The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย
ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมาช้านานแล้ว ทั้งชาวจีนที่เป็นมุสลิมและที่มิใช่มุสลิม ชาวจีนกลุ่มที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย คือลูกหลานของแรงงานจีนที่อพยพเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ระหว่าง พ.ศ. 2423 – 2433 ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือ ประกอบด้วยกลุ่มพ่อค้าจากมณฑลยูนนานที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนมุสลิมที่หลบหนีการสังหารหมู่มุสลิมในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2416 และกลุ่มทหารจีนคณะชาติที่หลบหนีกองทัพของคณะปฏิวัติเข้ามาในบริเวณชายแดนไทย-พม่าเมื่อราว พ.ศ. 2492

ภาพ : สุเทพ สุนทรเภสัช
เมื่อสืบประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและชาวมุสลิม แดนมังกรเป็นดินแดนที่เจริญมาช้านานและเป็นหนึ่งในอู่อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของโลกตะวันออก ความเรืองรองของจีนส่งผลให้แว่นแคว้นน้อยใหญ่ต่างเข้ามาเจริญสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจักรพรรดิจีน มุสลิมติดต่อกับชาวจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายก็เพิ่มขึ้น เมื่อชาวมองโกลเข้ามาครอบครองเอเชียกลางใน พ.ศ. 1822
ศิลปวัฒนธรรมจีนจึงหลั่งไหลเข้ามายังโลกมุสลิม เครื่องลายครามของจีนกลายเป็นของสะสมราคาแพงที่บรรดาสุลต่านต่างหามาไว้ในครอบครองเพื่อแสดงฐานะและรสนิยม ลวดลายบนเครื่องถ้วยและในจิตรกรรมจีนก็โลดแล่นอยู่ในงานประณีตศิลป์ของมุสลิมมาหลายศตวรรษ

ภาพ : The Metropolitan Museum of Art
จากการสืบค้นประวัติของมัสยิดในประเทศไทยหลายแห่ง พบว่ามัสยิดจำนวนไม่น้อยที่สร้างโดยช่างชาวจีน ชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง จึงไม่แคล้วที่จะฝากรอยทางแห่งสุนทรียะและความเชื่อของตนลงในมัสยิดที่ตนสร้าง ในอีกทางหนึ่ง มุสลิมในประเทศไทยเองก็คงรับเอาลวดลายของศิลปะจีนที่พบตามอาคารต่างๆ ในประเทศไทยมาใช้ตกแต่งมัสยิดเช่นกัน โดยเลือกใช้ลายมงคลที่มีรูปทรงและความหมายที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม ลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนที่พบมากในมัสยิดในประเทศไทย ได้แก่ ลายสวัสดิกะ ลายดอกบัว ลายรูปแจกันดอกไม้ และลายอายุวัฒนะ
ลายสวัสดิกะ ตามคติของศาสนาพุทธนิกายมหายานนั้น สวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์ของนิรันดรกาล ชาวจีนรับลายนี้มาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง ลายสวัสดิกะพบตกแต่งอยู่ตามเหนือช่องหน้าต่างและประตูทางเข้าสู่โถงละหมาดของมัสยิดไม้เก่าแก่ในภาคใต้ ตัวลายถูกจัดวางอย่างต่อเนื่องกัน จนดูคล้ายกับว่าจะหาจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดไม่ได้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าลายสวัสดิกะภายในมัสยิดเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร อาจจะหมายถึงพลานุภาพของพระเจ้าที่แผ่ขยายออกไปอย่างไร้ขอบเขตก็เป็นได้ และลักษณะของลายสวัสดิกะก็ดูสอดคล้องกับลายเรขาคณิตของศิลปะอิสลาม จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่างนำลายดังกล่าวมาตกแต่งมัสยิด


และลายสวัสดิกะเหนือช่องประตูของมัสยิดอัตตะอาวุน จังหวัดปัตตานี หลังเดิม
ลายดอกบัว ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์และเป็นหนึ่งในลายมงคล 8 ประการในความเชื่อของชาวจีน บัวที่พ้นผิวน้ำยังเปรียบเสมือนปัญญาของผู้ที่มีสัมมาทิฎฐิ บรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างลายดอกบัวในมัสยิด เช่น ลายดอกบัวบนพนักพิงของมิมบัร (ธรรมาสน์) ของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ

ภาพ : สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย

ภาพ : ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
ลายรูปแจกันดอกไม้ เป็นรูปแจกันทรงผอมสูง มีดอกไม้ปักอยู่ด้านใน โดยรวมดูคล้ายลายเครื่องตั้งของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน ลายเครื่องตั้งเป็นภาพสิ่งของที่ตั้งบนโต๊ะสำหรับการบูชา เช่น แจกัน เชิงเทียน กระถางธูป พานดอกไม้ และสิ่งของที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล นิยมใช้เขียนประดับฝาผนังหรือบานหน้าต่างในวัดหรือพระราชวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นายช่างที่สร้างมัสยิดคงได้เห็นลายเครื่องตั้งในวัดวาอารามต่างๆ จึงนำมาดัดแปลงเป็นลายประดับในมัสยิด เช่น ลายรูปแจกันดอกไม้ที่เรียงรายอยู่ตลอดผิวด้านข้างมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ



เทียบกับรูปแจกันในภาพเครื่องตั้งบนพื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างภายในวัดภคินีนาถวรวิหาร กรุงเทพฯ
ภาพ : ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
ลายอายุวัฒนะ ลายอายุวัฒนะคือตัวอักษร ‘ซิ่ว’ ในสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ‘โซ่ว’ ในสำเนียงจีนกลาง เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความอายุยืน ลายอายุวัฒนะนี้พบเป็นส่วนประกอบของรูปแจกันที่ประดับด้านข้างของมิมบัรของมัสยิดมหานาค กรุงเทพฯ และตามช่องประตู หน้าต่าง และราวระเบียงของอาคารละหมาดสำหรับสตรีของมัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่


(ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่
ลวดลายที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกลิ่นอายอันบางเบาเท่านั้น ศิลปะจากแดนมังกรในศาสนสถานของมุสลิมในประเทศไทยฉบับเต็มนั้นพบในมัสยิดของมุสลิมเชื้อสายจีนในภาคเหนือ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและลวดลายแบบจีนของมัสยิดเหล่านี้ มิได้ถูกรังสรรค์ขึ้นเพียงเพื่อเสริมความงามให้แก่ตัวอาคารเท่านั้น แต่ยังเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวจีนมุสลิมในภาคเหนืออีกด้วย เพราะมัสยิดเหล่านี้สร้างขึ้นจากแนวคิดของชาวจีนมุสลิมที่มีทั้งความเป็น ‘ชาวจีน’ และความเป็น ‘มุสลิม’ ในขณะเดียวกัน มัสยิดของชาวจีนมุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทย จึงเป็นผลผลิตของการประสานกันระหว่างวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมจีนที่มีรูปแบบเฉพาะตนที่น่าสนใจ
ความเป็น ‘จีนมุสลิม’ ที่ปรากฏในมัสยิดในภาคเหนือนั้นเริ่มตั้งแต่คำที่ใช้เรียกมัสยิด ชาวจีนมุสลิมเรียกมัสยิดว่า ‘ชิงเจินซื่อ’ หมายถึงสถานที่อันบริสุทธิ์และแท้จริง เป็นคำที่ใช้เรียกวัดในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 – 1450) แต่ชาวจีนมุสลิมนำคำนี้มาใช้กำหนดเรียกศาสนสถานของตน คำว่า ‘ชิงเจินซื่อ’ พบได้ตามป้ายชื่อของมัสยิดเก่าแก่ในภาคเหนือ
ส่วนลักษณะของตัวอาคาร ชาวจีนมุสลิมนำสถาปัตยกรรมจีนประเพณีและมัสยิดตามเมืองใหญ่ในประเทศจีนมาเป็นต้นแบบ เช่น มัสยิดดารุ้ลอามาน จังหวัดเชียงราย ที่หลังคาปลายโค้ง และมีมินาเรต (หออะซาน) ที่ลดทอนรูปทรงมาจากเจดีย์จีน อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ อาคารละหมาดสำหรับสุภาพสตรีที่มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากมัสยิดในปักกิ่งและกวางโจว เป็นอาคาร 2 ชั้นคลุมด้วยหลังคาปลายโค้ง ส่วนปลายของหลังคาปรากฏลายคลื่นน้ำที่ใช้เป็นเครื่องรางป้องกันอัคคีภัย ตามประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลายอายุวัฒนะ ร่องรอยของศิลปะจีนยังเห็นได้จากการตกแต่งมัสยิดด้วยอักษรอาหรับวิจิตรสไตล์จีนที่เรียกว่า ซื่อหนี (Sini) อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าศิลปะจีนในศาสนสถานของมุสลิมในประเทศไทย แสดงถึงความยืนหยุ่นของศาสนาอิสลามและความสามารถของมุสลิมในการปรับตัวให้เข้ากับครรลองของสังคมไทย มุสลิมในประเทศไทยเปิดรับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนามาปรับใช้กับงานศิลปะของตน ก่อให้เกิด ‘มังกรในจันทร์เสี้ยว’ หรือศิลปะอิสลามในประเทศไทยรูปแบบใหม่ที่มีเสน่ห์เป็นอย่างยิ่ง




(ภาพ : ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา)

(ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่


และภายในซุ้มชุมทิศของมัสยิดอัตตักวา จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลอ้างอิง
- วสมน สาณะเสน, “การแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทยมุสลิมผ่านทางสถาปัตยกรรมมัสยิด,” วารสารศิลป์ พีระศรี ฉบับที่ 2 ปีที่ 6 (มีนาคม 2562), น. 196-222.
- วิไลรัตน์ ยังรอต, “ภาพ”เครื่องตั้ง”จิตรกรรมพุทธบูชาในสมัยรัชกาลที่ 3,” เมืองโบราณ ฉบับที่ 3 ปีที่ 22 (กรกฎาคม-กันยายน 2539), น. 81-88.
- สุชาติ เศรษฐมาลินี (บรรณาธิการ), มุสลิมในภาคเหนือของประเทศไทย ประวัติความเป็นมาและวิถีวัฒนธรรม (เชียงใหม่: ครองช่าง), 2554.
- สัมภาษณ์คุณชุมพล ศรีสมบัติ (นักข่าวพลเมือง) และคุณรัฐเขตต์ มาลัยศิลป์ (ผู้ออกแบบอาคารละหมาดสำหรับสตรี มัสยิดอัรเราะฮ์มะฮ์ (ท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่)
- Madonna Gauding, The Signs and Symbols Bible: The definitive guide to the world of symbols (London: Octopus), 2009.
- Yang Guiping, Islamic Art in China (n.p.: China Intercontinental Press), 2013.