แบรนด์แฟชั่นอย่าง Dolce & Gabbana ครั้งหนึ่งเคยคิดแคมเปญโฆษณาที่มีภาพการใช้ตะเกียบกินพิซซ่า เพื่อหวังเอาใจลูกค้าชาวจีน แน่นอนว่าผลลัพธ์คือการทัวร์จีนลงระดับหายนะ เพราะนอกจากจะถูกมองว่าเป็นการล้อเลียนกับ Stereotype ของคนจีนแบบที่ไม่ยุติธรรมแล้ว ‘ตะเกียบ’ และวัฒนธรรมของการคีบนั้นยังมีประวัติศาสตร์ยาวนาน นานเป็นพันๆ ปี และเป็นของศักดิ์สิทธิ์กว่าที่เราทุกคนอาจจะคาดถึง จากเพียงหนังโฆษณาสร้างปัญหาของ Dolce & Gabbana

คอลัมน์วัตถุปลายตาครั้งนี้ จึงจะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจวัตถุคู่ร้านติ่มซำ ซูชิ ยันร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทาง อย่าง ‘ตะเกียบ’ และเหตุผลว่าทำไมอากง อาม่า ของเราจึงพร่ำบอกเสมอว่า “อย่าเล่นกับตะเกียบ!”

ตะเกียบ อาวุธสำคัญประจำโต๊ะอาหารที่ช่วยครัวเรือนจีนประหยัดเงิน, ประวัติ ตะเกียบ

ก้าวแรกของตะเกียบ

  ในมณฑลเหอหนาน (Henan) ของจีน นอกจากซากปรักหักพังซึ่งเป็นหลักฐานของการเขียนภาษาจีนครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว ยังค้นพบหลักฐานของสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่า ตะเกียบ ซึ่งผลิตด้วยสัมฤทธิ์ สันนิษฐานว่าทำให้ทนความร้อนได้ เพราะใช้ในการประกอบอาหารมากกว่าใช้รับประทาน แต่หลายร้อยปีให้หลังจากยุคบุกเบิกวัฒนธรรมตะเกียบในจีนก็เปลี่ยนไป ผู้คนหันมาเริ่มใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหาร อันเนื่องมาจากความประหยัดล้วนๆ

เมื่อจำนวนประชากรของจีนเริ่มขยายตัว นิสัยการประหยัดอดออมเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในวัฒนธรรม การใช้ชีวิต รวมถึงการทำอาหารด้วย ชาวจีนเริ่มหั่นอาหารให้ชิ้นเล็กลงเพื่อเลี้ยงดูคนที่มากขึ้น และไม่เปลืองวัตถุดิบในการทำครัว อาทิ น้ำมัน ตะเกียบก็เลยเข้ามามีบทบาททั้งในการกินและปรุงมากขึ้น

ตะเกียบ อาวุธสำคัญประจำโต๊ะอาหารที่ช่วยครัวเรือนจีนประหยัดเงิน, ประวัติ ตะเกียบ
ตะเกียบ อาวุธสำคัญประจำโต๊ะอาหารที่ช่วยครัวเรือนจีนประหยัดเงิน, ประวัติ ตะเกียบ

เมื่ออาหารมีขนาดพอคำมากขึ้น มีดก็ถูกลดบทบาทความสำคัญลง และตะเกียบก็ค่อยๆ กลายมาเป็นอาวุธประจำโต๊ะอาหาร ประกอบกับความนิยมของลัทธิขงจื้อที่ไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ อุปกรณ์อย่างมีด ส้อม ที่มีความแหลมคมและทำให้นึกไปถึงโรงฆ่าสัตว์ จึงไม่ใช่อุปกรณ์การกิน ท่ามกลางมื้ออาหารที่ถือเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปัน ความสุขที่นุ่มนวล หลังจากนั้นความเชื่อเรื่องการคีบและวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบจึงแผ่ขยายไปทั่วทวีปเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงประเทศไทยของเราเองด้วย รูปแบบการใช้ตะเกียบก็แตกต่างกันไป ตั้งแต่ตะเกียบเมลามีนของไต้หวัน ตะเกียบโลหะของเกาหลี ยันตะเกียบใช้แล้วทิ้งของญี่ปุ่น

คีบใครคีบมัน

  วัฒนธรรมการคีบที่ค่อยๆ คืบคลานไปทั่วเอเชีย พร้อมกับความเชื่อของลัทธิขงจื้อในสมัยนั้น มีบริบทแตกต่างกันไปตามอาหารและประเพณีแต่ละที่ เช่น ในขณะที่ตะเกียบของจีนปลายทื่อ ตะเกียบของญี่ปุ่นจะมีความยาว 8 นิ้วสำหรับผู้ชาย และ 7 นิ้วสำหรับผู้หญิง

ตะเกียบ อาวุธสำคัญประจำโต๊ะอาหารที่ช่วยครัวเรือนจีนประหยัดเงิน, ประวัติ ตะเกียบ

  ใน ค.ศ. 1878 ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่เริ่มคิดค้นตะเกียบใช้แล้วทิ้ง โดยทำจากไม้หรือไม้ไผ่แบบต้องหักครึ่งอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ในขณะที่ผู้รากมากดีนั้นอาจจะใช้ตะเกียบที่ทำจากหยก ปะการัง งาช้าง นอแรด อําพัน เลี่ยมเงิน เลี่ยมทอง ฝังเพชร ฝังพลอย หรือแม้กระทั่งเงินหรือทองเหลือง ที่บางครั้งก็เชื่อกันว่าเมื่อสัมผัสโดนอาหารที่มีพิษแล้วจะกลายเป็นสีดำ 

  ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ ตะเกียบมีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับข้าวที่มีอยู่ในแทบจะทุกเมนูของชาวเอเชีย ถึงแม้ข้าวจะดูไม่ง่ายต่อการคีบสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่เมล็ดข้าวในแถบเอเชียนั้นสั้นกว่าในแถบยุโรป เมื่อนำไปหุงจึงมีความเหนียวเกาะตัวกันมากกว่า ทำให้ง่ายต่อการถูกคีบด้วยเพื่อนรักอย่างตะเกียบ

ตะเกียบ อาวุธสำคัญประจำโต๊ะอาหารที่ช่วยครัวเรือนจีนประหยัดเงิน, ประวัติ ตะเกียบ

ความเชื่อของการคีบ

  ตะเกียบและวัฒนธรรมการคีบมาพร้อมกับความเชื่อหลายอย่าง เช่น เราไม่ควรปักตะเกียบทิ้งไว้บนอาหาร เพราะนั่นหมายถึงการไหว้คนตาย หรือเราไม่ควรชี้หน้าด่าใครด้วยตะเกียบ (อันที่จริงเราก็ไม่ควรชี้หน้าด่าใครเลยน่ะนะ) เราไม่ควรเอาตะเกียบมาเคาะจานชาม เพราะนั่นคือกริยาการขอข้าวของขอทาน จนไปถึงการเอาตะเกียบมาหั่น หรือใช้ทำสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากการคีบ

  เด็กๆ ที่ใช้ตะเกียบไม่คล่อง ในวัฒนธรรมจีนหมายถึงการเลี้ยงดูที่บกพร่องของผู้ใหญ่ ส่วนการเอาตะเกียบมาไขว้กันบนโต๊ะอาหาร ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอาจจะหมายความถึงความตาย

ตะเกียบกับเปียโน

ตะเกียบ อาวุธสำคัญประจำโต๊ะอาหารที่ช่วยครัวเรือนจีนประหยัดเงิน, ประวัติ ตะเกียบ

  หากใครมีโอกาสเคยดูหนังการ์ตูนเรื่อง Lady and the Tramp ของ Disney เมื่อหลายสิบปีก่อน จะสังเกตเห็นฉากหนึ่งที่ Siamese Cat (ที่พูดติดสำเนียงเอเชีย) กำลังเล่นเปียโนด้วยตะเกียบอยู่ แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นนักอนุรักษ์นิยม คุณก็จะพบว่าซีนนั้นมีความเหยียดแบบผิดๆ อยู่หลายประการ ตั้งแต่สำเนียงของแมวสยาม เพลงที่เล่น จนวิธีใช้ตะเกียบ 

  แมวสยามกำลังโซโล่เปียโนด้วยตะเกียบสองคู่ ใน Lady and the Tramp ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและความเชื่อของคุณ ว่าไอ้เจ้าแท่งไม้ แท่งงา แท่งเหล็กเล็กๆ สลักลายมังกรและนกฟีนิกซ์นั้นเป็นสิ่งแทนค่าอะไร มากกว่าการเป็นวัตถุคีบอาหารจากจานเข้าไปในปาก แล้วการนำมันมาใช้ในบริบทอื่นๆ นอกโต๊ะอาหาร ถือเป็นการดูหมิ่นวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นพันปีหรือไม่อย่างไร

  แน่นอน นั่นหมายรวมถึงการเอาตะเกียบมาใช้แทนปิ่นปักผมด้วยนะ


ข้อมูลอ้างอิง

everythingchopsticks.com

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ