ตอนอายุ 36 ปี ขณะที่ หมอ-สุรศักดิ์ สืบมงคลชัย ซัดเข้าเส้นชัยมาราธอนแรกในชีวิตด้วยความตื้นตัน ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น เขากลับต้องประหลาดใจ เมื่อแนวเล็บบนปลายเท้าที่ยังไม่หายชาเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ก่อนผลัดออกเสีย 8 เล็บ พร้อมกับการมาตามนัดของอาการปวดเข่าด้านนอก (ITBS) และเจ็บหน้าแข้ง (Shin Splints) เรื้อรัง ที่ทำให้เขาต้องหยุดพักจากการออกกำลังกายฟื้นฟูสุขภาพ

ช่วงเวลาแห่งความระบมทนเปื่อย หมอพยายามศึกษาหาวิธีแก้ไขปัญหาจนค้นพบศาสตร์ ‘การวิ่งเท้าเปล่า’ (Barefoot Running) ที่ไม่เพียงช่วยให้เขากลับมาสนุกกับการวิ่งได้อีกครั้ง และถูกกล่าวขานว่าเป็นจอมยุทธ์เท้าเปล่ายุคแรกๆ ของเชียงใหม่ แต่ยังหล่นเมล็ดพันธุ์ความหลงใหล ซึ่งต่อมาเติบโตงอกงามสู่แบรนด์รองเท้าแตะวิ่งทำมือสุดยูนีก ตอบโจทย์คนอยากสัมผัสอารมณ์การวิ่งเท้าเปล่าอย่างปลอดภัย ไปจนถึงเป็นรองเท้าสวมใส่พิชิตมาราธอนยันอัลตร้ามาราธอนที่เหล่านักวิ่งแตะไว้วางใจ และติดปากเรียกต่อๆ ว่า ‘แตะพี่หมอ’ อันรู้กันว่าหมายถึงรองเท้าแตะวิ่งมินิมอล ‘Chiangmai Running Sandal’

Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน
Zone 1

เจ็บเริ่มต้น

“นี่คืออะไรเหรอครับ”

“บ่อล้างขวดน้ำปลา”

มีเสียงหัวเราะซึมลอดหลังคำตอบของชายวัยกลางท่าทางกันเอง เขาคนนี้ทำให้ผมประทับใจในความเป็นตัวเองตั้งแต่แรกทัก ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นเสื้อวิ่งคู่กางเกงยีนส์ขาสั้น ที่แย้มว่าเป็นทั้งชุดอยู่บ้านและใช้แข่งขันวิ่งระยะไกลชุดโปรด รวมถึงไอเดียการแปลงโฉมบ่อล้างขวดน้ำปลาเก๋ากึ๊กเป็นมุมทำงาน แบ่งสัดส่วนชั้นวาง กล่องจัดเก็บชิ้นส่วนวัสดุต่างๆ และอุปกรณ์ประดิดประดอยอย่างเป็นระเบียบ หากจะมีอะไรทำให้รู้สึกขัดแย้งไปบ้าง ก็อาจเป็นบรรยากาศที่แทบเหลือจะเชื่อว่ากำลังยืนอยู่ในสถานที่ให้กำเนิด Chiangmai Running Sandal ด้วยมีหม้อต้มซอสหวานขนาดยักษ์ กล่องลังกระดาษ ขวดพลาสติกใส จวบไม้พาเลทรายล้อม เคล้ากลิ่นเจือจางของน้ำส้มสายชู

ที่นี่คือโรงงานผลิตสารพัดเครื่องปรุงคู่ครัวตรา ‘สิงห์แดงคู่’ ธุรกิจหลักของหมอ เจ้าของโรงงานรุ่นที่ 3 และโลกใบเล็กหล่อเลี้ยงตัวตนและความรัก ซึ่งเขาหยิบจับเป็นงานรองอย่างการสร้างสรรค์รองเท้าแตะวิ่งมานานกว่า 5 ปี โดยอาศัยใช้เวลายามว่างจากการบริหารวัตถุดิบ ปรุงสูตร หรือจัดการบัญชี ปลีกมานั่งวัด ตัด ร้อย ประกอบทุกชิ้นส่วนรองเท้าพิถีพิถัน ขณะเดียวกันยังถือเป็นจุดปล่อยตัวแรกของชีวิตที่ออกวิ่ง ในวันที่ต้องเลือกว่าจะกินยาไปตลอดหรือออกกำลังกาย

“ก่อนหน้านั้นเราเคยน้ำหนักเกือบร้อยโล มีโรครุมเร้าเยอะมาก จนต้องกินยาเป็นกำๆ แต่ด้วยความกลัวตายและไม่อยากกินยา แพทย์จึงแนะนำว่าให้ออกกำลังกาย ซึ่งการวิ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด เราเลยตัดสินใจออกวิ่ง โดยเริ่มต้นจากโรงงานแล้ววนไปตามถนนในหมู่บ้านทุกเย็น”

ความที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หมอจึงมั่นใจว่าคงผ่านบทเรียนนี้ได้สบาย ทว่าใจที่พร้อมทะยานกลับกลายเป็นบ่าว เมื่อสารพัดรองเท้าเอาอาการบาดเจ็บเรื้อรังไว้ไม่อยู่ จนมาราธอนนัดประเดิมจบลงอย่างสาหัส ก่อนค้นพบกับการวิ่งรูปแบบเท้าเปล่า จากการพยายามหาทางออกให้วิ่งได้ตลอดและเจ็บตัวน้อยกว่า

“คนเราถ้าชอบอะไรจริงจัง เราจะหาวิธีทำมันให้ดีที่สุด ตอนนั้นเราเองก็ลองไปทั่ว เปลี่ยนรองเท้าแล้วยังไงก็ไม่รอด จนมาเจอการวิ่งเท้าเปล่า ซึ่งเขาว่ากันว่าเป็นท่วงท่าการวิ่งธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อร่างกาย และช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ เลยเริ่มฝึกวิ่งจากการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต เรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะนักวิ่งเท้าเปล่ากลุ่มใหญ่จะอยู่กรุงเทพฯ เป็นหลัก”

Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน

จากวันแรกที่เท้าเจ็บเท้าพอง หมอพัฒนาความแข็งแกร่งและหายขาดจากบาดเจ็บเรื้อรัง ส่วนโรครุมเร้าก็เบาบาง เมื่อการวิ่งเท้าเปล่าเข้าเส้นเขาจึงหวนคืนสู่สนาม เปลือยเท้าเปล่าพิชิตมาราธอนค่อนโหล เก็บรางวัล Overall รวมถึงเป็นหัวหน้าทีม Pacer 4 ชั่วโมงในจอมบึงมาราธอน งานแข่งขันวิ่งมาราธอนที่มีชื่อเสียงงานหนึ่งของประเทศไทย

Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน

“ยุคนั้นการวิ่งเท้าเปล่าในเชียงใหม่เป็นเรื่องแปลกใหม่มาก แต่พอคนเห็นเราวิ่งบ่อยและจบมาราธอนได้ก็เริ่มสนใจ เข้ามาถาม มาพูดคุย เราก็แบ่งปันประสบการณ์ให้เขาฟัง สักพักจึงเกิดเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ วันหนึ่งน้องในกลุ่มเห็นเราวิ่งเท้าเปล่าสบายๆ เลยอยากลองวิ่งดูบ้าง แต่ไปได้แค่ห้าสิบเมตรเท้าก็ช้ำเลือด ตรงนี้แหละที่เราคิดถึงเรื่องการทำรองเท้าขึ้นมา”

บนความตั้งใจและไอเดียดิบๆ หมอหยิบยางในรถสิบล้อมาทากาวประกบ แล้วผูกหูหนีบด้วยเชือกขึงเต็นท์ สร้างเป็นรองเท้าแตะวิ่งคู่แรกในชีวิต เพื่อแบ่งปันให้คนที่อยากวิ่งเท้าเปล่า แต่ต้องยกธงขาวเพราะเท้าบาดเจ็บ

Zone 2

แตะพี่หมอ

ย้อนกลับไปประมาณ 7 ปีก่อน การจะหารองเท้าแตะวิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังโดนภาษีนำเข้าจนมีราคาสูงเทียบรองเท้าผ้าใบ เท่าที่จำได้ หมอเล่าว่าแตะวิ่งของคนไทยเจ้าแรกที่เคยใส่ทำขายอยู่แถวสวนลุมพินี พื้นทำจากยางทั่วไป ส่วนเชือกจากหนังควายเส้นยาว เป็นแตะวิ่งสไตล์พันข้อเท้าที่ค่อนข้างยุ่งยาก 

ต่อมาเมื่อเขามีโอกาสลงมือทำเองจึงได้รู้ว่าไม่ใช่ของง่าย เพราะไม่เพียงต้องตอบโจทย์สวมวิ่งได้ แต่ยังมีปัจจัยเรื่องคุณภาพและความดูดี

“ตอนทำรองเท้าแตะจากยางในรถสิบล้อเสร็จ เราใส่วิ่งเดี๋ยวนั้นเลยสามสิบกิโลเมตร รู้สึกว่ามันวิ่งโคตรง่ายเลยนะ เพราะเราเคยชินกับเท้าเปล่ามาไง แต่โจทย์ยากคือ คนอื่นใส่ไม่ได้ ไม่กล้าใส่ ดูไม่สวย อาจมองว่าไม่ใช่รองเท้าเลยด้วยซ้ำ”

หมอเก็บทุกข้อคิดเห็นจากเพื่อนพ้องร่วมวงการ เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนารองเท้าแตะวิ่งคู่ใหม่หลากหลายรูปแบบ โดยสรรหาวัสดุใกล้ตัวมาทดลองทำพื้นรองเท้า ตั้งแต่ม่านกันแมลง แผ่นยางใส แผ่นยางดิบ เสื่อน้ำมัน เรื่อยไปจนถึงกริปเทปสเก็ตบอร์ด ส่วนหูคีบมีทั้งเชือกมัดของ เชือกฟาง เชือกมัดลังน้ำปลา สายเบลท์ ฯลฯ ทว่าพอหยิบยื่นให้ใครทุกคนล้วนส่ายหน้า กว่าจะมาเข้าที่เข้าทางที่แผ่นโฟมประกบหนังควายคู่สายเชือกผ้าร่ม ซึ่งหลายคนเริ่มสนใจและเขาก็พร้อมแบ่งปันให้ด้วยความยินดี 

Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน
Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน

“เราใส่ไปวิ่งที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี แล้วก็เริ่มมีคนเข้ามาทัก คนไหนบอกอยากได้ก็จะทำแจก เพราะอยากแบ่งปัน กระทั่งพอมีคนขอเข้ามาเยอะ เกินยี่สิบคนต่อเดือน เลยทำแจกไม่ไหว ขอเปลี่ยนมาขายถูกๆ แทน คู่ละ 499 บาท กำไรคู่ละสี่สิบบาท แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นแบรนด์จริงจังอะไร เราขายเฉพาะคนที่มาหา ไม่เคยเสนอขายใคร เพราะแค่ได้เห็นคนใช้เราก็ดีใจมากแล้ว”

จากงานสั่งผลิตค่อยๆ ขยับขยายกลายเป็นงานเสริมประจำอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อนักวิ่งคนหนึ่งมีความสุขกับการได้แบ่งปัน และอีกคนได้เจอกับรองเท้าที่ตามหามานาน จากหนึ่งเป็นสอง สี่ และแปด พวกเขาเริ่มพูดถึง บอกต่อ “อ่อ รองเท้าแตะวิ่งของพี่หมอ” เมื่อใครเอ่ยถามถึงต้นตอ จนหลายคนติดปากเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘แตะพี่หมอ’ ในยุคที่ยังไร้แบรนด์

Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน
Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน
Zone 3

ทีมรองเท้าแตะ

หมอแบมือโชว์ตัวล็อกสีแดงแปร๊ด พลางอธิบายว่านี่คือหัวใจของรองเท้าแตะที่เขาทุ่มเวลาออกแบบนาน 8 เดือน และมันจะเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากขาดเพื่อนร่วมทีมที่โคจรมาเจอกันโดยบังเอิญในห้องซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนรองเท้ามือสอง ซึ่งสอยรองเท้าแตะวิ่งรุ่นเก๋าของเขา มีสมาชิกกลุ่มรายหนึ่งปล่อยในราคา 450 บาท แต่ด้วยสภาพรองเท้าค่อนข้างทรุดโทรม หมอจึงทักไปหาเจ้าของใหม่ เพื่อขอรับมาซ่อมให้ใช้งานได้ดีดังเดิมก่อนส่งกลับ นับแต่นั้นคนทั้งสองก็ได้รู้จักกัน

“จริงๆ เราแค่อยากเทคแคร์ลูกค้า เหมือนเป็นบริการหลังการขาย ซึ่งพอเขาได้รับของก็โทรมาขอบคุณ แล้วถามว่าทำไมเราต้องดูแลเขาขนาดนี้ ทั้งที่แค่ซื้อของมือสอง เราเลยตอบเขาไปว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรนะ แค่มันเป็นรองเท้าที่เราต้องรับผิดชอบ และนี่ก็ไม่ใช่ลูกค้าคนแรกที่ทำให้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจังหวะหรือดวงที่ทำให้ได้มาเจอกัน เพราะหลังจากนั้นเขาก็กลับมาช่วยพัฒนารองเท้า เขาเป็นเจ้าของโรงงานพลาสติก และดูแลการผลิตตัวล็อกที่เรามั่นใจ ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นนวัตกรรมเฉพาะของแบรนด์เรามาจนถึงทุกวันนี้”

เช่นเดียวกับชิ้นส่วนอื่นๆ ของรองเท้าที่ล้วนผลิตมาจากทีมงานหลัก ซึ่งบ้างเป็นลูกค้า รวมถึงเพื่อนนักวิ่ง และหลายคนในทีมอาศัยอยู่ต่างจังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ ลำพูน หรือพะเยา 

หากใครมองว่าเป็นโมเดลการทำงานที่แปลกแล้ว ยังมีเรื่องชวนแปลกยิ่งกว่า เพราะหมอเล่าเพิ่มเติมว่า กับเพื่อนร่วมงานบางคนเขาไม่ทราบอายุ กระทั่งไม่เคยเจอหน้า แต่พูดคุยกันอย่างสนิมสนม โดยทุกคนต่างสบายใจที่จะคบหา และแลกเปลี่ยนกันเฉพาะเรื่องวิ่ง เรื่องรองเท้า ไม่ยุ่งก้าวก่ายหน้าที่การงานส่วนตัวกัน พร้อมช่วยลงขันไอเดียปรับปรุงพัฒนารองเท้าแตะวิ่งให้ออกมาดีที่สุด

“สิ่งสำคัญคือ ทุกคนในทีมผลิตต้องได้ใส่รองเท้าแตะวิ่งที่ตัวเองสร้าง เพื่อให้ตอบตัวเองได้ว่าใส่แล้วเป็นอย่างไร มีจุดอ่อน-จุดแข็ง ตรงไหนบ้าง จากนั้นจึงนำฟีดแบกกลับมาช่วยกันพัฒนาผลงาน ทุกวันนี้เราไม่เคยคิดว่าเราใหญ่โตกว่าใคร หรือเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่มองว่าทุกคนในทีมคือเจ้าของ พวกเราอยู่กันด้วยใจ บางทีมันก็อธิบายยากเหมือนกัน” 

การรวมตัวหลวมๆ สู่ธุรกิจจากคนที่รักในสิ่งเดียวกันค่อยๆ ขยับสร้างชื่อเสียง และดึงดูดเหล่านักวิ่งเท้าเปล่า เท้าแตะ จากเมืองกรุงให้ตามมาอุดหนุนกันถึงถิ่น จนต่อมาก็ได้ฤกษ์ก่อตั้งแบรนด์ Chiangmai Running Sandal ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีแนวคิดสร้างสรรค์รองเท้าแตะวิ่งที่มีฟีลลิ่งใกล้เคียงกับการวิ่งเท้าเปล่า ใช้งานง่าย และดีไซน์สวย สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

“โจทย์ของเรายังคงเป็นความต้องการทำรองเท้าให้คนที่อยากวิ่งเท้าเปล่า แต่วิ่งไม่ได้หรือกลัวบาดเจ็บสวมใส่ ดังนั้นการออกแบบจึงยืนหลักเรื่องสัมผัส อารมณ์ ความมั่นคง และปลอดภัย ขณะเดียวกันก็อยากให้ลูกค้ามีรอยยิ้มเวลาเปิดกล่องแล้วเห็นว่ามันสวย รู้สึกอยากสวมใส่ จะใส่วิ่งก็ได้ ใส่เที่ยวก็ดูดี แม้มันอาจไม่ใช่รองเท้าที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยถ้าเป็นรองเท้าที่เขาอยากใส่ที่สุด แค่นี้ก็สมหวังเราแล้ว”

Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน
Chiangmai Running Sandal รองเท้าแตะทำมือสำหรับวิ่ง จากนักวิ่งเท้าเปล่าระดับตำนาน
Zone 4

รองเท้ากับหัวใจ

ท่ามกลางขบวนเปิดตัวของทัพรองเท้าวิ่งแบรนด์ชั้นนำในช่วงครึ่งปีหลัง ที่งัดสารพัดนวัตกรรมโฟมและแผ่นคาร์บอนออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด ผมบังเอิญไถฟีดเฟซบุ๊กไปเจอรูปของนักวิ่งหนุ่มคนหนึ่งแชะภาพตัวเองกับป้ายหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง พร้อมแคปชั่นบรรยายความภูมิใจที่สามารถพิชิตการวิ่งระยะอัลตร้า 100 กิโลเมตร ที่แสนโหดจากเชียงใหม่ถึงลำปาง แต่สิ่งที่สะดุดความสนใจยิ่งกว่า คือเขาคว้าเป้าหมายนี้ด้วยรองเท้าแตะเพียงคู่เดียว 

และผมเพิ่งจะทราบภายหลังว่า นั่นคือรองเท้าแตะวิ่งของ Chiangmai Running Sandal รุ่นถนนโปร 

“จริงๆ แบรนด์เราเพิ่งมาเป็นที่รู้จักวงกว้าง ก็ตั้งแต่ตอนเปิดตัวรุ่นถนนโปรช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้นลูกค้าส่วนใหญ่ถือว่าอยู่ในแวดวงเฉพาะกลุ่มมาก” 

ปัจจุบัน Chiangmai Running Sandal มีผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นถนนโปรและเทรลไฮบริด ไม่นับรุ่นเทรล ค.ศ. 2020 รองเท้าแตะวิ่งตัวประเดิมที่หมอเลือกเก็บเข้ากรุแทนเทขายลดราคา 

“รองเท้าแตะเทรลรุ่นแรก เราใช้แผ่นยางดิบ โฟมเกรดเอ และแผ่นยางปูพื้นฟิตเนส มาทาก้าวซ้อนกันสามชั้นเป็นพื้นรองเท้า แต่ตอนหลังด้วยเทคโนโลยีและความเข้าใจ ทำให้เราเห็นว่าพื้นรองเท้าลักษณะนี้สร้างปัญหา ‘รองเท้าเครียด’ เนื่องจากวัสดุแต่ละชนิดมีมวลไม่เหมือนกัน พอจับมารวมกันเลยมีความไม่เป็นธรรมชาติ พื้นผิวตึง ไม่ยืดหยุ่น และอาจส่งผลต่อกระทบต่อเอ็นร้อยหวาย 

“เรื่องนี้ไม่ใช่เพราะลูกค้ามีฟีดแบกกลับมาไม่ดี แต่เราเองรู้ว่ามันยังดีไม่พอ เลยเลือกเก็บกลับเข้ากล่องเกือบร้อยคู่ เพราะอยากให้ลูกค้าใช้ตัวที่ดีที่สุด ส่วนคำว่าขาดทุนช่างมัน แล้วก็ไม่เคยคิดดำน้ำขายลดราคา ต้องอย่าลดราคาเหมือนลดคุณค่าของตัวเอง เราไม่ลด แต่จะเอาไว้ให้คนที่เขาอยากได้ ให้ฟรีไม่คิดเงิน”

สิ่งที่ทำให้หมอตัดสินใจเด็ดขาด คือความสำเร็จในการพัฒนาพื้นรองเท้าจากวัสดุใหม่ ที่โดดเด่นในเรื่องน้ำหนักเบา ยึดเกาะเยี่ยม ผิวสัมผัสแข็งทว่ายืดหยุ่นสูง ช่วยให้วิ่งสบายเท้าและหมดปัญหารองเท้าเครียด รวมถึงคงความเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับรองเท้าวิ่งแนวมินิมอล ด้วยพื้นรองเท้าแบนราบสูงเสมอกันทั้งเท้า (Zero Drop) ซึ่งถูกนำมาเปิดตัวในรุ่นถนนโปร และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ ในรองเท้าแตะหนึ่งคู่ยังมีส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ อาทิ เชือกรองเท้าจากเชือกปีนเขา ที่มีความเหนียวนุ่มไม่บาดเท้า เชื่อมกับพื้นรองเท้าด้วยเทคนิคเฉพาะ อย่างการฝังเย็บบริเวณขอบข้างเพื่อให้ชิ้นงานออกมาเรียบร้อย ทนทาน พร้อมวางองศาเชือกบริเวณรัดส้นระดับ 45 องศา ก่อนร้อยผ่านตัวรองส้นเท้า ซึ่งช่วยไม่ให้รองเท้าหลุดส้น กระจายแรงกดทับตรงเอ็นร้อยหวาย และเพิ่มความปลอดภัยสำหรับการวิ่งในที่มืดด้วยแถบสะท้อนแสง

ส่วนเรื่องสวมใส่ง่ายกระชับ ต้องยกความดีความชอบให้กับตัวล็อก นวัตกรรมอันถือเป็นหัวใจของรองเท้า เพราะผู้ใช้งานสามารถรวบหรือคลายสายรองเท้าได้ทันที เพียงปรับจุดนี้แค่จุดเดียว

สำหรับความแตกต่างของรองเท้าทั้งสองรุ่น หมออธิบายว่ารุ่นถนนโปรเหมาะสำหรับคนเน้นวิ่งถนน ทำความเร็ว ด้วยพื้นรองเท้าหน้า 14 มิลลิเมตร จึงให้ความคล่องตัวสูงและความรู้สึกดิบใกล้เคียงกับวิ่งเท้าเปล่า ชนิดสัมผัสได้ทุกย่างก้าวที่เหยียบเศษหินหรือกิ่งไม้ ขณะรุ่นเทรลไฮบริด พื้นจะหนาและดอกยางแน่น ตอบโจทย์คนชอบวิ่งตะกุยเขา ให้การซัพพอร์ตที่เหนือกว่า แต่ความเร็วเป็นรอง ทั้งยังออกแบบมาให้สวมใส่วิ่งถนนหรือซิตี้รันได้อีกด้วย

รองเท้าแตะของ หมอ-สุรศักดิ์ สืบมงคลชัย ที่ตั้งใจแก้ปัญหาบาดเจ็บจากการใส่รองเท้าวิ่ง

ทุกครั้งที่ทำโมเดลต้นแบบเสร็จ เราจะส่งไปให้นักวิ่งทั่วประเทศทดสอบประมาณยี่สิบถึงสามสิบคู่ โดยทั้งหมดเป็นนักวิ่งเท้าเปล่ามาราธอนที่เราติดตามดูสถิติการวิ่ง และเห็นว่าเขาสามารถดึงศักยภาพรองเท้าออกมาได้ดีที่สุด”

หนึ่งในนักวิ่งทดสอบซึ่งหมอบอกว่าเปรียบเสมือนแขนขาอีกข้างของแบรนด์ ที่รองเท้าแตะวิ่งทุกคู่จะต้องผ่านฝีเท้าของเขา คือ โจ้-อดิศร ยงศรีเกษตร (อาจารย์โจ้ #ดดด) นักวิ่งโลคอลผู้หันมาวิ่งเท้าเปล่าเพราะประสบการณ์บาดเจ็บเรื้อรังจากรองเท้าผ้าใบ ก่อนเสพติดแตะวิ่ง Chiangmai Running Sandal โดยล่าสุดเขาเพิ่งพารองเท้าแตะแดงคู่ใจไปดันสนามอัลตร้ามาราทอน Until 100K CNX Loop 2021 – Zero Edition จบการแข่งขันระยะ 100 กิโลเมตร ด้วยการคว้าอันดับ 5 ทำเวลา 11.45 ชั่วโมง 

“เสน่ห์รองเท้าแตะวิ่งของพี่หมอ คือการให้ฟีลแบบวิ่งเท้าเปล่า สำหรับนักวิ่งแตะเท้าใหม่อาจรู้สึกว่าพื้นรองเท้าสากแข็ง คิดว่าถ้าได้ลองใช้ไปสักระยะจะเริ่มชิน และนั่นคือข้อดีที่ทำให้เท้าเราไม่ลื่นไถล การวิ่งแนวรองเท้าแตะช่วยสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง และเผาผลาญพลังงานดีกว่ารองเท้าผ้าใบ เพราะในระยะทางเท่ากัน รองเท้าแตะใช้รอบขาเยอะกว่า ร่างกายจึงทำงานหนักกว่า สำคัญสุดคือเราจะได้วิ่งในท่าทางเป็นธรรมชาติ ลดเปอร์เซ็นต์บาดเจ็บ แถมยังมีความปลอดภัย เพราะมันป้องกันไม่ให้เท้าเหยียบเศษแก้ว เศษตะปู” โจ้แลกเปลี่ยนความหลงใหล

“ปกติถ้ามีลูกค้าถามเราจะบอกเลยว่า ห้ามใส่ถุงเท้า ไม่ต้องใส่ เพราะอยากให้เขาได้ฟีลแบบที่โจ้บอก ดังนั้น คนเท้านุ่มๆ ซื้อรองเท้าเราไปใส่อาจต้องทนช่วงเริ่มต้นหน่อย แต่ส่วนใหญ่มาซื้อตามเพื่อนแนะนำ พอเขาใส่แล้วเท้าพอง เพื่อนก็จะบอกว่าเดี๋ยวหายเอง ซึ่งเขาเชื่อเพื่อนมากกว่าเราแน่นอน เลยไม่ค่อยมีปัญหา” หมอหัวเราะ “ขนาดรองเท้าผ้าใบคู่ใหม่ยังกัดเลย ถ้าเราผ่านไปได้ก็จบ มันไม่มีอะไรดีร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก”

รองเท้าแตะของ หมอ-สุรศักดิ์ สืบมงคลชัย ที่ตั้งใจแก้ปัญหาบาดเจ็บจากการใส่รองเท้าวิ่ง
Zone 5

กำไรความสุข

“ลูกค้าชอบงงว่า ทำไมเราถึงถามน้ำหนัก ส่วนสูง อายุ อาชีพ สถานที่วิ่ง หรือเพซวิ่งในระยะสิบกิโลเมตร เพราะเหล่านี้มีผลต่อการนำมาประเมินเพื่อจะได้แนะนำเขาถูกว่าควรใช้รองเท้ารุ่นไหน แบบไหน ยกตัวอย่าง ถ้าคนชอบวิ่งเร็วเราก็จะเลือกรุ่นถนนโปร ตัดรองเท้าให้ขนาดพอดีกับเท้าไม่ให้เหลือแม้แต่มิลลิเมตรเดียว เพราะถ้าเหลือ มีโอกาสเสี่ยงวิ่งไปเตะพื้นหรือสะดุด เกิดอุบัติเหตุง่ายกว่า และกลายเป็นภาระของการวิ่ง”

นี่คือความใส่ใจในรายละเอียดของหมอที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า จะได้รองเท้าที่ตอบโจทย์การใช้งานสูงสุด ความพิเศษอีกอย่างคือ ลูกค้ายังสามารถถ่ายทอดความเป็นตัวเอง ด้วยการเลือกชิ้นส่วนพื้นรองเท้า เชือก ตัวล็อก และตัวรองส้นเท้า หลากหลายสีสันได้ตามต้องการ ตลอดจนพร้อมให้บริการคนเท้าพิการ เท้าผิดรูป หรือเท้ายาวไม่เท่ากัน เนื่องจากพื้นรองเท้าทุกขนาดใช้วิธีการตัดด้วยมือ ซึ่งหากใครเท้ามีปัญหา หมอแนะนำว่านัดหมายเข้ามาวัดเท้าที่โรงงานได้ เพื่อความชัวร์กว่าการสั่งทางเพจเฟซบุ๊ก โดยการประกอบรองเท้าทุกคู่ล้วนผ่านน้ำหนักมืออันประณีตและคล่องแคล่วของหมอ รองเท้าหนึ่งคู่จึงใช้เวลาทำไม่นานนัก ส่วนมากสั่งเช้า จัดส่งเย็น 

พลันหมอเล่าต่อถึงกลุ่มลูกค้าของ Chiangmai Running Sandal ให้ฟังว่า “ช่วงนี้มีลูกค้าต่างประเทศแวะมาอุดหนุนทุกสัปดาห์ ทั้งจากอเมริกา มาเลเซีย เมียนมา และสิงค์โปร์ บ้างเป็นลูกค้าที่ไปเจออาจารย์โจ้วิ่งบนดอยแล้วตามมาซื้อ บางคนเห็นเพื่อนซื้อไปใช้ พอได้มาไทยบ้างเลยเหมาทีเดียวห้าคู่ก็มี ส่วนลูกค้าคนไทยช่วงแรกจะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่สูสีกัน ลูกค้าเชียงใหม่มีเข้ามาเกือบทุกวัน เมื่อเช้าก็ขายได้ตั้งสามคู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงตอบรับจากลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่หมอกลับเลือกวิ่งสวนทางการตลาด เขาปฏิเสธที่จะขยายกิจการทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ 

“การเปิดหน้าร้านหรือวางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาจช่วยให้เราขายดีก็จริง แต่กำไรก็คงไม่ได้เยอะขึ้นเท่าไหร่ และส่วนตัวการทำรองเท้ามันไม่ใช่อาชีพ แต่เราแค่สนุกกับมัน มีรอยยิ้มกับมัน ไม่ได้คิดว่า เฮ้ย มีคนอยากได้เยอะ ต้องปั่นกระแส ปั่นราคา เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการคือ อยากให้ทุกคนได้ใช้ของดี ราคาคุ้มค่าในจุดที่เขารับได้ อีกอย่างเราสนุกกับการเจอลูกค้าที่มาซื้อถึงที่ มาปรับเท้ากับรองเท้า เห็นรูปร่างเท้าของทุกคน และได้พูดคุยกัน เพราะความรู้หลายอย่างเราก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยนตรงนั้น เราชอบวิธีการทำงานแบบนี้มากกว่า”

จากวันที่เคยแจกฟรีไม่มีใครสน จนก้าวมาถึงจุดขอให้ลูกค้ารอตามคิว หมอบอกว่านี่คือจุดที่เขาแสนพอใจ เป้าหมายของวันนี้และพรุ่งนี้ จึงเป็นการทุ่มเททำสิ่งที่รักและมีความสุข เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับคนที่รักในสิ่งเดียวกัน และหากจะมีธงอะไรสักอย่างที่พิสูจน์การเติบโตของ Chiangmai Running Sandal นั่นคือธงของการพัฒนา หาใช่การขยับขยาย ยอดขาย หรือผลกำไร

“สิ่งที่เรากลัวมากที่สุด คือกลัวว่าเราจะหยุดคิดรองเท้ารุ่นใหม่ๆ ออกมา ดังนั้น หัวใจสำคัญของแบรนด์เรา จึงเป็นการพยายามไม่หยุดพัฒนา และต้องชัดเจนในตัวตน บอกตรงๆ เราไม่เคยสนใจกระแสรอบข้าง เห็นเขาทำแบบนั้นแล้วขายดีต้องตาม คนส่วนมากชอบคิดแบบนี้ แต่เราไม่เคยมอง เรามองแต่ไอ้นี่” หมอคว้ารองเท้ามาจากกองรอแพ็กส่งลูกค้า “เอาเวลามาคิดพัฒนารองเท้าเราให้มันดีขึ้นดีกว่า”

รองเท้าแตะของ หมอ-สุรศักดิ์ สืบมงคลชัย ที่ตั้งใจแก้ปัญหาบาดเจ็บจากการใส่รองเท้าวิ่ง

Lessons Learned

  • ทำสินค้าจากสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรวบรวมความเห็นจากผู้ใช้อื่นๆ ให้ได้มากที่สุด แล้วพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ดีที่สุด
  • ทีมจะเวิร์ก งานจะออกมาดี ทุกคนในทีมต้องเข้าใจในผลิตภัณฑ์ และคนเป็นผู้นำต้องรู้จักเปิดใจรับฟังความคิดเห็น
  • อย่ารีรอฟีดแบกจากลูกค้า หากรู้ว่าสิ่งใดยังไม่ดีพอ ให้ตอบตัวเองและลงมือปรับปรุงพัฒนา
  • ความจริงใจ คือกุญแจที่ทำให้การตลาดแบบปากต่อปากมีประสิทธิภาพ

Chiangmai Running Sandal

โทรศัพท์​ : 08 1287 4862

Facebook : Chiangmai Running Sandal

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ