วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระสงฆ์รูปหนึ่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในชุมชนเก่าแก่ที่มีภาษาเป็นของตัวเอง ผมเชื่อว่าท่านก็คงไม่รู้ว่าราว 40 ปีต่อมา วัดแห่งนี้จะกลายเป็นเหตุผลสำคัญในการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับมาเลเซีย ที่ช่วยรักษาให้พื้นที่นี้ยังคงอยู่ใต้การปกครองของสยาม

วันนี้ผมจะขอพาไปชมวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ครับ

เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่บนเนินทรายระหว่างแม่น้ำตากใบกับพรุบางน้อย พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2403 โดยขอที่ดินจาก พระยาเดชานุชิตมหิศรายานุกูลวิบูลย์ภักดี หรือตุวันสนิปากแดง ผู้เป็นพระยากลันตันในเวลานั้น

ในตอนแรกวัดแห่งนี้ถูกเรียกว่า วัดท่าพรุ หรือวัดเจ๊ะเห ตามชื่อหมู่บ้านที่วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ ต่อมาใน พ.ศ. 2416 พระอาจารย์พุดได้สร้างพระอุโบสถ โดยมอบหมายให้พระไชยวัดเกาะสะท้อนเป็นช่างก่อสร้างรวมทั้งเขียนจิตรกรรม มีพระธรรมวินัย (จุ้ย) และทิดมี ช่างชาวสงขลา ร่วมเขียนภาพในพระอุโบสถและกุฏิ พร้อมสร้างพระประธาน กำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ เมื่อสร้างเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2426 ก่อนที่จะบูรณะปรับปรุงและก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในเวลาต่อมา 

วัดแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชลธาราสิงเหอย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2452 โดย ขุนสมานธาตุวฤทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์) นายอำเภอตากใบ ซึ่งชื่อใหม่ของวัดมีความหมายว่า วัดริมน้ำที่สร้างด้วยภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์ เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ อีกทั้งพระภิกษุผู้สร้างวัดคือพระครูโอภาสพุทธคุณ พระที่ชาวบ้านนับถือศรัทธา และเป็นที่เกรงขามประดุจราชสีห์

นอกจากประวัติที่เล่าให้ฟังไปแล้ว ความสำคัญจริงๆ ของวัดนี้คือเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อสยามมีกรณีพิพาทกับสหราชอาณาจักรเรื่องการปักปันเขตแดน เพราะสหราชอาณาจักรได้ปักปันเขตแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดชลธาราสิงเหราว 25 กิโลเมตร ล้ำเข้ามาจากเขตแดนปัจจุบันถึง 30 กิโลเมตร แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแย้งโดยให้เหตุผลว่า วัดชลธาราสิงเหและวัดอื่นในละแวกนี้เป็นศิลปกรรมไทยอย่างแท้จริงและเป็นมรดกทางพุทธศาสนาที่สำคัญ จึงควรอยู่ภายใต้การพิทักษ์รักษาของสยาม

ฝ่ายอังกฤษยอมรับและเห็นพ้องว่าหากพุทธศิลปกรรมที่ทรงคุณค่าต้องตกอยู่ใต้การปกครองของมลายู อาจถูกทอดทิ้งหรือทำลาย ฝ่ายอังกฤษจึงต้องเลื่อนจุดปักปันเขตแดนลงไปทางใต้ โดยใช้แนวแม่น้ำตากใบ-สุไหงโก-ลกเป็นพรมแดนแทน ทำให้อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และบางส่วนของอำเภอแว้ง ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของรัฐกลันตันยังคงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย’

ฟังประวัติอันน่าสนใจของวัดและที่มาของชื่อวัดกันแล้ว ได้เวลาไปชมตัววัดกันแล้วครับ

วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

วัดชลธาราสิงเหมีพระอุโบสถขนาดกำลังดี ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว หันหน้าไปทางแม่น้ำตากใบ

เรื่องหนึ่งที่ผมไม่ได้เล่าไปก่อนหน้าเพราะรู้สึกว่ามันจะยาวเกินไปก็คือ พระอุโบสถหลังนี้ไม่ใช่หลังแรกของวัด เพราะแต่ดั้งแต่เดิมเคยมีโบสถ์น้ำที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำมาก่อนด้วยครับ

พระอุโบสถหลังนี้ไม่ได้แตกต่างจากพระอุโบสถของภาคกลางหรือในกรุงเทพมหานครเท่าไหร่ หน้าบันมีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มีเทวดาคู่หนึ่งถือป้ายที่มีตัวเลข 2416 บอกปีที่พระอุโบสถถูกสร้างขึ้น

แต่ที่เรียกได้ว่าต่างจากพระอุโบสถส่วนใหญ่ คือจิตรกรรมที่ตกแต่งโดยรอบอุโบสถ ไม่เพียงเฉพาะหน้าบัน ซึ่งเจาะเป็นช่องเล็กๆ และใส่รูปคนเข้าไป แถมยังแทรกภาพชาวมุสลิมและพราหมณ์เอาไว้ด้วย เก๋ไก๋ยิ่งนัก

เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานขนาดไม่ใหญ่ บนฐานที่สูงมาก ช่วยให้พระประธานโดดเด่น ไม่แน่ใจว่าท่านมีชื่อทางการไหม แต่ชาวบ้านเรียกท่านว่า หลวงพ่อใหญ่

ผนังภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง 3 ด้าน ดูแปลกดีเหมือนกันที่ด้านหลังพระประธาน ช่างเขียนเพียงรัศมีรอบพระเศียรและปล่อยผนังที่เหลือให้โล่งเป็นสีขาว ส่วนผนัง 2 ข้างเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติสลับกับเสาสี่เหลี่ยม ส่วนพื้นที่แถวบนสุดเป็นภาพเทพชุมนุม

ในขณะที่ผนังตรงข้ามพระประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แบบฟูลเฟรมเต็มพื้นที่

วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ผมชอบที่สุดของจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถหลังนี้คือความสดของสี เพราะในบรรดาจิตรกรรมฝาผนังเท่าที่เคยเห็น ที่นี่ถือเป็นหนึ่งในวัดที่ใช้สีสันค่อนข้างสดใสจัดจ้าน ยังไม่รวมความแน่นของฉากใน 1 ช่อง ที่บางครั้งอัดลงไปถึงสามสี่ฉากในช่องเดียว แต่กลับดูไม่ล้นจนเกินไป แถมยังแทรกภาพกากลงไปได้อีก ซึ่งถือเป็นเรื่องเจ๋งมากของช่างโบราณที่ออกแบบการเล่าเรื่องในพื้นที่จำกัดได้

วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

นอกจากพระอุโบสถ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมภาคใต้คือกุฏิ ซึ่งเป็นทั้งที่พักของพระภิกษุสงฆ์ และสถานที่ทำกิจกรรมทางศาสนาของพระภิกษุและฆราวาสด้วย เพราะจะพบว่ากุฏิพระหลายแห่งมีโถงกลางที่กว้างขวางและมีโถงประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย

วัดชลธาราสิงเหยังมีกุฏิอื่นที่น่าสนใจอีก ไม่ว่าจะเป็นกุฏิเจ้าอาวาสที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 เรือนขนมปังขิงยกพื้นสูงที่ทำหลังคาซ้อนชั้นอย่างวิจิตรพิสดาร หรือกุฏิสิทธิสารประดิษฐ์ อีกหนึ่งกุฏิสำคัญที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดชลธาราสิงเห จัดแสดงทั้งภาพถ่ายเก่า ธรรมาสน์โบราณ ธรรมาสน์สังเค็ดงานพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สำหรับใครที่สงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าธรรมาสน์องค์นั้นเป็นธรรมาสน์สังเค็ดจากงานพระเมรุมาศของ ร.5 ให้สังเกตที่ด้านหลังของพนักครับ จะมีรอยแกะตรา จปร. อยู่ )

ที่สำคัญกว่านั้น มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนเอาไว้ภายในด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของกุฏิพระในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ซึ่งพบทั้งในกุฏิเจ้าอาวาสและกุฏิหลังนี้ด้วย เป็นอีกสิ่งที่หาชมได้ยากในภูมิภาคอื่นครับ

วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

บริเวณริมแม่น้ำตากใบยังมีศาลาไม้อยู่อีกหลังหนึ่ง ซึ่งแม้อาคารจะดูเรียบง่าย แต่ประวัติของอาคารน่าสนใจ เพราะศาลาไม้หลังนี้คือพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2458 เมื่อพระองค์เสด็จฯ มาวัดแห่งนี้ 

วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เมื่ออารามช่วยรักษาดินแดนตากใบให้คงอยู่กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

วัดชลธาราสิงเหยังมีอีกหลายจุดที่น่าชม ไม่ว่าจะเป็นหอพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2484 หรือหอพระนารายณ์ อาคารที่ประดิษฐานพระนารายณ์ร่วมกับพระพุทธรูปแปลกตา แต่แสดงถึงการผสมผสานวัฒนธรรมหลากศาสนาเข้าด้วยกัน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการผสมผสานอยู่ร่วมกันของคนหลากศาสนา หลากความเชื่อ และมีสถานที่น่าสนใจมากมาย ทั้งมัสยิด วัด ศาลเจ้าเก่าแก่ อีกหลายแห่ง ไม่รวมหาดที่งดงามไม่แพ้จังหวัดอื่นในภาคใต้

ลองลงไปสัมผัสดูครับ จังหวัดนราธิวาสไม่ได้น่ากลัวและมีอะไรที่น่าสนใจ น่าชม มากกว่าที่คิดแน่ๆ ครับ ผมรับประกัน

เกร็ดแถมท้าย

  1. จังหวัดนราธิวาสยังมีวัดอีกหลายแห่งที่น่าไปชม เช่น วัดโคกมะม่วง วัดโคกมะเฟือง รวมไปถึงวัดเขากง หรือพุทธมณฑลนราธิวาส สถานที่ประดิษฐานพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 รวมถึงพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 
  2. จังหวัดนราธิวาสยังมีมัสยิดที่น่าชมและพิเศษมากๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดรายอหรือมัสยิดยุมอียะห์ มัสยิดกลางหลังเก่าของจังหวัดนราธิวาส สถานที่ตั้งสุสานของพระยาภูผาภักดี เจ้าเมืองนราธิวาส รวมถึงมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลฮูเซ็น มัสยิดไม้เก่าแก่และงดงามที่สุดหลังหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ควรค่าแก่การไปชมอย่างยิ่งครับ
  3. ไม่หมดเท่านั้น จังหวัดนราธิวาสยังมีชายหาดที่น่าไปพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นหาดนราทัศน์ใกล้เมืองนราธิวาส หรือหาดบ้านทอน หาดที่ผมคิดว่าสะอาดและงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดด้วยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ