เที่ยว กินอาหารทะเล ซื้อขนม ก่อนกลับบ้านยังแวะซื้อปู ปลา ได้อีกด้วย คุ้มค่า ไม่เหนื่อย ได้บุญกุศล ผมชวนให้ไปงานวัดตาลล้อม หนองมน บางแสนครับ วัดตาลล้อมนั้นเมื่อไปจากกรุงเทพฯ พอผ่านตลาดหนองมนไปได้นิดเดียว ทางซ้ายมือก็มีทางเข้าวัด แล้วที่นั่นมีอะไร เมื่อไหร่ น่าไปอย่างไร 

ที่นั่นมีอะไร อาจจะยาวหน่อย วัดนี้เคยมีเจ้าอาวาสชื่อ ‘หลวงพ่อพูน’ ซึ่งชาวบ้านแถบนี้เคารพนับถือมาก ท่านเป็นทั้งพระเกจิ หมอดู หมอยา มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2495 ใครๆ ก็ไม่ลืมท่าน พอ พ.ศ. 2506 ชาวบ้านช่วยกันสร้างรูปเหมือนท่านแล้วตั้งไว้ที่ศาลาในวัด 

การเริ่มต้นของงานวัดตาลล้อมมาจากที่แม่ค้าขายขนมในตลาดหนองมนเอาขนมครกที่ท่านเคยชอบมาตั้งถวาย ก็คงบนบานศาลกล่าวด้วย แล้วเกิดสมหวังขึ้นมา พอวันคล้ายวันเกิดท่าน แม่ค้าขายขนมในตลาดจึงพร้อมใจกันนำรายได้จากการขายขนมในวันนั้นมาถวายวัดเป็นการทำบุญให้ท่าน แล้วก็ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

พอทำติดต่อนานๆ เข้าก็เปลี่ยนวิธีใหม่ มาเป็นทำขนมที่วัดและขายภายในวัดเสียเลย แล้วไม่ใช่เฉพาะแม่ค้าเท่านั้น แม่บ้านหลายๆ คนที่มีฝีมือทำขนมก็มาร่วมด้วย แล้วสมัยก่อนตำบลนี้เป็นดงต้นตาลและดงมะพร้าว ชาวบ้านก็เอาน้ำตาลปี๊บมาให้ ขนมะพร้าวมาช่วยกันขูด คั้น เป็นน้ำกะทิ ทำขนมขายเท่านั้นยังไม่พอ ก็ทำอาหารขายด้วยเสียเลย ชายทะเลตรงหาดวอนนภา มีแต่เรือประมงกับโป๊ะจับปลา อ่างศิลาก็เป็นอ่าวเลี้ยงหอยแมลงภู่ ชาวบ้านก็เอาปลามาให้สำหรับทำข้าวต้มปลา เอาหอยแมลงภู่มาให้สำหรับทำหอยทอด การที่มาลงแรง เอาของต่างๆ มาให้ ก็ถือเป็นการทำบุญให้หลวงพ่อ ให้วัด 

เที่ยวเมืองชล ยลงานวัดตาลล้อม ชิมกะละแม ขนมหัวใจของงานวัดที่มีแค่วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น
เที่ยวเมืองชล ยลงานวัดตาลล้อม ชิมกะละแม ขนมหัวใจของงานวัดที่มีแค่วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น

เมื่อเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้น ทำแค่วันเดียวคนมาซื้อขนมมากินข้าวต้มปลา หอยทอด ไม่หายอยากหรือมาไม่ทัน ก็ต้องทำหลายวันจึงจะคุ้ม แถมได้เงินเข้าวัดเป็นกอบเป็นกำ พอชาวบ้านมาช่วยงานกันเยอะๆ วัดก็ต้องดูแลอาหารการกินให้เต็มที่ด้วย ตั้งโรงครัวทำอาหารเลี้ยงคน ทำ 3 มื้อทุกวันที่มีงาน แล้วพวกผักหญ้า หมู ไก่ ปลา ก็มีคนเอามาให้อีก เป็นงานทำบุญหาเงินเข้าวัดที่เอิกเกริกและพร้อมเพรียง

นั่นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อผ่านไปเป็นสิบๆ ปีระบบจัดการยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งวัด กรรมการวัด และชาวบ้าน วางแผนกันเป็นระบบ โรงกวน นึ่ง อบขนมสร้างใหญ่โต ตุนกองฟืนและถ่านเหลือเฟือ ก๊อกน้ำประปาเดินทั่วถึง โรงครัวใหญ่ อุปกรณ์เครื่องครัว เตาแก๊ส ถาด ถ้วย จานชาม แก้ว ถังน้ำแข็งเหลือใช้ อีกอย่างเรื่องการบริหารโรงครัว วัดเชิญคนรุ่นคุณย่า คุณยายที่มีฝีมือเรื่องอาหารและคุ้นเคยกับวัดดีให้มาเป็นหัวหน้าแม่ครัว ซึ่งคุณยายจะคิดเบ็ดเสร็จว่าอาหารเลี้ยงคน 3 มื้อต่อวันนั้น แต่ละมื้อจะทำอะไรบ้าง ต้องเตรียมอาหารสด อาหารแห้ง เครื่องปรุง เท่าไหร่ ใช้แม่ครัวกี่คน คุณยายถึงกับนอนที่วัดตลอด ตอนหลังมีระบบเงินทุน สำรองจ่าย ทำบัญชี และธนาคารยังเข้ามาช่วยอีก วัดตาลล้อมนี่ผมยิ่งเห็นก็ยิ่งทึ่ง

กาละแม, วัดตาลล้อม
กาละแม, วัดตาลล้อม

หัวใจของงานวัดตาลล้อมคือขนม มีกะละแมที่เป็นก๊อดฟาเทอร์ของขนม ผมเชื่อว่าหลายคนที่ได้ยินชื่อกะละแมแล้วอาจจะร้องยี้ แต่ถ้าได้กินกะละแมวัดตาลล้อมเมื่อไหร่ รับรองว่าจกกินไม่หยุด จับถาดแน่นไม่ให้ใครมาแย่ง โรงกวนกะละแมนั้นมีถึง 10 เตา เมื่อก่อนเตาก่อด้วยดินเหนียวหนาๆ มีช่องใส่ฟืน เดี๋ยวนี้เป็นเตาคอนกรีตถาวร วางกระทะใบบัวขนาดใหญ่สุด คนกวนกะละแมนั้นแข็งแรงเหมือนแซมซั่น ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง

งานวัดตาลล้อม, กะละแม

กะละแมใช้น้ำกะทิ น้ำตาล แป้ง ที่มีสัดส่วนของเขา แต่ละกระทะเมื่อกวนใหม่ๆ ยังไม่หนักแรงกวนกันสบายๆกระทะละไม่กี่คน แต่เริ่มเหนียวขึ้น ต้องเปลี่ยนมือเร็วขึ้น คนเปลี่ยนมือก็มากขึ้น กะละแมเริ่มต้นกวนตอน 10 โมงเช้า กว่าจะได้ที่เอาตอนบ่าย 3 โมง ที่นุ่ม หวาน มัน ก็มาจากการกวนนั่นแหละ

กวนเสร็จก็ตักใส่ถาด สมัยก่อนเป็นถาดใหญ่ตามมาตรฐานทั่วไป แต่รวมๆ แล้วจำนวนถาดไม่มาก เวลาซื้อต้องซื้อยกถาด ใครๆ ก็อยากได้ ต้องมีเส้นสายภายในจึงจะซื้อได้ บางคนถึงขนาดให้พระมาช่วยจอง เดี๋ยวนี้เป็นถาดขนาดเล็ก จำนวนถาดจึงมากพอ แต่พรึ่บเดียวก็หมด

ขนมอื่นๆ มีอีกเยอะมาก อย่างขนมหม้อแกงที่เป็นราชินีของขนม มีทั้งไข่ เผือก และถั่ว แล้วแต่ชอบ ส่วนผมชอบเผือกกับถั่วมากกว่า สังขยาฟักทองลูกไม่ใหญ่ นี่นับถือคนเลือกฟักทอง หามาได้อย่างไรไม่รู้ ลูกเกือบเท่ากันเหมือนหล่อด้วยพิมพ์ ขนมผักกาดหรือขนมหัวไชเท้า ขูดแล้วกวน ใส่น้ำตาล กะทิ สีขนมใสๆ อร่อยเย็นๆ ยังมีขนมก้นถั่วที่เป็นแป้ง น้ำตาล กะทิ กวนพอได้ที่แล้วก่อนเทใส่พิมพ์นึ่ง จะเอาถั่วทองรองก้นพิมพ์ก่อน เมื่อเทขนมออกจากพิมพ์ ถั่วที่อยู่ด้านล่างก็กลับขึ้นมาอยู่ข้างบนแทน ขนมก้นถั่วเป็นขนมดังของตลาดหนองมน

สังขยา, วัดตาลล้อม
สังขยา, วัดตาลล้อม

ยังมีอีกมากครับสำหรับขนม ซึ่งขนมทั้งหลายนั้นจะเสร็จและออกมาขายพร้อมๆ กันตอนบ่าย 3 โมง ก็พอดีกับที่เต็นท์ขายอาหารตั้งหม้อข้าวต้มปลากับกระทะหอยทอดพร้อมจะขายด้วย สำหรับหอยทอดนั้นเป็นแบบแป้งเปียกๆ ไม่กรอบเหมือนหอยทอดในกรุงเทพฯ ใครอยากให้กรอบๆ ก็บอกเขาได้

การจะเป็นงานวัดนั้นต้องมีสวนสนุก ลูกโป่ง ปืนยิงเป้าสำหรับเด็ก มีแผงขายอาหารและสินค้าต่างๆ มาเช่าที่ขาย งานก็จะเริ่มบ่ายๆ ไปถึงมืดค่ำครับ

มาถึงที่ว่างานวัดตาลล้อมมีเมื่อไหร่ ปีนี้เริ่มต้นวันที่ 2 – 5 กุมภาพันธ์ ทุกปีงานจะไม่ตรงกัน เพราะเขานับวันตามปฏิทินไทย โดยจะมีในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี พอมาเทียบกับปฏิทินสากลก็มักจะยังไม่ถึงหรือเลยไปบ้าง อดกินเสียมากกว่าได้กิน 

เที่ยวเมืองชล ยลงานวัดตาลล้อม ชิมกะละแม ขนมหัวใจของงานวัดที่มีแค่วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น

น่าไปอย่างไรนั้น ที่สำคัญคือได้เห็นขบวนการทางสังคมที่วัดกับสังคมร่วมมือร่วมใจกัน เป็นงานบุญกุศล มีระบบจัดการเป็นระเบียบและคล่องตัว ขนมกับอาหารนั้นมาจากฝีมืออย่างแท้จริง ไม่ต้องกลัวกำไร ขาดทุน คนไปซื้อก็เหมือนกัน เงินที่จ่ายไปก็เหมือนทำบุญ แต่เป็นบุญที่กินได้ นี่คงเป็นเหตุผลพอที่จะไป

ผมจะขอจัดการเวลาสำหรับไปงานนี้ด้วยครับ ออกจากกรุงเทพฯ เช้าหน่อย ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงวัดตาลล้อมแล้ว เข้าไปดูการกวนกะละแมและการทำขนมอื่นๆ แล้วดูในส่วนโรงครัวที่ทำอาหารเลี้ยงคนมาช่วยงานด้วย จะเห็นเหล่าแม่บ้านทุกรุ่นที่ทำงานด้วยความมีจิตศรัทธาสูง จะเห็นแกง ต้ม ยำ ผัดน้ำพริกสารพัด บางอย่างเป็นอาหารพื้นบ้าน 

สังขยา, วัดตาลล้อม
เที่ยวเมืองชล ยลงานวัดตาลล้อม ชิมกะละแม ขนมหัวใจของงานวัดที่มีแค่วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น

ผมเคยเห็นสำรับกับข้าวที่ยกไปให้คนมาช่วยงานถึงตรงที่ทำงาน อยากกินขนาดน้ำลายไหลท่วมเสื้อ ลิ้นห้อยเท่าเนกไท แต่ใจไม่ถึงที่จะเอ่ยปากขอกิน 

เมื่อขนมต่างๆ จะเสร็จก็บ่าย 3 โมง ฉะนั้น การฆ่าเวลาที่ดีที่สุดคือไปหาอาหารทะเลกินเป็นมื้อเที่ยง ผมแนะนำให้ไปบางพระ ห่างออกไปแค่ 15 นาทีก็ถึง อ่าวบางพระอยู่ทางขวามือ จึงต้องไปยูเทิร์นแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตรงซอยเทศบาลสาย 1 หรือซอยวัดเขาบางพระ ถนนจะบังคับเลี้ยวไปเรื่อยๆ จนไปถึงอ่าว ตรงหัวมุมอ่าวมีร้านอาหารทะเลเก่าแก่ชื่อ ชายทะเลบางพระ จริงๆ แล้วใจผมเองชอบร้านนี้ แต่กระเป๋าสตางค์ผมกลับไม่ชอบ ฉะนั้น จึงไปกินที่ร้านเจ๊น้อง สังเกตง่ายๆ พอเห็นสะพานเทียบเรือประมงยาวๆ ในทะเล ร้านเจ๊น้องจะอยู่ฝั่งห้องแถวเยื้องกัน เดี๋ยวนี้มีป้ายชัดเจน

สมัยก่อนร้านเจ๊น้องเป็นเพิงตั้งหน้าห้องแถว ที่นั่งกินต้องข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง เป็นม้าหินใต้ต้นไม้ โล่งๆ ร่มก็ไม่มี ของกินหนักไปทางปลาเห็ดโคนหรือปลาทราย เพราะเรือประมงแถวนั้นเป็นเรือประมงชายฝั่งที่จับได้เป็นปลาเห็ดโคนเสียส่วนใหญ่ ก็กินแกงป่าปลาเห็ดโคน ปลาเห็ดโคนทอดกระเทียม ปลาหมึกผัดน้ำพริกเผา ผมกินอยู่หลายปี

พอเจ๊น้องเปิดร้านเป็นเรื่องเป็นราวก็มีรายการอาหารเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ปลาเห็ดโคนยังมีเหมือนเดิม แกงป่าต้องไม่พลาด มีกั้งแกะเปลือกทอดกระเทียม ปลาหมึกผัดไข่เค็ม ยังมีไข่เจียวปู ถึงเจ๊น้องจะไม่มีไฝ แต่ไข่เจียวปูก็ไม่น้อยหน้า แถมถูกกว่ากันเยอะ

อ่าวบางพระเป็นชายทะเลที่สงบน่าอยู่ครับ ถ้าเวลาเหลือก็กลับมาเที่ยวที่หาดวอนนภา บางแสน เดี๋ยวนี้เทศบาลตำบลแสนสุข ทำแลนด์สเคปใหม่ เป็นระเบียบดูทันสมัย

นั่นก็ถึงเวลากลับไปที่วัดตาลล้อม ที่กะละแมและขนมเริ่มทยอยออกมาขายแล้ว ตอนนี้แล้วแต่ชอบ พอใกล้ 4 – 5 โมงน่าจะได้ขนมครบ สบายกระเป๋าแล้ว พอถึงเวลากลับมาแวะตลาดหนองมน ตรงด้านหลังเป็นตลาดสด ปูม้าสดๆ เยอะ แต่ที่น่าซื้อเป็นปลาครับ เพิ่งเอามาจากทะเลแถวนั้น แต่ต้องไม่คาดหวังว่าจะมีปลาอะไรแน่นอน ปลานั้นดีทุกชนิด เอาความสดเป็นที่ตั้งก็แล้วกัน แล้วตรงตลาดนั้นมีกล่องโฟมอัดน้ำแข็งขาย จึงไม่ต้องห่วงเรื่องซื้อของสดกลับบ้าน

ก่อนกลับแวะกินข้าวต้มปลาอินทรีก่อนก็ดี เข้ากรุงเทพฯ จะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องมื้อเย็น ผมแนะนำให้ย้อนเข้าไปที่ถนนเรียบหาดวอนนภา ตรงใกล้ๆ โรงน้ำปลาพิชัย มีร้านข้าวต้มปลาอินทรี ชื่อร้านบ้านเราหรือร้านเจ๊นก เป็นข้าวต้มปลาอินทรีแบบชลบุรี อ่างศิลา อร่อย

นี่ก็หมดวันพอดี ครบทั้งเที่ยว กินอาหารทะเล ซื้อขนมไทยๆ ซื้อปู ปลา กินข้าวต้มปลาก่อนกลับบ้าน คงครบถ้วนว่าน่าไปอย่างไรนั่นเองครับ

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ