ธุรกิจ : บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน)

ประเภทธุรกิจ : เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน, ออกแบบตกแต่งภายใน

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2552 

ผู้ก่อตั้ง : กิจจา ปัทมสัตยาสนธิ

ทายาทรุ่นสอง : ศริตา ปัทมสัตยาสนธิ

Chic Republic เริ่มโด่งดังมาจากเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจจากสาขา Stand Alone ขนาดใหญ่ เติบโตเป็นศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และเครื่องนอนที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่ง

ด้วยภาพลักษณ์สินค้าพรีเมี่ยม คุณภาพมาตรฐานเทียบยุโรปและอเมริกา มีสไตล์ที่หลากหลายและทันสมัยทั้งสินค้าและบรรยากาศร้าน ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่แท้จริงแล้วนี่คือธุรกิจครอบครัวสัญชาติไทยที่สร้างจากการสั่งสมประสบการณ์ของ คุณกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ และต่อยอดจนแตกเป็น Chic Design Studio บริการตกแต่งออกแบบภายใน (Interior & Turnkey Service) โดยทายาทรุ่นสองวัย 28 ปี ฟาง-ศริตา ปัทมสัตยาสนธิ 

คอลัมน์ทายาทรุ่นสองวันนี้ ชวนมาเรียนรู้เรื่องราวธุรกิจครอบครัวที่ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างความแตกต่าง รวมถึงแนวคิดการขยายธุรกิจด้วยการ Diversify และ Transform องค์กรของทายาท ที่สอนให้รู้ว่าการสานต่อธุรกิจไม่ได้มีแค่การต่อยอดจากสินค้าเดิม กับการแยกออกไปทำบริษัทใหม่เท่านั้น

การขยาย Chic Republic ของทายาทรุ่นสอง ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ครบวงจร

ก่อตั้งธุรกิจจากประสบการณ์

คุณกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ เริ่มสร้างอาณาจักร Chic Republic จากศูนย์ แต่ต้นทุนที่มีคือประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการออกแบบ ผลิต จำหน่าย และส่งออกเฟอร์นิเจอร์ต่างประเทศ ทำให้รู้จักมักคุ้นกับวงการผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึมซับความรู้ว่าต้องผลิตอย่างไรให้ออกมาดี รู้เทคนิคการผลิตอย่างละเอียดลึกซึ้ง อีกทั้งยังช่ำชองว่าวัสดุแต่ละชนิดควรใช้ยังไง การเย็บควรเย็บแบบไหน รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงลดต้นทุนได้ แต่คุณภาพยังดีอยู่

ด้วยชั่วโมงบินที่ยาวนานเหล่านี้ ทำให้เขาสร้างธุรกิจขึ้นมาได้โดยไม่ได้สร้างโรงงานของตัวเอง แต่เน้นสร้างคอนเนกชันกับแหล่งผู้ผลิตที่ทำงานเข้าขากันดี ทำให้การเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเองไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเยอะ

เมื่อสิบปีที่แล้ว แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสไตล์โมเดิร์น คุณกิจจามีความคิดอยากทำแบรนด์ไทยพรีเมี่ยมของตัวเองที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น จึงเริ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์วินเทจซึ่งยังไม่ค่อยมีใครทำในไทย และเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมสร้างร้าน Stand Alone สาขาแรกของ Chic Republic ที่เลียบทางด่วนรามอินทรา ด้วยอาคารทรงโดมแบบยุโรป และการตกแต่งร้านใหญ่ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทำให้แบรนด์ติดตาและเป็นที่สนใจ

สไตล์ของ Chic ที่แตกต่างด้วยการ Mix & Match 

จากเฟอร์นิเจอร์วินเทจ ต่อมา Chic Republic เพิ่มความแตกต่างด้วยการรวมเฟอร์นิเจอร์หลากหลายสไตล์ทั้ง Modern Luxury, Industrial, Vintage และ Contemporary ในที่เดียว กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ในทุกวันนี้ เรียกว่า ModTrad มาจาก Modern + Traditional การผสมผสานระหว่างความทันสมัยและคลาสสิกของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน

ฟาง-ศริตา ปัทมสัตยาสนธิ พาเดินชมร้าน ซึ่งมีการวางเฟอร์นิเจอร์โมเดิร์นกับวินเทจเรียงสลับกัน พร้อมเล่ามุมมองการตกแต่งบ้านในแบบของชิค 

“คนไทยมักเข้าใจว่าบ้านโมเดิร์นต้องตกแต่งทันสมัย บ้านโบราณหน่อยก็ต้องวินเทจเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว Mix & Match ได้ ต่างประเทศนิยมผสมการแต่งหลายแบบเข้าด้วยกันมานานแล้ว และตกแต่งออกมาสวยได้”

การต่อยอดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวด้วย Chic Design Studio ของทายาทรุ่นสอง Chic Republic

ฟังแล้วรู้สึกว่าการแต่งห้องนั้นคล้ายการแต่งตัว คือ เลือกไอเท็มหลายสไตล์มาใส่ได้ในชุดเดียวกัน มี Furniture Stylist ช่วยเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับห้องคล้าย Fashion Stylist ที่ช่วยลูกค้าแต่งตัว การเดินเลือกสินค้าที่นี่จึงสนุกตรงเปิดโอกาสให้คนที่มองหาของแต่งบ้าน มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ในการแต่งห้องออกมา เกิดเป็นห้องที่มีสไตล์เฉพาะของตัวเอง

ฟางบอกว่าชิคมีเป้าหมายคือการออกแบบสินค้าใหม่ทุกเดือน เพราะคุณพ่อบอกว่าร้านเสื้อผ้ายังเปลี่ยนดีไซน์ทุกซีซั่นได้ เฟอร์นิเจอร์ก็ทำได้เหมือนกัน 

แม้คุณกิจจาและคุณฟางจะไม่ได้เรียนด้านการออกแบบมาโดยตรง แต่การไปดูงานดีไซน์แฟร์ที่อิตาลีเสมอเพื่อศึกษาเทรนด์โลก ทำให้กำหนดทิศทางให้ดีไซเนอร์ในทีมได้รู้ว่าดีไซน์แบบไหนกำลังเป็นที่นิยม ทั้งนี้ คุณฟางบอกว่า “ไม่ได้ออกแบบใหม่ทั้งหมดทุกครั้ง ใช้วิธีปรับนิดหน่อย เช่น เปลี่ยนวัสดุจากผ้ากำมะหยี่เป็นโพลีเอสเตอร์ เปลี่ยนขาไม้เป็นขาเหล็ก เปลี่ยนหมุดเป็นแบบอื่น และปรับดีไซน์ให้นั่งสบาย เหมาะกับสรีระของคนไทย”

ทุกวันนี้คุณกิจจาหรือคุณพ่อของฟางยังคงตำแหน่ง CEO ที่ดูแลด้านการพัฒนาสินค้าเป็นหลัก นอกจากเลือกสไตล์ที่หลากหลายแล้ว ยังยึดหลักว่าสินค้าที่ดีต้องมีความสบาย โซฟาและเก้าอี้ต้องมีขนาดและความลึกเหมาะสม เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งด้านฟังก์ชันและความสวยงาม และฟางเองในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ ก็ได้เอาไอเดียเทรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาร่วมพัฒนาสินค้าด้วย

การต่อยอดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวด้วย Chic Design Studio ของทายาทรุ่นสอง Chic Republic
การต่อยอดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวด้วย Chic Design Studio ของทายาทรุ่นสอง Chic Republic

Stand Alone ที่ครบจบที่เดียว 

ก่อนการมาถึงของยุคดิจิทัลที่การขายออนไลน์บูม การขยายธุรกิจในสมัยก่อนของแบรนด์เน้นการเพิ่มจำนวนร้าน ฟางจำหลักการขยายสาขาของคุณพ่อได้ว่า 

“ไม่ว่ายังไงเราจะไม่เน้นขยายสาขาในห้าง เพราะมีพื้นที่น้อยและค่าเช่าค่อนข้างสูง” ดังนั้นทุกสาขาของ Chic Republic ในกรุงเทพฯ ที่เปิดตามมาภายหลัง จึงล้วนคงคอนเซ็ปต์ที่เป็นจุดเด่นของสาขาแรกคือ ร้าน Stand Alone ขนาดใหญ่ โดยเลือกย่านที่มีโครงการบ้านจัดสรรเยอะ อย่างบางนา ราชพฤกษ์ ประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อในโครงการ 

ส่วนในต่างประเทศ ชิคเลือกไปเปิดที่กัมพูชาในห้างสรรพสินค้า Aeon Mall Sen Sok City เพราะเห็นพฤติกรรมลูกค้ากัมพูชาที่มีความชอบคล้ายคนไทย มีเทรนด์ของแต่งบ้านคล้ายกัน และแทบไม่มีคู่แข่งเลย

จุดเด่นของร้าน Stand Alone ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ตั้งแต่ 10,000 – 15,000 ตารางเมตร ทำให้มีของแต่งบ้านเรียงรายให้เลือกสรรเยอะ ฟางมองว่าด้วยเทรนด์ดีไซน์ของต่างประเทศและไทยใกล้เคียงกันมากขึ้น ทำให้ลูกค้าเริ่มเข้าใจสไตล์ของแต่งบ้านที่หลากหลายและรู้จักแบรนด์มากขึ้น 

“แต่ก่อนคนเข้าใจว่ารอยที่เฟอร์นิเจอร์วินเทจคือมีตำหนิ แต่ที่จริงเป็นเอกลักษณ์ของลายไม้สไตล์วินเทจ”

ด้วยความที่สินค้ามีเยอะ Chic Republic จึงแบ่งออกเป็นแบรนด์ย่อยหลายแบรนด์เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม

การขยาย Chic Republic ของทายาทรุ่นสอง ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ครบวงจร

Chic Republic เป็นสินค้าชิ้นใหญ่ สำหรับคอนโดหรือบ้านขนาดใหญ่ 

Rina Hey เป็นสไตล์ Loft Industrial เหมาะสำหรับคนวัย 20 ต้น ผู้อาศัยในคอนโดขนาดเล็ก มองหาของชิ้นเล็กลงมาและราคาไม่แพง ฟางเล่าว่าระยะหลังคนนิยมแบรนด์นี้มากขึ้น โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นฟังก์ชันประหยัดพื้นที่ จึงเลือกมาขาย เช่น โต๊ะที่เปิดออกมาแล้วกางเป็นโต๊ะทำงานหรือโต๊ะกาแฟได้

ส่วน Ashley เป็นแบรนด์นำเข้าโด่งดังจากอเมริกา สไตล์อเมริกัน Urbanology, Vintage Casual, Contemporary และ New Tradition ที่มีความเรียบและคลาสสิก

นอกจากนี้สิ่งใดที่ลูกค้ามองหาแล้วแบรนด์ไม่ได้ผลิตเอง ชิคก็จะเติมเต็มความต้องการของลูกค้าด้วยการคัดเลือกแบรนด์อื่นที่มีคุณภาพเข้ามา ดังเช่นโซน Sleep Gallery เน้นเลือกที่นอนจากแบรนด์คุณภาพและและรุ่นสินค้าที่หาไม่ได้จากที่อื่น โซนดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ ภาพศิลปะและของตกแต่งบ้านอื่น ๆ 

“ถ้าอยากตกแต่งบ้าน มาที่เราที่เดียวจบ” ฟางสรุปคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่คุณพ่อของเธอวางรากฐานไว้อย่างแข็งแรง 

การขยาย Chic Republic ของทายาทรุ่นสอง ด้วยเป้าหมายที่จะเป็นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ครบวงจร

ออกแบบห้องเพื่อส่งเสริมเฟอร์นิเจอร์ 

หลังจากเริ่มเข้ามาช่วยคุณพ่อดูแลด้านการตลาดให้ธุรกิจครอบครัวในช่วงแรก ฟางเริ่มวางแผนขยับขยายธุรกิจ “ลูกค้าหลายคนถามว่าเรามีบริการตกแต่งบ้านด้วยไหม เรามองว่าขายเฟอร์นิเจอร์มา 10 ปีแล้ว Interior Design เป็นธุรกิจที่เสริมกันเลยทำขึ้นมา” 

Chic Design Studio เป็นธุรกิจบริการออกแบบตกแต่งภายในยูนิตใหม่ ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเป็น One Stop Service ในเรื่องบ้านอย่างเต็มตัวมากขึ้น ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ ออกแบบจนถึงรับเหมาก่อสร้าง ทั้งคอนโด บ้าน ร้านอาหาร คาเฟ่ โดยทีมงานที่เคยมีประสบการณ์จากบริษัทสถาปนิกชั้นนำ

ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปีในวงการเฟอร์นิเจอร์ การบริการการออกแบบภายในจึงคำนึงถึงการเลือกใช้ของตกแต่งที่สอดคล้องกับห้องด้วย นำเสนอเฟอร์นิเจอร์บิลด์อินและของแต่งห้องของ Chic ที่มีครบจบตั้งแต่โซฟา เตียง โต๊ะทานข้าว โต๊ะข้างเตียง โต๊ะทานกาแฟ ผ้าปูเตียง เครื่องนอน หมอน โคมไฟ

แน่นอนว่าสไตล์การตกแต่งห้องต่อยอดมาจากสไตล์เฟอร์นิเจอร์ที่มีหลากหลาย ตั้งแต่ห้องแบบ Classic Chic ผสานความคลาสสิกและโมเดิร์นเข้าด้วยกันอย่างหรูหรา Industrial Loft ที่มีความเท่ดิบของสัจจะวัสดุอย่างมีสไตล์ และ Modern Muji แบบมินิมอลอบอุ่นสไตล์ญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยม

การต่อยอดหรือแตกไลน์ธุรกิจจากสินค้าเดิมแบบนี้ เรียกว่า Diversify ช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจและยังส่งเสริมกันและกันในการบริการลูกค้าอีกด้วย

ในอนาคตฟางมองว่าอยากผลักดันแผนกตกแต่งภายใน สู่การเป็นพาร์ตเนอร์กับโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจังขึ้น ด้วยการออกแบบตกแต่งห้องของโครงการในมุมที่ขายยากให้มีเอกลักษณ์เพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เธอยังมองว่ายังแตกบริการออกไปได้อีก ด้วยบริการเช่าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสำหรับเจ้าของโครงการ และคนจัดอีเวนต์ที่อยากเช่าเฟอร์นิเจอร์ชั่วคราวเพื่อมาจัดห้องตัวอย่างหรือกิจกรรมต่าง ๆ

การบริหารของทายาท Gen Y ที่เข้าใจวิธีทำงานของพ่อ

ผลพลอยได้ของการการแตกธุรกิจออกเป็นยูนิตใหม่ คือการบริหารทีมได้ง่ายขึ้น วิธีการทำงานของทีมออกแบบตกแต่งภายในที่เต็มไปด้วยสมาชิกทีมเจเนอเรชัน Y ของฟาง แตกต่างกับวัฒนธรรมองค์กรของแผนกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่คุณพ่อดูแลมายาวนาน เมื่อแยกแผนกกันชัดเจน ทำให้การบริหารงานดำเนินไปอย่างราบรื่นขึ้น

สำหรับฟาง ประสบการณ์การทำงานประจำในองค์กรสตาร์ทอัพและบริษัทต่างชาติมาก่อน ทำให้สามารถนำส่วนดีของแต่ละที่มาประยุกต์ใช้ในการสร้างระบบ และเตรียมพร้อมธุรกิจครอบครัวให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เธอริเริ่มการเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ของ Chic Republic ทั้งเว็บไซต์ E-Commerce และ E-marketplace อย่าง Lazada และ Shopee ความท้าทายคือการสร้างระบบขายออนไลน์ที่มีรายละเอียดการจัดการเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารการขนส่งเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ การเทรนนิ่งพนักงานที่ประกอบเฟอร์นิเจอร์ให้ลูกค้า การถ่ายทอด Service Mind ให้พนักงานรักษามาตรฐานการบริการอย่างสุภาพ

เหล่านี้ต้องมีการสร้างระบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน สิ่งที่ฟางได้เรียนรู้คือการลงมือทำจริงให้คนในองค์กรเห็นผลลัพธ์ จะช่วยให้ทีมยอมรับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ว่าระบบช่วยลดการจัดการงานยิบย่อยในแต่ละวันได้ 

“สิ่งที่คุณพ่อสอนคือ ไม่ว่าเจอปัญหาอะไรในการบริหารคน ให้ยึดหลักว่าลูกค้าสำคัญที่สุด มองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แล้วจะเห็นวิธีแก้ไข” กลับมาแก้ไขในสิ่งที่ทำได้ เช่น เริ่มจากคิดว่าจะเทรนนิ่งพนักงานเพิ่มเติมอย่างไร 

ในขณะเดียวกัน ฟางเล่าว่าการเริ่มต้นสิ่งใหม่ในธุรกิจครอบครัวต้องมีการประนีประนอม เพราะวิธีคิดและสไตล์การทำงานของคนต่างเจเนอเรชันย่อมต่างกัน เมื่อมีไอเดียใหม่ เธอมักเริ่มจากทำวิจัยศึกษาข้อมูลก่อนและวางแผนระยะยาวล่วงหน้า 

ความแตกต่างคือ “คุณพ่อจะชอบให้ลงมือทำเลยทันที ไม่ต้องคิดเยอะว่าถ้าล้มเหลวจะเป็นยังไง ถ้าอยากทำก็มุ่งหน้าไปเลยแล้วปรับแผนไประหว่างทางและชอบลงมือทำเองทุกอย่าง พอทำกับคุณพ่อมีหลายอย่างที่เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องทำวิธีเราก็ได้ ทำอีกวิธีได้เหมือนกัน”

ฟางสรุปว่าแม้วิธีการทำงานไม่เหมือนกัน แต่ก็พยายามปรับ หาจุดตรงกลางที่ทำงานแล้วเสริมกันและกันให้ดีขึ้น 

“ถ้าไปถึงจุดหมายเหมือนกัน ระหว่างทางอาจลงมือทำคนละวิธีก็ได้ เรียนรู้กันและกันไปวันต่อวัน”

การต่อยอดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวด้วย Chic Design Studio ของทายาทรุ่นสอง Chic Republic

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน