เบื้องหน้าเราเป็นลานปูนกว้างที่รายล้อมด้วยป่ามะพร้าวสีเขียว 31 ไร่ คดไปเคี้ยวมาด้วยคลองสายเล็กอันเป็นเส้นทางลำเลียงหยดน้ำหวานบริสุทธิ์จากดอกมะพร้าวออร์แกนิก

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

ที่นี่คือสวนมะพร้าวในจังหวัดราชบุรีของ ‘ชีวาดี’ แบรนด์ที่ผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปศาสตร์ของชาวบ้าน เพื่อฟื้นชีพและต่อยอดการทำน้ำตาลปึกโบราณจากน้ำหวานดอกมะพร้าวซึ่งใช้ประกอบอาหารบางชนิด ให้เป็นนวัตกรรมจากน้ำหวานดอกมะพร้าวสุดแปลกที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเคยคิด ทั้งน้ำหวานไร้ผลึก น้ำส้มสายชู เครื่องดื่ม ซอสปรุงรส และหยาดน้ำหวานนาโนรักษาผิวหน้า ฯลฯ เพราะชีวาดีไม่เพียงต้องการให้ผู้บริโภคสุขภาพดี แต่ต้องการสร้างชีวิตดีที่ยั่งยืนและมั่นคงให้ชุมชน

ดา-สารภี ยวดยง Chiwadi

8 ปีที่แล้ว ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลจากน้ำหวานดอกมะพร้าว 100 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่เหลืออยู่ ปัจจุบัน ดอกมะพร้าวกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยนวัตกรรมของ ดา-สารภี ยวดยง อดีตหัวหน้าแผนกวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในบริษัทอาหาร ที่ใช้ใจ จินตนาการ และความรู้ ในทุกกระบวนการจนชีวาดีได้รับรางวัลทั้งระดับประเทศและสากล 

ตามไปดูว่าน้ำหวานแต่ละหยดของชาวบ้านและความรู้วิทย์ๆ ของดาจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุดแปลกแต่ดีได้ยังไง จับไม้ค้ำให้แน่น แล้วข้ามสะพานไผ่ไปสำรวจชีวาของดา ที่สร้างชีวาดีให้ผู้บริโภคและชุมชนกัน

น้ำหวานหยดที่ 1

ตามหาชีวี

ก่อนผันตัวเป็นสาวสวนมะพร้าว ดาเคยเป็นนักวิจัยในบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารมาก่อน ขณะพาเราเลาะสวนตามหาจั่นมะพร้าวเพื่อสาธิตการเก็บน้ำหวาน เธอก็เริ่มเล่าเรื่องราวการตามหาชีวิตเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เงินเดือน 

ชีวาดี เกิดจากการครุ่นคิดว่าแท้จริงแล้วชีวีของเธอนั้นคืออะไร เมื่อได้คำตอบว่าชีวีของดาจะนำพาคนอื่นให้มีชีวาดี ในภาษาจีน Chi แปลว่า พลังแห่งชีวิต ส่วน Wadi มาจากแม่น้ำอิรวดีซึ่งแปลว่า แม่น้ำบริสุทธิ์ ในภาษาเปอร์เซีย Chiwadi จึงเป็นน้ำที่มีพลังแห่งชีวิต นั่นคือชื่อแบรนด์ที่เธอคิด แต่ยังขาดผลิตภัณฑ์ 

ดา-สารภี ยวดยง Chiwadi

“แม้เริ่มตอนอายุมาก แต่ถือว่าเด็กที่สุดเท่าที่จะคิดว่าเราทำอะไรได้ ตอนยังทำงานประจำเรางานกับตำแหน่งที่ไหลเข้ามามันท้าทายมาก แต่เมื่อตัดสินใจจะหยุด เราต้องใส่เกียร์ว่าจะใช้อะไรผลักให้เราไปถึงจุดที่ไม่เคยเป็น เราจึงเอาชีวาดีเป็นตัวตั้งว่าชีวาดีเป็นของทุกคน สิ่งแวดล้อมต้องดี ชีวิตของคนทุกคนต้องดี เราจะช่วยเขาผ่านนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตของเขามีความสุขและสนุกสนาน” 

ไม่นานชีวาดีก็ออกมาในรูปแบบปุ๋ยจุลินทรีย์กำจัดเศษอาหาร จากที่ดามองเห็นปัญหาขยะที่อัมพวา แต่เมื่อดาได้ออกเดินทางมากขึ้น ได้พบกลุ่มผู้ทำน้ำตาลมะพร้าว ชีวาดีจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำหวานดอกมะพร้าวตั้งแต่ครั้งกระนั้น

น้ำหวานหยดที่ 2

หวานดี

ดาพบลุงๆ ป้าๆ ที่ยังชีพด้วยการปีนต้นมะพร้าวเก็บน้ำหวานมาทำน้ำตาลได้เงินวันละไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท และเหลืออยู่เพียงไม่กี่บ้านที่ทำน้ำตาลจากน้ำหวานดอกมะพร้าว 100 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นต้องเติมน้ำตาลทรายนิด เติมกลูโคสหน่อย ให้ได้ความหวาน 

“เราถามว่า ทำไมไม่ทำแท้ๆ เขาบอกว่า คุณมาช้าไปสิบปี ตอนนี้เลิกไปหมดแล้ว เราก็เริ่มเศร้าว่าไทยไม่มีน้ำตาลแท้แล้ว ของแท้มีอยู่แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรม มันเป็นงานฝีมือประจำบ้านและพร้อมรอวันตายเพราะมีแต่คนเฒ่าคนแก่ทำ” เธอเฉลยความในใจที่ทำให้เริ่มศึกษาและหาหนทางฟื้นฟูภูมิปัญญานี้ 

เธอพบว่าฟิลิปปินส์มีชื่อเสียงเรื่องน้ำหวานดอกมะพร้าวมาก ด้วยดินที่แตกต่าง น้ำหวานดอกมะพร้าวของฝั่งนั้นจึงคงสภาพของเหลวได้ง่ายกว่าบ้านเรา 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์
ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

“ในไทยไม่เคยมีใครทำ เรามาลองพัฒนากับชาวบ้าน ตอนแรกไม่มีใครสนใจ เลยไปขอทดลองอยู่บ้านที่มีเตาตาล ไปเป็นลูกเขาเลย แล้วก็ได้น้ำหวานดอกมะพร้าวสีใสที่ไม่เคยมีในไทยออกมา” 

ดาเล่าถึงวันวานของจุดเริ่มต้นความหวานธรรมชาติระหว่างนำชมสวนมะพร้าวออร์แกนิก ที่นอกจากมีมะพร้าว ก็เต็มไปด้วยอัญชัน กล้วย และสารพัดพันธุ์พืชเพื่อเกื้อกูลและป้องกันภัยจากแมลงสัตว์กัดต่อย 

ถึงตรงนี้คงสงสัยว่าน้ำหวานดอกมะพร้าวจากชีวาดีกับน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมต่างกันยังไง
เราขอเฉลยเรื่องน่าฉงนใจว่า ภูมิปัญญาดั้งเดิมเคี่ยวน้ำหวานให้คงสภาพเหลวไม่ได้ เพราะทำทีไรก็กลายเป็นผลึกแข็งสีขุ่นอย่างน้ำตาลปึกทุกที แต่ดาใช้คุณสมบัตินักวิจัยและนักใส่ใจสังเกตและทดลองจนได้น้ำหวานจากดอกมะพร้าวไร้ผลึก 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

นอกจากน้ำหวานดอกมะพร้าวสุดเก๋นี้จะเก็บได้นาน พกไปได้ไกล และใช้ได้หลากหลายมากกว่าการตำน้ำพริก ดายังทำให้คนเห็นคุณค่ามากขึ้นด้วยการนำไปทดสอบกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และพบว่าทั้งน้ำหวานแบบชีวาดีและน้ำตาลแบบดั้งเดิมมีค่าดัชนี้น้ำตาลต่ำ หากเป็นน้ำตาลทั่วไปจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดทันทีและทำให้เลือดข้น เกิดไขมันอุดตันนำไปสู่โรคร้าย ส่วนน้ำหวานจากดอกมะพร้าวจะไม่ซึมสู่กระแสเลือดทันทีแต่จะซึมและให้พลังงานอย่างช้าๆ ทำให้อิ่มนานและมีแรง 

“เมื่อดอกมะพร้าวรู้ว่ากำลังจะออกลูก มันจะฉีดสารอาหารที่มีมากกว่าน้ำมะพร้าวสามสี่เท่าให้ลูกกิน แต่ลูกไม่ได้กินเพราะเรากินก่อน พลังจึงอยู่กับเรา” ดาเล่าต่อถึงสรรพคุณของน้ำหวานดอกมะพร้าว

ถ้าไม่ใช่นักวิจัยและนักใส่ใจอย่างดา ดอกมะพร้าวก็คงไม่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง โบราณนานมาน้ำหวานแบบดั้งเดิมก็มีคุณค่าแต่คนไม่เห็นค่า เธอเผยความจริงนั้นแก่สาธารณชนในรูปแบบใหม่ให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ที่เธอคุ้นผสานกับภูมิปัญญาเดิมของชาวบ้าน “ทรัพย์มันอยู่ในดิน เราก็แปรสภาพให้เป็นสินค้าได้มากมาย” ดากล่าวพร้อมยิ้มหวานไม่แพ้น้ำหวานของเธอเอง

น้ำหวานหยดที่ 3

นักวิใจไฟแรง

แม้ตอนนี้ดาจะกลายเป็นกรรมการบริหารชีวาดี แต่ความเป็นนักวิจัยของเธอไม่หมดลงแม้วินาที นักวิจัยนามสารภีคนนี้ยังเป็นนักใส่ใจที่สร้างผลิตภัณฑ์จากน้ำหวานดอกมะพร้าวอีกสารพัดแบบ

หลังเลาะสวนชมการเก็บน้ำหวาน เราก็นั่งจับเข่าคุยกันใต้กระท่อมไม้ขนาดย่อมท่ามกลางลมที่โหมแรง ดาเริ่มหยิบผลิตภัณฑ์แต่ละตัวมาอธิบายถึงความสนุกเบื้องหลัง ขณะที่ผู้ช่วยเปิดผลิตภัณฑ์ให้เราชิม 

“สังเกตไหมว่าน้ำตาลมะพร้าวต้องเป็นน้ำตาลปึกเสมอ เพราะจำเป็นและต้องเป็น ไม่อย่างนั้นจะเสียเร็ว น้ำตาลเม็ดๆ ที่เราคุ้นนั้นใช้สารเคมีเคลือบ เรามีน้ำหวานแล้วเราเลยลองใช้แป้งข้าวอณูเล็กๆ มาซับน้ำอิสระออกไม่ให้หลอมเป็นผลึกแบบน้ำตาลปึก ทั้งกระทะร่วงเป็นผงเลย” 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

ความอัศจรรย์กินได้ไม่ละลายน้ำของน้ำหวานดอกมะพร้าวทรายทองนำพาภูมิปัญญาเดิมก้าวข้ามอาหารไทยสู่การทำเบเกอรี่ฝรั่งได้ เราทึ่งแล้วทึ่งอีกกับความคิดสร้างสรรค์ของดา แต่ความทึ่งยังไม่หมด! ดาใช้จินตนาการ ความเข้าใจอาหารไทยและผู้บริโภคมาเสกสรรค์ชีวาดีให้มีรสเปรี้ยว มัน เค็ม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูผิว 

เมื่อน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมทำอาหารได้ทั้งคาว หวาน เธอจึงเริ่มคิดต่าง เปลี่ยนน้ำหวานเป็นน้ำเปรี้ยวในรูปแบบน้ำส้มสายชู เพราะน้ำส้มสายชูมีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญพลังงานซึ่งสำคัญต่อชีวิต แต่คนไทยนิยมใช้ปรุงก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ดาจึงผสมผลิตภัณฑ์ตัวแรกกับน้ำส้มสายชูสร้างสรรค์เป็นไซเดอร์รสนุ่มในขวดไวน์ ให้คนได้ทานของดีอย่างอร่อย ขอบอกว่ารสชาติหวานอมเปรี้ยวและหอมขึ้นจมูกจนเราต้องแอบชิมอีกครั้ง 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์
ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

หวานก็แล้ว เปรี้ยวก็มี ขาดเค็มไปคงไม่พอดี ซอสปรุงรสแบบเค็มและซอสรสเปรี้ยวสำหรับจิ้มจึงออกสู่ตลาด ดาดึงกรดอะมิโนกับเกลือแร่ในน้ำหวานซึ่งมีรสเค็มๆ ออกมาแล้วใส่เกลือทะเลนิดหนึ่ง ไม่เพียงได้ซอสปรุงรสที่โซเดียมต่ำกว่าท้องตลาด 45 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีองค์ประกอบคล้ายซอสปรุงรสที่สุดเมื่อวิเคราะห์เทียบ รสชาติที่เราได้ลิ้มมีความหวานอมเปรี้ยวอ่อนๆ แทรกด้วยเค็มติดปลายจนเราประหลาดใจว่าซอสเหล่านี้มีที่มาจากน้ำหวาน ดาบอกว่าลูกค้านำไปทำเมนูต้ม ผัด แกง ทอด ยำ นึ่ง ก็เข้าท่าไม่น้อย

“เราเข้าใจว่าความลับของอาหารไทยคือต้องใส่น้ำตาลมะพร้าวที่มีกรดอะมิโน คู่น้ำปลาซึ่งมีโซเดียม จึงอร่อย” 

นอกจากอาหาร ผลงานของนักวิจัยไปไกลถึงขอบเขตเครื่องสำอาง เธอหยิบบรรจุภัณฑ์ขนาดจิ๋ว 3 ขวด และเครื่องมือเล็กๆ มาให้ดู นี่คือ ‘คลาราวดี’ หยาดมะพร้าวในเครื่องทำนาโนจำลองการยืนเคี่ยวน้ำหวานดอกมะพร้าวหน้าเตาของชาวบ้านจนหน้าใสเป็นใยแก้วและไร้สิวฝ้า 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

“เราเอาไอน้ำที่ระเหยไปวิเคราะห์ พบเอเอชเอที่ช่วยผลัดผิวและพบอะซิติกที่ยับยั้งสิว เป็นการใช้เอเอชเอธรรมชาติปลอดสารพิษอันแรกของโลก” 

หยาดน้ำหวานเพียงหนึ่งหยดก็สร้างไอน้ำปกคลุมหน้าได้หลายนาที มือหนึ่งของเราถือเครื่องทำนาโนขนาดพอดี เคลื่อนไปมาทั่วหน้าก็เสมือนเป็นสาวเคี่ยวน้ำตาลหน้าเตาเย็น 

แทบไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวความสนุกเหล่านี้จะผ่านการคิดและสังเกตด้วยใจของคนวัยใกล้เกษียณ เพราะเเววตาที่ดาส่งออกมาขณะเล่าเรื่องดูคล้ายวัยรุ่นไฟแรงที่สนุกกับการทำงานทุกหยดทุกหยาด 

น้ำหวานหยดที่ 4

ชุมชนดี

“แต่ก่อนมีร้อยบ้านก็ทำน้ำตาลมะพร้าวร้อยบ้าน วิ่งเก็บกันสนุกเลย เเล้วเคี่ยวขายเป็นรายได้ เวลาเหนื่อยก็กินเอง หอมชื่นใจ ใช้ทำอาหารบ้าง หมักเป็นเหล้าบ้าง” ดาส่งต่อเรื่องเล่าครั้งอดีตจากชาวบ้านให้เราฟัง

“พอชีวาดีเข้ามา วิถีชุมชนเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน” เราถาม

“แรกทีเดียวเขาต้องการอยู่รอด แต่ตอนนี้เขาไปมากกว่านั้น เพราะเขาเชื่อจากการกระทำและผลตอบรับเจ็ดแปดปีที่ผ่านมา เขาขยายทั้งระดับคนและชุมชน” จาก 8 ปีก่อนที่กลุ่มชาวบ้านทำน้ำตาลมะพร้าวมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมแทบสูญ ตอนนี้ชีวาดีสร้างกลุ่มผู้ผลิตรายใหม่ที่อายุ 20 – 30 ปี กลุ่มวัยมันเหล่านี้ไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้เดินหน้าต่อ แต่เข้ามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมทันสมัยอยู่เรื่อยๆ เพราะดาเปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นของทุกคน 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

“เราเตรียมตัวที่จะถอย จึงเปิดให้เด็กรุ่นใหม่มาเป็นผู้นำ เราส่งพวกเขาไปต่างประเทศเหมือนที่เราถูกส่งไปตอนทำงานประจำ เราเป็นคนนี้เพราะเรามีโอกาส เราเอาโอกาสนั้นให้คนรุ่นหลังทำในลักษณะของเขา

“เราแบ่งให้แต่ละคนดูแลหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ไปเลย สร้างเป็นกลุ่มทำน้ำตาลอิสระกลุ่มย่อยหลายกลุ่มที่รับผิดชอบตัวเองได้ และเรามารับผิดชอบซึ่งกันและกัน ที่สุดแล้ว เราต้องการให้ตัวเราเล็ก เพื่อให้คนที่เป็นพันธมิตรรอบเราใหญ่” การฟื้นชุมชนถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีแต่การสร้างคนนั้นน่ายินดียิ่งกว่า นี่คือสิ่งที่ดาตั้งใจและเราพิสูจน์ได้ด้วยผู้ช่วยวัยยี่สิบต้นๆ ของดาที่อยู่กับเธอทุกที่

ชีวาดีสร้างงานให้ทุกคน ตั้งแต่เก็บเกี่ยว เคี่ยวน้ำตาล จนขับรถส่งสินค้า หมู่บ้านทำน้ำตาล ณ อัมพวา ที่ดาพาไปชมล้วนเป็นครอบครัวชีวาดี 

“ชีวาดีคือทางผ่านของประสบการณ์ชีวิตที่คุณเข้ามาและเรียนรู้ว่าต้องการอะไร และคุณเป็นได้ เราโตได้และให้ลูกน้องโตด้วย” ทั้งลุง ป้า นา อา จนถึงเด็กรุ่นใหม่ในบริษัท จึงไม่ใช่ลูกจ้างแต่เป็นครอบครัวและเพื่อนร่วมธุรกิจ 

น้ำหวานหยดที่ 5

พอดี

หลายคนอาจสงสัยว่าดาเป็นนักวิจัย แต่ทำไมยังใช้ชาวบ้านลงแรงเคี่ยวน้ำหวานในกระทะ ไม่สร้างเป็นโรงงานทำสำเร็จ แต่เพราะทุกอย่างต้องมีความพอดี ทั้งดาและชาวบ้านจึงต้องปรับตัวเข้าหากัน สิ่งที่ดาเสนออย่างเครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัย ชาวบ้านอาจไม่คล่องตัวเพราะไม่ใช่วิถี แต่ถ้าชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ไม่ดี เธอก็จะไม่ปล่อยผ่านเช่นกัน 

“เราต้องเคารพชุมชน ชุมชนต้องได้งานอย่างที่ถนัดและเหมาะสมกับวิถีของเขา เขาทำได้แค่ไหน มากไปเขาไม่มีความสุข เราเอาปริมาณไปวัดแต่เขาไม่ต้องการ เขามีวิถี มีความรักกับชุมชนที่ผูกพัน อย่าเอาสิ่งนี้ไปทำลายเขา ต้องเริ่มจากเราเข้าใจเขา เกิดอะไรขึ้นและปรับเปลี่ยนเอา”

 แม้จะสร้างนวัตกรรม แต่ทุกอย่างยังมีพื้นฐานจากภูมิปัญญาเดิม ชาวบ้านยังคงดูแลตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การเคี่ยว และการบรรจุ ส่วนดาใช้ประสบการณ์การเป็นนักวิจัยสร้างนวัตกรรมและควบคุมกระบวนการผลิต ใช้การแบ่งองค์กรในบริษัทเก่ามาแบ่งชุมชนว่าใครดูแลวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการบรรจุ ล่าสุด โรงงานทันสมัยใกล้เปิดให้ชุมชนเริ่มปรับตัวแล้ว

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

พอดีกับชุมชนแล้วต้องพอดีกับธรรมชาติด้วย เมื่อชีวาดีไม่ได้เชี่ยวชาญเกษตร จึงสร้างสวนที่นี่ให้เป็นโมเดลเกษตรอินทรีย์ หากสังเกตจะเห็นว่ามะพร้าวที่นี่ผิดตาไปจากที่เราคุ้น เพราะเป็นมะพร้าวเด็กต้นเตี้ยแบบที่ยืนเก็บน้ำหวานด้านล่างได้ เพื่อให้บริษัทมีเวลาในการศึกษาเกษตรกรรมและการเก็บน้ำหวานให้ได้ประสิทธิภาพ ทั้งวิธีการกำจัดศัตรูพืชแบบอินทรีย์ที่ปลูกพืชหลากชนิดทดแทนการใช้สารเคมี การปรุงดินให้เหมาะสมกับมะพร้าว หรือการโน้มกิ่งก้านเพื่อให้น้ำหวานไม่ไหลเยิ้มจนต้นเน่า แต่สวนเดียวคงไม่พอผลิตสินค้าสู่ตลาด ชีวาดีจึงมีสวนพันธมิตรของชาวบ้านที่ร่วมทำกันตั้งแต่เริ่มจัดตั้งและสวนใหม่ของผู้ที่สนใจ ซึ่งล้วนเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ ไม่ว่าจะราชบุรี สมุทรสงคราม นครปฐม และอุตรดิตถ์ 

ชีวาดี แบรนด์น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่ปลุกชีวิตน้ำตาลมะพร้าวดั้งเดิมด้วยวิทยาศาสตร์

ดาเล่าว่า สวนสีเขียวตรงหน้ามีมะพร้าว 1,240 ต้น แต่ละต้นจะออกดอกปีละ 18 ช่อ น้ำหวานหยดลงกระบอกทุกวันแต่จะหยุดให้น้ำหวาน 3 เดือน แต่ชีวาดียังมีผลผลิตตลอดปีเพราะสลับเก็บ ไม่ดันทุรังเก็บทุกต้น ให้คุณแม่มะพร้าวที่ออกน้ำหวานมานานได้อยู่ไฟด้วยการบำรุงปุ๋ยพิเศษอย่างดี 

“ในหนึ่งวันจะเก็บน้ำหวานสองสามรอบ เราสั่งเก็บวันละหกรอบก็ได้ แต่ชาวบ้านจะเหนื่อยเกินไป 

“เราไม่ต้องการกำไรจากการที่ชุมชนทำงานหนัก แต่ต้องการให้ทุกคนหล่อเลี้ยงตนเอง ครอบครัว และเติบโตได้” ความพอดี คงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้นักวิจัยอย่างดา ภูมิปัญญา และชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างชีวาดี

น้ำหวานหยดที่ 6

ชีวาดี

อย่างที่บอกว่าชุมชนหนึ่งชุมชนจะดูแลการผลิตสินค้าเพียง 1 – 2 อย่าง เส้นทางของชีวาดีที่ดาวาดไว้จึงเป็นการสร้างหน้าร้านให้ชุมชนเอาของมาแลกกันขาย สนับสนุนการท่องเที่ยวให้คนมาซื้อสินค้าให้รายได้เข้าชุมชน
“ไม่จำเป็นต้องเป็นของของฉัน ฉันก็ภูมิใจ นี่คือทางเดินของเรากับชุมชนที่เรามองไป ให้ชีวาดีเป็นสังคมที่เราอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก” 

เรื่องราวของดาและชีวาดีจึงเป็นการนำวิทยาศาสตร์ที่ใช้ประกอบอาชีพมาตลอดชีวิต ผสานเข้ากับพลังแห่งธรรมชาติ นั่นคือน้ำหวานดอกมะพร้าวและเกษตรอินทรีย์อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่โบราณ ให้ไปได้ไกลกว่าของคาวหวานอย่างแกงกะทิ ให้กลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างทั้งสุขภาพที่ดีแก่ผู้บริโภค ทั้งยังสร้างรายได้และความภาคภูมิใจสู่ชุมชน 

ดา-สารภี ยวดยง Chiwadi

“ชีวาดีคือชีวีของใคร” เราถามเธออีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าคิดไม่ผิด

“ชีวาดีไม่ใช่ชีวีของดา แต่เป็นชีวาดีของทุกๆ คน ให้ทุกคนทุกหย่อมหญ้า ได้มุ่งเน้น ยุ่งเหยิง กับสิ่งที่ทำให้ชีวิตชีวาดี” ดาเฉลยด้วยรอยยิ้มละไมเหมือนความหวานละมุนในผลิตภัณฑ์ของเธอ 

สำหรับเรา ดายังคงเป็นนักวิจัยอยู่เสมอ เพียงแต่ดำเนินไปในเส้นทางแบบเธอ คือเชื่อในธรรมชาติ ภูมิปัญญา และชุมชน

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ