The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย

ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมาช้านานแล้ว ทั้งชาวจีนที่เป็นมุสลิมและที่มิใช่มุสลิม ชาวจีนกลุ่มที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย คือลูกหลานของแรงงานจีนที่อพยพเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ระหว่าง พ.ศ. 2423 – 2433 ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือ ประกอบด้วยกลุ่มพ่อค้าจากมณฑลยูนนานที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนมุสลิมที่หลบหนีการสังหารหมู่มุสลิมในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2416 และกลุ่มทหารจีนคณะชาติที่หลบหนีกองทัพของคณะปฏิวัติเข้ามาในบริเวณชายแดนไทย-พม่าเมื่อราว พ.ศ. 2492

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ชาวจีนมุสลิมกลุ่มแรกที่อพยพโดยการเดินเท้าจากยูนนานสู่เชียงใหม่
ภาพ : สุเทพ สุนทรเภสัช

เมื่อสืบประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและชาวมุสลิม แดนมังกรเป็นดินแดนที่เจริญมาช้านานและเป็นหนึ่งในอู่อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลกตะวันออก ความเรืองรองของจีนส่งผลให้แว่นแคว้นน้อยใหญ่ต่างเข้ามาเจริญสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจักรพรรดิจีน มุสลิมติดต่อกับชาวจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายก็เพิ่มขึ้น เมื่อชาวมองโกลเข้ามาครอบครองเอเชียกลางใน พ.ศ. 1822 

ศิลปวัฒนธรรมจีนจึงหลั่งไหลเข้ามายังโลกมุสลิม เครื่องลายครามของจีนกลายเป็นของสะสมราคาแพงที่บรรดาสุลต่านต่างหามาไว้ในครอบครองเพื่อแสดงฐานะและรสนิยม ลวดลายบนเครื่องถ้วยและในจิตรกรรมจีนก็โลดแล่นอยู่ในงานประณีตศิลป์ของมุสลิมมาหลายศตวรรษ

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
กระเบื้องจากอิหร่าน คริสต์ศตวรรษที่ 13 รูปพญานกในปกรณัมเปอร์เซีย มีลักษณะเช่นเดียวกับภาพหงส์ (ฟ่งหวง) ในศิลปะจีน
ภาพ : The Metropolitan Museum of Art

จากการสืบค้นประวัติของมัสยิดในประเทศไทยหลายแห่ง พบว่ามัสยิดจำนวนไม่น้อยที่สร้างโดยช่างชาวจีน ชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง จึงไม่แคล้วที่จะฝากรอยทางแห่งสุนทรียะและความเชื่อของตนลงในมัสยิดที่ตนสร้าง ในอีกทางหนึ่ง มุสลิมในประเทศไทยเองก็คงรับเอาลวดลายของศิลปะจีนที่พบตามอาคารต่างๆ ในประเทศไทยมาใช้ตกแต่งมัสยิดเช่นกัน โดยเลือกใช้ลายมงคลที่มีรูปทรงและความหมายที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม ลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนที่พบมากในมัสยิดในประเทศไทย ได้แก่ ลายสวัสดิกะ ลายดอกบัว ลายรูปแจกันดอกไม้ และลายอายุวัฒนะ 

ลายสวัสดิกะ ตามคติของศาสนาพุทธนิกายมหายานนั้น สวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์ของนิรันดรกาล ชาวจีนรับลายนี้มาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง ลายสวัสดิกะพบตกแต่งอยู่ตามเหนือช่องหน้าต่างและประตูทางเข้าสู่โถงละหมาดของมัสยิดไม้เก่าแก่ในภาคใต้ ตัวลายถูกจัดวางอย่างต่อเนื่องกัน จนดูคล้ายกับว่าจะหาจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดไม่ได้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าลายสวัสดิกะภายในมัสยิดเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร อาจจะหมายถึงพลานุภาพของพระเจ้าที่แผ่ขยายออกไปอย่างไร้ขอบเขตก็เป็นได้ และลักษณะของลายสวัสดิกะก็ดูสอดคล้องกับลายเรขาคณิตของศิลปะอิสลาม จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่างนำลายดังกล่าวมาตกแต่งมัสยิด

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ลายสวัสดิกะบนประตูทางเข้าโถงละหมาดของมัสยิดตะโละมาเนาะ จังหวัดนราธิวาส 
และลายสวัสดิกะเหนือช่องประตูของมัสยิดอัตตะอาวุน จังหวัดปัตตานี หลังเดิม

ลายดอกบัว ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์และเป็นหนึ่งในลายมงคล 8 ประการในความเชื่อของชาวจีน บัวที่พ้นผิวน้ำยังเปรียบเสมือนปัญญาของผู้ที่มีสัมมาทิฎฐิ บรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างลายดอกบัวในมัสยิด เช่น ลายดอกบัวบนพนักพิงของมิมบัร (ธรรมาสน์) ของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ 

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ลายดอกบัวบนพนักพิงของมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ
ภาพ : สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
เทียบกับรูปดอกบัวแบบศิลปะจีนจากจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดปรินายกวรวิหาร กรุงเทพฯ
ภาพ : ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ลายรูปแจกันดอกไม้ เป็นรูปแจกันทรงผอมสูง มีดอกไม้ปักอยู่ด้านใน โดยรวมดูคล้ายลายเครื่องตั้งของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน ลายเครื่องตั้งเป็นภาพสิ่งของที่ตั้งบนโต๊ะสำหรับการบูชา เช่น แจกัน เชิงเทียน กระถางธูป พานดอกไม้ และสิ่งของที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล นิยมใช้เขียนประดับฝาผนังหรือบานหน้าต่างในวัดหรือพระราชวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นายช่างที่สร้างมัสยิดคงได้เห็นลายเครื่องตั้งในวัดวาอารามต่างๆ จึงนำมาดัดแปลงเป็นลายประดับในมัสยิด เช่น ลายรูปแจกันดอกไม้ที่เรียงรายอยู่ตลอดผิวด้านข้างมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ 

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
รูปแจกันดอกไม้ที่ด้านข้างของมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ
เทียบกับรูปแจกันในภาพเครื่องตั้งบนพื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างภายในวัดภคินีนาถวรวิหาร กรุงเทพฯ
ภาพ : ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ลายอายุวัฒนะ ลายอายุวัฒนะคือตัวอักษร ‘ซิ่ว’ ในสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ‘โซ่ว’ ในสำเนียงจีนกลาง เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความอายุยืน ลายอายุวัฒนะนี้พบเป็นส่วนประกอบของรูปแจกันที่ประดับด้านข้างของมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ และตามช่องประตู หน้าต่าง และราวระเบียงของอาคารละหมาดสำหรับสตรีของมัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ 

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ลายอายุวัฒนะที่ด้านข้างของของมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ลายอายุวัฒนะตามส่วนต่างๆ ของอาคารละหมาดสำหรับสตรีของมัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์
(ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่

ลวดลายที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกลิ่นอายอันบางเบาเท่านั้น ศิลปะจากแดนมังกรในศาสนสถานของมุสลิมในประเทศไทยฉบับเต็มนั้นพบในมัสยิดของมุสลิมเชื้อสายจีนในภาคเหนือ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและลวดลายแบบจีนของมัสยิดเหล่านี้ มิได้ถูกรังสรรค์ขึ้นเพียงเพื่อเสริมความงามให้แก่ตัวอาคารเท่านั้น แต่ยังเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวจีนมุสลิมในภาคเหนืออีกด้วย เพราะมัสยิดเหล่านี้สร้างขึ้นจากแนวคิดของชาวจีนมุสลิมที่มีทั้งความเป็น ‘ชาวจีน’ และความเป็น ‘มุสลิม’ ในขณะเดียวกัน มัสยิดของชาวจีนมุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทย จึงเป็นผลผลิตของการประสานกันระหว่างวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมจีนที่มีรูปแบบเฉพาะตนที่น่าสนใจ

ความเป็น ‘จีนมุสลิม’ ที่ปรากฏในมัสยิดในภาคเหนือนั้นเริ่มตั้งแต่คำที่ใช้เรียกมัสยิด ชาวจีนมุสลิมเรียกมัสยิดว่า ‘ชิงเจินซื่อ’ หมายถึงสถานที่อันบริสุทธิ์และแท้จริง เป็นคำที่ใช้เรียกวัดในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 – 1450) แต่ชาวจีนมุสลิมนำคำนี้มาใช้กำหนดเรียกศาสนสถานของตน คำว่า ‘ชิงเจินซื่อ’ พบได้ตามป้ายชื่อของมัสยิดเก่าแก่ในภาคเหนือ

ส่วนลักษณะของตัวอาคาร ชาวจีนมุสลิมนำสถาปัตยกรรมจีนประเพณีและมัสยิดตามเมืองใหญ่ในประเทศจีนมาเป็นต้นแบบ เช่น มัสยิดดารุ้ลอามาน จังหวัดเชียงราย ที่หลังคาปลายโค้ง และมีมินาเรต (หออะซาน) ที่ลดทอนรูปทรงมาจากเจดีย์จีน อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ อาคารละหมาดสำหรับสุภาพสตรีที่มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากมัสยิดในปักกิ่งและกวางโจว เป็นอาคาร 2 ชั้นคลุมด้วยหลังคาปลายโค้ง ส่วนปลายของหลังคาปรากฏลายคลื่นน้ำที่ใช้เป็นเครื่องรางป้องกันอัคคีภัย ตามประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลายอายุวัฒนะ ร่องรอยของศิลปะจีนยังเห็นได้จากการตกแต่งมัสยิดด้วยอักษรอาหรับวิจิตรสไตล์จีนที่เรียกว่า ซื่อหนี (Sini) อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าศิลปะจีนในศาสนสถานของมุสลิมในประเทศไทย แสดงถึงความยืนหยุ่นของศาสนาอิสลามและความสามารถของมุสลิมในการปรับตัวให้เข้ากับครรลองของสังคมไทย มุสลิมในประเทศไทยเปิดรับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนามาปรับใช้กับงานศิลปะของตน ก่อให้เกิด ‘มังกรในจันทร์เสี้ยว’ หรือศิลปะอิสลามในประเทศไทยรูปแบบใหม่ที่มีเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง

ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
คำว่า ชิงเจินซื่อ เหนือประตูทางเข้าของมัสยิดเฮดายาตุ้ลอิสลาม (บ้านฮ่อ) จังหวัดเชียงใหม่
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
มัสยิดดารุ้ลอามาน จังหวัดเชียงราย
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
อาคารละหมาดสำหรับสุภาพสตรีที่มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ เทียบกับมัสยิดแห่งหนึ่งในกวางโจว 
(ภาพ : ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา)
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ลายคลื่นน้ำที่ปลายหลังคาของอาคารละหมาดสำหรับสุภาพสตรีที่มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์
(ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ 
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
ทำไม มัสยิดไทย มีลายสวัสดิกะ ดอกบัว และลายอายุวัฒนะแบบศิลปะจีน
อักษรซื่อหนีภายในซุ้มชุมทิศของเฮดายาตุ้ลอิสลาม (บ้านฮ่อ)
และภายในซุ้มชุมทิศของมัสยิดอัตตักวา จังหวัดเชียงใหม่

ข้อมูลอ้างอิง

  • วสมน สาณะเสน, “การแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทยมุสลิมผ่านทางสถาปัตยกรรมมัสยิด,” วารสารศิลป์ พีระศรี ฉบับที่ 2 ปีที่ 6 (มีนาคม 2562), น. 196-222.
  • วิไลรัตน์ ยังรอต, “ภาพ”เครื่องตั้ง”จิตรกรรมพุทธบูชาในสมัยรัชกาลที่ 3,” เมืองโบราณ ฉบับที่ 3 ปีที่ 22 (กรกฎาคม-กันยายน 2539), น. 81-88.
  • สุชาติ เศรษฐมาลินี (บรรณาธิการ), มุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทย ประวัติความเป็นมาและวิถีวัฒนธรรม (เชียงใหม่: ครองช่าง), 2554.
  • สัมภาษณ์คุณชุมพล ศรีสมบัติ (นักข่าวพลเมือง) และคุณรัฐเขตต์ มาลัยศิลป์ (ผู้ออกแบบอาคารละหมาดสำหรับสตรี มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่) 
  • Madonna Gauding, The Signs and Symbols Bible: The definitive guide to the world of symbols (London: Octopus), 2009. 
  • Yang Guiping, Islamic Art in China (n.p.: China Intercontinental Press), 2013.

Writer & Photographer

วสมน สาณะเสน

วสมน สาณะเสน

บัณฑิตตุรกี นักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง