีรีตองที่เป็นเปลือกนอกได้ลดทอนลง อาจเรียกได้ว่าเหมือนกับการจับใจความหลักของศาสนามาแต่งตัวใหม่ให้โมเดิร์นขึ้น ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ศาสนาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนรุ่นใหม่ได้ เอริคยังบอกอีกด้วยว่า The Garden มีสาขาอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยกิจกรรมอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่วัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ

ไม่ต้องไปผับก็มันได้

นิสิตชาวไทยพุทธไปร่วมกิจกรรมแสนสนุกที่ทำให้การไปโบสถ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ โดย 2 องค์กรคริสเตียนในออสเตรเลีย

เย็นวันอาทิตย์ ทุกคนกำลังทำอะไรกันอยู่ บางคนอาจใช้เวลาอยู่กับครอบครัว บางคนอาจอยากไปสนุกที่ผับ แต่ก็กลัวจะตื่นไปทำงานวันจันทร์ไม่ไหว ‘iSEE Church’ อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ

เรารู้จัก iSEE Church จากการที่เพื่อนเล่าให้ฟังว่าไปโบสถ์แห่งหนึ่งมา สนุกมาก เหมือนได้ Warm Up ก่อนไปผับ เราจึงร่ำร้องให้เพื่อนพาไป ในที่สุดวันหนึ่งเพื่อนก็ทักมาชวนไป (คาดว่าน่าจะทนแรงตื๊อไม่ไหว) ซึ่งเราก็ตอบตกลงทันที

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าโบสถ์แบบตามฉบับในหนังจริง ๆ สักที ภายนอกอาจดูเป็นโบสถ์อิฐเก่า ๆ ทั่วไป แต่เมื่อก้าวเข้าไปแล้ว สิ่งแรกที่ปะทะตาคือแสงไฟที่ย้อมทั้งห้องให้กลายเป็นสีน้ำเงินสลัว ๆ เบื้องหน้าของเราเป็นเวที มีเครื่องดนตรีพร้อม ประหนึ่งอยู่ในฮอลล์จัดคอนเสิร์ต

นิสิตชาวไทยพุทธไปร่วมกิจกรรมแสนสนุกที่ทำให้การไปโบสถ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ โดย 2 องค์กรคริสเตียนในออสเตรเลีย

และแล้วคอนเสิร์ตก็ได้เริ่มขึ้นจริง ๆ จอโปรเจกเตอร์ข้าง ๆ เวทีขึ้นเนื้อร้องให้เราร้องตาม เริ่มจากเพลงช้าก่อน เนื้อเพลงและทำนองไม่ได้ซับซ้อนมาก ร้องไปสักพักก็เริ่มจำได้ เนื้อเพลงส่วนมากเกี่ยวกับการเชื่อในพระเจ้าตามหลักศาสนาคริสต์ จากนั้นทำนองเพลงก็เปลี่ยนเป็นเร็วขึ้น ผู้คนเริ่มลุกขึ้นโยกไปตามจังหวะ บางคนที่ครึกครื้นหน่อยก็ออกลายเต้นกัน ไฟเริ่มกะพริบไปตามจังหวะเพลง ณ วินาทีนั้น บอกเลยว่าระดับความเมามันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหันไปกระซิบกับเพื่อนข้าง ๆ ว่า “อยากไปคาราโอเกะต่อจัง”

สุดท้ายเมื่อทำนองเพลงกลับมาช้าลงอีกครั้งหนึ่ง คนรอบตัวเราต่างแบมือออกมาข้างหน้ากัน เราเองไม่รู้เรื่องอะไร เห็นเขาแบมือก็ทำตามอย่างงง ๆ เพื่อนที่พาเรามาด้วยกระซิบว่า การแบมือเป็นการแสดงความเคารพต่อพระเจ้า คงเหมือนกับศาสนาพุทธที่ใช้การไหว้ พอจบคอนเสิร์ตก็มีคนในโบสถ์ขึ้นมาพูดเกี่ยวกับไบเบิล แต่เป็นการพูดที่สนุกมาก เหมือนกับ Stand-up Comedy ทั้งน้ำเสียง ท่าทาง จัดเต็มสุด ๆ ส่วนเรานั้นฟังไม่ค่อยออกว่าเขาพูดอะไรกัน เห็นบางช่วงเขาหัวเราะกัน เราก็หัวเราะตามบ้าง คาดว่าคงเป็นการอ่านไบเบิลที่ครึกครื้นอยู่ไม่น้อย 

ตอนหลังเราได้เข้าไปพูดคุยกับคนที่โบสถ์ จึงได้รู้ว่าเพลงที่เล่นกันบางเพลงนั้นพวกเขาแต่งกันเอง เขาอยากให้การไปโบสถ์เป็นเรื่องสนุก คนรุ่นใหม่ทุกคนเข้าถึงได้ จะได้อยากมาโบสถ์อยู่เรื่อย ๆ และได้ซึมซับคำสอนไปในตัว

นิสิตชาวไทยพุทธไปร่วมกิจกรรมแสนสนุกที่ทำให้การไปโบสถ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ โดย 2 องค์กรคริสเตียนในออสเตรเลีย

ประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับศาสนาฉบับโมเดิร์นในออสเตรเลีย ทำให้ฉันนึกถึงคำของ ดาไลลามะ กล่าวว่า “The purpose of all the major religious tradition is not to construct big temples on the outside but to create temples of goodness and compassion inside, in our hearts.” ไม่ว่าศาสนาจะเปลี่ยนรูปไปอย่างไร จะเคร่งครัดหรือจะผ่อนปรน จะเหมาะกับคนรุ่นเก่าหรือปรับให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็นการขัดเกลาจิตใจคนให้ดีงามต่างหาก 

และนี่คงเป็นสิ่งที่ The Garden และ iSEE Church เชื่อมั่น

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

วิสสุตา กัจฉมาภรณ์

วิสสุตา กัจฉมาภรณ์

นักฝันเป็นส่วนใหญ่ นักเรียนเป็นส่วนน้อย นักท่องเที่ยวเป็นบางเวลา และอาจจะเป็นนักอื่นๆอีกในอนาคต ปัจจุบันอาศัยออสเตรเลียเป็นบ้านชั่วคราว