รู้ไหม จริงๆ แล้วสารเคมีและธรรมชาติคือศาสตร์เดียวกัน 

หากมองอย่างนักเคมี ทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นเคมีทั้งสิ้น ตั้งแต่สมองไปจนถึงร่างกายของเราก็ประกอบไปด้วยเคมี 

เคมีจำแนกได้เป็น 2 ประเภท หนึ่งคือ เคมีที่มีอยู่ในธรรมชาติ สองคือ เคมีแบบสังเคราะห์ และเคมีที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายมนุษย์ไปจนถึงธรรมชาติ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกทุกวันนี้ คือเคมีประเภทหลัง

แต่จะโทษเจ้าเคมีสังเคราะห์ว่าเป็นตัวบ่อนทำลายทุกอย่างก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา สารเคมีจำนวนหลายร้อยหลายพันชนิดถูกคิดค้นขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการไม่รู้จบของมนุษย์ ผู้รู้สึกว่าการใช้เคมีแบบธรรมชาตินั้นให้ผลลัพธ์ไม่ทันใจ 

อาจารย์นุ่น หรือ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ เจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว

ในวันที่เรามีสารเคมีสังเคราะห์ให้เลือกซื้อเลือกใช้อยู่มากมาย อาจารย์นุ่น หรือ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลับเลือกที่จะสวนกระแสการตลาด และหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เธอทำขึ้นเองที่บ้านอย่างจริงจัง 

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังทำเฟซบุ๊กเพจ ‘นักเคมีหัวใจสีเขียว’ ขึ้น เพื่อชักชวนให้คนลดการใช้เคมีแบบสังเคราะห์ในชีวิตประจำวัน ด้วยการบอกเล่าความรู้เรื่องเคมีธรรมชาติ และแจกจ่ายสูตรเคมีจากพืชพรรณสมุนไพรที่เธอคิดค้นขึ้นเอง

“เราอยากเห็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติคุณภาพดีไปอยู่ในทุกบ้าน เมื่อคนได้จับได้ใช้พวกมันทุกวัน จะเริ่มตระหนักได้เองว่าจริงๆ แล้วเคมีสังเคราะห์อาจจะไม่จำเป็นต่อชีวิตขนาดนั้น ธรรมชาติต่างหากที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข” อาจารย์นุ่นบอกเราอย่างนั้น

ทำไมเราควรลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ แล้วหันกลับมาพึ่งพิงธรรมชาติให้มากขึ้น The Cloud ชวนคุณไปคุยกับอาจารย์นุ่น ถึงผลกระทบของสารเคมีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และเยี่ยมห้องทดลองเล็กๆ ที่เปลี่ยนชีวิตคนมาแล้วมากมายด้วยสูตรเคมีสีเขียวของเธอ

01

เส้นทางสร้างสมดุล

อาจารย์นุ่นเริ่มต้นการเป็นนักเคมีจากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้มีเคมีเป็นส่วนประกอบหลัก เธออยากเป็นนักดาราศาสตร์ เพราะอยากค้นพบดวงดาวของตัวเอง แต่เมื่อทราบว่าการเรียนฟิสิกส์สู่เส้นทางนั้นอาจไม่รุ่งนัก การเรียนเคมีจึงเป็นอีกทางเลือกที่อาจารย์นุ่นชอบไม่แพ้ฟิสิกส์ จนรู้ตัวอีกทีก็จบปริญญาเอกแล้ว

“ตอนเรียนปริญญาเอก เราได้ทุนอาจารย์โครงการในสาขาที่ขาดแคลน นั่นคือเคมีเชิงฟิสิกส์ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนเรียน เพราะมันเป็นสาขาที่ฟังดูยาก ทุนที่ได้เป็น Sandwich Programme คือเรียนครึ่งหนึ่งในประเทศไทย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้ปริญญา 2 ใบ 

อาจารย์นุ่น หรือ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ เจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว

“หลังเรียนจบ เราต้องมาทำงานเป็นอาจารย์ประมาณสามปีเพื่อใช้ทุน เราค้นพบว่าการสอนเป็นหนึ่งในแพสชันของชีวิต ทั้งที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะชอบสอนหนังสือ (ยิ้ม) เมื่อใช้ทุนหมดเราจึงทำงานเป็นอาจารย์ต่อ สำหรับเรางานสอนคือการพัฒนามนุษย์ เมื่อเราได้สอน ได้สร้างความเข้าใจ สิ่งเหล่านั้นมันเปลี่ยนคนได้ เมื่อคนเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน

“ช่วงแรกของการสอนหนังสือเราตั้งใจมาก ทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงประมาณสี่ทุ่มของทุกวัน วันหยุดที่เขาหยุดกันเราก็มาสอน งานโครงการวิจัยก็ทำ ทำเยอะมากจนเป็นออฟฟิศซินโดรม คือนั่งๆ อยู่แล้วเท้าเกร็งขยับไม่ได้ อาการเจ็บป่วยเริ่มถาโถมเข้ามา เดี๋ยวปวดหัว ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย 

“เราใช้ชีวิตด้วยความรีบเร่ง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ใช้ตามที่หาซื้อได้ ซึ่งมันเป็นสารเคมีสังเคราะห์ทั้งนั้น ช่วงนั้นเวลาไปกินข้าวที่โรงอาหารข้างคณะเราได้กลิ่นสารเคมีสังเคราะห์ เมื่อร่างกายมันไม่ไหวเราจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในชีวิตประจำวันเราสัมผัสสารเคมีสังเคราะห์มากมายขนาดไหน วิถีชีวิตแบบเร่งรีบนี้ทำให้เราป่วย สุขภาพแย่ และอาจพาไปสู่จุดที่ร้ายแรงกว่านี้ในอนาคต”

02

สาระเคมี

ไม่นานหลังจากที่อาจารย์นุ่นตั้งคำถามกับตัวเอง เธอก็ได้คำตอบที่ตามหา

“ตอนน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เราตัดสินใจไปอยู่สถานปฏิบัติธรรม ที่นั่นอยู่บนเนินเขา ไม่มีไฟ มีแต่น้ำ แต่เราก็อยู่ได้สุขสบายดี เราเลยคิดได้ว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วชีวิตคนเรามันไม่ได้ต้องการอะไรเยอะแยะ ตอนนั้นเป็นห่วงบ้านมากเลย แต่พอคิดเสียว่าน้ำมันก็ท่วมไปแล้ว เครียดไปก็เท่านั้นจึงเลิกเครียด และค้นพบว่าเราก็สามารถมีความสุขบนความไม่มีได้ 

“หลังจากน้ำลด เรากลับมาบ้าน เปิดทีวีเจอบทสัมภาษณ์ อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ท่านพูดว่า ‘เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง’ เรานี่หยุดทำงานเลย ลุกขึ้นมาตบโต๊ะ ใช่เลย! คำนี้แหละคือสิ่งที่เรากำลังตามหาอยู่ 

ยาสระผมแก้รังแค

“วันนั้นเป็นครั้งแรกที่ฟังคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงในมุมที่เปลี่ยนไป เราไม่เคยรู้ว่าแก่นแท้ของมันคืออะไร เราจึงไปหาอาจารย์ยักษ์ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี เพื่อเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พอไปถึง เหมือนอาจารย์เขารู้ เพราะเขาดูประวัติคนที่มาเข้าอบรมก่อน แล้วก็มีเรานี่แหละจบปริญญาเอกคนเดียว อาจารย์ยักษ์จะชอบพูดว่า ‘พวกจบปริญญาเอกนี่แหละตัวดี โดยเฉพาะเคมี’ เราก็สะดุ้งตลอด (ยิ้ม) อาจารย์ต้องการเตือนเพื่อให้เราฉุกคิดว่า วิถีที่เราทำอยู่มันดีจริงหรือเปล่า 

“การทำปฏิบัติการเคมีมันมีของเสียอันตรายเยอะ ที่ผ่านมาเราก็จ้างบริษัทมากำจัดตลอด โดยไม่เคยฉุกคิดเลยว่า สารเคมีที่บริษัทกำจัดรับไป มันเดินทางไปไหนต่อ แค่เพราะเรากำจัดมันออกไปจากพื้นที่ใกล้ตัวได้ ไม่ได้หมายความว่ามันจะหายวับไปจากโลกได้ง่ายๆ ที่ผ่านมาเราแกล้งลืมมันไปหรือเปล่า 

อาจารย์นุ่น หรือ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ เจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว

“นอกจากในห้องปฏิบัติการแล้ว เราตระหนักว่าในบ้านเราใช้สารเคมีเยอะมาก แล้วก็ใช้โดยที่ไม่รู้เท่าทันด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ น้ำยาล้างห้องน้ำซึ่งเป็นกรดรุนแรง เวลาสอนนักศึกษาในห้องปฏิบัติการ เราบอกเขาได้ว่าคุณต้องใส่หน้ากาก ใส่แว่นตาเพื่อป้องกัน แต่เวลาคนทั่วไปใช้น้ำยาล้างห้องน้ำในบ้าน จะมีสักกี่คนที่ใส่อุปกรณ์เหล่านี้” 

อาจารย์นุ่นอธิบายต่อว่า “สารเคมีสังเคราะห์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะพวกมันเกิดจากการเผาไหม้ปฏิกิริยาเคมี ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ล่องลอยไปทำลายชั้นบรรยากาศ 

“หลายสิบปีที่ผ่านมาเราพยายามรณรงค์การปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนั่นแหละคือหนึ่งในตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม”

03

ผลิตผลจากธรรมชาติ

หลังจากนั้น อาจารย์นุ่นจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่ธรรมชาติ โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวก่อนเป็นอันดับแรก และผลลัพธ์ที่ได้คือแชมพูมะกรูดสูตรอาจารย์นุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องสรรพคุณ

“สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับครอบครัวเรา คือทุกคนหนังศีรษะแห้งและเป็นรังแคกันหมดทั้งครอบครัว ตอนนั้นก็คิดติดตลกกับตัวเอง ว่าเราเป็นนักเคมีแท้ๆ กับแค่กำจัดรังแคออกจากหัวตัวเองยังทำไม่ได้เลย (หัวเราะ) 

มะกรูด

“เราเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสูตรตัวเอง โดยเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เรารู้มาประยุกต์ใช้ อย่างมะกรูดที่คนทั่วไปใช้ทำยาสระผมแก้รังแค จริงๆ แล้วเนื้อมะกรูดเป็นกรดตัวเดียวกันกับมะนาวเป๊ะ ถ้าเราเอามะกรูดทั้งลูกมาทำแชมพู ก็เท่ากับเราเอามะนาวบีบใส่หัวทุกวัน ใช้ไปนานๆ จะเกิดการระคายเคืองได้ ส่วนของมะกรูดที่ออกฤทธิ์รักษารังแคจริงๆ คือน้ำมันหอมระเหยต่างหาก” อาจารย์นุ่นอธิบายพร้อมรอยยิ้ม 

ในการสกลัดน้ำมันหอมระเหยของมะกรูด อาจารย์นุ่นลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็พบวิธีที่ดีที่สุด

มะกรูด

“เวลาเปลือกมะกรูดโดนความร้อน ผิวจะขยายตัวขึ้น เพราะฉะนั้น น้ำมันหอมที่อยู่ข้างในจะออกมาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือน้ำมันก็หลุดออกมาหมด เราก็เอาเปลือกมะกรูดมาลองใส่หม้อหุงข้าวที่บ้าน ทำอยู่หลายเดือนเพื่อหาวิธีที่จะดึงและเก็บน้ำมันหอมออกให้ได้เยอะที่สุด เราทำจนได้สูตรแชมพูมะกรูดที่ลองใช้เองแล้วคิดว่า เฮ้ย ดีมาก ดีมากจนอยากแชร์ต่อให้คนอื่น”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเฟซบุ๊กเพจ ‘นักเคมีหัวใจสีเขียว’ ที่อาจารย์นุ่นนำสูตรเคมีวิถีธรรมชาติมาบอกต่อ จนมีลูกศิษย์ออนไลน์หลายหมื่นคน

04

เปลี่ยนโลกด้วยตัวเอง

อาจารย์นุ่นหยิบมะกรูดและอุปกรณ์ต่างๆ จากในตะกร้ามาสาธิตให้เราดู ว่าการทำยาสระผมมะกรูดมันง่ายและทำได้จริงที่บ้าน

“ขั้นแรกเอามะกรูดมาล้างทำความสะอาด ปอกเปลือกใส่ในกระติก เทน้ำร้อนพอท่วม ทิ้งไว้หนึ่งวัน จากนั้นก็นำไปปั่น เทใส่ขวด เป็นอันเสร็จ น้ำร้อนที่แช่มะกรูดไม่ควรเยอะเกินไป เพราะจะทำให้มะกรูดเสียง่าย เราไม่ต้องการใช้สารกันเสีย ดังนั้น ต้องระวังในขั้นตอนนี้ด้วยนะ” 

นอกจากยาสระผมมะกรูดแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างที่อาจารย์นุ่นทดลองปรับสูตรที่มีอยู่เดิม โดยนำความรู้ทางเคมีมาประยุกต์ปรับปรุง

“ประเทศเรามีสูตรผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่แล้วมากมาย เราแค่เอามาปรับปรุงเพิ่มเติมให้ประสิทธิภาพดีขึ้น อย่างสูตรของ ธ.ก.ส. เขาเคยสอนทำน้ำยาทำความสะอาดโดยใช้หัวเชื้อและน้ำหมัก แต่มันเหม็นและสีขุ่น ไม่น่าใช้ เราก็ค่อยๆ ปรับสูตรให้กลิ่นดีขึ้น สีใสขึ้น 

อาจารย์นุ่น หรือ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ เจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว

“เราลองปรับสูตรน้ำยาบ้วนปากเดิมของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องให้ไม่เผ็ดอย่างเดิมและมีกลิ่นหอมนานขึ้น สูตรผลิตภัณฑ์ที่ปรับไปทั้งหมด ตอนนี้ก็เกือบจะครบครัวเรือนแล้วนะ ทุกวันนี้แทบไม่ต้องซื้ออะไรจากซูเปอร์มาร์เก็ตเลย” อาจารย์นุ่นเล่าพร้อมรอยยิ้ม

สูตรผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทุกชนิด เกิดจากการทดลองและใช้เองจนแน่ใจในผลลัพธ์แล้ว อาจารย์นุ่นจึงจะนำมาเผยแพร่และบอกต่อให้เหล่าลูกศิษย์ออนไลน์ 

 “เราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัว ซึ่งน่าจะเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า พูดผ่านสบู่ ยาสระผม นี่แหละ (ยิ้ม) เราชวนคนไปปลูกมะกรูด ได้ต้นไม้ที่ช่วยผลิตออกซิเจน เมื่อออกดอกผลก็เก็บมาทำแชมพู ได้ผลิตภัณฑ์อีกต่อหนึ่ง บางคนทำใช้เองจนคล่องมือแล้วจึงทำขายด้วย ถือเป็นการสร้างอาชีพหล่อเลี้ยงครอบครัวจากธรรมชาติ 

“เรามีความสุขที่เห็นคนได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น และถือว่าได้สร้างจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่น่าจะช่วยให้โลกดีขึ้นจากความถนัดและสนใจของตัวเอง” อาจารย์นุ่นเอ่ย

05

สังคมแห่งการแบ่งปัน

“เราปันขายผลิตภัณฑ์บางส่วน ไม่ได้ขายจริงจัง เพราะเป็นอาจารย์ ไม่ค่อยมีเวลา เราทำขายเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเพราะรู้ขั้นตอนทั้งหมด หลายคนไม่สะดวกทำเองตามสูตรที่เราแจก หลายคนเป็นมะเร็ง อยากใช้ของปลอดภัย แต่หาวัตถุดิบที่ปลอดภัยไม่ได้ ก็มาอุดหนุนเราได้ เรานำกำไรที่ได้ไปตระเวนสอนฟรี นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ เพราะเราเป็นครู

“เราไม่ลืมว่าจุดเริ่มต้นของ ‘นักเคมีหัวใจสีเขียว’ คืออยากให้คนได้ใช้ของปลอดภัย อยากให้ผลิตภัณ์ธรรมชาติคุณภาพดีไปอยู่ในทุกบ้าน อยากให้โลกนี้ดีขึ้น เราจึงมาทำตรงนี้ ลูกเพจบางคนบ่นว่าอาจารย์นุ่นไม่ทำผลิตภัณฑ์สักที รอไม่ไหว เลยทดลองทำเองเสียเลย แบบนี้เราดีใจนะ เพราะสุดท้ายเขาได้ลองทำด้วยตัวเอง” อาจารย์นุ่นพูดด้วยความภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ การสอนในเพจเฟซบุ๊กยังทำให้เธอได้สังคมอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่คาดคิด เพราะเธอเห็นลูกเพจเป็นเหมือนลูกศิษย์และเพื่อนที่อยากจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ร่วมกัน 

อาจารย์นุ่น หรือ ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ เจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว

“เราสนับสนุนเกษตรกรในเครือข่ายที่รู้จักกันที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรที่ปลูกพืชผลออร์แกนิก เกษตรกรบางรายทำไร่สับปะรด เขาต้องกั้นรั้วลวดหนามเพื่อกันไม่ให้ช้างเข้า ปรากฏว่าช้างโดนลวดแทงตายที่ชายป่า 

“เราเลยบอกให้เขาเอารั้วออก เรายินดีรับผลผลิตเละ ไม่สวยงาม ที่โดนช้างเหยียบ เพราะผลิตภัณฑ์ของเรา ส่วนสำคัญอยู่ที่การสารเคมีธรรมชาติในวัตถุดิบ เราสามารถแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตเหล่านี้ได้ โดยที่คุณไม่ต้องทำให้มันสวย เรารู้สึกได้ถึงสังคมแห่งการแบ่งปันที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และที่น่ามหัศจรรย์คือเรารู้จักกันผ่านสังคมออนไลน์ที่บางคนไม่เคยพบเจอตัวจริงกันด้วยซ้ำ” อาจารย์นุ่นกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล