“มีไหน ๆ…

มีเจียงแสนหลวง”

ภาษาเหนือที่แปลได้ว่า “อยู่ที่ไหน… อยู่เชียงแสนหลวง” ถ้าถามว่าไปเที่ยว ‘เชียงแสนหลวง’ กันไหม อาจจะได้คำตอบเป็นความเงียบ แต่ถ้าถามถึง ‘เชียงแสน’ และทะเลสาบเชียงแสน คงมีคนรู้จักมากกว่า แต่ก่อนแขวงเชียงแสนหลวงเป็นชื่อเดิมของพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงแยกแขวงเชียงแสนหลวงเป็น 3 อำเภอของจังหวัดเชียงรายใน พ.ศ. 2452 คือ อำเภอแม่จัน แม่สาย อำเภอเชียงแสน 

ส่วนตัวเมืองเชียงแสน คนในพื้นที่ยังคงเรียกว่าเวียงเก่า ด้วยความที่เป็นเมืองโบราณรุ่นแรก ๆ ก่อนเกิดล้านนา จึงมีตำนานเกิดขึ้นมากมาย เดินทางไหน หันไปทางใด ก็ต้องเจอสักเรื่อง นอกจากนี้เชียงแสนหลวงยังมีแม่น้ำจัน แม่น้ำคำ แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง หล่อเลี้ยงพื้นที่ ภายในพื้นที่แอ่งเชียงแสนจึงมีพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีความสำคัญระดับชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่โด่งดัง ทั้งทะเลสาบเชียงแสนและเวียงหนองหล่ม ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้มีการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เฉพาะที่อำเภอเชียงแสน มีการสำรวจชื่อพันธุ์ข้าวทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าวถึง 78 สายพันธุ์ ที่ยังคงพบและปลูกอยู่มีเพียง 36 สายพันธุ์ และสูญหายไปถึง 42 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ ‘ข้าวเหนียวเขี้ยวงู’ ราชาแห่งข้าวเหนียวที่หายไปจากสารบบการปลูกข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากนโยบายเอาข้าวพันธุ์เก่ามาแลกข้าว กข.6 ใน พ.ศ. 2520 เน้นการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อขาย เพราะข้าว กข.6 ให้น้ำหนักและผลผลิตมากกว่า

การเดินทางในครั้งนี้ เราจึงอยากชวนคุณมากินข้าวเหนียว พร้อมท่องตำนานของเชียงแสนหลวงไปด้วยกัน

ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน

เมื่อราชาข้าวเหนียวกลับบ้าน

เมื่อหลายปีก่อน ข้าวเหนียวเขี้ยวงูได้กลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง โดยศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูพันธุ์ 8974 กลับมาปลูก ความเป็นพันธุ์ท้องถิ่นทำให้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูมีความต้านทานโรค ดูแลง่าย ใช้สารเคมีน้อย เข้าระบบเกษตรอินทรีย์ได้ง่าย ด้วยต้นทุนทางเคมีที่ต่ำลง ทำให้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูกลับมาทวงพื้นที่ปลูกอีกครั้ง และกลับมาครองบัลลังก์ข้าวอันดับหนึ่งที่โดดเด่นในจานของหวานอย่างเต็มภาคภูมิ จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิสาสตร์หรือ GI ความอร่อยเหนียวนุ่มของข้าวชนิดนี้ ทำให้ใน พ.ศ. 2564 มียอดจองผลผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่ออกมาในปีนั้นเกือบทั้งหมด กลายเป็น ‘A Must’ ของการทำข้าวเหนียวมูน

อร่อยจนเกิดปรากฏการณ์ ‘แสร้งว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงู’

เราเดินทางมาที่แม่จันเพื่อตามหาข้าวเหนียวเขี้ยวงู เพราะสืบค้นมาได้ว่า มีการนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูพันธุ์แท้มาปลูกที่นี่เป็นพื้นที่แรก กลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มปลูกคือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรแปรรูปข้าวปลอดภัยแบบยั่งยืน แม่จัน

ภายใต้แบรนด์อู่ข้าวแม่จัน เราไปเยี่ยมนาของ ประดิษฐ์ ราวิชัย เวลานั้นเป็นช่วงดำนาพอดี คนสำคัญผู้ขับเคลื่อนกลุ่มเล่าให้ฟังว่า

“บ้านเรามีแม่น้ำจันหล่อเลี้ยงพื้นที่ แม่น้ำคำที่มาจากเทือกเขาดอยตุงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตข้าวหอมนุ่มเพราะไม่ขาดน้ำ มีคนพูดว่า ข้าวที่ดีที่สุดในการมูนข้าวเหนียวคือข้าวเหนียวเขี้ยวงู ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นของข้าวชนิดนี้ คือ อุ่นได้หลายครั้งโดยที่ข้าวไม่เสียรูปและไม่อืดแฉะติดมือ เมื่อเอาไปทำข้าวเหนียวมูน ข้าวจึงยังคงชักเงาเรียงเมล็ดสวย แม้นำเข้าตู้เย็นแล้วกลับเอามาอุ่นไมโครเวฟอีกครั้ง นอกจากนี้ยังกินได้เรื่อย ๆ จนอิ่ม โดยไม่รู้สึกแน่นหรืออึดอัด เมื่อเทียบกับข้าว กข. 6 ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจะค่อย ๆ ย่อย ค่อย ๆ ให้พลังงานไป น่าจะดีต่อสุขภาพของคนที่ต้องการคุมอาหาร ย่อยเป็นน้ำตาลช้า ดีต่อคนที่รักษาสุขภาพ โดยเฉพาะคนเป็นเบาหวาน”

นั่งคุยกันสักพัก พี่ประดิษฐ์ก็ทอดข้าวแต๋นเพื่อให้ลองกินเปรียบเทียบข้าวสองชนิด คือ ข้าว กข.6 ซึ่งปัจจุบันโรงสีบางแห่งนำไปขัดสีให้เมล็ดเล็กเรียวเหมือนข้าวเหนียวเขี้ยวงู และข้าวเหนียวเขี้ยวงูของแท้ ดูจากหน้าตาแล้ว เมล็ดข้าว กข.6 จะอ้วนกว่าเล็กน้อย แต่ในเรื่องความแน่นของเมล็ด ข้าว กข.6 พรุนกว่า ร่วนกว่า ในขณะที่ข้าวเหนียวเขี้ยวงูแม้จะทอดแล้ว แต่เนื้อก็ยังอัดแน่นด้วยรสชาติและหอมมันกว่า 

  เมื่อความต้องการของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ ‘แสร้งว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงู’ จึงเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น การที่จะได้รับรอง GI ว่าเป็นของแท้นั้นจึงต้องมีกฎกติกา คือ ต้องเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ 8974 สายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดเชียงรายเท่านั้น ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอพาน และยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ ในการปลูก โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กษิดิศ ใจผาวัง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เล่าให้เราฟังว่า

“กระบวนการปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูใช้เวลา 150 วัน ในขณะที่ข้าวสายพันธุ์อื่นเก็บเกี่ยวได้ใน 90 วันขึ้นไป นอกจากนี้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูพันธุ์ 8974 ได้รับการรับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ทำให้มีการระบุเรื่องขั้นตอนการปลูก คือ ต้องปลูกด้วยวิธีการดำนาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถดำนาหรือใช้คนก็ได้ ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรผู้ปลูกจึงต้องใช้เวลารอคอยผลผลิตยาวนานกว่า

“ปัญหาอีกข้อคือปริมาณผลผลิตต่อไร่ของข้าวเหนียวเขี้ยวงูค่อนข้างต่ำ ประมาณ 60 ถังต่อไร่ เพราะเป็นข้าวเมล็ดเล็ก ในขณะที่ข้าวสายพันธุ์อื่นเน้นทำน้ำหนัก ขายตามน้ำหนักได้ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ให้คณะวิจัยว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรหันมานิยมปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูเพิ่มขึ้น เราก็เลยเอาแนวคิดการผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับการปลูกแบบ Eco Rice เข้ามาใช้”

ซึ่งในเวลานี้ก็มีแหล่งปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูแบบอินทรีย์ที่ได้ GI แล้วที่อำเภอพาน อำเภอแม่จัน ข้าวชนิดนี้จึงกลายเป็นสินค้าสำคัญของเชียงรายในที่สุด 

ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน
ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน

‘ควาย’ แรงงานในนาข้าว ฮีโร่แห่งเวียงหนองหล่ม

เวียงหนองหล่มมีพื้นที่ราว 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน มีตำนานเล่าว่า เดิมที่นี่เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง แต่วันหนึ่งมีชาวบ้านฆ่าปลาไหลเผือกแล้วนำมาแบ่งกันกินทั้งเมือง จึงเกิดอาเพศ เมืองล่มหายลงไปใต้สายน้ำ เหลือเพียงบ้านของแม่หม้ายที่รอดเพราะไม่ได้รับส่วนแบ่งปลาไหล บริเวณนั้นจึงเรียกว่าดอนแม่หม้าย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดป่าหมากหน่อ ซึ่งเราสามารถไปตามหาเรื่องราวของแม่หม้ายผู้รอดพ้นจากน้ำท่วมได้ในตำนานโยนกนคร 

ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน

เวียงหนองหล่มนอกจากเป็นพื้นที่ในตำนานแล้ว ยังเป็นพื้นที่เลี้ยงควายตามธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีปางควายอยู่หลายแห่ง เช่นที่บ้านป่าสักหลวง บ้านป่าถ่อน บ้านต้นยาง บ้านห้วยน้ำราก ปางควายทำหน้าที่เหมือนธนาคารควาย ชาวบ้านจะเอาควายมาฝากเลี้ยง เมื่อถึงฤดูกาลปลูกข้าวก็มาเอาไปทำนา 

ในช่วงเดือนสิงหาคม หลังจากทำนาก็มีการทำขวัญควาย เป็นการขอขมาที่ทุบตีหรือดุด่าระหว่างการปลูกข้าว ดังนั้น หากต้องการเห็นพิธีการทำขวัญควาย ก็มาเข้าร่วมได้ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เนื่องจากควายเหล่านี้ไม่ได้สนตะพาย พวกมันไม่คุ้นเคยกับผู้คน จึงควรมีคนในพื้นที่ให้ข้อมูลและนำเที่ยว

ควายเป็นแรงงานสำคัญในการทำนาเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของเกษตรกร จึงมีความสำคัญต่อเกษตรกรในพื้นที่ ที่นี่จึงไม่มีการกินลาบควาย หรือทำอาหารที่มาจากเนื้อควาย แต่ชาวบ้านก็ใช้ประโยชน์จากควายอีกทางหนึ่งคือ การทำกาแฟขี้ควาย โดยเอาผลเบอร์รี่ของกาแฟให้ควายกิน กาแฟจะย่อยอยู่ในท้องควาย 2 วันและถ่ายลงบนพื้นในคอก เหลือเพียงเมล็ดและสารกาแฟ จากนั้นจึงนำมาล้าง ตาก และคั่วกระทะแบบบ้าน ๆ นำมาบดแล้วชงด้วยไซฟอน เพราะในพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้า จึงไม่มีเครื่องชงกาแฟไฟฟ้า รสชาติไม่เลวเลย มีกลิ่นควันฟืน ต่างจากเมล็ดที่คั่วตามร้าน จิบกาแฟไป คนดูแลปางควายก็บอกว่า

“ความสำคัญของการเลี้ยงควายที่ปางควาย ก็คือถ้ามีควาย ก็มีนา ถ้าคนยังเลี้ยงควาย พื้นที่ชุ่มน้ำปางควายก็จะคงอยู่ได้ ป้องกันคนบุกรุกเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย” นั่นหมายถึงทั้งคน นา และควาย ต่างพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำของเชียงแสนยังคงสมบูรณ์อยู่

ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน
ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน

ตำนานสะพานทองคำ กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่จัน

จากนาของพี่ประดิษฐ์ จะมองเห็น ผาม้า ผาขนาดใหญ่ตระหง่าน และที่อยู่ไม่ไกลคือผาคอกวัว ซึ่งมีตำนานเล่าถึงสะพานทองคำที่เชื่อมสองผานี้เข้าด้วยกัน วันหนึ่งมีแม่หม้าย (แม่หม้ายอีกแล้ว น่าจะคนละคนกับดอนแม่หม้าย) มาเลื่อยสะพานจะเอาทองคำไปใช้ สะพานก็เลยหดตัวกลับ เศษทองที่เลื่อยไปก็ตกลงในน้ำกลายเป็นที่ร่อนทองคำ เป็นที่มาของชื่อแม่น้ำคำ 

เชื่อว่าจุดที่สะพานหายไป ก็คือจุดที่ชาวบ้านทำฝายผาม้าเพื่อทดน้ำเข้าเหมืองหลวง แจกจ่ายน้ำให้กับพื้นที่ทางการเกษตร เส้นทางระหว่างการไปผาม้าในช่วงเย็นสวยงาม ยิ่งถ้ามาในช่วงฤดูที่ข้าวเขียว จะยิ่งเปลืองเมมโมรี่กล้องถ่ายรูปเข้าไปอีก จากผาม้าเราอยากชวนไปดูจิตรกรรมลายคำ ภายในวิหารวัดพระธาตุนางคอย ผลงานของ อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ลวดลายอ่อนช้อยที่สร้างจากแรงศรัทธาในพุทธศาสนา

ช้างงู ต้อนรับคุณสู่เวียงเชียงแสน

เชียงแสนหรือที่คนเก่าคนแก่เรียกว่า เวียงเก่า เป็นเมืองที่มากด้วยตำนาน เริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าเชียงแสนจะเจอกับวงเวียนสัตว์ในจินตนาการ มีตัวเป็นงู หัวเป็นช้าง ตามตำนานสิงหนวัติเล่าว่า พญาพรหม ราชบุตรองค์ที่ 2 ของพระเจ้าพังคราชแห่งเวียงพางคำ เป็นผู้กอบกู้เมืองครั้งที่ขอมครองเมือง โดยมีช้างศึกที่ชื่อช้างพางคำ ได้มาจากเห็นงูในแม่น้ำโขงแล้วจับมาได้กลายเป็นช้างมาช่วยรบ พอรบเสร็จก็กลายร่างกลับไปเป็นงูเลื้อยหายไปที่ดอยสะโง้ ดังนั้น เวลาไปวัดในเชียงแสน ก็จะเห็นช้างงูนี้อยู่ตามที่ต่าง ๆ ในวัด

ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน
ตำนานและของดี 'แขวงเชียงแสนหลวง' อาณาเขตโบราณที่ไม่ใช่แค่ อ.เชียงแสน ในปัจจุบัน

การท่องเที่ยวเชียงแสนจะสนุกครบสมบูรณ์ ถ้าคุณได้เจอกับคุณน้ำหวานที่บ้านฮอมพญ๋าล้านนาเชียงแสน เธอจะชวนคุณไป ‘นุ่งซิ่น กินปิ่นโต เที่ยวเวียงเก่า’ ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น สายมูไม่ควรพลาดทริปนี้ เพราะนอกจากเขาจะพาคุณไปเที่ยวเมืองเก่าเชียงแสนแล้ว ยังจบที่การเสริมดวงชะตาเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตอีกด้วย 

เมืองเชียงแสนสร้างมาตั้งแต่สมัยพญาแสนภู ประกอบด้วยกำแพงสองชั้นคั่นด้วยคูน้ำ มี 12 ประตู 7 ป้อม เส้นทางนุ่งซิ่นกินปิ่นโต จะเล่าเรื่องเริ่มจากแผนที่เชียงแสน สู่เส้นทางท่องเที่ยว 9 วัด 8 ทิศ ตามทักษาโหราโบราณ ทีมของเรานั้นเริ่มจากการฟังเรื่องทักษาเมือง แล้วจึงพากันทำหมากเบ็งหมากพุ่ม ดูดวงว่าควรจะไปเอาหมากเบ็งหมากพุ่มที่ทำเสร็จไปไหว้ที่วัดไหน เพื่อเสริมดวงชะตาเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต แล้วก็หิ้วปิ่นโตไปกินข้าวใต้ร่มไม้ที่วัดป่าสัก กลับมาทำผ้าพิมพ์ลายใบสัก ถือว่าเป็นทริป 1 วันที่ครบวงจรมาก ๆ ทำให้เรารู้จักวัดเก่าในเมืองเชียงแสน รู้ประวัติเมือง และเที่ยวอย่างเข้าใจเมืองเชียงแสนไปในคราวเดียวกัน

วัดพันปีบนดอยเชี่ยงเมี่ยง

ถ้าอยากเห็นวิวของสามเหลี่ยมทองคำสวย ๆ จะต้องขึ้นไปที่วัดนี้ ตั้งอยู่บนดอยเล็ก ๆ เรียกว่าดอยเชี่ยงเมี่ยงริมน้ำรวก ที่นี่มีตำนานของพระธาตุปูเข้า เล่าเรื่องราวของกษัตริย์องค์ที่ 2 ของเวียงหิรัญเงินยางผู้ปราบปูยักษ์ มีพระนามว่าพระยาลาวแก้วเก้าเมืองมา ได้รับภารกิจจากพระบิดาคือพระเจ้าลวจังกราช มาปราบปูที่ทำลายนาของชาวบ้าน จับปูยักษ์ได้ตัวหนึ่ง แต่อีกตัวนั้นหนีไปได้ พอพระองค์ขึ้นครองราชย์ ก็เลยสร้างพระธาตุปิดทางไม่ให้ปูเข้าเสียเลย เห็นหลักฐานของปูได้ที่ฐานบันไดนาค ด้านบนเดินจากจุดชมวิวขึ้นไปอีกจะพบวิหารเก่าแก่และร่องรอยพระธาตุปรักหักพัง ภายในวิหารนั้นเย็นสบาย แม้ด้านนอกร้อนระอุมอดไหม้ นั่งแล้วจิตใจสงบมาก

ด้านข้างของวัดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น เล่าเรื่องราวความหลากหลายของชาติพันธุ์ในเชียงราย การปลูกฝิ่น และที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นที่เก็บของสะสมสิงห์รมควัน ตั้วแต่กล้องสูบฝิ่น กล้องสูบยาดินเผา หรือมูยาอายุ 200 – 300 ปี

รู้จักแขวงเชียงแสนหลวงผ่านตำนานและของดีประจำแขวง ที่มีตั้งแต่ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จนถึงกาแฟขี้ควาย
รู้จักแขวงเชียงแสนหลวงผ่านตำนานและของดีประจำแขวง ที่มีตั้งแต่ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จนถึงกาแฟขี้ควาย

ตำนานเวียงเปิกสา ที่เชียงแสนน้อย

ในเชียงแสนหลวง ยังมีเชียงแสนน้อย หรืออีกชื่อหนึ่งคือเวียงเปิกษา ตามตำนานเชียงแสนน้อยเป็นเมืองที่สร้างขึ้นหลังจากที่เมืองโยนกนาคพันธุ์หรือเวียงหนองหล่มล่มลง คนที่เหลือ (นอกจากแม่หม้ายคนนั้นที่ยังอยู่ที่เดิม) นำทีมโดยขุนลัง ก็พากันมาตั้งเมืองใหม่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองเดิม ให้ชื่อว่าเวียงเปิกสา คือถ้าใครอยากเป็นเจ้าเมืองก็ให้มาเปิกสากันก่อน 

แต่ทว่าในพงศาวดารบันทึกว่า เชียงแสนน้อยนั้นเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเมืองชั่วคราว เป็นแคมป์ไซต์ของพญาแสนภูที่อยู่ตอนสร้างเมืองเชียงแสน ปัจจุบันถ้าเราอยากเห็นเมืองเชียงแสนน้อย ก็ให้ขึ้นไปที่พระธาตุผาเงา ที่จุดชมวิวถ้ามองลงไปจะเห็นชุมชนบ้านเรือน เขาว่านั่นคือเมืองเชียงแสนน้อย

รู้จักแขวงเชียงแสนหลวงผ่านตำนานและของดีประจำแขวง ที่มีตั้งแต่ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จนถึงกาแฟขี้ควาย

การเดินทางไปเชียงแสนหลวงมีเรื่องราวมากมาย จากตำนานหลากหลายที่มาที่คนพื้นที่ผลัดกันเล่า ตั้งแต่ตำนานเมื่องล่ม ช้างงู ปูยักษ์ ไปจนถึงการล่มสลายของเมือง (มีแม่หม้ายหลายคน) ถ้าตั้งตัวไม่ดีฟังไม่ถ้วนถี่ อาจจะเกิดอาการเมาตำนานได้ 

เชียงแสนเป็นเมืองร้างมาหลายครั้ง คนพื้นที่ของเชียงแสนเดิมก็ถูกย้ายไปอยู่หลายที่ ทั้งที่บ้านฮ่อม เชียงใหม่ สระบุรี และกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย คนพื้นที่ปัจจุบันมีทั้งชาวยอง ชาวอีสาน และอีกหลากหลายชาติพันธุ์ที่กลืนกลายเป็นคนเมืองพูดคำเมือง ข้าวที่ปลูกปัจจุบันมีทั้งข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเจ้าหอมมะลิ และข้าวจากหลากหลายชาติพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่เชียงแสน

ในความหลากหลายนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ ความรักเชียงแสน รักประวัติศาสตร์และตำนานของเชียงแสน พร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเชียงแสนหลวงให้กับคนรุ่นใหม่ และทุกคนที่มาเยือนอย่างจริงใจ

ข้อมูลติดต่อ

ปางควาย และ กาแฟขี้ควาย : ติดต่อคุณอนันต์ เทศบาลตำบลจันจว้า 08 7177 6769

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรแปรรูปข้าวปลอดภัยแบบยั่งยืน อำเภอแม่จัน : คุณประดิษฐ์ 08 7657 1650

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน : คุณมัชฌิมา ยกยิ่ง (น้ำหวาน) 06 2809 5831

Writer

Avatar

นฤมล ชมดอก

นักผจญอาหาร ชอบเล่าเรื่องการเดินทาง ตั้งใจจะเปิดเพจรีวิวให้เพื่อนเพราะขี้เกียจตอบคำถาม งานงอกลุกลามกลายเป็นเว็บไซต์ go2askanne.co และแฟนเพจ go2askanne ที่มีมิตรรักนักกินเข้าร่วมมากมาย

Photographer

Avatar

ฉัตรชัย ยิ้มแย้ม

ช่างภาพสายงานแต่งที่ผันตัวเองมาถ่ายงานสายสารคดีและอาหาร ด้วยใจรักในการผจญภัยจึงเก็บสะสมเรื่องราวการเดินทางมาเป็นเพจพายเรือไปแคมป์ สำหรับนักเดินทางที่รักการแคมป์ปิ้ง