ภาพพื้นที่สีเขียวเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่เชื่อมโยงกันทั้งกรุงเทพฯ อาจดูไม่ไกลเกินเอื้อม หลังจากมีโครงการนำร่องสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง ณ พื้นที่ว่างข้างหัวลำโพงเกิดขึ้น ลากเส้นต่อมายังพื้นที่ว่างเศษเหลืออื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อขยายโครงข่ายสีเขียวอย่างยั่งยืน 

พื้นที่ที่กำลังจะเป็นหมุดหมายใหม่เพื่อคนทุกวัย เดินทางมาถึง ‘สวนชุมชนโชฎึก’ เขตสัมพันธวงศ์ อีกหนึ่งชุมชนริมคลองผดุงกรุงเกษม พัฒนาที่ว่างจากการเวนคืนเลียบคลอง สู่โครงการแรกซึ่งนำทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักออกแบบมาอย่างครบองค์

เป็นที่มาให้คอลัมน์ Public Space ชักชวน ยศ-ยศพล บุญสม และ ซัน-อาศิส เวศร์ภาดา Researcher and Project Developer จาก we!park ตัวแทนแพลตฟอร์มสื่อกลางที่มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วม มาพูดคุยกันถึงแนวคิดและความท้าทายของการสร้างพื้นที่สาธารณะริมน้ำ ในย่านชุมชนเก่าแก่ผ่านการร่วมมือของทุกฝ่าย จะกระตุ้นไปสู่การเกิดพื้นที่สาธารณะถาวร ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระยะยาวได้อย่างไรบ้าง

‘โชฎึก’ ไม่ดึกก็เปลี่ยว เลยต้องเปลี่ยน

สวนโชฎึก เปลี่ยนที่เหลือเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Public Space โดยความร่วมมือของทุกคน

ในอดีต ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนมีความสัมพันธ์กับคลองผดุงกรุงเกษม เหล่าพ่อค้ามักล่องเรือสินค้ามาจอดเทียบท่า แล้วขนของเก็บเข้าโกดังในบริเวณนี้ แต่เมื่อเวลาผันผ่าน ความสัมพันธ์ระหว่างคน คลอง และย่าน เริ่มหายไป เมื่อเปลี่ยนวิถีการสัญจรมาเป็นรถยนต์ จึงเกิดเป็นแนวเขื่อนคอนกรีตแทนที่ ทำให้พื้นที่ตลอดแนวคลองผดุงฯ นี้กลายเป็นเศษเหลือจากการพัฒนาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

“เขตสัมพันธวงศ์มีความหนาแน่นสูง และมีผู้สูงอายุมากเป็นอันดับหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่กลับเป็นเมืองเก่าที่มีพื้นที่สาธารณะน้อย ดังนั้น เราเลยเล็งเห็นถึงโอกาสเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมสุขภาวะ คุณภาพชีวิตที่ดี และพื้นที่สีเขียวให้กับย่านที่มีความท้าทายในการหาพื้นที่ว่าง” 

สวนโชฎึก เปลี่ยนที่เหลือเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Public Space โดยความร่วมมือของทุกคน

ยศพลเล่าถึงศักยภาพที่มองเห็นในพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพและผู้ใช้งาน ซึ่งชุมชนโดยรอบเข้าถึงได้ง่าย และเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของคนในพื้นที่อยู่แต่เดิม ทำให้มีความพร้อมและความเข้มแข็งในการดูแลพื้นที่ร่วมกัน เป็นจุดมุ่งหมายให้กลุ่มสถาปนิกชุมชนในย่านตลาดน้อยอย่าง ‘ปั้นเมือง’ ริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ว่างแห่งนี้สู่พื้นที่สวนชุมชนโชฎึก ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในย่านเมืองเก่า เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

การพัฒนาในระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาจากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่สะพานโชฎึกจนถึงบริเวณศาลเจ้าชุมชน ออกมาเป็นลานอเนกประสงค์และพื้นที่ออกกำลังกาย

ด้วยผลการตอบรับที่ดีและเริ่มมีคนออกมาใช้งานจริง กลุ่ม we!park ร่วมกับ กลุ่มสถาปนิกปั้นเมือง จึงเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ที่เหลือต่อมาในระยะที่ 2 จึงคิดจะพัฒนาต่อขยายตั้งเเต่บริเวณศาลเจ้าชุมชน ไปถึงพื้นที่ด้านหลังตลาดชุมชนจงสวัสดิ์ 

สวนโชฎึก เปลี่ยนที่เหลือเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Public Space โดยความร่วมมือของทุกคน

ประกอบกับนิตยสาร art4d ซึ่งทำแคมเปญร่วมกับภาคเอกชนอย่าง SCG D’COR ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณในการก่อสร้าง เเละกิจกรรมออกแบบเชิงปฏิการ “UNIQUE THE SPACE” เปิดรับสมัครสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีความสนในในการออกแบบ ร่วมกับ 2 โค้ชมืออาชีพจากสตูดิโอออกแบบอย่าง Hypothesis และ VaSLab Architecture มาร่วมเป็นผู้ดูแลกิจกรรม จึงเกิดการประสานงานร่วมมือกัน ด้วยองค์ประกอบทางภาคีทั้งหมด การพัฒนาพื้นที่สวนชุมชนโชฎึกในระยะที่ 2 จึงเริ่มต้นขึ้น 

กระบวนการเริ่มขึ้นตั้งแต่ลงไปพูดคุยกับชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลผ่านการสังเกตและสอบถาม รวมทั้งใช้ข้อมูลจากกลุ่มปั้นเมือง ซึ่งเคยลงพื้นที่ในชุมชนนี้มาก่อน เพื่อสรุปประเด็นปัญหา ความต้องการต่อพื้นที่ และตั้งโจทย์ในการออกแบบ

สวนโชฎึก เปลี่ยนที่เหลือเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Public Space โดยความร่วมมือของทุกคน

โดยโจทย์หลักที่ทีมนักออกแบบได้รับมาจากชาวชุมชนโชฎึก คือต้องการเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกายและพื้นที่ให้เด็กๆ มาวิ่งเล่นได้ พื้นที่สวนสาธารณะที่ปลอดภัย ไม่เป็นจุดอับสายตา กระตุ้นให้เกิดทางเดินที่ใช้ได้จริงจากสถานีรถไฟหัวลำโพงถึงท่าเรือสี่พระยา โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม 

นอกจากจากนั้น อีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญคือ ข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งต้องเป็นโครงสร้างกึ่งถาวรที่คงทนแข็งแรง และพร้อมรื้อถอนได้ทุกเมื่อ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ว่างตลอดแนวคลองผดุงฯ เป็นพื้นที่แนวเวนคืน เพื่อรอพัฒนาโครงการต่างๆ ต่อไปในอนาคต

เมื่อได้แบบร่าง กระบวนการออกแบบต่อมา คือกระบวนการมีส่วนร่วมกับกับชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่เป็นจำนวน 3 รอบ ก่อนได้ข้อสรุปและงานออกแบบสุดท้าย เพื่อใช้ก่อสร้างจริงทั้งหมด 7 ชิ้นงานด้วยกัน ระหว่างนั้นทาง we!park และกลุ่มปั้นเมือง ก็ประสานงานกับทางภาครัฐ ทั้งสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ตั้งแต่ขออนุญาต ร่วมวางแผน และดูแลพื้นที่ร่วมกันในอนาคต

‘โชฎึก’ คิดลึกก่อนทำ

ผลงานสร้างสรรค์ทั้ง 7 ชิ้น แบ่งตามแนวคิดถึงผู้ใช้งานทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ คนทำงานและผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์ในบริเวณชุมชน 

มีตั้งแต่ 01 ‘ก้าวข้าม’ ทางเดินลาดมีลักษณะโค้งเชื่อมโยงกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของคนต่างวัย โดยระหว่างที่เด็กๆ วิ่งเล่นไป ผู้ใหญ่ก็คอยสอดส่องได้

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

02 ‘สนามเด็กเล่นโชฎึก’ ผลงานที่ติดตั้งถาวรแล้วอยู่ใจกลางสวน ออกแบบมาเพื่อเด็กในชุมชนจำนวนมาก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเมื่อใช้งานเป็นหลัก

03 ‘ที่นั่งริมคลองผดุงกรุงเกษม’ ที่นั่งในพื้นที่ต่างระดับ นอกจากออกแบบเพื่อคนหลายช่วงอายุนั่งได้สะดวก และป้องกันไม่ให้คนไร้บ้านมานอนในพื้นที่ แก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยยามค่ำคืน

04 ‘ทั้งนั่งทั้งกั้น’ ที่นั่ง Multifunction ดัดแปลงจากแนวกระถางต้นไม้ที่ใช้กั้นบริเวณสวนเดิม ให้เป็นที่นั่ง ถังแยกขยะ และโต๊ะสำหรับเล่นโดมิโน ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำในพื้นที่ มากฟังก์ชันทั้งพักผ่อนและเป็นที่ออกกำลังกายในตัว

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

05 ‘หลังคาโปร่งแสง’ โครงสร้างให้ความรู้สึกเหมือนเกล็ดมังกรไล่สี และใช้สีให้เข้ากับย่านชุมชนชาวจีน สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน และเพิ่มร่มเงาเมื่อใช้งานพื้นที่ด้านล่างไปพร้อมกัน

06 ‘รั้วกินได้’ ดัดแปลงโครงเหล็กที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นล้อเหล็กเคลื่อนที่ ไว้ปลูกพืชผักสวนครัว เสริมสร้างกิจกรรมและรายได้ให้กับชุมชน

และ 07 ‘กระรอก ละเล่น’ จากแนวคิดบ้านต้นไม้และสลิงให้กระรอกได้มีบ้าน อาหาร และทางเดิน ทำจากวัสดุหาง่ายในพื้นที่อย่างเชือกและแผ่นยาง (น่ารัก!)

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ทำให้มีชิ้นงานที่ได้ก่อสร้างจริงเพียง 3 ชิ้น คือ ทางเดินวิ่ง กระบะที่นั่ง และสไลเดอร์สนามเด็กเล่นโชฎึก ซึ่งเป็นชิ้นงานหลักที่ได้รับคะแนนโหวตมากสุด 3 ลำดับแรก โดยมีเป้าหมายในการก่อสร้าง คือเพื่อเปิดพื้นที่สวนให้ได้เริ่มใช้งานจริงในช่วงงาน Bangkok Design Week 2021 ระหว่างวันที่ 12 – 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าถ้ามีโอกาสได้พัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต ชิ้นงานที่เหลือจะได้ออกมาอวดโฉมอย่างแน่นอน

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“ผลงานเหล่านี้อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ แต่เป็นการกระตุ้นเพื่อสร้างบทสนทนามากกว่าว่า ถ้าชุมชนอยากให้พื้นที่นี้อยู่ต่อได้ในระยะยาวหรือยั่งยืน พวกเขาควรไปในทิศทางไหน และไม่ได้กระตุ้นแค่คนในพื้นที่ แต่ไปถึงคนนอกที่มองเข้ามาด้วย” สถาปนิกนักกิจกรรมอธิบายต่อว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้การออกแบบอยู่ต่อไปได้หรือไม่ คือชุมชนเอง และเขตเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม 

ทั้งยศพลและอาศิสย้ำว่า ข้อหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ จนได้ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน เพราะพื้นที่นี้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และพร้อมดูแลรักษาต่อไปอย่างยั่งยืน

ในขณะที่อาศิสเองก็พบความท้าทาย ทั้งเรื่องงบประมาณในการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ แต่ด้วยจังหวะอันดีที่โครงการสวนชุมชนโชฎึกได้รับการสนับสนุนจาก SCG D’COR ในส่วนของงบประมาณและวัสดุการก่อสร้างในบางส่วน ทำให้เกิดเป็นโมเดลการจัดหางบประมาณในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากทางภาครัฐ เช่น โครงการ Green Bangkok 2030 รวมไปถึงการระดมทุน ซึ่งทาง we!park เองเคยทดลองกับ สวนบริเวณพื้นที่ว่างข้างวัดหัวลำโพงมาแล้ว

ความท้าทายต่อมา คือการสร้างงานออกแบบที่ตอบโจทย์ปัญหาในทุกมิติ ทั้งความต้องการของชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่ รวมถึงความท้าทายในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ซึ่งต้องสร้างความมั่นใจให้ทางภาครัฐว่า โครงการนี้จะสำเร็จลุล่วง มีความแข็งแรงปลอดภัย โดยไม่ละเมิดกฎข้อบังคับใดๆ ซึ่งเป็นโจทย์หินและใช้เวลานานที่สุด 

ยศพลเสริมว่า “ถ้าเรารู้ข้อควรระวังและขั้นตอนการดำเนินของทางเขตว่าต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เราจะไม่เกร็งกับความเป็นภาครัฐ รวมถึงหาวิธีลดระยะเวลาให้น้อยกว่านี้ และอาจเห็นผลจากโครงการนี้เร็วขึ้นด้วย” จึงเป็นข้อชวนคิดว่า จะทำอย่างไรให้ความท้าทายที่เกิดขึ้นจากฝากฝั่งรัฐลดน้อยลง และได้รับการสนับสนุนมากขึ้น 

‘โชฎึก’ นึกถึงอนาคต

มาถึงตรงนี้ เราขอถามแทนคนในชุมชนริมน้ำอื่นๆ ที่กำลังอ่านอยู่ ว่าหากอยากพัฒนาพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เช่นโชฎึกบ้าง ต้องทำอย่างไร

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ยศพลตอบว่า การพัฒนาพื้นที่ริมคลองไม่ควรมองเพียงแค่การขีดสีตีเส้นหรือจัดระเบียบ ควรมองหาศักยภาพผ่านการมีส่วนร่วมกับย่านและชุมชน

“เราต้องคำนึงถึงมิติของคลอง ที่อยู่อาศัย และความปลอดภัย ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้พื้นที่สาธารณะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในเชิงกลไกการจัดการบริหารพื้นที่ จะทำให้ดึงเสน่ห์ของพื้นที่ออกมาใช้อย่างที่ควรเป็น มีอีกหลายพื้นที่ที่เป็นไปได้ในอนาคต เช่น พื้นที่ว่างริมคลองลาดพร้าว และคลองแสนแสบ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการทำงานร่วมกันเป็นภาคีกับหลายภาคส่วน

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ยศจึงฝากถึงกลุ่มคนที่อยากทำงานด้านนี้ว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งต้นจนจบ และส่งต่อไปสู่มือของพวกเขาอย่างเต็มรูปแบบ ให้พวกเขาต่อยอดหาวิธีดูแลรักษาพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ และรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่อย่างแท้จริงนั้นสำคัญมาก

และสิ่งที่เราได้เรียนจากชุมชนเล็กๆ เลียบคลองแห่งนี้ กระตุ้นเตือนว่าพื้นที่สาธารณะไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องหรือเสียสละ แต่ควรเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

กระบวนการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนโชฎึก พื้นที่ปลอดภัยยั่งยืนให้คนริมคลอง จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ผลลัพธ์จากชุมชนโชฎึกเป็นตัวนำร่องไปยังอีก 6 พื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีโจทย์ต่างกันไปในแต่ละที่ ทั้งพื้นที่ท่าเรือหัวลำโพง พื้นที่สวนชุมชนโปลิศสภา พื้นที่ร้านอาหารชุมชน พื้นที่อนุบาลต้นไม้ พื้นที่สะพานโชฎึก ไปจนถึงพื้นที่ลานหน้าอาคาร River City Bangkok ในโครงการ Creating New Possibilities for the Cultural District ต่อยอดพื้นที่ว่างให้เป็น Pocket Park ทุกๆ 400 เมตร หรือระยะการเดิน 5 – 10 นาที เพื่อพิสูจน์ว่าจะกระตุ้นการเดินตามแนวเส้นทาง จะทำให้เกิดการเดินสัญจรจากสถานนีรถไฟหัวลำโพง ไปยังท่าเรือสี่พระยา ลดการโดยสารยานพานะ และเพิ่มระยะเวลากับการทำกิจกรรมภายนอกมากขึ้น ที่สำคัญ การพัฒนาพื้นที่ได้ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

หากใครอยากลองลงพื้นที่ไปพิสูจน์ผลงานต้นแบบที่จะเปิดให้ทดลองใช้ทั้ง 7 พื้นที่ (รวมถึงพื้นที่สวนโชฎึก) อาจต้องรอติดตามอีกครั้ง เพราะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่เอื้อให้เราไปเยือน

สวนโชฎึก เปลี่ยนที่เหลือเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Public Space โดยความร่วมมือของทุกคน
สวนโชฎึก เปลี่ยนที่เหลือเลียบคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Public Space โดยความร่วมมือของทุกคน

แต่เห็นแนวคิดแบบนี้แล้ว เราเองก็หวังอยากเห็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในทุกหย่อมย่าน ออกมาโชว์ให้ได้เห็นอย่างเช่นที่โชฎึกบ้างแล้วล่ะ

ภาพ : Chatchakwan Fagon จาก art4d และ we!park

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง