จะมีบ้านสักกี่หลังกันเชียวที่ตั้งโจทย์รีโนเวตบ้านเก่า จากเพลง 3 เพลง… 

เป็นเพลงของเธอ ของเขา และ ‘ของเรา’ บ้านที่เขาให้คำนิยามว่า เป็นบ้านธรรมดาที่พิเศษ ซึ่งมีเจ้าของบ้านเป็นแมว 3 ตัว และคน 2 คน

ฟรีด้า โป่งน้อย, โอดอย ป่าจี้ และ ดีดี้ ห้วยทราย คือชื่อแมว

จ๋า-วาสุธา และ ม่อน-คุณวุฒิ นั่นชื่อคน 

ทั้งสองไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่กำเนิด แต่เลือกลงหลักปักฐานทำงานทำการที่นี่ ทั้งคู่เคยรีโนเวตบ้านทาวน์เฮาส์ให้เหมาะกับการใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างถูกใจ แต่มีเหตุต้องย้ายเพราะสภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนไป จึงหาบ้านหลังใหม่ใต้คอนเซ็ปต์ซื้อบ้านเก่าปรับปรุงใหม่ แต่ครั้งนี้บ้านหลังใหญ่ขึ้นและทั้งสองเพิ่งเริ่มงานประจำใหม่ เลยตั้งใจเลือกสถาปนิกมารีโนเวตบ้าน ตามความต้องการที่ว่า สมาชิกหลักของบ้าน 3 ตัวต้องอยู่สบาย มีที่วางตำแหน่งแห่งที่ให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงและของสะสมอย่างลงตัว ขอห้องทำงานโปร่ง แสงธรรมชาติเข้าได้  และให้บรรยากาศของบ้านอวลอยู่ในท่วงทำนองของเพลง 3 เพลง คือ Champagne Supernova ของ Oasis, No Surrprise ของ Radiohead และ Stop Where You Are ของ Corinne Bailey Rae  

Champagne Supernova เพลงของเรา

“ผมเลือกเพลงหนึ่ง จ๋าเลือกเพลงหนึ่ง และเราเลือกเพลงหนึ่ง เพราะ Champagne Supernova จ๋าก็ชอบเหมือนกัน… ผมอยากเริ่มอย่างครับว่า 3 เพลงนี้ไม่ใช่ 3 เพลงที่ผมกับจ๋าชอบที่สุด ไม่ใช่เพลงที่ Represent ตัวตนของเรา แต่ Represent บ้านเรา (เสียงจ๋าแทรกขึ้น “บรรยากาศที่เราอยากอยู่”) ใช่ ๆ ฉะนั้นมันอาจจะไม่ใช่เพลงที่เราชอบที่สุด แต่เราคิดว่าเราจะอยู่กับ Vibe ของบ้านยังไง เพราะฉะนั้นโจทย์ก็คือ แล้วเพลงไหนที่เราฟังได้โดยที่เราไม่เลี่ยน ไม่เบื่อมัน” 

ม่อนและจ๋าอธิบายเริ่มต้นถึงแนวคิดในการปรับปรุงบ้าน ไอเดียเลือกเพลงให้สถาปนิกนำไปขบคิดและตีโจทย์ออกมาเป็นหน้าตาบ้านที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในตอนนี้ และ HUES Development ก็สามารถออกแบบได้อย่างลงตัว 

ม่อนขยายความต่อถึงเพลงนี้ว่า “ผมคิดว่าเพลงเพลงนี้ของวงโอเอซิสเป็นเพลงที่คลาสสิก แล้วก็ฟังได้ไม่มีวันเบื่อ เป็นมาสเตอร์พีซ และผมกับจ๋าก็อยากให้บ้านของเรา ที่แม้ว่าโทนสีหลัก ๆ จะเป็นสีขาวกับไม้ แต่เมื่อเวลาเปิดไฟแล้วมันจะมีแสงเป็นสีชมพู เป็นสีที่อาจจะไม่ใช่สีของแชมเปญเป๊ะ ๆ แต่อยู่ในบรรยากาศนั้น 

“และเนื้อเพลงก็สำคัญนะ ในเพลงมีท่อนหนึ่งที่พูดว่า Where were you while we were getting high? ประมาณว่า บ้านนี้เป็นที่ที่เราอยากจะกลับมา มาอยู่กับแมวเรา อยู่กับที่ของเรา อยู่กับ Vibe ที่เราคุ้นเคย เพราะฉะนั้น มันต้องอยู่ครบ ไม่ใช่ครบแค่ผมกับจ๋าเท่านั้นนะ แมว ๆ ก็ต้องอยู่ครบ 

“จ๋ากับผมไม่ใช่คนเชียงใหม่ ก็เหมือนเรามาเริ่มต้นที่นี่กัน 2 คน ฉะนั้น Vibe ที่จะทำให้ความรู้สึกเป็น ‘บ้าน’ ไม่ขาดหายไปต้องเป็นอย่างนี้นะ ตอนที่คิดถึงเพลงนี้ ก็ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองเนอะ (หันไปทางจ๋า) คิดถึงแมวด้วย เพราะเราไม่ได้เลี้ยงเขาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่เป็นสมาชิกของครอบครัวเรา” 

How many special people change?

How many lives are living strange?

Where were you while we were getting high?

ในชีวิตเรามีคนที่เข้ามาแล้วก็ไป ทุกคนก็ใช้ชีวิตไปในแบบของตัวเอง นี่เราก็อยู่ของเรา แล้วคุณล่ะไปอยู่ที่ไหนกัน ขณะที่เรามีความสุขกันอยู่ ไม่ได้สิ ‘เรา’ ต้องอยู่ด้วยกัน

ม่อนพูดถึงเนื้อเพลงท่อนนี้ให้ฟังก่อนจะแปลแบบเร็ว ๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ทั้งสองคนมองว่าคือหัวใจหลักของบ้าน และนอกจากเนื้อเพลงแล้ว เขายังบอกว่า ท่วงทำนองของเพลงฟังแล้วให้พลัง 

“ผมคิดว่า คนที่ไม่ได้เป็นแฟนเพลงประเภทนี้อาจจะนึกไม่ออกว่าบ้านมันเกี่ยวอะไรกับเพลง แต่เมื่อบ้านเสร็จและผมลองเข้ามาอยู่บ้าน แล้วลองเปิดเพลงพวกนี้ฟัง ผมรู้สึกว่าบรรยากาศมันเป็นอย่างที่เราอยากอยู่และเพลงก็เข้ากับบ้านเลย อันนี้ผมต้องให้เครดิตสถาปนิกมาก ๆ” 

สถาปนิกที่พูดถึง คือบริษัท HUES Development ซึ่งเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้รับโจทย์การทำงานเป็นเพลง 3 เพลง ที่นอกเหนือไปจากฟังก์ชันและภาพรวมของบ้านที่อยากได้ ออม-กุหลาบ เลิศมัลลิกาพร สถาปนิกผู้ออกแบบเล่าเบื้องหลังการทำงานว่า เปิดฟัง 3 เพลงนี้วนไปวนมาตลอดการทำงาน และตีความออกมาเป็นมู้ดแอนด์โทนของบ้าน วางแพนโทนสี และดีไซน์อย่างที่เห็นนี้ 

“เราตีความออกมาเป็น Abstract มากกว่า ลองดูเมโลดี้ของเพลงแล้วก็ใส่เส้นเคิร์ฟไปให้มันดูสมูท ทั้งเรื่องขององค์ประกอบของบ้าน สี ก็มาทางวอร์มโทน เอิร์ธโทน และใส่กิมมิกรายละเอียดเล็ก ๆ ของวัสดุที่ไม่ได้ดูเรียบร้อยเกินไป คือมีความเหลื่อมกันของสี รู้สึกเหมือนกับเพลงที่มีโน้ต มีเมโลดี้ต่าง ๆ แต่มาอยู่แล้วกลืนกัน มีความรู้สึกนี่คือบ้าน มีความอบอุ่น 

“ถ้าจะบอกว่าบ้านเป็นสไตล์อะไร จริง ๆ จะบอกเป๊ะ ๆ ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะมันไม่เป็นแบบนั้นซะทีเดียว แต่ถ้าพูดรวม ๆ ก็ว่าได้ว่ามาจากยุค 80 90 เพราะแนวเพลงของคุณม่อนอยู่ในยุคนั้น เหมือนฟังเพลงแล้วเข้ามาอยู่ในบ้าน ก็ยังอยู่ในช่วงนั้น เข้ากับการใช้แผ่นเสียง ของสะสม และเราก็ผสมโมเดิร์นเข้าไปด้วย” 

การรีโนเวตหลัก ๆ คือการเปิดพื้นที่ด้านล่างจากที่กั้นห้องย่อย ๆ ให้ทะลุถึงกัน แล้วออกแบบพื้นที่การใช้งานใหม่ ชั้นล่างเปิดโล่งเชื่อมต่อกันตั้งแต่พื้นที่ห้องนั่งเล่น พักผ่อน ห้องครัว และเดย์เบดที่ปรับเป็นมุมทานข้าวได้ และด้านข้างนั้นยังเป็นประตูเล็กออกไปสู่กรงแมวด้านนอก ให้สมาชิกหลัก 3 เหมียวเข้าออกนอกในบ้านอย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะวิ่งหลุดออกไปนอกบ้าน 

ม่อนเล่าถึงตรงนี้ว่า แมวกลายเป็นเหมือนคอมฟอร์ตโซนของเราไปแล้ว พอมาทำบ้านนี่ก็เป็นโจทย์หลักของเราด้วยนอกจากชีวิตเราสองคน ก็คือบ้านต้องเข้ากับแมวด้วย บอกคุณออมว่าขอให้แมวอยู่ได้โดยที่ไม่เป็นภาระกับเรามาก เพราะแต่ก่อนต้องคอยเก็บอึในบ้าน ซึ่งคนที่เลี้ยงแมวจะรู้ และมันจะมีกลิ่นแน่นอน ถึงจะดูแลยังไงก็ตาม แต่อันนี้สบายเลย และก็ทำให้มีที่ให้วิ่งเล่น”

ห้องที่เจ้าของบ้านประทับใจมากคือ ห้องทำงานด้านล่างของคุณม่อนที่ปรับมาจากห้องซักล้างและเก็บของ โดยผลักฝ้าด้านบนเปิดทะทุขึ้นไป เพื่อให้เกิดช่องแสงอย่างที่ต้องการ ส่วนฝ้าที่ถูกดันขึ้นก็ออกแบบยกพื้นให้กลายเป็นเตียงเล่นระดับในห้องทำงานของคุณจ๋า กลายเป็นมุมนอนเล่นในวันทำงาน หรือห้องนอนแขกก็ได้ 

No Surprise เพลงของเขา

ไม่น่าแปลกใจหรอกที่บ้านหลังนี้จะอวลไปด้วยท่วงทำนองของเพลงต่าง ๆ หากรู้ว่าม่อนเป็นนักฟังเพลงจริงจัง เป็นนักดูคอนเสิร์ตที่แทบไม่พลาดทุกคอนเสิร์ตของวงโปรด และเป็นนักวิจารณ์เพลงที่เขียนให้กับนิตยสารเพลงอย่าง Music Express ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง แม้ทุกวันนี้จะทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม เขาก็ยังเป็นนักฟังเพลงอย่างจริงจังไม่เคยเปลี่ยน การฟังเพลงของเขาอยู่ในแทบทุกช่วงเวลาของชีวิต ไม่ใช่แค่ฟังผ่าน ๆ แต่ลงลึกไปถึงเนื้อหา ที่มาที่ไป และประวัติศาสตร์ชีวิตของศิลปินที่ชื่นชอบ

“การฟังเพลงของผมมันเป็นมากกว่างานอดิเรก กลายเป็นชีวิตผมไปแล้ว ถ้าผมชอบเพลงไหน ผมจะฟังเพลงนั้นอยู่เพลงเดียว สามสี่วัน แล้วผมก็จะไม่ฟังมันอีกเลย ดังนั้น เพลงไหนล่ะที่ผมฟังได้เรื่อย ๆ ไม่มีเบื่อ เพลงนั้นจึงเป็นที่มาของบรรยากาศบ้านที่ผมอยากอยู่ 

“ตอนเลือกเพลงของผม มีหลายเพลงมากที่เข้ามาให้รู้สึก แวบแรกผมนึกถึง No Surprise ของ Radiohead ก่อน ถ้าเทียบกับเพลงอื่นของวง เพลงนี้อาจจะไม่ได้ดังมาก แต่เป็นเพลงที่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนว่า เราตั้งสติได้ เป็นเพลงที่เวลาฟังปุ๊บมันจะหม่น รู้สึกไร้พลัง เกิดสภาวะบางอย่างเหมือนเราอยากเอนตัวลงบนฟูกแล้วก็คิดทบทวนกับตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าสภาวะแบบนี้เราควรทำในชีวิตบ่อย ๆ 

“เพลงนี้เป็นเพลงที่ฟังแล้วมีสติ ผมฟังบ่อยมากก่อนจะทำงานที่ต้องคิดเยอะ ๆ ก่อนเขียนวิทยานิพนธ์ของผม หรือว่างานเขียนต่าง ๆ มันไม่ใช่เพลงที่ให้ Vibe ที่ว้าว ปัง อลังการ หรูหรา แต่เป็น Vibe ธรรมดาที่เราจะไม่มีทางเลี่ยน ไม่มีทางเบื่อ อยู่กับมันได้เรื่อย ๆ ไปตลอด โดยที่กราฟจะนิ่ง ไม่ขึ้นไม่ลง ฟังแล้วก็ฟังได้อีก สำหรับผม Vibe ของบ้านมันควรจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่งั้นก็จะเห่อบ้านอยู่แวบหนึ่ง แล้วก็จะไม่อะไรกับบ้าน ไม่อยากดูแลบ้านละ ผมอยากให้มันเป็นบ้านธรรมดาที่พิเศษสำหรับเรามากกว่า”

ถามนักฟังเพลงอย่างม่อนว่า แล้วเชียงใหม่เหมาะกับการฟังเพลงไหม

“ถ้าเรื่องเสียง ความเงียบสงบ ผมว่าเชียงใหม่เหมาะมาก ๆ เลย อธิบายอย่างนี้ดีกว่า ผมว่า Vibe กรุงเทพฯ เหมาะกับการฟังดนตรีสด คือผมเป็น Concert-goer นะ ก่อนโควิดผมไปไม่ต่ำกว่า 10 เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่เหมาะกับการฟังคอนเสิร์ตอิมพอร์ตอันดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเชียงใหม่มันไม่มี แต่ว่าถ้าเราพูดถึงดนตรีสดแบบแจ๊ส แบบแจมมิ่ง ใครขึ้นไปแจมก็ได้ เชียงใหม่ก็ยังเป็น Vibe ที่ดี 

“ถ้าพูดถึงการฟังดนตรีแบบตั้งใจฟังอยู่ที่บ้าน เชียงใหม่อาจจะเหมาะกับผมมากกว่ากรุงเทพฯ อันดับหนึ่งคือ บ้านผมพ่อแม่อยู่ ถ้าฟังก็คงรบกวนเขา อันดับสองคือ ผมอยู่สาทร เมืองที่แม้ว่าตอนกลางคืนรถไม่ติด แต่ก็ยังมีเสียงแตร เสียงบ้านคนนั้นคนนี้ ไม่มีความเงียบชนิดที่ว่าเราจะตั้งใจฟังเพลงได้ เพราะฉะนั้น Vibe ในเชียงใหม่เหมาะกับการฟังเพลงคนเดียวที่บ้าน และอาจจะมีบรรยากาศอย่างอื่นเสริมเข้ามาอีก เช่น บ้านเราอยู่ตีนดอย ฟังโฟล์กจากฟิลาเดลเฟีย The Milk Carton Kids ซึ่งเป็นวงที่ผมชอบ ก็เหมาะมากเลย ตอนเช้ามีหมอกลงนิด ๆ เป็น Vibe ที่เข้ากั๊นเข้ากัน ผมคงจะฟังโฟล์กในกรุงเทพฯ ด้วยความรู้สึกแบบนี้ไม่ได้ มู้ดมันก็คงไม่ไหว” 

ในห้องทำงานของม่อน มีกรอบรูปดึงดูดสายตาอยู่กลุ่มหนึ่ง ม่อนบอกว่านี่คือ Set List เพลงในคอนเสิร์ตที่เขาไปฟัง “ผมไปขอเขา แล้วไปขอลายเซ็นจากนักดนตรี” เรื่องเล่าของ Set List ฟังสนุกมากหลากที่มา ล่าสุดนั้นเป็นคอนเสิร์ตแรกที่จัดขึ้นในช่วงโควิด ลักษณะ Live จากสตูดิโอ และส่ง Set List กับบัตรมาให้ทางบ้าน

“ถ้าเทียบกับโปสเตอร์ที่ยังมีวงการเก็บสะสม Set List อย่างนี้คนยังไม่ค่อยเก็บ ผมหมายถึงในเมืองไทยนะ แต่ต่างประเทศก็มีราคานะ” 

Stop Where You Are เพลงของเธอ

โลกนอกบ้านจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อกลับเข้ามาในบ้าน ได้อยู่กับสิ่งที่รัก วางใจลงจากความวุ่นวาย และเป็นตัวของตัวเองที่สุด คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้บ้านมีความหมายอย่างนั้น เป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับเรา ซึ่งเพลงของเธอที่เลือกมาสะท้อนความรู้สึกที่ว่านี้ 

“เป็นแนวเพลงโซลออกแจ๊ส ฟังแล้วสบาย ๆ แบบที่เราอยากให้บ้านอยู่ในบรรยากาศนั้น คือเราเป็นสาวออฟฟิศเนอะ กลับบ้านมาก็อยากรู้สึกได้พักผ่อน ได้รู้สึกอบอุ่นในบ้านของเรา และจ๋าดูที่เนื้อเพลงด้วยค่ะ ประมาณว่า แสงตอนเช้าที่เข้ามานะ ให้หยุดอยู่กับตรงนี้ ที่คุณอยู่แล้วก็คิดถึงตัวเอง คิดถึงชีวิต อาจจะมีความคล้ายกับม่อนนิด ๆ ที่มันสะท้อนตัวเอง เมื่อตอนเด็ก ๆ จ๋าไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน และได้รู้จักนักดนตรี 2 คนที่ทำให้ผ่านช่วงนั้นมาได้ คือคนนี้ Corinne กับ นอร่า โจนส์ เลยเป็นแฟนเพลงมาตั้งแต่ตอนนั้น คือจ๋าฟังเพลงอยู่ไม่มาก ก็เลยเลือกเพลงของเขามา เป็นเพลงในอัลบั้มใหม่”

ความกลมกลืนของบ้าน ความอบอุ่นในแสงไฟยามค่ำ สีของอิฐที่วางตัวเก๋ด้านหน้าล้อไปกับโค้งของฝ้าเพดาน กรอบหน้าต่าง สีของไม้ กระเบื้องสีแชมเปญ งานศิลปะภาพเธอและเขาจากศิลปิน Aura ที่จ๋าชื่นชอบ โปสเตอร์คอนเสิร์ต ภาพจิ๊กซอว์ ฟรีดา คาห์โล เคียงคู่ ดิเอโก ริเบรา เสียงเพลงจากแผ่นเสียง และ ฟรีดา ดีดี้ และ โอดอย คือองค์ประกอบหลักที่ทำให้ความรู้สึกถูกเติมเต็ม

จ๋าเล่าถึงที่มาของงานศิลปะผลงาน Aura ว่า เลือกเป็นภาพในงานแต่งงานแทนภาพพรีเวดดิ้ง เป็นภาพในการ์ดเชิญ 

“จ๋าเห็นผลงานคุณออร่าจากไอจี ก็ติดต่อไปค่ะ บอกไปว่าอยากได้ภาพที่เราใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน เขาส่งสเก็ตช์มา แล้วเราก็เลือกภาพกัน เราประทับใจในความประณีตของเขา ม่อนขอให้เขาทำแมวให้ เขาก็เติมให้มีรายละเอียด มีหนวด มีขนแมวด้วย (ยิ้ม)” 

“ผมคิดว่าแมวเป็นอีกปัจจัยในชีวิตนอกจากการฟังเพลง กลับมาบ้าน มาเหนื่อย ๆ มาเจอแมวที่เรารับมาเลี้ยง 3 ตัว ความเหนื่อยก็หายไป บางคนใช้คำว่าทาสแมว ผมคิดว่าคำนี้มีปัญหา ไม่ใช่ทาสหรือไม่ทาสนะ แต่มันเป็นสมาชิกในครอบครัว เราเป็นครอบครัวเดียวกัน จะบอกว่ามันเป็นทาสเราก็ไม่ใช่อีก คือมันไม่ได้น่ารักเหมือนหมาไง มันมีนิสัยประหลาด ๆ เช่น ขี้อิจฉา ขี้หงุดหงิด บางวันอยากอ้อนให้เราดูแล บางวันไม่อยากให้ยุ่ง แล้วเราคงให้มันทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ 

“แต่ถ้าเรามองว่าเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว เออ นี่ไง สมาชิกในครอบครัวเรามันมีคนแบบนี้ไง มีแมวแบบที่กรัมปี้หน่อย มีแบบขี้อ้อนหน่อย มีแบบไนซ์ที่ดูแลคนในครอบครัว มีแมวที่ขี้กลัวไม่ค่อยอยากยุ่งกับคน มีแมวที่เป็นอินโทรเวิร์ตสักตัว ก็เป็นสีสันของสมาชิกในครอบครัว มันไม่จำเป็นต้องเป็นคนก็ได้”

“แมว 3 ตัว ชื่อ ฟรีด้า ดีดีเย่ และโอดอย ทั้ง 3 ตัวมี ด เด็ก เรียกง่าย ๆ ว่า ด้า ดี้ ดอย ได้ และผมตั้งให้มันคล้องจองกัน คือ ฟรีด้า โป่งน้อย, โอดอย ป่าจี้ แล้วก็ดีดี้ ห้วยทราย 3 ที่ที่มันถูกเลี้ยงดูขึ้นมา” 

เวลาพูดถึงแมว ดวงตาม่อนส่องประกายตลอดเวลาไม่ต่างจากเวลาพูดถึงเพลงเลย เขาบอกว่า ตอนที่ยังมีฟรีด้าเพียงตัวเดียว มีครั้งหนึ่งที่เขาต้องไปเวิร์กชอปที่ซานฟรานซิสโก วันนั้นเขาเข้าไปชมหอศิลป์ แล้วเกิดคิดถึงฟรีด้าขึ้นมา (คิดถึงมากกว่าจ๋าเหรอ “ใช่ๆ”) (หัวเราะ) 

เขาจึงเลือกซื้อจิ๊กซอว์รูปฟรีด้านี้กลับมา “พอกลับมาบ้าน ก็มาช่วยกันต่อกับจ๋า” ภาพนี้แขวนอยู่บริเวณครัวทางเชื่อมต่อไปห้องทำงานของม่อน 

“ไปต่างประเทศหรือไปต่างจังหวัดนาน ๆ ก็จะคิดถึง เพลงมันฟังที่ไหนก็ได้ แต่แมวที่เราเลี้ยงไม่มีที่ไหนนอกจากที่บ้านเรา”

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ