ดิฉันรู้สึกสนุกกับการศึกษาบริษัทเก่าแก่ที่มีอายุเกินร้อยปีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งคือระยะเวลา 100 ปี ยาวนานที่จะทำให้เห็นวัฏจักรของสินค้า ตั้งแต่สินค้านั้นๆ ได้รับความนิยม จนถึงยุคเสื่อมถอย

ความน่าสนใจอยู่ตรงบริษัทที่สินค้าอายุเกินร้อยปี มีวิธีการเอาตัวรอดจากวัฏจักรสินค้าได้อย่างไร 

ตัวอย่างธุรกิจในฉบับนี้ เป็นบริษัทอายุร้อยปีที่มีพนักงานเพียง 130 คน แต่ทำยอดขายได้กว่า 1.27 หมื่นล้านเยน และส่งสินค้าจำหน่ายทั่วโลก

ดิฉันเชื่อว่า หากท่านรู้จักคำว่า ‘อุเมะฉุ’ ท่านน่าจะได้มีโอกาสลิ้มลองผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้

สินค้าที่ไม่มีใครสนใจ

ตระกูลคนโด ทำอาชีพปลูกองุ่นในเมืองฮาบิกิโนะ จังหวัดโอซาก้า ตั้งแต่ ค.ศ. 1914 และเริ่มหันมาทำไวน์จำหน่ายไปด้วย เมื่อ จูทาโร่ คนโด เกษียณในวัย 60 ปี และส่งต่อกิจการให้ลูกชายทั้งสาม เขาตัดสินใจบินไปดูงานที่ฝรั่งเศส ประเทศต้นตำรับแห่งไวน์ จูทาโร่พบว่าไวน์ฝรั่งเศสอร่อยกว่า และราคาถูกกว่าญี่ปุ่นมาก ถ้าญี่ปุ่นเปิดเสรีให้นำเข้าไวน์ได้เมื่อไร ไม่มีทางที่ โชยะ (CHOYA) จะชนะได้แน่ๆ 

จูทาโร่เลยเบนเข็มไปหาสินค้าอื่นแทน สินค้าหนึ่งที่เขามองคือเหล้าบ๊วย (ภาษาญี่ปุ่น : อุเมะฉุ) ในยุคนั้นคนญี่ปุ่นยังนิยมดองเหล้าบ๊วยเองอยู่ เนื่องจากวิธีการทำเหล้าบ๊วยนั้นแสนง่าย เพียงแค่มีขวดโหล แล้วใส่ลูกบ๊วยลงไป ใส่น้ำตาลกรวด แล้วเทเหล้าขาวในขั้นตอนท้ายสุด จากนั้นก็รอ 6 เดือนถึง 1 ปี ก็ดื่มได้แล้ว

แม้กระนั้นจูทาโร่เห็นว่าในอนาคตพฤติกรรมลูกค้าอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เขาจึงลองทำเหล้าบ๊วยออกมาขายดู

ภาพ : www.choyachina.com

ในตอนแรกผู้บริโภคเข้าใจว่าร้านโชยะทำเหล้าบ๊วยปลอมออกมาจำหน่าย เนื่องจากในขวดเหล้า ไม่มีลูกบ๊วยอยู่ ฝั่งร้านโชยะจึงรีบไปทำเรื่องกับกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาต ปรากฏว่าทางกรมสรรพสามิตก็ไม่ยอม เพราะมีกฎห้ามใส่สิ่งแปลกปลอมในเหล้าบ๊วย ทำให้ครอบครัวคนโดต้องเจรจาแล้วเจรจาอีกกว่าทางกรมฯ จะเข้าใจและยินยอม 

ในที่สุด เมื่อทางกรมสรรพสามิตอนุญาตให้โชยะใส่ลูกบ๊วยลงในขวดเหล้าได้ โชยะก็เริ่มวางจำหน่าย แต่โชคชะตาก็ยังไม่เข้าข้างพวกเขา ร้านจำหน่ายเหล้าญี่ปุ่นในสมัยนั้นรู้สึกว่า เหล้าบ๊วยทำง่าย หมักเองได้ ไม่น่ามีลูกค้ามาซื้อ 

โชยะจึงตัดสินใจทำโฆษณาโปรโมตเหล้าบ๊วย ในสมัยนั้นบริษัทที่จะทำโฆษณามีแต่บริษัทใหญ่ แต่โชยะก็ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเสี่ยงกับการสร้างตลาดใหม่ดู ในโฆษณาเป็นภาพเหล้าบ๊วย เทใส่แก้วน้ำแข็งเย็นๆ มีเสียงน้ำแข็งดังกริ๊งๆ เชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่ต้องกลืนน้ำลายเอื๊อกๆ ตามไปด้วยแน่ โฆษณาโชยะทำให้คนญี่ปุ่นทั่วประเทศนึกถึงยี่ห้อ ‘โชยะ’ เมื่อนึกถึงเหล้าบ๊วย และยอดขายของโชยะก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ 

วิกฤตสินค้าราคาถูกตี

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คนญี่ปุ่นไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัวเหมือนแต่ก่อน แต่ออกมาทำงานอยู่เมืองใหญ่ ใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น ผู้บริโภคก็เริ่มหาซื้อเหล้าบ๊วยตามร้านขายเหล้าบ้าง ร้านสะดวกซื้อบ้าง ตลาดเหล้าบ๊วยที่โชยะสร้างก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น

จนเข้าช่วง ค.ศ. 1990 เริ่มมีบางแบรนด์จำหน่ายาบ๊วยในราคาถูก แบรนด์เหล่านี้เลือกใช้สารปรุงแต่งกลิ่นบ๊วยและสารสังเคราะห์รสเปรี้ยว เพื่อประหยัดปริมาณการใช้บ๊วย เมื่อฝ่ายขายโชยะไปเสนอขายสินค้าตามร้านค้า ก็เริ่มโดนปฏิเสธ เนื่องจากเหล้าบ๊วยโชยะมีราคาสูงกว่าเจ้าอื่นเกือบเท่าตัว พนักงานบริษัทโชยะเองก็เริ่มเรียกร้องให้ท่านประธานหันมาใช้สารสังเคราะห์บ้าง เพื่อลดต้นทุนไปสู้กับคู่แข่ง

ในตอนนั้น ท่านประธานโนบุยุกิซึ่งเป็นประธานรุ่นที่ 3 เห็นว่า การที่โชยะจะชนะได้นั้น เราต้องทำแตกต่างจากเจ้าอื่น ในเมื่อโชยะเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจและจริงจังกับเหล้าบ๊วยที่สุด โชยะจะยังคงรักษาสิ่งนี้ต่อไป

กลยุทธ์แก้เกมแข่งราคา

โชยะเลือกที่จะเดินเส้นทางเหล้าบ๊วยแท้ๆ ไม่ใส่สารสังเคราะห์ ไม่แข่งด้วยราคา พวกเขาเลือกสู้ด้วยคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า 

โชยะได้สร้างศัพท์คำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่ง คือคำว่า ‘Honkaku Umeshu’ คำว่า Honkaku หมายความว่า จริงจัง แท้ Honkaku Umeshu จึงแปลว่า เหล้าบ๊วยแท้ โดย Umeshu ธรรมดา เป็นเหล้าบ๊วยที่มีสารปรุงแต่งกลิ่นสี ส่วน Honkaku Umeshu นั้น ปราศจากสารสังเคราะห์เหล่านี้ 

โชยะอธิบายคำนี้ไว้บนบรรจุภัณฑ์และเว็บไซต์อย่างชัดเจน โฆษณาบางตัว ก็สื่อสารว่าเหล้าบ๊วยของโชยะไม่มีสารสังเคราะห์ปลอมปน (โดยมิได้โจมตีแบรนด์คู่แข่งแต่อย่างใด) ผู้บริโภคที่ศึกษา เข้าใจ และใส่ใจสุขภาพ ก็พร้อมที่จะเลือกแบรนด์โชยะ 

โชยะมีเหล้าบ๊วยหลายรุ่น เช่น รุ่นผสมน้ำตาลอ้อย รุ่นผสมชาเขียว รุ่นรสธรรมชาติดั้งเดิม ตลอดจนเหล้าบ๊วยสุดพรีเมี่ยมที่ใช้บ๊วยพันธุ์ดี และจำหน่ายแบบจำกัดจำนวน

ภาพ : www.choyachina.com
เหล้าบ๊วยสุดพรีเมี่ยม ผ่านการดอง 5 ปี
ภาพ : www.choya.co.jp

นอกจากนี้ โชยะยังออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบ๊วยที่หลากหลาย และตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่มอีกด้วย 

สำหรับคนที่ไม่ดื่มเหล้า โชยะก็มีน้ำบ๊วยกระป๋องและเยลลี่บ๊วยออกมาจำหน่าย

สำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็ก โชยะออกน้ำเชื่อมไซรัปรสบ๊วย เอาไว้ราดน้ำแข็งไสหรือผสมโยเกิร์ตทาน

ภาพ : www.choya.co.jp

สำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ โชยะก็อำนวยความสะดวกด้วยการจำหน่ายเซ็ตหมักเหล้าบ๊วยเอง (Limited Edition) โดยลูกค้าสามารถเลือกประเภทของเหล้าและน้ำตาลกรวดได้

ภาพ : www.choya.co.jp

เพื่อให้ลูกค้า ‘ดื่มด่ำ’ กับโชยะมากขึ้น ทางแบรนด์ได้เปิดบาร์ (ชั่วคราว) ในย่านกินซ่า ที่บาร์มีค็อกเทลทำจากเหล้าบ๊วยโชยุต่างๆ มีน้ำแข็งไส และกับข้าวที่มีเหล้าบ๊วยเป็นส่วนประกอบด้วย 

ภาพ : www.choyaume.jp

สำหรับวัยรุ่นที่ชอบการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย โชยะเปิด Choya Shops ร้านจำหน่ายสินค้าแปรรูปของโชยะในเมืองเกียวโตและเมืองคามาคุระ ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ มีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมค่อนข้างมาก 

ภาพ : www.choyaume.jp

ในร้าน ลูกค้าเลือกซื้อน้ำบ๊วยชื่นใจได้ ในแก้วจะมีลูกบ๊วยลูกโตใส่มาด้วย เหมาะกับการถ่ายรูปลง IG เก๋ๆ เป็นอย่างยิ่ง

ภาพ : www.choyaume.jp

นอกจากนี้ โชยะยังใช้พื้นที่ตรงนี้ในการจัดเวิร์กชอปและกิจกรรมต่างๆ ด้วย ลูกค้าสมัครมาหมักเหล้าบ๊วยเองได้ โชยะเตรียมขวดโหลแก้วน่ารักๆ น้ำตาลกรวดสีพาสเทลสวยๆ และเหล้าขาวหลายแบบ ให้ลูกค้าได้ลองตักน้ำตาล เทเหล้า และนำขวดเหล้าบ๊วยกลับบ้านได้ 

เวิร์กชอปนี้ได้รับความนิยมจากสาวๆ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากขวดเหล้าบ๊วยน่ารัก ตั้งวางไว้ในห้องก็สวย 

ภาพ : shop.choyaume.jp

เหตุใดโชยะขยันออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแต่กับบ๊วย 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทถนัดในการทำเหล้าบ๊วย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรที่ปลูกบ๊วย แต่อีกเหตุผลหนึ่ง คือ โชยะมีภารกิจมุ่งมั่นรักษา ‘วัฒนธรรมการทานบ๊วยตั้งแต่อดีตกาล’ ซึ่งดีต่อสุขภาพ 

ไซรัปน้ำแข็งไส ทำให้เด็กๆ คุ้นเคยกับรสบ๊วยตั้งแต่เด็ก วัยรุ่นสนุกกับการได้ลองซอฟต์ดริงก์ทั้งจากคาเฟ่และตู้กดน้ำ พวกเขาเริ่มสนุกกับการหัดหมักเหล้าบ๊วยเองผ่านการไปร้าน Choya Shops ส่วนผู้ใหญ่ก็ซื้อโชยะจิบทานบนรถไฟชิงกันเซ็นระหว่างกลับบ้าน หรือซื้อขวดใหญ่ไว้ผสมกับโซดาบ้าง รินใส่น้ำแข็งแล้วนั่งจิบที่บ้านบ้าง วันพิเศษก็เปิดขวดเหล้าโชยะรุ่น Limited Edition ดื่มด่ำความหอมหวานของบ๊วยพันธุ์ดี 

โชยะไม่ได้พยายามขายเหล้าบ๊วย แต่พวกเขากำลังทำให้คนญี่ปุ่นยังคงจดจำรสชาติบ๊วย และรักวัฒนธรรมการดื่มการกินบ๊วยเช่นนี้ 

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย