นักเรียนคนหนึ่ง : “ครู ๆ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันอะ”

ข้อย : “อืม จะเอาคำตอบแบบจริงจังหรือตอบเล่น ๆ ล่ะ”

นักเรียนอีกคนหนึ่ง : “ครู ๆ แล้วคนเรามาจากไหน มาจากลิงจริงหรือเปล่า”

ข้อย : “โอเค ๆ พวกเธอใจเย็นก่อน”

ภารกิจแรกของผมในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ การตอบคำถามเด็กนักเรียนมัธยมต้น

เดือนที่แล้ว ทางคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดค่ายยุวชนฯ พาเด็ก ม.1 – 3 ไปเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่กาญจนบุรี ประเทศไทย ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ตามไปดูแลเด็กด้วย

เช้าวันเดินทาง พวกรุ่นพี่นักศึกษานำน้องเกือบ 50 คน เต้นตะลุ่งตุ้งแช่เพื่อละลายพฤติกรรมกันก่อน ผมเองได้แต่นั่งด้อม ๆ มอง ๆ จ๋อย ๆ อยู่หลังห้อง ครั้นจะไปร่วมเต้นด้วยก็ขวยเขินเกินวัยไปนิดหนึ่ง แถมเป็นอาจารย์ใหม่ ยังไม่รู้จักใคร เลยรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างกับเด็กอนุบาลมาโรงเรียนวันแรกแล้วไม่มีเพื่อน

ในที่สุด ผมก็รวบรวมความกล้าและหาจังหวะเข้าไปแทรกกลางวงเด็ก ๆ เพื่อแนะนำตัว พอเด็กรู้ว่าเป็นอาจารย์สอนชีวะเท่านั้นแหละ คำถามมาเพียบเลย “ครู ๆ ทำไมปีกผีเสื้อถึงมีสี” “ครู ๆ โลกจะแตกจริงหรือเปล่า” เรื่อยมาจนถึงไก่กับไข่ อะไรจะเกิดก่อนกันนะ อิจิบัง เอ้กโรล อิจิบัง เอ้กโรล (ท่อนหลังนี่เด็กไม่ได้ร้อง แต่ลุง ๆ ป้า ๆ รุ่นเดียวกับผมน่าจะจำได้ บางทีก็อยากลบเมมโมรี่พวกนี้ทิ้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในสมองเหมือนกันนะ เฮ่อ กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกินเอ็มเค)

ไขปริศนาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน จนถึงมนุษย์คนแรกในโลกมีจริงไหม
ภาพ : onlinelibrary.wiley.com

อย่างไรก็ตาม พอเด็กรุมถามปุ๊บ ผมสัมผัสได้ถึงความที่เด็กไม่ได้กะจะกวนตีนหรือบูลลี่ผม แต่ถามเพราะสงสัยอยากรู้จริง ๆ เท่านั้นแหละ สปิริตความเป็นครูของผมตื่นเลย

ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันใช่มั้ย

เอาล่ะ ก่อนอื่นพวกเธอต้องเข้าใจก่อนว่า ไก่เนี่ย เป็นไดโนเสาร์ชนิดหนึ่ง แค่นี้เด็กก็อึ้งแล้ว 

“หา ครูว่าไงนะ”

ไขปริศนาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน จนถึงมนุษย์คนแรกในโลกมีจริงไหม
ภาพ : www.rawpixel.com

“เอ้า ก็ไก่มันเป็นลูกหลานสายตรงที่วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์ จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่ไก่หรอก แต่นกทุกชนิด บรรพบุรุษล้วนเป็นไดโนเสาร์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ไดโนเสาร์มาก่อนไก่ถูกมั้ย ทีนี้ถามว่าไดโนเสาร์ออกลูกเป็นอะไร ไข่ใช่มั้ยล่ะ (อย่างน้อย ๆ ก็ตามที่ดูในหนัง Jurassic Park) ดังนั้น ไข่ย่อมมีมาตั้งแต่ก่อนมีไก่แล้ว”

ไขปริศนาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน จนถึงมนุษย์คนแรกในโลกมีจริงไหม
ฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ในไข่
ภาพ : edition.cnn.com

เอาให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก สัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่มีมาตั้งแต่ยุคที่โลกนี้ยังมีแต่ปลา แม้แต่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หรือสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็นที่มาก่อนไดโนเสาร์ อย่างต้นตระกูลคุณเข้ คุณเต่า ก็ออกลูกเป็นไข่เหมือนกัน แม้แต่หอยโบราณหรือสัตว์มีเปลือกโบราณระดับ 500 ล้านปีก่อนอย่างพวกไทรโลไบต์ เราก็เจอฟอสซิลว่าออกลูกเป็นไข่ พวกนี้มาก่อนไก่แน่นอน เพราะฉะนั้น คำตอบที่ถูกต้องตามหลักชีววิทยาของคำถามว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ก็ต้องไม่แคล้วเป็นไข่อย่างแน่นอน! ปิ๊งป่อง ปิ๊งป่อง ถูกต้องนะคร้าบบบบ!

โอเค เคลียร์ไปหนึ่งคำถาม

ต่อไปเรื่องคนมาจากไหนใช่มั้ย อ้าว ยังไม่ทันได้ตอบ ปรากฏว่าหมดเวลาพักเที่ยงพอดี ทุกคนเลยแยกย้ายกันไปขึ้นรถก่อน โดยมีเด็กคนหนึ่งทิ้งประโยคซึ้งใจไว้ให้ผมว่า “ดีจังครู เดี๋ยวหนูมาถามอีก ปกติหนูสงสัยเรื่องพวกนี้แล้วไม่มีใครให้หนูถามเลย”

เช้าวันรุ่งขึ้น

มีกิจกรรมแหกขี้ตาตื่นมาดูนก

ผมเองเป็นสายชอบก้มหน้าชมธรรมชาติมากกว่าเงยหน้า ก็เลยจะได้เห็นพวกมด แมง แมลง กิ้งกืออะไรต่าง ๆ มากกว่าได้เห็นนก เด็กคนหนึ่งเห็นผมกำลังนั่งยองถ่ายรูปแมลงตัวสีแดง ๆ ก็เลยเข้ามาถาม

“นี่ตัวอะไรอะครับครู”

“น่าจะเป็นมวนชนิดหนึ่งนะ ปากมันจะแหลม ๆ เหมือนเข็มฉีดยา ปกติไว้เจาะดูดน้ำเลี้ยงต้นไม้ แต่นี่เห็นมั้ย ตัวนี้กำลังไล่จิ้มดูดซากแมลงเม่าอยู่”

“แล้วมันมีประโยชน์อะไรครับอาจารย์”

ผมนิ่งอึ้งไปแป๊บหนึ่ง คำถามแนวนี้มาแล้วเหรอ คือส่วนตัวผมจะค่อนข้างมีอคติกับการที่คนไทยชอบพูดว่า สัตว์พืชต่าง ๆ มีคุณค่าก็เพราะมันมีประโยชน์ เสือมีหน้าที่ควบคุมประชากรวัว วัวมีหน้าที่คุมประชากรหญ้า อะไรทำนองนั้น

“มันไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์อะไรก็ได้” ผมตอบเด็กคนนั้นไป “แค่มันมีชีวิตอยู่รอดมาบนโลกนี้มาได้ แค่นี้ก็น่าทึ่งพอแล้ว”

จริง ๆ มันอยู่บนโลกมานานกว่าเราอีกนะ ผมคิดในใจระหว่างยิ้มหล่อให้เด็กคนนั้น ทันใดนั้นเอง เด็กอีกคนที่ถามเรื่องกำเนิดมนุษย์เมื่อวานก็เดินผ่านมาพอดี (คนนี้จำชื่อได้เลย ชื่อ น้องหยก)

“ครู ๆ ตกลงคนมาจากไหนกันแน่ ทำไมครูที่โรงเรียนหนูบอกว่ามาจากปลา ไม่ใช่มาจากลิง”

เอาล่ะ คราวนี้ได้โอกาสตอบจริงจังแล้ว

ผมสูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วเริ่มกล่าว “คนมาจากไหนใช่มั้ย ก็ต้องถามก่อนว่าย้อนกลับไปกี่ปี

“เพราะถ้าย้อนไปแค่ 2 แสนปี คำตอบก็คือ ‘คนมาจากคน’ นี่แหละ แต่เป็นชาวแอฟริกัน ทุกวันนี้ทั้งชาวไทย จีน แขก ฝรั่ง ไม่ว่าจะทวีปไหน ล้วนมีต้นตระกูลเป็น ‘โฮโม เซเปียนส์’ ที่เริ่มออกเดินทางจากแอฟริกา แล้วค่อย ๆ อพยพถิ่นฐาน กระจายเผ่าพันธุ์มาเรื่อย ๆ จนตอนนี้กลายเป็นชาวต่าง ๆ อยู่ทั่วทุกมุมโลก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าทุกวันนี้คุณจะมีนมสีอะไร บรรพบุรุษของเราล้วนมีนมดำเหมือนกันหมด (ท่อนหลังนี้ผมแค่คิดในใจ แต่ไม่ได้สอนเด็ก)

“ทีนี้ ถ้าถามย้อนไปไกลกว่านั้นอีก สักประมาณเกือบ 10 ล้านปีก่อน นั่นจะเป็นช่วงที่สายบรรพบุรุษของเราแยกจากสายบรรพบุรุษของชิมแปนซีปัจจุบันพอดี ซึ่งบรรพบุรุษที่ว่านั้นอาจจะไม่ใช่ลิงเสียทีเดียว แต่เรียกว่าเป็น เอปส์ (Apes) สักสายพันธุ์หนึ่งที่ทุกวันนี้ไม่มีอยู่แล้ว ซึ่งเอปส์กับลิงมีข้อแตกต่างของมันอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนกลับไปช่วงนั้น ก็ต้องบอกว่าคนมาจากเอปส์ไม่ใช่ลิง

“อ้าว แล้วตกลงเราพูดไม่ได้เหรอว่าคนมาจากลิง คนก็มาจากลิงจริง ๆ ไม่ได้ผิด แต่เราแค่ต้องย้อนกลับไปไกลอีกสักประมาณ 30 – 40 ล้านปี บรรพบุรุษของเราถึงจะเรียกว่าเป็นลิงได้เต็มปาก ซึ่งลิงที่ว่านี้ก็ไม่ใช่แค่เป็นบรรพบุรุษของเราด้วย แต่เป็นบรรพบุรุษร่วมของทั้งชิมแปนซี อุรังอุตัง กอริลล่า ชะนี บาบูน ลิงกัง ลิงแสม และลิงอื่น ๆ ทั้งหลายแหล่ ซึ่งเวลาไปเช็งเม้งที ก็ต้องไปพร้อมกันหมด

“ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีก และขอข้ามยุคไดโนเสาร์ไปเลย คือกลับไปจนถึงยุคที่โลกนี้ยังมีแต่ปลา ยังไม่มีตัวอะไรที่ขึ้นมาเดินบนบกเลย นอกจากพวกสัตว์ไม่มีกระดูก นั่นก็คือเมื่อประมาณ 400 – 500 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคที่เราพูดได้เต็มปากเลยว่า ‘คนมาจากปลา’ แต่เราก็พูดได้เต็มปากด้วยว่า หมาก็มาจากปลาเหมือนกัน ไดโนเสาร์เต่าล้านปีก็มาจากปลาเหมือนกัน เสือ สิงห์ กระทิง แรด ช้าง ม้า วัว ควาย ทุกวันนี้ก็มาจากปลา หมู (เห็ดไม่เกี่ยว) เป็ด ไก่ ก็มาจากปลา พอย้อนกลับไปไกลขนาดนั้น ทุกอย่างก็มาจากปลาหมด ปลาเป็นโคตรบรรพบุรุษของสัตว์บกที่มีกระดูกทุกชนิด และงานเช็งเม้งของญาติแก๊งนี้ก็คงยิ่งใหญ่อลังการและวุ่นวายมาก

“แน่นอน เรายังย้อนกลับไปได้อีกเรื่อย ๆ ซึ่งพอถึงหลักพันล้านปี สิ่งมีชีวิตทุกอย่างก็จะมาจากแบคทีเรียหมด คราวนี้รวมพืชและเห็ดไปด้วย ซึ่งรอบนี้ผมว่าไม่ต้องจัดงานเช็งเม้งแล้ว อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าเราพูดได้เต็มปากเหมือนกันว่า ‘คนมาจากแบคทีเรีย’ โดยไม่ได้ผิดอะไร

“เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า ‘คนมาจากไหน’ และตกลงคนมาจากลิงหรือจากปลากันแน่ จึงตอบได้ว่า ‘ถูกทั้งหมด’ แต่แค่ต้องระบุก่อนถามว่าย้อนกลับไปกี่ปี”

ตอนที่ผมตอบน้องหยกจริง ๆ ผมอธิบายสั้นกว่าที่เขียนในบทความนี้นิดหนึ่ง เพราะไม่อยากทำให้เด็กธาตุไฟแตก แต่เมื่อเห็นน้องทำหน้าเหมือนปริศนากระจ่างแล้ว ผมก็อุ่นใจ นี่สินะ รางวัลตอบแทนของคนเป็นครู

หลังจากจบค่าย ผมยังกลับมานั่งคิดต่อเองว่า ที่จริงแล้วไอ้ ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’ เนี่ย มันยังมีคำตอบเวอร์ชันยาวที่ลึกซึ้งกว่าที่ตอบไปอยู่อีกนะ เพียงแต่มันอธิบายยากกว่าเยอะ ที่ผมตอบไป เอาจริง ๆ ก็เหมือนขี้โกงนิดหน่อย เพราะเลือกตีความให้ตอบได้ชัด ๆ โดยอาศัยประโยชน์จากความกำกวมของคำว่า ‘ไข่’ 

แต่ด้วยสปิริตที่แท้จริงของคำถามนี้ มันควรจะต้องถามว่า ‘ไก่’ กับ ‘ไข่ไก่’ อะไรเกิดก่อนกัน มากกว่า

คราวนี้ล่ะ ยากแล้ว

อะไรคือเส้นแบ่งที่ว่า ‘ไอ้ตัวนี้ออกลูกมาเป็นไข่ซึ่งโตมาจะถือว่าเป็นลูกไก่ แต่ขณะเดียวกันพ่อแม่มันยังไม่ใช่ไก่นะ เป็นแค่บรรพบุรุษไก่’ เส้นแบ่งที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือ

ประเด็นนี้จะเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเราย้ายจากไก่มาดูสายวิวัฒนาการของมนุษย์

คุณริชาร์ด ดอว์กินส์ ฮีโร่ด้านวิชาการที่สอนให้ผมรู้จักเรื่องวิวัฒนาการ เขาบอกว่าให้ลองนึกภาพตามนี้

สมมติว่าให้คุณยืนจับมือพ่อหรือแม่ (เลือกเอาสักคน) แล้วก็ให้ท่านยื่นมืออีกข้างไปจับกับรุ่นก่อนหน้า ซึ่งก็อาจเป็นหนึ่งในปู่ ย่า ตา ยายสักคน แล้วก็ให้ท่านยื่นมืออีกข้างไปจับกับรุ่นพ่อแม่ของท่านอีก ต่อเป็นแถวไปเรื่อย ๆ โดยสมมติว่าบรรพบุรุษทุก ๆ รุ่น ไม่ว่าจะทวดของทวดของทวด คืนชีพกลับมาเข้าแถวนี้ได้ในสภาพสมบูรณ์ดูดีและอยู่ในวัยผู้ใหญ่ปกติ ถ้านึกภาพตามนี้ เราจะเห็นกำแพงมนุษย์ที่เกิดจากคนจับมือต่อกันเป็นแถวยาวเหยียดคล้ายกำแพงเมืองจีน

ภาพ : Loo Cipher

ทีนี้สมมติว่า เราตั้งแถวแบบนี้ ย้อนกลับไปจนถึงบรรพบุรุษมนุษย์ยุคที่หน้าตาเหมือนวานร และเป็นบรรพบุรุษร่วมระหว่างคนกับชิมแปนซี ถามว่าหางแถวจะยาวไปจบที่ตรงไหน

ก่อนเฉลย เราอาจคิดว่ามันต้องเป็นแถวที่ยาวอีปิกแบบพันรอบโลกได้หลายรอบแน่ ๆ แต่ความน่าประหลาดใจอันดับแรกที่คุณดอว์กินส์ให้เราสังเกต คือ พอลองคำนวณดูจริง ๆ แล้วแถวนั้นไม่ยาวเลยแฮะ อยู่แค่ประมาณ 500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปชุมพร หรือถ้าขึ้นเหนือก็ไปถึงแค่อุตรดิตถ์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราสนใจ ประเด็นหลักของเราตอนนี้คือ เราได้แถวที่ช่วงหัวแถวมีสมาชิกเป็นคนชัด ๆ ส่วนช่วงหางแถวก็มีสมาชิกหน้าตาเป็นวานรชัด ๆ แต่ทีนี้คำถามคือ แล้วสปีชีส์ของมนุษย์เริ่มต้นตรงไหนของแถว ไม่มีจุดไหนเลยที่เราเอาปากกาไปวงได้ว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปถือว่าเป็นมนุษย์แล้วนะ ส่วนก่อนหน้านี้ไม่ใช่มนุษย์ และถ้าเราฝืนทำแบบนั้น เราก็จะได้แค่เส้นแบ่งที่สร้างขึ้นมาเองแบบสุ่ม ๆ ไอ้คนที่โดนขีดเส้นทับพอดีก็จะบ่นว่า “อิหยังวะ ตกลงกูเป็นคน แล้วพ่อแม่กูเป็นวานรเนี่ยนะ”

ในความเป็นจริง ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ตรงไหนของแถว พอคุณหันไปมองหน้าบุพการีที่จับมือ (สมมติว่าข้างซ้าย) ท่านจะมีรูปลักษณ์เป็นสปีชีส์เดียวกับคุณแน่นอน และพอหันไปดูลูกที่จับมือขวาของคุณอยู่ ลูกก็จะเป็นสปีชีส์เดียวกับคุณอีกเช่นกัน ไม่มีจุดไหนในแถวที่พ่อ แม่ และลูกต่างกันจนเป็นสัตว์คนละชนิด แต่ถ้าเราขอตัวออกมาเดินดู ไล่จากหัวแถวไปหางแถว เราถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น

ภาพ : heaveninawildflower.tumblr.com

ไก่กับไข่ก็เช่นกัน

ไม่มีไข่ไก่ฟองไหน เกิดมาจากพ่อแม่ที่ไม่ใช่ไก่

และก็ไม่มีแม่ไก่ตัวไหน ออกไข่มาแล้วไม่ใช่ไข่ไก่

ถ้าถามว่าไก่ตัวแรกของโลกมาจากไหน ก็มาจากไข่ ไข่มันมาจากไหน ก็มาจากแม่ไก่ อ้าว งั้นมันก็ไม่ใช่ไก่ตัวแรก โอเค งั้นแม่มันเป็นไก่ตัวแรก แล้วแม่มันมาจากไหน ก็มาจากไข่อีก สุดท้ายต้องตัดจบดื้อ ๆ ว่า งั้นไข่ฟองนั้นแหละถือเป็น ‘ไข่ไก่ฟองแรกของโลก’ ตอบ ‘ไข่เกิดก่อน’ ส่วนแม่ของมันไม่นับเป็นไก่ อ้าว ไรวะ ตัดสินแบบนั้นไม่ได้สิ

และเมื่อพยายามจะเค้นคำตอบให้เป็น ‘ไก่เกิดก่อนไข่’ บ้าง เราก็จะเจอปัญหาความไม่สมเหตุสมผลแบบเดียวกัน เอาเป็นว่าท่านผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพแล้วล่ะ เพราะถ้าเขียนต่อจากนี้อีก คนเขียนจะเริ่มปวดหัวเอง

สรุปได้ว่า คอนเซ็ปต์มนุษย์คนแรก ไก่ตัวแรก เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ

ชีวิตเพียงแค่ผันแปรไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ไร้ที่สิ้นสุด

เส้นแบ่งที่มนุษย์สร้างเป็นเพียงเส้นสมมติ ดั่งจุดเริ่มต้นของแม่น้ำที่สายน้ำเองไม่เคยรู้จัก

คำตอบที่แท้จริงของคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันก็คือ ‘ไร้คำตอบ’

คนที่คิดปัญหาโลกแตกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก น่าจะเป็นคุณอริสโตตุ้ย ญาติของ อริสโตเติล ผมไม่รู้เลยว่าเขาตั้งใจให้คนเอามันมาขบคิดจริงจังขนาดไหน หรือจะรู้ไหมว่ามันโยงไปสอนเรื่องชีววิทยาและวิวัฒนาการได้ด้วย

แต่จะอย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องขอขอบคุณ คุณอริสโตตุ้ย และขอขอบคุณน้อง ๆ ที่เอาคำถามเหล่านี้มาถามให้ผมได้ขบคิดต่อ หวังว่าเมื่อพวกเจ้าโตขึ้น และได้ไปร่วมต่อแถวจับมือในการเดินทางอันยาวนานของชีวิตจากอดีตสู่อนาคต เจ้าจะไม่ละทิ้งความช่างสงสัยเหล่านี้ไป เพราะมันคือสิ่งที่พิเศษมากของความเป็นมนุษย์

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast