18 มิถุนายน 2022
22 K

The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

“ศูนย์กลางไชนาทาวน์กรุงเทพฯ อยู่ที่ไหน”

คนยุคนี้คงตอบว่า ‘เยาวราช’ ด้วยความชินชาต่อภาพความพลุกพล่านของท้องถนนอันลานตาไปด้วยรถรา การค้าขาย ผู้คนสัญจรขวักไขว่ใต้ป้ายไฟภาษาจีน

แต่ถ้าเป็นคนยุคเก่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่รุ่นอาเตี่ย อาม้า คำตอบของเขาอาจเป็น ‘สำเพ็ง’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ซอยวานิช 1’ ถนนสายแคบที่ทอดขนานแนวลำน้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของธุรกิจการค้าและบ้านช่องของชาวจีน มาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ซึ่งหมายความว่ามีมาก่อนถนนเยาวราชที่เริ่มตัดใน พ.ศ. 2435 นานถึง 110 ปี

ในช่วงอายุ 130 ปีของเยาวราช กับ 240 ปี ของสำเพ็ง ร้านรวงมากมายเริ่มเปิดกิจการขึ้นในย่านนี้ บางกิจการล้มหายตายจากไปพร้อมกับชีวิตเจ้าของ บางแห่งโยกย้ายไปยังทำเลที่ตั้งใหม่ บ้างปรับเปลี่ยนสินค้าหรือวิธีดำเนินธุรกิจตามความนิยมของสังคมซึ่งแปรผันไป ขณะที่อีกหลายร้านยังตั้งมั่นอยู่ที่เก่า ค้าขายสินค้าดั้งเดิมเพื่อสานต่อตำนานชื่อร้านของปู่ย่าตายายจวบจนวันนี้

คอลัมน์ Take Me Out พาผู้อ่านทุกเพศทุกวัยเจาะเวลาหาอดีตอันเรืองรองของไชนาทาวน์กรุงเทพฯ จากร้านค้าเก่าแก่ทั้ง 7 แห่ง ตามลายแทงของพ่อค้าเชือกผู้เรียกสำเพ็ง-เยาวราชว่า ‘บ้าน’ มาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

01
ใจ่หลี

ห้องแถวแคบสุดในสำเพ็งที่ไม่น่าเชื่อว่าขายอุปกรณ์การเกษตรเพียบ

ใจ่หลี ห้องแถวแคบสุดในสำเพ็งที่ไม่น่าเชื่อว่าขายอุปกรณ์การเกษตรเพียบ

‘แคบ’ คือคำคุณศัพท์คำแรกที่ทุกคนน่าจะนึกเหมือนกันยามเห็นร้านนี้เป็นครั้งแรก

ด้านกว้างซึ่งมีเนื้อที่เพียงให้ผู้ใหญ่เดินผ่านได้ทีละคน หากเดินสวนกันต้องมีฝ่ายหนึ่งเอี้ยวตัวหลบ ทำให้ห้องแถวคูหานี้ครองรางวัลห้องแถวที่แคบที่สุดในย่านสำเพ็งได้อย่างปราศจากคู่ท้าชิง

ใจ่หลี ห้องแถวแคบสุดในสำเพ็งที่ไม่น่าเชื่อว่าขายอุปกรณ์การเกษตรเพียบ

หากมองผ่าน ๆ ตา ห้องแถวชั้นเดียวตรงนี้ดูเหมือนทางเดินระหว่างซอกตึก ซึ่งพบได้ตามย่านตึกแถวทั่วไป แต่เชื่อหรือไม่ว่าหลังประตูไม้บานเล็กคู่นี้ถูกใช้เป็นร้านขายด้ามจอบ พลั่ว เสียม อุปกรณ์การเกษตรและก่อสร้างอีกสารพัดชนิด ภายใต้ป้าย ‘ใจ่หลี 再利’ ที่ อากงเซียะโพ่ว แซ่บุ๊ง และ อาม่าฉุ่งฮ้อ แซ่ตั๊ง พากันมาเปิดตั้งแต่ 50 – 60 ปีก่อน

ใครกำลังมองหาจอบ เสียม หรืออุปกรณ์การเกษตรอื่นใด อย่าเพิ่งสบประมาทว่าร้านแคบแค่นี้จะมีของที่คุณต้องการขายหรือ เพราะแม้ด้านหน้าจะดูแคบ แต่ด้านในกลับลึกจนมีพื้นที่จุสินค้าได้เหลือเฟือ 

ดูจากปริมาณสินค้าที่รถส่งของนำมาลงแต่ละเที่ยว ก็การันตีความจิ๋วแต่แจ๋วของร้านนี้ได้ดียิ่งกว่าคำโฆษณาใด ๆ แล้ว

ใจ่หลี

ที่ตั้ง : 625/1 ซอยวานิช 1 แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ไม่แน่นอนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

โทรศัพท์ : 0 2222 2438, 08 7806 6732

02
บ้วนฮวด

กว้างกว่าใจ่หลีนิดหน่อย ขายตะกาวที่ใช้แบกกระสอบ

บ้วนฮวด กว้างกว่าใจ่หลีนิดหน่อย ขายตะกาวที่ใช้แบกกระสอบ

ไม่กี่ช่วงก้าวจากร้านแคบเป็นอันดับหนึ่ง ก็มาถึงร้านแคบเป็นอันดับสอง

‘บ้วนฮวด 萬發’ คือชื่อที่ปรากฏตามป้ายหน้าร้านนี้ อีกหนึ่งร้านห้องแถวที่สร้างขึ้นจากที่ว่างซอกตึก เช่นเดียวกับห้องแถวอีกหลายแห่งในสำเพ็ง-เยาวราช ซึ่งพื้นที่ทุกตารางเมตรมีใช้สอยอย่างจำกัด

บ้วนฮวด กว้างกว่าใจ่หลีนิดหน่อย ขายตะกาวที่ใช้แบกกระสอบ

ข้าวของที่ร้านนี้จำหน่าย ประกอบด้วยอุปกรณ์จำพวกตะกาวหรือตะขอที่มีด้ามจับ มีไว้ใช้เกี่ยวและแบกกระสอบ เป็นเครื่องใช้ที่จำเป็นในย่านนี้ ด้วยเหตุที่ในอดีตริมถนนทรงวาดซึ่งอยู่ถัดไปจากสำเพ็ง มีท่าน้ำที่ใช้ลำเลียงกระสอบข้าว ร้านค้าบนถนนแถวนี้จึงขายพืชผลทางการเกษตรมากมาย 

ตะกาวที่ร้านบ้วนฮวดขายมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน หากใช้เกี่ยวกระสอบข้าวสารที่มีขนาดใหญ่และหนัก ก็ต้องใช้ตะกาวไซส์ใหญ่แต่สั้น หรือหากจะใช้เกี่ยวกระสอบที่เบาลงมา ก็ต้องใช้ตะกาวยาวที่เหมาะสมกับของที่ใช้ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เป็นต้น

บ้วนฮวด

ที่ตั้ง : 641 ซอยวานิช 1 แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ไม่แน่นอนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

โทรศัพท์ : 0 2225 1526

03
ร้านขายยาไทย ฮกสูนตึ๊ง ตรากระต่ายคู่

ร้านคนจีนขายยาไทย

ร้านขายยาไทย ฮกสูนติ้ง ตรากระต่ายคู่ ร้านคนจีนขายยาไทย

ประมาณ 50 ปีก่อน สำเพ็งในสมัยนั้นเป็นย่านที่ใครพูดภาษาไทยจะกลายเป็นต่างด้าวในความรู้สึกของคนในพื้นที่ไปทันตา ถึงอย่างนั้นซอยวานิช 1 ก็ยังมีร้านขายยาไทย (แต่ชื่อจีน) อยู่ 1 แห่ง คือร้าน ‘ฮกสูนตึ๊ง ตรากระต่ายคู่’ ที่ขายทั้งสมุนไพรไทยและจีนในร้านเดียว

ร้านขายยาไทย ฮกสูนติ้ง ตรากระต่ายคู่ ร้านคนจีนขายยาไทย

นอกจากยาไทยแล้ว ห้องแถว 2 ห้องนี้ยังขายเครื่องแกงและเครื่องเทศที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างผักชี ยี่หร่า และขมิ้นชัน เรียกว่าเป็นร้านค้าเก่าแก่เพียงไม่กี่ร้านที่ชาวสำเพ็งในอดีตจะซื้อหายารักษาโรค สมุนไพร และเครื่องเทศเครื่องแกงอย่างคนไทยได้ โดยไม่ต้องย่างกรายไปนอกละแวกบ้านของพวกตน

ร้านขายยาไทย ฮกสูนตึ๊ง ตรากระต่ายคู่

ที่ตั้ง : 531-533 ซอยวานิช 1 แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. ปิดทุกวันอาทิตย์

โทรศัพท์ : 0 2221 2426

04
ศิริภัณฑ์โอสถ (เชี่ยงอันตึ๊ง)

ร้านยาจีนที่คงสภาพเดิมไว้เหมือนตอนเปิดกิจการ

ศิริภัณฑ์โอสถ (เชี่ยงอันตึ๊ง) ร้านยาจีนที่คงสภาพเดิมไว้เหมือนตอนเปิดกิจการ

ห้างร้านที่พบได้มากที่สุดในสำเพ็งยุคเก่า ได้แก่ ร้านขายยาจีนและร้านโพยก๊วน กิจการทั้งสองอย่างนี้ สะท้อนสิ่งที่ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยให้ความสำคัญได้เป็นอย่างดี กล่าวคือร้านยามีไว้รักษาทุกอาการเจ็บป่วย ขณะที่ร้านโพยก๊วนมีไว้ใช้บริการโอนเงินกลับบ้านเกิดที่เมืองจีน

ตัวอย่าง ‘ศิริภัณฑ์โอสถ (เชี่ยงอันตึ๊ง)’ ร้านยาจีนที่จดทะเบียนนิติบุคคลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 โดย อากงฮุยจั๊ว แซ่อั๊ง อดีตลูกจ้างร้านไต้อันตึ๊ง ร้านขายยารุ่นเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัย ดร.ซุน ยัตเซ็น เดินทางเยือนสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ศิริภัณฑ์โอสถ (เชี่ยงอันตึ๊ง) ร้านยาจีนที่คงสภาพเดิมไว้เหมือนตอนเปิดกิจการ

ปัจจุบันร้านศิริภัณฑ์โอสถได้รับการสานต่อโดย เภสัชกรหญิงมุกดา หงไพศาล หลานสาวผู้ก่อตั้ง วันเวลาที่ล่วงเลยมานานกว่า 60 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มกิจการแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพร้านจากเดิมเลย เพราะที่นี่ยังมีตู้ยาจีนแบบดั้งเดิม ตาชั่งยา รวมถึงยาจีนนานาชนิด ทั้งยาบำรุงและยาต้ม แม้แต่ชื่อยานำเข้าที่ไม่คุ้นหูสำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่าง ‘ชวนป๋วยปี่แป่กอ’ และ ‘ชวนป๋วยปี่แป่โหล่ว’ ก็ยังเป็นสินค้าสำคัญประจำร้านที่มีพร้อมให้ลูกค้าซื้อไปบรรเทาอาการเจ็บคอได้ทุกเมื่อ

ศิริภัณฑ์โอสถ (เชี่ยงอันตึ๊ง)

ที่ตั้ง : 466 ซอยวานิช 1 แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. ปิดทุกวันอาทิตย์

โทรศัพท์ : 0 2222 2502

05
เชี่ยงปู่

ร้านผลไม้ผู้บุกเบิกการนำเข้าเกาลัดสู่แผ่นดินไทย

เชี่ยงปู่ ร้านผลไม้ผู้บุกเบิกการนำเข้าเกาลัดสู่แผ่นดินไทย

ทะลุซอกซอยจากสำเพ็งมาถึงถนนเยาวราชที่ควันไฟคลุ้งโขมงตลอดสองฝั่งทาง คล้ายจะบอกให้รู้ว่าที่นี่คืออาณาเขตของรถเข็นและแผงลอยขายเกาลัด

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเกาลัดที่เดี๋ยวนี้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าพากันคั่วขายเป็นล่ำเป็นสัน มีต้นตอมาจากร้าน ‘เชี่ยงปู่’ แผงขายผลไม้อันมีพืชผลนำเข้าอวดโฉมแน่นขนัดที่ปากทางเข้าตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ย

ธนกฤติ อังสุปาลี เจ้าของร้านคนรุ่นใหม่เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ร้านนี้เปิดมานานกว่า 80 ปีแล้ว โดยการร่วมทุนกันของ 2 หุ้นส่วน ชื่อ เชี่ยงจั๊ว และ หย่งปู่ จึงนำชื่อของทั้งคู่มาผสมคำกันเป็น ‘เชี่ยงปู่ (长富)’ มีความหมายว่า มั่งคั่งยืนยง

แรกเริ่มเดิมที ร้านเชี่ยงปู่เน้นขายแค่ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ลิ้นจี่และแอปเปิล ถือเป็นของขวัญราคาแพงสำหรับคนจีน กระทั่งอากงเชี่ยงจั๊วหัวใส ได้ความคิดว่าจะนำเกาลัดเข้ามาขาย เพื่อให้คนละทิ้งแผ่นดินใหญ่ได้คลายความคิดถึงบ้านเกิด ต่อแต่นั้นมาร้านนี้ก็ได้เป็นผู้นำเทรนด์นำเข้าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเกาลัด ทั้งเมล็ดเกาลัด เครื่องคั่ว ที่แกะ และนวัตกรรมที่ช่วยถนอมอายุเกาลัดให้มีกินได้ตลอดทั้งปี แทนที่จะออกผลแค่เดือนตุลาคม และเก็บได้แค่ราว 4 เดือนตามธรรมชาติของเกาลัด

เชี่ยงปู่

ที่ตั้ง : 293/1 ถนนเยาวราช ปากซอยเยาวราช 6 (อิสรานุภาพ) แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

โทรศัพท์ : 0 2222 2219, 08 9445 4544

06
ลิ่มงี่เฮียง

ต้นตำรับหมูแผ่นสยามประเทศ

ลิ่มงี่เฮียง ต้นตำรับหมูแผ่นสยามประเทศ

ตึกแถว 3 ห้องริมถนนเยาวราช จุดที่คึกคักตลอดวัน เป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปที่มีอายุกว่า 100 ปี ‘ลิ่มงี่เฮียง 林宜香’ ซึ่งขนานนามตามชื่อของ อากงงี่เฮียง แซ่ลิ้ม ผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ วาสนา ธนาสุนทรารัตน์ ทายาทรุ่นสามที่ยังเดินหน้าสืบสานตำนานร้านต่อไป

ถ้าหากคุณถวิลหารสชาติอันโอชะของหมูแผ่นบางกรอบ อย่าได้ลังเลที่จะมาเยี่ยมเยือนร้านนี้สักครั้ง เพราะนี่คือร้านแรกที่ริเริ่มทำหมูแผ่นทอดกรอบขายในเมืองไทย ยืนยันได้จากสโลแกนที่มักห้อยท้ายชื่อร้านว่า ‘ลิ่มงี่เฮียง หมูแผ่นแห่งแรกในประเทศไทย’

ลิ่มงี่เฮียง ต้นตำรับหมูแผ่นสยามประเทศ

บรรจุภัณฑ์ของร้านสวยงามมีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะฝากล่องพิมพ์รูปวาด ‘สุพรรณหงส์หน้าพระปรางค์วัดอรุณฯ’ บอกถิ่นที่ตั้งร้าน ในอดีตเคยเป็นของฝากยอดฮิตที่ดังไกลถึงต่างแดน ชนิดที่ชาวต่างชาติ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จำเป็นต้องซื้อเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขาได้เหยียบย่างมาถึงไชนาทาวน์กรุงเทพฯ แล้ว

ในร้านที่หมูหย็อง หมูแผ่น กุนเชียง หมูเส้นกรอบ หมูพริกไทยดำ หมูหวาน หมูทุบ และอีกหลายหมูดูละลานตาจนยากจะไล่เรียงได้หมด สิ่งที่ดึงดูดสายตาลูกค้าผู้มาเยือนร้านลิ่มงี่เฮียงไม่แพ้สินค้าที่ขาย คือความโอ่อ่าของงานตกแต่งที่ฝังตัวอยู่ทั่วทุกมุมห้อง ตั้งแต่เคาน์เตอร์ ตู้โชว์เครื่องลายคราม จนถึงผนังแต่ละด้าน ให้ความรู้สึกราวกับอยู่ในจวนขุนนางจีนโบราณมากกว่าอยู่ในร้านขายของ

ลิ่มงี่เฮียง ต้นตำรับหมูแผ่นสยามประเทศ

งานไม้แกะสลักที่ประดับไว้ในร้านไม่ใช่ของเพิ่งทำใหม่ แต่เป็นของเก่าแก่อายุราว 40 – 50 ปีโดยประมาณ ข้อความภาษาจีนทั้งหมดเขียนอย่างประณีตด้วยลายพู่กัน ไม่ใช่กลอนคู่อวยพรอย่างที่หาอ่านได้ในร้านค้าของคนจีนธรรมดา หากเป็นถ้อยคำโฆษณาสรรพคุณอันโดดเด่นของสินค้าที่ทางร้านจำหน่าย เป็นต้นว่า “ไม่มีเนื้อที่ไม่สดใหม่” หรือ “มอบให้เป็นที่ระลึกร้านขายหมูแผ่นแห่งแรกในประเทศไทย”

ลิ้มงี่เฮียง

ที่ตั้ง : 301 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.

โทรศัพท์ : 0 2221 1389

07
ก๊ำหล่ง

ร้านอาหารกวางตุ้งอายุเกินร้อยปีแห่งตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ย

ก๊ำหล่ง ร้านอาหารกวางตุ้งอายุเกินร้อยปีแห่งตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ย

เคลื่อนขบวนจากริมถนนใหญ่มายังซอยอิสรานุภาพ (ตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ย) อันเป็นที่ตั้งของตลาดเก่า ซึ่งยังคงวิถีชีวิตเก่า ๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีนเมื่อหลายสิบปีก่อนไว้เป็นอย่างดี

กว่าครึ่งหนึ่งของตลาดนี้เคยถูกครอบครองโดยชาวจีนกวางตุ้งที่นิยมเลี้ยงชีพด้วยการขายอาหาร ก่อนที่ชาวกวางตุ้งจะทยอยย้ายร้านออกไป เปิดทางให้ชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาจับจองพื้นที่จนแทบไม่เหลือร้านของชาวกวางตุ้ง แต่กระนั้นมรดกสำคัญซึ่งผู้ประกอบการชาวกวางตุ้งทิ้งไว้ให้ตลาดนี้ คือรสชาติอาหารที่ค่อนข้างหวาน กลมกล่อม ไม่สู้เค็มและจืดอย่างรสมือชาวแต้จิ๋ว

ก๊ำหล่ง ร้านอาหารกวางตุ้งอายุเกินร้อยปีแห่งตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ย

‘ก๊ำหล่ง 金隆’ คือประวัติศาสตร์มีชีวิตที่บอกให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ร้านอาหารกวางตุ้งในตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ยมีสภาพเป็นอย่างไร บรรพบุรุษรุ่นแรกเริ่มกิจการร้านนี้มาจากเขตซ้ามยับ (แถบเมืองกว่างโจว) ในมณฑลกวางตุ้งเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปัจจุบันร้านนี้ได้ถูกเปลี่ยนมือเจ้าของมาจนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว

นี่คือร้านที่ลูกจีนนักจับจ่ายหลายคนชอบนึกถึงในช่วงวันไหว้เจ้า เพราะของที่ร้านนี้จำหน่ายมีพร้อมสรรพทั้งวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป อาทิ หมูย่าง หมูแดง เป็ดย่าง ไก่ย่าง กานาฉ่าย โปรตีนเกษตร อาหารเจ

เนื่องจากที่นี่เป็นร้านอาหารแห่งสุดท้ายในตลาดที่ยังต้านทานกระแสสังคม โดยการใช้เตาถ่าน ย่างฟืนแบบโบราณ ส่งผลให้กลิ่นเตาถ่านหอมตลบอบอวลอย่างไม่มีวันหาได้จากเตาไฟฟ้า

ก๊ำหล่ง ร้านอาหารกวางตุ้งอายุเกินร้อยปีแห่งตรอกเหล่งบ่วยเอี๊ย

ถ้ากระเพาะของคุณยังมีที่ว่างเพียงพอ ขอแนะนำให้ลองชิม ‘บ๊ะจ่างกวางตุ้ง’ อันมีรูปทรงผิดแผกจากบ๊ะจ่างแต้จิ๋วในภาพจำของคนไทยส่วนใหญ่อย่างเห็นได้ชัด เพราะนี่คือสินค้าเฉพาะตัวของร้านกวางตุ้งที่หาไม่ได้ง่าย ๆ แล้ว

ก๊ำหล่ง

ที่ตั้ง : 218 ตรอกอิสรานุภาพ ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.

โทรศัพท์ : 0 2224 4056, 09 2442 4662

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writers

Avatar

สมชัย กวางทองพานิชย์

เป็นคนหลงใหลบ้านและชุมชนของตัวเอง

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

สมชัย กวางทองพานิชย์

เป็นคนหลงใหลบ้านและชุมชนของตัวเอง