-1-

กระทั่ง อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ​ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย-อุตรดิตถ์ ก็เพิ่งมาทราบเมื่อไม่นาน ถึงการมีอยู่ของบ้านที่ผมกำลังเขียนถึงหลังนี้ในเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

เรือนไม้สักทองทรงปั้นหยา สถาปัตยกรรมโคโลเนียลประยุกต์อายุกว่าร้อยปีหลังเดียวในจังหวัด บ้านหลังสุดท้ายในชีวิตของ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เจ้าคุณเชย กัลยาณมิตร) อดีตข้าหลวงใหญ่แห่งมณฑลพายัพในสมัยรัชกาลที่ 5 และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
เชย กัลยาณมิตร

“สมัยที่ประเทศเรายังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภูมิภาคต่างๆ ของสยามมีการปกครองด้วยระบอบมณฑล ในฐานะข้าหลวงใหญ่แห่งมณฑลพายัพ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์จึงมีศักดิ์เป็นตัวแทนพระเจ้าแผ่นดิน ดูแลเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีชีวิตอยู่จนถึงช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในรัชกาลที่ 7 ท่านย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ในช่วงบั้นปลาย และเสียชีวิตที่นี่ในสมัยรัชกาลที่ 8” อาจารย์สมชายกล่าว

หากเป็นนักประวัติศาสตร์ ย่อมต้องเคยได้ยินชื่อเสียงของสายตระกูลกัลยาณมิตรมาบ้าง ตระกูลของเจ้าสัวโต แซ่อึ้ง (เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร) พ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี เจ้าสัวโตเป็นผู้ก่อตั้งวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ก่อนที่ลูกหลานของท่านจะรับราชการแผ่นดินสยามหลายต่อหลายรัชสมัยจนถึงปัจจุบัน

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
เจ้าสัวโต กัลยาณมิตร

กระนั้นอาจารย์สมชายก็รู้จักและมีความทรงจำผูกพันกับตระกูลนี้มากเป็นพิเศษ เพราะจากคำบอกเล่าของต้นตระกูลอาจารย์ ที่ซึ่งตาทวดของเขาเคยเป็นผู้ถือธงชาติไชยเฉลิมพลให้กองทัพของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร-ทายาทรุ่นที่ 3 ของเจ้าสัวโต บิดาของเจ้าคุณเชย) ในสงครามปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง (ราว พ.ศ. 2408 – 2433) 

และในช่วงที่อาจารย์เติบโต เขาก็มีโอกาสเห็นพระยากัลยาณวัฒนวิศิษฎ์ (เชียร กัลยาณมิตร บุตรชายของเจ้าคุณเชย) ขับรถจี๊ปสีเขียว 3 ตอน ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งของข้าหลวงเทศาภิบาลพิษณุโลก มาตรวจที่นาที่อยู่ติดกับที่นาของแม่อาจารย์ในอำเภอสวรรคโลกอยู่บ่อยๆ 

จากคำบอกเล่าเกี่ยวกับผู้เป็นพ่อ และความทรงจำถึงผู้เป็นลูก ท้ายที่สุดอาจารย์ก็ได้ทราบจากปากคำของ ฉัตรชัย แว่นตา หนึ่งในคณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลับแล (คณะทำงานที่อาจารย์สมชายรับเป็นที่ปรึกษา) ว่าบ้านไม้สักหลังงามที่ตั้งอยู่หลังโรงเรียนศรีพนมมาศพิทยากร ตำบลศรีพนมมาศ บริเวณปากทางเข้าตัวอำเภอลับแล คือบ้านหลังสุดท้ายของเจ้าคุณเชย 

“พอทราบอย่างนั้น ผมก็เลยลองขับรถไปดู แล้วก็เห็นรถจี๊ปสีเขียวที่เคยเห็นตอนเด็กๆ ซึ่งน่าจะเป็นของเจ้าคุณเชียร จอดอยู่หน้าบ้านจริงๆ ก็เลยเดินเข้าไปเคาะประตูบ้าน” อาจารย์กล่าว 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

-2-

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
ชวเรศ กัลยาณมิตร

คนที่เปิดประตูมาพบอาจารย์สมชาย คือ ชวเรศ กัลยาณมิตร หลานปู่เจ้าคุณเชียร และหลานปู่ทวดของเจ้าคุณเชย

อาจารย์สมชายใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงในการอธิบายถึงสาเหตุและโยงใยแต่หนหลังที่ทำให้เขาจู่ๆ ก็มาเคาะประตูบ้าน ก่อนที่เจ้าของบ้านจะให้เขาเข้าไปสำรวจด้านใน

หลังจากเจ้าคุณเชียรเสียชีวิต บ้านหลังนี้กลายเป็นมรดกตกทอดมายังคุณชวเรศ และพี่น้องของเขารวมทั้งหมด 4 ท่าน (อันที่จริงมี 5 ท่าน หากเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งท่าน) ทว่าไม่ได้มีใครมาอาศัยอยู่ที่นี่สักคน บ้านจึงถูกปิดไว้ และพี่น้องทั้งสี่ก็สลับกันเข้ามาดูแล 

พวกเขารักษาสภาพดั้งเดิมของบ้านไว้อย่างดี (บูรณะพื้นและหลังคาบ้าง) ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ รวมถึงรูปถ่ายเก่าๆ และเอกสารสำคัญเมื่อครั้งเจ้าคุณเชยอาศัยอยู่ก็ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ (จะมีก็แต่ศาสตราวุธและข้าวของเครื่องใช้บางส่วนที่ได้นำไปมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงแล้ว) อาจารย์สมชายจึงยุให้คุณชวเรศเปิดบ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ 

พี่น้องทั้งห้ามีแผนการจะเปิดบ้านนี้อยู่แล้ว การได้พบกับอาจารย์สมชายที่รู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และอธิบายภาพถ่ายเก่าๆ เกือบทั้งหมดที่มีในบ้านได้ แผนการที่วางไว้ของทายาทเจ้าคุณเชยจึงเป็นรูปเป็นร่าง

“เราคิดว่าเป็นความคิดที่ดีของคุณปู่ (เจ้าคุณเชียร กัลยาณมิตร-ผู้เขียน) ที่เขียนพินัยกรรมให้ยกทรัพย์สมบัติที่เป็นข้าวของเครื่องใช้และอาวุธเกือบทั้งหมดให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะคุณปู่เป็นคนมีลูกมากถึงสามสิบห้าคน ท่านตระหนักว่าการมอบของเก่าแก่ให้ลูกๆ หลานๆ ทุกคนก็จะเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว ของที่มีประโยชน์ในเชิงประวัติศาสตร์ก็จะกระจัดกระจายไปหมด คนทั่วไปก็อาจไม่ได้เห็น จึงเขียนพินัยกรรมให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมารับไป 

“ทุกวันนี้สมบัติส่วนใหญ่ที่เคยอยู่ในบ้านหลังนี้ก็จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ซึ่งภายหลังครอบครัวเราได้บ้านหลังนี้มา พินัยกรรมของคุณปู่จึงจุดประกายให้เราเปิดบ้านหลังนี้” คุณชวลี กัลยาณมิตร น้องสาวคุณชวเรศ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อการ กล่าว 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราวเกือบ 100 ปีหลังจากอาคารหลังนี้ได้ถูกสร้างขึ้น (บ้านสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2468) บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ก็ได้เปิดทำการอีกครั้งในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของเมืองลับแล 

-3-

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ

ผมได้รับเกียรติจากอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ เป็นมัคคุเทศก์พาชมบ้าน โดยในวันนั้น คุณชวเรศ และคุณชวลี กัลยาณมิตร ก็อยู่ต้อนรับด้วย

ขับรถจากตัวอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ผ่านซุ้มประตูเมืองลับแล รูปปั้นแม่ม่ายอยู่ทางขวา อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศอยู่สุดปลายถนน ผ่านตลาดเทศบาล ปรากฏคลองชลประทานที่มีต้นจามจุรีสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านปกคลุมหลายต้น-ต้นกระพี้จั่น ทองกวาว และงิ้วล้อม รอบสวน-ริมคลองสายนั้น คือที่ตั้งของตัวบ้านที่หันไปทางทิศตะวันออก 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

“คนสร้างบ้านหลังนี้คือเจ้าคุณเชียร สร้างสมัยรัชกาลที่ 6 ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก โดยสร้างตามแบบสมัยนิยมยุคนั้น คือการนำอิทธิพลจากตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพอากาศและวิถีท้องถิ่น บ้านถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2461 ซึ่งขณะนั้นคุณปู่ทวดดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 ท่านอยู่กรุงเทพฯ จนราว พ.ศ. 2481 เกิดสงครามโลก และกรุงเทพฯ ก็ดูไม่ปลอดภัยจากสงคราม ท่านเจ้าคุณเชียรจึงให้เจ้าคุณปู่ทวดย้ายมาอยู่ที่นี่” คุณชวเรศย้อนความหลัง แม้เขาและพี่น้องอีก 4 คนไม่มีโอกาสทันอยู่รับใช้เจ้าคุณเชย หากก็เติบโตมาในบ้านหลังนี้ ภายใต้การเลี้ยงดูของเจ้าคุณเชียร 

ในอาคารไม้สักสูงสองชั้น จากห้องหับที่มีด้วยกันถึง 12 ห้อง เราเริ่มต้นจากโถงทางเข้าด้านขวาของตัวบ้านที่เป็นมุขยื่นรับกับจั่วหลังคาชั้นสอง โถงต้อนรับประดับประดาด้วยรูปถ่ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณเชย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงข้าราชการระดับสูงที่ติดตามเสด็จไปยังที่ต่างๆ

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

โดยด้านในสุดของห้องคือสัปคับ (ที่นั่งบนหลังช้าง) ซึ่งอาจารย์สมชายสันนิษฐานว่า อาจเป็นสัปคับที่ใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ กระนั้นก็หาได้มีภาพถ่ายยืนยันข้อสันนิษฐานนี้

ในขณะที่บันไดหลักของบ้านตั้งอยู่ในโถงฝั่งซ้ายของตัวบ้านในห้องรับประทานอาหาร โถงต้อนรับฝั่งขวาก็มีบันไดลับซ่อนอยู่ในห้องติดผนังด้านซ้าย บันไดลับที่เป็นทางลัดขึ้นสู่ชั้นสอง 

“ปกติห้องบันไดนี้จะไม่เปิด เหมือนเป็นบันไดเฉพาะกิจมากกว่า แต่พวกหลานๆ อย่างผมก็มักใช้บันไดนี้กันนะ ถ้าคุณปู่อยู่ข้างบน พอเดินขึ้นไป เราต้องสั่นกระดิ่งเพื่อบอกให้ท่านทราบ จากนั้นพอถึงเชิงบันไดข้างบนเราก็ต้องคลานเข่าจากตรงนั้นไปหาท่าน” คุณชวเรศ หลานคนโปรดของเจ้าคุณเชียร ยังจำชีวิตในวัยเด็กได้ดี

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

ก่อนจะเดินย้อนเวลาผ่านบันไดขึ้นไปบนบ้านนั้น อาจารย์สมชายชี้ชวนให้เราชมภาพถ่ายของท่านเจ้าคุณเชยที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ไปยังที่ต่างๆ รวมถึงในทริปประพาสยุโรป อาจารย์ให้เราสังเกตว่านอกจากเจ้าคุณเชยมักจะยืนถ่ายรูปอยู่ด้านข้างพระองค์ท่าน ซึ่งแสดงถึงความใกล้ชิด สิ่งหนึ่งที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้สามัญชนก็คือการยืนถ่ายรูปค้ำพระเศียรพระองค์ท่านได้ตามแบบคนตะวันตก หรือในบางรูปที่พระองค์ท่านประทับนั่ง ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จก็ยืนอยู่ด้านหลังท่านได้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างมากในยุคนั้น

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

ภายในห้องโถงรับแขกเชื่อมไปถึงห้องรับประทานอาหาร มีตู้กระจกที่จัดแสดงเอกสารราชการ ตรายาง และเหรียญตราประดับยศของท่านเจ้าคุณเชย ตั้งแต่สมัยเป็นเจ้าเมืองพิชัยในวัยหนุ่ม ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ไปจนถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (เทียบเท่ารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน) 

รวมไปถึงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ฉบับพิมพ์ครั้งแรก รวมถึงทำเนียบราชการของกระทรวงมหาดไทย ฉบับ พ.ศ. 2463 เป็นต้น

ห้องรับประทานอาหารในบ้านเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับรองรับแขกเหรื่อนับสิบ คุณชวเรศเล่าถึงความพิเศษของโต๊ะไม้สักอายุเท่ากับตัวบ้านตัวนี้ ตรงที่มันมีกลไกด้านหลังปรับให้หน้าโต๊ะสั้นและยาว รองรับจำนวนแขกเหรื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามต้องการ

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

เช่นเดียวกับการกั้นห้อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของช่างโบราณที่ทำร่องที่เสาและคานสำหรับรองรับการถอดและใส่ฝาผนังได้ทั้งแผ่น โถงกลางของบ้านจึงยังแบ่งเป็นห้องเล็กๆ ได้อีก 3 ห้อง โดยที่เจ้าของบ้านแค่นำผนังมาสวมเข้ากับสลัก ไม่ต้องให้ช่างมาตัดไม้ตอกผนังแต่อย่างใด 

บันไดหลักของบ้านอยู่ภายในโถงห้องรับประทานอาหารส่วนนี้ ที่ซึ่งคุณชวเรศจำภาพของเจ้าคุณเชียรได้ดีว่าท่านมักจะเดินลงบันไดนี้ในตอนเย็น นั่งลงบนเก้าอี้หวายในห้องรับแขก และให้คนอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง หรือไม่อย่างนั้นก็ออกไปนั่งตรงชานบ้านที่เชื่อมต่อจากห้องรับประทานอาหาร ซึ่งเผยให้เห็นสนามหญ้า ทิวต้นไม้ใหญ่ และคลองส่งน้ำใต้ต้นจามจุรีบริเวณทิศใต้ของตัวบ้าน 

ผมลองเดินออกมานั่งตรงตำแหน่งที่คุณชวเรศเล่าให้ฟัง พื้นที่สีเขียวแผ่ยาวกว้างไกล แม้แดดยามบ่ายจะค่อนข้างแรง แต่สายลมที่พัดเข้ามาที่บ้านเย็นกว่า สถาปัตยกรรมก็เรื่องหนึ่ง หากความหรูหราที่แท้จริง อาจเป็นการที่บ้านเผยให้เราสัมผัสความสุขสงบเช่นนี้ 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

-4-

และเราก็ตามอาจารย์สมชายเดินขึ้นบันไดลับด้านข้างขึ้นมาข้างบน

ห้องพระคือห้องแรกที่เชื่อมกับชานบันได ห้องเล็กแคบตามฟังก์ชันเดียวของห้อง พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนหิ้งด้านในสุด พ้นจากห้องพระคือห้องทำงาน ที่ซึ่งผนังด้านหนึ่งแขวนรูปและจัดแสดงป้ายตราตระกูลกัลยาณมิตร ขณะที่ผนังที่เหลือเจ้าของบ้านนำเอกสารสำคัญทางราชการต่างๆ ใส่กรอบและแขวนไว้ ห้องทำงานถูกแบ่งครึ่งด้วยตู้กระจก โดยมีชั้นวางของที่มีลักษณะคล้ายซุ้มประตู ที่ด้านบนมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ประดับอยู่ 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

พิมพ์ดีดภาษาไทยรุ่นแรกๆ ที่ผลิตขึ้นในบ้านเราวางคู่กับโทรศัพท์มือหมุน ที่น่ารักคืออุปกรณ์ช่างจำพวกซิ่ว มีด กรรไกร ฯลฯ ที่เจ้าของบ้านนำมาแขวนไว้กับแป้นไม้ติดผนัง กลายเป็นที่เก็บของพ่วงของประดับไปในตัว 

ทั้งนี้ห้องนอนเป็นห้องเดียวในบ้านที่ไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม หากผมก็แอบชำเลืองผ่านม่านสีขาวเข้าไป นอกจากเตียงนอนที่ต้องมีอยู่แล้วในห้อง จากมุมนี้ผมมองเห็นกระจกสีโดดเด้งขึ้นมาชัดเจน โดยกระจกสีที่ว่าถือเป็นอีกเครื่องประดับสำคัญของตัวบ้าน เพราะมันอยู่ในช่องบนของประตูและหน้าต่างทุกบาน

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
กระจกสี

เมื่อมองจากภายนอกเข้ามา จะเห็นเป็นเพียงกระจกสีดำเรียบๆ แต่เมื่อเราอยู่ในบ้านและมองออกไป กระจกปรากฏสีสัน-เขียว ฟ้า น้ำเงิน ส้ม ฯลฯ แปลกตายิ่ง 

คุณชวเรศบอกเราว่า กระจกดังกล่าวเป็นวัสดุหายากในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหัวเมืองต่างจังหวัด และเขายังจำความตื่นตาในวัยเด็กเมื่อมองกระจกเหล่านั้นจากข้างนอก ก่อนเดินเข้ามามองจากข้างในได้ดี

“อีกหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ยุคหลังในบ้านเราคือห้องน้ำในบ้านหลังนี้” อาจารย์สมชายพูดขึ้นระหว่างพาเราเดินผ่านห้องน้ำ เพื่อลงบันไดหลักไปชั้นล่าง 

“เรือนหลังนี้เป็นเรือนหลังแรกๆ ของประเทศที่ใช้ส้วมซึม ซึ่งออกแบบโดยพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ก่อนจะมีการรณรงค์ให้ใช้กันทั่วไป ปัจจุบันห้องน้ำชั้นบนยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่ห้องน้ำข้างล่างเปลี่ยนเป็นชักโครกแล้ว นี่จึงเป็นส้วมซึมยุคแรกๆ ในประเทศไทย ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้” 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม
เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

พระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) ออกแบบส้วมดังกล่าวใน พ.ศ. 2467 ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและอุตรดิตถ์ โดยออกแบบส้วมในลักษณะเป็นโถแบบนั่งยอง ส่วนล่างของโถทำเป็น ‘คอห่าน’ เมื่อใช้เสร็จต้องเอาน้ำราด เพื่อขับให้สสารลงบ่อ และเหลือน้ำค้างอยู่ที่โถเพื่อช่วยกันแมลงวันไม่ให้บินลงไป ส่วนที่เรียกกันว่า ‘ส้วมซึม’ ก็เพราะเมื่อขับถ่ายเสร็จแล้วเทน้ำราดให้ซึมลงดิน ทำให้ดินตามบ้านเรือนโสโครกได้ (ภายหลังมีการบ่อซึม-บ่อเกรอะรับสิ่งที่ขับถ่าย และกำจัดสิ่งปฏิกูลได้ดีขึ้น)

ในขณะที่ท่านเจ้าคุณเชยผู้เป็นเจ้าของบ้านมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านระบบบริหารจัดการของประเทศสู่ความทันสมัย ส้วมในบ้านของท่านเจ้าคุณ ก็เป็นอีกหลักฐานของการอภิวัฒน์ระบบสุขาภิบาลในสยามเช่นกัน 

ก่อนกลับบ้าน อาจารย์สมชายชี้ให้เรามองไปยังรถจี๊ปสีเขียว 3 ตอนของเจ้าคุณเชียรที่จอดอยู่ใต้ต้นไม้หน้าบ้าน-จุดเริ่มต้นของอาจารย์ในการค้นพบบ้านหลังนี้ ก่อนจะชี้นำสายตาไปยังลานโล่งไม่ไกลจากกัน เล่าว่าตรงนั้นคือที่จัดงานประชุมเพลิงเจ้าคุณเชยใน พ.ศ. 2485 

“ช่วงนั้นประเทศยังมีสงคราม ข้าวยากหมากแพง เข้าใจว่าเจ้าคุณเชยสั่งเสียกับเจ้าคุณเชียรว่าให้จัดงานศพอย่างเรียบง่ายบริเวณบ้านนี้ ให้จัดเล็กๆ ภายในครอบครัว ก่อนนำเถ้าไปลอยอังคาร

 “ว่าไปแล้วงานศพของท่านสมถะแตกต่างจากบทบาทการทำงานของท่านมาทั้งชีวิตเลยนะ ตั้งแต่การบริหารจัดการการปกครองในภาคเหนือ การมีส่วนในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ความทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 6 

เรือนเชย กัลยาณมิตร จังหวัดอุตรดิตถ์ 
 เรือนโบราณในฐานะพิพิธภัณฑ์ของชายผู้นำความทันสมัยมาสู่สยาม

“ซึ่งตามข้อเท็จจริงในภาคเหนือนี้ นอกจากพระเจ้าแผ่นดิน ศักดิ์ของเจ้าคุณเชยเป็นรองแค่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้น แต่งานศพท่านเรียบง่ายแบบสามัญชนคนหนึ่งเท่านั้น” อาจารย์สมชายกล่าว

ว่าไปแล้วชีวิตบั้นปลายของข้าราชการผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งท่านนี้ก็กลับสมถะและแสนลับแลดังชื่อเมืองสุดท้ายที่ท่านใช้ชีวิต อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าบ้านหลังนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายในภาพร่างทั้งหมดของชีวิตบุคคลสำคัญคนหนึ่งของประเทศ… 

แต่นั่นล่ะ แม้คุณไม่ใช่คอประวัติศาสตร์ ลำพังแค่การมาชมบ้านไม้เก่า-เรียบและสวย รวมถึงต้นไม้ใหญ่ที่อยู่รายรอบ-ร่มและรื่น ก็ถือเป็นความคุ้มค่าต่อการดั้นด้นเดินทางมา ไม่ว่าจะตั้งต้นจากที่ไหน 

ขอขอบคุณอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสุโขทัย-อุตรดิตถ์ และรองปลัดเทศบาลตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และคณะทำงานศึกษาประวัติศาสตร์เมืองลับแล


แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ 

เวลาทำการ : 09.00 – 17.00 น. (กรุณานัดล่วงหน้า) 

โทร : 06 3289 5564

Facebook : แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์

Writer & Photographer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า