13 พฤษภาคม 2566
534

หากคุณทำงานในแวดวงดีไซน์และอยากไปเที่ยวต่างประเทศสักที่ คุณคงนึกถึงเมืองที่มีมิวเซียมสวย ๆ หรือร้านค้าเก๋ ๆ มากกว่าเมืองที่เงียบสงบและมีแกะเยอะกว่าคนอย่างนิวซีแลนด์แน่นอน

“เมืองนี้เขาดังเรื่องสวนดอกไม้ เคลียร์กล้องเตรียมถ่ายรูปให้แม่ด้วยล่ะ” 

คือคำกล่าวของสาวน้อยวัย 67 ที่พูดถึง ‘เมืองไครสต์เชิร์ช’ (Christchurch) ก่อนวันเดินทาง พร้อมมอบหมายหน้าที่ตากล้องให้เสร็จสรรพ ทั้ง ๆ ที่เรายังประมวลผลอยู่เลยว่าคือเมืองอะไร เพราะไม่ค่อยรู้จักของดีของประเทศนี้สักเท่าไร ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้แม่อยากบินมาทำคอนเทนต์สาวดอกไม้ถึงเมืองนี้นักหนา… อาจจะมีอะไรน่าสนใจกว่าที่เราคิดก็เป็นได้

จากไร่นาอาณานิคมอังกฤษ สู่ ‘ขบวนการอุทยานนคร’

เช้าของวันสานฝันสาวดอกไม้ ข้อกังขาในตำแหน่ง ‘เมืองสวนสวย’ ก็ถูกคลี่คลายตั้งแต่ทางเท้าของเมืองที่ตกแต่งด้วยแปลงดอกไม้-พุ่มไม้ จนกลายเป็นสวนเล็ก ๆ ตลอดทางเดิน ยังไม่รวมบ้านของคนทั่วไปที่ประดับไปด้วยพืชพรรณ ราวกับคนเมืองนี้ทุกคนเป็นนักจัดสวน 

ความเล่นใหญ่ใบชอุ่มนี้ทำให้เราอยากเข้าใจที่มาของฉายานครสวนสวยขึ้นอีกสักหน่อย เผื่อนอกจากการเป็นตากล้องจำเป็นให้ท่านแม่แล้ว จะทำให้การท่องเที่ยวครั้งนี้มีสาระขึ้นบ้างเล็กน้อย เลยหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม

ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง
รูปปั้น กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ใน Victoria Square

หากย้อนกลับไปสมัยเรียนสังคมศึกษา คุณอาจจะจำได้ราง ๆ ว่านิวซีแลนด์คือดินแดนสุดท้ายที่ค้นพบในยุคล่าอาณานิคม โดยมี เจมส์ คุก (James Cook) นักสำรวจชาวอังกฤษเป็นผู้ค้นพบเกาะแห่งนี้ แต่อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าเขาคือบิดาแห่งสวนสวย (แม้จะมีรูปปั้นของเขาอยู่ใจกลางเมืองก็ตาม) 

ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง
แม่น้ำเอวอน (Avon) แม่น้ำสายหลักของเมืองไครสต์เชิร์ช

เพราะในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 18 สวนในสมัยนั้นต้องเน้นปลูกพืชผลกินได้เพื่อเลี้ยงปากท้องประชาชนที่เร่งสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของเมืองเสียก่อน เตรียมรองรับคนขาวที่กำลังอพยพมาหาบ้านใหม่บนเกาะแห่งนี้ ยังไม่มีเวลาคิดเรื่องความสวยงามใด ๆ จนกระทั่งช่วงปลายปี 1870 ที่ประชากรเพิ่มขึ้นและการขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไครสต์เชิร์ชเผชิญกับปัญหามลภาวะและโรคภัยต่าง ๆ จนตั้งรับไม่ไหว

เพื่อแก้วิกฤตการณ์เมืองงอมในตอนนั้น ในปี 1897 มีการจัดตั้ง ‘สมาคมไครสต์เชิร์ชเมืองงาม’ (Christchurch Beautifying Association) โดยมี Samuel Hurst Seager สถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองของนิวซีแลนด์เป็นผู้บริหารสมาคม เขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Ebenezer Howard นักวางผังเมืองชาวอังกฤษท่านหนึ่ง ซึ่งวิกิพีเดียเรียกแนวคิดของเขาเป็นภาษาไทยเหมือนชื่อยอดมนุษย์ว่า ‘ขบวนการอุทยานนคร’ (Garden City Movement) แนวคิดนี้อธิบายผ่านแผนภูมิสามแม่เหล็กอย่างไม่ซับซ้อนว่า แทนที่จะต้องเลือกระหว่างการอยู่ในเมือง (Town) ที่สะดวกสบายแต่มลพิษเยอะ กับชนบท (Country) ที่ชีวิตน่าเบื่อแต่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำไมเราไม่ผนวกข้อดีของทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันล่ะ (Town-Country)

แนวคิดที่ตรรกะเรียบง่ายของเขาได้ประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในโลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกา ซึ่งสมาคมไครสต์เชิร์ชเมืองงามก็ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการออกนโยบายต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น การสอนเด็ก ๆ ปลูกผักผลไม้ในโรงเรียน หรือการจัดประกวดสวนสวยที่เปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้ เกิดเป็นค่านิยมและระบบนิเวศที่ทำให้เมืองนี้ภูมิทัศน์สวยงามอยู่ตลอดจนถึงปัจจุบัน

หลักการง่าย ๆ เมืองสวย คนสุข คนก็เลยทำให้เมืองสวยต่อไป

Samuel Hurst Seager สถาปนิกผู้มีบทบาทในการพัฒนาเมือง (ซ้าย) Ebenezer Howard บิดาแห่งขบวนการอุทยานคร (กลาง) และแผนภูมิสามแม่เหล็กของ Howard (ขวา)

สวัสดีวันจันทร์ อังคาร พุธ…

หลังจากประทับใจกับทางเท้าและประวัติศาสตร์นครสวนสวยคร่าว ๆ เราก็เดินเลาะแม่น้ำเอวอน (Avon) ที่ลดเลี้ยวผ่านย่าน CBD เพื่อไปยัง Hagley Park สวนสาธารณะคู่บ้านคู่เมืองไครสต์เชิร์ช ต้นกำเนิดของฉายานครสวนสวยนั่นเอง

ย้อนกลับไปปี 1906 นิวซีแลนด์เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมนานาชาติ (The New Zealand International Exhibition) และได้ใช้ Hagley Park เป็นสถานที่จัดแสดงงาน ความยิ่งใหญ่และสวยงามของงานนี้ได้เข้าตาบุคคลทางการเมืองท่านหนึ่งนามว่า Sir John Gorst เขากล่าวว่า เมืองไครสต์เชิร์ชทำให้เขานึกถึง ‘เมืองแห่งสวน’ หลายเมืองในอังกฤษบ้านเกิดของเขา

นั่นคือจุดเริ่มต้นของคำเรียก The Garden City ของนครไครสต์เชิร์ช

ภายในสวน Hagley Park มีสวนหลายธีมให้เลือกทัศนา ทั้งสวนสมุนไพร สวนพืชน้ำ สวนไม้หอม สวนพืชผลเอเชีย ฯลฯ แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด เราจึงตรงดิ่งไปสวนที่เหมาะกับการทำคอนเทนต์ของสาวดอกไม้ที่สุด ซึ่งก็คือสวนกุหลาบกลาง (Central Rose Garden) นั่นเอง

ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง

Central Rose Garden ไฮไลต์ของสวนพฤกษศาสตร์ไครสต์เชิร์ชที่รวบรวมกุหลาบมากกว่า 250 สายพันธุ์

สวนแห่งนี้มีพุ่มกุหลาบดอกเล็กใหญ่ครบแทบทุกเฉดสีให้เลือกเป็น Backdrop นับว่าเป็นสวนกุหลาบสาธารณะแห่งแรกของนิวซีแลนด์ สร้างตั้งแต่ปี 1909 โดยที่กุหลาบทุกต้นถูกจัดลงแปลงสี่เหลี่ยมเข้ากริดอย่างเป็นระเบียบ เพราะสร้างตามแบบฉบับสวนกุหลาบของ Duchess of Sutherland สตรีผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงไฮโซอังกฤษท่านหนึ่งในยุควิกตอเรียน

ภาพ Central Rose Garden ในปี 1924 (ซ้าย) และ 1930 (ขวา) ที่จัดลงแปลงสี่เหลี่ยมตามแบบฉบับสวนกุหลาบของ Duchess of Sutherland

สวนแห่งนี้ทำเอาสาวดอกไม้ของเราปลื้มปริ่ม ได้เก็บภาพกุหลาบครบทุกสี เตรียมส่งเข้ากรุ๊ปไลน์สาวบุปผาคอมมูนิตี้ได้ทุกเช้า

การสร้างแบรนด์เมืองสวนสวยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

การครองตำแหน่งนครสวนสวยแห่งซีกโลกใต้นั้นไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น ในปี 2011 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถล่มใจกลางเมืองไครสต์เชิร์ช อาคารหลายแห่งเหลือเพียงเศษซาก มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มืดมนที่สุดช่วงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์  

หากในอดีต คนอังกฤษที่อพยพมายังไม่มีเวลาคิดเรื่องเมืองสวย ศตวรรษที่ 21 นี้ชาวไครสต์เชิร์ชก็คงไม่มีเวลาจมกับความเศร้านานเกินไปเช่นกัน สภาเทศบาลเมืองได้ออก ‘แผนฟื้นฟูส่วนกลางเมืองไครสต์เชิร์ช’ (CCRP : Christchurch Central Recovery Plan) เพื่อเร่งบูรณะเมืองหลังภัยพิบัติ โดยรวบรวมความคิดเห็นกว่าแสนความเห็นจากประชาชนว่าพวกเขาต้องการเห็นเมืองในรูปโฉมใหม่เป็นอย่างไร ทำให้เกิดโครงการและ Facility ใหม่ ๆ ขึ้นทั่วเมืองเพื่อตอบโจทย์ทั้งพลเมืองหน้าเก่าและหน้าใหม่ 

ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง
ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง
แผ่นดินไหวในเมืองไครสต์เชิร์ช กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 185 ราย และการเก็บกวาดซากปรักหักพังใจกลางเมืองไครสต์เชิร์ชหลังแผ่นดินไหว

ส่วนพื้นที่สาธารณะทั่วเมืองก็ได้รับการฟื้นฟูเช่นกัน มีการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอาคารและการดูแลสภาพแวดล้อมของเมือง ภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเอวอนปรับให้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในสไตล์ที่ดู ‘เป็นธรรมชาติ’ มากขึ้น ผ่านตาของนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ที่อยากสร้างนิยามเมืองสวนสวยที่ทันสมัยกว่าเดิม

เพราะเมืองสวนสวยตอนนี้อาจไม่ใช่แค่เมืองที่มีสวนดอกไม้หลาย ๆ แห่งมาประกอบกัน

แต่คือเมืองที่ถูกออกแบบให้ทุกสวน ทุกสิ่งก่อสร้าง ผสานเข้าหากันจนเป็นสวนสวยขนาดใหญ่หนึ่งเดียวที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ดีและสร้างกำลังใจให้กับทุกคนในเมือง  

ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง
แหล่งรวมร้านอาหารและร้านค้าต่าง ๆ ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2019 ทำให้เมืองกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังแผ่นดินไหว 
ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง

ชาวสวน ขี้เมา จากฟากฟ้า

หลังจากทำคอนเทนต์สาวดอกไม้เสร็จแล้ว เราพาแม่เดินสำรวจ Hagley Park ต่ออีกสักหน่อยก่อนที่สวนอื่น ๆ จะน้อยใจ ซึ่งในระหว่างทางก็ได้พบเจ้า ‘นกใส่เอี๊ยม’ ตัวหนึ่งบินมาเกาะกิ่งไม้ที่สูงระดับสายตาตรงหน้าพอดี เพื่อทำการบันทึกภาพน้องแบบตากล้อง National Geographic เราจึงค่อย ๆ ย่องไปอีกด้านของต้นไม้ จนได้เห็นท้องสีขาวที่ตัดกับสีเขียวเข้มของหัวและปีกทั้งสองข้างชัดเจนขึ้น กับจะงอยปากสีแดงส้มสวยงาม ตอนนั้นเราคิดแค่ว่านกตัวนี้น่ารักจัง โชคดีที่ได้เห็นระยะใกล้ขนาดนี้ แต่ไม่ได้รู้ถึงความสำคัญใด ๆ

นกเคเรรู (Kereru) นกพิราบท้องถิ่นของนิวซีแลนด์

พอกลับมาเสิร์ชอินเทอร์เน็ตถึงได้รู้ว่า ‘น้องเคเรรู’ (Kereru) ตัวนี้คือนกพิราบประจำท้องถิ่นของประเทศนิวซีแลนด์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป็นนกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่สุดตัวหนึ่ง เพราะความสามารถพิเศษที่ง้างปากได้กว้างมาก ทำให้กินผลไม้ขนาดใหญ่ของพรรณไม้พื้นเมืองบางชนิดได้ ซึ่งเมล็ดพืชที่ออกมาพร้อมมูลของเคเรรูจะพร้อมต่อการเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ง่ายมากขึ้น นกตัวนี้จึงได้รับสมยานามว่าเป็น ‘Gardeners of the Sky’ เพราะบินไปอึที่ไหน ต้นไม้ก็โตที่นั่น และถ้าหากเคเรรูสูญพันธุ์ก็อาจทำให้พืชบางชนิดในนิวซีแลนด์สูญพันธุ์ได้เช่นกัน 

ขนาดนกยังชอบทำสวนไม่แพ้คน สมกับเป็นนครสวนสวยจริง ๆ 

แต่ชาวสวนใส่เอี๊ยมเหล่านี้ก็มีมุมเผลอ ๆ อยู่บ้าง ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งเล่าถึงนกชนิดนี้ว่า ในช่วงฤดูร้อนที่ผลไม้จะสุกค่อนข้างเร็ว นกเคเรรูบางตัวที่เผลอกินผลไม้มากเกินไปจะชอบไปนั่งตากแดดนาน ๆ เพื่อให้อาหารย่อย ซึ่งภายใต้อากาศที่อบอุ่นกับผลไม้สุกงอมในกระเพาะของน้อง กระบวนการหมักแอลกอฮอล์ในร่างกายจึงเกิดขึ้น ทำให้น้อง ๆ เคเรรูเหล่านี้มีอาการเกาะต้นไม้ไม่ค่อยอยู่หรือเดินเป๋บ้างอะไรบ้าง

ภารกิจเก็บภาพสวัสดีวันจันทร์ให้ท่านแม่ และตามรอยสวนสวยที่พลเมือง Christchurch ร่วมกันสร้าง
ลองเสิร์ช Youtube ว่า ‘New Zealand Crowns ‘Drunk’ Pigeon Bird Of The Year’ แล้วคุณจะเห็นภาพความกรึ่มน้ำพันช์ในแบบฉบับเคเรรูที่เรากำลังพูดถึง

อาสา – สร้างสรรค์ – รำลึก

ก่อนที่การทัศนศึกษากำลังจะจบลงเพราะความหิวข้าวกลางวันของสองแม่ลูก Google Maps นำทางเรามาทางออกทิศใต้ของสวน เพื่อพบกับประติมากรรมเก้าอี้นวมใต้ต้นไม้ใหญ่ ประติมากรรมนี้มีชื่อว่า ‘Flora and Otto’ Flora น่าจะหมายถึงลวดลายเถาวัลย์ดอกไม้ที่อยู่บนเก้าอี้ที่มีพนักพิง ส่วน Otto มาจากคำว่า ‘Ottoman’ หมายถึงเก้าอี้นวมแบบไม่มีพนักพิงหรือที่เท้าแขน ตอนเห็นไกล ๆ ก็แอบดีใจ เพราะคิดว่าเป็นที่นั่งนุ่ม ๆ สำหรับพักขา แต่พอเข้ามาดูใกล้ ๆ ถึงพบว่าเก้าอี้ทั้งสองอันเป็นคอนกรีตที่ตกแต่งพื้นผิวด้วยกระเบื้องโมเสกชิ้นเล็ก ๆ มากมาย แทนที่จะได้นั่งพัก เลยเดินไปดูที่ป้ายข้าง ๆ เพื่ออ่านคำอธิบายของงานชิ้นนี้เสียหน่อย

Flora and Otto ประติมากรรมเก้าอี้นวมสองชิ้นที่ตั้งอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์กรุงไครสต์เชิร์ช

แผ่นดินไหวในปี 2011 ทำให้เครื่องชามเซรามิกที่เป็นของสะสมของหลายครอบครัวแตกเป็นเสี่ยง ๆ Jenny Cooper นักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กจึงเกิดปิ๊งไอเดีย นำเศษจานชามเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เธอจึงเปิดรับบริจาคจากคนทั่วไปและรวบรวมอาสาสมัครที่ต้องการสร้างผลงานกับเธอ จนเกิดเป็นกลุ่มศิลปิน ‘Crack’d for Christchurch’ ผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าให้กลายเป็นสิ่งสวยงาม

ด้านหลังพนักพิงของ Flora and Otto ที่เห็นรายละเอียดของโมเสกเครื่องชามเซรามิกที่ได้จากการบริจาคของชาวเมืองไครสต์เชิร์ช
เศษเครื่องชามเซรามิกที่กลุ่ม Crack’d for Christchurch รวบรวมจากชาวเมืองหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว

Jenny ให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งของนิวซีแลนด์ว่า เรามักคุ้นเคยกับการที่โมเสกอยู่บนของแข็งที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย หรือมีพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างพื้นหรือผนังอาคาร เธอจึงตัดสินใจทำโมเสกบนเฟอร์นิเจอร์ที่ทุกบ้านคุ้นเคยอย่างเก้าอี้นวม เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่เคลื่อนย้ายสะดวก บวกกับเซรามิกชิ้นเล็ก ๆ ที่คนในเมืองบริจาคให้นั้นช่างเหมาะกับการสร้างลวดลาย ‘ผ้าบุ’ พอดีในความคิดของเธอ

สำหรับเรา Flora and Otto จึงไม่ใช่แค่เพื่อระลึกถึงความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่เป็นภาพสะท้อนว่าพลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองและประวัติศาสตร์ที่สวยงามได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิก นักวางผังเมือง หรือนายทุนเท่านั้น 

จากตอนแรกที่คิดว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” ประเทศที่ใครหลายคนอาจมองว่าน่าเบื่อ แต่ประติมากรรมนี้คือบทสรุปที่ทิ้งทวนข้อคิดจากนครสวนสวยแห่งนี้ได้อย่างดี ขนาดนก (ที่เผลอเมาบ้าง) ยังช่วยปลูกต้นไม้ได้ 

คนเมืองอย่างเราก็คงทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เมืองของเราน่าอยู่ได้เช่นกัน

Write on The Cloud

Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พิชญ์ ภูมิสวัสดิ์

พิชญ์ ภูมิสวัสดิ์

นักวางกลยุทธ์แบรนด์ผู้ชื่นชอบสิ่งทอและแฟชั่นแต่ดันมาทำงานพัฒนาพื้นที่ เลยท่องเที่ยวและเขียนบันทึกถึงสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้ เพราะหวังว่าจะคุยกับมนุษย์อสังหาฯ รู้เรื่องขึ้นสักวันหนึ่ง