ในเช้าวันอาทิตย์หนึ่งของเดือนมกราคม 2562 ขณะที่ผมอยู่ในประเทศที่อากาศดี๊ดี แต่ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และอีกหลายเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มกลายเป็นประเด็น ‘ระดับชาติ’

และก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ เพราะพอเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อเปิดโทรศัพท์มือถือจะเช็ก LINE งาน Facebook ก็ขึ้นเตือนภาพเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมในฐานะข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศถูกส่งไปทำงานที่สถานกงสุลใหญ่ของไทยที่นครหนานหนิง ตอนใต้ของประเทศจีน ในภาพนั้นผมกำลังขี่ ‘จักรยานไฟฟ้า’ ไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนอนุบาลท้องถิ่น ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 3 ขวบครับ

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ผมกับลูกสาวบนจักรยานไฟฟ้า

“พวกเราทุกคนล้วนมีส่วนเป็นทั้งต้นเหตุและทางออกของปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษ” ผมกล่าวกับลูกสาวในเย็นวันนั้น

จากนั้นความทรงจำเกี่ยวกับการไปประจำการที่นครหนานหนิงและการตัดสินใจซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันนั้น เพราะนโยบายรัฐบาลจีนซึ่งค่อยๆ นำจักรยานไฟฟ้ามา ‘แทนที่’ รถมอเตอร์ไซค์ในเมืองใหญ่ๆ เพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะ ก็ค่อยๆ ผุดขึ้นมา ซึ่งแม้จะเพียงเลาๆ แต่ก็พอที่จะเล่าให้ลูกสาวฟังได้ครับ

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

จักรยานไฟฟ้า
ภาพ :  www.55jia.net

ด้วยความที่เคยเป็นประเทศปิดและต้องสาละวนอยู่กับปัญหาภายในของตัวเอง พอจะพัฒนาประเทศขึ้นมาจีนจึงต้องประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไหนจะมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมหาศาล ไหนจะเกิดสังคมเมืองจำนวนมากที่มีนักบริโภครวมๆ กันเป็นพันล้านคน และไหนจะมีการก่อสร้างอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ

หากจะเทียบว่าปัญหาของเขาหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน ก็ลองคิดดูครับว่าคนจีนรู้จักและอยู่คู่กับกับน้องฝุ่น PM2.5 มานานนับสิบปี โดยเฉพาะในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเคยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 ราวๆ 200 – 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 50) และบางวันสูงจนปรอทแตก หรือเกิน 500 ที่เครื่องจะวัดได้ ขณะที่คนไทยหลายคนเพิ่งได้รู้จักน้องฝุ่นนี้ก็จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีค่าเฉลี่ย PM2.5 ระหว่าง 60 – 100 กว่าๆ

จำได้ว่าในช่วงนั้นที่ผมอยู่ที่นครหนานหนิง เพื่อนๆ ที่ประจำการอยู่ที่สถานทูตไทยเราที่ปักกิ่งเจอกับปัญหาฝุ่นนี้หลายเดือนต่อเนื่องกัน เพื่อนที่มีลูกเล็กๆ เมื่อครบวาระการทำงานและกลับมาที่ไทย หมอถึงกับออกปากว่า น้องไปทำอะไรมาปอดถึงไม่สะอาด!

ที่เหมือนกับไทยคือ รถที่มีเครื่องยนต์ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ ถูกระบุว่าเป็นตัวการสำคัญของฝุ่นชนิดนี้ครับ แต่ที่ไม่เหมือนไทยเราเท่าไรคือ วิธีที่การบริหารจัดการที่รัฐบาลจีนใช้กับฝุ่นที่เกิดจากไอเสียเครื่องยนต์ครับ โดยของเราเน้นไปที่วิธี ‘ขอความร่วมมือ’ แต่ของเขาใช้วิธี ‘จำกัด’ รถยนต์และ ‘กำจัด’ รถมอเตอร์ไซค์

ในกรณีของรถมอเตอร์ไซค์อ่านไม่ผิดหรอกครับว่าคือการกำจัดที่หมายความว่าขจัดให้หมดไป จีนใช้นโยบายการไม่ต่ออายุใบอนุญาตประจำปีให้รถมอเตอร์ไซค์ในหลายเมืองใหญ่ และห้ามรถมอเตอร์ไซค์วิ่งในเขตเมืองหรือเขตชั้นในของเมืองใหญ่ๆ เหล่านั้นครับ โดยให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นที่เจอปัญหานี้ตัดสินใจเองว่าจะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร และจะใช้เวลากี่ปีในการค่อยๆ ทำให้มอเตอร์ไซค์กลายเป็นของผิดกฎหมายหากมาวิ่งในเขตห้ามมอเตอร์ไซค์

อันที่จริงแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมมิใช่สาเหตุเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลจีนตั้งแง่รังเกียจรังงอนมอเตอร์ไซค์ครับ หากแต่ยังมีเรื่องการใช้มอเตอร์ไซค์เป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะการฉกชิงวิ่งราว และสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย

ตอนที่ผมอยู่ที่หนานหนิงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลท้องถิ่นเขากำลังเริ่มทำตามเมืองใหญ่อื่นๆ ในจีน เช่น กว่างโจว เซินเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประจำปีรถมอเตอร์ไซค์ และไม่ออกทะเบียนให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ซื้อใหม่ ซึ่งหมายความว่าในอีกแค่ 2 – 3 ปีต่อจากนั้น ตัวเมืองหนานหนิงจะเป็นเขตปลอดรถมอเตอร์ไซค์โดยสมบูรณ์

อ่านถึงตรงนี้ หลายท่านคงคิดว่าก็เพราะระบบการปกครองของเขาจีนถึงกำจัดมอเตอร์ไซค์ได้ไม่ยาก และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย ที่รัฐบาลไม่มีอำนาจบังคับเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบนั้นได้

แต่จากข้อเท็จจริง ผิดถนัดครับ เพราะก่อนบังคับใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับมอเตอร์ไซค์เช่นนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจีนได้พัฒนา ‘ทางเลือกอื่นๆ’ ของการใช้มอเตอร์ไซค์ และยังได้ทำประชาพิจารณ์หรือโพลล์เพื่อสำรวจความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วๆ ไปด้วย เข้าใจว่าเพราะรัฐบาลเขาเองก็รู้ดีว่าไม่ว่าจะเป็นระบบการปกครองแบบใด ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย รัฐบาลก็อยู่ได้ยากหรือบังคับใช้กฎนั้นๆ ได้ไม่นาน

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

จักรยานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม
ภาพ :  world.taobao.com

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบนะครับ เพราะแน่นอน การบังคับใช้มาตรการที่กระทบกับคนหมู่มากเช่นนี้ต้องมีคนต่อต้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์และผู้ครอบครองรถมอเตอร์ไซค์โดยทั่วไป (ไม่รู้ว่าจีนมีเด็กแว๊นเหมือนในบางประเทศหรือเปล่า ถ้ามี ก็คงรวมถึงด้วย!) อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลจีนทำได้สำเร็จคือการทำให้คนส่วนใหญ่เห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการสร้างสังคมที่มอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งไม่จำเป็น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำให้เห็นว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ร้านขายจักรยานไฟฟ้า

นโยบายลด ละ เลิก การใช้มอเตอร์ไซค์ในเมืองใหญ่ๆ ของจีนเริ่มขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เช่น มหานครปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน และมหานครเซี่ยงไฮ้ เริ่มใช้นโยบายจำกัดมอเตอร์ไซค์ในช่วงราวๆ ค.ศ. 2002 ซึ่งมีผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ได้รับผลกระทบรวมกันหลายล้านคน ขณะที่นครกว่างโจว อีกเมืองใหญ่ทางตอนใต้ที่คนไทยรู้จักกันดี ก็เริ่มใช้นโยบายคล้ายคลึงกันนี้ใน ค.ศ. 2004 โดยผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคัน มีเวลา 3 ปีในการปรับตัวเลิกใช้มอเตอร์ไซค์ของตนเอง จากนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของอีกหลายเมืองก็เริ่มประกาศใช้นโยบายในลักษณะเดียวกันตามความจำเป็นบังคับของแต่ละพื้นที่ รวมถึงในนครหนานหนิงที่ผมได้เคยไปใช้ชีวิตอยู่

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ภาพ :  www.anxinpiao.com

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

จักรยานไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ
ภาพ : www.blzexpress.com

อย่างที่บอกครับว่าแม้จะดูเหมือนเป็นนโยบายหักดิบ แต่จริงๆ แล้วรัฐบาลจีนใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งในการบังคับใช้นโยบายจำกัดมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน (ใครที่เคยไปใช้บริการระบบรถขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่ๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดิน รถเมล์ หรือรถแท็กซี่ อ่านแล้วจะรู้ทันทีเลยครับว่าสะดวกสบายและมีราคาที่ถือว่าถูกมาก) และการรับซื้อคืนมอเตอร์ไซค์เก่า ตลอดจนการย้ำให้ทุกคนเห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวที่ส่วนรวมได้รับจากการร่วมแรงร่วมใจกันเสียสละประโยชน์ส่วนตน

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ภาพ : China Daily

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

มอเตอร์ไซค์ที่รัฐซื้อคืน-ยึดรอทำลาย
ภาพ : China Foto Press

เมื่อการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จักรยานไฟฟ้าแบบที่ผมขี่อยู่ในรูปที่เฟซบุ๊กขึ้นเตือนมาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายๆ เมืองของจีน เพราะนอกจากมีประโยชน์ใช้สอยคล้ายๆ กับมอเตอร์ไซค์แล้ว ยังตอบโจทย์ได้หลายข้อมากกว่าที่มอเตอร์ไซค์ทำได้ โดยเฉพาะการไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือฝุ่นจากไอเสีย (เพราะมันไม่มีท่อไอเสีย!) ราคาที่เอื้อมถึง และไม่มีกฎระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ที่จอดจักรยานไฟฟ้า

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ที่จอดจักรยานไฟฟ้าหน้าห้างสรรพสินค้า

ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นของจีนก็เร่งสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ (Ecosystem) ของจักรยานไฟฟ้า เพื่อให้มาทดแทนการขาดหายไปของมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการที่จอดรถ การสร้างเลนพิเศษให้ (ใช้เลนเดียวกับเลนจักรยาน) และการใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อช่วยการขายจักรยานไฟฟ้า เป็นต้น

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

จักรยานไฟฟ้าในเลนพิเศษ

ผลจากนโยบายกำจัดมอเตอร์ไซค์ในเมืองใหญ่และมาตรการส่งเสริมต่างๆ ทำให้จำนวนมอเตอร์ไซค์ในจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับจำนวนจักรยานไฟฟ้าที่มีมากขึ้น จากข้อมูลของวิกิพีเดีย ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยขายได้ประมาณ 19 ล้านคันใน ค.ศ. 2009 กลับลดลงเหลือ 13.88 ล้านคันใน ค.ศ. 2013 และลดลงเหลือ 12.7 ล้านคันในปีต่อมา (ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่เกี่ยวกับยอดการผลิตมอเตอร์ไซค์เพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่น) ขณะที่จากข้อมูลของเว็บไซต์ Statista ยอดขายจักรยานไฟฟ้าในจีนเพิ่มจาก 11.78 ล้านคันใน ค.ศ. 2010 มาเป็น 15.41 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2018) ซึ่งเว็บไซต์ Nextbigfuture สรุปว่า ปัจจุบันจีนมีจำนวนจักรยานไฟฟ้าสะสมมากที่สุดในโลกร่วมๆ 200 ล้านคัน โดยมีบริษัทผู้ผลิตสัญชาติจีนถึงกว่า 700 บริษัท

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

โฆษณาขายจักรยานไฟฟ้า
ภาพ : www.jd-tv.com

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

จักรยานไฟฟ้าวางขายอยู่ที่ร้าน

อย่างไรก็ดี การเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของจักรยานไฟฟ้าในหลายๆ เมืองของจีนนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากในช่วงแรกๆ จักรยานไฟฟ้าถูกตีความเป็นเหมือนการขี่จักรยานตามกฎหมายของจีน และการกำจัดแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน (ซึ่งขั้นตอนการทำลายกลับก่อให้เกิดมลพิษและสารตะกั่ว แม้การขี่จักรยานไฟฟ้าจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ) จนทำให้บางเมืองต้องคิดใหม่และหันมาใช้มาตรการบางอย่างเพื่อควบคุมจักรยานไฟฟ้า หลังจากปล่อยให้เติบโตแบบอีเหละเขะขะมาเป็นสิบปี แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการมาควบคุมเช่นใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจักรยานไฟฟ้าได้กลายมาเป็นวิถีชีวิตของคนจีนในหลายเมืองไปแล้ว ไม่ต่างจากการมีโทรศัพท์มือถือ

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

ผู้ขับขี่จักรยานไฟฟ้าบนถนน
ภาพ :  www.weibo.com

เล่ามาซะยืดยาวจนหลายท่านอาจตั้งคำถามว่า แล้วเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับปัญหาฝุ่นมลพิษที่กรุงเทพฯ และอีกหลายเมืองของไทยเรากำลังเผชิญอยู่ หรืออีกนัยหนึ่ง จักรยานไฟฟ้าจะเป็นตัวอย่างให้ไทยได้หรือ และในแง่ใดบ้าง ซึ่งคำถามเช่นนี้แหล่ะครับที่นำไปสู่คำตอบที่ผมได้บอกลูกสาวไปข้างต้นว่า พวกเราทุกคนเป็นทั้งต้นเหตุและทางออกของปัญหา

สำหรับผม การเกิดขึ้นของสังคมจักรยานไฟฟ้าของจีนได้ให้บทเรียนหลายอย่าง โดยเฉพาะในประเด็นว่ามันเกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้น เป็นระบบ มีเป้าหมายและผลสำเร็จที่ชัดเจน เริ่มจากการเห็นว่าเรื่องนั้นๆ เป็นปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ปัญหาของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตามด้วยการระบุแนวทางแก้ไขปัญหาที่แบ่งหน้าที่และบทบาทของแต่ละภาคส่วนอย่างชัดเจนว่าภาครัฐทำอะไร ภาคเอกชนทำอะไร และภาคประชาชนทำอะไร

ฝุ่น PM2.5, จักรยานไฟฟ้า

จักรยานไฟฟ้าชนกัน

โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องมีอันเดียว และไม่จำเป็นต้องเป็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ และการดึงทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข มิใช่ผลักภาระหน้าที่ทุกอย่างให้รัฐบาลหมด เพราะรัฐคงได้แค่ออกกฎ ระเบียบ หรือแผนปฏิบัติการ แต่ถ้าประชาชนไม่ร่วมด้วยแล้ว แผนและกฎหมายเหล่านั้นก็คงอยู่แค่ในกระดาษที่ไม่มีผลบังคับใช้จริง

ลองคิดเล่นๆ นะครับ สมมติว่าเรามีความเห็นร่วมกันว่าจะหาทางลดปริมาณควันจากท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ซึ่งจากสถิติของกรมการขนส่งมีถึงเกือบๆ 3,700,000 คัน! เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการร่วมรัฐเอกชนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน และยังจะมีผลพลอยได้อื่นๆ จากการดำเนินการเช่นนี้ด้วย โดยจะนำสังคมจักรยานไฟฟ้าของจีนมาเป็นบทเรียน เราควรดำเนินการเช่นไร?

แน่นอนครับว่า เราคงใช้ไม้แข็งแบบที่จีนทำคือ ห้ามรถมอเตอร์ไซค์วิ่งในพื้นที่สำคัญๆ และไม่ต่ออายุใบอนุญาตประจำปี และไม่ออกใบอนุญาตใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะหากยังไม่มีทางเลือกอื่นให้ผู้ขับขี่และผู้ใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ ดังนั้น ที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติน่าจะเป็นการนำข้อดีที่มีอยู่มากของจักรยานไฟฟ้ามาเร่งสร้างดีมานด์ให้เกิดสังคมแห่งจักรยานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มาทดแทนความต้องการใช้รถมอเตอร์ไซค์ให้ได้มากที่สุด

การจะทำเช่นนี้ได้ ขั้นแรกเลย ภาครัฐและตัวแทนประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ จะต้องเร่งหารือกันเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายมารองรับ (จะต้องมีใบอนุญาต? ขี่บนฟุตปาทได้? ต้องใส่หมวกกันน็อก? ต้องมีใบขนส่งสาธารณะหากจะใช้รับจ้าง? ฯลฯ) และการใช้มาตรการทางการเงินการคลังต่างๆ กระตุ้นและอุดหนุนให้เกิดความนิยมในการใช้จักรยานไฟฟ้า ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การพัฒนาสร้างจักรยานไฟฟ้าหรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ของไทยเอง ดังเช่นที่ไต้หวันซึ่งก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีจำนวนมอเตอร์ไซค์ต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยจักรยานและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของไต้หวันใช้แบตเตอรี่ที่เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วไม่ก่อให้เกิดมลพิษในตอนทำลาย หรือใช้ระบบเติมน้ำแทนน้ำมัน!

หากทำได้ดังนี้ ปัญหาฝุ่นพิษที่ไทยเราเจออยู่อาจไม่ใช่แค่เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นะครับ แต่แสงที่เห็นคงเป็นดวงอาทิตย์ดวงใหญ่ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนของมาตรการแก้ไขปัญหาเลยทีเดียว

ไม่แน่นะครับ ในอนาคตอันใกล้ พี่วินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ซึ่งจากสถิติของกรมการขนส่งมีอยู่เกือบ 1 แสนคัน อาจเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซค์มาเป็นพี่วินจักรยานไฟฟ้าก็เป็นได้ เพราะมันอาจตอบโจทย์กับทั้งผู้ให้บริการ (ต้นทุนในการประกอบอาชีพที่ลดลง และยังได้ช่วยชาติด้วยการไม่ผลิตมลพิษ) และผู้รับบริการ (ค่าบริการที่ถูกลงจากไม่ได้ใช้น้ำมัน และมีความปลอดภัยมากขึ้นจากความเร็วที่น้อยกว่ามอเตอร์ไซค์)

พอจะถึงบางอ้อแล้วครับว่า สถานการณ์วิน-วิน (Win-win Situation) ที่เขาชอบพูดกันนั้นมันหมายรวมถึงเมื่อพี่

วินมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนมาใช้รถจักรยานไฟฟ้านั่นเอง!

Writer & Photographer

Avatar

โกศล สถิตธรรมจิตร

นักการทูตไทยที่มีความตั้งใจว่าอยากผลิตงานเขียนที่สะท้อนเรื่องราวดีๆ ที่ได้พบได้เห็นในขณะไปประจำการในต่างประเทศ เพื่อจุดประกายให้ใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ นำไปใช้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศไทย จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ อดีตพนักงานบริษัททัวร์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทย และเคยประจำการในฐานะนักการทูตในสหรัฐฯ (นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส) และเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของจีน