9 พฤศจิกายน 2021
12 K

“ภูมิสถาปนิกมีหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดิน เราศึกษาและวิเคราะห์ธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อตอบสนองการใช้งานของมนุษย์ โดยให้เกิดผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด”ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ

เพราะที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนานาชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ จนหลงลืมไปว่ากลไกของสรรพชีวิตในระบบนิเวศเป็นราก-เป็นฐานฟันเฟืองให้เกิดสภาวะที่เหมาะแก่การดำรงชีวิตของคน

การพัฒนาที่ลืมรากฐานทางธรรมชาติของเมือง ทำให้ฟันเฟืองนี้มีปัญหา ‘กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน้ำที่ลืมคลอง จากเคยเป็นเส้นเลือดไหลหล่อเลี้ยงชีวิต ปลูกอาหาร เป็นหน้าบ้าน สานการสัญจร เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ให้ปัจจัย 4 กลายเป็นที่ระบายน้ำเสีย อุดตัน เน่าเหม็น ทั้งยังไม่ไหลกลายเป็นคลองที่ตายแล้ว

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง

โครงการสวนสาธารณะช่องนนทรี เป็นหนึ่งใน 5 โครงการนำร่องของแคมเปญ ‘Regenerative Bangkok ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต’ ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ริเริ่ม และเป็นทิศทางเดียวกันกับผู้นำกว่า 190 ประเทศทั่วโลกมองเห็นในงาน COP26 วันนี้

นับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับภูมิสถาปนิกคนหนึ่ง เมื่อท่านผู้นำมีแผนจะพลิกฟื้นเมืองด้วย Nature-based Solution ซึ่งจริงๆ แล้วกรุงเทพมหานครคิดเรื่องนี้มานานมาก วันนี้เราขอเล่า 11 มุมที่ไม่เคยสื่อสารที่ไหนมาก่อนให้ฟัง เพื่อจะบอกว่า มนุษย์มิได้ครอบครองแผ่นดินอยู่เพียงลำพัง และความหวังของเมืองยั่งยืนอยู่ในมือของทุกคน

01

มากกว่าคลองระบายน้ำ คือ คลองที่มีชีวิต Canal Revitalisation

โลกเดินทางมาถึงยุคหยุดการพัฒนาแบบ Human Centric (เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง) โครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า-เขียว (Blue-Green infrastructure) คือปัจจัยที่พื้นฐานที่ถูกลืม

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
นิเวศบริการของโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า-เขียว (Blue-Green Infrastructure : BGI)
ภาพ : เกียรติกมล นิลาภรณ์กุล, 2564 ดัดแปลงจาก Gallet, Danielle, 2018

สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นตัวอย่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า-เขียว (Blue-Green Infrastructure : BGI) อาจฟังดูเป็นคำใหม่สำหรับคนไทย แต่เป็นที่คุ้นเคยกันดีในระดับนานาชาติ ริเริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2013 พัฒนามาจากแนวคิด Low Impact Development : LID หรือ การพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย 

ในฐานะการออกแบบจัดการที่ไม่ได้มองแค่การวางผังเมืองใน หากแต่ผนวกองค์ประกอบทางธรรมชาติ น้ำ ดิน พืชพรรณ เข้ากับการออกแบบกายภาพของเมือง สอดแทรกไปตามถนน ทางเท้า คูคลอง บนดิน บนหลังคา แหล่งเก็บน้ำ ลานเมือง ฯลฯ ถักทอกันเป็นโครงข่ายให้นิเวศบริการ (Ecosystem Service) เป็นปัจจัยพื้นฐานในการมีชีวิต เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์น้อยใหญ่ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต่างสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลกับอากาศสะอาด ลดน้ำไหลนอง ลดอุณหภูมิความร้อน ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมสุขภาพกาย-ใจของคนเมือง เป็นรากฐานสำคัญลำดับที่ 1 ซึ่งเมืองขาดไม่ได้ เพื่อให้มนุษย์อยู่ได้ ไปพร้อมรับมือกับความท้าทายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นโครงการฟื้นคืนชีวิตคลอง (Canal Revitalisation) สายแรกของเมืองกรุงเทพฯ และฟื้นความสัมพันธ์เมือง-ระบบนิเวศ ด้วยการใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตยกรรมเมือง (Urban landscape Architecture) ปรับใช้แนวคิดการแก้ปัญหาที่ยึดหลัก ‘เข้าใจ-ประยุกต์-ปรับเปลี่ยน-เลียน-รู้ บทเรียนจากธรรมชาติ (Nature-based Solution)’ เพื่อการออกแบบที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน ทำให้คลองได้ทำหน้าที่ทางนิเวศ มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เชื่อมการไหลของน้ำ จัดการการไหลให้สัมพันธ์กับทิศทางน้ำขึ้น-น้ำลง เพิ่มศักยภาพคลองในการกักเก็บ ชะลอ ซึม รองรับ และระบายน้ำฝน ฟื้นฟูตลิ่งริมคลองด้วยการปรับใช้โครงสร้างทางชีววิศวกรรม (Bio-engineering ) เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงฟื้นฟูความสัมพันธ์คนกับคลองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 02

ทำไมต้องเริ่มที่ช่องนนทรี

คลองยุทธศาสตร์กลางเมือง ที่รอการพัฒนามาเกือบทศวรรษ

ที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม’ ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2556 

จากทุกการศึกษาวิเคราะห์โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่แห่งนี้รอคอยการพัฒมานานกว่า 8 ปีแล้ว

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 กำหนดให้ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณริมถนน ควบคู่กับคลองช่องนนทรีที่ต้องเป็นคลองเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร
ภาพ : สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

ส่วนผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2559 มีเป้าหมายการเชื่อมต่อ 3 องค์ประกอบของเมือง คือ ถนนสีเขียว คลองสีเขียว และสวนสาธารณะ ให้เป็นโครงสร้างสีเขียวและสีฟ้า (Green-Blue Infrastructure) ที่ต่อเนื่อง โดยที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เป้าหมายระยะแรก ในย่าน CBD ลุมพินี-สาทร รอการผลักดันไปสู่การก่อสร้างจริงเป็นโครงการแรก

จากถนน 77 สายที่สร้างโครงข่ายสีเขียวให้เต็มพื้นที่กรุงเทพมหานครได้นั้น ถนนนราธิวาสราชนครินทร์อยู่ในกลุ่มถนนที่มีศักยภาพและคุณค่าในการพัฒนาสูงที่สุด 

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ผังโครงข่ายคลองเสนอแนะ
ภาพ : สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

และคลองช่องนนทรี จัดเป็นคลองที่มีศักยภาพสูง ในบรรดา 62 คลองซึ่งคัดเลือกขึ้นมาจาก 2,000 กว่าคลอง โดยมีเกณฑ์คือต้องมีความกว้างที่เหมาะสม ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เชื่อมต่อกับคลองสายอื่นที่ทำหน้าที่ระบายน้ำได้ดี รวมถึงพัฒนาเป็นพื้นที่นันทนาการได้จากบริบทของพื้นที่ชุมชน

สำหรับผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2559 นี้ ได้ผ่านการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว 10 ครั้ง กับ 10 กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 758 คน ได้รับการตีพิมพ์ เผยแพร่จำนวน 18 สื่อ รวมถึงทำกระบวนการสํารวจความคิดเห็นของประชากรในพื้นที่เขตสาทร จำนวน 415 ตัวอย่าง ปรากฏผลดังนี้

  • เห็นด้วยกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ เพิ่มต้นไม้บริเวณทางเดินเท้าและริมแม่น้ำลําคลอง จำนวน 99 เปอร์เซ็นต์
  • เห็นด้วยกับการสร้างทางเดินและพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ ริมคลอง จำนวน 93.3 เปอร์เซ็นต์
  • เห็นด้วยกับการเพิ่มระบบบําบัดและอนุรักษ์แหลงน้ำเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในคลอง จำนวน 98.3 เปอร์เซ็นต์
  • เห็นด้วยกับการเพิ่ม-ปรับปรุงเส้นทางเดินเท้ารูปแบบต่างๆ มากขึ้น จำนวน 94.5 เปอร์เซ็นต์
  • เห็นด้วยกับการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ จำนวน 94.9 เปอร์เซ็นต์

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ทำไมโครงการสวนสาธารณะช่องนนทรีจึงเกิดขึ้น จากการวางผังและพร้อมที่จะก้าวต่อในการทำแบบรายละเอียดให้เป็นจริง (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร)

03

เข้าใจคลองในเมืองคอนกรีต และกลไก-เงื่อนไขของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างกาล

ธรรมชาติของระบบคูคลองในกรุงเทพฯ มีภูมินิเวศเป็นที่ราบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Tidal Zone) แผ่นดินที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาครั้งแล้วครั้งเล่า บางกอกจึงเป็นเมือง 3 น้ำ คือ น้ำขึ้น-น้ำลง น้ำฝน และน้ำเหนือ 

น้ำขึ้น-น้ำลง สัมพันธ์กับระดับน้ำทะเล มีผลต่อระดับน้ำในคูคลองอยู่ตลอดปี พอถึงช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม น้ำฝนจะเริ่มเข้ามามีอิทธิพล และในช่วงปลายปี มวลน้ำเหนือที่มาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ผ่านเจ้าพระยามุ่งหน้าอ่าวไทยก็จะไหลลงมาสมทบ ช่วงเดือนตุลาคมจึงเป็นช่วงที่ทั้ง 3 น้ำมารุมกันโดยมิได้นัดหมาย 

จากเคยมีเป็นโครงข่ายกระจายอยู่ทั่วเมือง เป็นคลองดิน เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำเคยมาๆ ไปๆ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรมากนัก หนักหน่อยก็ขังอยู่ตามทุ่งสามเสน ทุ่งพญาไท ทุ่งศาลาแดงแลอีกนานาทุ่ง สักพักก็แห้งไป ไม่มีอะไรน่ากังวล

ปรากฏการณ์ธรรมชาติของบางกอกในอดีตเป็นเช่นไร ชีวิตก็ปรับเปลี่ยนเช่นนั้น

แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อกรุงเทพฯ กลัวน้ำ

ปัจจุบัน เมืองไม่ยอมให้น้ำหลากท่วมได้เหมือนก่อน เราตัดถนนแล้วถมคลอง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการจัดการน้ำของเมือง คูคลองในกรุงเทพฯ ทั้งหมดถูกควบคุมด้วยประตูระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ กั้นขอบเป็นเขื่อนคอนกรีตจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแผ่นดิน ระดับน้ำในคลองต่ำกว่าระดับน้ำเจ้าพระยาแทบจะตลอดเวลา น้ำในคลองถูกกักแยกตามเขตการจัดการน้ำ นิ่งสงัดไม่ไหลเวียน อุดตันด้วยสิ่งปฏิกูล ขยะจากครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะที่พัดพามา บวกกับจำนวนผู้อาศัยเพิ่มขึ้นจนล้นศักยภาพของระบบนิเวศที่จะฟื้นฟูตัวเอง ต้องพึ่งระบบบำบัดน้ำเสียตามหลักวิศวกรรม 

เมื่อปริมาณน้ำในคลองขึ้นกับ 3 น้ำ และควบคุมโดยปั๊มน้ำให้ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป ส่วนคุณภาพน้ำในคลอง ขึ้นกับน้ำเสียจากบ้านเรือน และน้ำฝนที่ไหลปนมาช่วยเจือจางน้ำเสีย

นั่นคือ ในหน้าแล้ง เราจะพบปัญหาคลองน้ำเน่าจากน้ำเสียจากบ้านเรือน และในหน้าน้ำ เราจะพบปัญหาน้ำมากรอระบายจากน้ำฝน ซ้ำร้ายก็ปนน้ำเหนือด้วย

ทั้งสองปัญหามีสาเหตุและทางแก้ไขที่แตกต่าง แต่เกี่ยวพันกัน

04

ตลิ่งใหม่ คือ หัวใจการฟื้นฟู

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ภาพตัดคลองที่เปลี่ยนไปสร้างบทสนทนาใหม่ให้คนกับคลอง
ภาพ : LANDPROCESS

ด้วยการยอมรับระดับน้ำที่แตกต่าง สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีจึงเป็นการฟื้นฟูตลิ่งที่ยอมให้ท่วมก็ดีและไม่ท่วมก็ได้ หรือเรียกว่า สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Design)

หากเคยเห็นหน้าตัดห้วนด้วน อย่างขอบเขื่อนที่ตัดตรงทั่วเมือง ถูกนำมาใช้ตัดขาดคนจากคลองและแม่น้ำทั่วประเทศ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ประหยัดพื้นที่ที่สุด ง่ายต่อคำนวณหน้าตัดของน้ำ แต่นั่นกลับเป็นการตัดสัมพันธ์ของคน-คลอง-ชีวิตริมตลิ่งแบบไม่ไยดี การปรับหน้าตัดตลิ่ง ปรับแนวเขื่อน เชื่อมสัมพันธ์ จึงเหมือนการเบิกขอบคลอง 

ดังนั้น หน้าตัดตลิ่งใหม่คือกุญแจสำคัญ ภารกิจแรก การตัดราวกันตกที่หนาทึบ เปิดขอบคลองให้เมืองได้เห็นและเข้าถึงได้ ในการฟื้นฟูคลองเพื่อเปลี่ยนเมืองจึงเกิดขึ้น

เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องรักษาระดับน้ำให้ปริ่มตลิ่งเพื่อความสวยงามตลอดเวลา แต่ปรับเปลี่ยนระดับและทิศทางการไหลให้สอดคล้องกับวัฏจักรธรรมชาติ และภารกิจหน้าที่ของคลองที่มีต่อเมือง จึงเกิดความงามแบบแบบไร้ฤดูกาล หมดเวลาขืนธรรมชาติ เพราะคลองยังต้องทำหน้าสำคัญตามนิเวศบริการ (Ecological Service)

ฉะนั้น คนเมืองต้องปรับตัว ปรับใจ ยอมรับ ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ไม่สวยเนี้ยบ ห้ามกระดิก 365 วัน เลอะบ้าง แห้งบ้าง นี่คือช่องว่างของโอกาสแห่งการพัฒนาคลอง และคนเมืองที่ได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยน

05

เติมเต็มศักยภาพการระบายน้ำฝน

แก้มลิงที่ป่องกว่าเดิม เคยรับได้เท่าไหร่ ปรับใหม่ได้มากกว่า

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ร่องสวนและพื้นที่ธรรมชาติเดิมที่มีความสามารถซึมน้ำได้ถูกปิดถมด้วยผิวดาดแข็ง โรงงาน บ้าน ถนน กรณีศึกษาคลองอ้อมนนท์ พ.ศ. 2449 – 2484 เปรียบเทียบ พ.ศ.​ 2560
ภาพ : เกียรติกมล นิลาภรณ์กุล, 2564 ดัดแปลงจาก ตวงพร ปิตินานนท์, 2560

ในภาพใหญ่ ปัจจุบันปัญหาการระบายน้ำของกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ทั่วโลก มีสาเหตุมากจากพื้นที่ผิวดาดแข็งในเมืองเพิ่มมากขึ้น เมืองมีศักยภาพในการ ‘ซึมน้ำ’ น้อยลง (Less Porosity) 

ในทางภูมิสถาปัตยกรรมและวิศวอุทกศาสตร์ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า สาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วมรอระบาย คือการขาดพื้นที่รองรับน้ำ โดยเฉพาะน้ำฝน ขาดพื้นที่หน่วงน้ำ (Retention and Detention Area) ในเขตเมือง หรือจะเรียกว่าแก้มลิงก็ไม่ผิดนัก

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
บทบาทของพืชพรรณและพื้นที่หน่วงน้ำในเมืองรูปแบบต่างๆ
ภาพ : เกียรติกมล นิลาภรณ์กุล, 2564 ดัดแปลงจาก ดนัย ทายตะคุ, มิ่งขวัญ นันทวิสัย, 2562

พื้นที่หน่วงน้ำ หมายถึง พื้นที่ที่มีความสามารถในการดูดซับ กักเก็บ และยอมให้น้ำท่วมขังอยู่ได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง อาจอยู่ในแนวถนน สนามหญ้าที่บุ๋มลง พื้นที่บนหลังคาทั้งแบบที่มีหรือไม่มีพืชพรรณ บ่อเก็บน้ำฝนบนดิน ใต้ดิน หรือลานกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นพื้นพรุนน้ำ เช่น กรวด หิน วัสดุที่น้ำซึมผ่านได้รูปแบบต่างๆ หรือดินปลูกพืชพรรณ ก็จะยิ่งช่วยเมืองได้เพิ่มมากขึ้น ในบริบทเมืองปัจุบัน คลองทุกคลอง มีบทบาทสำคัญในการช่วยรับน้ำไหลนองจากผิวดาดแข็ง อาคารบ้านเรือน ถนน ทางเท้า เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ ก่อนลำเลียงไปสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยา 

หลังจากนี้ คลองช่องนนทรีจะยังคงทำหน้าที่แก้มลิง ด้วยประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

คณะทำงานได้ศึกษาธรรมชาติของระดับน้ำขึ้น-ลงของคลองช่องนนทรีเดิม ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับทางเท้าโครงสร้างใหม่ วิเคราะห์ปัญหา ศึกษาข้อมูล พิจารณาความเป็นไปได้ ทำให้ได้ข้อสรุปที่ว่า แท้จริงแล้ว คลองนี้ยังรับน้ำฝนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เติมเต็มศักยภาพการเป็นแก้มลิงของคลองช่องนนทรี ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูระบบนิเวศริมคลอง ซึ่งมีความหมายกว้างไปกว่าพื้นที่นันทนาการริมน้ำมากนัก

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ภาพตัดคลองก่อนปรับปรุง
ภาพ : LANDPROCESS

ก่อนปรับปรุง

ระดับท้องคลอง – 1.20 

ระดับน้ำคลองปกติ – 0.50

ระดับน้ำควบคุมสูงสุดในหน้าฝน + 0.00

ปริมาตรน้ำที่รับได้ 71,055 ลบ.ม.

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ภาพตัดคลองแสดงการระบายน้ำฝนหลังปรับปรุง
ภาพ : LANDPROCESS

หลังปรับปรุง

ระดับท้องคลอง – 2.30

ระดับน้ำคลองปกติ – 0.50

ระดับน้ำควบคุมสูงสุดในหน้าฝน + 0.00

ปริมาตรน้ำที่รับได้ 93,060 ลบ.ม.

ระดับน้ำในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง + 0.65

ปริมาตรน้ำที่รับได้ 144,450 ลบ.ม.

โครงสร้างทางเดินและลานกิจกรรมที่ปกคลุมผิวน้ำ กินเนื้อที่ประมาณ 4,000 ตร.ม. คิดเป็นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์จากพื้นผิวโครงการทั้งหมด และเมื่อนับรวมโครงสร้างแข็งที่ตัดรื้อออกกับที่สร้างใหม่ ก็ยังมีพื้นที่น้อยกว่าโครงสร้างแข็งเดิมก่อนปรับปรุง 

คลองช่องนนทรี โครงการเปลี่ยนคลองระบายน้ำเสียเป็นสวนสาธารณะ ฟื้นระบบนิเวศคลองและเมือง
ตารางแสดงพื้นที่ผิว พื้นที่หน้าตัดคลอง และความจุคลอง ก่อนและหลังปรังปรุง
ภาพ : LANDPROCESS

เทียบกันที่พื้นที่ผิวทางนอน

พื้นที่โครงการกว้างโดยเฉลี่ย 30.7 เมตร ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นคลอง ตลิ่ง และทางเท้า ความยาวรวมประมาณ 4.5 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ผิวทางนอนรวม 138,150 ตร.ม. 

คลองปรับใหม่มีสัดส่วนผิวน้ำระดับปกติ ลดลง จาก 63,450 ตร.ม. เหลือ 59,450 ตร.ม. = ลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ 

ในขณะที่พื้นที่ดาดแข็งรวม ลดลง จาก 63,000 ตร.ม. เป็น 49,900 ตร.ม. = ลดลง 21 เปอร์เซ็นต์

และพื้นที่สีเขียว เพิ่มขึ้น จากเพียงกระบะต้นไม้เดิม ขนาด 1×1 ม. 11,700 ตร.ม. เป็นแนวตลิ่งสีเขียว 28,800 ตร.ม. ในหน้าฝน และ 39,600 ตร.ม. ในหน้าแล้ง = เพิ่มขึ้น 146 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ พื้นที่ผิวน้ำที่ลดลงในวันปกติ แปรผกผันกับขนาดหน้าตัดคลองและปริมาตรน้ำที่คลองรองรับได้ กล่าวคือ เทียบกันที่พื้นที่หน้าตัดน้ำและปริมาตรความจุน้ำในคลอง คลองปรับใหม่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดน้ำในวันปกติโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 15.79 ตร.ม. เป็น 20.68 ตรม. ในฤดูฝน ทำให้ความจุน้ำที่รองรับได้เพิ่มขึ้นจาก 71,055 ลบ.ม. เป็น 93,060 ลบ.ม. = เพิ่มขึ้น 31เปอร์เซ็นต์

ยิ่งไปกว่านั้น ในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง (Extreme Climate) ได้ออกแบบให้รับน้ำเพิ่มได้ถึง 144,450 ลบ.ม. = เพิ่มขึ้น 103 เปอร์เซ็นต์

หน้าตัดคลองที่เพิ่ม = พื้นที่รองรับน้ำในคลองเพิ่ม + พืชช่วยชะลอการไหลของน้ำและปรับคุณภาพน้ำ ส่งผลต่อความสามารถในการระบายน้ำ ไม่เพียงแต่ในเชิงปริมาณเท่านั้น ในเชิงคุณภาพ ระบบชีววิศวกรรม (Bio-engineering) ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้โครงสร้างวิศวกรรมผสมผสานกับความสามารถของพืชพันธุ์หรือวัสดุธรรมชาติ มาช่วยรักษาสภาพตลิ่งให้มีความมั่นคง ควบคุมตะกอน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในคลอง เช่น การใช้ท่อนไม้สด (Live Stake) การใช้ฟ่อนไม้สด (Live Fascine) เป็นต้น เป็นเทคนิคหนึ่งของการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (Low Impact Development Technique) ทำให้คลองแห่งนี้มีความยืดหยุ่นในการรองรับปริมาณน้ำมากจากสภาพอากาศที่แปรปรวนได้

สรุป! คลองปรับใหม่ รองรับการระบายน้ำฝนได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน : )

06

ความใส ไหล สะอาด ของน้ำคลอง ก่อนและหลังปรับปรุง

แยกน้ำเสียจากน้ำฝน เติมน้ำใส

มองเป็นโครงข่าย แก้ทั้งระบบ ไม่เสร็จในวันเดียว

ท่อน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ต่อผ่านท่อระบายน้ำเสียสาธารณะและถูกแยกมายังท่อน้ำเสียหลักที่วางตัวอยู่ใต้ระดับก้นคลอง ในวันฝนหนัก น้ำฝนไหลปนกับน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ สุดท้ายคลองต้องรับภาระปัญหาทุกครั้งไป นอกจากนั้น ยังมีชุมชนริมคลองจำนวนมากที่ปล่อยน้ำเสียและสารพัดสิ่งปฏิกูลลงคลองโดยตรงแบบไม่ผ่านระบบบำบัด เหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของปัญหาน้ำเน่าคลองตันในกรุงเทพฯ

การปรับปรุงคุณภาพน้ำคลองช่องนนทรี เป็นการคิดแบบโครงข่าย ลำพังคลองเดียวคงไม่แก้ปัญหาของเมืองทั้งหมดไม่ได้ เพราะคลองสาขาล้วนเชื่อมต่อกัน การพัฒนาคลองช่องนนทรีให้สะอาด เป็นการนำร่องไปสู่การพัฒนาคลองอื่นๆ ต่อไป

หลักการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี ประกอบด้วย

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
รูปตัดแสดงระบบระบายน้ำเสียที่ปะปนกับน้ำฝนเดิม
ภาพ : LANDPROCESS
11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
รูปตัดแสดงระบบระบายน้ำเสียปรับใหม่
ภาพ : LANDPROCESS

1. ใช้ท่อแทนคลอง ไม่ใช่คลองแทนท่อ

ปรับระบบระบายน้ำเสียให้แยกขาดจากคลอง ไม่ปะปนกันดังเดิม แยกระบบท่อรวบรวมน้ำเสียออกจากคลอง โดยการจัดการปรับปรุงท่อรวบรวมน้ำเสียระบบเดิมที่รั่วซึม ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาเป็นโครงข่าย ในการพัฒนาคลองช่องนนทรีที่มีประชาชนเรียกร้องเรื่องน้ำเน่าเสียอย่างมาก

ครั้งนี้ทีมสำนักระบายน้ำได้พัฒนาท่อระบายน้ำและบ่อดักน้ำเสียกว่า 60 บ่อ ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคลองอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาทั้งระบบบนพื้นที่ 28.5 ตารางกิโลเมตร ในความดูแลของโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
โครงข่ายคลองสาขาที่เชื่อมโยงกับคลองช่องนนทรี พัฒนาคลองเดียวได้ประโยชน์หลาย
ภาพ : LANDPROCESS

2. นำน้ำเสียบำบัดแล้วมาเติมน้ำสะอาดเข้าสู่ระบบคลอง

ปกติน้ำเสียบำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี ค่า BOD ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่า DO 6 เฉลี่ยประมาณมิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณ 140,000 ลูกบาศก์เมตร จะถูกปล่อยทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาทุกวัน! 

ในโครงการนี้เราเปลี่ยนแนวท่อให้น้ำสะอาดเหล่านั้น มาไหลเติมลงคลองช่องนนทรีตามแรงโน้มถ่วง (Gravity Flow) ไปถึงคลองสาทร เชื่อมต่อระบบเข้าไปยังสวนลุมพินี ซึ่งถือโอกาสการปรับปรุงในวาระครบรอบ 100 ปี ฟื้นฟูระบบไหลเวียนน้ำ ช่วยบำบัดน้ำแบบ Tertiary Treatment ส่งต่อไปให้คลองปลายตัน 2 คลองที่รอเชื่อมต่อกับสวนลุมฯ คือคลองไผ่สิงโต ที่เชื่อมต่อไปยังสวนขนาดใหญ่อย่างสวนเบญจกิตติ และคลองต้นสนที่ต่อกับคลองแสนแสบ เป็นการคิดแบบนอกขอบเขตพื้นที่งานออกแบบ เพราะธรรมชาติเชื่อมโยงได้ไม่จำกัด และน้ำบำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำที่เหลือของเมืองอีก 7 โรง ก็น่าจะเวียนกลับมาสร้างอะไรดีๆ ให้ระบบน้ำของเมืองได้เช่นกัน

3. ระบบทุ่นดักขยะ

กระจายตามหัว-ท้ายคลองแต่ละช่วงและจุดแยกคลองสาขาต่างๆ ให้การไหลของกระแสน้ำพัดพาเศษขยะเข้ามาในทุ่น และสำนักการระบายน้ำจะทำการเพิ่มตะแกรงดักขยะที่ปากท่อระบายน้ำซึ่งเชื่อมต่อกับคลอง

4. ลดตะกอนในคลอง 

โดยระหว่างก่อสร้างมีการขุดลอกตะกอนขยะก้นคลอง เพิ่มสวนน้ำฝน หรือ Rain Garden ใช้พืชพันธุ์ที่ดูดซับและกรองสิ่งสกปรกได้ เช่น เตย บอนนา พุทธรักษา ธรรมรักษา ก้ามกุ้ง กกกลม คล้าน้ำ ช่วยดักตะกอนจากน้ำฝนไหลนองจากผิวถนน และออกแบบความกว้างของคลองในช่วงต่างๆ ให้พอเพียงต่อการดำเนินการขุดลอกคลองในอนาคต 

5. เติมอากาศด้วยม่านน้ำตกและน้ำพุ 

ติดตั้งหัวน้ำพุที่ก้นคลอง เพิ่มการเวียนน้ำก้นคลองให้ขึ้นมาสัมผัสอากาศด้านบน และมีการวิเคราะห์ Node กิจกรรม และเลือกพื้นที่ที่จะใช้น้ำสะอาด คือน้ำประปาในปริมาณจำกัด เปิด-ปิดระบบเป็นเวลา โดยออกแบบเป็นระบบหมุนเวียน ไม่ต้องเติมน้ำเพิ่มทุกวัน จึงมั่นใจได้ว่า น้ำในคลองช่องนนทรีจะมีคุณภาพที่ดีกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน การปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองไม่ได้มุ่งให้สะอาดถึงขั้นคนลงไปเล่นสัมผัสได้ในทุกจุด ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินระดับ 2 (แม่น้ำเจ้าพระยาระดับ 4 คลองในกรุงเทพฯ ระดับ 5) การจะทำเช่นนั้นได้คงต้องใช้น้ำประปาทั้งหมด และเป็นคลองระบบปิดโดยสมบูรณ์ ซึ่งขัดต่อแนวคิดตั้งต้นของโครงการอย่างสิ้นเชิง

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
ระบบเติมอากาศในคลอง
ภาพ : LANDPROCESS

อย่างไรก็ตาม สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเสียที่ปลายทางเท่านั้น จากระบบรวบรวมน้ำเสียแบบรวม (Combined System) การแก้น้ำเสียที่ต้นทางคือจากบ้านเรือน ต้องบังคับใช้กฎหมาย ถังหรือระบบบำบัดน้ำเสียที่แยกจากครัวเรือน (Separate System) ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำ บางคนอาจมองว่าจะต้องรื้อบ้านแปลงเมือง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าไม่เริ่ม ความหวังของคลองที่ดีทั้งเมืองก็ดูจะริบหรี่ นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องวางกลยุทธ์กันต่อไป

07

ทำไมต้องย้ายต้นพิกุลริมคลอง

เพื่อฟื้นฟูตลิ่ง การปรับระดับงานโครงสร้างริมตลิ่งใหม่ในช่วงเชื่อมต่อ Skywalk ช่องนนทรี ทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายต้นพิกุลจำนวนหนึ่งออก แต่ในการออกแบบมีการอนุรักษ์และใช้งานต้นพิกุลเดิมให้มากที่สุดอยู่

กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อม ทำการล้อมย้ายอย่างได้มาตรฐาน ซึ่งต้นไม้กลุ่มนี้ได้รับดูแลอย่างดี ได้ ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองในการให้คำปรึกษาด้านเทคนิควิธี มีการห่อตุ้มดิน และขนย้ายอย่างประณีต

ต้นพิกุลที่เราเห็นมีลักษณะการปลูกที่ผิดธรรมชาติ คือ เป็นการก่อกระบะปลูกด้านบนทางเท้า กว้างประมาณ 80 – 90 ซม. ความลึกเพียงประมาณ 30 – 40 ซม. ทำให้รากต้นไม้เจริญเติบโตไปไม่ได้มากกว่าพื้นที่อันจำกัดของความลึกและความกว้าง สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนี้ สร้างปัญหาทำให้ต้นไม้อ่อนแอ ซึ่งพบเห็นจากการประเมินสภาพต้นไม้หน้างาน

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
ต้นพิกุลที่ล้อมย้ายได้รับการดูแลอย่างประณีต
ภาพ : สำนักงานเขตสาทร

สำนักสิ่งแวดล้อม ให้คำแนะนำและร่วมกับสำนักงานเขตสาทร ขุดล้อมต้นพิกุล จำนวน 23 ต้น ตามหลักวิชาการ เมื่อวันที่ 15 – 16 กันยายน พ.ศ. 2564 สำนักงานเขตสาทร นำต้นพิกุลทั้งหมดไปอนุบาลไว้ที่สวนหย่อมและลานกีฬาใต้ทางด่วนซอยอยู่ดี เขตสาทร แต่เนื่องจากพิกุลเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นจึงเปราะบางต่อแสงแดด จึงได้มีการห่อลำต้นเพื่อลดความร้อนจากแสงแดดที่จะส่งกระทบลำต้นโดยตรง และพักไว้ในที่ร่ม

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
ต้นพิกุลที่ล้อมย้ายไปยังสวนหย่อมและลานกีฬาใต้ทางด่วนซอยอยู่ดี เขตสาทร
ภาพ : สำนักงานเขตสาทร

ปัจจุบัน ต้นพิกุลที่ล้อมย้ายไป 23 ต้น อยู่ในสภาพดี 22 ต้น ส่วนอีก 1 ต้น คาดว่าตาย เนื่องจากมีปลวกเข้าทำลายและพบสภาพรากเน่าตั้งแต่วันที่ล้อมย้าย ต่อมาสำนักงานเขตคลองสามวา ประสานขอและขนย้ายต้นพิกุลไปจำนวน 10 ต้น (ขนย้ายเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564) เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่คลองสามวา ซึ่งกำลังจัดทำเป็นสวนสาธารณะ

และต่อจากช่วง 200 เมตรแรกนี้ ต้นพิกุลบางส่วนเก็บรักษาใช้ในโครงการ ส่วนที่ต้องนำออกจะเป็นการล้อมย้ายตามมาตรฐาน เพื่อปลูกต้นไม้ชนิดอื่นเพิ่มสำหรับฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งให้ประโยชน์มวลรวมมากกว่าการใช้ต้นพิกุลเดิมตลอดแนว

08

ศูนย์กลางการเชื่อมต่อ สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี สู่แกนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง

ด้วยตำแหน่งใจกลาง CBD (Central Business District) คลองช่องนนทรีและถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ทอดผ่าน 3 เขต สาทร บางรัก ยานนาวา และยังเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก สีลม สาทร พระราม 3 มีช่องทางการเดินรถ BRT ที่รอการพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าสายสีเทา ในการพัฒนารายละเอียดของสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี คิดเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของโครงข่ายการเชื่อมเมืองตามแผนพัฒนาของกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการอยู่ในปัจจุบัน ต่อเนื่องไปถึงอีก 7 – 8 ปีข้างหน้า รวมถึงเป็นปัจจัยสู่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่เขียวยิ่งขึ้น ดังนี้

1. การพัฒนารถไฟฟ้า BTS สายสีเทาช่วง ลุมพินี-ท่าพระ แบบไม่นำตอม่อลงคลอง 

โครงสร้างทึบนั้นทำลายทัศนียภาพเมือง และลดประประสิทธิภาพการเป็นแก้มลิงดังตัวอย่างในคลองสาทร ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)

2. เจรจากับ BRT ในการลดผิวจราจรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะคือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณรถยนต์บนถนนได้ ผนวกเข้ากับการสัญจรสีเขียวอื่นๆ เช่น จักรยาน Scooter ไฟฟ้า โดยใช้พื้นที่ช่องจราจรของ BRT เดิม และสอดประสานการออกแบบไปกับสวนสาธารณะเลียบคลองแห่งนี้ต่อไป

3. เปลี่ยนการเข้าถึงและระบบจ่ายบัตรรถ BRT ให้ง่ายขึ้นไม่ต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ สถานี

ให้เข้าได้จากทางเดินเท้าระดับดิน สนับสนุนการใช้งานทางเท้า พัฒนาการให้บริการที่เป็นมิตรมากขึ้น โดยระบบตรวจบัตรจะอยู่บนรถโดยสารแทนการต้องเข้า-ออกสถานีแบบเดิม ปรับการใช้สอยโครงสร้างอาคารขายตั๋วเดิมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 6 – 8 ปี และเปลี่ยนรูปแบบรถโดยสารในปัจจุบันจากพลังงาน NGV ให้เป็นระบบรถไฟฟ้า EV BRT

4. วิเคราะห์จุดเชื่อมต่อชุมชน 2 ฝั่งถนนและทำทางข้ามในระดับดิน 

เพราะทางม้าลายเอื้อต่อการใช้งานของทุกคน ไม่ใช่สะพานลอย จึงมีการศึกษาเพื่อความเหมาะสมของทั้ง 17 จุดทางข้ามทางแยกในความดูแลของสำนักการจราจรและขนส่ง ในอนาคตปริมาณและตำแหน่งอาจมีการปรับเปลี่ยนบ้าง

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
จุดเชื่อมต่อทางข้าวระดับดิน 17 จุด (อยู่ในการศึกษา ความเหมาะสม)
ภาพ : LANDPROCESS

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีไม่ได้ทำการลดช่องจราจรบนถนนเดิม ซึ่งจะไม่ส่งผลทางตรงให้รถติดมากขึ้นหรือน้อยลง ขอให้คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเป็นกังวล 

09

งบประมาณ 980 ล้านบาทแลกมาด้วยอะไร

ใช่เพียง ‘การปรับปรุงภูมิทัศน์’ ที่เรามักเข้าใจว่าเป็นการตกแต่งด้วยต้นไม้ให้สวยงาม หรือตกแต่งโครงสร้างที่มีอยู่เดิมแล้ว สวนแห่งนี้เป็นการพัฒนาพลิกฟื้นพื้นที่สองฝั่งคลองช่องนนทรี ร่วมกับทางเท้าสองข้างของถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการปรับปรุงโครงสร้างจำเป็นพื้นฐานของเมือง รองรับการสัญจรสีเขียวในอนาคต และปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 5,000 ต้น

งบประมาณ 980 ล้าน จากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร รวมงานวิศวกรรมโครงสร้าง วัสดุผิว วัสดุพืชพรรณ ไฟฟ้าแสงสว่าง งานระบบไฟฟ้ากำลัง ระบายน้ำ รดน้ำต้นไม้

งานก่อสร้างระยะแรกรวมส่วนรอยต่อจาก Skywalk ช่องนนทรี เป็นโครงสร้างทางเท้าเชื่อมคนให้เข้าถึงโครงการแบบ Universal Design เป็นโครงสร้างทางลาดยาว บนพื้นที่ 731.4 ตารางเมตร แต่ไม่รวมงานระบบบำบัดน้ำ แยกน้ำเสียออกจากน้ำฝนซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักการระบายน้ำ ปรับปรุงบ่อดักน้ำเสียในพื้นที่ของโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี 60 บ่อพัฒนาระบบรวบรวมน้ำเสียจากบ้านเรือน นำส่งไปบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นโครงการในภารกิจหลักของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครอยู่แล้ว

10

บทบาทภูมิสถาปนิกในโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

เพราะงานของภูมิสถาปนิก ไม่ใช่เพียงออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์หรือจัดสวน

ตามกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 นิยามงานภูมิสถาปัตยกรรมไว้ว่า 

วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังบริเวณ เพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพของสภาพแวดล้อมทางภูมิทัศน์ในชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอาคาร

ภูมิสถาปัตยกรรม คือ ศาสตร์ว่าด้วยการทำความเข้าใจระบบนิเวศและบทบาทที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตมนุษย์เพื่อนำมาปรับใช้ เฉพาะอย่างยิ่งภายในระบบนิเวศเมือง ที่จำเป็นต้องศึกษาและการฟื้นฟูระบบนิเวศในเมืองให้ยังคงทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อม ผ่านวางแผน วางผัง การจัดการองค์ประกอบทางกายภาพ ฟื้นฟูสุขภาพของสภาพแวดล้อมให้กลับมาแข็งแรง ยืดหยุ่น ให้บริการเชิงนิเวศ (Ecological Services) กับมนุษย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ทั้งปวง

ดังที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ กล่าวไว้ว่า “ภูมิสถาปนิกมีหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดิน เราศึกษาและวิเคราะห์ธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อตอบสนองการใช้งานของมนุษย์โดยให้เกิดผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด”

เพราะฉะนั้น ภูมิสถาปัตยกรรมเมืองหรืองานภูมิสถาปัตยกรรมสาธารณะ (Urban Landscape Architectue) ขยายความว่า เป็นงานภูมิสถาปนิกซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริบทของงานเมือง 

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน

หากขุดค้นลงไปถึงสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองต่างๆ เช่น น้ำไหลนองในเขตเมือง (น้ำท่วมขัง น้ำมากรอระบาย) ปรากฏการณ์เกาะร้อนในเมือง ฝุ่นควัน PM 2.5 ก็จะพบว่าส่วนหนึ่งของทุกปัญหา เกิดจากการออกแบบกายภาพเมืองที่ปราศจากความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ นักวิชาชีพทั้งหลายจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา และขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม

โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งกรุงเทพมหานครทำเอง ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจำนวนมาก โดยเฉพาะนักผังเมืองจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง วิศกรจากสำนักการโยธา ออกแบบงานระบบระบายน้ำโดยสำนักการระบายน้ำ วิศวจราจรจากสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้เชี่ยวด้านต้นไม้จากสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดการผสานศาสตร์ภูมิสภาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รอบด้าน

ถ้าภารกิจนี้ทำให้เมืองดีขึ้น เราและคนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็สมควรที่ทุกสาขาวิชาชีพจะมาร่วมช่วยกันอย่างสนับสนุนเกื้อกูล

สำหรับโครงการนี้ ตำแหน่งภูมิสถาปนิก ซึ่งกรุงเทพมหานครมีบุคคลากรไม่พอเพียง หรือยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในกรมกอง เราจึงได้มีโอกาสเข้าไปสนับสนุนในส่วนงานภูมิสถาปัตยกรรม ในลักษณะของการร่วมเดินไปด้วยกัน ไม่ใต้หรือเหนือวิชาชีพใด ด้วยความเคารพในความสามารถเฉพาะทางของต่างสาขาวิชาชีพ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และการเปิดใจยอมรับความไม่รู้ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น และการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้งานนี้เกิดขึ้น เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทีมที่ยิ่งใหญ่นี้ 

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการฟื้นเมืองด้วยภูมิสถาปัตยกรรม ตามแนวคิดโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้าและเขียว (Bangkok Blue-Green Infrastructure) ด้วยการเชื่อมคลอง เชื่อมคน เชื่อพื้นที่สีเขียว และเชื่อมเมือง เป็นเรื่องที่ต้องคิดควบคู่กัน เพื่อแก้ปัญหา และสร้างสมดุลให้เมืองของเรา 

11

งานเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน
องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้าเขียว (Bangkok Blue-Green Infrastructure) ในหลากหลายระดับ
ภาพ : Landscape Institute, 2011

การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ต้องไม่คิดเพียงมิติของการพัฒนาเศรฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ฟื้นชีวิตให้ธรรมชาติ บนดิน ใต้ดิน โครงข่ายน้ำ พืชพรรณ คน และสรรพสิ่งต่างแบ่งปันอากาศ ทรัพยากร ล้วนเกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้ง เป็นโครงสร้างของระบบนิเวศเมือง และต้องถูกนำมาคิดในสมการการพัฒนาเมืองทั้งหมด

การออกแบบเมืองที่พึ่งพิงอาศัยพื้นฐานธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเข้าใจ เป็นทางออกของการพัฒนาเมืองในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องเร่งช่วยกันผลักดันอย่างสุดกำลัง บนพื้นฐานธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่จะไม่สูญสลาย เสื่อม หรือไม่ให้ความสำคัญ

และจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่ง หรือวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ที่มีส่วนกำหนดชะตาเมืองในเรื่องนี้ คนเมืองทุกคนที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะกระทำการใดๆ ลงบนผืนแผ่นดิน ต่างมีส่วนไม่มากก็น้อย ในการยอมเปิดพื้นที่ส่วนเล็กส่วนน้อยของตนให้ธรรมชาติได้กลับฟื้นคืนชีวิต เพื่อร่วมกันถักทอร้อยต่อโครงข่ายสำคัญของเมืองนี้ ในสถานการณ์ที่ใกล้จะสาย ก่อนที่จะสายเกินไป

โครงการที่พัฒนาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเมืองอย่างเท่าเทียม จะเป็นโครงการระดับเมืองที่สร้างความน่าจะเป็นอีกนานับประการ ถ้าคลองแรกเป็นจริง เป็นไปได้ คงกระตุ้นเตือนชาวเมืองน้ำ ผู้ขับเคลื่อนเมืองน้ำให้เห็นค่าคลอง 

และคลองต่อๆ ไปคงมีโครงการดีๆ ได้ ง่ายขึ้น การพัฒนาเมือง ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต เป็นเรื่องของทุกคนที่จะผลัก จะดัน จะทำให้เกิดขึ้นจริงค่ะ

11 เรื่องน่ารู้ โปรเจกต์พัฒนาคลองช่องนนทรีจากคลองระบายน้ำ นำร่องสู่คลองระบบธรรมชาติ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำและความหวังของเมืองที่ยั่งยืน

Writer

Avatar

กชกร วรอาคม

ภูมิสถาปนิก ผู้ออกแบบงานพื้นที่สาธารณะ อุทยานจุฬาฯ 100 ปี, สวนป๋วย 100 ปี, สวนสุขวนา และอีกหลากหลายพื้นที่เพื่อเมืองที่ดี